Latest

คุยกับป้าเกล็น เรื่องความตายและชีวิตในวัยชรา (Glennis)


15 กย. 57
     ขากลับจากเข้าโรงเรียนที่เขตสังขละบุรี เราสามคนพ่อแม่ลูกขับรถไปเที่ยวปิล็อก ในเขตอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีจุดหมายปลายทางจะไปพักค้างคืนที่บ้านป้าเกล็น วิธีการไปสำหรับคนที่ไม่มีรถโฟร์วีลคือจะต้องเอารถไปจอดไว้ที่โรงพักปิล็อก แล้วโทรศัพท์บอกให้ผู้จัดการชื่อชาลีให้ส่งรถออกมารับ คนขับรถออกมารับชื่อเมียว เขาพาเรานั่งรถโฟร์วีลไปตามทางเข้าเหมืองซึ่งเป็นทางวิบาก ในความเห็นของผม ผมคิดว่าเป็นทางวิบากที่สุดที่เหลืออยู่เส้นทางเดียวในเมืองไทยแล้วตอนนี้ ระยะทางไม่ถึงสิบกม. แต่เราใช้เวลาเดินทางท่ามกลางสายฝนเกือบชั่วโมง
เราไปถึงเอาตอนบ่ายแก่ๆ อากาศเย็นจนเกือบหนาว (21 องศา) ป้าเกล็นออกมารับที่หน้าโรงคลังอุปกรณ์เหมือง ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นทั้งที่นอนของเธอเอง ที่รับแขก ที่ทำอาหาร ที่กินข้าว และที่ตากผ้าในหน้าฝน ผมเรียกอาคารนี้ว่าล็อบบี้ก็แล้วกัน ป้าเกล็นเป็นหญิงชราชาวออสเตรเลีย อายุ 76 ปี ความสูงประมาณ 155 ซม. เธอชวนไปนั่งดื่มกาแฟกินเค้กฝีมือเธอ แต่เราขอเดินถ่ายรูปก่อน เธอก็เดินตามและอธิบายโน่นนี่นั่น ขณะเดินไปในบริเวณอันสวยงามและเป็นธรรมชาติของหัวงานเหมืองร้าง เธอชี้ให้ดูบ้านใหญ่บ้างเล็กบ้างสำหรับรับรองแขกแบบธุรกิจโฮมเสตย์รวม 4

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำเก๋ากึ๊ก
แรงดันน้ำที่มาตามท่อจากฝายบนเขา

ฉีดไปบนกังหันซึ่งไปปั่นไดนาโมเล็กๆซ้ายมือ 

หลัง  เธอเห็นผมจ้องดูกังหันพลังน้ำโกโรโกโสรูปร่างพิกลแต่ยังกำลังเวิร์คอยู่ เธอบอกว่านั่นเป็นแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสำหรับเวลากลางวันให้เธอ ตัวไดนาโมนั้นเก่าคร่ำคร่ามาก แต่ก็ยังพออาศัยผลิตแสงสว่างได้ เธอบอกว่าอายุของเครื่องนี้มากกว่ายี่สิบห้าปีแล้ว ผมใช้สายตาไล่กลไกแล้วจึงสรุปได้ว่าน้ำถูกนำมาจากบนเขาสูงด้วยท่อเหล็กขนาด 6 นิ้วซึ่งขึ้นสนิมขึ้นแล้วถ้วนทั่ว ปลายท่อนั้นถูกทำให้สอบเหลือขนาดประมาณ 1 นิ้ว สองท่อ และปล่อยให้ปลายทั้งสองฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าไปยังกังหันที่ทำด้วยไม้ขนาดผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร แรงฉีดทำให้กังหันน้ำหมุนติ้ว สะบัดเอาน้ำกระจายเป็นฟองสวยงาม จนผมอดถ่ายรูปไว้ไม่ได้ ที่เพลาแกนกลางของมีสายพานทดรอบคล้องโยงอยู่กับไดนาโมและหมุนไดนาโมนั้นเพื่อให้ได้ไฟฟ้าออกมา

เดินเที่ยวเล่นถ่ายรูปจนทั่วแล้ว เราเข้ามาในล็อบบี้ ดูภาพเก่าๆ นั่งดื่มกาแฟร้อนๆ ทานเค้ก ป้าเกล็นมานั่งคุย

เรือนพักรับรองแขกเหนือฝายเก็บน้ำ
มองเห็นน้ำนิ่ง และภูเขาที่คลุมด้วยสายหมอก

เป็นเพื่อน คุยแลกเปลี่ยนเรื่องต่างๆกันไปจึงได้ทราบว่าป้าเกล็นเป็นลูกสาวของครอบครัวเจ้าของเหมืองทองที่ออสเตรเลีย พบรักกับสามี คือคุณสมศักดิ์ ซึ่งเรียนวิศวกรรมเหมืองแร่ที่นั่น แต่งงานกัน แล้วตามคุณสมศักดิ์มาเมืองไทย ตัวคุณสมศักดิ์นั้นเป็นหลานของเจ้าเมืองสังขละบุรีสมัย ร.5 เมื่อมีการออกกฎหมายประทานบัตรขุดแร่ ท่านเจ้าเมืองได้ขอประทานบัตรไว้ให้ลูกชายของตัวเอง ตัวลูกชายนั้นไม่ได้สนใจที่จะขุดแร่ แต่ได้ส่งหลานชาย คือคุณสมศักดิ์ไปเรียนวิศวะเหมืองแร่ คุณสมศักดิ์นั้นเกิดมาเพื่อจะเป็นนายหัวเหมืองแร่โดยแท้จริง

ห้องเก็บเครื่องมือท้ายหัวงานเหมือง
โปรดสังเกตตะไคร่และหญ้าที่ขึ้นบนหลังคา

เขานั่งเรือขึ้นแม่น้ำแควน้อย สลับกับนั่งช้าง มาปักหลักทำเหมือนแร่ดีบุกอยู่ที่ปิล็อก นั่นคือเมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว ป้าเกล็นตอนนั้นทำงานสอนภาษาอังกฤษอยู่ในกรุงเทพฯ และแวะเข้ามาที่เหมืองเป็นครั้งคราว ในช่วงที่ดำเนินงานเต็มที่ เหมืองแห่งนี้มีคนงานถึง 600 คน ป้าเกล็นพูดถึงสามีของเธอว่า

          “เขาเป็นสุภาพบุรษที่แท้จริง”   
          เธอยังเล่าแกมตลกว่าตอนไปขอแต่งงานและบอกว่าจะพาฉันมาอยู่เมืองไทย พ่อของฉันบอกเขาว่าดูแลลูกสาวของผมให้ดีนะ เขารับปากทั้งด้วยวาจะและท่าทาง และเขาไม่เคยทิ้งคำมั่นนั่นเลยแม้แต่วันเดียว และย้ำอีกว่า.. เขาเป็นสุภาพบุรุษที่แท้จริง
แล้วชีวิตก็มาถึงจุดตกต่ำเมื่อ 25 ปีก่อน เมื่อเกิดภาวการณ์ล่มสลายของตลาดดีบุกโลกเนื่องจากจีนส่งดีบุก

ส่วนที่ผมเรียกว่าล็อบบี้
ซึ่งเต็มไปด้วยของสะสมและภาพในอดีตของป้าเกล็น

ออกตีตลาดโลก เหมืองดีบุกทุกแห่งต้องปิดตัวลง รวมทั้ง “เหมืองสมศักดิ์” แห่งนี้ด้วย สามีของเธอเครียดมาก เขาแบ่งเงินทองทรัพย์สินที่เหลืออยู่ให้กับลูกน้องทั้ง 600 คน ก่อนที่จะแยกย้ายกันไป แต่ก็มีอยู่สิบห้าคนที่มากอดขานายเหมืองสมศักดิ์ร้องไห้ว่าเขาเกิดที่นี่ทำงานที่เหมืองนี้มาแต่เล็กจนโตไม่รู้จะไปไหน ขอให้เขาอยู่ที่นี่กับนายเหมืองต่อไปเถอะ คุณสมศักดิ์บอกป้าเกล็นว่าเขาไม่สามารถจะทิ้ง “คนของเขาได้” ป้าเกล็นพยักหน้าเข้าใจ และเห็นด้วยที่เขาจะอยู่ที่เหมืองต่อไปกับลูกน้อง แต่ก็แอบกังวลถึงดีกรีของความเครียดของเขาที่นับวันจะเพิ่มขึ้น จนเธอตัดสินใจเลิกทำงานสอนในกรุงเทพเข้ามาอยู่ในเหมืองนี้เพื่อเป็นเพื่อนกับสามี และสังหรณ์ของเธอก็เป็นจริง เมื่อสองปีหลังจากนั้นคุณสมศักดิ์ก็ล้มป่วยเป็นมะเร็ง แล้วมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว ป้าเกล็นเฝ้าสามีอยู่ที่โรงพยาบาลในกรุงเทพทุกวันไม่เคยได้ห่าง จนถึงวันที่เขาจากไป

ป้าเกล็น.. ระหว่างลมแห่งความเหงาเมื่อ
เผลอคิดถึงอดีต กับความสุขสดชื่นเมื่อได้
ให้บริการรับใช้ผู้คนในปัจจุบัน
            เราคุยกันหลายเรื่อง ป้าเกล็นพูดภาษาไทยได้คล่อง แต่การสนทนาเรื่องลึกซึ่งแต่ละฝ่ายก็พยายามจะใช้ภาษาที่คิดว่าจะสื่อถึงอีกฝ่ายหนึ่งได้ถูกต้องแน่นอน คำสนทนาช่วงหนักๆจึงมักจะคุยกันเป็นภาษาอังกฤษ ช่วงที่นั่งนิ่งๆคุยกัน ผมสังเกตเห็นว่าบ่อยครั้งมีลมแห่งความซึมเศร้าพัดผ่านสีหน้าของเธอ พอคุยกันไปคุ้นเคยกันมากขึ้น ผมถามขึ้นว่า
          “ป้าเกล็นกลัวตายไหม”
          เธอตอบโดยไม่หยุดคิดว่า
“มันเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วไม่ใช่หรือ ฉันไม่กลัวหรอก แต่ฉันก็ไม่ได้ตั้งตาคอย ฉันอยู่กับวันนี้ ทุกวันนี้ตื่นขึ้นมาทุกเช้า ฉันขอบคุณพระเจ้าที่ให้เวลากับฉันอีกหนึ่งวัน หนึ่งวันที่ฉันยังสามารถเดินเหินทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นด้วยตัวของฉันเองได้”
ป้าเกล็นชี้ให้เราดูห้องพักของเราและแนะนำให้เราเข้าห้องพักก่อน เราเอาของเข้าไปเก็บ ห้องพักเป็นอาคารไม้ตกแต่งด้วยไม้ไผ่เก่าๆ ไม่มีร่องรอยของการตกแต่งหรือดูแลอย่างพิถีพิถันแต่อย่างใด หยากไย่ สีเขียวของรา มีให้เห็นทั่วไปเพราะที่นี่ฤดูนี้ความชื้นสูงมาก เราต้องรีบอาบน้ำเพราะป้าเกล็นบอกว่าจะใช้เครื่องน้ำมันปั่นไฟฟ้าเพื่อให้ใช้น้ำร้อนได้เพียง 2-3 ชั่วโมงตอนหัวค่ำเท่านั้น
เราออกมาทานอาหาร อาหารเย็นวันนี้เป็น home cooking ฝีมือป้าเกล็น เธอทำบาร์บีคิวให้พวกเราด้วย นอกจากนั้นก็ซุป ไก่ทอด และอะไรอย่างอื่นอีกสองสามอย่าง ป้าเกล็นมาเป็นคนบริการรอบโต๊ะ ปากก็ร่วมสนทนาไปด้วย ภรรยาของผมบอกให้ป้าเกล็นหยุดทำนั่นทำนี่และนั่งลงคุยกัน เธอปฏิเสธ เธอบอกว่า
“ฉันชอบบริการรับใช้ ฉันชอบเป็นแม่บ้าน พระเจ้าบอกว่าอาชีพแม่บ้านเป็นอาชีพที่ดีที่สุด”
ผมสังเกตว่าเวลาที่เธอสาละวนทำงาน รินน้ำใส่แก้ว ยกสำรับ  เป็นเวลาที่สีหน้าของเธอยิ้มย่องผ่องใส ผิดกับเวลานั่งคุยกันนิ่งๆ ผมมองดูภาพแต่งงาน ซึ่งเป็นภาพถ่ายขาวดำ คุณสมศักดิ์นั้นเป็นผู้ชายรูปร่างเล็กธรรมดา ผิดกับคำบอกเล่าของป้าเกล็นที่ว่าเขาเป็นแชมป์แบดมินตันภาคกลางของออสเตรเลีย ส่วนป้าเกล็นนั้นเธอสูงระหงกว่าปัจจุบัน และสวยสะอางเทียบได้กับนางเอกหนังในยุคนั้นทีเดียว  ผมถามเธอว่า
“อะไร ทำให้ลูกสาวเจ้าของเหมืองทองที่ออสเตรเลียอย่างคุณ ตัดสินใจอยู่ในป่าคนเดียวท่ามกลางคนท้องถิ่นที่นี่ ทั้งๆที่ที่นี่มันไม่มีอะไรอีกแล้ว..ไม่มีอะไรเลย”
เธอเงียบไปพักหนึ่ง เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นเธอเงียบในระหว่างการสนทนา เพราะตลอดเวลาที่คุยกันเธอเล่าเรื่องต่างๆได้อย่างเป็นอัตโนมัติ แต่คำถามของผมคงจะเป็นคำถามที่แย่หน่อย แย่จนทำให้เธอเงียบไป
“สองสามวันก่อนที่พี่ศักดิ์จะตาย เขากังวลและดูทุรนทุรายมาก จนในที่สุดเขาคงทนไม่ได้จึงเปรยกับฉันว่าถ้าไม่มีผมแล้ว คุณจะอยู่อย่างไร ฉันนิ่งไปพักหนึ่ง แล้วจึงตอบเขาไปว่า ฉันก็จะกลับไปอยู่ปิล็อก ดูแลเหมืองแทนคุณ ดูแลคนของคุณอย่างที่คุณได้ดูแลพวกเขามา พอฉันพูดจบ อาการของเขาเปลี่ยนไปเลย เขาดูสบายใจขึ้นมาก และสองวันสุดท้ายของชีวิตเขา เขาดูปลอดโปร่งโล่งใจ”
คราวนี้ผมเป็นฝ่ายนิ่งเงียบ
ผมไม่พูดอะไร แต่ผมเข้าใจเธอ นึกถึงเรื่องราวในชีวิตของผมเอง คำมั่นสัญญานั้นมันไม่สำคัญต่อคนอื่นหรอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญญาที่เราให้ไว้กับคนที่ตายไปแล้ว เพราะคนก็ตายไปแล้วจะไปมีความหมายอะไร แต่มันสำคัญกับตัวเราเอง มันสำคัญตรงที่การรักษาคำมั่นสัญญามันทำให้เรายังธำรงรักษาความนับถือตัวเองอยู่ได้ และผมถือว่าการมีความนับถือตัวเองเป็นส่วนสำคัญของการมีชีวิตอยู่
สมัยที่ผมอายุ 17 ปี พ่อตาย ทั้งๆที่ท่านอายุสี่สิบต้นๆเอง ผมยังจำแววตาของท่านก่อนตายได้ ผมได้บอกท่านตอนที่ท่านนอนอยู่ในโลงศพแล้วว่า
“พ่อไม่ต้องห่วงแม่กับน้องสาวหรอก ผมจะดูแลทั้งสองคนเอง”
นั่นเป็นคำพูดลอยลมของเด็กอายุ 17 ปี ตัวผมเองก็ไม่คิดว่าคำพูดของผมเองจะมีผลอะไรกับชีวิตผมมากมายในเวลาต่อมา แต่มันมี อย่างน้อยก็สองครั้ง ครั้งแรก ตอนผมเรียนมหาวิทยาลัย พอน้องสาวป่วย ผมตัดสินใจหยุดเรียนหนึ่งปีเพื่อพาเธอกลับไปดูแลกันเองประสาพี่น้องที่บ้านโดยไม่สนใจเลยว่าผมจะได้มีโอกาสกลับไปเรียนอีกหรือไม่ และการหยุดเรียนครั้งนั้นเปิดโอกาสให้ผมเปลี่ยนใจย้อนกลับไปสอบเข้าเรียนแพทย์ในปีต่อมา และกลายมาเป็นหมอจนทุกวันนี้ แทนที่จะได้ไปทำไร่เป็นอาชีพอย่างที่ผมฝันไว้
ครั้งที่สอง ตอนที่ผมจบการฝึกอบรมเป็นหมอผ่าตัดหัวใจที่เมืองนอก นายเรียกไปหาและบอกว่ามีจ๊อบถาวรที่ทาสมาเนีย ผมอยากไปทำไหม ถ้าอยากไปนายจะแนะนำให้ ซึ่งเป็นโอกาสในวิชาชีพที่หาไม่ได้อีกแล้ว เพียงแต่ว่าผมอาจจะไม่ได้กลับไปอยู่เมืองไทยอีกเลยเท่านั้น ผมพยายามถามตัวเองว่าถ้าต้องทำงานอยู่เมืองนอกตลอดไปจะมีปัญหาอะไรไหม คำตอบก็คือมี.. คำสัญญาที่คุณให้ไว้กับพ่อเมื่ออายุสิบเจ็ดนั่นไง และนั่นทำให้ผมกลับมาเป็นหมออยู่เมืองไทยจนทุกวันนี้ มาแก่และตายที่เมืองไทย แทนที่จะแก่และตายที่เมืองนอก
แล้วก็นึกขึ้นได้ว่ากำลังนั่งคุยกับป้าเกล็นอยู่ ผมพูดกับเธอเบาๆว่า
“I understand”   
  เราเปลี่ยนเรื่องการสนทนามาเป็นเรื่องการใช้ชีวิตในวัยชรา แบบว่าคนแก่ คุยกับคนแก่ ผมมีแนวทางการใช้ชีวิตที่พยายามไม่ทำอะไรมากเมื่อตัวเองแก่ แต่ป้าเกล็นมีความคิดที่แตกต่างออกไป
“เมื่อเราทำงาน เราก็ต้องทำงาน เมื่อมีงาน ก็ต้องทำ อย่างธุรกิจโฮมสะเตย์ของฉันนี้ วันหยุดฉันมีแขกมาก ไม่มีปัญหา แต่วันธรรมดามักจะว่าง แต่ว่าค่าใช้จ่ายมีทุกวัน ลูกน้องฉันสิบกว่าคน ฉันก็ต้องหาทางเพิ่มงานในวันธรรมดา ฉันกำลังมองตลาดคนที่เกษียณแล้ว และตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
ผมได้โอกาสจึงลองแหยมเพื่อให้เธอปรับปรุงห้องพักแขกเสียหน่อย ว่า
“ถ้าป้าจะเล่นตลาดฝรั่ง ผมว่าป้าน่าจะอัพเกรดห้องพักในประเด็นความเนี้ยบเพิ่มขึ้นอีกสักหน่อยนะ” แต่คุณป้าตอบว่า
“ไม่ละ..ฉันจะใช้แนวทางเดิม คือเราจะเป็นบ้านเล็กในป่าใหญ่ ง่ายๆ แบบธรรมชาติ แม้จะเป็นลูกค้าฝรั่ง ฉันก็จะเจาะเฉพาะกลุ่มที่อยากมาสัมผัสบรรยากาศบ้านเล็กในป่าใหญ่”
เห็นเธอหนักแน่นอย่างนั้นผมจึงเงียบเสีย เธอพูดต่อในประเด็นเมื่อทำงาน เวลามีงาน ก็ต้องทำ ว่า
“หรืออย่างการทำเหมืองดีบุก ตอนนี้ดีบุกจากจีนทำท่าจะหมดแล้ว ดีบุกกำลังจะขาดตลาด สภาดีบุกโลกได้ฟื้นชีวิตกลับมาประชุมกันอีก เมื่อถึงเวลาที่การทำเหมืองดีบุกกลับมามีชีวิต ฉันก็ต้องทำเหมืองดีบุก”
หลังคาป้ายที่ผุพังไปบางส่วน
แสงแดดสาดให้เห็นตะไคร่น้ำบนหลังคา
คือฟีลลิ่งที่แท้จริงของบ้านป้าเกล็น

รุ่งเช้าก่อนออกเดินทาง ป้าเกล็นทำข้าวต้ม มีอาหารเช้าแบบฝรั่งด้วย นอกจากไข่แล้วยังมีไส้กรอกทอดอร่อยซึ่งเธอบอกว่าต้องไปเอาถึงราชบุรี เพราะที่นั่นมีสองพี่น้องเขาช่วยกันทำไส้กรอกขายและทำได้อร่อย ส่วนขนมปังนั้นเธอไปเอามาจากร้านสีฟ้าที่กาญจนบุรี เธอบอกว่าร้านสีฟ้ามีต้นกำเนิดที่กาญจนบุรี และที่กาญจนบุรีทำขนมปังได้อร่อยกว่าที่กรุงเทพฯ ซึ่งในบรรยายากาศเย็นๆยี่สิบองศา ข้าวต้มร้อนๆ กาแฟอุ่นๆ ขนมปังนุ่มและหอมกรุ่น ยังไงมันก็ต้องดีกว่าที่กรุงเทพฯอยู่แล้ว

ก่อนจากกัน ผมบอกป้าเกล็นว่าผมจะกลับมาเยี่ยมเธออีก เธอยกมือไหว้ผมจนผมรับไหว้แทบไม่ทัน ไม่ใช่เพราะเธอไม่รู้ธรรมเนียมไทยว่าคนแก่ไม่ควรไหว้คนอายุน้อยกว่าก่อน เพราะเธออยู่เมืองไทยมาห้าสิบปีแล้ว แต่เธอคงคิดเหมือนผม ว่าคนแก่สองคนยังคุยกันไม่จบ ยังมีอะไรที่จะต้องแชร์กันอีกสองสามเรื่องเป็นอย่างน้อย

………………………………………………………………………….