Latest

ใช้อำนาจของความเป็นผู้ป่วยให้เป็น

     งานวิจัยในหลายประเทศทั่วโลกสรุปได้ผลใกล้เคียงกันว่าเวลาที่ผู้ป่วยหรือ “คนไข้” ได้พูดกับแพทย์ในแต่ละครั้งหลังจากการนั่งรอคอยตั้งนานคือ สิบนาที เท่านั้นเอง แม้ว่าทุกโรงพยาบาลจะติดคำประกาศสิทธิผู้ป่วยซึ่งฟังดูเหมือนกับว่าผู้ป่วยมีอำนาจจะถามจะเค้นอะไรกับหมอก็ได้ แต่สิบนาทีมันไม่ได้นานพอที่จะถามอะไรมากมายใช่ไหมครับ เพราะหมอเองก็สาละวนกับการตรวจการเขียนอะไรจนดูยุ่งไปหมด ยิ่งโรงพยาบาลที่เพิ่งติดตั้งระบบเวชระเบียนบนคอมพิวเตอร์และบังคับให้หมอพิมพ์ข้อมูลเข้าคอมแทนการเขียนลายมือที่ไม่มีใครอ่านออก แพทย์ยิ่งต้องจ้องที่คีย์บอร์ดตาไม่กระพริบเพราะขนาดจ้องยังจิ้มแป้นผิดๆถูกๆเลย จะเอาเวลาที่ไหนมาเงยหน้ามองคนไข้ได้มากนัก 

       การจะใช้อำนาจในการยิงคำถามให้คุ้มค่าจึงต้องมีการเตรียมการล่วงหน้ามาให้ดี เพราะคำถามของคนไข้ถ้าเจาะเข้าเป้าให้เจ๋งเป้งแล้ว จะมีผลเปลี่ยนการตัดสินใจของแพทย์แบบเต็มๆ บ่อยครั้งแพทย์นั้นมักจะตกอยู่ในสภาพลังเลระหว่างความคิดสองฝักสองฝ่าย บางครั้งก็จบลงด้วยการเลือกข้างที่แพทย์เดาแทนคนไข้ว่าคนไข้คงอยากได้อย่างนี้ ซึ่งบ่อยครั้งก็เป็นการเดาผิด การอยู่ในอาชีพหมอมานานทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ผมเรียนรู้ว่าในบางสถานการณ์คำถามของคนไข้จะเปลี่ยนผลการรักษาไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะเมื่อถูกถาม หมอจะถูกบังคับให้พิสูจน์เพื่อให้คนไข้หายข้องใจ ซึ่งมีผลต่อการรักษาด้วย ตัวอย่างเช่น

     รายที่ 1 ผู้ป่วยเด็กแรกรุ่นหนุ่ม แพทย์ตรวจแล้วสงสัยเป็นไส้ติ่งอักเสบ แต่ไม่แน่ใจ จึงรับไว้สังเกตอาการ และตรวจซ้ำ แต่ก็ยังไม่ชัด เป็นเช่นนี้อยู่สองวัน มามีอาการชัดเอาในวันที่สาม ซึ่งเมื่อผ่าตัดเข้าไปก็พบว่าไส้ติ่งแตกเสียแล้ว ต้องผ่าตัดระบายหนอง เกิดพังผืด ต้องผ่าตัดซ้ำซาก ต้องนอนโรงพยาบาลนานถึงสามเดือน เหตุที่วินิจฉัยไม่ได้ตอนแรกเพราะมันเป็นไส้ติ่งชนิดกระดกไปข้างหลัง (retrocaecal appendix) ซึ่งวินิจฉัยยาก แต่ถ้าตอนแรกที่กำลังสงสัยกันอยู่นั้น หากฝ่ายคนไข้ตั้งคำถามกับหมอว่า               

“ผมควรจะทำซีที.สแกน เพื่อช่วยวินิจฉัยไหมครับ?”

ความลังเลของหมอที่สองจิตสองใจจะทำซีที.ก็กลัวผู้ป่วยเปลืองเงินก็จะหมดไป การวินิจฉัยก็จะทำได้เร็วขึ้น เพราะการทำซีที.จะวินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบได้อย่างแม่นยำโดยไม่ต้องรอสังเกตอาการนานจนไส้ติ่งแตก        


     รายที่ 2 ผู้ป่วยหญิงอายุห้าสิบปี มีเบาหวานเป็นโรคประจำตัว วันหนึ่งหลังอาหารเย็นมีอาการแน่นลิ้นปี ท้องอืด แบบอาหารไม่ย่อย ไปหาหมอที่โรงพยาบาล หมอตรวจแล้วบอกว่าเป็นแก้สในกระเพาะอาหาร ให้ยาน้ำขาวและยาเม็ดกลับไปกินที่บ้าน เธอกลับไปนอนได้ครึ่งคืนก็เจ็บแน่นลิ้นปี่มากจนล้มฟุบในห้องน้ำกลางดึก ต้องหามกันกลับมาโรงพยาบาล หมอตรวจซ้ำพบว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันหรือที่เรียกง่ายๆว่า ฮาร์ท แอทแทค ที่วินิจฉัยครั้งแรกไม่ได้เพราะผู้หญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเบาหวานด้วย อาการของฮาร์ทแอทแทคมักไม่ชัด มาชัดเอาเมื่อกลับมารอบสองนี่เอง ซึ่งหมอก็รีบตรวจสวนหัวใจ ใช้บอลลูนเข้าไปขยายหลอดเลือด แต่ช้าไปเสียแล้ว เพราะกล้ามเนื้อหัวใจตายไปหลายส่วน เกิดหัวใจล้มเหลว ต้องอยู่ไอซียู.นาน และออกจากโรงพยาบาลในสภาพที่หัวใจไม่มีวันที่จะกลับไปดีเหมือนเดิม ถ้าหากย้อนเวลาไปตอนที่มาหาหมอครั้งแรก หากเธอถามว่า           

     “หมอคะ เป็นอย่างดิฉันนี้จะเป็นฮาร์ทแอทแทค ได้หรือเปล่า?” 

เหตุการณ์ก็จะไม่จบแบบนี้ เพราะการจะตอบคำถามนั้นได้ หมอต้องพิสูจน์โดยการตรวจคลื่นหัวใจ ตรวจเอ็นไซม์หัวใจในเลือด ซึ่งก็จะพบแต่ตอนนั้นว่าเธอเป็นฮาร์ท แอทแทค ซึ่งก็จะรักษาได้ทันก่อนที่กล้ามเนื้อหัวใจจะตายไปมาก


     รายที่ 3 เป็นหญิงวัยกลางคนซึ่งคุณแม่และพี่สาวเสียชีวิตด้วยมะเร็งเต้านม เรียกว่ามีความเสี่ยงทางด้านกรรมพันธุ์สูง เธอไปตรวจแมมโมแกรมที่โรงพยาบาล หมอตรวจแล้วบอกว่าไม่มีอะไร แต่เธอไม่พอใจแค่นั้น เธอถามหมอว่า              

“ถึงแมมโมแกรมได้ผลปกติ ดิฉันขอตรวจอุลตร้าซาวด์ซ้ำให้แน่ใจจะได้ไหม?”

ซึ่งหมอก็ตรวจให้ และผลออกมาว่าพบมะเร็งเต้านมระยะแรกจริงๆ เพราะการตรวจอุลตร้าซาวด์หากทำควบกับแมมโมแกรมจะมีขีดความสามารถในการตรวจพบมะเร็งระยะแรกเพิ่มขึ้นอีกมาก เธอได้รับการผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนออกและรักษาเนื้อเต้านมไว้ได้ ซึ่งหากตรวจไม่พบคราวนี้แล้วไปพบเอาเมื่อก้อนมะเร็งโตแล้วเธอคงไม่แคล้วถูกผ่าตัดเอาเต้านมออกทั้งข้างซึ่งแย่กว่าเป็นไหนๆ                 


    รายที่ 4 ลูกสาวซึ่งกำลังนั่งรับประทานอาหารเย็นกับคุณพ่อพบว่าอยู่ๆคุณพ่อก็มีอาการพูดจาไม่ชัดและมึนงงสับสนเธอรีบพาไปโรงพยาบาลทันที หมอวินิจฉัยว่าเป็นอัมพาตเฉียบพลันหรือสโตร๊ค (stroke) และแนะนำให้พักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อทำกายภาพบำบัด ลูกสาวถามว่า              

     “ถ้าจะให้ยาละลายลิ่มเลือดตอนนี้เลยจะได้ไหม?”

คำถามนี้ทำให้หมอผู้รักษาซึ่งไม่ชำนาญการให้ยาละลายลิ่มเลือดต้องปรึกษาหมออีกคนหนึ่งให้บึ่งเข้ามาในโรงพยาบาลแล้วฉีดยาละลายลิ่มเลือดกันเดี๋ยวนั้น คุณพ่อของเธอหายกลับมาพูดได้เป็นปกติ เพราะคนเป็นอัมพาตเฉียบพลันซึ่งเกิดจากลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดในสมอง มีนาทีทองอยู่ 4 ชั่วโมงกว่าๆ หากรีบฉีดยาละลายลิ่มเลือดทัน ก็มีโอกาสฟื้นกลับมาได้มากกว่าการรักษาแบบทั่วไป หากลูกสาวไม่ถามคำถามในคืนนั้น คุณพ่อของเธอก็อาจไม่มีโอกาสกลับมาพูดได้อย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้

     รายที่ 5 คุณแม่พาลูกชายอายุสิบห้าซึ่งเล่นฟุตบอลตอนกลางวันแล้วบ่นปวดหัวตอนกลางคืนไปโรงพยาบาล หมอซักประวัติและตรวจแล้วบอกว่าเป็นเพราะความเครียดจากการสอบ ให้ยามากิน กลับมาถึงบ้าน ลูกชายมีอาการอาเจียน เธอไม่แน่ใจจึงโทรศัพท์ไปหาญาติที่เป็นหมออยู่ต่างประเทศ ญาติบอกให้กลับไปโรงพยาบาลใหม่พร้อมกับให้ถามหมอว่า             

“อาการนี้เกิดจากการบาดเจ็บที่ศีรษะขณะเล่นฟุตบอลได้หรือเปล่าคะ?”   

ซึ่งเธอก็ทำตาม หมอเมื่อถูกถามก็ต้องส่งตรวจซีที.สมองก่อนจึงจะตอบได้ จึงพบว่ามีเลือดคั่งในสมอง เด็กหนุ่มได้รับการผ่าตัดทันทีและปลอดภัย หากเธอไม่ถามคำถามเช่นนั้นกับหมอ เด็กหนุ่มอาจจะนอนหลับไปแล้วไม่มีโอกาสตื่นอีกเลยก็ได้ เพราะเลือดที่คั่งในสมองหากเกิดตอนนอนหลับมักจะเป็นเหตุให้เสียชีวิตขณะนอนหลับ


     รายที่ 6 เป็นหญิงสาวอายุสามสิบกว่า บอกกับเพื่อนร่วมงานว่าปวดหัวมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ความจริงเธอเคยปวดหัวบ่อยเหมือนกัน แต่ครั้งนี้เธอบอกว่ามันสาหัสกว่าทุกครั้ง เธอกลับบ้านนอนจนถึงรุ่งเช้า เธอไม่มาทำงาน เพื่อนซี้กันโทรศัพท์ไปหาที่คอนโดเธอก็ไม่ตอบ จึงพากันไปเยี่ยม ก็พบว่าเธอนอนเสียชีวิตอยู่ที่พื้นห้องรับแขก เนื่องจากเป็นการเสียชีวิตแบบผิดธรรมชาติ ตำรวจจึงส่งเธอชัณสูตรที่สถาบันนิติเวช จึงทราบว่าเธอเสียชีวิตจากหลอดเลือดในสมองโป่งพองและแตก หรืออะนูริสซึ่ม (aneurysm) ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ หากเธอไปหาหมอแล้วถามหมอว่า          

     “ดิฉันปวดหัวมากขนาดนี้ จะเป็นหลอดเลือดโป่งพองในสมองได้ไหมคะ?”

หมอเมื่อถูกถามเช่นนั้นก็คงจะต้องตรวจเอ็มอาร์ไอ.เพื่อจะพิสูจน์ให้เธอสบายใจ แล้วก็จะพบว่าเธอเป็นอนูริสซึ่มจริง เธอก็คงจะไม่เสียชีวิต เพราะสมัยนี้หมอสามารถเอากล้องขนาดเท่าดินสอสอดเข้าทางรูจมูกเข้าไปผ่าตัดแก้ไขถึงในสมองได้               


     รายที่ 7 เป็นหญิงอายุหกสิบกว่า เป็นเบาหวานมานานนับสิบปี รักษากับหมอที่โรงพยาบาลขาประจำ จนวันหนึ่งมีอาการตามัว จึงไปหาหมอตา จึงพบว่าจอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวานในระดับที่รุนแรงเกินแก้ไข หากย้อนเวลาไปสักหลายๆปี แล้วเธอถามหมอที่รักษาเบาหวานให้เธอว่า          

     “ดิฉันเป็นเบาหวานอย่างนี้ ควรจะไปตรวจตาเพื่อป้องกันเบาหวานขึ้นตาเมื่อใด?”   

หมอก็คงจะนึกขึ้นได้ ว่ามาตรฐานการรักษาเบาหวานจะต้องมีการส่งตรวจตาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางตาตั้งแต่เนินๆ และเธอก็คงจะไม่จบลงด้วยภาวะตาบอดอย่างทุกวันนี้ เพราะภาวะจอประสาทตาเสื่อมสามารถรักษาได้ด้วยเลเซอร์และวิธีอื่นๆหากวินิจฉัยได้แต่เนิ่นๆ

เหล่านี้เป็นตัวอย่างของการใช้อำนาจของความเป็นคนไข้ตั้งคำถามเอากับแพทย์ ซึ่งจะทำให้แพทย์ต้องทบทวนการตัดสินใจของตัวเองให้รอบคอบยิ่งขึ้น และบ่อยครั้งสามารถเปลี่ยนผลการรักษาไปได้มหาศาล              

ดังนั้น สิบนาทีที่ได้คุยกับแพทย์ อย่าลืม หัดใช้อำนาจของคุณให้เป็นนะครับ 


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์