Latest

นักศึกษาแพทย์ปี 3 ประชดไม่อ่านหนังสือ


ผมเป็นนักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่3ครับ มีเรื่องอยากรบกวนขอคำแนะนำ

ผมจับพลัดจับผลูเข้ามาในคณะแพทย์นี้ได้ด้วยวิธีการสอบตรง (รับสมัครก่อน สอบก่อน ประกาศผลก่อนการสอบของส่วนกลาง (admission) ความคิดของผม ณ ตอนนั้นคือ เลือกคณะแพทย์ … เพราะไม่รู้ว่าอยากเรียนอะไร บวกกับการได้อยู่กับครอบครัว หลังจากรู้ว่าสอบติด ผมก็มีความสุขดีและไม่ได้คิดถึงอะไรอีก ใช้ชีวิตเที่ยวเล่นเต็มที่เท่าที่เด็ก มอหก คนนึงจะมีความสุขได้ ส่วนตัว ผมไม่ใช่เด็กขยันอ่านหนังสือ และตั้งใจเรียน รวมถึงไม่ได้หัวดีมากมาย ไม่เคยทำอะไรได้ถึงที่สุดสักอย่าง (สอบได้ที่ 2 บ้าง ไม่ได้เกรดเฉลี่ย 4.00 (เพราะวิชาเล็ก ๆ) บ้าง พอเริ่มต้นเข้ามหาวิทยาลัย ความสุขตอนดีใจที่สอบติด มันเริ่มค่อยๆหายไป เริ่มสงสัยว่าต่อไปเราควรทำอะไรดี ถึงจะมีความสุข ปีหนึ่ง เรียนวิชาเกี่ยวกับคณะแพทย์แค่ไม่กี่ตัว ยังสนุกสนานกับสิ่งใหม่ๆในมหาวิทยาลัยได้บ้าง ปีสอง เริ่มไม่สนุก ทุกคนอ่านหนังสือกันเคร่งเครียด อาจารย์สอนโดยการให้กลับไปอ่านเอง สรุปก็คือต้องอ่านเอง หันไปทางไหนก็มีแต่คนอ่านหนังสือ ด้วยความที่เป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือ (เรียน) เป็นทุนเดิม ทำให้ผมเริ่มเบื่อที่จะอ่านหนังสือกับเพื่อน (ประเภทถามว่าคืออะไร ตอบว่าไม่รู้ รู้แค่มันอยู่ในเล็กเชอร์ (จำไปเหอะ) เรียนเสร็จผมเริ่มกลับหอ อยู่คนเดียวเพราะเพื่อนอ่านหนังสือ

ผมเริ่มต่อต้านการอ่านหนังสือเรียน เห็นคนอ่าน ผมต้องไม่อ่าน (antisocial?)

บวกกับสุขภาพร่างกายที่ไม่ค่อยดีเป็นทุนเดิม เป็นหวัดง่ายและภูมิแพ้ (แพ้เฉพาะแมลง ตรวจ skin test จิ้มหลัง ไม่แพ้ซักอย่าง) แต่พอเริ่มขึ้นมหาวิทยาลัย กลับเป็นหวัด ไม่สบายบ่อยขึ้น เฉลี่ย1-2 เดือน ต้องเป็นหวัดครั้งนึง การเรียนผมตกลงอย่างมาก ทั้งจากการไม่อ่านหนังสือด้วยตัวเอง และไม่ได้อ่านจากการเป็นหวัด ปกติผมไม่ดื่มกาแฟ ไม่ดื่มน้ำอัดลม ไม่ค่อยกินจุบกินจิบ แต่ไม่ทานผลไม้เลย ทานแต่ผัก ออกกำลังกายประมาณสัปดาห์ละ 3-5 วันด้วยการวิ่ง 20 นาที และนอนประมาณเที่ยงคืน ตีหนึ่ง ถึงเจ็ดโมงเช้า ดำเนินชีวิตแบบนั้น จนถึงปีสาม ผมเริ่มเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิต นอนเร็ว (ไม่เกิน5ทุ่ม) ตื่นเช้า (ประมาณหกครึ่ง) ตื่นมาอ่านหนังสือ เทอมแรกได้เกรดดีขึ้นจากเดิม แต่เรื่องเป็นหวัด ผมยังเป็นบ่อยอยู่ หลายๆครั้งจะเป็นตอนใกล้สอบ (สอบบ่อย แต่จริงๆก็เป็นทุกช่วง) จนกระทั่งไม่กี่วันก่อน ผมป่วยครั้งที่สองของเดือน คราวนี้คืนก่อนสอบ ผมรู้สึกอึดอัดท้องและอาเจียนตอนห้าทุ่ม รู้สึกหนาวมาก ตอนตีหนึ่งไปโรงพยาบาลมีอาการชาทั้งตัว มือจีบ (ไม่มีหายใจเร็ว) วันถัดมามีอาการปวดหัวและท้องเสียรวมถึงไข้อ่อนๆ ผมขาดสอบไปสองวัน ผมโทรคุยกับอาจารย์ประจำบล็อค ท่านบอกว่าโอเค เดี๋ยวจะออกข้อสอบใหม่ให้ แต่ทางกิจการนักศึกษาสงสัยว่าทำไมผมป่วยวันสอบ ทั้งๆที่เอาใบรับรองแพทย์ไปยื่นให้ดู ก็บอกทำนองว่า การขาดสอบสองวันมันเยอะ อาจจะจัดสอบให้ไม่ได้ ที่ผ่านมาเด็กป่วยแค่ไหนก็จะลากสังขารไปตายในห้องสอบ (ขออภัยไม่สุภาพ) ตอนนี้ ผมรอผมการประชุมว่าจะสรุปอย่างไรเกี่ยวกับการสอบของผม

สรุปปัญหาของผม
ผมไม่มีสมาธิอ่านหนังสือเรียน
ผมเบื่อสังคมที่มีแต่การอ่านหนังสือ รู้สึกหงุดหงิดจนตอนหลังๆ พอผมคิดที่จะอ่านหนังสือ ร่างกายผมจะไปทำอย่างอื่นแทนเช่นเปิดคอม ดีดกีต้า แล้วก็ไม่ได้อ่านเลยทั้งวัน
ผมป่วยบ่อย
ผมเคยพยามยามมากๆในการอ่านหนังสือ แต่ก็ทำไม่ได้ แม้ว่าวิชาที่ผมตั้งใจมาก แต่ก็ไม่ได้ A ในวิชานั้น ผมเลยคิดว่าทางนี้คงไม่เหมาะกับเราหรือเปล่า พยายามแล้วแต่ก็ทำไม่ได้ ควรไปทำอย่างอื่นที่เราทำได้ดีกว่านี้ไหม

ผมมีคำถามต้องการคำแนะนำดังนี้ครับ


1.
ผมไม่ได้ไม่ชอบการอ่านหนังสือ ผมอ่านหนังสือนอกเยอะมาก แต่ผมไม่มีอารมณ์อยากอ่านชีทเรียน lecture ผมเรียนทีละ lecture แล้วอ่านท่องๆทีละอันไม่ได้ ผมต้องรู้เนื้อหาทั้งหมดแล้วนำมาเชื่อมทุกสิ่งเข้าด้วยกันทีหลังเอง ซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้นก็สอบแล้ว และเวลาที่ผมอยู่กับหนังสือเรียน มีน้อยมาก วันนึง (แบบว่างเต็มวัน) ผมอ่านหนังสือเรียนสูงสุดได้ไม่เคยเกิน 4-5 ชม.  ผมอยากทราบคำแนะนำจากคุณลุงหมอสันต์ครับ (ขออภัยหากเป็นคำถามเด็กๆ แต่ผมเป็นแบบนี้จริงๆ)

2. ผมความจำไม่ดี บางสิ่งอยู่ๆก็จำได้เอง แต่บางสิ่งท่องแล้วท่องอีกก็ไม่จำ โดยเฉพาะชื่อยามหาศาลและกลไกการใช้ ผมไม่มีความคิดที่จะจำเลย จนกระทั้งเคยใช้ด้วยตัวเองถึงจำได้ ผมคำแนะนำด้วยครับ

3. ผมป่วยบ่อยมาก เรื่องนี้รบกวนประสิทธิภาพการดำเนินชีวิตประจำวันของผมเป็นอย่างยิ่ง ผมกังวลว่าถ้าผมเดินๆบนวอร์ดตอนปี   4 ผมจะไม่สบายบ่อยกว่านี้ ซึ่งถ้าผมไม่สบายตอนสอบแบบนี้อีก ผมคงเรียนไม่จบ ผมอยากทราบคำแนะนำที่เป็นไปได้ จากคุณลุงหมอสันต์ครับ

โดยส่วนตัวผมเห็นว่าวิชาชีพแพทย์ เป็นอาชีพที่สำคัญกับการดำรงชีวิต พอๆกับการปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ ปรุงอาหาร และตัวผมอยากจะเป็นแพทย์ที่ดี (หลังจากเข้ามาเรียนแล้ว) แต่สิ่งที่ผมประสบอยู่ตอนนี้ ทำให้ผมต้องทบทวนตัวเองอีกครั้ง ว่าเราเหมาะกับวิชาชีพนี้รึเปล่า จะเรียนจบไม๊ ทุกวันนี้ผมไม่มีความสุขจากการป่วยบ่อยๆ และวัฒนธรรมการเรียนของเด็กแพทย์ ทำให้ผมยิ่งไม่ชอบอ่านหนังสือเรียน ผมควรทำอย่างไรต่อไปกับชีวิตดีครับ ขอคำแนะนำครับ

ประวัติในอดีต
การเรียน : มัธยมต้น เคยเป็นตัวแทนโรงเรียนแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการ (วิทยาศาสตร์) แต่ก็เป็นผมคนเดียวที่ตกรอบ เพื่อนๆ 5 คนเข้ารอบหมด

มัธยมปลาย เข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการ แต่เป็นคนแรกที่ไม่ผ่านเข้าค่ายในรอบถัดไป (ทำอะไรไม่ได้สุดสักอย่าง)

อื่นๆ : เคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ประเทศญี่ปุ่น
       :
ร่วมโครงการ work and travel (ตอนปี1) เดินทางคนเดียว 40 ชั่วโมงไปอเมริกา (นอนค้างคืนสนามบินไมอามี่ ตกเครื่องที่ดีทร้อยท์ หารถไป florida keys (คนเดียว) ทำงานในที่ๆไม่มีคนไทยเลยเป็นระยะเวลา 2 เดือน ทะเลาะกับเจ้านายและรูมเมทบ้าง แต่ถ้าคิดย้อนไปยังมีความสุขมากกว่าตอนนี้ ยังไม่เครียดเท่าตอนนี้เลยครับ

ผมควรทำอย่างไรต่อไปกับชีวิตดีครับ ผมคิดจะไปคุยกับจิตแพทย์แล้ว แต่คิดว่าคุณหมออาจจะให้คำตอบที่ดีกว่าได้
(
ขออภัยที่เขียนมายาวมาก แต่ผมอึดอัดใจจริงๆ คุยกับทางครอบครัวจนเค้าตกลงยอมให้ผมดร็อบ แล้วไปแก้ปัญหาต่างๆในชีวิตให้เสร็จสิ้นถ้ามีแรงก็ค่อยเรียนต่อ (แต่ถ้าไม่ชอบจริงๆ ก็บ๊ายบาย)

ปล.ผมพิมพ์นานมากครับ รบกวนตอบด้วยจากใจจริง
ปล2.ยังมีรายละเอียดอื่นอีก แต่เกรงว่าคุณลุงหมอจะไม่อยากอ่านแล้ว

………………………….
ตอบครับ
ประเด็นที่ 1. ความแตกต่างของภูมิหลัง การตั้งสมมุติฐานว่าตัวเราเป็นเด็กสอบตรง  (แพทย์ชนบท) หรือเด็กโอดอท (หนึ่งหมอหนึ่งตำบล) จะต้องโง่กว่าหรือมี performance ต่ำกว่าเด็กที่สอบเอ็นทรานซ์เข้ามานั้น เป็นความเชื่อที่เหลวไหลไร้สาระทั้งเพ ข้อมูลในภาพใหญ่ที่วงการแพทย์มีในยี่สิบปีที่ผ่านมาคือเด็กที่สอบเข้ามาทุกรูปแบบเมื่อจบแล้วมี performance ไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ คุณลักษณะเฉพาะตัว (character) ต่างหากที่เป็นตัวกำหนด performance ของแต่ละคนว่าจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ตอนผมทำรายการ The Symptom ได้เห็นเด็กโอดอทคนหนึ่งแล้วประทับใจมาก มั่นใจว่าเธอจะต้องเติบโตไปเป็นหมอที่เก่งและดีแน่นอน ตัวผมเองก็เป็นเด็กสอบเทียบ คือไม่เคยเรียนมัธยมปลายสายสามัญ ซึ่งสมัยผมหากจะจัดลำดับชั้นต่ำสูงกันอย่างที่พวกคุณจัดกันเดี๋ยวนี้ เด็กสายวิทย์จะฉลาดสุด สายศิลป์รองลงมา เด็กสอบเทียบโง่สุด แต่เชื่อผมเถอะครับ background ว่ามาจากทางไหน ไม่ใช่สาระสำคัญหรอก แต่คุณลักษณะที่ติดตัวมาสำคัญกว่า ถ้าคุณจะพัฒนาตัวเองอย่าไปโฟคัสที่ประเด็นที่มาของคุณ แต่ให้โฟคัสที่การมุ่งพัฒนาคุณลักษณะประจำตัวของคุณ เช่น การมีวินัยต่อตนเอง การสร้างไฟสร้างฝันให้มันร้อนแรงอยู่เสมอ เป็นต้น
ประเด็นที่ 2.  พื้นฐานความรู้ความสามารถที่จะเรียนแพทย์  คุณมีเหลือเฟือ  เด็กนักเรียนไทยที่เข้ามาเรียนแพทย์เป็นเด็กส่วนที่มี IQ สูงที่สุดเมื่อเทียบกับสาขาอื่น ตลอดระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา วงการแพทยศาสตร์ศึกษาไทยไม่เคยพูดกันเลยในประเด็นที่ว่าเด็กที่มาเรียน IQ ต่ำเกินไปสมองไม่พอเรียน แต่สิ่งที่พูดกันมากก็คือปัญหาเด็กไม่มี maturity หรือไม่มีวุฒิภาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวุฒิภาวะทางอารมณ์  คือไม่มีลูกอึด ไม่มีไฟ ไม่มีฝัน ไม่รู้สภาวะอารมณ์ตัวเอง จัดการความเครียดของตัวเองไม่ได้ ไม่ต้องไปพูดถึงความสามารถที่จะเข้าใจผู้อื่น เพราะตัวเองยังไม่เข้าใจตัวเองแล้วจะไปเข้าใจผู้อื่นได้อย่างไร บางคนมาเรียนเพราะพ่อแม่จ้างมา (มีอยู่รายหนึ่งบอกผมว่ามาเรียนเพราะพ่อสัญญาว่าจะซื้อมอเตอร์ไซค์ฮาร์เลย์เดวิดสันให้ถ้าเรียนแพทย์)  ดังนั้นถ้าจะปรับพื้นฐาน อย่าไปห่วงพื้นฐานความรู้หรือความฉลาดหลักแหลมหรือความไม่ช่างจำของตัวเอง แต่ให้มุ่งปรับวุฒิภาวะทางอารมณ์ของตัวเอง ฝึกตัวเองให้มีสติ รู้อารมณ์ของตัวเอง มีวินัยต่อตนเอง ปกครองตัวเองให้ได้ เอาแค่นี้ก่อน เดี๋ยวอย่างอื่นมันดีเอง
ประเด็นที่ 3.  คอนเซ็พท์ในการเรียนแพทย์ มันมีสองส่วน
ส่วนที่หนึ่งคือการสอบให้ผ่าน ซึ่งสุดโต่งไปทางนี้ก็คือการรีบๆท่องจำเรื่องที่จะสอบ เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างเอาให้พอกาข้อสอบได้แก้ขัดไปก่อน พอสอบเสร็จก็รีบๆลืมเพื่อจะได้ไปจำเรื่องต่อไป
ส่วนที่สองคือการเรียนให้มีความรู้และทักษะ ซึ่งสุดโต่งไปทางนี้ก็คือการหมดเวลาไปกับการพยายามเชื่อมโยงข้อมูลความรู้สาขาต่างๆเข้าหากันจนทะลุปรุโปร่ง จนลืมเรื่องการเตรียมตัวสอบไป ซึ่งผลก็คือสอบตก
     ในชีวิตจริงนั้น วิชาแพทย์มันกว้างใหญ่มาก เนื้อหาพื้นฐานผมคิดว่าต้องเรียนกันสัก 12 ปี แต่เขาเอามาบีบให้เหลือ 6 ปี คุณต้องถ่วงดุลระหว่างสองส่วนข้างบนนั้นให้พอดีกับความสามารถและพลังที่คุณมี เพื่อให้คุณได้ทั้งสองอย่าง คือสอบได้ด้วย พอมีความรู้ด้วย  ความสามารถหมายถึงความสามารถในการบริหารเวลาและวินัยต่อตนเอง พลังหมายถึงไฟของความอยากรู้อยากเก่งเพื่อจะได้ทำอะไรให้คนไข้ได้มากๆ ถ้ามีสองอย่างนี้มาก คุณก็มีสิทธิที่จะละเลียดกับการหาความรู้เชื่อมโยงความรู้ได้มาก แต่ถ้าคุณมีสองอย่างนี้น้อย มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ทีคุณต้องเอาตัวรอดด้วยการเรียนพอให้สอบได้ก่อน จบแล้วค่อยไปละเลียดหาความรู้เพิ่มเติมเอา แต่ถึงจบมาจริงๆคุณจะพบว่าก็ยังมีปัญหาเรื่องความบีบรัดของเวลาอยู่ดี อย่างผมงี้บางทีคุยกับคนไข้คนนี้จบแล้วอยากจะเบรกไปอ่านหนังสือเพิ่มเติมสักสองชั่วโมงเพราะยังตีปัญหาของคนไข้ได้ไม่ทะลุปรุโปร่ง แต่ในชีวิตจริงทำได้ที่ไหนละ เพราะคนไข้อีกคนหนึ่งมานั่งจ่อมอยู่ในห้องแล้ว ดีอยู่หน่อยคือเมื่อจบมาเป็นหมอแล้วส่วนที่มาแทนการสอบคือความอยากหาเงินให้ได้มากหรืออยากทำงานให้ได้ผลงานมากๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราบริหารเองได้ เช่นถ้าเราลดความงกเงินลงหรือเราตัดสินใจเปลี่ยนงาน เราก็จะมีเวลามากขึ้น ไม่เหมือนตารางสอบซึ่งเราไปบริหารหรือเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย ดังนั้นชีวิตการเป็นนักศีกษาแพทย์จึงยากกว่าชีวิตการเป็นหมอเมื่อจบแล้ว ความจริงอันนี้คุณใช้ปลอบตัวเองได้ ว่าทนอีกหน่อยเถอะเอ็งเอ๋ย ลุงสันต์บอกว่าจบเป็นหมอแล้วเอ็งก็ไม่ต้องทนทุกข์ยากอย่างนี้แล้ว
ประเด็นที่ 4.  ความรู้สึกต่อต้านเกิดจากการเปรียบเทียบ  เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกต่อต้านสิ่งแวดล้อม เมื่อนั้นแสดงว่าเรากำลังสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไปแล้ว เราไปตกอยู่ในอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมและยอมให้อิทธิพลนั้นบีบเรา ถ้าคุณมีความเป็นตัวของตัวเองในการเรียน มุ่งเรียนให้จบ มีความรู้ไปช่วยเหลือคนไข้ คุณจะโฟคัสที่ตัวคุณเอง บกพร่องตรงไหนก็แก้ไขไป วิธีไหนไม่ดีก็เปลี่ยน อาจจะเป็นวิธีที่เหมือนหรือแตกต่างจากคนอื่นไม่สำคัญ แล้วคุณก็จะไม่สนใจด้วยว่าคุณเหมือนหรือแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร แต่ถ้าคุณเรียนเพื่อให้สอบได้ A หรือให้ได้รับการยอมรับจากครูหรือจากเพื่อน หรือเพื่อเอาชนะเพื่อน เมื่อนั้นความคิดเปรียบเทียบจะเกิดขึ้นตลอดเวลา ตามมาด้วยความหมั่นไส้ อิจฉา ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นความคิดงี่เง่าไม่สร้างสรรค์ทั้งสิ้น ดังนั้นเลิกมองเพื่อนๆแบบคิดเปรียบเทียบว่าทำไมเขาคิดเขาทำไม่เหมือนเรา หันมาแข่งกับตัวเอง ปรับปรุงตัวเองโดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับใครดีกว่า
  
    อีกอย่างหนึ่งการต่อต้านเกิดจากการที่เราไม่ค่อยได้คุยกับตัวเองในประเด็นคุณค่าของสิ่งที่ต้องทำ  ผมก็เคยเป็น จะเล่าให้ฟัง ตอนจบไปทำงานเป็นแพทย์ใช้ทุน ประมาณปี พ.ศ. 2523 ทำงานรพ.อำเภอสนุกมาก แต่ที่ไม่สนุกคือต้องไปเปิดคลินิกหาเงินไปใช้หนี้เก่า ถึงเวลาจะต้องไปคลินิกแล้วมันแพ้ มันออกอาการคันตามผิวหนังยุบๆยิบๆ ไม่มีความสุขเลย ผมใช้วิธีนั่งคุยกับตัวเอง ว่าเป็นหนี้เขาแล้ว ยังไงก็ต้องหาเงินใช้ แล้วการทำคลินิกมันก็ไม่ใช่อะไรที่เลวร้าย เป็นช่องทางช่วยคนไข้ได้อีกทางหนึ่ง อาศัยการคุยกับตัวเองนี้แหละ จึงประคองตัวทำคลินิกจนใช้หนี้ได้หมด
ประเด็นที่ 5.  การพักการเรียนไปตั้งหลัก  พวกอาจารย์แนะแนวก็ดี พ่อแม่ก็ดี มักมีความเชื่อว่าถ้ามีปัญหามากนักก็พักการเรียนไปตั้งหลักสักปีหนึ่งไม่ดีหรือ แล้วค่อยกลับมาลองดูใหม่ นั่นเป็นความคิดที่ฟังดูเหมือนสมัยใหม่ open และเปิดทางเลือกในชีวิตให้กว้างขึ้น แต่ความจริงแล้วไม่เข้าท่าเลย เพราะ
 ประการแรก นี่ไม่ใช่เวลาที่จะมาเลือก แต่เป็นเวลาของการเรียนรู้สิ่งที่เราได้เลือกมาแล้ว เวลาของการเลือกวิชาชีพได้ผ่านมาแล้ว และคุณก็ได้เลือกแล้ว ดีหรือไม่ดี เหมาะหรือไม่เหมาะ คุณจะประเมินตอนนี้ได้อย่างไรเพราะคุณยังไม่รู้เลยว่าการเป็นหมอนั้นรสชาติมันเป็นอย่างไร คุณต้องเรียนให้จบก่อนทำงานดูก่อน จึงจะประเมินได้ ไม่งั้นคุณก็จะเข้าไปอยู่ในโหมดของคนหลงทาง แบบว่าเข้าไปได้ครึ่งหนึ่งแล้วชักออก คือเรียนนั่นปีสองปี..เปลี่ยน เรียนนี่ปีสองปี…เปลี่ยน มีเมียได้ปีสองปี..เปลี่ยน  อย่าเติบโตไปเป็นคนอย่างนั้นเลย
ประการที่สองถ้าปัญหาคือคุณเรียนไม่ทัน เก็บความรู้ได้ไม่หมด สอบตก การพักการเรียนจะช่วยคุณหรือ.. ไม่อย่างแน่นอน คุณพักการเรียนไปเที่ยวตะเร็ดเตร็ดเตร่ คุณยิ่งห่างไกลไปจากบรรยากาศของการแสวงหาความรู้ แล้วความรู้มันจะเพิ่มมาจากไหน วันนี้จะเรียนทันหรือไม่ทันเขาคุณก็ต้องอยู่ตรงนี้แหละ อยู่ใกล้ครู ใกล้ๆคนไข้ เกาะติดเนื้อหาสาระที่เราอยากเรียนอยากรู้ สอบตกก็ไม่เป็นไร การสอบตกไม่ใช่เรื่องเลวร้าย สอบตกยิ่งเป็นโอกาสดีที่จะได้เข้าหาครู ใกล้ชิดครู เสาะหาคำแนะนำ เพื่อจะได้ปรับปรุงความรู้ของตัวเอง ครูจะช่วยให้เราพัฒนาความรู้ของตัวเราเองได้ดีขึ้นเร็วขึ้น แล้วก็สอบใหม่ ตกอีกก็ปรับปรุงตัวเองแล้วก็สอบใหม่อีก ไม่ต้องดร็อพไปไหน ไม่ต้องหนีไปไหน เพราะเป้าหมายของเราคือเรียนให้จบเพื่อจะได้ไปเป็นหมอช่วยเหลือคนเจ็บไข้ แล้วคุณจะหนีไปไหนละ ผมเคยเป็นครูแพทย์มาก่อน ผมจะบอกอะไรให้อย่างหนึ่งนะ ในฐานะครู เราไม่เคยเลยที่จะต้องมานั่งพูดกันว่าเราจะเอาเจ้าคนนี้ตกเสียดีไหมเพราะมันโง่ ไม่เคยเลยจริงๆ  แต่มีบ่อยครั้งมากที่เราต้องมานั่งหารือกันว่าเจ้าคนนี้มันฉลาดก็จริง แต่มันไม่มีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพแพทย์ มันเหมือนลูกแกะหลงทาง มันไม่มีลูกอึดที่จะทำอะไรยากๆเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายคือการเรียนให้จบเพื่อจะได้ไปเป็นหมอ เราจะทำยังไงกับมันดี  ช่วงที่เป็นครู ผมไม่เคยหนักอกหนักใจกับลูกศิษย์ที่มีลูกอึดเลย ไม่ว่าเขาจะปัญญาทึบแค่ไหน แต่ผมหนักใจมากๆ กับลูกศิษย์ประเภทฉลาดระดับอัจฉริยะแต่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ อะไรๆก็เป็นปัญหาอุปสรรคในชีวิต ผิดสะเป๊คไปเสียหมด แล้วคุณว่าตัวคุณเป็นลูกศิษย์แบบไหนละ
ประเด็นที่ 6. เรื่องสุขภาพการเป็นหวัดแพ้เรื้อรังก็ดี ท้องเสียประจำก็ดี ชักมือจีบเข้ารพ.กลางดึกก็ดี ทั้งหมดนั้นเป็นผลจากความเครียด หรือความกลัว โดยเฉพาะความกลัวการสอบ นักศึกษาแพทย์เป็นแบบนี้กันทุกคน มากบ้างน้อยบ้าง ที่กลัวขี้หดตดหายจนป่วยในวันสอบอย่างคุณนี้ก็มีมากพอควร ไม่ใช่มีแต่คุณคนเดียว ผมเองก็เป็น โตเป็นผู้ใหญ่ทำงานตั้งนานแล้วบางคืนยังหลับฝันว่าจะต้องไปสอบวิชา Organic Chemistry ซึ่งตัวเองไม่มีความรู้เลย แล้วสะดุ้งตื่นขึ้นมาใจสั่นพับๆๆๆ ต้องปลอบใจตัวเองว่าใจเย็นๆ สันต์ ใจเย็นๆ นั่นมันเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านไปนานแล้วและจบไปแล้ว ตอนนี้เราแค่ฝันถึงมันแค่นั้นเอง  กลับมาที่เรื่องของคุณ การที่ครูเขาบังคับให้พวกคุณลากสังขารไปสอบนั้นก็ถูกต้องแล้ว ไม่งั้นถึงวันสอบพวกคุณก็จะออกฟอร์มป่วยกันหมด ถ้าผมเป็นครูของคุณผมจะไม่จัดสอบให้คุณใหม่อย่างแน่นอน แต่จะให้คุณสอบตก แล้วตามประกบคุณสอนคุณให้ฝึกวินัยตัวเอง หัดบริหารเวลาใหม่ บริหารสุขภาพกาย สุขภาพจิต การสอบตกมีข้อดีที่การเรียนซ้ำในเรื่องเดิมเราจะมีเวลามากขึ้น ทำให้เรามีเวลามากพอที่จะหัดปกครองตัวเอง ได้เรียนรู้ที่จะอยู่ในโลกของความเป็นจริงซึ่งมีกฎกติกาที่เราชอบบ้างไม่ชอบบ้าง การต้องจบช้ากว่าเพื่อนไปปีครึ่งปีไม่ใช่สาระสำคัญ ก็คุณได้วีซ่าจากคุณพ่อคุณแม่ให้ดร็อพได้เป็นปีๆอยู่แล้วนี่ จะไปวอรี่อะไรละ

ประเด็นที่ 7 เรื่องจำอะไรไม่เก่ง  ความจริงต้องเรียกว่าเรื่องความคิดต่อต้านที่ถูกบังคับให้จำโน่นจำนี่มากกว่า ฟังดูการบังคับให้จำโน่นจำนี่เป็นเรื่องงี่เง่า แต่หัวใจการเรียนแพทย์คือการฝึกให้ใช้ความคิดวินิจฉัย  ซึ่งจะฝึกได้ต้องมีความรู้จำไว้ในสมองระดับหนึ่งก่อน ไม่งั้นจะเอาข้อมูลที่ไหนมาคิดเปรียบเทียบวินิจฉัยละ ถูกแมะ การที่กว่าจะคิดอะไรสักอย่างได้ต้องกดไอโฟนหาหรือปรึกษากูเกิ้ลก่อนทุกครั้งนั้น ในชีวิตจริงมันทำไม่ได้ทุกครั้งเพราะมันไม่ทันการณ์ ในทางการศึกษาจึงถือว่า ความจำ (memory) เป็นพื้นฐานที่ก่อให้เกิดความคิดวินิจฉัย (cognitive thinking) แล้วสิ่งที่เขาคาดหมายให้คุณจำไม่ได้มีมากมายมหาศาลหรอกครับ เขาคาดหมายให้จำเฉพาะเรื่องที่คนระดับคุณต้องใช้ประกอบการคิดวินิจฉัยเท่านั้นเอง ดังนั้นอย่าไปต่อต้านหลักสูตรการเรียนที่คาดหมายให้จำโน่นจำนี่เลย มันก็มีข้อดีของมันอยู่ 
กล่าวโดยสรุป ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับคุณ เป็นสิ่งที่นักศึกษาแพทย์หลายคนต้องเผชิญมาแล้วเช่นกัน รวมทั้งตัวผมเองด้วย ดังนั้นอย่าหนีไปไหน โฟคัสที่เป้าหมายคือการจะได้ไปเป็นหมอเอาความรู้ไปช่วยเหลือคนไข้  เลี้ยงความฝันนั้นไว้ แล้วใส่ไฟ เติมพลังให้ฝันนั้นเป็นจริงทุกวันๆ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์