Latest

ขอมดำดิน กับลูกกตัญญูน็อตหลุด

     วันหยุดที่ผ่านมานี้ผมทำอะไรไปแบบดุ่ยๆเองประสาตาแก่แยะมาก ผมเล่นของสูงด้วยนะ หมายถึงหอคอย ผมจำไม่ได้ว่าผมเคยบอกท่านผู้อ่านหรือเปล่าว่าที่บ้านโกรฟเฮ้าส์ที่ผมกำลังซ่อมอยู่นี้มีหอคอยด้วย สูงปรี๊ดเอาเรื่อง ตอนนี้ผมกำลังซ่อมมันอยู่ แต่หอคอยไม่มีอะไรน่าสนใจ ผมจึงไม่ได้ถ่ายรูปมาให้ดู สิ่งที่น่าสนใจกลับเป็นขอมดำดิน หลายสัปดาห์มาแล้วผมเขียนในบล็อกนี้ว่าอยากหาขอมดำดินมาไว้ที่ลานบ้านโกรฟเฮ้าส์ แล้วก็มีท่านผู้อ่านท่านหนึ่งติดต่อมาว่า

     “คุณหมอคะ หนูมีขอมดำดินจะขายให้คุณหมอสนใจไหม” ผมถามว่า

     “คุณไปเอามาจากไหน” 

     “จากเวียดนาม” ผมค้านว่า

     “เวียดนามเขาไม่รู้จักขอมดำดินหรอกคุณ เพราะเวียตนามไม่มีพระร่วง” เธออธิบายว่า

     “หนูสั่งให้เขาทำให้ เพื่อส่งไปขายเยอรมัน”

     หลังจากสอบถามเรื่องราคาแล้ว มันเป็นหลักพัน ซึ่งผมถือว่ายอมรับได้ จึงตกลงซื้อและนัดหมายให้เอาไปส่งให้ที่บ้านโกรฟเฮ้าส์มวกเหล็ก พอถึงเวลาส่งของ ลูกน้องของเธอซึ่งเป็นเด็กผู้ชายเอาของมาส่งแทน เขาบอกว่า

     “มันพ่นน้ำได้ด้วยนะครับ คุณลุงจะให้ผมติดตั้งให้เลยไหม” ผมบ่นงึมงัมแบบตาแก่ว่า

     “เฮ้ย ไม่ต้อง ขอมดำดินบ้าอะไรกันพ่นน้ำด้วย แล้วคนสมัยนี้เป็นอะไรกันนะ เอะอะก็จะต้องทำน้ำพุหรือพ่นน้ำ ไม่พ่นออกข้างบนก็พ่นออกข้างล่าง..ลิเกชะมัด” 

     ปรากฏว่าขอมนี้จะให้ดำดินก็ได้ จะให้ดำน้ำก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะใส่ดินหรือน้ำลงไป เนื่องจากเขาออกแบบมาให้ใส่น้ำ ผมจึงลองใส่น้ำดูก่อนว่าจะเข้าท่าไหม ใส่น้ำไป ขุดดินกลบไป ดินกระเด็นใส่หน้าท่านขอมบ้าง กระเด็นใส่น้ำบ้าง จนขอมกระมอมกระแมมเหมือนขอมดำดินจริงๆ ผมถ่ายรูปมาให้ดูด้วย ถ้าคุณไปแอ่วบ้านโกรฟเฮ้าส์อย่าลืมแวะเยี่ยมคุณขอมดำดินเขาด้วยนะครับ เขาอยู่ใต้ต้นข่อยระหว่างบ้านกับบึงน้ำ

     หยุดโม้ไร้สาระมาตอบจดหมายของท่านผู้อ่านสักหนึ่งฉบับดีกว่า

…………………………………………….

คุณหมอสันต์คะ

           ขออนุญาตแทนตัวเองว่าหนูนะคะ เนื่องด้วยคุณแม่หนูปัจจุบันอายุ 78 ปี ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ น่าจะอยู่ในช่วงแรกของโรคเพราะท่านแค่ลืมเรื่องในปัจจุบันแต่เรื่องในอดีตยังพอจำได้อยู่ ใช้ชีวิตทั่วไปตามปกติคนอื่นที่ไม่ค่อยสนิทก็ไม่ทราบว่าท่านป่วย ปัญหาคือเดิมพื้นฐานนิสัยของท่านเป็นคนดื้อรั้นไม่ค่อยฟังใครอยู่แล้ว พอมาป่วยเป็นโรคนี้ทำให้ปัญหาด้านอารมณ์ท่านยิ่งไปกันใหญ่ เราพูดอะไรก็ไม่ฟังเลยถ้าท่านไม่ถูกใจ ใช้ชีวิตร่วมกับคนภายนอกลำบาก ถ้าเป็นคนไม่รู้จักพูดจาไม่เข้าหูท่าน(ซึ่งจริงๆท่านเป็นคนเริ่มก่อน)ก็เป็นเรื่องเลยค่ะ ส่วนหนูลาออกจากงานเพราะท่านไม่ยอมให้เราหาคนมาดูแล หนูไม่รู้จะทำอย่างไรเลยเลยต้องเลือกท่านเป็นอันดับแรกเพราะท่านจะลืม ปิดน้ำ ปิดไฟ ปิดแก๊ส ไม่ทุกครั้งแต่บ่อยค่ะ มันเป็นปัญหาที่หนูหาทางออกไม่ได้ หนูอยากทำงานท่านไม่ได้ห้าม แต่ด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นท่านอยู่คนเดียวไม่ได้ และปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นกับหนูคือท่านทำทุกอย่างเหมือนหนูเป็นลูกเล็กๆ ถ้าหนูไม่ทำตามหรือขัดใจท่านๆก็หาว่าทำดีไม่ได้ดี หนูไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะเครียดจริงๆ หนูเข้าใจกับสิ่งที่ท่านเป็น แต่มันกระทบกับชีวิตส่วนตัวเราสูงมาก และท่านไม่ยอมให้คนอื่นมาดูแล หนูเหมือนวิ่งอยู่กับปัญหาวงกลมไม่มีทางออก คือในรายละเอียดค่อนข้างจะมากแต่คราวนี้ที่หนูเขียนมาเรียนปรึกษา เพราะทุกวันนี้หนูใช้ธรรมะมาเป็นที่ตั้งในการใช้ชีวิต ไม่เช่นนั้นหนูคงมีอารมณ์กับท่านแน่ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคนอื่นๆรอบข้างไม่มีใครรับมือแล้วเพราะทนไม่ไหว หนูยอมรับว่าปล่อยใจแล้วไม่ใช่ว่าไม่ห่วงท่าน แต่ถ้าบังคับท่านอาการยิ่งไปกันใหญ่ เลยไม่ห้ามแล้วกับสิ่งที่ท่านทำ แค่ตามเก็บกับสิ่งที่เกิดขึ้นค่ะ ไม่ทราบว่าคุณหมอเคยมีคนไข้ที่ป่วยแล้วระดับของโรคยังไม่รุนแรงแต่มีนิสัยพื้นฐานดื้อมากๆกับคนที่ดูแลตัวคนไข้ไหมคะ เพราะแม่หนูกับคุณหมอหรือคนรอบข้างจะอะไรก็ได้ ง่ายกว่าหนูเยอะเพราะไม่ใช่ลูก พอมาเป็นหนูคุณแม่จัดเต็มค่ะ เรียนรบกวนคุณหมอด้วยนะคะ
ด้วยความนับถือ

…………………………….

ตอบครับ

    พูดถึงคนแก่ขี้ลืม ทำให้ผมนึกถึงโจ๊กฝรั่งที่ผมได้ยินจากใครที่ไหนมานานแล้วจำไม่ได้ เรื่องมีอยู่ว่าสองตายายรู้สึกเดือดร้อนกับชีวิตสมรสที่มีแต่ความขี้ลืมจนทนกันต่อไปไม่ไหวแล้ว จึงพากันไปหาหมอ หมอก็แนะนำให้จดทุกอย่างที่คิดจะทำไว้ทันที แล้วควักออกมาอ่านเมื่อถึงเวลา สองตายายก็รับปากรับคำกับหมอโดยดี พอกลับมาถึงบ้านคุณยายก็หาเรื่องให้คุณตาเริ่มต้นทำตามที่หมอสั่ง โดยบอกคุณตาว่า

      “คุณช่วยทำไอศครีมกล้วยให้ฉันหน่อยสิ คุณจดไว้ก่อนก็ดีนะ” คุณตาตอบว่า

     “ไม่ต้อง..ง ผมจำได้ คุณอยากได้ไอศครีมกล้วย” คุณยายไม่ลดละ พยายามอีกว่า

     “ฉันอยากได้ไอศครีมกล้วยราดชอกโกแลต คุณจดไว้หน่อยก็ดีนะ” คุณตาตอบว่า

     “ไม่ต้อง..ง ผมจำได้ คุณอยากได้ไอศครีมกล้วยราดชอกโกแลต” คุณยายไม่ลดละ พยายามอีกว่า

     “ฉันอยากได้ไอศครีมกล้วยราดชอกโกแลตท้อปด้วยลูกเชอรี่ คุณจดไว้หน่อยก็ดีนะ” คุณตาตอบว่า

     “ไม่ต้อง..ง ผมจำได้ คุณอยากได้ไอศครีมกล้วยราดชอกโกแลตท้อปด้วยลูกเชอรี่” คราวนี้คุณยายเงียบ

     แล้วคุณตาก็หายเข้าไปในครัวครึ่งชั่วโมง แล้วกลับออกมาพร้อมกับนำขนมปังและไข่ดาวมาเสริฟให้ภรรยา

     “ได้แล้วที่รัก ตามที่คุณต้องการ” คุณยายก้มลงมองอาหาร แล้วก็มองเห็นช่องที่จะอบรมคุณตา จึงขึ้นเสียงเขียวว่า

     “แล้วไส้กรอกทอดที่ฉันจะเอาด้วยละ อยู่ที่ไหนงะ?”

     (แคว่ก แคว่ก แคว่ก ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น)

     ขออภัย นอกเรื่อง ตอบคำถามดีกว่า

     1.. ถามว่าหมอสันต์มีคนไข้แก่ๆที่ดื้อกับผู้ดูแลไหม ตอบว่ามีเพียบ..บ หรือมีมาก..ส์ เติมเอสด้วยนะครับ แปลว่ามีหลายคน ของคุณยังดีนะที่เจอแต่ลูกดื้อ คนไข้ของผมบางคนเจอลูกประท้วงสำแดงพลังด้วย แบบว่าแอบฉี่หรืออึที่มุมห้องแล้วเอาพรมปิดไว้เพื่อแกล้งลูก กว่าลูกจะค้นพบก็เหม็นโฉ่ไปทั้งบ้านแล้ว ดังนั้นอย่ากระต๊ากมากไปเลย ของคุณนะยัง จิ๊บ จิ๊บ แล้วการที่คุณต้องมาดูแลคุณแม่หนึ่งคนเนี่ย ก็ขอให้คิดเสียว่ายังดีกว่าที่เมืองจีนนะครับ ที่เมืองจีนปัจจุบันนี้เขาตกอยู่ในสูตร “สองดูแลสี่” คือคนจีนรุ่นคุณนี้สองคนกับคู่สมรส เขาต้องดูแลพ่อแม่ถึงสี่คน เพราะนโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาลจีนทำให้คนจีนรุ่นคุณไม่มีพี่น้อง ต้องเหมาหมดทั้งพ่อแม่ตัวเองและพ่อแม่สามี สาหัสกว่าคุณแยะ

     2. ถามว่าในชีพที่ย่ำแย่เหมือนกับหนูที่วิ่งอยู่ในวงกลมไม่มีทางออกนี้ จะทำอย่างไรดี โห.. คำถามนี้มันกว้างขวางครอบคลุมถึงการเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ (cargiver) ในภาพใหญ่เลยนะ ผมตอบคำถามให้คุณได้ แต่คุณต้องอดทนอ่านนะให้จบ เพราะการเป็นผู้ดูแลนี้มันเป็นเรื่องใหญ่ มีประเด็นมาก..โปรดสดับ

    ประเด็นที่ 1. ปัญหาของการเป็นผู้ดูแลนี้ มันเป็นปัญหาเส้นผมบังภูเขา คือถ้าไม่มีอะไรบังภาพภูเขา ใครก็ตามที่มีโอกาส มีวันเวลาได้ทำสิ่งดีๆให้คนที่ตัวเธอเองรักมาก มันต้องเป็นวันเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของเธอคนนั้นถูกไหม แต่พอมีเส้นผมมาบัง วันเวลาที่ได้อยู่ดูแลคนที่เรารักกลับกลายเป็นวันเวลาที่เรามีแต่ความทุกข์ระทมขมขื่นไปเสียฉิบ เนี่ย มันเป็นยังงี้ซะด้วยนะคะท่านสารวัตร! ดังนั้นคุณต้องหาเส้นผมที่บังนี้ให้เจอ และเอามันออกให้ได้ เส้นที่ผมที่ว่านี้คืออะไร คุณค่อยๆอ่านไปนะ

     ประเด็นที่ 2. อะไรคือความรับผิดชอบหลักของผู้ดูแล คุณอาจสรุปล่วงหน้าในใจจากสามัญสำนึกว่าความรับผิดชอบหลักของคุณคือดูแลคุณแม่ซึ่งเป็นคนป่วยให้ดีที่สุด แต่นั่นไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง นั่นเป็นคำตอบที่ผิด ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น คุณกำลังเข้าใจผิดแล้ว ที่ถูกต้องคือความรับผิดชอบหลักของคุณคือตัวคุณเอง ไม่ใช่คนป่วยที่คุณดูแล ประเด็นนี้สำคัญ คุณจะต้องรับผิดชอบดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของตัวเองให้ได้ดีก่อน แล้วคุณแม่ของคุณจึงจะได้สิ่งดีๆตาม ถ้าคุณเข้าใจประเด็นนี้ผิดจะพากันฉิบ..เอ๊ย ขอโทษ จะพากันเจ๊งหมด ตัวคุณจะเจ๊งก่อน ตัวคุณแม่ซึ่งเป็นคนป่วยที่คุณดูแลจะเจ๊งตาม ยังนี้เรียกว่าฉิบ..เอ๊ย ไม่ใช่ เรียกว่าเจ๊งกันหมดไหมละ

     สหพันธ์ผู้ดูแลผู้ป่วยในครอบครัวและศูนย์ผู้ดูแลแห่งชาติอเมริกัน ได้รวบรวมหลักฐานซึ่งยืนยันได้ว่าผู้ดูแลผู้ป่วยในครอบครัว (cargiver) เป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการสูญเสียสุขภาพกายและสุขภาพจิต รวมถึงการมีโอกาสเป็นความดันเลือดสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจ สูงกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ cargiver ยังมีอัตราการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และใช้ยาเสพย์ติดอื่นๆเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นผมจะไม่แปลกใจเลยหากคุณเขียนจดหมายมาช้ากว่านี้สักปีสองปีแล้วถามผมว่าคุณหมอคะ หนูติดยาไปเรียบร้อยแล้ว ถ้ำกระบอกอยู่ทางไหนคะ

     ดังนั้น เพื่อให้คุณแม่ของคุณได้สิ่งที่ดีที่สุด คุณต้องมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีก่อน นั่นหมายความว่าคุณต้องจัดเวลาดูแลตัวเองอย่างน้อยวันละ 1-2 ชั่วโมงให้ได้ก่อน ในเวลาเหล่านี้คุณก็ใช้มันไปกับการออกกำลังกาย การทำอาหารที่มีประโยชน์ทาน การจัดการความเครียดด้วยเทคนิคอะไรก็ได้ที่คุณชอบ รวมไปถึงการเบรคออกไปหาอะไรที่ผ่อนคลายหรือรื่นเริงบันเทิงใจทำ เพื่อให้ตัวคุณเองอยู่ในสภาพที่มีพลังอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นการเห็นแก่ตัว แต่เป็นความฉลาดในการทำหน้าที่ผู้ดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นแก่นกลางของหลักวิชาการเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ

     ประเด็นที่ 3. อย่าเข้าใจชีวิตผิดไป การเป็นผู้ดูแลคุณต้องอยู่ในโลกของความเป็นจริง ว่าอะไรคุณดลบันดาลได้ อะไรคุณดลบันดาลไม่ได้

     การที่คุณแม่ต้องกลายเป็นหญิงแก่ขี้หลงขี้ลืมและดื้อรั้นราวกับเด็กไม่รู้ภาษาคนนั้น เป็นอะไรที่เกินความสามารถของคุณจะไปดลบันดาลอะไรได้

     แต่ในสถานะการณ์ที่คุณแม่กำลังทำตัวเหลวไหลหรือใช้วาจาที่โหดร้ายกับคุณอยู่นั้น คุณจะรับรู้มันอย่างไร แล้วจะสนองตอบต่อสถานการณ์นั้นอย่างไร อันนี้เป็นเขตอำนาจที่คุณกำหนดหรือดลบันดาลได้ ถ้าคุณรับรู้เฉยๆ อย่างเข้าใจว่าเออหนอชีวิต ที่เขาว่าคนแก่ก็เหมือนเด็ก มันเป็นอย่างนี้นี่เอง โดยไม่คิดใส่สีตีไข่ใส่อารมณ์โศกสลดรันทดหรืออกหักรักคุดเข้าไป คุณก็ไปสวรรค์ แต่ถ้าคุณจับเอากริยาและวาจาเกรี้ยวกราดของแม่มาใส่สีตีไข่ใส่อารมณ์หรือหวนนึกย้อนไปถึงอดีตอันคับแค้นน้อยเนื้อต่ำใจในฐานะลูกที่ท่านไม่โปรดแล้วกุความรู้สึกโศกสลดรันทดหรือคับแค้นขึ้นมาในใจไปกันใหญ่โต คุณก็ไปนรก สาระหลักของชีวิตมันก็มีเท่านี้แหละโยม

     ประเด็นที่ 4. นี่เป็นการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่งร้อยเมตร สองอย่างนี้การเตรียมตัวไม่เหมือนกันนะคุณ สมัยหนุ่มๆไปสอบเข้าแม่โจ้ ผมต้องสอบวิ่งจากสถานีรถไฟเชียงใหม่ไปตามถนนเส้นเก่าทางสันทรายไปแม่โจ้เป็นระยะทาง 18 กม. ถ้าใครไปถึงช้าก็แสดงว่าเป็นคนหยองกอดจะขุดดินฟันหญ้าไม่ไหวถึงจะฉลาดอย่างไรครูเขาก็จะให้สอบตก การวิ่งมาราธอนกับการวิ่งร้อยเมตรเตรียมตัวไม่เหมือนกัน นักวิ่งมาราธอนเข้าสู่การแข่งขันโดยกำหนดจังหวะจะโคนในการวิ่ง และเตรียมอุปกรณ์และตัวช่วยเช่นน้ำดื่ม ผ้าเช็ดเหงื่อ หรือสิ่งอื่นๆที่ต้องใช้ในระหว่างทางไปด้วยให้พร้อมตั้งแต่ก่อนออกวิ่ง งานดูแลผู้ป่วยเรื้อรังเหมือนการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่งร้อยเมตร แต่หลายคนที่เข้ารับงานนี้แบบงานวิ่งร้อยเมตร คือลุยอย่างบ้าดีเดือด แล้วก็หมดแรงพังพาบไปในเวลาอันรวดเร็ว เจ๊งกะบ๊งกันไปหมดทั้งผู้ดูแลและผู้ถูกดูแล  ดังนั้นให้คุณถอยกลับมามองงานของคุณใหม่ ว่าคุณจะวิ่งมาราธอน คุณต้องเตรียมอะไรบ้าง ตัวช่วยเรื่องไหนมีใครบ้าง วางจังหวะก้าวให้ดี และยอมรับความจริงว่าเราอาจจะต้องการความช่วยเหลือในระหว่างทาง ยิ่งคุณเข้าใจจังหวะก้าวย่างและเสาะหาความช่วยเหลือภายนอกได้เก่งเท่าใด ก็ยิ่งจะดีกับคุณแม่ซึ่งคุณรักมากเท่านั้น อีกประการหนึ่งการวิ่งมาราธอนต้องมีการผ่อนหรือพัก คุณต้องจัดเวลาและสถานที่ให้คุณได้อยู่กับตัวเอง สิ่งนี้คุณต้องจงใจทำให้ได้ทุกวัน อาจจะเป็นเรื่องง่ายๆเช่นเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์คนเดียวสักสิบนาที หาเวลาออกไปเดินเล่น 10 – 15 นาที วันละสักสองครั้ง แม้ว่าจะเป็นแค่การเดินรอบๆสนามในบ้านก็ตาม เลือกมุมใดมุมหนึ่งในบ้านที่เป็น “มุมสงบ” ของคุณเอง เป็นมุมที่คุณจะหลบไปนั่งหายใจเข้าออกลึกๆสักหลายๆที หรือหลับตาพริ้มเพื่อพัก หรืออ่านหนังสือ สวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังดนตรี ร้องเพลง เขียนบันทึก คุยกับเพื่อนทางโทรศัพท์ หรือแค่พักเงียบๆไม่ทำอะไรเลยสักสองสามนาที จัดตาราง “เวลานอก” สำหรับตัวคุณเอง เลือกเวลาที่ปกติคุณแม่มักจะนอนหลับ ทานอาหาร ดูทีวี. ไม่ต้องไปสนหากคุณแม่เรียกร้องหาคุณในช่วงเวลานี้บ้าง แต่ในที่สุดท่านก็จะค่อยๆคุ้นเคยไปเองว่านี่เป็นเวลาส่วนตัวของคุณไม่ว่าท่านจะพูดอะไรคุณก็ต้องไปทำเรื่องส่วนตัวของคุณอยู่ดี ถ้าคุณไม่รู้จักการจัด time out หรือเวลานอก ความคับข้องใจจะสะสมจนถึงระดับเดือดพล่านจนระเบิดปุ้ง..ง ในที่สุด เจ๊งกันหมดเช่นกัน

     ประเด็นที่ 5. การเป็นผู้ดูแล คือการบริหารความช่วยเหลือ ถ้าคุณไม่รู้จักเสาะหา (reach out) ความช่วยเหลือจากข้างนอกเลย แสดงว่าคุณเป็นผู้แลที่ไร้เดียงสา การเป็นผู้ดูแลที่ดีจำเป็นต้องสื่อสารกับผู้คนจำนวนมากเพื่อความอยู่รอดของเราเอง คุณต้องเชื่อมโยงกับพี่น้อง ญาติ เพื่อน กับคุณแม่เองซึ่งเป็นคนป่วยคุณก็ต้องมีเทคนิคที่จะสื่อสารกับท่าน เพราะท่านไม่ได้เป็นคนเดิมที่คิดอ่านและตัดสินใจได้อย่างเดิมแล้ว ต้องพยายามไป ลองไป เรียนรู้ไป ต้องตั้งสติให้ดี ใจเย็นๆ เป็นคนกระจ่างชัดว่าตัวคุณเองต้องการอะไร จริงใจ และอดทน หัดสื่อสารโดยเอาความกังวลของเราเป็นตัวตั้ง ( I message) อย่าสื่อสารโดยเอาการตำหนิผู้อื่นเป็นตัวตั้ง (You message) อย่างเช่นบอกว่า “หนูรู้สึกโกรธ” ก็ดีกว่าจะพูดว่า “แม่ทำให้หนูโกรธ” พูดง่ายๆว่าหัดบอกความรู้สึกของคุณออกไปโดยไม่ตำหนิใคร จะได้ไม่ไปกระตุ้นให้คนอื่นตั้งป้อมป้องกันตัวเอง อันจะทำให้เราถูกโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น พูดกับคนที่เราอยากจะส่งข่าวถึงตรงๆ อย่าพูดผ่านคนอื่น อย่าคาดหมายว่าเขาจะเดาใจเราออก ไม่มีใครเป็นนักเดาใจคน จริงอยู่เมื่อคุณบอกออกไปตรงๆว่าคุณต้องการอะไรหรือรู้สึกอย่างไร มันอาจมีความเสี่ยงที่คนอื่นเขาจะไม่เห็นด้วยอยู่บ้าง แต่การพูดของเรายังอยู่ในขอบเขตเคารพความเห็นของคนอื่น เมื่อทั้งสองฝ่ายได้พูดออกมาอย่างตรงไปตรงมา โอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะเข้าใจกันก็มีมากขึ้น อย่าลืมว่าเราต้องเป็นคนฟังที่ดีด้วย เพราะการฟังเป็นส่วนสำคัญที่สุดของการสื่อสาร ถ้าพูดครั้งแรกแล้วไม่ได้ผล ลองพยายามอีกครั้ง อาจจะเป็นอีกเวลาหนึ่งหลังจากนั้น เพราะบางครั้งอาจจะไม่ใช่เวลาที่เหมาะสำหรับสื่อสารบางเรื่อง ในส่วนของเพื่อน อย่าลืมว่าคุณยังต้องการเพื่อน อย่าปิดกั้นตัวเอง อย่างน้อยคุณก็ยังต้องการกำลังใจจากพวกเขา และการเชื่อมโยงกับเพื่อนยังทำให้คุณสามารถใช้ชีวิตปกติของคุณต่อไปได้

     ประเด็นที่ 6. ต้องเฝ้าระวังภัยเงียบด้วย ภัยเงียบสำหรับผู้ดูแลคือภาวะซึมเศร้า (depression) ซึ่งมักจะเข้ามาครอบงำเราโดยที่เราไม่รู้ตัว แต่ถ้าสังเกตตัวเองให้ดี เราก็พอมองออกว่าเจ้าความซึมเศร้านี้มาเยือนเราแล้วหรือยัง อาการของภาวะซึมเศร้าเริ่มจากการเลิกสนใจสิ่งรื่นเริงบันเทิงใจใดๆในชีวิต รู้สึก “จิตตก” แย่ สิ้นหวัง นอนไม่หลับ หรือหลับมากเกิน เหนื่อย ขาดพลัง เบื่ออาหาร หรือกินทุกอย่างที่ขวางหน้า รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง รู้สึกผิด ร้องไห้บ่อย ตั้งสมาธิจดจ่ออะไรไม่ค่อยได้ เคลื่อนไหวหรือพูดน้อยลง ช้าลง คิดกังวลฟุ้งสร้านสารพัด ถ้าหนักหน่อยก็จะคิดไปถึงการทำร้ายตนเอง หรือคิดอยากตาย เรื่องนี้เราอย่าลงลึกเลยนะ เพราะมันยังไม่เกิดขึ้น เอาเป็นว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณอาการหนักถึงขั้นนี้ค่อยเขียนจดหมายมาอีกทีก็แล้วกัน  (หิ หิ พูดเล่น)

     ว่าจะจบแล้วนะ แต่ขอแถมอีกนิด คือสมาคมผู้ดูแลอเมริกัน ได้ให้ข้อคิดเตือนสติผู้ดูแลไว้หลายข้อ ซึ่งผมขอตัดมา 8 ข้อที่เห็นว่าจะมีประโยชน์สำหรับคุณ ว่า

1. เลือกที่จะเป็นผู้บงการชีวิตของคุณเอง อย่าให้การเจ็บป่วยของคนที่คุณรักมาบงการชีวิตของคุณ
2. อย่าลืมดีกับตัวเองด้วย รัก ให้เกียรติ ยกย่อง ปลื้มในสิ่งที่ตัวเองทำบ้าง คุณกำลังทำงานที่ยากและควรได้รับการยกย่อง
3. การ “ดูแล” เป็นคนละเรื่องกับการ “ลงมือทำ” เปิดใจให้กว้างไว้สำหรับเทคโนโลยีหรือความคิดใหม่ที่จะช่วยให้คนป่วยที่คุณรักช่วยตัวเองได้ แม้จะโดยไม่มีคุณก็ตาม
4. เสาะหาการช่วยเหลือจากผู้ดูแลคนป่วยด้วยกัน การได้รู้ว่าเราไม่ได้เป็นคนเดียวที่เผชิญภาระนี้อยู่ ช่วยเพิ่มพลังเราได้มาก
5. คงใช้ชีวิตบางด้านของตนเองที่เป็นความรื่นเริงบันเทิงใจโดยไม่มีคนป่วยอยู่ด้วย เหมือนเมื่อครั้งยังไม่มีใครป่วย
6. อาจจะหงุดหงิดฉุนเฉียวหรือโกรธได้บ้าง เหงาบ้าง เศร้าบ้าง อารมณ์เสียบ้าง เป็นของธรรมดา
7. เพิกเฉยต่อความพยายามของคนป่วยที่จะกดดันผู้ดูแลเสียบ้าง เพราะหากเอาแต่ใส่ใจมากเกินไป จะกลายเป็นเรากดดันตัวเราเอง ซึ่งจะตามมาด้วยความรู้สึกผิด หรือโกรธ หรือซึมเศร้า แล้วจะพาลเจ๊งกันหมด
8. ปกป้องความเป็นตัวของตัวเองและสิทธิที่จะใช้ชีวิตส่วนตัวของตัวเองไว้ เผื่อว่าวันหนึ่งคนป่วยที่ตนรักไม่ได้ต้องการการดูแลเต็มเวลาจากตนอีกต่อไปแล้ว ตนเองจะยังสามารถเดินหน้ากับชีวิตตนเองต่อไปได้

     จบละนะ อ้าว เดี๋ยว ยังไม่จบ อันนี้เป็นของผมเองนะ ไม่ได้มาจากตำราไหน พลังที่จะทำให้การทำงานผู้ดูแลไปได้ตลอดรอดฝั่งคือพลังเมตตา ผมไม่อยากเรียกว่าเป็นความกตัญญูเพราะนี่ไม่้่ใช่การฝืนใจทำอะไรเพื่อใช้หนี้ แต่ผมอยากจะเรียกว่าเป็นเมตตาธรรมมากกว่า ครั้งหนึ่งคุณเคยเป็นเด็กน้อยที่น่าสงสารในอ้อมแขนของคุณแม่ คราวนี้คุณแม่เป็นเด็กน้อยที่น่าสงสารในอ้อมแขนของคุณ คุณแม่ตอนนี้ท่านไม่เหลืออะไรแล้ว เหลือแต่ความหวังรืบหรี่ว่าจะได้รับเมตตาธรรมจากคุณ เหมือนกลอนบทหนึ่ง ผมเข้าใจว่าสุนทรภู่เป็นคนเขียนมัง ที่อ่านแล้วนึกถึงแววตาของคุณแม่ของคุณได้เลย

     “..ยามแก่เฒ่า หวังเจ้า เฝ้ารับใช้

ยามป่วยไข้ หวังเจ้า เฝ้ารักษา

เมื่อถึงยาม ต้องตาย วายชีวา

หวังลูกช่วย ปิดตา เมื่อสิ้นใจ…”

     กล่าวโดยสรุป ถ้าคุณไม่ดูแลท่าน แล้วลิง..เอ๊ย ไม่ใช่ แล้วใครที่ไหนจะมาดูแลท่านละครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์