Latest

ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2557

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ให้สัมภาษณ์วิทยุ FM ….
ว่าด้วยสารพัดเรื่อง และ ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่
(ถอดจากสคริปต์)

FM ….

     ที่มาของหนังสือ “โรคหัวใจ” ที่คุณหมอเพิ่งเขียนออกมาใหม่ แล้วก็..คุณหมอมีแจกให้หนูอีกสักเล่มไหมคะ

นพ.สันต์

     ที่มาก็ไม่ได้มีอะไรพิสดาร ทางอมรินทร์พริ้นติ้งเขามาขอให้เขียนหนังสือเรื่องโรคหัวใจที่อ่านง่ายและครบถ้วนให้ แล้วเขาก็ขยันทวงต้นฉบับ ผมก็เลยเขียนให้ได้สำเร็จ เท่านั้นเอง หนังสือในมือผมตอนนี้ไม่มีแล้ว เพราะลิขสิทธิ์เป็นของอมรินทร์เขา เขาให้แซมเปิ้ลมาไม่กี่เล่ม ซึ่งก็หมดไปแล้ว ถ้าคุณอยากได้เพิ่มคงต้องไปหาซื้อเอาเองตามร้านหนังสือ

FM ….

แล้วเรื่องของ “เฌออ้วน” ที่เล่าในหนังสือ ตอนนี้เธอเป็นอย่างไรแล้วคะ

นพ.สันต์

     ฮะ..ฮะ..ฮะ.. เธอก็กำลังปากกัดตีนถีบเพื่อจะปกครองตัวเองให้ได้ เธอเป็นคนที่สุดโต่ง ผู้หญิงตัวคนเดียวที่ชอบสะสมสมบัติบ้า แล้วก็ที่สำคัญ อ้วนด้วย เพราะชอบกิน คนแบบนี้มีไม่ใช่น้อยนะ แต่ที่โชคร้ายถึงขนาดไฟไหม้บ้านในวันที่ตัวเองกำลังทำบอลลูนรักษาหัวใจอยู่ในโรงพยาบาลนั้น คงมีแต่เธอคนเดียวละมัง 
     ประเด็นสำคัญที่ผมอยากให้ท่านผู้ฟังเรียนรู้จากเรื่องของผู้หญิงที่ชื่อ “เฌออ้วน” นี้ก็คือร่างกายเราก็เหมือนบ้าน เมื่อเราเผลอไม่เก็บกวาดขยะก็สะสม ถึงจุดหนึ่งขยะนั้นก็เป็นเชื้อไฟเผาบ้านของเราเอง ขยะในร่างกายก็คือไขมันที่เกิดจากการตะบันกินอาหารที่ให้แคลอรี่เข้าไปมากกว่าความจำเป็นที่ร่างกายต้องใช้ พอเหลือก็สะสมเป็นไขมัน ล่องลอยอยู่ในกระแสเลือดบ้าง พอกอยู่ตามผนังหลอดเลือดและอวัยวะต่างๆบ้าง  ถึงจุดหนึ่งก็เป็นเรื่อง ดังนั้นเราต้องบันยะบันยังการเอาสมบัติบ้าเข้าบ้าน นั่นหมายถึงการกิน และขยันเก็บกวาดบ้าน นั่นหมายถึงการขยันออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมบอกเป็นการบ้านให้เฌออ้วนเอาไปทำ เธอเก็ทแล้วแน่นอน แต่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ นั่นต้องตามไปลุ้นดู

FM ….

     ปีใหม่ปีนี้ คุณหมอมีความคิดอะไรบ้างคะ

นพ.สันต์

     เป็นธรรมดาเมื่อมีเวลาว่าง โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวซึ่งผมเริ่มหยุดมาได้สองวันแล้ว ผมก็มักจะเผลอคิดทบทวน แบบที่ฝรั่งเขาเรียกว่า self reflection นั่นแหละ  เผลอคิดทีไร สารัตถะที่ผมสรุปได้ก็มักจะเหมือนเดิม ว่าสิ่งที่รอผมอยู่ไม่ไกล แน่เสียยิ่งกว่าแช่แป้ง ก็คือความตาย มาถึงวัยนี้แล้ว ผมเหลือเวลาอีกไม่มาก ผมจะใช้เวลาที่เหลือทำอะไรเป็นสิ่งที่ผมต้องตรองให้ตกผลึก และรีบลงมือทำ 

     อีกอย่างหนึ่งที่มักเป็นข้อสรุปเมื่อผมคิดทบทวนถึงการใช้ชีวิตทุกครั้งก็คือ ผมมักจบลงด้วยการเตือนตัวเองถึงการเผลอยึดถือ หมายความว่ายึดถือความคิดอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วชีวิตก็ติดกับดักความยึดถืออันนั้น อย่างโทรศัพท์มือถือที่ผมถือคุยกับคุณอยู่เนี่ย ถ้าถือแป๊บเดียวแล้ววาง มันก็ไม่หนักเลย แต่ถ้าถือทั้งวันทั้งคืนมันก็จะหนักอึ้งจนถือต่อไปต่อลำบากใช่ไหมละ ถ้าเราวางมันลงเสียในบางช่วงเวลา แล้วกลับมาถือใหม่ ก็จะสบายกว่า ดังนั้นกิจกรรมที่ตัดวงจรความคิดซ้ำซาก ไม่ว่าจะเป็นการทำสมาธิตามดูลมหายใจ การรำมวยจีน การฝึกโยคะ หรือกิจกรรมอะไรก็ได้ที่เราได้เอาใจของเราออกจากความคิดที่ครอบเราอยู่ไปจดจ่อกับอะไรสักอย่างเช่นลมหายใจหรือการเคลื่อนไหวของร่างกาย แม้จะเป็นเพียงชั่วคราววันละ 15 หรือ 20 นาที ก็เป็นการวางความคิดยึดถือลง ทำให้ใจมันเบาลง ทำให้เราสามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่หนักอึ้งมาก นี่เป็นความคิดตกผลึกที่เกิดขึ้นเสมอเมื่อผมเผลอคิดทบทวนชีวิต

FM ….
     แล้วที่ว่าเวลาที่เหลือจะทำอะไร อันนี้ตกผลึกหรือยังคะ

นพ.สันต์

     ตกผลึกแล้ว แน่นอน เพราะผมไม่ใช่เพิ่งมาคิดปีนี้ ผมคิดมาทุกปี อันที่จริงสิ่งที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นผลจากการสรุปความคิดในปีก่อนๆ คือผมตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองไปตามการคิดไตร่ตรองมาเป็นระยะๆแบบนี้ตลอดมา ตั้งแต่เลิกเป็นหมอผ่าตัดหัวใจ เลิกทำงานบริหารโรงพยาบาล กลับไปเรียนเวชศาสตร์ครอบครัวใหม่เอาเมื่ออายุห้าสิบกว่าแล้ว และหันมาทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทุกวันนี้ที่ผมทำอยู่คือ สอนคนไข้เป็นรายคนให้ดูแลตัวเองเป็น ในรูปแบบของคลินิกในโรงพยาบาลสัปดาห์ละ 3 วัน ทำเฮลท์แค้มป์เพื่อสอนทักษะในการดูแลตัวเองให้คนเป็นกลุ่มๆเดือนละสองสามครั้งทุกเดือน เขียนบล็อกให้ความรู้คนทางอินเตอร์เน็ททุกสัปดาห์ ทำรายการทีวี.ให้ความรู้แก่คนที่ชอบดูทีวี. เขียนหนังสือด้านสุขภาพให้ความรู้คนที่ชอบอ่านหนังสือปีละเส่มสองเล่ม ทั้งหมดนี้ก็เป็นผลมาจากการตกผลึกความคิดในปีก่อนๆ

FM …. 

     พูดถึงรายการทีวี. ที่ทำอยู่ตอนนี้มีอะไรบ้างคะ

นพ.สันต์

     รายการหมอสันต์ทันโรคทางเนชั่นแชนแนลตอนนี้จบซีซั่นไปแล้ว ที่กำลังจะออนแอร์ใหม่ก็มีรายการ “เต้นเปลี่ยนชีวิต” (Dance Your Fat Off) ที่จะออกฉายที่ช่องสาม แล้วมีอีกสองรายการที่จะออกที่ช่อง 7 และอีกช่องเข้าใจว่าจะเป็นช่อง 9 ซึ่งสองอันหลังนี้ชื่อรายการคงต้องรอให้เขาประกาศอย่างเป็นทางการก่อน จะตัดหน้าพูดไปก่อนคงไม่เหมาะ ทั้งหมดนี้สาระหลักอยู่ที่การมุ่งสอนให้ผู้คนรู้จักดูแลสุขภาพตัวเองด้วยตัวเองซึ่งเป็นพันธะกิจส่วนตัวสำหรับชีวิตที่เหลืออยู่ของผม โดยแทรกไปกับเปลือกนอกหรือหีบห่อที่คนดูทีวี.เขารับได้ เช่นเป็นรูปแบบเกมโชว์บ้าง เป็นเรียลลิตี้บ้าง แล้วแต่

FM ….

     นอกจากการเผยแพร่ความรู้วิธีการดูแลสุขภาพด้วยตนเองแล้ว มีอะไรที่จะต้องรีบทำก่อนตายอีกไหมคะ

นพ.สันต์

     หึ..หึ  มี.. มี มีมานานแล้วด้วย ก็การสร้างนิคมคนแก่ไง  
FM ….

     ต๊าย.. หนูขอไม่ไปอยู่นะคะ  

นพ.สันต์

     ขอโทษที่ผมใช้ภาษาทื่อมะลื่อไปหน่อย คือตัวเองตอนนี้หกสิบกว่าแล้ว จึงใช้คำว่า “คนแก่” ได้สะดวกปากโดยไม่ต้องเกรงใจใคร คือในเรื่องนี้มันมีที่มาสามประเด็นนะ

     ประเด็นที่หนึ่ง ก็คือคุณภาพชีวิตของคนแก่เมืองไทยมันแย่ ตัวคนแก่เองก็ถูกโปรแกรมสมองว่าเมื่อตัวเองแก่แล้วต้องทำตัวให้เป็นภาระกับลูกหลานและสังคมเข้าไว้จะได้คุ้มกับการที่เราเหนื่อยยากให้กับสังคมและลูกหลานมาตลอดชีวิต ส่วนสังคมไทยโดยรวมนั้นก็ได้ค่อยๆทิ้งความเป็นสังคมเอื้ออาทรมาเป็นสังคมที่ผู้คนจะเอาแต่เรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง นั่นหมายถึงการทิ้งคนแก่ซึ่งทำประโยชน์อะไรให้ตัวเองไม่ได้แล้วด้วย เมื่อเอาทั้งสองอย่างนี้มารวมกัน คุณภาพชีวิตของคนแก่มันเลยแย่

     ประเด็นที่สอง คือทุกวันนี้รูปโฉมของการแพทย์และสาธารณสุขของชาติได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว แต่องคาพยพของการดูแลกิจการสาธารณสุขของชาติไม่ได้เปลี่ยนตาม ไม่ต้องไปดูไกลหรอก ไล่ดูชื่อหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ ยังมีชื่อหน่วยงานอย่างเช่น กองโรคเท้าช้าง อยู่เลย แต่หากดูหลักฐานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงสุขภาพในคนไทยวันนี้แล้ว เราคาดหมายได้แน่นอนเลยว่าจากนี้ไปอย่างน้อยอีก 30 ปี ครึ่งหนึ่งของคนไทยวัยผู้ใหญ่จะป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อันหมายถึงโรคหลอดเลือดที่สมอง ที่หัวใจ ที่ไต โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง ยิ่งมีอายุมากขึ้น ยิ่งเป็นโรคเหล่านี้มากขึ้น พอมาถึงวัยเกษียณก็เป็นกันมากเกินครึ่งห้อง ผมหมายถึงห้องสอนการดูแลสุขภาพตนเองสำหรับผู้เกษียณ 

     ประเด็นก็คือวิธีจัดการโรคเรื้อรังของชาติไทยตอนนี้คือการใช้ยารักษาในโรงพยาบาลตะพึด ซึ่งหลักฐานวิทยาศาสตร์ก็ชี้ชัดแล้วว่ามันไม่ได้ผล วิธีนี้รังแต่จะเป็นภาระมหาศาลให้กับทั้งตัวคนป่วยและกับสังคม โรคเรื้อรังต้องการการจัดการที่เป็นระบบครบวงจรแบบที่เรียกว่า disease management system ซึ่งเน้นที่การป้องกันทั้งๆที่เป็นโรคแล้วหรือ secondary prevention หมายความว่าเน้นไปที่การมุ่งให้คนป่วยปรับวิธีใช้ชีวิตกินอยู่เคลื่อนไหวหลับนอนอย่างไรให้หายป่วย และเน้นไปที่การฟื้นฟูสมรรถนะที่สะง็อกสะแง็กให้สามารถเคลื่อนไหวช่วยตัวเองได้เต็มความสามารถของตัวเองจนนาทีสุดท้าย แต่สิ่งเหล่านี้ระบบการแพทย์และการสารธารณสุขของชาติไม่ได้ทำเลย พูดถึงยังแทบจะไม่พูดถึงเลย ไม่เชื่อคุณไปกระทรวงสาธารณสุขแล้วถามหา “กรมปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต” สิว่ามีไหม..ไม่มี้

     ประเด็นที่สาม ธุรกิจก็ดี กิจกรรมเพื่อสังคมหรือ NGO เช่นมูลนิธิทั้งหลายก็ดี เขามีวิธีทำงานแบบอนุรักษ์นิยม คือทำตามแบบแผนที่เคยทำกันมา ไม่มีใครกล้าคิดทำอะไรใหม่ พูดง่ายๆว่าสังคมไทยเรานี้ขาดนวัตกรรมเชิงสังคม หรือ social creativity ธุรกิจไม่กล้าทะลึ่งทำอะไรใหม่เพราะกลัวเจ๊ง แม้จะมีเงินระดับมหาเศรษฐีแล้วก็ยังกลัวเจ๊ง คนที่ทะลึ่งไปแล้วก็เจ๊งไปแล้วจริงๆ ส่วน NGO ไม่กล้าคิดทำอะไรใหม่เพราะกลัวไม่ได้เงินสนับสนุน เพราะ NGO ไทยนี้อยู่ได้เพราะเงินสนับสนุน ไม่ใช่อยู่ได้เพราะรายได้จากนวัตกรรมที่ตัวเองคิดขึ้น ผมพูดอย่างนี้ NGO คงไม่โกรธกันนะ เพราะผมเองก็เป็นประธานมูลนิธิ เป็นกรรมการมูลนิธิอยู่สองสามแห่ง ปัญหาคุณภาพชีวิตของคนแก่จึงเป็นปัญหาที่ธุรกิจและ NGO ไทยช่วยอะไรไม่ได้  

FM …. 
     
     ขอโทษ คุณหมอคะ ขอขัดนิดหนึ่งนะคะ แล้วทั้งสามประเด็นนี้ เท่าที่ดิฉันจับประเด็นได้ คือ (1) คุณภาพชีวิตผู้สูงวัยทุกวันนี้ไม่ดี  (2) รูปแบบของการเจ็บป่วยเปลี่ยนไป และ (3) องค์กรธุรกิจและมูลนิธิยึดแนวอนุรักษ์นิยม ทั้งสามอย่างนี้มันมาเกี่ยวสิ่งที่คุณหมอคิดจะทำยังไงละคะ

นพ.สันต์

     อ้าว ก็ผมคิดจะทำนิคมคนแก่นี่ อะไรที่เกี่ยวกับคนแก่มันก็ต้องเกี่ยวกับการสร้างนิคมคนแก่ถูกไหม

FM ….

     ค่ะ ค่ะ

นพ.สันต์

     คือที่ผมพูดว่านิคมคนแก่เนี่ย ไม่ใช่คอนเซ็พท์เดิมแบบบ้านบางแคนะ ไม่ใช่ว่าพอมีคนแก่จำนวนล้นหลามมากงกๆเงิ่นๆเกะกะถนนวุ่นวายนัก เราก็ทำโรงเลี้ยงคนแก่แล้วไล่ให้คนแก่ที่เกะกะเข้าไปรวมกันอยู่ในนั้น จัดคนคอยป้อนข้าวป้อนน้ำ เพื่อให้ผู้คนนอกโรงเลี้ยงได้ใช้ชีวิตกันต่อไปตามปกติ ไม่ใช่อย่างนั้น สิ่งที่ผมคิดจะสร้าง คือชุมชน หรือ community ที่คนแก่นอกจากจะใช้อยู่อาศัยแล้วยังใช้เป็นที่เรียนรู้วิธีใช้ชีวิตให้ก่อประโยชน์ต่อตนเองและสังคมเต็มศักยภาพที่ตนมี มีความเป็นชุมชนไทยที่แท้จริง หมายความว่ารู้จักกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดูแลกันและกันได้
FM ….

     แบบว่าบ้านจัดสรรคนรวยที่ออกแบบให้เหมาะกับผู้สูงวัย

นพ.สันต์

     มันมีหลายรูปแบบนะครับ แบบที่คุณพูดถึงนั้นเขาเรียกว่า CCRC หรือ continuous care retirement community นั่นก็เป็นแบบหนึ่ง ซึ่งเมืองไทยก็มีคนลองทำอยู่บ้างแล้ว อย่างน้อยก็สองเจ้า คือกาชาดทำที่สวางคนิวาส และของคุณหมอสมชัยทำที่บางไทร อยุธยา 

     แต่รูปแบบที่ผมจะทำเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า senior co-housing เรียกสั้นๆว่า CoHo เริ่มต้นด้วยการหาคนที่รู้จักกันจำนวนหนึ่ง ประมาณ 8-15 คน ที่รู้จักกันมาก่อนแล้ว หากยังไม่รู้จักกันก็มารู้จักกันเบื้องต้นจนเกิดสังคมจริงๆขึ้นมาก่อน อาจจะตั้งต้นก่อนสี่ห้าคน แล้วสมาชิกเก่าโหวตรับสมาชิกใหม่เพิ่มเติมเข้ามาภายหลัง แล้วคนเหล่านี้จึงมาทำแผนร่วมกันว่าจะสร้างสังคมที่อยู่ตอนแก่ของตัวเองขึ้นมาด้วยกัน ในรูปแบบของชุมชนเล็กๆอยู่ในรั้วเดียวกัน คนเหล่านี้จะวางแผนออกแบบที่พักร่วมกัน ที่พักอาศัยแบ่งเป็นหน่วยๆแยกของใครของมันก็จริง แต่อะไรที่จะเป็นภาระกับผู้สูงอายุเช่นการทำสวน ตัดหญ้า ซักรีด อยู่เวรยาม สนามออกกำลังกาย สวนดอกไม้ สวนผัก สวนพักผ่อน หรือแม้กระทั่งที่กินข้าวเย็น สร้างเป็นพื้นที่ร่วมอันเดียวซึ่งทุกคนเป็นเจ้าของร่วมคล้ายกับคอนโด เพียงแต่ว่าสิ่งปลูกสร้างมันอยู่แนวราบ คนเหล่านี้จะเอาความรู้ความชำนาญของตัวเองออกมาแชร์กับของคนอื่น และร่วมกันทำกิจกรรมนับตั้งแต่ออกแบบ คุมการก่อสร้าง พัฒนาพื้นที่ จนถึงเข้าไปอยู่อาศัย บางคนอาจจะยังไม่เกษียณและไปๆมาๆอยู่ บางคนเกษียณแล้วและอยู่ประจำ  รูปแบบของการอยู่อาศัยร่วมกันจะเน้นการเรียนรู้จากกันและกันหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆร่วมกัน และสร้างสรรค์ประโยชน์ให้เต็มศักยภาพที่สมาชิกมี ทั้งประโยชน์ต่อตนเอง ต่อ co-housing ลามออกไปถึงประโยชน์ต่อสังคมภายนอกถ้าชุมชนนั้นมีศักยภาพมากพอ ชุมชนแบบนี้ไม่ต้องเป็นคนรวย เพราะรูปแบบของ co-housing เป็นรูปแบบลดต้นทุนจากการใช้ร่วม เช่นแทนที่จะต้องจ้างคนสวนประจำของตัวเองก็จ้างคนสวนร่วมทั้งหมดคนเดียว แทนที่จะต้องมีพื้นที่วางเครื่องซักผ้าอบผ้าในบ้านของตัวเองก็ไปใช้เครื่องร่วมแทน เป็นต้น ถ้า CoHo อันแรกเวอร์ค ผมก็จะขยายให้มีอันที่สอง อันที่สาม เมื่อมีหลาย CoHo มาอยู่ในละแวกเดียวกัน มันก็จะกลายเป็นหมู่บ้านของผู้สูงอายุแนวใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน และที่สนองตอบต่อความต้องการของผู้สูงอายุที่จะมีชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ แล้วเมื่อรูปแบบนี้มันดีจริง มันก็จะแพร่หลายออกไป

FM ….

     อื้อ..ฮือ คุณหมอต้องใช้เวลาทำนานไหมเนี่ย จึงจะสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างให้เห็นจริง

นพ.สันต์

     คือการจะทำอะไรให้มีประโยชน์ถึงระดับก่อการกระเพื่อมเชิงบวกเป็นวงกว้างเนี่ย ผมว่ามันต้องใช้เวลาสิบยี่สิบปี ผมอาจจะตายไปก่อนก็ได้ แต่ผมไม่ซีเรียสนะ ถามว่าต้องใช้เวลานานไหม ตอบว่าสักสิบปียี่สิบปีละมัง ซึ่งผมตั้งใจว่าพอขึ้นปีใหม่ปีนี้ ใช้เวลาเคลียร์งานแบ็คล็อกที่ค้างคาอยู่สักสามสี่เดือนจบแล้ว ผมก็จะเริ่มทำ CoHo อันแรกเลย คือปีนี้เอาจริงแน่นอน

FM …. 

     ทำที่กรุงเทพนี่เหรอคะ

นพ.สันต์

     ทำที่มวกเหล็กครับ เพราะผมอยุ่ที่นั่น ตัวผมก็จะเข้าไปอยู่อาศัยใน CoHo นี้ด้วย

FM …. แล้วไม่กลัวล่มหรือเจ๊งหรือคะคุณหมอ

นพ.สันต์

     มันก็ต้องลุ้น คือนวัตกรรมทุกอย่างมีความเสี่ยงที่จะล้มเหลว เพราะมันเป็นอะไรที่ไม่เคยมีมาก่อน คุณเคยได้ยินชื่อหลุยส์ ปาสเตอร์ใช่ไหม หมอชาวฝรั่งเศสที่ค้นพบวัคซีนนะ คืนแรกที่เขาทดลองฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้กับเด็กที่ถูกหมาบ้ากัดมาเหวอะหวะ คืนนั้นเขานอนไม่หลับทั้งคืน คือเมื่อคิดจะทำอะไรใหม่ มันก็ต้องยอมรับความเครียดจากการลุ้น แต่ด้วยวิธีรู้จักปล่อยวางความคิดเป็นพักๆ และด้วยวิสัยทัศน์ที่ว่าที่ทำทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างสรรสิ่งดีๆให้เกิดขึ้น ผมว่าถึงเจ๊งผมก็เอาตัวรอดได้นะ อย่างน้อยใจผมก็รอด แม้กระเป๋าจะไม่รอด

FM …. 

     คุณหมอคะ ปีใหม่จะบอกอะไรกับท่านผู้ฟังบ้างคะ

นพ.สันต์

     ก็สวัสดีปีใหม่นะครับท่านผู้ชม ขอโทษ.. ท่านผู้ฟัง นอกจากการหยุดคิดไตร่ตรองถึงชีวิตที่ผ่านมาแล้ว ในแง่สุขภาพก็เป็นธรรมเนียมว่าปีใหม่เป็นเวลาที่จะเริ่มต้นทำตามความตั้งใจใหม่ แบบที่ฝรั่งเรียกว่า new year resolution ฟิตเนสฝรั่งเนี่ยพอขึ้นปีใหม่ก็จะเช่าที่จอดรถสองชั้นเพิ่มไว้เลย แต่เขาทำสัญญาเช่านานแค่สองเดือนนะ เพราะพวกฟิตเนสรู้ดีว่าลูกค้าจะเฮี้ยวทำท่าจริงจังได้ไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น แล้วก็จะแผ่วและเลิกไปเอง เนี่ย ชีวิตมันเป็นอย่างนี้แหละท่านผู้ฟังครับ คือคิดตกไตร่ตรองได้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว แล้วลงมือทำไปแล้ว แต่มันทำไปได้ไม่นานก็หล่นแอ๊กกลับมาแบะแฉะอยู่ที่เดิม 

     แต่เชื่อผมเถอะครับ ขยันตั้งต้นใหม่เข้าไว้ ล้มแล้วลุก ล้มแล้วลุก พลังมันจะค่อยๆมา แล้วมันจะติดลมเอง ตัวช่วยอีกอันหนึ่งคือเลือกกฎเหล็กประจำใจสักหนึ่งข้อ เอาข้อเดียวนะ อย่ามาก อย่างผมเคยล้มเหลวในเรื่องออกกำลังกาย จนผมตั้งกฎเหล็กต่อตัวเองขึ้นมาว่าต่อไปนี้การออกกำลังกายทุกวันเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดของชีวิต สำคัญกว่าการแปรงฟัน ชีวิตนี้ต้องทำสิ่งสำคัญสูงสุดก่อน ตื่นเช้ามาถ้ายังไม่ได้ออกกำลังกาย ห้ามแปรงฟัน โดยวิธีนี้ก็ออกจากบ้านไปไหนไม่ได้เพราะฟันยังไม่ได้แปรง จึงออกกำลังกายทุกวันได้สำเร็จ ท่านผู้ฟังลองวิธีนี้ดูก็ได้นะครับ คือตื่นขึ้นมา ทำสิ่งสำคัญให้ได้ก่อน..ก่อนการแปรงฟัน

FM …. 

     ค่ะ ท่านผู้ฟังคะ นั่นคือ นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลพญาไท 2 แขกพิเศษของเราในวันนี้นะคะ ขอบพระคุณคุณหมอคะ โอกาสหน้าคุณหมอคงจะให้เวลาคุยกันเราอีกนะคะ

……………………………………………………..