Latest

นัดพบสำหรับผู้สนใจ Senior Co-Housing (2, 3, 4)

วันนี้ขอขัดจังหวะตอบคำถามการเจ็บป่วย เพื่อให้ความกระจ่างแก่ท่านผู้อ่านซึ่งมักเป็นสมาชิกใหม่ ที่มักโทรมาถามเพราะเห็นปฏิทินข้างบล็อกว่าวันที่ 8 พย.57 จะมีการนัดหมายสำหรับผู้สนใจที่จะมาตั้งรกรากอยู่ใน Senior Co-Housing จึงอยากทราบรายละเอียดว่านัดหมายไปทำอะไร ที่ไหนกัน จะไปร่วมด้วยได้หรือไม่
คอนเซ็พท์ของ Senior Co-Housing (coho)
สำหรับท่านที่ไม่เคยติดตามเรื่องนี้มาเลย ตัวผมมีความคิดฝันส่วนตัวที่จะสร้างชุมชนที่ผู้สูงวัยจะได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพขึ้นมาสักวันหนึ่งให้ได้ ผมได้เสาะหารูปแบบชุมชุนที่ “ใช่” และก็มาลงตัวที่รูปแบบ co-housing คำว่า Senior Co-Housing ซึ่งต่อไปผมขอเรียกสั้นๆว่า coho หมายถึงรูปแบบชุมชนที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่มีขนาดเล็กประมาณไม่เกิน 20 หน่วย อาจจะเป็นบ้านหรืออาคารชุดก็ได้ โดยมีเอกลักษณ์ดังนี้
1.      Co-care หมายถึง ทุกคนรู้จักกัน ดูแลกันและกัน
2.      Age in place หมายถึง แก่ที่นั่น ตายที่นั่น
3.      Privacy / Shared facilities หมายถึง ทุกคนมีบ้านของตัวเอง แต่ก็มีพื้นที่ร่วม โดยแชร์สิ่งที่ใช้ร่วมกันได้เพื่อการประหยัด เช่นมีรั้วๆเดียวทั้งชุมชน มีคนสวนและคนเฝ้าที่เป็นคนเดียวกัน และคนคนเดียวนี้เฝ้าและดูแลทั้งชุมชน มีระบบกันขโมยและระบบเรียกเวลาป่วยฉุกเฉินระบบเดียวกัน
4.      Co-decision ช่วยกันคิดช่วยกันทำ ทุกคนเป็นกรรมการชุมชน ไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะทำอะไรใหม่ๆต้องได้มติเอกฉันท์ ทุกคนร่วมกันออกแบบชุมชน บางครั้งก็เริ่มตั้งแต่ร่วมกันเลือกที่ดินที่จะจัดตั้งชุมชน
เล่าเรื่อง coho-1
เริ่มต้นเมื่อปีกลาย ผมได้ชวนผู้สนใจที่จะเกษียณในชุมชนแบบ coho มาอยู่ด้วยกันที่มวกเหล็ก-เขาใหญ่ โดยจะตั้งชุมชนในพื้นที่ 8 ไร่ ซึ่งรับผู้อาศัยได้ประมาณ 12 หน่วย ตอนนั้นก็มีท่านผู้อ่านบล็อกนี้แหละให้ความสนใจมาร่วมซื้อที่ดินจนครบ 12 หน่วยในเวลาแทบจะวันเดียว เนื่องจากเป็นชุมชนแรก ผมจึงขอเรียกว่า coho-1 ตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง จะเสร็จสมบูรณ์ปี 2560 ตัว coho-1 นี้เป็นชุมชนแรก จึงไม่ได้มีคอนเซ็พท์จำเพาะเจาะจงมากนัก สมาชิกตกลงคอนเซ็พท์กว้างๆว่าจะเป็นหมู่บ้านบนเนินหญ้าเขียวที่เน้นการดูแลสุขภาพและกิจกรรมที่สร้างคุณภาพชีวิตร่วมกัน ตอนนี้สมาชิกทั้งหมดรู้จักกันดีพอสมควรแล้ว และติดต่อสื่อสารกันสม่ำเสมอทางไลน์
มาอยู่มวกเหล็กวาลเลย์กันเถอะ
Coho-1 สร้างขึ้นในหุบเขาชื่อมวกเหล็กวาลเลย์ (Muaklek Valley) แต่ว่าเพียงแค่ Coho-1 จำนวน 12 หน่วย แม้จะรักใคร่กลมเกลียวพอเพียงในตัวเองและมีความสุขกันดีเพียงใด แต่ก็ยังไม่ใช่ชุมชนคนเกษียณที่สมบูรณ์ เพราะยังขาดความเป็นชุมชนที่ใหญ่พอจะมีกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพและคุณภาพชีวิตได้อย่างคึกคักต่อเนื่อง ต้องมี coho เกิดขึ้นในละแวกเดียวกันอีกมากจึงจะเกิดชุมชนดังกล่าวได้ ผมจึงขอชวนท่านผู้อ่านทุกท่านที่คิดจะหาที่สำหรับเกษียณมาอยู่กันที่มวกเหล็กวาลเลย์ หุบเขามวกเหล็กวาลเลย์ตอนนี้เหมือนเมืองลับแล เป็นรีสอร์ทเก่าแก่กึ่งรกร้าง มีพื้นที่ 450 ไร่ ผู้อยู่อาศัยปัจจุบันยังมีไม่มาก (ประมาณ 50 หน่วย) ยังมีที่ว่างอยู่มาก

ปิกนิคมอร์นิ่งทีกับเพื่อนบ้าน วิถีชีวิตปกติในมวกเหล็กวาลเลย์

อากาศดี ผมอยู่ที่นี่มา 14 ปีแล้ว ราคาที่ดินยังถูก เมื่อเทียบกับละแวกมวกเหล็กเขาใหญ่ด้วยกันแล้วในหุบเขาถูกกว่านอกหุบเขาเกือบเท่าตัว ตัวหุบเขามี Health Cottage ที่ผมได้อาศัยใช้สอนคอร์สสุขภาพเป็นจุดกลาง (ไม่ใช่ของผมเองดอกนะ) อยู่ห่างจากตลาดอำเภอมวกเหล็กซึ่งเป็นฐานสำหรับจ่ายตลาดซื้อข้าวของเพียง 3 กม.  ที่ผมชักชวนเป็นวรรคเป็นเวรนี่ไม่ใช่ผมจะขายที่ดินนะครับ เพราะผมไม่มีที่ดินจะขาย และไม่ได้คิดจะใช้เวลาในชีวิตที่เหลืออยู่อีกไม่มากนี้ไปเอาดีทางหากินขายที่ดิน แต่ผมชวนเพราะต้องการให้ท่านมาร่วมกันสานฝันสร้างชุมชนคนเกษียณที่เป็นแบบฉบับที่ดีร่วมกับผม

Coho-2, 3, 4
ประสบการณ์ปลูกบ้านพ้กผ่อนวันหยุดอยู่ต่างจังหวัดมาสิบกว่าปีสอนผมว่าการที่คนๆหนึ่งจะไปปลูกบ้านอยู่ที่ใดที่หนึ่งนอกกรุงเทพฯแล้วให้ไปๆมาๆสะดวกและอยู่ได้อย่างสุขสบายปลอดภัยแบบตัวเดียวคนเดียวนั้น มีต้นทุนที่สูงมาก ไหนจะค่าคนเฝ้า ไหนจะค่าคนทำสวนตัดหญ้า ไหนจะต้องมีเครื่องเพิ่มกำลังไฟฟ้า ไหนจะค่าดูดน้ำบาดาลขึ้นมาจัดทำระบบจ่ายน้ำเอง ไหนจะค่าบำรุงรักษา ปั๊มน้ำใต้ดินไหม้ ท่อแตก ยังไม่นับเรื่องความปลอดภัยยามตัวเองเจ็บป่วยฉุกเฉินว่าจะเรียกหาใครได้ทันท่วงทีหรือไม่ เรียกว่าถ้าไม่บ้าก็ต้องเป็นเศรษฐีมีเงินเหลือใช้จึงจะทำได้ตลอดรอดฝั่ง ส่วนใหญ่ผมเห็นทำไปแล้วก็ถูลู่ถูกังไปได้พักหนึ่งแล้วก็สู้ไม่ไหว จึงค่อยๆห่างไปๆแล้วม้วนเสื่อกลับกรุงเทพฯในที่สุด ทิ้งบ้านที่ลงทุนไปแล้วหลายล้านให้ร้างจนหญ้าขึ้นท่วมอย่างน่าเสียดาย 

ทางเลือกที่จะสร้างเป็นรีสอร์ทที่มีขนาดใหญ่หลายร้อยหน่วยก็จะมีปัญหาไปอีกแบบ หลายวันก่อนผมขับรถไปหาเพื่อนซึ่งเป็นฝรั่งอยู่ที่นิชดาธานี ชุมชนถูกออกแบบเป็นชุมชนปิด (gated community) ขนาดใหญ่มาก แต่เมื่อผมขับรถผ่านยามประตูใหญ่เข้าไป ผมพบเห็นว่าผู้อาศัยภายในนิชดาจำนวนหลายซอยต่างรวมกันเป็นชุมชนย่อยมีตู้ยามย่อยของตัวเอง ปิดกั้นรั้วเองเป็นรั้วชั้นในดับเบิ้ลกับรั้วโครงการใหญ่อีกชั้นหนึ่ง ผมขับผ่านตู้ยามแบบนี้อย่างน้อยก็ห้าหกตู้กว่าจะถึงบ้านเพื่อน ผมเข้าใจว่าที่เป็นอย่างนี้เพราะชุมชนใหญ่ การดูแลความปลอดภัยทำได้ยากและไม่ทั่วถึง การจะอาศัยระบบเพื่อนบ้านเกื้อกูล (neighborhood support) ก็ทำได้ยากเพราะคนแยะ ไม่รู้จักกัน จะสนับสนุนเกื้อกูลกันได้อย่างไร 

ณ ขณะนี้ผมจึงมีความเห็นว่าการสร้างชุมชนผู้เกษียณที่มี coho เป็นหน่วยพื้นฐาน แล้วหน่วยเหล่านั้นมาร่วมกันเป็น “สหการ” ของชุมชนใหญ่ จึงน่าจะเวอร์คสุด ผมจึงอาสาเข้ามาเป็นตัวเร่งให้เกิด coho-2, 3, 4… ขึ้นในหุบเขามวกเหล็กวาลเลย์ จนกว่าชุมชนในหุบเขาจะมีขนาดใหญ่พอที่จะก่อกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพและคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุได้อย่างคึกคักต่อเนื่องได้โดยตัวของมันเองจนกลายเป็นธรรมชาติหรือเป็นอัตโนมัติ โดยในวันที่ 8 พย. 57 นี้ผมมีแผนจะชวนผู้สนใจมาร่วมกันสร้าง coho ขึ้นอีก 3 coho ซึ่งผมแอบเล็งสถานที่และทาบทามเจ้าของที่ดินไว้แล้ว ดังนี้

Coho-2 (อยู่ติดกับ coho-1) เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ จำนวนประมาณ 10 หน่วย โดยมีคอนเซ็พท์เบื้องต้นว่าจะเป็นหมู่บ้านของคนชอบปลูกดอกไม้ (Flower Village)

Coho-3 เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ จำนวนประมาณ 5-10 หน่วย โดยมีคอนเซ็พท์ว่าจะเป็น Eco village สำหรับผู้ใส่ใจจริงจังแบบเอาเป็นเอาตายกับเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ สร้างระบบนิเวศวิทยาแบบยั่งยืน มากเป็นพิเศษ ที่อยู่ติดคลองน้ำ โดยจะเป็นชุมชนที่เชื่อมโยงกับ Eco village ในระดับนานๆชาติทั่วโลก

Coho-4 เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ จำนวนประมาณ 4-8 หน่วย โดยมีคอนเซ็พท์ว่าจะเป็นชุมชนผู้ที่ชอบกีฬาและการออกกำลังกายต่างๆ (Sport Village) เนื้อที่จะมีสนามเทนนิสและสนามแบดอยู่ในชุมชนด้วย และมีถนนจักรยาน (bike road) อยู่หน้าชุมชน

งบประมาณ

ระดับราคาที่ดินที่ผมได้ขอยืนราคาล่วงหน้าไว้กับเจ้าของที่บางรายเผื่อเหนียวไว้คือเฉลี่ยวาละ 7,500 บาท ราคานี้แพงกว่าตอนทำ coho-1 (ตอนนั้นเฉลี่ยวาละ 5,000 บาท) เพราะตอนทำ coho-1 ที่ดินเป็นของผมเองและผมจงใจขายถูกเพราะอยากให้ coho เกิด ตอนนี้ที่ดินผมไม่มีแล้ว สมาชิกต้องไปซื้อที่ดินของคนอื่นเขา แต่ราคานี้ว่าไปแล้วก็ยังถูกกว่ารีสอร์ทข้างนอกย่านมวกเหล็กและเขาใหญ่ซึ่งขายกันเฉลี่ยวาละ 10,000 – 12,000 บาทขึ้นไป และผมเชื่อว่าในมวกเหล็กวาลเลย์ราคาจะไม่ขึ้นพรวดพราดเพราะที่ดินเปล่าๆว่างๆในมวกเหล็กวาลเลย์ยังมีอีกมาก คนไหนขายแพงเราก็หลบไปซื้อของคนที่ขายถูก ที่ดินต่างจังหวัดหากจะให้สบายๆไม่คับเกินไปก็ควรจะมีที่สัก 200 วาขึ้นไป นั่นหมายความว่าค่าที่ดินก็ 1.5 ล้านเข้าไปแล้ว ค่าลงขันสร้าง coho และทรัพย์สินส่วนกลางอีกวาละ 2,000 บาท ก็อีก 4 แสน ค่าปลูกบ้านอีกซึ่งขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน หากจะถือเอาตามมาตรฐาน coho ฝรั่ง หน่วยที่พักเล็กๆมีเนื้อที่ประมาณ 100 ตารางเมตร (สองห้องนอน สองห้องน้ำ) ค่าก่อสร้างตกตารางเมตรละประมาณ 15,000 บาท (ขึ้นกับผู้รับเหมาที่เลือก) ก็ต้องมีค่าบ้านอีกประมาณ 1.5 ล้าน นั่นหมายความว่าการจะอยู่แบบ coho ให้สะดวกสบายก็ต้องมีงบสัก 3.5 ล้าน ถ้ามีงบน้อยกว่านี้ก็ต้องหาเพื่อนซี้ซื้อที่ดินด้วยกันแล้วปลูกบ้านแบบแบ่งห้องกันอยู่ ซึ่งก็มีคนทำและแฮปปี้ดี  

Site map แสดงที่ตั้งของ CoHo 1, 2, 3, 4


8 พย. 57 เวลา 14.00 น. วันนัดพบ
โดยความตั้งใจ การพบกันวันที่ 8 พย. 57 นี้เป็นขั้นตอนการชักนำคนที่คิดแบบเดียวกัน มารู้จักกันก่อน ไปภายหน้าถ้าถูกใจกันก็อาจจะนัดพบกันอีกๆๆๆ จนตกร่องปล่องชิ้นว่าจะมาอยู่ร่วมกันจริงๆ หลังจากนั้น ในโอกาสต่อๆมาจึงพากันไปตระเวณหาดูที่ดิน เลือกที่ดิน และตัดสินใจซื้อที่ดินเพื่อสร้าง coho ร่วมกัน ของฝรั่งเขาจะทำกันแบบนี้ กระบวนการก่อนตัดสินใจซื้อที่ดินนี้ฝรั่งเขาใช้เวลาเฉลี่ยหนึ่งปี
แต่ประสบการณ์จากการนัดพบกันครั้งแรกของสมาชิก coho-1 เมื่อปีกลาย พบว่านัดพบกันครั้งแรก ทุกคนก็กระตือรือล้นขอไปดูที่ดินกันเลย และตัดสินใจซื้อที่ดินกันเลยตอนนั้นจนที่ดินที่ถูกใจมีไม่พอ จึงเกิดปัญหาเล็กน้อยว่าใครจะได้ตัดสินใจก่อนหลัง จนผมต้องคิดกฎขึ้นมาแบบกะทันหันว่าใครที่โทรศัพท์มาแจ้งล่วงหน้าว่าจะมาร่วมประชุมก่อน จะได้สิทธิ์ตัดสินใจก่อน จึงเกิดความลงตัวแบบทุกคนยอมรับได้ ดังนั้นการนัดพบในวันที่ 8 พย. 57 นี้ผมก็ขอถือโอกาสนี้ทำความตกลงกันไว้ก่อนว่าหากเกิดกรณีที่อยากจะซื้อเลยและเผอิญเกิดใจตรงกันต่างคนต่างอยากได้ของสิ่งเดียวกัน คนที่อีเมลหรือโทรศัพท์เข้ามาแจ้งว่าจะมาร่วมประชุมก่อน จะได้สิทธิ์เลือกก่อนนะครับ
วันเวลา           8 พย. 57 : 14.00 น.
สถานที่           Health Cottage มวกเหล็กวาลเลย์ซอย 9 (แผนที่ Google Map หรือแผนที่ข้างล่างนี้)
การแจ้งล่วงหน้า อีเมล chaiyodsilp@gmail.com  หรือ โทรศัพท์ 0819016013

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์