Latest

คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม ใครกันแน่ที่บ้า

สวัสดีค่ะอาจารย์หมอ
ดิฉันมีลูกสาวเรียนหมอ แต่เป็นรพ.ที่ไม่ดัง ไม่ใช่ จุฬา ไม่ใช่ศิริราช ไม่ใช่รามา เป็นโรงพยาบาลรองจากนี้ แต่มีความกังวลในเรื่องความก้าวหน้า หรือในเรื่องการเรียนต่อ การทำงาน เพราะเมื่อปีที่แล้ว มีญาติกัน สอบติดได้แพทย์มศว.แต่คนที่สอบติดกลับนอนร้องไห้ เสียใจ ไม่อยากเรียน สุดท้าย เขาก็สละสิทธิ์ไป และต้องการซิ่วให้ได้ศิริราช ดิฉันก็เป็นห่วงนะคะ กลัวว่าซิ่วแล้วเกิดสอบใหม่ไม่ติดขึ้นมา จะเกิดอะไรขึ้น คงทุกข์หนักแน่ ๆ เหตุการณ์ดังกล่าว เคยเกิดขึ้นกับลูกสาวของดิฉันที่ตอนสอบติดแพทย์ เขาก็ร้องไห้ บอกจะซิ่ว แต่พอผ่านช่วงอาฟเตอร์ช็อค เขาก็บอกไม่ซิ่ว จะเรียนที่เขาสอบติด ดิฉันก็โล่งอกไปได้ แต่พอมาเรียนก็เกิดความหวั่นไหว ไม่มั่นใจ คิดว่า เราคิดผิดหรือเปล่า ? ยอมเสียเวลา 1 ปีเพื่อที่จะได้เรียนในโรงเรียนแพทย์ที่จัดว่าเป็นอันดับต้น ๆ น่าจะคุ้มกว่า อยากขอคำแนะนำอาจารย์ค่ะเพราะเหตุการณ์ที่นักศึกษาสอบติดแพทย์แล้วซิ่ว เกิดและมีขึ้นทุกปี ก็มีทั้งที่สมหวังและผิดหวัง รบกวนอาจารย์ตอบเพื่อเป็นวิทยาทานกับดิฉันและเด็ก ๆ รุ่นน้องที่สอบแพทย์ ขอถามเป็นข้อ ๆ นะคะ 1. การที่ญาติดิฉันตัดสินใจทิ้งหมอ มศว. แล้วสอบใหม่ เป็นการตัดสินใจที่ผิดหรือถูกคะ 2. แพทย์จุฬา ศิริราช เมื่อจบแล้ว มีโอกาสดีกว่าแพทย์อันดับรอง ๆ อะไรบ้าง 3. การเรียนที่โรงเรียนแพทย์ไม่ดัง ทำทำให้เราเสียเปรียบอย่างไร? และถ้าเสียเปรียบ เราควรแก้ไขอย่างไร ถ้าไม่ใช่การเรียนให้เป็นท็อปคณะ 4. สิทธิ์และศักดิ์ศรีของแพทย์แต่ละที่เท่ากันจริงหรือคะ? เวลาคนพูดถึงจะชอบพูดว่า “หมอคนนี้เก่ง จบจากศิริราช” หรือบางที พอบอกลูกเรียนหมอ ก็จะถามว่า “หมอที่ไหน?” ถ้าตอบแล้วไม่ใช่ศิริราช หรือจุฬา ก็จะทำหน้าประมาณว่า ไม่เก่งเท่าไหร่ ไม่ต้องคนอื่นหรอกค่ะ ญาติกันเอง ตอนที่ลูกสอบติดแพทย์…. จุด จุด จุด พอบอก ไปเค้าก็ทำหน้านิ่ง ๆ ไม่ชื่นชมเท่าไหร่ คือ ญาติ ๆ รักษาตัวที่ศิริราช คงอยากให้หลานสอบติด เรียนที่ศิริราชน่ะค่ะ 5. การได้เรียนที่รพ.ดัง ๆ จะมีผลในการเรียนต่อเฉพาะทาง หรือเป็นหมอที่มีอนาคตไหมคะ? คำถามเยอะไปหน่อย แต่คิดว่าคนที่หัวอกเดียวกับดิฉันก็มีเยอะ และนักศึกษาแพทย์ ที่เรียนโรงเรียนแพทย์ที่ไม่ดัง จะได้ประโยชน์มากๆ รวมทั้งนักเรียนที่กำลังจะก้าวเข้ามาบนถนนสายนักเรียนแพทย์จะได้ประโยชน์ด้วย ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ จะรออาจารย์ตอบทุกวัน

คุณแม่ของลูกที่เรียนหมอรพ.ไม่ดัง

………………………………………………….

ตอบครับ

     อันที่จริงผมลบจดหมายของคุณทิ้งลงตะกร้าไปแล้ว เพราะอ่านเนื้อหาแล้วมีสาระอยู่ในระดับ “ปทปรมะ” ที่ท่านว่าเปรียบได้กับเหล่าดอกบัวที่อยู่ใต้โคลน รังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าและปลา หมดโอกาสที่จะได้โผล่พ้นน้ำมาพบกับแสงตะวัน มิใยว่าจะบอกเล่าชี้แจงจนปากฉีกถึงใบหูอย่างไรก็ตาม

     แต่เผอิญว่าวันนี้ผมมานั่งรอเครื่องบินเพื่อไปบรรยายในการประชุมนานาชาติที่ภูเก็ต มีเวลาอยู่เล็กน้อย จึงคิดว่าหยิบจดหมายที่ตอบง่ายๆขึ้นมาตอบน่าจะดีกว่านั่งรอเครื่องบินอยู่เปล่าๆ แต่จดหมายที่ค้างอยู่มีแต่จดหมายหนักๆตอบยากๆ ทั้งนั้น ผมจึงต้องไปคุ้ยจดหมายของคุณกลับขึ้นมาจากถังขยะ

     มาตอบคำถามของคุณกันนะ

     1. ถามว่าการที่ญาติเขาตัดสินใจทิ้งหมอ มศว. แล้วสอบใหม่ เป็นการตัดสินใจที่ผิดหรือถูก ตอบว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดครับ เพราะซุนวูผู้รู้ท่านบอกว่า
   
     “..พึงเอาชัยโดยการไม่เข้าสัมประยุทธ์ทุกครั้งไป เพราะเมื่อเข้าสัมประยุทธ์กันแล้ว ชัยชนะเป็นของไม่แน่”

     การเข้าสอบมีความไม่แน่นอนสูงมาก ไม่ได้หมายความว่าฉลาดแล้วจะสอบได้ แค่เป็นหวัดในวันสอบก็แพ้ได้แล้ว ถึงไม่เป็นหวัดหากได้คะแนนห่างกันแค่จุดทศนิยมก็ถูกแยกกันไปอยู่คนละคณะแล้ว เมื่ออยากเป็นแพทย์ สอบติดแพทย์ที่หนึ่งแล้วทิ้งไปเสีย แล้วรอไปอีกหนึ่งปีเพื่อสอบเข้าใหม่ มีโอกาสสูงมากที่จะไม่ติดที่ไหนเลย คราวนี้แทนที่จะได้เรียนแพทย์ กลับต้องไปอยู่หลังคาแดงแทน

     2. ถามว่าแพทย์จุฬา ศิริราช รามา เมื่อจบแล้ว มีโอกาสดีกว่าแพทย์อันดับรอง ๆ อะไรบ้าง ตอบว่าเอกลักษณ์ของการได้เข้าโรงเรียนแพทย์ระดับเก๋ากึ๊กที่มีอายุมากกว่าห้าสิบปีก็พอจะมีอยู่บ้าง ดังนี้

     2.1 ได้อยู่ในกรุงเทพฯ เพราะนักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพ และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง หยุดเสาร์อาทิตย์ต้องรีบแจ้นกลับบ้านไปดูดนมแม่ เอ๊ย..ไม่ใช่ ไปอ้อนแม่ เพราะนักศึกษาแพทย์บางรายยังให้แม่ป้อนข้าวให้อยู่เลย แต่ผมมองว่าแม้ตรงนี้จะเป็นข้อได้เปรียบ อีกด้านหนึ่งมันกลับกลายเป็นข้อเสียเปรียบเพราะทำให้พัฒนาการทางเชาว์อารมณ์ (EQ) ของนักศึกษาแพทย์ช้าลง

     2.2 เมื่อเรียนจบแล้ว จะมีโอกาสสอบใบประกอบวิชาชีพผ่านในครั้งแรก มากกว่านักศึกษาแพทย์ที่จบจากโรงเรียนแพทย์เปิดใหม่ คืออัตราการสอบผ่านในครั้งแรกนี้ปกติไม่เป็นที่เปิดเผย แต่ผมเล่าให้คุณฟังได้ว่า
     โรงเรียนแพทย์ที่เก่าแก่เก๋ากึ๊กระดับตั้งมานานเกิน 50 ปีขึ้นไปมีอัตราการสอบผ่านระดับ 90-98%
     ขณะที่โรงเรียนแพทย์ที่อายุปานกลาง หมายความว่าเปิดมาแล้วมากกว่า 20 ปีขึ้นไป จะมีอัตราการสอบผ่านครั้งแรกประมาณ 80-90%
     ส่วนโรงเรียนแพทย์เปิดใหม่จะมีอัตราการสอบผ่านประมาณ 60-80%

     แต่ว่าข้อได้เปรียบที่มีอัตราการสอบผ่านครั้งแรกสูงนี้ จะหายไปเมื่อไปตั้งนับที่การสอบสามครั้งรวมกัน คือการสอบใบประกอบวิชาชีพนี้สอบตกก็สอบใหม่ได้อีก หากนับรวมการสอบเบิ้ลสามครั้งรวมกันแล้วพบว่านักศึกษาแพทย์ที่จบจากโรงเรียนแพทย์ทั้งใหม่และเก่ามีอัตราการสอบผ่านใกล้เคียงกันคือเกือบ 100% เหมือนกันหมด คนที่สอบตกรอบที่สามนี้ส่วนใหญ่ก็คือคนที่เป็นบ้าไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมักกระจายอยู่ทั่วไปทั้งโรงเรียนแพทย์เก่าและใหม่ไม่แตกต่างกัน

     2.3 โรงเรียนแพทย์เก่ามีครูเยอะ ครูแก่ก็มีเยอะ ไม่ใช่แค่แก่ใกล้เกษียณนะครับ แต่เกษียณแล้วท่านก็ยังมีจิตอาสามาสอนให้ฟรีแบบไม่เอาเงิน อายุมากถึงระดับป่วยล้มหมอนนอนเสื่อแล้วท่านก็ยังมานอนเรียงเป็นตับอยู่ในไอซียู.เป็นคนไข้ให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียนอีก เสียชีวิตไปแล้วท่านก็ยังอุทิศร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่ให้นักศึกษาแพทย์ได้ใช้อีก ครูรุ่นโน้นท่านเป็นครูกันครบวงจรกันถึงขนาดนี้เชียว ประเด็นก็คืออาชีพครูแพทย์นี้เป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะ ซึ่งจะค่อยๆพัฒนามากขึ้นๆตามเวลาและประสบการณ์ ครูที่มากประสบการณ์สามารถทำให้นักศึกษาแพทย์เกิดความรู้และทักษะตรงตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรได้ในเวลาที่จำกัด อย่างไรก็ตาม มีคนตั้งข้อสังเกตว่าการมีครูมากเกินไปอาจไปลดขีดความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักศึกษาแพทย์ก็ได้ ตรงนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ เท่าที่ผมดูจากการที่ผมอยู่ในฐานะเป็นผู้ใช้ผลผลิต (หมายถึงว่าสมัยที่ผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลซึ่งมีแพทย์มาหากินอยู่ด้วยราว 500 คน) ผมพบว่าไม่ว่าแพทย์จะจบจากโรงเรียนเก่าหรือโรงเรียนใหม่ ศักยภาพในการศึกษาค้นคว้าต่อด้วยตนเองหลังจากจบแล้วก็ล้วนแย่..เอ๊ยไม่ใช่ ขอโทษ พูดผิด พูดใหม่.. ล้วนทำได้พอๆกัน

     2.4 อันนี้ไม่ใช่เป็นข้อได้เปรียบนะครับ ผมว่าเป็นเอกลักษณ์ที่เป็นข้อเสียเปรียบมากกว่า คือโรงเรียนแพทย์ที่เก่าแก่มีชื่อเสียงทุกแห่งจะมีภูมิศาสตร์และภูมิสถาปัตย์ยอดแย่ในระดับสลัมกลางถิ่นคนจนในย่านบรองซ์ของเมืองนิวยอร์คนั่นทีเดียว ตึกสูงแต่ละหลังเบียดเสียดยัดเยียดกันขึ้นมาโดยไม่คำนึงถึงหน้าอินทร์หน้าพรหมแม้แต่น้อย มองออกจากหน้าต่างก็เห็นหน้าต่าง ยากที่จะเห็นสีเขียว มันเป็นเรื่องน่าเศร้าทีเดียวที่คนหนุ่มคนสาวจะต้องใช้วันเวลาช่วงที่ดีที่สุดของชีวิตตั้ง 6 ปีหรือมากกว่ายัดทะนานอยู่ในสลัมอย่างนั้น เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสแวะไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่เชียงราย เห็นภูมิสถาปัตย์แล้วโอ้โฮ มันโรแมนติกผิดกันแยะ แตกต่างกันราวสวรรค์กับนรก
     
     3. ถามว่าการเรียนที่โรงเรียนแพทย์ไม่ดัง ทำให้เราเสียเปรียบอย่างไร? และถ้าเสียเปรียบ เราควรแก้ไขอย่างไร ตอบว่าโดยความสัตย์จริงผมยังนึกข้อเสียเปรียบไม่ออกเลยครับ ก่อนที่จะคุยกันต่อผมอยากให้คุณเข้าใจระบบการผลิตแพทย์ของเมืองไทยก่อนนะ ว่าแพทยสภาเป็นผู้ควบคุมการผลิตทั้งหมดทั่วประเทศ ใช้หลักสูตรเดียวกันที่แพทยสภารับรอง ใช้สถานที่และโรงพยาบาลที่แพทยสภาตรวจแล้ว ใช้วิธีจัดประสบการณ์เรียนรู้เหมือนกัน และใช้วิธีประเมินผลวิธีเดียวกัน หมายความว่าเวลาสอบก็สอบข้อสอบเดียวกัน กรรมการก็ชุดเดียวกัน แล้วกระบวนการผลิตแพทย์เมืองไทยนี้มีข้อดีตรงที่ตัวกระบวนการผลิตหรือที่เรียกว่า medical education system ของทุกโรงเรียนแพทย์มีความเหมือนกันติดต่อเชื่อมโยงถึงกัน และทั้งระบบมีความก้าวหน้าถึงระดับที่สามารถผลิตแพทย์ออกมาให้มีคุณภาพใกล้เคียงกันได้ไม่ว่าจะผลิตจากโรงเรียนไหน ตรงนี้จัดว่าเป็นอะไรที่ไทยเรานำประเทศอื่นในเอเซียไปไกลแบบทิ้งกันไม่เห็นฝุ่นเลยทีเดียว

     ดังนั้นในข้อนี้แทนที่จะแนะนำว่าต้องแก้ข้อเสียเปรียบอย่างไร ผมแนะนำครอบคลุมสำหรับนักศึกษาแพทย์ทั้งของโรงเรียนดังและโรงเรียนไม่ดังแบบเหมาโหลเลยดีกว่า ว่า

     3.1 การจะเป็นแพทย์ที่ดี ต้องเรียนรู้ที่จะเป็นคนไข้ที่ดีให้ได้ก่อน ต้องเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเองในระดับพื้นฐานให้เป็นก่อน เป็นต้นว่าการออกกำลังกายทุกวัน การมีโภชนาการที่ดี การทำกิจกรรมตัดตอนความเครียดเช่นฝึกสมาธิทุกวัน เป็นต้น คนที่จบมาเป็นแพทย์จำนวนมากบายพาสขั้นตอนนี้ไปจนจบแพทย์ กลายเป็นแพทย์ที่สอนในสิ่งที่ตัวเองก็ทำไม่เป็นและทำไม่ได้ ซึ่ง..ไม่ใช่

     3.2 หลักสูตรแพทย์ไทยเป็นหลักสูตรแบบอเมริกัน คือเนื้อหาวิชาด้านคลินิกทุกวิชา มีพื้นฐานอยู่บนวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ดังนั้นต้องให้ความสำคัญกับวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน แต่น่าเสียดายที่ช่วงเรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐานเป็นช่วงปีต้นๆซึ่งนักศึกษาเพิ่งได้ปลดแอกตัวเองออกมาจากการดูหนังสือสอบแข่งขันแบบบ้าเลือดตอนม.ปลาย จึงไปเริงกับกิจกรรมโดยลดเวลาที่จะให้กับวิชาเหล่านี้ลง แล้วเติบโตขึ้นมาเรียนวิชาระดับคลินิกโดยที่พื้นฐานไม่แน่น ทำให้เอาดีในวิชาแพทย์ไม่ได้

     3.3 การเรียนวิชาแพทย์ เป็นกระบวนการสร้างความรู้และทักษะให้ตนเอง ไม่ใช่การสอบแข่งขัน การสอบแข่งขันได้สิ้นสุดลงเมื่อเราสอบเข้าแพทย์ได้แล้ว การแข่งเกรดกันในชั้นเรียนในโรงเรียนแพทย์เป็นเรื่องไร้สาระ การเบ่งชื่อโรงเรียนใส่กันยิ่งเป็นเรื่องเสียเวลาอย่างโง่บรม การหมั่นกางวัตถุประสงค์ของหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตออกดูเพื่อตรวจสอบกับความรู้และทักษะของตัวเองว่าได้ตามที่เขาคาดหมายหรือยัง ถ้ายังไม่ได้ตามสะเป๊กก็ขวนขวายเพิ่มเติม นั่นต่างหากที่เป็นสิ่งที่พึงทำอย่างสม่ำเสมอ

     3.4 วิชาแพทย์ที่เราเรียนนี้เรียนกันแบบสากล ใช้ภาษาสากลคือภาษาละตินและภาษาอังกฤษ แต่ว่าเราอยู่แต่ในกะลาครอบคือเมืองไทย แทนที่จะเบ่งชื่อโรงเรียนใส่กันแบบกบสองตัวเบ่งทับกันในกะลา ควรจะเบิ่งดูโลกกว้างเขาบ้างว่านอกกะลามันกว้างใหญ่ไพศาลขนาดไหน ผมแนะนำให้นักศึกษาแพทย์ทุกคนหาข้อสอบ USMILE หรือข้อสอบ PLAB test มาหัดทำทุกวันที่มีเวลาว่าง ข้อไหนทำไม่ได้ก็ถามตัวเองว่าทำไมทำไม่ได้ แล้วก็พัฒนาความรู้ตัวเองขึ้นไป สำหรับคนที่ไม่มีภาระทางการเงินว่าจะต้องรีบจบรีบมาทำงาน ผมแนะนำว่าจบแพทย์แล้วควรสอบ USMILE แล้วขวนขวายไปเป็นแพทย์ประจำบ้านในต่างประเทศเช่นสหรัฐอเมริกา เพราะวงการแพทย์ไทยทุกวันนี้กินบุญเก่าของแพทย์รุ่นอาจารย์ที่ยกชั้นเรียนไปเป็นแพทย์ประจำบ้านในอเมริกาในสมัยสงครามเวียดนาม ซึ่งส่วนหนึ่งได้กลับมาและทำให้เรามีสายใยเชื่อมโยงกับการแพทย์ระดับนานาชาติจนเดี๋ยวนี้ ถ้าแพทย์รุ่นหลังเอาแต่เป็นกบอยู่ในกะลาไม่ยอมขวนขวายไปเสาะหาเรียนรู้ discipline ในการทำงานเพิ่มเติมจากต่างประเทศ วันหนึ่งเราก็จะไม่รู้ว่านอกกะลามันกว้างใหญ่แค่ไหน แล้วคนไข้ของเรานั่นแหละที่จะเป็นผู้รับผลเสียจากการมีโลกทัศน์ที่คับแคบของเราเอง

    4. ถามว่าสิทธิ์และศักดิ์ศรีของแพทย์แต่ละที่เท่ากันจริงหรือคะ? ตอบว่าสิทธิ์ของแพทย์นั่นเท่ากันทุกประการ ส่วนศักดิ์ศรีของแพทย์นั้นอาจจะแตกต่างกันอยู่ประมาณสองสามวันตอนที่รู้จักกันใหม่ๆ หลังจากที่ได้รู้จักกันนานเกินสองสามวันไปแล้ว ศักดิ์ศรีของใครจะใหญ่จะเล็ก ขึ้นอยู่กับคุณภาพโดยเนื้อในของคนๆนั้น โดยไม่เกี่ยวกับสถาบันที่จบมา ซึ่งผู้ที่จะประเมินศักดิ์ศรีของแพทย์นี้มีสองกลุ่มหลัก คือเพื่อนแพทย์ด้วยกัน กับผู้ป่วย

     4.1. มองจากมุมของเพื่อนแพทย์ด้วยกัน แพทย์ที่จะเป็นที่ยกย่องเชิดชูของแพทย์คนอื่นนั้นมีลักษณะดังนี้
     4.1.1 เป็นคนดี มีจิตอาสา มีมนุษย์สัมพันธ์ โอภาปราศรัย เพราะแพทย์นี้เป็นมนุษย์พันธุ์ที่คิดว่าตัวเองเป็นเทวดากลับชาติมาเกิดแทบจะทุกคน ใครอย่ามาเบ่งทับใครเสียให้ยากเลย ไม่มีใครลงให้ใครหรอก มีแต่คนที่มาฟอร์มกระจอกเท่านั้นที่จะได้รับการยกย่อง
     4.1.2 ได้แสดงความสามารถในวิชาชีพให้เพื่อนเห็นประจักษ์ จากการได้รักษาคนไข้ร่วมกัน หรือจากการที่ได้รักษาคนไข้ที่เพื่อนแพทย์เขาส่งต่อมาให้
    4.1.3 ได้แสดงให้เพื่อนร่วมอาชีพเห็นถึงผลงานสร้างสรรค์ให้วิชาการแพทย์สูงเด่นมีคุณค่ามากขึ้น เช่นการได้ทำวิจัยที่มีสาระดี หรือตีพิมพ์งานวิจัยที่มีสาระดีของตนเองในวารสารการแพทย์ เป็นต้น

     4.2 มองจากมุมของคนไข้ เมื่อได้ผ่านสองสามวันแรกไปแล้ว เมื่อได้รู้จัก เป็นหมอเป็นคนไข้กันแล้ว คนไข้เขาจะตัดสินใจได้เลยว่าใครเป็นหมอระดับไหน ผมได้รับฟังคำบอกเล่าจากหมอกระดูกท่านหนึ่งเล่าให้ฟังแบบโจ๊กในโต๊ะกินข้าวว่า ท่านบอกให้คนไข้ที่อยู่ต่างจังหวัดให้ไปหานายแพทย์อีกท่านหนึ่งที่จังหวัดนั้น จะได้ไม่ต้องลำบากเข้ามาในกรุงเทพ คนไข้ตอบว่า

“..ผมเคยไปมาแล้วครับหมอ มันคนละดิวิชั่น”

     ความหมายของคนไข้ก็คือหมอก็มีหลายดิวิชั่นเหมือนการจัดชั้นทีมฟุตบอลเหมือนกัน อันนี้คนไข้เขาจัดชั้นให้เองนะ แล้วเขาจัดจากดุลพินิจของเขาหลังจากที่ได้เป็นคนไข้ของหมอแล้วพักหนึ่งนั่นแหละ เขาไม่ได้จัดจากสถาบันที่หมอจบ (เพราะทั้งสองหมอนี้บังเอิญจบสถาบันเดียวกัน)

     5. ถามว่าการได้เรียนที่รพ.ดัง ๆ จะมีผลในการเรียนต่อเฉพาะทาง หรือเป็นหมอที่มีอนาคตไหมคะ?

     ประเด็นการมีอนาคต ตอบว่ามีอนาคตเท่ากันแหละครับ ไม่ว่าจบจากสถาบันไหน

     ประเด็นโอกาสได้เรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง อันนี้ผมชี้แจงแยกกันสองกรณีนะ

     กรณีที่ 1. การรับคนเข้าเป็นแพทย์ประจำบ้านด้วยเจตนาที่จะบ่มเพาะเอาไว้เป็นอาจารย์ประจำสถาบันนั้นต่อไป กรณีเช่นนี้สถาบันไหนก็มีแนวโน้มจะรับศิษย์ของสถาบันตัวเอง ไม่ใช่เพราะสถาบันนิยม แต่เป็นเพราะการจะคัดคนไว้เป็นอาจารย์เขาต้องการความชัวร์ ไม่ต้องการเอาคนห้าวๆชอบท้าตีท้าต่อยเข้ามาไว้ในก๊วนเพราะจะทำให้วงแตก วิธีเดียวที่จะชัวร์ก็คือรับศิษย์ของตัวเองที่เห็นกันมาหกปีแล้ว อันนี้ชัวร์แน่ ซึ่งวิธีนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย มันเหมือนกับการผสมพันธุ์ไก่แบบ inbreed นั่นแหละ มันมีโอกาสที่จะได้ลูกพิการเหมือนกัน

     กรณีที่ 2. การรับคนเข้าเป็นแพทย์ประจำบ้านเพื่อฝึกเป็นแพทย์เฉพาะทางโดยไม่อยู่เป็นอาจารย์ในสถาบันนั้น อันนี้ลำดับความสำคัญจะไปอยู่ที่การมีต้นสังกัด ซึ่งก็คือโรงพยาบาลในต่างจังหวัดที่แพทย์ไปใช้ทุนอยู่ หากมีต้นสังกัดส่งเข้ามาเรียน โรงเรียนแพทย์ก็จะรับ เพราะมีต้นสังกัดคอยจ่ายเงินเดือนให้ แพทย์ทุกคนไม่ว่าจบจากสถาบันไหนล้วนต้องไปใช้ทุน ขณะใช้ทุนก็จะฉายแววให้รุ่นพี่หรือเจ้านายเห็น จะเป็นแววดีหรือแววร้ายก็แล้วแต่ ถ้าฉายแววดี การหาต้นสังกัดก็ไม่ยากครับ

     ส่วนเมื่อได้เข้ามาฝึกอบรมเป็นแพทย์ประจำบ้านแล้ว จะเรียนจบหรือไม่จบ สอบได้หรือไม่ได้ อันนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถเฉพาะตัวของแพทย์แต่ละคน ไม่เกี่ยวกับสถาบันที่เรียนจบระดับพบ.หรอกครับ เพราะการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเป็นเรื่องเชิงลึกเข้าไปในสาขาวิชา และการจะให้สอบได้หรือตกก็ทำโดยแพทยสภาซึ่งไม่ได้คำนึงถึงสถาบันแต่อย่างใด

     ผมตอบคำถามของคุณหมดแล้วนะ คราวนี้ขอผมเทศน์ของผมบ้าง

     ปัญหาของการศึกษาบ้านเราตอนนี้คือคนไทยรุ่นใหม่มีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งคือขาดวุฒิภาวะ (maturity) มีวิธีคิดที่เป็นวิธีคิดของเด็กอมมือ เอาแค่จะรู้จักคิดวิเคราะห์คุณค่าแท้แยกจากคุณค่าเทียมแค่นี้ก็เป็นปัญหาแล้ว คือเอาคุณค่าแท้ผสมปนเปมั่วกับคุณค่าเทียม แล้วตีความมั่วเละเทะเป็นตุเป็นตะ บ้างถึงกับนำไปสู่การโดดตึกตายก็มี เรื่องการรู้จักวิเคราะห์คุณค่าแท้และคุณค่าเทียมนี้ ความจริงก็เป็นสาระที่ครูและพ่อแม่สอนกันมาตั้งแต่เป็นเด็กวัยชั้้นอนุบาลหรือประถมแล้ว ยกตัวอย่างเช่นการวิเคราะห์เปรียบเทียบคุณค่าของไข่ต้มหนึ่งลูกกับขนมหวานสีสวยหนึ่งก้อนที่มีราคาเท่ากัน ครูก็จะสอนว่าคุณค่าแท้ของอาหารคือการมีโปรตีนไวตามินเกลือแร่ให้ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ได้มาก ส่วนคุณค่าเทียมของมันคือการมีสีสวย การมีรสหวานจัดจ้าน การมีหีบห่อที่ดูดีมีราคาน่ากิน แล้วก็จะสอนเด็กว่าเราต้องรู้จักเลือกของจากคุณค่าแท้ของมัน ไม่ใช่เลือกจากคุณค่าเทียม

     เปรียบมาถึงการเรียนแพทย์ คุณค่าแท้ของมันคือการได้มีโอกาสพบเห็นเรียนรู้และฝึกฝนทักษะในการรักษาโรค การได้ฝึกวินัยในการทำงานกับหมู่คนที่หลายหลายระดับชั้นและหลากหลายที่มา และการสอบได้ใบประกอบวิชาชีพซึ่งเปิดให้เราเอาความรู้ไปช่วยคนไข้และไปทำมาหากินได้ จะเห็นว่าคุณค่าแท้ของมันนี้เราจะได้รับต้องมีองค์ประกอบหลักคือตัวเราเองเป็นสำคัญ กล่าวคือเราต้องขยันขันแข็งในการเรียนรู้และฝึกฝน ถ้าตัวคนเรียนไม่เอาอ่าวไม่ยอมศึกษาฝึกหัด ต่อให้มีครูเป็นเทวดาหรือไปนั่งเรียนในสถาบันที่ตั้งอยู่บนก้อนเมฆก็ไม่อาจเนรมิตให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จะเป็นหมอที่ดีขึ้นมาได้ ส่วนคุณค่าเทียมของมันก็คือนามของสถาบันที่จะเอาไปเบ่งอวดกันได้ ตึกรามที่หรูเริด ที่ตั้งที่สง่างาม ซึ่งหาสาระคุณค่าแท้จริงอะไรไม่ได้

     หลักพื้นฐานของการคิดวิเคราะห์คุณค่าแท้คุณค่าเทียมก็มีเท่านี้ เรื่องที่ลูกหลานที่กำลังจะเรียนแพทย์พากันบ้าสถาบันนี้ขอให้คุณในฐานะที่เป็นคุณแม่เอาไปคิดดู ว่าที่จริงมันเป็นเพราะลูกหลานเขาบ้า หรือว่าเพราะเราพ่อแม่พี่ป้าน้าอาปู่ย่าตายายต่างหากที่บ้า จึงทำให้ลูกหลานของเราพลอยบ้าไปด้วย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์