Latest

ภาวะหัวใจเต้นเร็ว PSVT

คุณหมอสันต์คะ
หนูอายุ 32 ปี เริ่มมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะมาเมื่อประมาณตอนอยู่ ม.3 แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร พอเข้าวัยรุ่น อาการก็เริ่มเป็นอีก ก็ไปหาหมอพอไปถึงหมอหายก่อนทุกที หมอเลยให้ยาอะไรมาทานไม่รู้ อาการจะเป็นแบบนี้มาตลอด เป็น 3-5 นาที ก็หาย ก็เลยไม่ไปหาหมอ เวลาที่จะเป็นจะเกิดจาก เช่น กระโดด สะดุด ล้ม นั่งอย่างเร็ว สูดหายใจเร็ว สะอึก ล้มตัวนอน แต่เป็นแป๊บเดียวก็หาย เมื่อเดือนมกราคม 55 หนูเดินสะดุดบันได อาการก็เป็นอีก เป็นอยู่ประมาณ 30 นาที เต้น 200 ครั้ง/นาที เกร็งไปทั้งตัว หายใจไม่ออก จนต้องส่งโรงพยาบาล หมอฉีดยาเข้าไปเข็มหนึ่งอาการก็ลดลง นอนโรงพยาบาล2คืน แล้วหมอก็บอกหนูว่าหนูเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจจะต้องกินยา หรือจี้ไฟฟ้า หนูกังวลมากเลยค่ะ เครียดมาก (กลัวตาย) การจี้ไฟฟ้าอันตรายมากมั้ยค่ะ หมอบอกว่าต้องส่งตัวเข้ากรุงเทพ หนูอยู่ภูเก็ต หนูรู้สึกท้อแท้ใจมาก เหมือนไม่มีกำลังใจทำงานเลยค่ะ หนูขอคำแนะนำคำปรึกษาจากคุณหมอว่าหนูจะทำอย่างไรดีกับชีวิตหนูค่ะ

ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

…………………………………………

ตอบครับ

1. เริ่มมีอาการตอนอยู่ ม.3 พอเข้าวัยรุ่น อาการก็กลับมาเป็นอีก หมายความว่าตอนอยู่ ม. 3 ยังไม่ได้เป็นวัยรุ่นเหรอครับ (พูดเล่น) พูดถึงวัยรุ่นกับชั้น ม. มีรายงานสำรวจที่เผยแพร่ในวงการแพทย์ว่าวัยรุ่นไทยมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกส่วนใหญ่เมื่ออยู่ชั้น ม.2 เทอม 2 ต้องเทอมสองด้วยนะ เพราะเทอมหนึ่งยังไม่ทันรู้จักกัน ขอโทษ.. ผมนอกเรื่องไร้สาระ

2. โรคที่คุณเป็นนี้เรียกว่า PSTV ย่อมาจาก paroxysmal supraventricular tachycardia แปลว่า “ภาวะหัวใจเต้นเร็วเป็นพักๆเนื่องจากจุดปล่อยไฟฟ้าอยู่สูงกว่าหัวใจห้องล่าง” คุณอาจจะคิดว่าเออ ทำไมต้องตั้งชื่อให้กวนโอ๊ยอย่างนั้นด้วย ถ้าจุดปล่อยไฟฟ้าอยู่สูงกว่าหัวใจห้องล่าง ก็ทำไม่ไม่เรียกว่าง่ายๆว่าอยู่ที่หัวใจห้องบนเสียละ คำตอบก็คือบางทีจุดปล่อยไฟฟ้ามันก็ไม่ได้อยู่ถึงหัวใจห้องบน แต่อยู่ตรงจุดต่อระหว่างห้องล่างกับห้องบน (AV junction) ก็เลยตั้งชื่อให้มันคร่อมๆไว้งี้แหละ อาการของโรคนี้มีได้ตั้งแต่มีอาการน้อยเสียจนไม่รู้ตัวว่าเป็น ไปจนถึงเป็นมากๆถึงขั้นใจสั่นเวียนหัวแน่นหน้าอกหายใจไม่อิ่มเป็นลมเป็นแล้งหมดสติไปเลย บางทีฉุกเฉินมากหมอต้องเอาไฟฟ้าช็อกหัวใจแบบในหนังอีอาร์.ก็มี

3. ที่คุณบอกว่ากลัวตายนั้นสบายใจได้ ไม่ต้องกลัว เพราะตามสถิติคนเป็นโรค PSVT แม้จะมีอาการดูน่ากลัวเหมือนว่าจะต๊ายแหน่ ต๊ายแหน่ แต่ที่ถึงตายจริงๆนั้นมีน้อยมาก (extremely small risk)

4. ในระยะสั้น ขณะที่อยู่ภูเก็ตนี้ ถ้ามีอาการขึ้นมาอีก ให้คุณทำสองอย่าง

อย่างแรก คือ ให้เบ่ง เหมือนเบ่งอึแรงๆยาวๆนะแหละ แต่อย่าอึออกมาจริงๆนะ ทางแพทย์เรียกว่าทำ Valsalva maneuver ทำอย่างนี้ PSVT มักจะหยุดเองได้

อย่างที่สอง คือ ให้นวดหลอดเลือดแคโรติดที่คอ (carotid massage) เอียงคอไปทางซ้าย เอามือขวาคลำข้างลูกกระเดือก จะได้ความรู้สึกว่ามีหลอดเลือดแคโรติดเต้นตุบ ตุบ เลื่อนมือตามหลอดเลือดนั้นขึ้นไปถึงใต้คาง แล้วเอาปลายนิ้วมือทั้งสามหรือสี่นิ่วกดหลอดเลือดลงไปลึกๆแล้วนวดคลืงหลอดเลือดนั้นเหมือนคนขายปาท่องโก๋คลึงแป้งทำปาท่องโก๋ ทำข้างขวาที แล้วผลัดไปทำข้างซ้ายอีกที สลับกัน ทำอย่างนี้ก็อาจจะหยุด PSVT ได้เช่นกัน ทำไมถึงหยุดได้ อย่าถามเลยนะ เพราะเรื่องมันยาว

การป้องกันอื่นๆที่คุณทำได้คือหลีกเลี่ยงกาแฟและแอลกอฮอล์ซึ่งทำให้เป็น PSVT ได้ง่ายขึ้น

5. คุณถามว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตต่อไปดี ผมแนะนำให้คุณกลับไปคุยกับหมอโรคหัวใจที่รักษาคุณอีกครั้ง หมอโรคหัวใจนี่เรียกว่า cardiologist นะ ต้องคุยกันหมอพันธ์นี้เท่านั้นจึงจะพูดกันรู้เรื่อง ที่ภูเก็ตก็รู้สึกจะมี cardiologist อยู่สองคน ให้ถามเขาว่าจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจ คุณหมอแน่ใจไหมว่าเป็น PSVT แบบธรรมดาๆ ไม่ใช่ภาวะหัวใจเต้นเร็วชนิดที่มีพระถือตะเกียงนำ เอ๊ย..ขอโทษ ชนิดที่มีไฟฟ้าขนาดเล็กวิ่งนำ แบบที่เรียกว่า pre-excitation หรือ WPW syndrome คำตอบของหมอจะนำไปสู่การตัดสินใจสองแบบ

5.1 ถ้าหมอตอบว่าเป็น PSVT ธรรมดา ไม่ใช่ WPW syndrome ก็สบายใจได้ว่าไม่ตายง่ายๆแน่นอน คุณอาจจะยังไม่ต้องมากรุงเทพ แต่ฝึกแก้ปัญหาด้วยตนเองด้วยกระบวนท่าเบ่งอึหรือนวดหลอดเลือดแคโรติดดูว่า “เอาอยู่” แมะ ถ้าเอาอยู่ก็ทำแบบนั้นต่อไป ไม่ต้องไปกรุงเทพ แต่ถ้าเอาไม่อยู่ ก็ต้องไปกรุงเทพ

5.2 ถ้าหมอตอบว่าไม่แน่ใจว่าเป็น WPW syndrome หรือไม่ ให้คุณรีบขอให้ท่านส่งตัวมากรุงเทพเลย เพราะ WPW syndrome เป็นโรคที่มีอัตราตายสูง ต้องได้รับการรักษาจึงจะป้องกันการตายได้

6. เมื่อมากรุงเทพ สิ่งที่หมอจะทำสองอย่างพร้อมกัน คือ

6.1 ทำการศึกษาทางวิ่งของไฟฟ้าในหัวใจ หรือ electrophysiology study เรียกสั้นๆว่าทำ EP วิธีทำก็คือสอดสายไฟฟ้าสวนเข้าไปทางหลอดเลือดที่แขนหรือขาให้ปลายสายวิ่งไปถึงหัวใจแล้ววัดไฟฟ้าตามจุดต่างๆดูจนคอมพิวเตอร์วาดภาพได้ว่าไฟฟ้าที่ผิดปกติมันวิ่งทางไหน

6.2 เมื่อรู้ว่าไฟฟ้าที่ผิดปกติมันวิ่งทางไหนแล้วเขาก็จะเอาสายที่ส่งคลื่นวิทยุได้สวนเข้าไปจ่อตรงนั้นแล้วปล่อยคลื่นวิทยุไปทำลายทางวิ่งของไฟฟ้า (Radiofrequency ablation) ให้สิ้นซากซะ
ทั้งหมดนี้เป็นการรักษาที่ปลอดภัยมาก มีโอกาสเสียชีวิตเพราะการรักษาน้อยมาก (ประมาณว่าน้อยกว่าหนึ่งในหมื่น) ไม่มีแผลผ่าตัด ไม่มีปัญหาเรื่องความสวยงาม มีแต่รอยเข็มจิ๊มเท่ามดยักษ์กัด (พูดเล่นนะครับ เท่ารูหลอดดูดนมกล่องเอง..ช่วยหรือเปล่าเนี่ย) ถ้าเป็นโรงพยาบาลฝรั่งที่ห้าวหน่อยทำเสร็จแล้วก็ไล่กลับบ้านเลย แต่โรงพยาบาลไทยทำแล้วมักจะให้นอนโรงพยาบาลอีกวันสองวันเผื่อเหนียว

7. คุณบ่นว่ารู้สึกท้อแท้ใจมาก ไม่มีกำลังใจทำงานเลยค่ะ แหม.. หมั่นไส้วัยรุ่นสมัยนี้ เอะอะก็เป็นหมดกำลังใจ น้อยใจ ท้อแท้ เป็นนิสัยที่ไม่เห็นเท่เลย คุณรู้ไหมใจเรานี้ถ้าเราสอนให้มันคิดลบคิดท้อถอยมันก็จะพาเราคิดอย่างนั้นร่ำไป แล้วชีวิตของเราก็จะมีแต่สาละวันเตี้ยลง คุณต้องคิดแต่ทางบวก คิดแต่ทางสู้ คิดว่าสู้ต่อไปเพื่อให้เรามีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อจะได้ไปทำอะไรดีๆให้คนอื่นเขาบ้างหรือทำอะไรดีๆให้โลกบ้าง หัดปลื้มใจกับสิ่งดีๆที่มีให้คุณ ณ วันนี้แทนการนั่งมองสิ่งรอบตัวว่าเป็นศัตรูตัวเองไปหมด การทำ EP study เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงและราคาแพงมาก หมอที่จะทำเรื่องนี้ได้ก็ต้องทุ่มเทฝึกฝนกันเป็นสิบปี เมืองไทยมีการรักษาแบบนี้ให้นับว่าเป็นบุญแล้วนะครับ สมัยก่อนคนจนเข้าถึงการรักษาแบบนี้ไม่ได้หรอก เพราะต้นทุนก็ปาเข้าไปหลายแสนบาทแล้ว แต่สมัยนี้สามสิบบาทฟรีหมด เจ๋งมาก สู้เข้าไป อย่าได้ถอย

“เอาละ.. หมอจะแทงเข็มที่แขน เพื่อใส่สายสวนเข้าไปนะ จะเจ็บนิดหนึ่งเหมือนมดกัด”

“ จ๊าก..ก…ก….”

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

…………………….

3 กพ. 55

คุณหมอสันต์คะ

ขอบคุณมากค่ะสำหรับคำแนะนำ ตอนนี้หมอที่วชิระภูเก็ต ได้ส่งตัวไป มอ.หาดใหญ่ (หมอบอกว่าที่นั่นรักษาได้) ก็เลยตัดสินใจไปที่นั่น แต่ก็ยังกลัวอยู่ดี ตอนนี้กินยา วันละ 4 เม็ด ยังมีอาการหอบ เหนื่อย หนูเป็นครูทำงานค่อนข้างหนัก และเครียด ติดกาแฟ ตอนนี้เลิกกาแฟหมดเลย แต่เรื่องเครียดนี้เลิกยากจัง ขอบคุณคุณหมอที่ให้การแนะนำ หนูภาวนาว่าให้การรักษาเป็นไปอย่างราบรื่น จะได้มารับใช้ชาติต่อไปค่ะ