Latest

New Year Resolution ตั้งจิตปีใหม่

เดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายของปีเก่า ผมของดตอบคำถามหนึ่งวันนะครับ เพราะวันนี้เป็นวันสุดท้ายที่ผมจะเขียนบล็อกของปี 2015 ก่อนที่จะหยุดยาวช่วงปีใหม่ไปขับรถเที่ยวเตร็ดเตร่สักพัก และประจวบกับสัปดาห์นี้มีผู้อ่านครบสิบล้าน (10,000,000) คนพอดี นับว่าเป็นฤกษ์ดีที่จะส่งท้ายปีเก่า อดไม่ได้ต้องขอบคุณอากู๋หรือกูเกิ้ล Thank you, Google ที่ทำให้ผมได้มีโอกาสใช้วัยเกษียณให้เป็นประโยชน์ได้บ้างเท่าที่สังขารยังอำนวย ด้วยการตอบคำถามและเขียนอะไรที่ตัวเองเอ็นจอย ขณะเดียวกันก็ทำให้ท่านผู้อ่านจำนวนหนึ่งได้รับประโยชน์จากเนื้อหาในบล็อกนี้ โดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ต้องเสียเงินสักบาท ทุกวันนี้มีผู้อ่านบล็อกนี้วันละราว 15,000 คน แทบทุกคนเข้ามาอ่านแบบอ่านเอาเรื่อง คืออ่านนานและพลิกอ่านไปหลายหน้า ถ้าจะเปรียบการมาอ่านคำตอบเรื่องสุขภาพในบล็อกนี้ครั้งหนึ่งเป็นการไปหาหมอที่โอพีดี.ของโรงพยาบาลหนึ่งครั้ง บล็อกนี้ก็เท่ากับเปิดโอพีดี.วันละ 500 ห้องเลยทีเดียว..ขอบคุณกูเกิ้ลจริงๆ

ที่จั่วหัวว่า New Year Resolution ผมหมายถึงการตั้งจิตในปีใหม่ คือพอจะขึ้นปีใหม่ผู้คนก็จะทบทวนชีวิตและตั้งจิตตั้งใจจะตั้งต้นชีวิตในปีใหม่ให้ดีกว่าเดิม แต่จะไปได้กี่น้ำนั้นอีกเรื่องหนึ่งนะ ในอเมริกาคนที่ทำมาหากินทางทำฟิตเนส หรือยิมเขารู้ดี ศูนย์ฟิตเนสที่มีที่จอดรถไม่พอแต่ละปีเขาจะทำสัญญาเช่าที่จอดสองชั้นเป็นเวลานานแค่ 2 เดือน คือมกรา กุมภา เท่านั้น เพราะรู้น้ำของลูกค้าดีว่าจะฮึดฮัดของขึ้นขยันมาออกกำลังกายเพื่อตั้งต้นปีใหม่กันพร้อมหน้า แต่แล้วก็จะทยอยเลือน เลือน เลือนหายไป เป็นเช่นนี้ปีแล้วปีเล่า ผมเคยเห็นการ์ตูนฝรั่งเขียนรูปหมากับแมวนั่งคุยกัน หมาถามว่า

     “New Year Resolution นี่ จริงๆแล้วมันคืออะไรแน่นะ?” แมวตอบว่า

     “อ๋อ.. มันก็คือรายการที่จดไว้ว่าในสัปดาห์แรกของเดือนมกราคมต้องทำอะไรบ้างไง”

          ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     แต่ที่ผมขำมากกว่าก็คือผมเห็นบอร์ดตั้งจิตปีใหม่ของ เลห์แอน แจชเวย์ (Leigh Anne Jasheway) ซึ่งเธอเอาขึ้นบล็อกของเธอเมื่อปีกลาย ผมขออนุญาตก๊อปมาให้ท่านดู

ตัวผมก็ชอบมี New Year Resolution กับเขาเหมือนกันเพราะมันเป็นความโรแมนติกอย่างหนึ่งของชีวิต เผอิญในปีนี้มีเพื่อนคนหนึ่งมาชวนตั้งจิตทำอะไรในปีใหม่ด้วยกัน ปีนี้จึงแปลกหน่อยที่ผมมี resolution แบบฮั้วกับคนอื่น เพื่อนคนนี้เป็นเพื่อนใหม่ที่อายุน้อยกว่าผมสักสิบปี ไม่ใช่หมอ แต่สนใจเรื่องสุขภาพทั้งในระดับบุคคลและสังคม เขาถามผมว่า

     “อาจารย์มีความเห็นอย่างไรเรื่องที่มีการแสดงความเห็นโจมตีอุตสาหกรรมอาหารและยาว่ามีอิทธิพลเหนือวารสารการแพทย์และการออกคำแนะนำขององค์กรวิชาชีพต่างๆรวมทั้งรัฐบาลในอเมริกา ทำให้ผู้คนต้องกินอาหารอุตสาหกรรมที่มีผลเสียต่อสุขภาพและต้องกินยาอย่างไม่รู้จบสิ้น ซึ่งยาเหล่านั้นก็ไม่เคยรักษาโรคได้ เป็นการกินเพื่อรักษาตัวเลขปัจจัยเสี่ยงที่บริษัทยาพยายามยกขึ้นมาภายใต้หน้ากากของการวิจัยมากกว่า..”

     ผมตอบว่า

     “ธรรมดา.. และใครๆเขาก็รู้กันทั่ว เพราะเราอยู่ในโลกของการหลับหูหลับตาหาแต่เงินเข้ากระเป๋า วิธีไหนได้เงินคนก็เอาทั้งนั้น แต่ผมว่าการที่บริษัทยาทำตลาดผ่านการวิจัยผมว่ามันก็โอแล้วนะ ดีกว่าการทำตลาดผ่านการเมืองอย่างเช่นประเทศที่ขายอาวุธส่งทูตไปยุให้ประชาชนในประเทศลูกค้ารบกับรัฐบาลของพวกเขาเองแล้วขายปืนให้ทั้งสองฝ่าย อย่างนี้สิผมว่าแย่” 

     เขาขอความเห็นอีกว่า

     “แล้วในแง่ที่ว่าโรค NCD (โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) มันเพิ่มขึ้น วิธีการรักษาปัจจุบันก็ไม่ได้ทำให้มันหาย ต้นทุนการดูแลรักษาด้วยวิธีปัจจุบันก็สูงขึ้นๆ มันจะไปจบที่ตรงไหนกัน ในเมื่อถึงจุดหนึ่งนายจ้างหรือองค์กรผู้จ่ายเงินก็จะไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา แล้วระบบดูแลสุขภาพปัจจุบันนี้มันจะไม่ล่มเอาหรือครับ แล้วในเมื่อก็รู้ๆอยู่ว่าการปรับพฤติกรรมเช่นการกินอาหาร การออกกำลังกาย จะทำให้โรคไม่ติดต่อเรื้อรังดีขึ้นได้ ทำไมองค์กรที่เกี่ยวข้องเช่นกระทรวงสาธารณสุขเขาไม่เทคแอ๊คชั่นตรงนี้  แทนที่จะมุ่งไปกับทิศทางเดิมคือการใช้ยาหรือผ่าตัดซึ่งแน่ชัดแล้วว่าไม่ได้ทำให้โรค NCD หาย”

ผมให้ความเห็นว่า
      
“อ้าว..ล่มก็ล่มสิ จะเป็นไรไปละ คุณเองก็เพิ่งพูดอยู่หยกๆว่าระบบปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมรุมเอาสิ่งที่เลวร้ายมายัดเยียดขายให้ผู้บริโภค ถ้าระบบนี้ล่ม คนก็จะไม่มีเงินซื้อยาและผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีผลเสียต่อสุขภาพ ต้องกลับไปกินอาหารธรรมชาติ ซึ่งราคาถูกและมีผลดีต่อสุขภาพ ก็ดีแล้วไง หึ หึ ว่าแต่ทำไมคุณถึงดูเป็นเดือดเป็นร้อนจัง”
      
เขาตอบข้อเคลือบแคลงของผมว่า

     “ก็ในเมื่อเราเห็นว่าทิศทางนี้กำลังมีปัญหา เราก็ต้องหาวิธีนำพาสังคมให้เปลี่ยนทิศ ให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ปรับอาหารการกิน และออกกำลังกาย คือทำให้สุขภาพดีด้วยตัวเอง Good Health By Yourself สำหรับคนที่ป่วยแล้วก็ชักจูงเขาให้พลิกผันโรคของเขาด้วยตัวเขาเอง Reverse Disease By Yourself มันจึงจะเป็นการใช้เวลาในชีวิตที่เหลือของเราได้อย่างคุ้มค่า”

     ผมคันปากอดประชดไม่ได้ จึงว่า

     “สาธุ.. คุณนี่ไปเทศน์ได้เลยนะเนี่ย ไหนลองบอกผมสิ ว่า เอาที่ตัวคุณก่อน คุณคิดว่าคุณควรจะทำอย่างไรเพื่อใช้เวลาในชีวิตของคุณที่เหลืออยู่ให้คุ้มค่า”

     เขาดูท่าทางจะมาเอาเรื่องนี้ให้จบ เขาว่า

     “ผมอยากจะตั้งองค์กรขึ้นมา แบบว่าเป็นธุรกิจที่มุ่งทำสิ่งดีๆเพื่อสังคม เป็น Social Enterprise ทำเรื่องให้ความรู้ผู้คนให้เห็นทางเดินที่ถูกต้องในเรื่องสุขภาพ คือผมว่าการทำธุรกิจได้เงินไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย หากเราทำด้วยความตั้งใจทำเพื่อให้สังคมดีขึ้น ได้เงินก็เอามาทำให้กิจการนั้นดียิ่งๆขึ้นไป”

     ผมทราบว่าเขาเป็นนักธุรกิจ จึงออกตัวให้เขาสบายใจว่า

     “คุณอย่าเข้าใจผมผิดไปนะว่าผมเนี่ยเป็นคนดีไม่เอามือจับเงินแต่เอาตะเกียบคีบ ผมไม่ใช่คนอย่างนั้น อดีตของผมก็ทำงานบริหารธุรกิจมาก่อนเหมือนกัน ผมไม่ต่อต้านการทำธุรกิจแน่นอน แต่ปัญหาก็คือการลงทุนทำสิ่งดีๆมันขาดทุน ให้ผมทำผมก็ไม่ทำ เพราะผมกลัวขาดทุน ถ้าคุณไม่กลัวขาดทุนแล้วทำไมคุณไม่ลงมือทำซะเองละ”

เขาได้จังหวะจึงวกเข้าประเด็นทันที

ผมทำคนเดียวไม่ได้ ผมไม่ใช่หมอ พูดอะไรไปคนเขาก็ไม่เชื่อผม ต้องอาศัยคนอย่างอาจารย์มาทำด้วยกัน”

     ผมเห็นเจตนาเขาแล้วจึงตีชิ่งอย่างนิ่มนวลว่า

     “ผมก็ทำของผมอยู่ ทำแบบออกแต่แรงนะ ไม่ออกเงินนะ เพราะผมเกษียณแล้ว ไม่มีรายได้อะไรแล้ว ต้องกระเบียดกระเสียร จะเที่ยวใช้เงินซี้ซั้วคงไม่ได้ เดี๋ยวผมตายไปแล้วเมียจะลำบาก”

เขาว่า
“ผมทราบว่าอาจารย์ทำ แต่ผมหมายถึงว่า ทำไมเราไม่ทำให้มันมี  impact ที่หนักแน่นในวงกว้างจนหันเหทิศทางของสังคมได้จริงๆ อย่างสิ่งที่อาจารย์สอนอยู่ หากมีกลไกสื่อมันออกไปให้กว้างขวาง ไม่เฉพาะเมืองไทยเท่านั้น ผมมองไกลออกไปถึง AEC และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆด้วย ให้มันมีผลต่อสุขภาพของผู้คนในวงกว้าง ให้เขารู้วิธีทำให้สุขภาพดีด้วยตัวเอง Good Health By Yourself พลิกผันโรคด้วยตัวเอง Reverse Disease By Yourself อาศัยสื่ออย่างเช่นอินเตอร์เน็ท วิดิโอ หนังสือ การแปลเป็นหลายภาษา การสอนเป็นกลุ่ม การประชุมให้ความรู้แก่ผู้มีศักยภาพในการกำกับควบคุมนโยบายสาธารณะ เราทำให้มันยั่งยืน ทำไปก็สร้างคนไว้แทนเราไปด้วย ชนิดที่ว่าเมื่อเราตายไปแล้ว สถาบันนี้ก็จะยังอยู่ ทำสิ่งนี้แทนเราสืบต่อไป”

     เห็นเขาออกแนวเพ้อเจ้อมากขึ้น ผมจึงเตือนสติว่า

     “อื้อ ฮือ คุณนี่ถ้าจะบ้านะเนี่ย ที่คุณพูดมานั้นนะมันต้องใช้เงินนะคุณ รัฐบาลเขายังไม่ลงทุนเลย”

แต่เขาก็ไม่ลดละ
“ถ้าผมเอาเงินมาลงทุน อาจารย์จะช่วยผมทำไหมละ”

ผมติงอีกว่า
“คุณจะต้องใช้เงินแบบถมไม่รู้จักเต็มนะ มันจะไหวหรือ”

เขายืนยันความเห็นว่า
“ผมมองว่ามันก็แค่ใส่เงินลงทุนตอนแรกเพื่อให้มันเกิดขึ้นก่อน แต่แม้จะเป็นการลงทุนเผยแพร่ความรู้ มันก็จะพอมีรายได้กลับมาหล่อเลี้ยงตัวมันเองได้บ้างแหละน่า คือสื่อที่เราผลิตออกไป มันก็มีแจกฟรีบ้าง ขายบ้าง อย่างเราผลิตหนังสือ เราก็ขายไม่ใช่แจก พอได้เงินมาบ้าง ก็เอามาทำอะไรที่เป็นการเผยแพร่ความคิดนี้ให้กว้างขวางต่อไปอีก ถ้าเราผลิตสินค้าที่เป็นความจำเป็นหรือเป็นความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค สินค้านั้นมันต้องขายได้ ดังนั้นการลงทุนจะเกิดก็เฉพาะครั้งแรกหรือปีแรกๆเพื่อให้มันเกิดได้ ถ้าเราไม่งกจะเอาเงินคืน นานไปมันก็จะเลี้ยงตัวเองได้ คือตัวผมนี่ก็ไม่ได้คิดจะหาเงินให้มีมากขึ้นนะครับ อาจารย์เข้าใจผมก่อน ผมไม่ได้คิดจะซื้อรถลอมบอกินี่ คิดแค่ว่าสร้างธุรกรรมดีๆที่มันพอจะเลี้ยงตัวเองให้ยั่งยืนต่อไปได้ แม้เมื่อเราตายไปแล้ว ผมคิดอย่างนั้น..
ถ้าผมลงทุนทำให้มันเกิด อาจารย์ไม่ต้องลงเงินเลย อาจารย์จะตกลงมาทำกับผมไหมละ”
          
เจอเข้าไม้นี้ผมถึงกับอึ้งกิมกี่ไปพักหนึ่ง แล้วจึงคิดในใจดังๆให้เขาฟัง ว่า         

     “อืม..ม ผมคิดสะระตะดูแล้ว เมื่อเงินลงทุนก็ไม่ใช่เงินผม ผมก็ไม่มีอะไรจะเสีย การเผยแพร่ความรู้สุขภาพผมก็ทำเป็นกิจกรรมหลักวัยเกษียณของผมอยู่แล้ว มีคนเอาเงินมาให้ทำได้มากขึ้น ผู้คนก็จะได้ประโยชน์จากความรู้ของผมมากขึ้น ผมมีแต่ได้กับได้นะ เอ้า..เอาก็เอา”

          นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของ New Year Resolution แบบฮั้วกันสองคน เราตกลงตั้งชื่อธุรกิจนี้ว่า WellnessWeCare โดยเขาเสนอว่า

     “เราจะต้องโฟกัสที่การผลิตสื่อให้ความรู้เช่นหนังสือ วิดิโอ แล้วเผยแพร่ไปทุกทางทั้งเว็บไซท์ ยูทูป อีบุ๊ค เฟสบุ๊ค อินสตาแกรม เป็นต้น”

     แต่ผมกลับมีความเห็นอีกอย่างหนึ่ง

     “ผมมีความเห็นว่าปัญหาสุขภาพของผู้คนนี้ ผมประมาณน้ำหนักความสำคัญว่า 70% มันเป็นเรื่องของอาหารการกิน ที่เหลือ 20% เป็นเรื่องการออกกำลังกาย อีก 5% เป็นเรื่องของการจัดการความเครียด และอีก 5% อยู่ที่การมีเพื่อนที่ดีแบบที่เรียกว่า peer support ดังนั้นการจะก่อการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตเพื่อให้สุขภาพดีขึ้นจริงจังเราต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องอาหารการกินให้ได้ก่อน แต่ว่าเพียงแค่คำบอกเล่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะอาหารไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของความรู้เท่านั้น ยังเป็นเรื่องของทักษะด้วย และยังมีอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมมาแจมอีกต่างหาก เราจะต้องวิจัยพัฒนาวิธีทำอาหารกินเองแบบง่ายที่คนเอาไปทำเองได้จริงๆ แล้วเรายังจะต้องมีร้านอาหารแบบที่ผลิตเฉพาะอาหารที่จะช่วยให้คนสุขภาพดี แบบว่า Plant based, whole food ให้ผู้คนได้มาลองกิน มีชั้นเรียนสอนทำอาหารให้ผู้คนได้มาทดลองหัดทำ จนพวกเขามั่นใจว่าอาหารที่จะทำให้เขากลับมามีสุขภาพดีนั้น เป็นอาหารที่ ขอโทษ..กระเดือกได้ และทำกินได้ง่ายๆด้วยตัวเขาเอง”

     นั่นเป็นที่มาว่าในปีใหม่นี้ทำไมคนลิ้นจระเข้อย่างหมอสันต์จึงริอ่านมาทำร้านอาหาร เราตกลงกันว่าจะทดลองดูก่อน โดยปรับบ้านโกรฟเฮ้าส์ที่มวกเหล็กวาลเลย์ซึ่งมีพื้นที่ห้าไร่ให้เป็น เวลเนส วี แคร์ เซ็นเตอร์ ( Wellness We Care Center) บรรยากาศดีๆมีอยู่เรียบร้อยแล้วไม่ต้องสร้าง แต่ครัวดีๆไม่มี ต้องสร้างใหม่ ที่พักค้างแรมสำหรับคนมาเข้าแค้มป์หรือเข้าคอร์สสุขภาพก็ต้องสร้างขึ้นใหม่เช่นกัน เอาสัก 15 ห้องก็พอ โถงประชุมหรือ hall ที่จะใช้ในการเรียนการสอนก็ยังไม่มี ต้องสร้างขึ้นใหม่ ต้องสร้างพื้นที่สอนการทำอาหารด้วย สร้างห้องน้ำห้องท่า และต้องทำให้ทุกอย่างที่ผู้เข้ามาจะได้พบ เห็น ดู ดม และสัมผัส เป็นประสบการณ์เรียนรู้เรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ ปลูกสวนผักพื้นบ้านและผักสวนครัวให้เดินดูเพื่อเรียนรู้ชนิดพืชอาหารที่ใช้บ่อย ทำห้องฉายวิดิโอเล็กๆฉายความรู้ให้ผู้มาเยือนสามารถแวะดูชมได้ตลอดเวลา มีห้องสมุดที่สะสมหนังสืออ้างอิงทางโภชนาการจากทั่วโลกให้ใครก็ตามที่สนใจเข้ามาอ่านได้      

     นอกจากนี้เพื่อดึงดูดเยาวชนที่เป็นกลุ่มคนที่กำลังไปผิดทิศทางในเรื่องอาหารการกินมากที่สุดให้แวะเวียนเข้ามาสัมผัสเรียนรู้เรื่องอาหารสุขภาพในศูนย์แห่งนี้ ผมคิดจะทำสวนดอกไม้สวยๆไว้หน้าบ้านโกรฟเฮ้าส์เพื่อให้เป็นจุดให้เด็กและวัยรุ่นเขาถ่ายรูปเล่นกัน อย่าทำเป็นเล่นไปนะ บ้านโกรฟเฮ้าส์นี้เป็นบ้านโบราณทรงอะดิรอนแด็คที่เท่มากหลังเดียวของเมืองไทยไม่มีที่ไหนเหมือน (ต้องขอบคุณคุณเบอร์นาร์ดผู้ล่วงลับ ที่ได้สร้างบ้านคลาสสิกหลังนี้ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชม) เราตกลงจะเปิดเว็บไซท์ ชื่อ www.WellnessWeCare.com เปิดเฟซบุคเพจในชื่อเดียวกันด้วย แล้วจะทยอยผลิตวิดิโอ.ความรู้การดูแลสุขภาพด้วยตนเองออกเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซท์ ทำจดหมายข่าวรายเดือนส่งให้สมาชิกทางอีเมล และจะทำหนังสือพอกเก็ตบุ้คชื่อ “ป้องกันและพลิกผันโรคด้วยตัวคุณเอง” ออกขายทั้งเป็นแบบหนังสือจริง หนังสือเสียง และอีบุค พอการก่อสร้างเสร็จเราก็ค่อยไปลุยเรื่องทำคอร์สสุขภาพและทำร้านอาหาร

     ทั้งนี้ปักธงว่าจะก่อสร้างให้เสร็จภายในหกเดือน คือเสร็จเดือน มิย. 59 ถึงตอนนั้นเราก็จะเปิดร้านอาหารขึ้นที่ศูนย์เวลเนสวีแคร์นี้ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ให้ที่แห่งนี้เป็นสถานที่คนมาเรียนรู้เรื่องอาหารสุขภาพตามแนวทางหลักฐานวิทยาศาสตร์ คือ Plant-based, whole food หรือ “พืชเป็นหลัก ไม่สกัด ไม่ขัดสี” หมายความว่าเป็นอาหารที่ได้จากพืชผักผลไม้ถั่วงาธัญพืชและหัวใต้ดินต่างๆในสภาพที่ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด หลีกเลี่ยงอาหารที่ผ่านกระบวนการสกัดให้แคลอรี่เข้มข้นขึ้นอย่างเช่นน้ำมัน น้ำตาล และหลีกเลี่ยงธัญพืชที่ผ่านการขัดสีเช่นข้าวขาว ขนมปังขาว เป็นต้น คนที่มีเวลาน้อยก็อาจแค่มาทดลองกิน คนที่พอเจียดเวลาได้มากขึ้นก็อาจมาเรียนรู้วิธีทำอาหารสุขภาพด้วยตัวเอง หรือมานอนค้างอ้างแรมเข้าคอร์สสุขภาพตามโอกาส

          นี่ก็เป็นอีกหนึ่ง New Year Resolution เล่นๆหนุกๆโรแมนติกๆตามอารมณ์ของเทศกาลขึ้นปีใหม่ ส่วนอนาคตจะไปได้กี่น้ำนั้น เป็นเรื่องที่ต้องติดตามชมกันต่อไป ตัวท่านผู้อ่านก็ช่วยลุ้นได้นะครับ โดยตั้งแต่ มิย. ปีหน้า (2559) เป็นต้นไป หากท่านมีโอกาสผ่านไปมาทางมวกเหล็ก – เขาใหญ่ อย่าลืมแวะ เวลเนส วีแคร์ เซ็นเตอร์ แค่แวะมาเยี่ยม มารู้จักอาหาร plant-based, whole food พืชเป็นหลัก ไม่สกัด ไม่ขัดสี แล้วเอาไปปรับอาหารการกินในชีวิตจริงของท่านเพื่อให้ท่านที่ยังไม่ป่วยจะได้ไม่ต้องป่วย ท่านที่ป่วยแล้วจะได้หายป่วย แค่นี้หมอสันต์กับพวกก็สุขใจแล้ว ส่วนเว็บไซท์ www.WellnessWeCare.com นั้นกว่าจะเปิดได้ก็คงต้องราวเดือนมีนาคมไปแล้ว ถึงตอนนั้นท่านที่สนใจก็ติดตามชมได้ครับ

          ขอถือโอกาสนี้บอกลาปีเก่า 2515 และขอให้แฟนบล็อกหมอสันต์ทุกท่านมีสุขภาพดียิ่งขึ้นในปีใหม่ 2516 นี้ (อย่างน้อยก็ช่วงที่ยังคึกอยู่กับ New Year Resolution หิ หิ)


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์