Latest

ลูกชายสอบสัมภาษณ์หมอ CPIRD ตก

เรียน คุณหมอสันต์ที่นับถือ
เรื่อง ลูกชายสอบสัมภาษณ์หมอตก
 
        ในชีวิตก็รู้จักหมอนับคนได้ แต่คนที่รู้สึกสนิทเหมือนญาติกลับเป็นคุณหมอที่ไม่เคยเจอตัว(เป็นๆ) หรือพูดคุยด้วยสักคำ  แต่รู้จักผ่านรายการTV(The Symptom)  และบล็อกของคุณหมอ ที่ตามประจำ เพราะยึดคติประจำใจว่าตัวเราคือผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในการดูแลรักษาสุขภาพกายใจ
 
         ลูกชายดิฉัน สอบCPIRD TU ติด ตอนแรกเขาก็จะไม่ไปสอบสัมภาษณ์ ตรวจร่างกาย อันเนื่องมาจากการไปเข้าค่ายหมอศิริราช2วัน เมื่อปีก่อน  ทำให้เกิดรักฝังใจว่า จะต้องเรียนที่ศิริราชเท่านั้น 
ก็ชีวิตของเขา  เราเป็นแค่ผู้สนับสนุน  ก็บอกให้ลูกไปลองสอบสัมภาษณ์ ตรวจร่างกาย เหมือนไปเรียนรู้งานว่าหมอเขาสัมภาษณ์อะไร แล้วหูตาของลูกมีคุณภาพพอจะเรียนหมอได้ไหม คิดว่าสอบเสร็จประกาศรายชื่อ เราไม่ไปทำสัญญา ก็จบ เพราะที่นี่ให้สำรองมาตรวจร่างกาย สอบสัมภาษณ์พร้อมกับตัวจริงเลย
 
           ตรวจที่โรงพยาบาลศูนย์ ใช้เวลาตรวจร่างกาย 3 วัน  เด็กตัวจริง 30 สำรองอีก 20 (CPIRD+ODOD)  มีให้ทำแบบทดสอบจิตวิทยา 500 ข้อ ให้เขียนเรียงความเกี่ยวกับการอยากเป็นแพทย์  ลูกดิฉันก็ไม่ตั้งใจทำ ก่อนวันไปสอบสัมภาษณ์ก็อ่านหนังสือโต้รุ่ง  ไปเขียนตอนนั่งรอ เขียนข้อเสียก่อนแล้วกะว่าจะเขียนข้อดีของการเป็นหมอในตอนท้าย แต่ยังไม่เสร็จ (เหมือนเขียนด่าหมอไว้เยอะ) ก็ถูกเรียกเก็บเรียงความ ลูกดิฉันก็ เอ้าส่ง…ก็ส่ง
 
             อีกสัปดาห์ต่อมาวันพุธก็มีสอบสัมภาษณ์  วันพฤหัสบดีก็ถูกนัดให้ตามพ่อแม่ไปสอบสัมภาษณ์ซ่อมวันศุกร์ เราก็คิดว่าคงไปกวน อ.หมอไว้เยอะแน่เลย วันศุกร์ก็ไปกัน  ดิฉัน,พ่อของลูกและลูก ตอนแรกอาจารย์หมอขอคุยกับดิฉันและพ่อของลูกก่อน เขาก็ถามว่าทำไมอยากให้ลูกเป็นหมอ เห็นลูกมาเล่า ดิฉันก็ตอบตรงๆ แต่ไม่รู้ว่าอ.หมอจะคิดอย่างไร  คือจริงๆเนี่ย ดิฉันอยากให้ลูกใช้ชีวิตแบบท่านพุทธทาสหรือแบบพระอาจารย์ ว วชิรเมธี แต่เขาไม่ได้ต้องการแบบนั้น ในตอนนี้ ก็คิดถึงอาชีพครูหรือหมอก็ได้ เขาก็ไม่ศรัทธาอาชีพครูเลย  หมอก็น่าจะดี ได้ช่วยคน ได้เห็นการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ประจำ เผื่อจะละโลภ โกรธ หลง ได้บ้าง ไม่ประมาทกับชีวิต ปู่ย่าตายาย ก็อุ่นใจที่มีลูกหลานเป็นหมอ ก็ประมาณนี้ 
    
             อ.หมอ ที่คุยด้วย มี 3 คน จิตแพทย์ 1 อายุรแพทย์ 1 ศัลยแพทย์ 1 เป็นกรรมการบริหารและ ผอ.ศูนย์แพทย์ที่นี่ และเป็นหมอที่รพ.นี้ด้วย ยังมีเจ้าหน้าที่อีก 1ท่าน หลังจากนั้น ก็ขอให้เราพ่อแม่ ไปเก็บตัว ขอคุยกับลูก สัก 30 นาทีต่อมา ก็เอาลูกไปเก็บ    ให้เรามาคุยกับผอ.และกรรมการศูนย์ ท่านก็เล่าว่าลูกเรามีพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่สุภาพ ทำแบบทดสอบทางจิตคะแนนกลางๆไปทางแย่ เด็กไม่มีความศรัทธาในวิชาชีพ ด้วยต.ย.ที่ลูกเขียนเรียงความ ว่าการทำอาชีพแพทย์มักจะพบเจอแต่ของไม่สวยงาม เชื้อโรค ฯลฯ  เวลาส่วนตัวก็น้อย เหตุผลที่ลูกคิดเรียนแพทย์ก็เพราะ แม่อยากให้เรียน และเป็นค่านิยมของสังคม  ตัวเด็กเองก็ไม่แน่ใจว่าจะเรียนอะไรดี เพราะคิดว่าถ้าไม่ติดหมอก็จะเรียนชีววิทยา ลูกบอกว่า เขาไม่เคยเรียน เขาก็ไม่รู้หรอกว่าจะชอบไหม  เขาต้องเรียนดูก่อนจึงจะตอบได้ แต่เขาบอกกับแม่ว่าที่อยากเรียนศิริราชเพราะ อยากเรียนในที่ที่ท้าทาย มีคนเก่งในสาขาที่เขาเรียนเยอะๆ  จะให้เรียนชีววิทยาก็ได้แต่ขอเรียนในที่ที่มีอาจารย์เก่งๆคนเก่งๆที่เขาศรัทธาไว้ใจได้  อันนี้เป็นความคิดของลูก 
 
        อ.หมอถามเขาว่า ถ้าเขาเป็นหมอจริงๆ ในวันข้างหน้า  เขาจะเป็นหมอแย่ๆ แบบที่เขาบรรยายไว้ไหม เขาก็ตอบว่า  เขาก็ตอบไม่ได้ มันก็ไม่แน่ เพราะมันเป็นเรื่องของอนาคต เขาก็ไม่รู้หรอก
 
       อ.หมอ บอกว่าวันที่สัมภาษณ์ลูกดิฉัน กรรมการทุกคน ให้สอบตกหมดแล้วยังเล่าว่า อาทิตย์ที่แล้วมี นศ.แพทย์ที่โคราชกระโดดตึกตายต่อหน้าแม่เพราะเรียนไม่ไหว  มีเด็กเป็นโรคซึมเศร้าอีกมากมายที่ค้นพบตัวเองว่าไม่เหมาะกับอาชีพแพทย์ ยังถามดิฉันว่าลูกมีปัญหากับเพื่อนไหม ลูกเขียนเกี่ยวกับตัวเองว่า เป็นคนปากไม่ค่อยดี ชอบกวน เพื่อน ออกแนวเด็กเกรียน  ดิฉันก็ตอบว่าใช่ แต่เขา ไม่มีปัญหากับเพื่อนนะคะ  กับเพื่อนก็ สนุกสนานตามแบบวัยรุ่น ศุกร์ เสาร์ก็เข้า กทม.ไปนอนหอเพื่อน(เป็นลูกหมอที่นี่)เด็กตอ.  บางทีก็มีเพื่อนคนอื่นๆไปด้วย กิจกรรมก็มีแต่ถูกจิ้มไปทำ  พวกไปแข่งขันเกมSci-Fighting แข่งตอบปัญหาวิทยาศาตร์ สอนหนังสือน้องๆ กิจกรรมที่ให้เสนอตัวเองก็ไม่ค่อยทำ   ชอบอ่านการ์ตูน วาดการ์ตูน ฟังเพลง  ในตอนที่ไม่อ่านหนังสือเรียน ปิดเทอมก็เข้าค่าย สอวน  แล้วก็เรียนพิเศษ 
 
      ดิฉันก็รู้สึกว่าลูกมั่นใจตัวเอง และตรง  แต่ไม่น่าจะขนาดก้าวร้าว จนตกสัมภาษณ์ ดิฉันถามจิตแพทย์ว่าต้องไปตรวจรักษาเพิ่มไหม  แต่หมอบอกว่าไม่ต้องหรอก  อ.หมอ สรุปว่าถ้าอยากเรียนที่นี่ จะต้องมีกระบวนการเพิ่มเติมกลั่นกรองลูกต่ออีกหลายขั้นตอน แต่ถ้าไม่เรียนก็ให้ทำหนังสือสละสิทธิ์ไป จะได้ไม่ลงชื่อว่าตกสัมภาษณ์ เด็กจะเสียประวัติ ดิฉันก็อยากให้เรื่องจบๆ เพื่อความสบายใจของทุกคน เพราะตั้งใจว่าไม่เรียนที่นี่ตั้งแต่แรกแล้ว  
 
      แต่รู้สึกเสียความมั่นใจในตัวเอง เพราะเราเป็นแม่บ้าน หน้าที่หลัก เลี้ยงลูกให้เป็นคนดี แล้วที่ม อ.หมอ ผู้บริหารศูนย์แพทย์บอกว่าลูกเราก้าวร้าว  รู้สึกล้มเหลวมาก กับการงานของตัวเอง 
 
      ลูก บ่นๆ ว่า ตอบสัมภาษณ์ทุกอย่างไปตามตรง  ไม่อยากเสแสร้ง ยังอยากย้อนถาม คนสัมภาษณ์ด้วยซ้ำ ว่าตอนหมอเลือก เรียนหมอ ชอบหรือ มั่นใจหรือ มีหมอสักกี่คนที่เรียนหมอเพราะชอบจริงๆ  แต่ก็ไม่กล้าถาม จะถูกหาว่าก้าวร้าว  มีอีกเยอะ ลูกก็รู้สึกว่า พูดคุยกันนิดหน่อยจะรู้จักกันลึกซึ้งอะไร  เพื่อนหลายคนที่มาสอบสัมภาษณ์ ก็แต่งนิยายหลอก อ.หมอ  บางคนมาเล่าว่าบีบน้ำตาว่ายายหรือย่าป่วยตาย ทำให้อยากเรียนหมอมากก็มี เพื่อแค่ขอสัมภาษณ์ให้ผ่าน ก็มีแต่ลูกดิฉันนี่แหละของรุ่นนี้ที่ตก
 
      มีรุ่นพี่ที่วิ่งออกกำลังกายตอนเช้าด้วยกัน เล่าว่าในรุ่นลูกชายเขาก็มีตกสัมภาษณ์ 2 คน ลูกชายพี่เขาเป็นหมอใช้ทุนปีแรกเพิ่งจบที่นี่ เป็น CPIRD รุ่นแรก  1ใน 2 ที่ตก ตอนนี้ก็เป็นแพทย์ใช้ทุนเพราะไปสอบ กสพท. เรียนจบที่เดียวกับคุณหมอสันต์ค่ะ
 
เล่ามายืดยาว ออกแนวน่ารำคาญ อยากให้คุณหมอช่วยแนะนำวิธีการสอบสัมภาษณ์หมอให้ผ่าน เข้าไปนั่งเรียน เป็นนักศึกษาแพทย์กับเขาได้ ขอบคุณค่ะ
 
ท้ายนี้ขออารธนาคุณพระศรีรัตนตรัย ปกป้องค้มครองรักษาคุณหมอและครอบครัวให้มีแต่เรื่องดีๆในชีวิต
 
           ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะที่สละเวลา (กับญาตินอกไส้ )
  
           ขอแสดงความนับถือ
 
                                                 คุณแม่เต็มเวลา
……………………………………………………………………………..
ตอบครับ
วันนี้ผมไม่ได้ทำงาน แต่ไปเดินขบวนกับเขามา สนุกดี แสบแก้วหูพิลึก และติดลมด้วย จึงกลับถึงบ้านช้า วันนี้จึงขอเลือกจดหมายที่ตอบง่ายขึ้นมาตอบก่อน แม้จะไม่ถึงคิว เพื่อที่ผมจะได้ไม่นอนดึกเกินไป

ก่อนตอบคำถาม เพื่อไม่ให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นงงกับศัพท์แสงบางคำที่คุณแม่ผู้นี้เขียนมาในคำถาม ผมขอนิยามศัพท์บางตัวก่อนนะ

คำว่า “CPIRD” ย่อมาจาก Collaborative Project to Increase Production of Rural Doctor แปลว่าโครงการเพิ่มการผลิตแพทย์ไปทำงานในชนบท (ด้วยวิธีรับตรงเข้าแต่ละสถาบัน)

คำว่า “ODOD” ย่อมาจาก One District One Doctor แปลว่าหนึ่งอำเภอหนึ่งหมอ หมายถึงโครงการที่ไปคัดเอาเด็กบ้านนอกมาจากอำเภอต่างๆมาเข้าเรียนแพทย์บนสัญญาว่าพวกเขาต้องกลับไปทำงานเป็นหมอในชนบท

คำว่า “สอวน.” ย่อมาจาก สำนักส่งเสริมโอลิมปิกวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณีวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หมายถึงโครงการค่ายเยาวชนที่เอาเยาวชนไปเข้าค่ายเก็บตัวติวเข้มในเนื้อหาวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆและคณิตศาสตร์ และคัดเอาเด็กเก่งส่งไปแข่งโอลิมปิกวิชาการ ปกติคณะแพทยศาสตร์หลายแห่งจะเปิดรับเด็กที่เข้าค่ายนี้และสอบผ่านในสาขาชีววิทยาเข้าเรียนแพทย์ได้เลยโดยไม่ต้องไปสอบคัดเลือกอีก

คำว่า “กสพท.” ย่อมาจาก กลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย หมายถึงการสอบเข้าแพทย์แบบสอบรวม
ผมอ่านจดหมายยาวเหยียดของคุณแล้วรู้สึกว่าจะมีเจตนาถามอยู่สามประเด็น คือ (1) ถ้าจะสอบสัมภาษณ์เข้าแพทย์ให้ผ่านต้องทำอย่างไร (2) ที่อาจารย์หมอสามคนบอกว่าลูกเราก้าวร้าวมันเป็นเช่นนั้นจริงหรือเปล่า (3) ถ้าลูกเป็นเช่นนั้นจริง ก็แสดงว่าเราเลี้ยงลูกมาผิด แล้วจะรับมือกับความรู้สึกผิดนั้นอย่างไรดี
         
      เอาละ คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ
      
   1.. ถามว่าถ้าจะสอบสัมภาษณ์เข้าแพทย์ให้ผ่าน ต้องทำอย่างไร ก่อนจะตอบผมขอให้ทำความเข้าใจกับประเด็นต่อไปนี้

1.1. ในการสอบทุกชนิด ฝ่ายผู้ถามจะเตรียมคำถามไว้ก่อนแล้ว และมีเฉลยคำตอบที่ถูกต้องไว้ล่วงหน้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสอบข้อเขียนหรือสัมภาษณ์ ถ้าคำตอบตรงกับเฉลยที่มีไว้ล่วงหน้าแล้วก็สอบได้ ถ้าตอบไม่ตรงกับเฉลยก็สอบตก กลไกของการสอบได้หรือตกมีอยู่แค่นี้ ส่วนที่ว่าตัวเรามีคุณสมบัติเหมาะสมแล้วทำไมสอบไม่ได้ หรือคนนั้นคุณสมบัติไม่เหมาะสมแต่ทำไมสอบได้ อันนั้นเป็นประเด็นความเที่ยง (validity) และความเชื่อได้ (reliability) ของข้อสอบ ซึ่งไม่เกี่ยวกับกลไกของการสอบได้หรือตก และไม่ใช่กิจธุระอะไรของผู้เข้าสอบ ผู้เข้าสอบต้องแยกแยะตรงนี้ให้ออกก่อน  

1.2 คำเฉลยที่ผู้ถามมีไว้ก่อนในใจ หรือเตรียมไว้ในแผ่นเฉลยล่วงหน้าแล้วนั้น จัดทำขึ้นโดยตัวผู้ถามเอง ซึ่งไม่ว่าจะจัดทำอย่างใจเป็นกลางอย่างไร ก็ไม่พ้นอิทธิพลจาก “ใจ” หรืออัตตวิสัยของตัวผู้ถามเอง ดังนั้นการจะตอบคำถามให้ได้คะแนนดี ต้องเดา “ใจ” ของกรรมการผู้ออกข้อสอบ จึงจะสอบผ่านไปได้โดยง่าย

ในประเด็น “ใจ” ของกรรมการนี้ อาจารย์หมอส่วนใหญ่ยังมีใจที่คล้ายกันอีกสองอย่าง หนึ่งคือใจที่ออกแนวอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อ ผ้า หน้า ผม การพูดจา จ๊ะ จ๋า ยกมือไหว้ ก้มหัว สัมมาคารวะรู้จักก้มหน้าสำนึกผิด และ สอง คือใจที่ยึดมั่นถือมั่นว่าสถาบันที่ตัวเองสอนอยู่นี้เป็นสถาบันที่ไม่ได้ด้อยกว่าสถาบันอื่น ถ้าไปเจอนักเรียนที่พูดว่าผมไม่อยากเรียนที่นี่หรอก ผมอยากเรียนที่โน่นมากกว่า ผมเดาได้ล่วงหน้าเลยว่านักเรียนคนนั้นตกสัมภาษณ์แหงๆ

1.3 นอกจากการเดาใจกรรมการเก่งแล้ว การโกหกตอแหลที่ทำได้แนบเนียน ก็เป็นปัจจัยที่ช่วยให้ผ่านการสอบสัมภาษณ์ไปได้ง่าย ซึ่งตรงนี้เป็นจุดอ่อนของระบบสอบสัมภาษณ์ ที่ยังไม่มีใครแก้ได้  เยาวชนที่ถูกสอนให้เป็นคนเปิดเผย จริงใจ ตรงไปตรงมา มักมีความละอายแก่ใจตนเอง ไม่อาจโกหกได้ จึงมักตกเป็นผู้เสียเปรียบในเกมการแข่งขันที่มีการสัมภาษณ์เป็นด่านคัดเลือก

         ตรงนี้เป็นความแตกต่างระหว่างชีวิตจริงกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่ถูกพร่ำสอนมาตั้งแต่เด็ก การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็คือการค่อยๆเรียนรู้ว่าจะสื่อสารกับคนอื่นอย่างไร ให้พวกเขายอมรับเรา หรือพูดง่ายๆว่ายอมให้เราสอบผ่าน โดยที่เรายังไม่สูญเสียความเคารพนับถือตัวเองไปมากนัก เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในชีวิต และการไม่มีศิลปะตรงนี้ก็ทำให้คนจำนวนมากต้องเสียผู้เสียคน หากไม่ถูกคัดทิ้งจากเส้นทางการแข่งขัน ก็ถูกบีบให้ละทิ้งหลักศีลธรรมประจำใจละทิ้งความนับถือตัวเองไปเพียงเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดได้ นานไปก็กลายเป็นคนขี้ฉ้อ ซึ่งเป็นเรื่องเศร้า ตรงประเด็นนี้ นักปรัชญาชื่อ เบอทรัล รัสเซล ใช้คำพูดว่า

“เรื่องน่าเศร้าในชีวิตคนเราก็คือ ตัวความเป็นจริงเนี่ยแหละ ที่เป็นโจรร้าย เข้าปล้นทำลายหลักคิดฝันอันสวยสดงดงามของมนุษย์เรา”

จากทั้งสามประเด็นข้างต้น ผมสรุปคำแนะนำวิธีผ่านการสอบสัมภาษณ์ก็คือ การยอมรับก่อนว่าข้อสอบหรือคำถามไม่ใช่เครื่องมือที่สมบูรณ์ในการคัดเลือกคน และยอมรับก่อนว่าใจของกรรมการนั้นเป็นอะไรที่โยกเยกได้ การจะผ่านการสอบไปได้เราต้องเดาใจกรรมการ และต้องใช้ศิลปะในการสื่อสารให้เขายอมรับเราโดยที่เรายังไม่เสียความเคารพนับถือตัวเองมากเกินไป ไม่จำเป็นต้องโกหก แต่ก็ไม่จำเป็นต้องพูดความในใจทุกเรื่องออกไป

2.. ถามว่าที่อาจารย์หมอสามคนพากันสรุปว่าลูกก้าวร้าว มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือเปล่า ตอบว่าคำว่าก้าวร้าวนี้มันไม่ใช่ชื่อโรค มันเป็นคำเรียกพฤติกรรม ดังนั้นมันจึงขึ้นอยู่กับนิยามของแต่ละคน หากมองจากมุมของกลุ่มอาจารย์หมอซึ่งถูกอบรมมาในระบบจารีต หากเด็กหรือลูกศิษย์คนใดคนหนึ่งแสดงความเห็นของตัวเองออกมาอย่างตรงไปตรงมาอาจารย์ท่านเหล่าก็อาจจะรู้สึกว่าเด็กคนนี้ก้าวร้าว แต่หากมองจากมุมของคุณพ่อคุณแม่ซึ่งเลี้ยงดูลูกมาอย่างเด็กจักรพรรดิ์ เด็กแว้ดบ้างพ่อแม่ก็อดทน เขาพูดอะไรก็ใจเย็นฟังและปล่อยให้เขาพูด พ่อกับแม่ก็ย่อมจะไม่เห็นว่าสิ่งที่เด็กพูดจะเป็นความก้าวร้าวแต่อย่างใด

เป็นความจริงที่ว่าสมัยนี้นักศึกษาแพทย์เรียนไม่จบมีมากขึ้น ป่วยทางใจขณะเรียนมากขึ้น กินยาแก้ซึมเศร้ากันเป็นว่าเล่น ฆ่าตัวตายก็มี แต่แท้ที่จริงมันเป็นลักษณะของเด็กครอก  (generation) นี้ ซึ่งพบได้ในทุกสาขาวิชาชีพ ไม่เฉพาะนักศึกษาแพทย์ พูดภาษาจิ๊กโก๋ก็คือเด็กสมัยนี้มัน “ไม่ทนมือทนตีน” จึงเป็นเหตุให้พวกอาจารย์เขาก็พยายามหามาตรการคัดเอาเด็กที่ทำท่าจะไม่ทนมือทนตีนทิ้งเสียแต่ต้นมือ แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีงานวิจัยชิ้นใดพิสูจน์ให้เห็นว่าวิธีไหนเป็นวิธีที่จะคัดเด็กได้ตรงสะเป๊กที่จะเป็นแพทย์มากที่สุด การสอบสัมภาษณ์ก็ดี การทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาก็ดี ให้เขียนเล่าวิสัยทัศน์พันธกิจในชีวิตของตัวเองก็ดี การให้ลองมาทำงานเป็นเล่าเบ๊ในโรงพยาบาลก่อนก็ดี ล้วนเป็นวิธีที่ทำกันไปตามความเชื่อโดยปราศจากหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ทั้งสิ้น แต่การที่ทางอาจารย์เขาพยายาม ก็ดีกว่าเขาไม่พยายาม ผมจึงอยากให้คุณซึ่งเป็นผู้ปกครองนักศึกษาได้เข้าใจทางอาจารย์เขาด้วย  

3.. ถามว่าถ้าลูกถูกคนอื่นว่าก้าวร้าว ใจเราก็คิดว่าเราเลี้ยงลูกมาผิด แล้วเราจะรับมือกับความรู้สึกผิดนั้นอย่างไรดี ตอบว่าคุณไม่ได้เลี้ยงลูกมาผิดหรอกครับ เด็กสมัยนี้ถูกเลี้ยงมาในวัยต้นโดยไม่ได้มีโอกาสได้สัมผัสลูบคลำ (sense) หรือโดนฟาด “เพี้ยะ” (disciplined) ว่าขอบเขตของพฤติกรรมที่สังคมภายนอกยอมรับได้นั้นอยู่ที่ตรงไหน เพราะพ่อกับแม่ยืดหยุ่นให้จนไม่รู้สึกว่าการสื่อสารไปยังคนอื่นนั้นมันมีขอบเขตที่คนอื่นเขารับไม่ได้อยู่ด้วย เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นในทุกครอบครัวที่พ่อแม่รักลูกมาก แคร์ลูกมาก ยุงไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม และตั้งใจมากที่จะให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูก ถามว่าไม่ดีหรือ ตอบว่าดี แต่ผลข้างเคียงมันก็เป็นอย่างนี้แหละครับ ดังนั้นไม่ต้องมานั่งรู้สึกผิดกับการให้ความรักแก่ลูกในอดีตหรอก แต่มาช่วยพาเขาเรียนรู้สังคมข้างนอกว่ามันแตกต่างจากในบ้านตรงไหนบ้าง เมื่อเกิดเหตุการณ์แต่ละครั้งขึ้นก็ชี้ให้เขาเห็นว่าคนอื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่นั้นเขาวางขอบเขตรับได้รับไม่ได้ในแต่ละเรื่องไว้ตรงไหน และบอกทางเลือกหรือยกตัวอย่างที่เป็นศิลปะของการสื่อสารที่จะให้คนอื่นเขายอมรับเรา โดยเรายังคงธำรงรักษาความเป็นเราไว้ได้ ในประเด็นที่เด็กมักจะยึดสถาบัน ว่าอยากเข้าสถาบันโน้นสถาบันนี้ให้ได้ ไม่ได้ก็เป็นฮึดฮัดไม่แฮปปี้ อันนี้พ่อแม่ก็ต้องค่อยๆชี้ให้เห็นว่าอะไรคือคุณค่าแท้ อะไรคือคุณค่าเทียมของการเรียนวิชาชีพ ทั้งหมดนี้ผมแนะนำแต่หลักการนะครับ ทางปฏิบัติคุณไปลองเอาเอง  

4. ผมยืนยันกับคุณว่าอาชีพหมอเป็นอาชีพที่ดี การที่คุณอยากให้ลูกเป็นหมอผมก็เห็นด้วย แต่ผมแนะนำคุณว่าคุณควรจะค่อยๆคุยกับลูกชายดีๆ ชักชวนเขาดีๆ ถ้าเขาเห็นดีเห็นงามด้วย ยอมปรับตัวในการสื่อสารกับกรรมการสัมภาษณ์ แล้วจึงก็ค่อยเดินหน้าต่อ คำว่าเดินหน้าต่อ ผมหมายถึงการจับเข่าคุยกับลูกถึงการสื่อสารกับคนอื่นว่าทำอย่างไรคนเขาจะไม่คิดว่าเราก้าวร้าว ไม่สุภาพ ให้คนอื่นเขาเห็นว่าเราเป็นคนมุ่งมั่น แม้ว่าในใจเราอาจจะมีความหวาดๆไม่แน่ใจซ่อนอยู่บ้างก็ช่างมันก่อน และให้เขาคลายความยึดถือชื่อของสถาบัน ชี้ให้เขาเห็นว่าสถาบันใหญ่ก็ดีอย่าง สถาบันเล็กก็ดีไปอีกอย่าง เมื่อแม่ลูกจูนความคิดกันได้แล้ว ค่อยกลับไปหาอาจารย์ใหม่ ไปบอกอาจารย์เขาว่าเรามีความตั้งใจแน่วแน่จะเรียนหมอ ไปขอให้อาจารย์เขาทำกระบวนการคัดเลือกหรือตรวจสอบอะไรก็ได้ที่บังคับให้ทำ เราก็จะยอมทำตามนั้นทั้งหมด คุณแม่ต้องช่วยให้ข้อมูลทางบวกเกี่ยวกับตัวลูกแก่อาจารย์เขาด้วย ข้อมูลที่สำคัญก็คือการที่เขาสังคมกับคนอื่นได้ พูดกับคนอื่นรู้เรื่อง เอาหนังสือจากครูที่โรงเรียนเขียนไปให้ข้อมูลแก่อาจารย์เขาด้วย การวินิจฉัยของอาจารย์ทั้งสามท่านย่อมจะเปลี่ยนไปตามข้อมูลที่เปลี่ยนไป ดังนั้นคุณแม่ต้องคุยกับอาจารย์แพทย์อย่างเปิดอก ผมยืนยันให้คุณมั่นใจได้อย่างหนึ่งว่าอาจารย์แพทย์ทั้งสามท่านนั้นไม่ได้มีอคติอะไรในการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนแพทย์ เพียงแต่มีเจตนาดีที่จะคัดกรองเด็กที่ไม่อยากเรียนหรือทำท่าจะเรียนไม่จบออกเสียแต่ต้นมือ จะได้ไม่เสียเวลากันทั้งสองฝ่าย ดังนั้นในการสื่อสารกับอาจารย์ อย่าไปตั้งต้นว่ากระบวนการคัดเลือกของอาจารย์ไม่เที่ยงหรือเชื่อถือไม่ได้ แต่ควรตั้งต้นด้วยการแสดงให้อาจารย์แพทย์ทั้งสามเห็นว่าลูกของเรามีศักยภาพที่จะสื่อสารกับคนอื่นได้ เรียนให้จบได้ และเป็นหมอที่ดีได้ 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์