Latest

บทเรียนสำหรับผู้ดูแลคนสูงอายุและคนป่วยเรื้อรัง (care giver)

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ
ผมทราบจากเพื่อนว่าคุณหมอสันต์รับสอนลูกจ้างที่ดูแลคนสูงอายุที่ป่วยเรื้อรังด้วย ตัวผมเองต้องดูแลคุณแม่อายุ 81 ปีซึ่งเป็นอัมพาตแต่ว่าพอจะลุกเดินได้บ้างแล้วโดยใช้ walker ผมอยากจะขอมาเรียนเรื่องการเป็นผู้ดูแลคนป่วยเรื้อรังกับคุณหมอสันต์ด้วยคน ขอรบกวนคุณหมอด้วย

………………………………

ตอบครับ

     แหะ..แหะ ขอแก้ข่าวหน่อยนะ หมอสันต์ไม่ได้รับสอนผู้ดูแลคนแก่/คนป่วยเรื้อรัง ที่เรียกว่า care giver แต่อย่างใด แต่ว่ามีบ้างบางกรณีที่คนไข้ของตัวหมอสันต์เองเป็นคนสูงอายุและป่วยด้วยโรคเรื้อรังหลายโรค คนไข้แบบนี้หลักวิชาเวชศาสตร์ครอบครัวบอกว่าอนาคตจะชั่วดีถี่ห่างอย่างไร ล้วนตกอยู่ในกำมือของลูกจ้างที่รับจ้างมาดูแลหรือที่เรียกง่ายๆว่า care giver อย่างดิ้นไม่หลุด ผมก็จึงมักจะเรียกเอา care giver ของเขามาอบรมฝึกสอนเฉพาะเรื่องเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดูแลคนไข้คนนั้น แต่ไม่ได้รับสอน care giver ทั่วไปครับ

     ความจริงการเปิดสอน care giver ให้เป็นรุ่นเป็นกิจจะลักษณะแบบที่ผมเปิดคอร์ส health camp ก็เป็นไอเดียที่ไม่เลวนะ แต่ว่าตัวหมอสันต์นี้ก็แก่แล้ว หากมัวซ่าจะทำโน่นทำนี่เกินตัวก็มีหวังไม่ได้ตายดี ดังนั้นเรื่องนี้เอาไว้ก่อนก็แล้วกัน ขอใช้เวลาทำเรื่องเฉพาะหน้าก่อน เช่น การจะไปเที่ยวฝรั่งเศสเป็นต้น หิ หิ

     อย่างไรก็ตาม ไหนๆคุณก็ถามมาแล้ว และในเมืองไทยนี้การจะเป็น care giver ที่ดีก็ไม่มีสอนกันที่ไหน ผมจึงเขียนบทเรียนสั้นๆให้คุณจดใส่กระดาษต้มกิน เอ๊ย ไม่ใช่ ให้คุณอ่านแล้วเอาไปใช้แก้ขัดก่อนก็แล้วกัน

…………………………………………….

     บทเรียนสำหรับผู้ดูแลคนสูงอายุและคนป่วยเรื้อรัง (Care giver)


     1. ความรับผิดชอบลำดับที่หนึ่งของผู้ดูแล คือการดูแลตนเองให้มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แข็งแรง เพื่อที่ตนจะได้มีพลังไปดูแลคนสูงอายุหรือคนป่วยเรื้อรังที่เป็นผู้ต้องพึ่งพาตัวเราได้

     2. การเป็นผู้ดูแลเป็นงานอาชีพ  อาชีพหนึ่งทีเดียว เหมือนอาชีพหมอ อาชีพพยาบาล เราในฐานะผู้ดูแล เป็นคนที่มาทำงานนี้ เป็นผู้รับผิดชอบงานนี้ จึงต้องเรียนรู้ที่จะทำอาชีพนี้ให้ได้ดีอย่างมืออาชีพ มืออาชีพนะ ไม่ใช่ตีนอาชีพ (ขอโทษ หิ หิ ไร้สาระ) และมีความสุขกับการได้ทำอาชีพนี้

     3. ความรับผิดชอบอื่นๆในอาชีพของผู้ดูแล ครอบคลุมถึง

     3.1 การดูแลความปลอดภัยของสถานที่ พื้น ทางเดิน แสงสว่าง ราวเกาะ สิ่งของเกะกะที่อันตราย

     3.2 การทำตารางประจำวันสำหรับคนสูงอายุหรือคนป่วยเรื้อรังที่เราดูแล นับตั้งแต่มื้อยา มื้ออาหาร กิจกรรมออกกำลังกาย กิจกรรมฝึกสมอง กิจกรรมพิเศษต่างๆ การขับถ่าย การอาบน้ำ การเข้านอน

     3.3 การทำตารางประจำวันสำหรับตนเอง ซึ่งอย่างน้อยต้องรวมถึง เวลาพักส่วนตัวโดยไม่ได้อยู่กับคนสูงอายุหรือคนป่วย วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 15 นาที เวลาทานอาหาร เวลาออกกำลังกาย อย่างน้อยวันละ 30 นาที เวลานอนอย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง

     3.4 การกำหนดเป้าหมายการดูแลผู้ป่วย ซึ่งในระยะสั้นต้องไฮไลท์เป้าหมายเฉพาะหน้าเพียงหนึ่งหรือสองเรื่อง เช่น “เดินให้ได้” หรือ “เข้าห้องน้ำเองให้ได้” เป็นต้น ส่วนเป้าหมายระยะยาว ต้องมีโครงสร้างที่ครอบคลุม

     3.4.1 การให้ได้ยาครบถ้วนตามแพทย์สั่ง

     3.4.2 การให้ได้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการพอเพียง

     3.4.3 การฟื้นฟูร่างกายได้เต็มศักยภาพของคนสูงอายุหรือคนป่วย

     3.4.4 การฟื้นฟูสมองได้เต็มศักยภาพของคนสูงอายุหรือคนป่วย

     3.4.5 การกระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดความบันดาลใจที่จะใช้ชีวิตให้เต็มศักยภาพที่มี

     3.4.6 การเตรียมความพร้อมให้คนสูงอายุหรือคนป่วยพร้อมที่จะรับมือกับความเจ็บปวดหรือความตาย ผ่านกิจกรรมการฝึกสติ

3.5 การใช้กลยุทธการดูแลที่ดี

     3.5.1 ไม่ถอยห่างผู้ป่วยจนการฟื้นฟูตัวเองของผู้ป่วยถดถอย

     3.5.2 ไม่ดูแลหรือเอาใจผู้ป่วยมากไปจนกลายเป็นการเข้าไปชะลอหรือหน่วงการฟื้นฟูของผู้ป่วย

     3.5.3 หาจุดลงตัวที่ผลักดันให้คนป่วยขยับเลื่อนขั้นการฟื้นฟูให้ได้ อย่างเข้าใจและยอมรับว่า (1) ตัวผู้ป่วยมีข้อจำกัดที่เกิดขึ้น (2) ตัวผู้ป่วยเองเป็นที่พึ่งของตัวเอง

     4. ในส่วนของการดูแลตัวเองของผู้ดูแลเอง ผู้ดูแลจะต้องฝึกสติ เริ่มต้นด้วยการนำตัวเองมาอยู่ในปัจจุบัน (being here and now) การฝึกความรู้ตัวทางร่างกาย การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ จนสามารถสร้างภาวะ “สบายใจ สบายกาย” ให้ตัวเองได้ทุกเมื่อ แล้วก็ฝึกสมาธิ โดยฝึกใช้สติช่วยก่อให้เกิดสมาธิ โดยมีปลายทางว่าสมาธิที่ฝึกได้จะเป็นพื้นฐานให้จิตสามารถรับรู้สิ่งต่างๆรอบตัวได้อย่างรับรู้เฉยๆและอย่างมีเมตตา

     5. ในส่วนเกี่ยวกับตัวคนสูงอายุหรือคนป่วยที่ดูแลอยู่ ผู้ดูแลต้องเรียนรู้ธรรมชาติของการสูงอายุ หรือการป่วยเรื้อรัง ซึ่งมักมีองค์ประกอบของการเสื่อมของสมองร่วมด้วย เป็นต้นว่า

     5.1 เคยน่ารักกลายเป็นไม่น่ารัก

     5.2 อารมณ์ขึ้นๆลงๆ

     5.3 หงุดหงิด โกรธง่าย เอาแต่ใจตัวเองแบบไร้เหตุผล

     5.4 การเรียกร้องความสนใจด้วยวิธีแหย่ให้โกรธ ทำให้แค้น หรือชวนทะเลาะ

     5.5 ติดผู้ดูแลและชอบกดดันผู้ดูแลให้อยู่รับใช้ตนเองไม่ให้ไปไหนห่าง

     ทั้งหมดนี้เป็นพฤติกรรมที่ผู้ดูแลต้องเรียนรู้ที่จะรับรู้แบบเฉยๆด้วยความเข้าใจและด้วยเมตตาธรรม

     6. ในส่วนของโรคและยารักษาโรค ผู้ดูแลจะต้องรู้ว่าคนป่วยเป็นโรคอะไรบ้าง ทำความรู้จักกับยาทุกตัวที่คนสูงอายุหรือคนป่วยทานอยู่และท่องจำรายละเอียดได้ รู้ว่ายาแต่ละตัวเป็นยาชื่ออะไร ต้องทานไปทำไม มีวิธีทานอย่างไร มีผลข้างเคียงที่พึงระวังอย่างไร

     ในกรณีที่มีประเด็นจำเพาะเกี่ยวกับโรคของคนสูงอายุหรือคนป่วย เช่นการฟื้นฟูหลังเป็นอัมพาต ผู้ดูแลก็ต้องเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือและกำกับคนป่วยให้ทำการฟื้นฟูตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าไม่รู้จะไปเรียนจากที่ไหน ก็ลองคุ้ยๆหาอ่านในบล็อกของหมอสันต์ไปก่อน เพราะผมได้เขียนประเด็นต่างๆของโรคเรื้อรังไว้แยะมาก จนตัวผมเองก็จำไม่ได้ว่าเขียนอะไรไปบ้าง ท่านลองอาศัยอากู๋ช่วยคนหาเองก็แล้วกัน

       7. ในการปฏิสัมพันธ์กับคนสูงอายุหรือคนป่วยที่ดูแล ผู้ดูแลต้องเรียนรู้ที่จะปฏิสัมพันธ์กันอย่างผ่อนคลาย กล่าวคือ

a. รับรู้และรับฟังแบบเฉยๆ (ฝึกวิชาหูทวนลมให้บรรลุ)

b. ไม่ใส่ใจอะไรว่าเป็นเรื่องซีเรียส ให้อภัย แผ่เมตตา

c. ไม่ตะโกนหรือตะคอกโต้ตอบ แต่พูดให้ช้าลง พูดตรงหน้า ตั้งใจพูด ขยันพูด หรือเดินหนีไปชั่วคราวหากการปฏิสัมพันธ์ไม่ไปในทางบวก

d. ใช้สามัญสำนึก และอารมณ์ขันในการทำงานดูแล

e. ปลงหรือปล่อยวางในเรื่องที่แก้ไขไม่ได้

f. เพิกเฉยต่อความพยายามของคนป่วยที่จะกดดันผู้ดูแล เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับผู้ดูแลเป็นแบบมิตรไมตรีและเมตตาต่อกัน ไม่ใช่แบบเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

g. ผู้ดูแลต้องธำรงชีวิตบางด้านของตนเองที่เป็นความรื่นเริงบันเทิงใจไว้แยกต่างหากจากคนสูงอายุหรือคนป่วยที่ตนเองดูแล

     8. ในการจะทำงานให้สำเร็จ ผู้ดูแลต้องสร้างทีมงานของตัวเองขึ้นมา เป็นกำลังสนับสนุนตัวเอง ได้แก่

a. หมอหรือพยาบาลที่ดูแลคนไข้อยู่เป็นประจำ

b. เจ้านาย หรือญาติของคนสูงอายุหรือคนป่วยที่ผู้ดูแลรับค่าจ้างจากเขา

c. เพื่อนผู้ดูแลที่ร่วมดูแลผู้ป่วยด้วยกัน

d. เพื่อนหรือญาติของตนเองที่อยู่ห่างออกไปที่ตนเองจะปรึกษาหรือปรับทุกข์ได้

     ทั้งนี้ผู้ดูแลจะต้องไม่ทำงานอยู่คนเดียว จะต้องเสาะหาความช่วยเหลือในการดูแลจากผู้อื่นทุกโอกาสที่เป็นไปได้

     งานของผู้ดูแลเป็นงานที่ยากแต่มีคุณค่า การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ช่วยตนเองไม่ได้แล้ว เป็นที่สุดของเมตตาธรรมที่มนุษย์จะให้ต่อกันได้ แลเป็นที่สุดของกตัญญูกตเวทิตา ที่ลูกหลานจะให้แก่พ่อแม่ปู่ย่าตายายได้ ผมขอเอาใจช่วยผู้ดูแลทุกท่านครับ วันหน้าถ้าผมยังมีแรง หากจะเปิดคอร์สสอนผู้ดูแล จะบอกทางบล็อกนี้นะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

……………………………………