Latest

กลุ่มอาการเวลาไม่พอใช้ (Not Enough Time Syndrome)

สวัสดีครับ อ.สันต์ 

ผมติดตามผลงานของอาจารย์มาตลอดครับ ในฐานะของแพทย์ประจำบ้านสาขาอายุกรรมคนหนึ่ง มีความประทับใจในลักษณะการเขียนบทความของอาจารย์ มีองค์ประกอบทั้งด้านความรู้วิชาการ แนวทางการเล่าเรื่องที่ผสมผสานประสบการณ์ต่างๆมากมาย รวมถึงนำธรรมะมาประกอบด้วยครับ ผู้อ่านได้ทั้งความรู้ คำแนะนำที่ชัดเจนตรงไปตรงมาครับ มีประโยชน์ต่อผู้อ่านมากมายครับ

เกริ่นมานานเลยครับ ที่เขียน จม. มาหาฉบับนี้อยากขอคำแนะนำอาจารย์ครับ ในเรื่องของการบริหารจัดการเวลา และการใช้ชีวิตโดยเฉพาะของแพทย์ เพราะนอกจากอาจารย์ดูมีความรู้มากมาย ยังมีเวลาว่าง มีเวลาพักผ่อน ในทุกๆเรื่องลงตัวไปหมด มีเวลาเที่ยว เรียนรู้เรื่องอื่นๆ อาจารย์เอาเวลาที่ไหนไปทำอะไร บริหารจัดการระหว่างช่วงที่เรียนอย่างไรครับ ถึงดูลงตัวและมีความสุขแบบทุกวันนี้ งานก็เยอะ ใช้ชีวิตยังไงครับ

แสดงความนับถืออย่างสูงครับ

………………………………………………..
ตอบครับ
การเป็นหมอ กับโรคเวลาไม่พอใช้ (not enough time syndrome) อันนี้มันเป็นของคู่กัน อาการป่วยนี้มันเริ่มตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์ ไม่นานมานี้มีนักเรียนแพทย์คนหนึ่งเขียนมาหาผมด้วยปัญหานอนหลับมากเกินไป เธอพิลาปรำพันถึงชีวิตของเธอว่าเวลาในชีวิตมันหายไปหมด ดังนี้
  “…แล้วชีวิตมันก็เป็นอยู่แค่นี้จริงๆค่ะอาจารย์ ไม่เหลืออะไรเลย ไม่มีการออกกำลังกาย ไปเที่ยว เดินห้าง คุยโทรศัพท์กับเพื่อนตอนก่อนนอน อ่านเว็บบอร์ด ดูยูทูป ดูหนัง ฟังเพลง ดูดารา อ่านหนังสือพิมพ์  มันไม่เหลืออะไรแบบไม่เหลืออะไรจริงๆค่ะอาจารย์ แม้กระทั่งทานข้าวเย็น กลับมาแล้วก็ฟุบเลย…”
          การแก้ปัญหาเวลาไม่พอใช้ ร้อยทั้งร้อยทุกคนก็จะงัดเอา “การบริหารเวลา” ขึ้นมาชูว่าเป็นเครื่องมือหลักในการแก้ปัญหา เมื่อสิบกว่าปีก่อน สมัยที่ผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ผมต้องทำหน้าที่เป็นครูสอนหลักสูตรนิสัยดีเจ็ดประการสำหรับผู้มีประสิทธิผล (The Seven Habits of Highly Effective People) ด้วย ผมเนี่ยเป็น licensed instructor เชียวนะ หลักสูตรนี้ก็เน้นการบริหารเวลาเช่นกัน มีการจัดทำตารางเวลาเป็นแก่นกลาง แต่เมื่อผมแก่ตัวลงและมีประสบการณ์มากขึ้น ผมจะแนะนำคุณหมอด้วยหลักสูตรของผมเองก็แล้วกันนะ หลักสูตรรักษาโรคเวลาไม่พอใช้ของผมใช้วิธีให้ทำแยกเป็นประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1. การจัดลำดับ (Prioritization) เพื่อทำเรื่องสำคัญก่อน
     ผมขึ้นหัวเรื่องคุณหมอก็คงเดาเนื้อความได้หมดแล้ว ว่าจะต้องพูดถึงการทำเรื่องสำคัญก่อน ถูกต้องแล้วครับ แต่ประเด็นของผมคือให้คุณหมอเปลี่ยนวิธีพูดกับคนอื่นๆแบบออกเสียงดังๆเสียใหม่ แล้วคุณหมอจึงจะเก็ทหลัก prioritization อย่างแท้จริง ยกตัวอย่าง เช่น แต่เดิมคุณหมอพูดกับใครๆว่า
          “…ผมไม่มีเวลาออกกำลังกายเลยเพราะงานยุ่งมาก”
คราวนี้เปลี่ยนคำพูดเสียใหม่ เป็นว่า
            “…ผมไม่ออกกำลังกายเพราะผมให้ลำดับความสำคัญของการมีสุขภาพดีไว้ต่ำกว่าการดูทีวีอ่านหนังสือพิมพ์และท่องเน็ต”
          เป็นการพูดถึงสิ่งที่เป็นจริงทั้งคู่ แต่วิธีพูดแบบหลังนี้จะทำให้เราเอะใจกับตัวเราเองขึ้นมาว่า… เอ๊ะ เราทำอย่างนั้นจริงหรือ ซึ่งจะย้อนต่อไปถึงว่า..เอ๊ะ เราเชื่ออย่างนั้นจริงหรือ แล้วมันจะนำไปสู่การปรับวิธี prioritization ของเราในชีวิตประจำวัน  เพราะถ้าไม่เอะใจ เราก็จะไม่สนเลยวันๆหนึ่งเราเสียเวลาไปกับเรื่องขี้หมาแยะมากเพียงใด
ประเด็นที่ 2. ความตั้งใจจะทำมากเกินไป (Overscheduling)

เมื่อปีกลายผมไปขับรถเที่ยวทางยุโรป มีเพื่อนๆที่ชอบไปเที่ยวด้วยกันห้าหกคนพอยัดกันในรถได้หนึ่งคัน ทุกคนก็มีแผนจะไปแวะเมืองนั้นเมืองนี้ดูนั่นดูนี่ ผมดูแผนแล้วตัดเหลือแค่หนึ่งในสามของที่เขาทำแผนกันมา พวกเขาก็โวยวายกันใหญ่ ว่านี่แวะน้อยกว่าทัวร์ตั้งแยะ ทัวร์เขายังไปถึงโน่นถึงนี่โดยใช้จำนวนวันน้อยกว่าเราเสียอีก ผมตอบว่างั้นก็ไปเที่ยวกับ “สลัดทัวร์” สิ

ผมขยายความให้ฟังว่าคำว่า “สลัดทัวร์” นี้เพื่อนที่เป็นวิศวกรอาวุโสคนหนึ่งเล่าให้ฟัง ว่าสมัยเขาหนุ่มๆ ไปเมืองนอกกับทัวร์ที่มีอาโกพูดไม่ชัดเป็นทัวร์ไกด์ แผนการท่องเที่ยวครอบคลุมหลายประเทศหลายเมืองเป็นอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก พอรถทัวร์จอดที่ไหน ลูกทัวร์ก็จะกรูกันเข้าห้องน้ำ บางแห่งก็มีเวลาแวะซื้อของฝากร้านใกล้ แต่บางแห่งมีเวลาแค่เข้าห้องน้ำอย่างเดียว ขณะที่พวกผู้ชายกำลังยืนเรียงแถวฉี่อยู่นั้น อาโกก็เร่งว่า
“..เร็วๆเข้า ฉี่แล้วก็ซาหลัก..ซาหลัก แล้วรีบไปขึ้นรถ”
ที่อาโกบอกว่า ซาหลัก..ซาหลัก นั้นความหมายก็คือฉี่แล้วให้รีบสลัดเจ้าจุ๊ดจู๋แล้วรีบเก็บเข้าที่ซะเพื่อจะได้รีบเดินทางท่องเที่ยวกันต่อไป  (ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น)
พูดถึงความโลภอย่างทำอะไรมากเกินไป ตัวผมเองก็เป็น แต่ผมทำใจได้ว่าหากเป็นเรื่องที่จัดลำดับความสำคัญไว้ต่ำกว่าเรื่องอื่น ถึงเวลาแล้วไม่ได้ทำ ก็ต้องทำใจ บางเรื่องผมใช้เวลาทำใจนานหลายสิบปี ยกตัวอย่างเช่นผมฝันที่จะเล่นเปียโนมาตั้งแต่เด็ก พอจบแพทย์เป็นแพทย์ฝึกหัด มีเงินเดือน ผมก็ไปเรียนเปียโน สมัยนั้นมีชั้นเรียนราคาถูกซึ่งมีครูมาจากเมืองจีนแผ่นดินใหญ่สอนอยู่ที่สยามสแควร์ มีเงินไปเรียน แต่ยังไม่มีเงินซื้อเปียโน แต่ผมก็จัดเวลาซ้อมเปียโนในหอพักวันละชั่วโมง วิธีซ้อมของผมก็คือเอากระดาษขาวๆแข็งๆแผ่นใหญ่มาวาดรูปคีย์บอร์ดของเปียโนแล้วแปะไว้บนผิวโต๊ะ แล้วผมก็ซ้อมดีดเปียโนกระดาษนี้ไปโดยจินตนาการไปด้วยว่าเสียงมันจะเป็นอย่างไร จำได้ว่าวันหนึ่งมีเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกคนมีสะตังค์เข้ามาเห็นความพยายามของผมขณะกำลังนั่งซ้อมเปียโนใบ้เข้า เขาถึงกับออกปากว่า
“..โอ้โฮ.. สงสารสันต์จัง”
คือชอบถึงขนาดนั้น พอไปทำงานเมืองนอก เงินเดือนเดือนแรกออกมา ผมซื้อเปียโนเลย เพราะเปียโนที่เมืองนอกไม่แพงเมื่อเทียบกับเงินเดือนหมอ ซื้อแล้วแต่ก็ยังไม่ได้เรียน ไม่ได้เล่น เพราะมีเรื่องอื่นสำคัญกว่าต้องทำในเวลาจำกัด พอเรียนจบกลับเมืองไทยก็ขนเปียโนตัวนั้นกลับกรุงเทพฯ ตั้งไว้ที่บ้านที่กรุงเทพฯ แต่ก็ไม่ได้เล่นอีก เพราะเรื่องที่ต้องทำในกรุงเทพฯมันแยะ พอไปมีบ้านวันหยุดอยู่ที่มวกเหล็กก็จึงซื้ออีกตัวหนึ่งไปไว้ที่นั่น กะว่าที่นั่นน่าจะมีเวลาได้เรียนได้เล่นเสียที แต่จนเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ได้เรียนไม่ได้เล่นอยู่นั่นเอง จนไม่กี่วันมานี้ภรรยามาเลียบเคียงถามว่าเปียโนที่บ้านมวกเหล็กทิ้งไว้จะเสียนะ ขายซะดีไหม ผมอึ้งไปพักหนึ่งแล้วก็ตอบว่า เออ.. ขายซะก็ดีเหมือนกัน เพราะผ่านไปแล้วสามสิบปีผมทำใจได้แล้วว่า คงจะไม่ได้เล่นแล้วแหละ แต่ผมก็ไม่ได้เสียดายหรือตีอกชกหัวอะไร ก็จะทำไงได้ เพราะเวลาในชีวิตมีจำกัด แล้วผมก็จัดลำดับความสำคัญแล้ว ว่าเรื่องอื่นสำคัญกว่า ยังไม่ถึงเวลาของเรื่องเปียโนซักที
ประเด็นที่ 3. การใช้ชีวิตอย่างไร (How to live your life)

ตรงนี้เป็นไฮไลท์ที่สำคัญที่สุด การบริหารเวลาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต กลวิธีดำเนินชีวิตเป็นส่วนที่สำคัญยิ่งกว่า ตั้งแต่หนุ่มจนแก่ผมค่อยๆกลั่นกรองคัดเลือก “เครื่องมือ” ที่จะใช้ดำเนินชีวิตให้มันไปได้ดีเหลือไว้ใช้จริงทุกวันนี้แค่ 7 อย่าง คือ
เครื่องมือที่ 1. การเลือกจังหวะหยิบเครื่องมือหมายความว่าในชีวิตของเรานี้มันมีอะไรมาเป็นจังหวะๆ บางจังหวะ เราต้องใช้เครื่องมืออย่างหนึ่งไปต่อกร แต่บางจังหวะ เราต้องใช้เครื่องมืออีกอย่างหนึ่ง ใครจะว่าผมเป็นคนไม่มีหลักการอะไรแน่นอนก็คงไม่ผิดนัก เพราะเมื่ออยู่คนละสถานการณ์ เมื่อผมหยิบเครื่องมือคนละชิ้น การตัดสินใจก็จะเป็นคนละแบบ
เครื่องมือที่ 2. ความรู้ตัว (self awareness)หมายถึงการคอยบอกตัวเองเสมอว่าเรากำลังอยู่ที่นี่นะ เดี๋ยวนี้นะ being here and now ถ้าไม่รู้จะไปตั้งหลักที่ไหนผมก็จะไปตั้งหลักที่ลมหายใจเข้าออก ตรงนี้เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด ตอนผมทำผ่าตัดอยู่เครื่องมือนี้ทำให้ผมทำผ่าตัดได้ดี แม้ปัจจุบันนี้ไม่ได้ผ่าตัดแล้ว เครื่องมือนี้ก็ยังช่วยไม่ให้ผมเสียเวลาไปเพ้อเจ้อกับอดีตและอนาคตมากเกินไป  

เครื่องมือที่ 3. ความกล้าหรือความอึด (bravery)โดยธรรมชาติของผม ในเรื่องทั่วๆไปผมเป็นคนขี้ขลาดแต่กำเนิด สมัยเป็นวัยรุ่นขึ้นต่อยมวยในงานวัด ผมกลัวจนสั่นเทิ้มไปทั้งตัว เพื่อนๆก็เชียร์กันจัง ทั้งตะโกน ทั้งตบพื้นเวทีให้ผมเดินหน้าชก ร้องบอกให้ฟันศอก ตีเข่า จำได้ว่าตอนนั้นผมนึกในใจว่า
“..แล้วมึงทำไมไม่ขึ้นมาชกซะเองละวะ”
แต่พอแก่ตัวแล้วผมกลับหันมายึดความกล้าเป็นเครื่องมือดำเนินชีวิต ความกล้านี้ผมหมายความรวมถึงความอึดที่จะลุยดุ่ยๆๆไปโดยไม่สนใจใครจะว่าอะไรด้วย

ส่วนหนึ่งผมเรียนรู้มาจาก “นาย” ซึ่งเป็นหมอผ่าตัดหัวใจที่เมืองนอก จำได้ว่าครั้งหนึ่งเราทำผ่าตัดผู้ป่วยซึ่งหลอดเลือดใหญ่ที่ท้องแตก (ruptured abdominal aortic aneurysm) บุรุษพยาบาลของเซนต์จอห์นแอมบูแล้นซ์เอาเฝือกลมรัดท้องไว้แล้วนำส่งแบบฉุกเฉิน เมื่อคนไข้ขึ้นอยู่บนเตียงผ่าตัด ทันทีที่คลายเฝือกลมออกความดันเลือดก็ตกวูบ และท้องเป่งขึ้นจนแข็งโป๊กยิ่งกว่าผู้หญิงท้องกำลังจะคลอดเสียอีก ทันทีที่กรีดมีดทะลุผนังหน้าท้อง เลือดก็พุ่งกระฉุดเจิ่งนองห้องผ่าตัดซึ่งผิดวิสัยของโรคนี้ที่เลือดควรจะถูกขังอยู่ที่หลังเยื่อบุด้านหล้งของท้อง (posterior peritonium) เท่านั้น สถานการณ์เลวร้ายสุดขีด ทุกคนสติแตกเร่งมือทำหน้าที่ของตัวเองงกๆเงิ่นๆผิดๆถูกๆจ้าละหวั่น ตัวผมเองซึ่งมีหน้าที่ต้องเปิดพื้นที่ผ่าตัดให้นายมองเห็นต้องเพิ่มเครื่องดูดเลือดออกเป็นสีตัวจากเดิมที่เคยใช้แต่สองตัว แต่ในความวุ่นวายนั้นนายกลับเงียบและใช้สองมือ “งม” ทำการผ่าตัดอยู่ในบ่อเลือดเหมือนหมีกินผึ้งโดยไม่พูดไม่จาอยู่หลายนาที จนถึงจุดหนึ่งนายก็ใช้คีมหนีบโคนหลอดเลือดใหญ่ใต้กะบังลมจนเลือดหยุดไหลได้ ความกล้าและความอึดของนายในลักษณะนี้ผมได้พบเห็นครั้งแล้วครั้งเล่า จึงได้ซึมซับเอามาเป็นเครื่องมือประจำตัวในการใช้ชีวิตของตัวเอง
เครื่องมือที่ 4. การรู้จักเป็นปลื้ม (pride)กับชีวิต แต่ก่อนผมไม่เห็นความสำคัญของสิ่งนี้ แต่ผมสังเกตว่าคนรอบข้างทำไมเขาไม่เคยพอใจอะไรในชีวิตของพวกเขาแต่ละคนเลย ทั้งๆที่เขาก็มีกันมากเกินพอเสียอีก ถ้าผมเผลอคิดแบบเขา ผมก็จะเป็นแบบเขาไปอีกคนคือมีแต่ความรู้สึกว่าชีวิตนี้ช่างมีแต่ขาดแคลนไม่สมหวัง เมื่อผมเพิกเฉยกับความคิดของคนอื่นหันมาคิดตามวิธีของผมเอง เมื่อค่อยๆมองไปรอบตัว มันมีหลายสิ่งหลายอย่างมากที่เราควรจะเป็นปลื้มกับมัน บางครั้งก็เป็นเรื่องใหญ่เช่นผมสามารถช่วยชีวิตคนอื่นไว้ได้ บางครั้งก็เป็นเรื่องเล็กๆเช่นผมปลูกดอกไม้แล้วมันออกดอก หรือผมถูบ้านที่มวกเหล็กแล้วมันสะอาด แค่เนี้ยะ เพียงแค่ผมบอกตัวเองให้หยุดมอง แล้วมองเข้าไปในความรู้สึกของตัวเอง ผมก็รู้สึกถึงความปลื้มใจแล้ว มันเป็นความรู้สึกที่ดีที่ทำให้มีพลังที่จะเดินไปข้างหน้าได้อีกอย่างไม่รู้เหนื่อย   
เครื่องมือที่ 5. การผ่อนคลายตัวเอง (relax)ผมไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การไปเที่ยวดูหนังฟังเพลงเปลี่ยนบรรยากาศนะ แต่ผมหมายถึงการรู้จักนั่งลงเอนหลังพิงพนักเพื่อทำใจให้ว่างๆสบายๆสักครู่ แบบที่ฝรั่งเรียกว่า laid back ทริกอันนี้เวอร์คที่สุดในขณะที่เรากำลังเผชิญกับอะไรที่ร้ายแรงและต้องต่อกรแบบถึงเลือดถึงเนื้อถึงพริกถึงขิง ใช้ความกล้าและความอึดไปแล้วเต็มพิกัด แต่บางโมเมนต์หากเราเพียงแค่ลืมทุกอย่างนั่งนิ่งๆสักครู่ แล้วค่อยกลับมาลุยกับมันใหม่ คราวนี้เราจะทำได้ดีกว่าเดิมอีกมาก
เครื่องมือที่ 6. การจดจ่อ (focus)สมัยหนุ่มๆผมชอบทำอะไรหลายๆอย่างในเวลาเดียวกันยุ่งขิงไปหมด แต่พอแก่ตัวลงผมเรียนรู้ว่าทำทีละอย่าง และจดจ่อกับอะไรเพียงอย่างเดียว เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีกว่า โดยเฉพาะในวัยที่สมองเริ่มเสื่อมถอยแล้วอย่างนี้ อย่างตารางการทำงานของผมตอนนี้ไม่ได้เป็นตารางเวลาแบบตารางสอนของเด็กนักเรียนแล้ว แต่เป็นแค่ list รายการว่าผมจะต้องทำอะไรบ้าง เหมือนรายการของใช้ที่คุณนายเขียนให้คนใช้ไปซื้อที่ซุเปอร์มาร์เก็ต โดยผมใช้ Reminders ของไอโฟนเป็นตัวเขียนลิสต์ อันไหนที่อยากทำก่อนก็ร่นขึ้นมาอยู่ข้างบน แล้วก็ทำไปทีละอัน ทำอันแรกให้หมดก่อนแล้วค่อยไปทำอันที่สอง ขณะที่ทำอันแรกก็จดจ่ออยู่กับอันแรกเท่านั้น ไม่ต้องคิดถึงอันถัดไป เสร็จเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ไม่คาดหมายว่าผลของมันจะออกหัวหรือออกก้อย เรียกว่า “มุ่งที่เหตุ โดยไม่พะวงผล” แล้วมันก็จะออกมาดีทุกที

มีคนเล่าให้ผมฟังถึงงานวิจัยเอานักขมังธนูระดับแชมป์ของฝรั่งกับของญี่ปุ่นมาจับคลื่นสมองขณะยิงธนูที่มีเดิมพันสูง คลื่นสมองของนักธนูฝรั่งนั้นจะค่อยๆแอคทีฟมากขึ้นๆเมื่อเริ่มน้าวสายธนู แล้วคลื่นสมองจะไปพีคสุดเมื่อปล่อยธนูออกจากแหล่งก่อนที่ลูกธนูจะถึงเป้า ส่วนของนักธนูญี่ปุ่นนั้นคลื่นสมองจะแอคทีฟเมื่อเดินไปจะเข้าที่ แล้วก็ค่อยๆสงบลงจนถึงจุดสงบที่สุดเมื่อน้าวสายธนู แล้วสงบอยู่เช่นนั้นจนยิงธนูเสร็จ อันนี้เป็นความแตกต่างกันของวิธีโฟคัสสองแบบ สมัยหนุ่มๆผมทำงานโดยโฟคัสแบบฝรั่ง ยอมรับว่าทำแล้วเครียด พอแก่แล้วผมเรียนรู้ที่จะโฟคัสแบบญี่ปุ่น คือทำไป จดจ่อที่การทำ แต่ไม่พะวงถึงผล เสร็จทันไม่ทันก็ช่าง เพราะตอนนี้เป็นเวลาทำ ไม่ใช่เวลาคิดว่าจะเสร็จทันหรือไม่ทัน จดจ่อแบบว่าได้แค่ไหนเอาแค่นั้น ผลลัพท์ออกมาดีพอๆกัน แต่วิธีหลังนี้ทำแล้วมีความสุขมากกว่า
เครื่องมือที่ 7. ช่างแม่..ม (Let it be)ไม่ได้หมายความว่าผมทำอะไรแล้วคิดจะเลิกทำก็เลิกทำกลางคันโดยไม่แคร์ ไม่ใช่นะครับ ผมเป็นคนจุกจิกจู้จี้เอาให้ได้อย่างใจหรือเป็น perfectionist เสมอถ้าเป็นเรื่องที่ผมเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นได้ด้วยตัวผมเองเพียงคนเดียว แต่เครื่องมืออันนี้ผมเอาไว้ใช้กับเรื่องที่อยู่นอกเขตอำนาจการควบคุมบังคับของผม อย่างเช่นนิสัยขับรถไม่ดีของคนขับรถคนอื่นบนถนน อย่างนี้เป็นต้น ผมไปเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเขาไม่ได้ดอก ผมจึงต้องงัดเครื่องมือ “ช่างแม่..ม” ออกมาใช้ หรืออย่างเช่นเรื่องการเมืองทุกวันนี้เสื้อแดงเสื้อเหลืองตีกันเละผู้คนทุกข์ใจกันไปทั่วว่าจะจบอย่างไรเมื่อไหร่จะจบเสียที แต่ผมถือว่าเป็นกรณีนอกเหนือเขตอำนาจของผม ผมจึงงัดเครื่องมือ ช่างแม่..ม ออกมาใช้

การใช้ชีวิตด้วยเครื่องมือทั้ง 7 อย่างนี้ บวกกับการรู้จักเรียงว่าอะไรสำคัญไม่สำคัญแล้วเลือกทำเรื่องสำคัญก่อน บวกกับการไม่โลภจะทำหลายอย่างมากเกินเวลาที่มี เป็นคำแนะนำที่ผมคิดว่าคุณหมออาจเอาไปประยุกต์แก้ปัญหาเวลาไม่พอใช้ของคุณหมอได้ครับ  

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์