Latest

โรคไฮโปไทรอยด์ในคนท้อง (Hypothyroidism in pregnancy)

สวัสดีค่ะ ดิฉันชื่อ .. ค่ะ อายุ 36 ปี, ดิฉันเป็นไฮโปไทรอยด์จากการกลืนแร่รักษาไฮเปอร์ไทรอยด์ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว และได้กินยา Euthyrox 50 mg,ทุกวัน สัปดาห์ละ 5 วัน เจาะเลือดทุก 3-4 เดือน แต่ตอนนี้ดิฉันกำลังตั้งครรภ์ ได้ 8 สัปดาห์ 3 วัน และได้เจาะเลือดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ดังนี้ T3* 134 / T4* 10.0/ FT3* 4.02 / FT4* 1.30/ TSH* 0.692/ ดิฉันต้องปรับยาขนาดเท่าไหร่คะ? ตอนนี้ดิฉันอยู่ที่จังหวัดสระแก้ว ฝากท้องที่นี่แต่ที่รพ.ดูเหมือนจะไม่มีหมอที่เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ มีแต่หมออายุรกรรมทั่วไป..ท่านให้คำตอบไม่กระจ่าง..หมอที่นี่บอกว่าดิฉันต้องกินยาขนาดเท่าเดิมคือ 50 mg, ทุกวัน เว้นวันจันทร์ กับวันพฤหัสบดี เหมือนเดิม. และตรวจเลือดทุกเดือน, และต้องตรวจวัดคลื่นหัวใจ,  ดิฉันงงตั้งแต่เจาะเลือดแล้วค่ะ เพราะปกติรักษาที่โรงพยาบาล …  ที่กรุงเทพ หมอจะให้เจาะเลือดเฉพาะ FT4 , TSH เท่านั้น แต่ที่นี่เจาะหมดทุกอย่างเลย และจำเป็นด้วยเหรอคะที่ต้องตรวจวัดคลื่นหัวใจ? ดิฉันไม่มั่นใจกับคุณหมอที่นี่ค่ะเพราะน่าจะเป็นแพทย์จบใหม่เพราะตอบคำถามตะกุกตะกัก…จะเป็นพระคุณมากค่ะถ้าคุณหมอจะกรุณาให้คำตอบที่กระจ่างกับดิฉัน,
ขอรบกวนด้วยค่ะ/ ขอบพระคุณค่ะ

…………………………………………………………………….

     ปัญหาของท่านผู้อ่านท่านนี้คือโรคไฮโปไทรอยด์ขณะตั้งครรภ์ (hypothyroidism during pregnancy) ซึ่งเป็นโรคที่ต้องตั้งใจรักษาให้ดี เพราะถ้ารักษาไม่ดี ลูกที่ออกมาจะกลายเป็น “คนสึ่งตึง” ซึ่งแปลว่า “คนง่าวซุดหัวซุดตี๋น” ซึ่งแปลว่า “คนปัญญาอ่อน” 

     (แหะ..แหะ ขอโทษนะครับ มันดึกแล้ว ถือโอกาสเขียนไล่ความง่วงของตัวเองไปด้วย)

     ก่อนตอบคำถามของคุณ ขอนอกเรื่องเกี่ยวกับคนสึ่งตึงหน่อยนะ ประเด็นของผมก็คืออย่าไปกลัวการเป็นคนสึ่งตึงจนเกินเหตุ เพราะการเป็นคนสึ่งตึงก็มีข้อดีเหมือนกัน ดังเรื่องจริงที่ผมจะเล่าต่อไปนี้

     เรื่องมีอยู่ว่าสมัยผมเป็นเด็กอายุ 7 ขวบ ไปเข้าโรงเรียน ป.1 (สมัยนั้นไม่มีชั้นอนุบาล) ได้คบหากับเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นนักเรียนโข่ง เขาอยู่ป.1 มาก่อนหน้าผมได้สามปีเต็มๆแล้วแต่ยังขึ้นป.2 ไม่ได้ ในเดือนหลังๆของชั้น ป.1 ผมถูกอัพเกรดขึ้นเป็นผู้ช่วยครู คือครูใช้ให้ไปยืนหน้าห้องเอาไม้ชี้ ก.ไก่ ข.ไข่ ให้เพื่อนๆอ่านตามขณะที่คุณครูก็ชะแว้ปไปทำภาระกิจอื่นของท่าน ผมสอนเพื่อนนักเรียนทั้งชั้นแต่มองเห็นและจำได้คนเดียวคือเพื่อนนักเรียนโข่งที่นั่งหัวโด่สูงเด่นกว่าเพื่อนที่หลังห้องคนนี้ พอเลิกเรียนผมชอบตามเพื่อนคนนี้ไปบ้านของเขา เนื่องจากเขาตัวโตแล้วจึงได้รับมอบหมายงานจากพ่อแม่ให้ทำหลายอย่าง รวมทั้งให้ขับเกวียนด้วย ผมก็เรียนหัดขับเกวียนจากเขานี่แหละ มีอยู่วันหนึ่งเขาถูกมอบหมายให้เอาเกวียนออกไปขนฟางที่ท้องนา เขาก็เอาวัวเข้าเทียมเกวียน แต่วิธีเทียมเกวียนของเขานั้นพิสดาร คือเขาเอาวัวตัวหนึ่งเข้าใส่แอกข้างซ้ายโดยให้วัวหันหัวไปทางด้านหน้าเกวียน ส่วนวัวอีกตัวหนึ่งใส่แอกข้างขวาโดยให้วัวหันหัวไปทางด้านหลังของเกวียน พูดง่ายๆว่าวัวสองตัวหันหน้าไปคนละทางและตรงข้ามกัน แล้วเขาก็ขึ้นนั่งประจำที่ สตาร์ทเกวียนโดยการเอาแซ่ฟาดคานเกวียนแล้วตะโกนให้สัญญาณวัวออกเดิน

     “..ฮุ่ย..ย”

เมื่อเจ้านายสั่ง วัวเขาก็ออกเดิน ผลเป็นไงหรือครับ เกวียนมันก็หมุนเป็นวงกลมอยู่กลางลานบ้านไม่ไปไหนเพราะวัวสองตัวเดินแบบหันหน้าเข้าหากัน เขาหงุดหงิดว่าวัวทำไมพูดไม่รู้ภาษาทั้งๆที่ล้วนเรียนจบมหาลัยวัวกันมาทั้งนั้น จึงลงแซ่ที่ตะโพกวัวเพี้ยะๆแบบเหน่งๆเลยและร้องฮุ่ยเสียงดังขึ้น วัวที่จบมหาลัยแล้วก็ออกวิ่งตามคำสั่ง ผลก็คือเกวียนหมุนติ้วกลางลานจนฝุ่นคลุ้งและพวกผู้ใหญ่พากันร้องเอะอะและเฮโลเข้ามาแก้ไขสถานะการณ์ พอฝุ่นจางลงแล้ว ผมถามผู้ใหญ่คนหนึ่งว่าทำไมเพื่อนผมทำอย่างนั้น ก็ได้รับคำตอบว่า

     “..เพราะมันเป็นคนสึ่งตึง”

     (แคว่ก แคว่ก แคว่ก  ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น)

     ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับเพื่อนคนนี้เป็นแบบผลัดกันเป็นครู ผลัดกันเป็นศิษย์ คือเรื่องก.ไก่ ข.ไข่ ผมเป็นครูเขา แม้ว่าจะไม่ค่อยได้ผลนัก เขาเรียนได้อย่างมากวันละตัว เพราะเขาชอบเขียนหนังสือตัวโตแบบว่า ก.ไก่ ตัวเดียวก็เต็มกระดานชนวนเข้าไปแล้ว (สำหรับผู้อ่านซึ่งส่วนใหญ่เกิดไม่ทัน สมัยนั้นเด็กๆใช้กระดานชนวน หน้าตามันคล้ายแทบเบล็ตของเด็กสมัยนี้ แต่ว่าจอมันเป็นสีดำเพราะมันเป็นหิน ไม่ใช่จอขาวแบบ LCD เวลาเขียนต้องเอาแท่งหินเป็นดินสอเขียนไปบนจอให้เห็นเป็นเส้นขาวๆ เวลาลบก็เอาผ้าชุบน้ำลบออก) ในเรื่องที่เขาสอนผมนั้นเป็นเรื่องความกล้าทำอะไรนอกรีตที่คนอื่นเขาไม่ทำกัน อย่างเช่นการหนีโรงเรียน ซึ่งเป็นบทเรียนที่ทำให้ผมตื่นเต้นมาก วิธีการก็คือเอาหนังสือเสียบเข้าไปในปกเสื้อทางด้านหลังแล้วเอาเสื้อสีขาวแก่ยัดลงไปในกางเกงสีกากีเพื่อไม่ให้หนังสือหล่นออกมา (สมัยนั้นไปโรงเรียนใช้หนังสือเล่มเดียวชื่อ ปฐม ก. กา) แล้วก็ทำตัวแข็งทื่อเดินผ่านหน้าครูไปทางด้านหลังโรงเรียนทำทีจะไปสุขา แล้วมุดรั้วหลังโรงเรียนออกไปทางป่าช้า อ้อมไปไกลจนคะเนว่าพ้นสายตาครูแล้วก็แหวกป่าเม็งวายวกมาขึ้นถนนทางเกวียนหน้าโรงเรียน แล้วก็วิ่ง..ง แบบเอาเป็นเอาตายจนถึงบ้าน สนุกจริงๆ

     เรียนอยู่ด้วยกันปีเดียวผมก็ต้องย้ายตามครอบครัวจากบ้านนอกไปอยู่ตลาดที่อำเภอซึ่งเป็นระยะไกลราวสามชั่วโมงเกวียนบนถนนขี้โคลน ชีวิตผมจากนั้นก็มีแต่ไปข้างหน้าแทบไม่ได้ย้อนกลับไปที่หมู่บ้านอีกเลย มิตรภาพระหว่างเราจึงเงียบหายไปตั้งแต่นั้น

     จนห้าสิบปีผ่านไปไวเหมือนโกหก แถ่น.. แทน.. แท้น.. แต่เป็นเรื่องจริง ตอนนั้นผมอายุห้าสิบปลายๆใกล้เกษียณอยู่แล้ว ได้มีโอกาสบากบั่นกลับไปที่หมู่บ้านเพื่อร่วมงานศพผู้มีบุญคุณต่อผมคนหนึ่ง แล้วเราก็ได้พบกันอีก คราวนี้เพื่อนของผมท่านเป็นสมภารวัดที่มาสวดในงานศพนั้นนั่นเอง พบกันด้วยความตะลึง คนในหมู่บ้านไม่มีใครรู้หรอกว่าเราสองคนเป็นเพื่อนกันมา เพราะผู้ใหญ่สมัยนั้นตายไปหมดแล้ว คำถามที่ผุดขึ้นมาในใจผมโดยอัตโนมัติก็คือ

     “..ระหว่างผู้ชายสองคนนี้ ใครมีความก้าวหน้าหรือประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่ากัน”

     ท่านสมภารซึ่งแก่กว่าผมราวสี่ปีนั้นมีใบหน้าอิ่มเอิบฉาบยิ้มละไมตลอดเวลา พูดจาเนิบนาบ ส่วนผมนั้นนึกหน้าตัวเองในกระจกออก คือมีโบว์ถาวรผูกอยู่ที่หัวคิ้วที่ได้มาตั้งแต่สมัยทำงานผ่าตัดหัวใจและแกะอย่างไรก็ไม่ออก ไม่นับหน้าผากและร่องแก้มที่ย่นยับยู่ยี่ไม่เคยผ่อนคลาย ผมเหม่ออยู่นานจนท่านสมภารต้องกระแอมและพูดทำลายความเงียบขึ้นก่อนว่า “..และนี่ก็คือคุณหมอ” ผมจึงหายตะลึงและร่วมงานศพกันได้ต่อไปตามปกติ

     ที่เล่าเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพื่อจะยืนยันการวิจัยทางการแพทย์ที่ให้ผลว่าความโง่หรือฉลาด ไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้คนมีความสุขในชีวิตมากขึ้นหรือน้อยลง ดังนั้นการจะได้ลูกโง่หรือฉลาดจริงๆแล้วจึงไม่ใช่เรื่องที่ซีเรียสอะไร เพราะมันไม่ได้มีผลอะไรกับเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต

     กลับจากเล่าเรื่องเพ้อเจ้อมาตอบคำถามของคุณดีกว่า

     1.. ถามว่าการตรวจติดตามการทำงานของต่อไทรอยด์ขณะตั้งครรภ์ นอกจาก FT4 และ TSH แล้ว จำเป็นต้องเจาะดูค่าฮอร์โมนตัวอื่นเช่น T3, T4, FT3 ไหม ตอบว่า ไม่จำเป็นครับ แต่ว่าหมอท่านไหนจะเจาะอะไรเพิ่มมันก็ไม่ได้ซีเรียสอะไรนักหนาดอกนะ

     ตัว TSH (thyroid stimulating hormone) นั้นเป็นฮอร์โมนกระตุ้นต่อม ยังไงก็ต้องดูเพราะเป็นตัวบอกว่าฮอร์โมนพอใช้หรือไม่ ถ้าฮอร์โมนไม่พอใช้สมองก็จะผลิต TSH ออกมากระตุ้น หมายความว่ายิ่ง TSH สูง ก็แสดงว่ายิ่งเป็นไฮโปไทรอยด์ ส่วนตัวฮอร์โมนไทรอยด์เองทำไมผมถึงตอบว่าเจาะ FT4 ตัวเดียวก็พอ เพื่อให้เข้าใจคำตอบได้ลึกซึ้ง ผมขออธิบายให้ปวดหัวเพิ่มบางประเด็นนะ

     ประเด็นแรก T4 ซึ่งมีชื่อเต็มว่าไทโรนีน แตกต่างจาก T3 ซึ่งมีชื่อเต็มว่าไตรไอโอโดไทโรนีน (T3)  อย่างไร ตอบว่าทั้งสองตัวเป็นฮอร์โมนไทรอยด์ทั้งคู่ แต่ตัวออกฤทธิ์ออกเดชเป็นฮอร์โมนไทรอยด์จริงๆคือ T3 ส่วน T4 นั้นเป็นวัตถุดิบที่จะนำไปสร้างเป็น T3 ประเด็นก็คือในภาวะขาดฮอร์โมน วัตถุดิบหรือ T4 จะลดลงต่ำและหมดก่อน ส่วนตัวฮอร์โมนออกฤทธิ์คือ T3 นั้นจะยังคงมีระดับปกติจนวินาทีสุดท้าย ดังนั้นการจะวินิจฉัยภาวะขาดฮอร์โมนให้ได้แต่เนิ่นๆจึงต้องไปดูตั้งแต่ตอนยังเป็น T4 ดีกว่าที่จะรอดูตอนกลายมาเป็น T3 แล้ว

     ประเด็นที่สอง T4 กับ FT4 ต่างกันอย่างไร ตอบว่า T4 เป็นปริมาณฮอร์โมนทั้งหมดในร่างกายซึ่งส่วนใหญ่จับอยู่กับโปรตีน ขณะที่ FT4 เป็นฮอร์โมนอิสระ (F ย่อมาจาก free) ที่ล่องลอยในกระแสเลือดและพร้อมออกฤทธิ์ทันที ระดับ Free T4 จึงบอกถึงภาวะการเป็นโรคไฮเปอร์หรือไฮโปโดยตรง ขณะที่ระดับ Total T4 นั้นยังต้องไปตีความร่วมกับปริมาณของโปรตีนในร่างกาย เพราะถึงระดับฮอร์โมน T4 ดูปกติก็จริง แต่หากปริมาณโปรตีนในร่างกายมีน้อยกว่าปกติ ก็หมายความว่าอาจมีฮอร์โมนอิสระไปออกฤทธิ์ได้มาก จึงอาจเป็นโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ได้ทั้งๆที่ระดับ total T4 ปกติ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเจาะดู FT4 ดีกว่าเจาะ T4

    2.. ถามว่าจะมีโรคบางโรคไหม ที่เป็นโรคแล้วตรวจ FT4 และ TSH แค่นั้นยังวินิจฉัยไม่ได้ ตอบว่ามีครับ โรคนั้นชื่อว่า “กลุ่มอาการป่วยแบบต่อมไทรอยด์ดี” หรือ sick euthyroid syndrome คือกรณีที่ร่างกายป่วยเป็นโรคเรื้อรังใดๆก็ตาม หรือมีเหตุอะไรก็ตามให้เกิดการเผาผลาญ (metabolism)ขึ้นในร่างกายมากเกินไป ต่อมไทรอยด์จะหาวิธีลดการเผาผลาญลง ทางหนึ่งก็คือลดการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ลงด้วยวิธีการเมือง ซึ่งไม่รบกวนวิธีการทำงานปกติแบบราชการประจำ หมายความว่าแอบลดโดยไม่ให้สมองซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาทราบ นั่นก็คือแทนที่จะผลิตฮอร์โมนจริงหรือ FT3 ต่อมไทรอยด์กลับผลิตฮอร์โมนเก๊หรือ RT3 แทน คือใช้ RT3 นี้หลอกสมองว่าได้ผลิตฮอร์โมนพอแล้ว แต่ความจริงแล้ว RT3 มันเป็นฮอร์โมนเก๊ ใช้งานไม่ได้ เวลาเราเจาะเลือดดูจะพบว่า TSH และ FT4 ปกติทั้งๆที่ร่างกายมีฮอร์โมนไทรอยด์ไม่พอใช้ หากเจาะเลือดดูระดับ FT3 จะพบว่าต่ำและหากเจาะเลือดดูระดับ RT3 ก็จะพบว่าสูงปรี๊ด แต่ประเด็นก็คือเราไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย “กลุ่มอาการป่วยแต่ต่อมไทรอยด์ดี” นี้ดอก เพราะการรักษาโรคพิศดารนี้เราไม่ได้ยุ่งกับระดับฮอร์โมนไทรอยด์เลย แต่ไปมุ่งไปที่การค้นหาโรคเรื้อรังแล้วรักษาโรคเรื้อรังต้นเหตุนั้น แล้ว “กลุ่มอาการป่วยแบบต่อมไทรอยด์ดี” ก็จะหายไปเอง ดังนั้นการเจาะเลือดดู FT3 จึงไม่จำเป็นและจะไม่เปลี่ยนแผนการรักษาไม่ว่าจะได้ผลแตกต่างจาก FT4 หรือไม่

     3.. ถามว่าเป็นไฮโปไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์จำเป็นต้องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ไหม ตอบว่าไม่จำเป็นครับ แต่ถ้าได้ตรวจมันก็เท่ดีไม่ใช่หรือ กล่าวคือหมอใช้การเต้นของหัวใจเป็นอาการวิทยาบอกภาวะไฮโปหรือไฮเปอร์ไทรอยด์ ถ้าเป็นไฮโปหัวใจจะเต้นช้า ถ้าเป็นไฮเปอร์หัวใจจะเต้นเร็วหรือบางครั้งแถมเต้นรัว (AF) ด้วย แต่การเต้นของหัวใจนี้เราทราบได้โดยวิธีตรวจร่างกาย หมายความว่าแมะหรือจับชีพจรเอา ไม่จำเป็นต้องตรวจ EKG ก็ได้ครับ

     4.. ผลเลือดที่คุณให้มานั้นสรุปว่าฮอร์โมนไทรอยด์ของคุณเป็นปกติดี ดังนั้นการที่หมอแนะนำให้ใช้ยาในระดับเดิมที่เคยทานมาก็ดีแล้วนี่ครับ ตรงผลเลือดนี้ มีประเด็นหนึ่งที่ผมอยากจะย้ำให้คุณระวัง คือค่าปกติของ TSH ที่เราใช้กับคนตั้งครรภ์มันเป็นคนละค่ากับที่ใช้กับคนทั่วไปนะครับ และปกติสำหรับครรภ์แก่ครรภ์อ่อนก็ไม่เท่ากันด้วย (trimester-specific reference range) กล่าวคือท้องสามเดือนแรก ปกติ TSH ต้องไม่เกิน 2.5 mU/L ส่วนสามเดือนที่สองและที่สามไม่เกิน 3.0 mU/L ขณะที่คนทั่วไปหากไม่เกิน 4.6 mU/L ก็ถือว่าปกติ

     5.. ถามว่าตอนไม่ท้องหมอที่กรุงเทพเจาะเลือดห่างทุกสามเดือน ตอนท้องหมอใหม่ที่ตจว.เจาะเลือดทุกเดือน มากไปหรือเปล่า ตอบว่าตอนท้องเจาะทุกเดือนไม่มากไปหรอกครับ เพราะตอนท้องมีการเผาผลาญมาก ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนเร็ว ต้องตามให้ทัน และคำแนะนำการรักษาโรคไฮโปไทรอยด์ในคนท้องที่เป็นมาตรฐานใช้กันทั่วโลกก็แนะนำให้เจาะเลือดทุก 4 สัปดาห์ครับ

     6.. การที่หมอให้คำตอบไม่กระจ่างไม่ใช่เพราะเป็นหมออายุรกรรมไม่ได้เป็นหมอผู้เชี่ยวชาญต่อมไร้ท่อดอกครับ ไม่เกี่ยวกันเลย แต่เป็นเพราะหมอท่านไม่มีเวลา เพราะหากพูดน้อยแล้วทำให้งง ไม่พูดเสียดีกว่า ดังนั้นอย่าไปว่าหมอท่านเลย โดยเฉพาะหมอในรพ.ของรัฐ ทุกวันนี้ท่านต้องทำงานมากจนไม่มีเวลาจะหยุดกินข้าวอยู่แล้ว ถ้าทุกท่านพากันใจน้อยและตัดช่องน้อยแต่พอตัวหนีมาอยู่รพ.เอกชนแบบหมอสันต์เสียหมด แล้วจะเหลือลิง เอ๊ย ไม่ใช่..เหลือหมอที่ไหนดูแลคนไข้ในรพ.ของรัฐละครับ

     7. การที่หมอจบมาใหม่ๆ ไม่ได้หมายความว่าความรู้จะน้อยกว่าหมอเก่านะครับ ความจริงมันตรงกันข้าม คือในภาพรวม คุณภาพของบัณฑิตแพทย์นี้เปรียบได้กับบัณฑิตขวดเป๊บซี่ คือเปิดออกมาปุ๊กแรกก็จะซ่าถึงใจ แล้วความซ่านั้นจะค่อยๆจางลงๆไปตามเวลา หมอที่ยิ่งจบใหม่ยิ่งมีความรู้แยะ เพราะเพิ่งสอบความรู้กันมาหมาดๆ ส่วนหมอเก่านั้นจะเอาตัวรอดได้ก็ต่อเมื่อเป็นคนขยันศึกษาต่อด้วยตัวเองเท่านั้น ซึ่งผมเองก็ไม่ทราบว่าจะมีสักกี่เปอร์เซ็นต์ วงการแพทย์รู้ความจริงนี้ดีจึงพยายามจะจับหมอเก่ามาสอบความรู้ซ้ำเป็นระยะๆ แต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ ดังนั้นหากวัดความรู้ ผมพนันร้อยเอาขี้หมาก้อนเดียว หมอเก่าสู้หมอจบใหม่ไม่ได้หรอกครับ แต่หากวัดกันที่ลูกล่อลูกชน หมอเก่าอาจรู้หลบเป็นปีกดีกว่าและพูดคล่องไม่ติดอ่าง เรียกว่าดีกันคนละอย่าง ดังนั้นอย่าไปรังเกียจหมอจบใหม่เลย

     8.. ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ไม่มีใครพูดถึง แต่หญิงที่คิดจะมีครรภ์หรือมีครรภ์แล้วทุกคนควรทราบ คือปัจจุบันนี้วงการแพทย์ยังไม่มีข้อสรุปไว้เป็นคำแนะนำมาตรฐานว่าหญิงมีครรภ์ทุกคนควรตรวจคัดกรองระดับ TSH เพื่อคัดกรองโรคไฮโปไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ทุกคนหรือไม่ เพราะยังเถียงกันไม่ตกฟากเรื่องความคุ้มค่าใช้จ่ายในระดับรัฐบาลหรือระดับสังคม  แต่ผมแนะนำผู้อ่านบล็อกหมอสันต์ทุกคนในระดับปัจเจกบุคคล ว่าหญิงมีครรภ์ทุกคนที่มีเงินจ่ายค่าแล็บ (505 บาทถ้าเป็นรพ.เอกชนระดับแพง) หากกลัวจะได้ลูกเป็นคนสึ่งตึง ควรตรวจคัดกรองโรคไฮโปไทรอยด์ด้วยการเจาะเลือดดู TSH ทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ครับ ถ้าไม่เชื่อผม ได้ลูกเป็นคนสึ่งตึงแล้วจะมาโทษว่าอ่านบล็อกหมอสันต์แล้วไม่เห็นบอกอะไรไม่ได้นะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.     Docter R, Krenning EP, de Jong M, Hennemann G. The sick euthyroid syndrome: changes in thyroid hormone serum parameters and hormone metabolism. Clin Endocrinol (Oxf). Nov 1993;39(5):499-518.[Medline].
2.     De Groot LJ. Non-thyroidal illness syndrome is a manifestation of hypothalamic-pituitary dysfunction, and in view of current evidence, should be treated with appropriate replacement therapies. Crit Care Clin. Jan 2006;22(1):57-86, vi. [Medline].
3. De Groot L, Abalovich M, Alexander EK, et al. Management of thyroid dysfunciton during pregnancy and postpartum: an Endocrine Society clinical practice guideline. J Clinic Endocrinol Metab 2012;97:2543
4. Valdiveloo T, Mires GJ, Donnan PT, Leese GP. Thyroid testing in pregnant women with thyroid dysfunction in Tayside, Scotland: the thyroid epidemiology audit and research study. (TEARS) Clin Endocrinol (Oxf) 2013;78:466