Latest

ด่านแรกของกระบวนการสร้างศัลยแพทย์

สวัสดีครับอาจารย์สันต์

ผมเริ่มมาติดตามบล็อกอาจารย์สักพัก เห็นว่ามีบางช่วงก็มาตอบปัญหาสุขภาพจิตของบรรดาแพทย์ ช่วงนั้นก็คิดว่าจะปรึกษาดีไหม แต่ลองปล่อยๆเวลาดูสักพัก เผื่อจะมีอะไรดีขึ้นหรืออะไรเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
เริ่มเลยผมเป็น resident ปี 1 ของศัลยกรรมทั่วไปของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งครับนี่ก็ผ่านไปแล้ว 8 เดือน ที่เลือกมาเรียนเพราะชอบในศาสตร รู้สึกเข้าใจง่าย ตัวเองก็พอจะมั่นใจในการทำหัตถการพอใช้ได้ระดับหนึ่ง รวมกับความเป็นศิลปะในวิชา แต่ประสบการการผ่านศัลยกรรมในช่วงเป็นนักเรียนแพทย์กับเรสิเด้นรู้สึกมันต่างกันเลยครับ มันมีความเหนื่อยในงานอะไรต่างๆบางอย่างก็เสียเวลามากโดยใช่เหตุกว่าเรสิเด้นอื่นๆ บรรยากาศก็ค่อนข้างแย่กว่าตอนผมไปวนนอกหน่วยต่างๆ เช่นออโถ พลาสติกหรือขนาด cvt รู้สึกบรรยากาศการทำงานมันดีกว่ามาก พี่ๆทำงานง่าย อาจจะเป็นเพราะว่าผมเป็นคนนอกเค้าอาจจะไม่เอาอะไรมาก ตอนแรกๆก็หดหู่ไม่อยากทำอะไรเลย เค้าว่าผ่านไปได้ 100 วันจะดีขึ้น มันก็ดีขึ้นนะ จนถึงตอนนี้ก็เริ่มชินแล้ว แต่พึ่งมาเจอเรื่องกระทบใจ รู้สึกเป็นเรื่องงี่เง่าๆของชีฟเด้น หลายๆสิ่ง จริงๆเหนื่อยกายมันก็พอไหว แต่เหนื่อยใจบางทีมันท้อเหมือนกันครับ ทุกวันนี้ผมพาลคิดไปว่าทำไมมันน่าเบื่ออย่างนี้ อีกหน่อยเป็นชีฟไม่ยิ่งกว่านี้หรอ แก่ตัว อายุ 59 แล้วตัองเจอตามในเวรตอนตี 4 อีกหรอ จะมัวเสียเวลาอยู่ตรงนี้ทำไมยอมแพ้ออกไปดีกว่าไหม อีก 3 ปีมันช่างยาวนาน เพื่อนๆออกไปเอกชนไปสกินรวยไปแล้ว แต่ว่าในเวรเวลามีแอพเพนดิกให้ทำผมก็ยังรู้สึกสนุกอยู่บ้างครับถ้าไม่ต้องมาคิดเรื่องพวกนี้
สรุปถึงตอนนี้ผมโทษระบบครับ ที่ไม่ตรงกับlifestyle ทั้งๆที่ชอบในศาสตร์ เรื่องคนบ้าง แต่คนก็คงเป็นไปเพราะระบบจัดเอาไว้อย่างเบียดเสียด ไม่รู้จักอลุ่มอล่อย่างมีเหตุผล ซึ่งผมคงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ก็คงต้องย้อนกลับมาเปลี่ยนตัวเองให้อยู่กับมันให้ได้ หรือจากไปอย่างสงบ ซึ่งยากมากที่จะเลือกเพราะถ้าจากไปก็ไม่รู้จะไปเรียนอย่างอื่นก็คงยากไหนจะเรื่องหนี้อีก แต่อยู่ต่อไปมันก็คือชีวิตทั้งชีวิต ในตอนนีเองก็ยังมีแรงก็อยากจะทำประโยชน์ก่อน แต่ก็กลัวว่าตอนหมดแรงแล้วเราจะไม่เหลืออะไรเลยทั้งสุขภาพทั้งเงิน
อยากปรึกษาอาจารย์ดูเห็นว่าอาจารย์เองก็เป็นศัลยแพทย์ โดยเฉพาะเป็น cvt อีก แต่เห็นอาจารย์เปลี่ยนแนวกระทันหัน ไม่รู้ว่าผมต้องรอจนวันนั้นเหมือนอาจารย์ก่อนไหมแล้วค่อยเปลี่ยนแนว เวลาผมปรึกษาเพื่อนๆส่วนมากก็จะเป็นเพื่อนต่างแผนกเค้าก็ให้คำแนะนำได้แต่เหมือนไม่ตรงเป้าเท่าไหร่แต่ละคนก็ตอบในแนวตัวเองเหมือนเค้าไม่ได้เจอด้วยกะตัวเองส่วนเพื่อนในภาคนี่ ผมไม่กล้าเลยจะปรึกษาครับถ้ามีข่าวหลุดว่าเราจะออกนี่เรื่องใหญ่ทุกคนจะรุมรักรุมรั้งไว้เกินเหตุ5555
ขอบคุณครับ
……………………………………………

ตอบครับ

     ก่อนตอบคำถามคุณหมอ ผมขอนิยามศัพท์เพื่อให้ท่านผู้อ่านประจำของบล็อกนี้อ่านบทความนี้แบบรู้เรื่องรู้ราวไปด้วย มิฉะนั้นจะถูกประท้วงว่าไหนว่าบล็อกนี้มีไว้เป็นคู่หูสุขภาพของคนแก่ แต่ทำไมเอาอะไรก็ไม่รู้ที่อ่านไม่รู้เรื่องมาลง

     เรสิเด้นท์ (resident) แปลว่าแพทย์ประจำบ้าน หมายถึงแพทย์ที่เรียนจบหลักสูตรแพทย์ (พบ.)แล้ว ไปทำงานเป็นแพทย์ทั่วไปตามบ้านนอกคอกนามาแล้ว (ส่วนใหญ่ 2-3 ปี) แล้วมาเข้าทำงานเป็นหมอประจำแผนก ในโรงเรียนแพทย์ นานประมาณ 3-5 ปี ในคำว่าแพทย์ประจำบ้าน “บ้าน” ในที่นี้ก็คือ “แผนก” หรือ “วอร์ด” หรือ “ตึก” ที่มีคนป่วยด้วยโรคในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งเพียงสาขาเดียวนอนเรียงอยู่เป็นตับ ในกรณีของคุณหมอท่านนี้ก็คือสาขาศัลยกรรมทั่วไป จะเห็นว่าโดยชื่อเรียกตำแหน่งแล้ว ต้นกำเนิดของอาชีพนี้เขาคาดหมายว่าเจ้าไม่ต้องออกไปไหน กิน นอน ขับถ่าย อยู่ใน “บ้าน” นั่นแหละ เรียกใช้เมื่อไหร่ ก็ให้โผล่ศีรษะมาได้เมื่อนั้น
     ออโถ (orthopedic) หมายถึงสาขาศัลยกรรมกระดูก
     พลาสติก (plastic & reconstructive surgery) หมายถึงสาขาศัลยกรรมตกแต่ง
     CVT (cardio vascular & thoracic surgery) หมายถึงสาขาศัลยกรรมหัวใจหลอดเลือดและทรวงอก
     สกิน (skin หรือ dermatology) หมายถึงการทำเวชปฏิบัติในสาขาโรคผิวหนัง ซึ่งมักจะรวมไปถึงการทำคลินิกเพื่อความสวยความงามด้วย
     ชีฟเด้น (chief resident) หมายถึงหัวหน้าแพทย์ประจำบ้าน ซึ่งเป็นแพทย์ประจำบ้านปีสุดท้ายก่อนจบซึ่งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการดูแลคนไข้ในแผนกทั้งมวลภายใต้การกำกับของอาจารย์ ปกฺติความรับผิดชอบของชีฟเรสิเด้นท์จะรวมไปถึงการเป็นผู้ช่วยหรือเป็นหูเป็นตาแทนอาจารย์ในการฝึกสอนอบรมสั่งสอนให้เรสิเด้นท์รุ่นน้องๆได้เติบโตไปเป็นศัลยแพทย์ที่ดีด้วย
     แอพเพนดิก (appendix)  แปลว่าไส้ติ่ง แต่ในที่นี้หมายถึงไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งเป็นจ๊อบของแพทย์ประจำบ้านน้องใหม่ปีที่ 1. ต้องเข้าไปจัดการผ่าตัดแก้ไข
     เด้นท์เม็ด (medical resident) แปลว่าแพทย์ประจำบ้านสาขาอายุรกรรม

เอาละทีนี้เรามาคุยกันถึงปัญหาของคุณหมอ

     ก่อนอื่น เมื่อคุณหมอเข้ามาอยู่ “ภายใน” ของโลกศัลยกรรมแล้ว สิ่งแรกที่เราจะต้องเรียนเมื่อไปอยู่ภายในของสังคมไหนก็คือกฎกติกา โดยเฉพาะกฎที่ไม่ได้เขียนเป็นตัวหนังสือของสังคมนั้น ศัลยกรรมมีกฎที่ไม่ได้เขียนอยู่สามข้อ คือ

    กฎข้อที่ 1. ศัลยกรรมเป็นโลกของคนอีโก้สูง ทุกคนเป็นโรค “กูแน่” หรือไม่ก็ระลึกชาติได้ว่าข้านี้เป็นเทวดากลับชาติมาเกิด

     อันนี้ผมพูดถึงตามโลกทัศน์ของคนที่อยู่ข้างในเท่านั้นนะ คนที่อยู่ข้างนอกไม่เกี่ยว คนนอกบางคนอย่างพวกเด้นท์เม็ด เขาถือว่าศัลยกรรมเป็นสังคมของพวก “เจ๊กขายหมู” (butchers) หมายความว่าคนในโลกใบนั้นมีมันสมองและความชำนาญในการใช้มีดแล่หรือเถือเทียบเท่าเจ๊กขายหมู ซึ่งเขาว่าอย่างนั้นก็ช่างเขา เราไม่สน เพราะเขาไม่เกี่ยวอะไรกับปัญหาในหมู่พวกเราที่เราจะคุยกันวันนี้

     ประเด็นของผมคือคนทีอีโก้สูง มิชชั่นหลักในชีวิตของเขาคือการคอยพยุงอีโก้นั้นไว้ไม่ให้ร่วงต่ำหรือถูกตื๊บ การพยุงอีโก้ตัวเองไม่ให้หล่น บางครั้งก็ต้องเหยียบอีโก้ของคนอื่นไว้ หรืออย่างนุ่มนวลที่สุดก็เขย่งอีโก้แข่งกันว่าของใครสูงกว่า ถ้าคุณเข้าใจกลไกพื้นฐานทางจิตอันนี้ คุณก็จะทำใจกับพฤติกรรมของคนในสังคมศัลยกรรมได้ ว่า..อ้อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง

     กฎข้อที่ 2. คนมาใหม่ทุกคนคือควาย จนกว่าเขาหรือเธอจะพิสูจน์ตัวเองได้ว่าไม่ใช่ หมายความว่าแม้จะเจ็บแต่ก็ต้องไม่ร้อง เพราะควายเวลาม้นเจ็บมันจะร้อง โบราณถึงได้มีวลีว่า “ร้องเหมือนควายถูกเชือด” ไง แต่คนที่เจ็บแล้วไม่ร้อง ก็แสดงว่าได้พิสูจน์แล้วว่าตัวเองไม่ใช่ควายในโลกศัลยกรรม

     การถูกตราหน้าว่าเป็นควาย เป็นการบ่อนทำลายความนับถือตัวเอง (self esteem) ของคนเราที่แรงและชงัดมาก การสูญเสียความนับถือตัวเอง นำไปสู่ความรู้สึกถดถอย (regression) และตามติดมาด้วยภาวะซึมเศร้า (depression) แล้วยิ่งมาเกิดกับคนพันธุ์อีโก้สูงซึ่งมิชชั่นในชีวิตคือต้องคอยพยุงอีโก้ของตัวเองไว้ให้สูงทัดเทียมกับระดับที่ตัวเองตั้งสมมุติฐานไว้ โอ้โฮ มันเป็นอะไรที่มีการพยากรณ์โรคแย่มากทีเดียว นี่เป็นด่านแรกของกระบวนการสร้างศัลยแพทย์ซึ่งหลายคนติดด่านนี้แล้วผ่านไปไม่ได้ ผมเองก็เคยติดอยู่ที่ด่านตรงนี้สมัยปีแรกที่ไปเป็นแพทย์ประจำบ้านที่เมืองนอก ผมอาการหนักจนภรรยาต้องไล่ให้ไปเยี่ยมเพื่อนบ้านที่ชื่อริชาร์ด ประเด็นก็คือเจ้าริชาร์ดเนี่ยเป็นจิตแพทย์ หิ..หิ แปลว่าหมอสันต์เองก็เคยบ้ามาแล้ว คุณหมอเอ๊ย

     กฎข้อที่ 3. ถ้าใครคัน..มันต้องเป็นโรค อันนี้เป็นสะแลง หมายถึงว่าถ้าเปรียบวิธีประเมินคนในโลกศัลยกรรมกับการที่สาวเหล่ชายหนุ่ม ขณะที่เหล่กันอยู่นั้น ถ้าชายหนุ่มแสดงความ “คัน” หรือความ “กระสัน” ออกนอกหน้าเกินเหตุ ให้ฝ่ายหญิงระแวงไว้ก่อนว่า..เขากำลังเป็น(กาม)โรค ให้หลบไปไกลๆอย่าไปยุ่งกับเขาเชียว
     คือในโลกศัลยกรรมนี้ ทุกคนต่างดิ้นรนไขว่คว้าหาจังหวะโอกาสที่จะ “ลับ” ฝึมือเชิงศัลยกรรมของตน เพราะมิชชั้นในชีวิตของทุกคนก็คืออยากจะผ่าตัดเก่ง การจะเก่งได้ก็ต้องได้ลับฝีมือมากๆบ่อยๆ ทุกคนที่อยู่ในระหว่างฝึกอบรมจึงล้วน “คัน” และคอยจ้องมองหาโอกาสจะได้ทำผ่าตัดอะไรที่ใหม่ๆยากๆที่ตัวเองยังไม่เคยทำเสมอ แต่ความคันนี้ต้องเก็บงำให้มิดชิด หากเปิดเผยออกนอกหน้าโอกาสจะถูกปิดชึบลงทันที เพราะในโลกใบนี้ ถ้าใครคัน มันต้องเป็นโรค หมายความว่าคนอยากทำผ่าตัดเร็วเกินความรู้และทักษะพี้นฐานที่ตัวเองจะมีพอรองรับได้ จะถูกครูหรือรุ่นพี่ที่มีอำนาจจ่ายเคสหวาดระแวงว่าเจ้าคนนี้น่าจะเป็นตัวทำเรื่องเสียหายกับคนไข้เพราะนิสัยชอบชิงสุกก่อนห่ามของมัน และในที่สุดก็จะได้ทำเคสเป็นคนสุดท้าย หรืออาจจะไม่ได้ทำเลยถ้าความระแวงของรุ่นพี่หรือของอาจารย์มีมาก นี่เป็นกฎข้อที่ 3 ที่ไม่ได้เขียนไว้ของศัลยกรรม

     จบเรื่องกฎหมายเมืองตาหลิ่วแล้ว คราวนี้ลองมาดูคำถามของคุณหมอทีละประเด็นนะ

     1. คุณหมอบอกว่าระบบศัลยกรรมมันไม่มีเหตุผล แต่เราก็ไปเปลี่ยนอะไรมันไม่ได้ จึงมีทางเลือกเหลือให้คุณหมออยู่สองทาง คือ (1) เปลี่ยนตัวเองให้อยู่กับมันให้ได้ หรือ (2) จากไปอย่างสงบ ผมเห็นด้วยครับ

     แล้วโดยตรรกะที่เราใช้ในการรักษาโรคให้คนไข้กันอยู่เป็นประจำ เราก็ต้องลองทีละหนึ่งทางเลือก ถูกแมะ แล้วเราต้องเลือกลองทางเลือกที่มีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บเสียหายน้อยที่สุดก่อนถูกแมะ นั่นหมายความว่าเราต้องลองเปลี่ยนตัวเองให้อยู่กับมันให้ได้ดูก่อน ถ้าไม่สำเร็จค่อยจากไปอย่างสงบ เอาเลยครับ ผมเชียร์ ระยะเวลาลองก็ไม่ต้องถึงกับต้องนานมากหรอก เอาถึงแค่จบปีหนึ่งแล้วตัดสินใจผมว่าก็โอนะ

     2. คุณหมอบอกว่าเหนื่อยกายมันก็พอไหว แต่เหนื่อยใจมันท้อ พาลคิดไปว่าทำไมมันน่าเบื่ออย่างนี้ อีกหน่อยเป็นชีฟไม่ยิ่งกว่านี้หรอ ตอบว่า อันนี้มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ครับ มันเป็นแค่อาการถดถอยและซึมเศร้าซึ่งมีรากมาจากการสูญเสียความนับถือตัวเอง (self esteem) ดังนั้นบรรทัดนี้ผมจึงอยากจะคุยกับคุณหมอเรื่องความนับถือตัวเองให้แจ่มแจ้งถึงกึ๋นเสียก่อน

     ความนับถือตัวเองไม่ได้หมายความว่าเราต้องเก่งให้ได้ก่อนนะ มันไม่ใช่เรื่อง ability การหลงผิดไปวางความนับถือตัวเองไว้ที่ตัวชี้วัดความสามารถ หรือที่การยอมรับนับถือจากคนอื่น ซึ่งก็คือการวัดระดับความสูงของอีโก้ที่เขย่งแข่งกันอยู่ ทำให้ศัลยแพทย์ดีๆเป็นบ้าไปหลายคนแล้ว

     แต่แท้ที่จริงความนับถือตัวเองเป็นเรื่องการรู้จักจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเองอย่างถ่องแท้ และใช้ความรู้อันนั้นนำร่องการใช้ชีวิตในสังคมไปได้อย่างฉลุย

     เริ่มต้นจากข้างในตัวคุณ อย่าไปสนใจเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น หรือคอยตัดสินพฤติกรรมงี่เง่าของคนอื่น ในสังคมที่แย่งกันชูอีโก้ของตัวเองให้สูงเด่น ถ้าคุณไปสนใจเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น หรือคอยแต่จะประเมินว่าคนอื่นดีหรือไม่ดี ก็เท่ากับคุณเป็นบ้าตามเขาไปด้วยอีกคน อีกประการหนึ่งคนอื่นไม่ใช่สาระหลักของ self esteem ตัวคุณนั่นแหละเป็นสาระหลัก หยิบกระดาษขึ้นมาแผ่นหนึ่ง ขีดเส้นตั้งแบ่งกระดาษเป็นสองซีก เขียนจุดแข็งของคุณลงไปซีกซ้ายสิบข้อ แค่นออกมาให้ได้ถึงสิบข้อ แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยเช่นคุณช่วยลูกหมาตกน้ำสำเร็จก็เขียนไปเถอะ ให้ครบสิบข้อก็แล้วกัน แล้วก็เขียนจุดอ่อนของคุณลงซีกขวาอีกสิบข้อ ทำความรู้จักและเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้ง ค่อยๆเอาจุดแข็งของตัวเองออกไปสร้างสรรค์สิ่งต่างๆภายนอกตัวทีละเล็กทีละน้อย เหมือนการจุดปากกาไปทีละจุดเพื่อต่อให้เป็นเส้นสาย หันหน้าสู้กับความล้มเหลว ผิดพลาดก็ยอมรับว่าพลาด ให้อภัยตัวเอง ปรับปรุงวิธี แล้วเดินหน้าทำต่อไป เป็นตัวของตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อสัญชาติญาณของตัวเอง คนอื่นไม่เกี่ยว ใครจะว่าไงก็..ช่างแม่..ม

     อีกด้านหนึ่งคุณหมอก็ต้องออกกำลังกายทุกวัน ยืดหลังให้ตรง เงยหน้าขึ้น เดินให้เร็วฉับ ฉับ ฉับ การเคลื่อนไหวสร้างพลังใจ motion creates emotion    อยู่ห่างๆคนที่พูดถึงแต่เรื่องลบๆ แล้วตัวเราก็อย่าเผลอกุความคิดลบๆขึ้นมาในหัวซะเองละ คุยกับตัวเองบ่อยๆ ชื่นชมตัวเองเมื่อทำงานสร้างสรรค์แต่ละชิ้นสำเร็จ แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม อย่าไปฝันใกลถึง perfection มันไม่มีอยู่จริงในโลกหรอก การทำงานก็ทำดีที่สุดเท่าที่ความรู้และประสบการณ์ของเราและสภาวะการณ์แวดล้อมจะเอื้อให้ทำได้ เอามือทำบ้าง เมื่อถูกสถานะการณ์บีบก็เอาตีนทำบ้างได้ ไม่เป็นไร

     3. คุณหมอเล่าว่าเพื่อนในภาควิชาเดียวกันนี่ไม่กล้าปรึกษาหารือกันเลย อันนี้ผิดนะ เรื่องนี้ผมมีสองประเด็น

     ประเด็นที่หนึ่ง เมื่อเราถดถอยซึมเศร้าเพราะเสียความนับถือตัวเอง การได้พูดคุยระบายเป็นสิ่งสำคัญมากๆ เราจะต้องไม่ลังเลที่จะพูดคุยและระบายกับคนที่อยู่ในฐานะจะรับฟังเราได้ ตอนต้นผมเล่าให้คุณหมอฟังว่าตอนผมสติแตกเมียไล่ไปหาเพื่อนบ้านชื่อริชาร์ดซึ่งเป็นจิตแพทย์ ผมไปคุยกับริชาร์ดคืนแรก จำได้ว่าเรานั่งคุยกันที่หน้าเตาผิงที่บ้านเขา ผมด่า ด่า ด่า สิ่งต่างๆที่ผมเห็นว่าเลวร้ายต่อผมให้เขาฟังลูกเดียว ริชาร์ดก็ฟังอย่างเดียวแทบไม่ได้พูดอะไรเลย พอกลับไปบ้านผมรู้สึกดีแฮะ อีกสองวันต่อมาผมก็ไปเยี่ยมเขาอีก คุยกันอีก คราวนี้นานๆเขาจึงจะพูดเสียหน่อย แต่ว่าไม่ได้แนะนำอะไรให้ผมเลย ได้แต่สรุปให้ฟังว่ามันเป็นผลพวงจากความนับถือตัวเองของเรามันถูกสั่นคลอน แล้วผมก็กลับบ้าน แค่นี้ผมก็ดีขึ้นผิดฟอร์มเลย เขาไม่ได้แนะนำทางออกอะไรให้ผมฟังเลยนะ ได้แต่รับฟังและสรุปกว้างๆเฉยๆ คือการได้ระบายนี่มันเป็นอะไรที่ดีมากสำหรับคนที่ตกที่นั่งอย่างคุณหมอตอนนี้

     ประเด็นที่สอง เมื่อเราจะปรับทุกข์อะไรกับใคร มันจะมีใครดีกว่าคนที่หัวอกเดียวกันละครับ เมื่อเราคับข้องใจกับชีวิตการเป็นขี้ข้าในแผนกศัลยกรรม เราก็ต้องปรับทุกข์กับขี้ข้าศัลยกรรมด้วยกันสิมันถึงจะมันถูกแมะ การที่คุณหมอหลบเลี่ยงเพื่อนในแผนกไปคุยกับคนอื่นนั้นไม่ถูก การปรับทุกข์ผูกมิตรไม่ได้หมายความว่าเราเรียกร้องความสนใจให้ใครๆมาเอาใจ แต่มันหมายถึงการแชร์ด้านที่สวยงามของการเกิดมาเป็นเพื่อนกัน แล้วมันจะเกิดพลังขึ้นมาอย่างพิศดาร ดังนั้นต่อไปมีอะไรก็คุยกันกับเเพื่อนเรสิเด้นท์แผนกเดียวกันนั่นแหละ จะไปหาคนอื่นก็ต่อเมื่อมันหาคนปรับทุกข์ในแผนกไม่ได้จริงๆ อันนั้นก็จำเป็นว่าเราก็ต้องไปหาคนที่เขารักเราแม้ว่าเขาจะไม่รู้เรื่องที่เราพูดถึงเลยก็ต้องยอม

     ผมจะเล่าเรื่องจริงให้ฟังนะ ประมาณปีพ.ศ. 2522 ผมเป็นแพทย์ฝึกหัดอยู่ที่รพ.ราชวิถี ตอนนั้นพี่ชายแท้ๆของผมเขาเรียนจบวิศวะจุฬาฯได้หลายปีแล้วไปเป็นวิศวกรใหญ่อยู่บริษัทอะไรก็ไม่รู้ เป็นผู้จัดการบังคับบัญชาคนเป็นร้อยเป็นพัน วันหนึ่งเขามีทุกข์ในที่ทำงานหนักอกมากก็โทรศัพท์มาหาผมว่าจะมาหา ผมก็พาไปเลี้ยงข้าวราดแกงมื้อเย็นจานละห้าบาท (สมัยนั้น) ที่หลังโรงพยาบาล แล้วเราสองพี่น้องก็คุยกัน คือพี่เขามาปรับทุกข์เรื่องในบริษัทของเขาซึ่งเป็นโลกของเครื่องจักรเครื่องยนต์กลไกที่ผมไม่ได้รู้เรื่องด้วยเลยสักนิดเดียว ผมก็ได้แต่ฟัง ฟัง ฟัง เสร็จแล้วพี่เขาก็กลับไปดูมีสีหน้าสบายใจขึ้นโข คือการระบายให้คนที่เขารักเราฟังมันก็ช่วยได้มาก แม้ว่าคนฟังจะไม่รู้เรื่องที่เราพูดเลยก็ตาม    

     4. คุณหมอมองไปไกลว่าอยู่ไปกับอาชีพนี้ แก่ตัว อายุ 59 แล้วตัองเจอตามในเวรตอนตี 4 อีกหรือ จะทนกับอาชีพนี้ไปทำไม จะต้องรอให้เหนื่อยจนแก่งั่กก่อนจึงค่อยจะคิดเปลี่ยนอาชีพอย่างอาจารย์สันต์หรือ อันนี้คุณหมอต้องเข้าใจนะว่ามันเป็นเพียงความคิดลบที่ประดังขึ้นมาตอนเราซึมเศร้้า ซึ่งเป็นกลไกทางจิตอย่างหนึ่งของภาวะซึมเศร้า คือเมื่อเครียดกับสิ่งใดมาก เหตุผลด้านลบของสิ่งนั้นก็จะประดังกันขึ้นมา มันไม่ใช่ว่าคุณหมอไม่รู้มาก่อนเสียเมื่อไหร่ละว่าอาชีพศัลยกรรมต้องอยู่เวรจนแก่ คุณหมอรู้และบวกลบคูณหารมาแล้วตั้งแต่ก่อนตัดสินใจมาเรียน ตัวคุณหมอก็พูดเองว่าปัจจัยนำมาคือความรักในวิชา ความชอบในการทำหัตถการ ความเป็นศิลปะของงานผ่าตัด หักลบกลบแล้วสรุปว่าดีมากว่าเสียจึงมา ความคิดลบที่ประดังขึ้นมาตอนเครียดจัดนี้เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว อย่าเพิ่งไปเอานิยายอะไรกับมันมาก ให้มุ่งแก้ปัญหาเรื่องการสูญเสียความนับถือตัวเองให้สำเร็จก่อน พอจิตใจกลับปกติดีแล้วค่อยมาชั่งข้อดีเสียซ้ำอีกครั้งก็ไม่เสียหลาย อีกอย่างหนึ่งการจะเลิกอาชีพนี้จะเลิกเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ว่าจากนี้ถึงจบปีหนึ่งอย่างเพิ่งคิดเลย เอาเรื่องตรงหน้านี้ก่อนก็แล้วกัน

     พูดถึงพออยากจะหนีก็จะมีเหตุผลด้านลบมาสนับสนุนมากมาย ผมจะเล่าเรื่องจริงอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องนี้เกิดสมัยผมยังเป็นนักเรียนแพทย์ ประมาณปีพ.ศ. 2520 เรื่องมีอยู่ว่าเพื่อนนักเรียนแพทย์ผู้ชายคนหนึ่งเขาเป็นแฟนกับนักเรียนสาวที่เรียนอยู่เมืองนอก สวีทกันอยู่หลายปีแล้วก็เกิดต้องแตกกัน เพื่อนผู้ชายคนนี้ก็อกหักและจ๋อยไปเลย ข้าวน้ำไม่ยอมกิน พวกเพื่อนๆก็รุมกันปลอบ วิธีปลอบที่ได้ผลชงัดก็คือแจงเหตุผลด้านลบที่ว่าชีวิตรักมันจะไม่เวอร์คอย่างไร เพื่อนคนหนึ่งปลอบว่า

     “..กูอยากจะบอกมึงนานแล้ว  แฟนมึงไม่เห็นสวยเลย อ้วนตุ๊ต๊ะ  มึงเลิกเสียได้ก็ดีแล้ว”

     เหตุการณ์ก็ผ่านไปด้วยดี หนึ่งปีผ่านไป พอฝ่ายหญิงเขาเรียนใกล้จบเขากลับมาสวีทกันอีกจริงจังจะแต่งงานกัน วันที่เพื่อนเขาพาว่าที่เจ้าสาวมาแวะที่หอพัก งามหน้าละสิครับทีนี้ พวกเพื่อนที่เคยใส่ไฟว่าเธออ้วนตุ๊ต๊ะต้องเผ่นแน่บขึ้นวอร์ดติดภาระกิจกันเป็นแถวๆไม่กล้าสู้หน้าเธอ เพราะอาย..ย

     ฮ่ะ ฮ่ะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์