Latest

หมอป่วยเป็นโรคไมแอสทีเนีย กราวิส (MG)

     สวัสดีค่ะอาจารหนูเป็นหมออายุเพิ่ง28ปีหมาดๆ รับราชการ เพิ่งเข้าเทรนmedเมื่อกลางปี58 การเข้ามาเรียนครั้งนี้คือมาตามความชอบล้วนๆค่ะ คือชอบซักชอบตรวจชอบคุย เป็นคนบ้าพลังมากให้ราวด์วอร์ดทำวอร์ดเวิร์คหรือดูคนไข้ทั้งวันก็มีความสุข โดนตามดึกๆแค่ไหนถ้าเรารักษาคนไข้ที่ช้อคหรือวิกฤติให้รอดมันภูมิใจค่ะ คนไข้walk inมาOPDเราซักเราถามตรวจหาโรคเค้าเจอ รักษาเค้าหายมีความสุขมากค่ะ กลับมาบ้านนอนอ่านpaperที่updateตามโรคที่เราเจอมันสนุกมากนะคะ ได้discussความรู้กับอาจารย์กับเพื่อนหนูชอบค่ะ ที่เล่ามานี่คือความจริงไม่ได้โลกสวยแต่อย่างใด สรุปคือหนูรักสิ่งนี้มาก และอาจารย์คนรับเข้าเทรนก็คงเห็นท่านจึงได้รับเราเข้าเรียน
     เข้าเรื่องนะคะเกริ่นมาตั้งนาน เมื่อหนูเข้าเทรนเข้าเดือนที่สองวันที่หนูราวด์และทำวอร์ดเวิร์คเสร็จ หนูมาอ่างล้างมือแล้วมองกระจก หนูพบว่าตัวเองหนังตาตก เท่านั้นแหละค่ะ หนูรู้ชะตากรรมตัวเองเลย MG ฉันเป็น MG เพราะก่อนหน้านี้หนูเริ่มเหนื่อยง่ายมาสักสามสี่เดือนแล้วแต่ไม่ได้สนใจอะไรค่ะคิดว่าเหนื่อยจากทำงานเดินไปเดินมาไม่ได้พักผ่อน ก็เลยได้ admit ต่อมาก็ myasthenic crisis ตามเรื่องตามราวค่ะ tx จนดีขึ้นก็ได้คิว thymectomy ทันทีค่ะ(ผ่าไปวันที่31สค.58) อ้อลืมบอกไป Achr Ab+ve ผลpatho:thymic hyperplasia สรุปคือหนูเป็น Generalize MG ถึงจะ sero positive และเป็นในหญิงอายุน้อยก็เถอะ แต่มันก็ต้องใช้เวลาตอนนี้มาผ่านมาจะเข้าห้าเดือนแล้วอาการก็ดีขึ้นบ้างเป็นแบบgradually improveไม่ได้ dramatic ขนาดนั้นและก็มี imuran, prednisolone, mestinon ที่ยังต้องกินแต่ก็ลด dose ลงได้เรื่อยๆ สรุปคือยังพักอยู่บ้านค่ะยังไปทำงานไปไม่ได้อาจารก็ให้ดรอป1ปีเลยค่ะและทำเรื่องลาป่วยกับทางต้นสังกัดไป ตอนนี้ก็เหลืออีกเกือบหกเดือนค่ะที่จะหมดเวลาดรอปและลา แต่ตัวimuran หนูอาจจะต้องกินต่ออีก 1-1.5 ปีเนี่ยสิคะ ถ้าไปเทรนต้องเสี่ยงกับ infection แน่ๆและก็ไม่มั่นใจเลยค่ะว่าโรคหนูจะ remission เมื่อไหร่ แต่หนูก็แอบคาดการณ์ตัวเองนะคะว่าน่าจะ complete stable remission ปี60หรือ61 แต่หนูเริ่มไม่มั่นใจค่ะว่าต่อให้ good improvement แล้วหรือ remission หนูจะกลับไปเทรน med ไหวมั้ยโรคจะ flare ขึ้นมารึเปล่าจนสุดท้ายก็ต้อง off training อยู่ดี หรือถ้าเรียนจบได้ออกมาใช้ทุนหนูดูคนไข้ med คนเดียวในรพ.ที่หนูขอทุนมาหนูจะไหวมั้ยเพราะหนูไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว
     หนูเคยคุยกับอาจารที่ปรึกษานะคะ อาจารจะทำเรื่องขอเวลาดร็อปเพิ่มอีก1ปีเป็นเรียนปี60
     ใจตอนนี้หนูก็รัก med นะคะ แต่หนูเริ่มมองอีก option ค่ะคือฟรีเทรน fast tract neuro med ปี60หรือ61ซึ่งก็เป็นงานในลักณะที่หนูชอบเหมือนกันและเป็นโรคหนูด้วย และจบมาแล้วคือ scope ของงานมันจะลดลงจาก Gen med ค่ะ แต่ปัญหาคือถ้าหนูจะมาเทรน neuro med คือหนูต้องออกจากราชการค่ะ เพราะแถวๆจังหวัดบ้านเกิดหนูไม่มีทุนให้แล้วค่ะ ตอนนี้รู้สึกสับสนไม่รู้จะไปทางไหนแต่ก็ยังไม่ได้ตัดสินใจอะไรค่ะเพราะคิดว่ายังไม่รีบยังมีเวลารอดูอาการตัวเองไปก่อน แต่ก็ออกนึกเผื่อใจไว้ไม่ได้เลยค่ะว่าเราจะไม่ได้เทรนทั้ง med และ neuromed เพราะตัวโรคเรา นึกถึงมันก็เจ็บปวดนะคะ เหมือนเรามีแฟนที่รักมากคนนึงพร้อมจะอยู่กับเค้าไปตลอดชีวิต แต่สุดท้ายต้องมาบอกเลิกทั้งที่ยังรักมากอยู่เพราะเหตุผลไปด้วยกันไม่ได้มันเฮิร์ทมากนะคะ ไม่รู้จะเอาไงต่อดีค่ะ รู้แต่ว่าพยายามเข้มแข็งไว้ทุกๆวัน    
     อาจารย์มีคำแนะนำอะไรมั้ยคะ
     ปล.ความสุขในชีวิตของหนูที่ตึกตรองได้ตอนนี้นะคะ
1.มีสุขภาพดี
2.ได้ทำงานในสิ่งที่ตนเองรัก
3.มีความมั่นคงในชีวิต แต่เงินไม่ใช่ประเด็นหลักในชีวิต

………………………………………………….

ตอบครับ

     ก่อนจะตอบคำถามของคุณหมอ ผมขอแปลศัพท์แสงที่หมอๆเขาชอบใช้คุยกันให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นที่ไม่ได้อยู่ในวงการนี้ได้เข้าใจเรื่องสักหน่อยนะ

     OPD ย่อมาจาก out patient department แปลว่าแผนกผู้ป่วยนอก

     Discuss แปลว่าคุยกัน แต่การคุยกันในหมู่พวกหมอนี้มักเป็นการคุยกันเรื่องคนไข้เสียเกือบทั้งหมด แบบว่าคนไข้ของฉันคนนั้นมีอาการแบบนี้เธอว่ามันเป็นโรคนี้ได้ไหม ฉันว่าไม่ใช่หรอก น่าจะเป็นโรคโน้นมากกว่า เพราะโน่นนี่นั่น ทำนองนี้แหละ การคุยกันแบบดิสคัสในหมู่พวกหมอนี้ทำกันมาตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์และติดเป็นนิสัย เจอหน้ากันไม่ได้ต้องดิสคัส กำลังจีบกันอยู่ดีๆก็ไม่วายเผลอดิสคัส จึงเป็นอะไรที่น่าเบื่อที่สุดในโลกสำหรับคนอื่นที่ไม่ใช่หมอแล้วต้องพลัดหลงมานั่งกินข้าวในวงที่พวกหมอเขาดิสคัสกัน และนี่น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หมอผู้หญิงหาสามียาก (ผมเดาเอาเองนะ หิ หิ)

     MG ย่อมาจากคำว่า myasthenia gravis อ่านว่าไมแอสทีเนีย กราวิส เป็นโรคที่ภูมิค้นกันของตัวเองทำลายสารเคมีของตัวเองชื่ออะเซติลโคลีนซึ่งทำหน้าที่ส่งกระแสประสาทจากปลายเส้นประสาทไปกระตุ้นกล้ามเนื้อ พอขาดสารตัวนี้กระแสประสาทก็สั่งงานกล้ามเนื้อไม่ได้ เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ถ้าเป็นชนิดน้อยก็อ่อนแรงแค่รอบๆลูกตา แต่ถ้าเป็นมากก็อ่อนแรงไปทั่วตัว

     Myasthenic crisis แปลว่าภาวะฉุกเฉินในโรคไมแอสทีเนียกราวิส ที่หนักมากถึงขั้นกลืนไม่ได้หายใจไม่ได้เพราะกล้ามเนื้อการกลืนและการหายใจไม่มีแรง

     Tx ย่อมาจาก treatment แปลว่าการให้การรักษา

     Thymectomy แปลว่าการผ่าตัดเอาต่อมไทมัสที่อยู่ใต้กระดูกหน้าอกออกทิ้งไปซะ เออ.. ไปตัดเขาทิ้งทำไมละ ตอบว่าเพราะวงการแพทย์มีความเชื่อว่าต่อมไทมัสนี้เป็นที่ส้องสุมของเซลที่ผลิตภูมิคุ้มกันไปทำลายสารเคมีของตัวเอง สงสัยฝรั่งทำเกิน..เอ๊ย ไม่ใช่ สงสัยพระเจ้าจะทำเกินมา จึงตัดมันทิ้งซะเลย ได้ผลหรือเปล่าไม่ทราบเพราะไม่เคยมีงานวิจัยเปรียบเทียบพิสูจน์เรื่องนี้เลย แต่นี่เป็นมาตรฐานการรักษาโรคไมแอสทีเนียกราวิสตั้งแต่โบราณกาลมาจนถึงปัจจุบัน และจะเป็นมาตรฐานต่อไปจนกว่าวงการแพทย์จะฉลาดมากกว่านี้

     Achr Ab+ve แปลว่าตรวจพบภูมิคุ้มกันที่ทำลายอะเซติลโคลีน หรือตรวจได้ผลบวก

     Patho หรือปาโถย่อมาจาก pathology แปลว่าพยาธิวิทยา “พยา” นะ ไม่ใช่ “พยาธิ” ที่เป็นตัวหนอนหรือไส้เดือนกระดึ๊บๆอยู่ในท้อง พยา-ธิวิทยาหมายถึงวิชาที่ว่าด้วยโรคว่ามันก่อความเสียหายให้ร่างกายตรงไหนอย่างไร แต่คำว่าปาโถนี้พวกหมอเอามาเป็นคำสั้นๆแทนคำว่า pathology report ซึ่งหมายถึงผลการตรวจชิ้นเนื้อที่ตัดออกมาจากตัวคนไข้ บางที่ก็ใช้เป็นคำสั้นๆเรียกหมอที่ทำมาหากินทางตรวจชิ้นเนื้อด้วยโดยเรียกว่า “หมอปาโถ” ซึ่งถือกันว่าเป็นคำเรียกที่ให้เกียรติมากกว่าคำว่า “หมอผ่าศพ” ส่วนคำว่า “หมอผี” นั้นห้ามใช้เรียกกันเด็ดขาด เพราะมีคดีความฟ้องร้องกันมาแล้วเมื่อสามสิบปีก่อนว่าเรียกกันแบบนี้มันเป็นการหมิ่นประมาทกันชัดๆ ซึ่งในคดีนั้น ขอนอกเรื่องหน่อยนะ ทนายจำเลยแก้ต่างว่า

“..ข้าแต่ศาลที่เคารพ การเรียกว่าหมอผีเป็นการแสดงเจตนาอธิบายอาชีพที่โจทก์ทำอยู่ ไม่ใช่การแสดงเจตนาหมิ่นประมาท หากเรียกว่า หมอผี..ผี สิ จึงจะเป็นการแสดงเจตนาหมิ่นประมาท..”

     ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     Thymic hyperplasia เป็นคำอธิบายรายงานผลการตรวจชิ้นเนื้อซึ่งพบว่าต่อไทมัสโตขึ้นแบบมีเซลปกติขยายจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยที่ไม่ได้เป็นเซลมะเร็ง

     Generalize MG แปลว่าโรคไมแอสทีเนียกราวิสชนิดเป็นทั่วร่างกายซึ่งเป็นชนิดรุนแรง หากเป็นชนิดหน่อมแน้มเรียกว่า ocular form ซึ่งเป็นแค่รอบๆลูกตา

     Sero positive แปลว่าตรวจภูมิคุ้มกัน (ต่ออะเซติลโคลีน) ได้ผลบวก

     Gradually improve แปลว่าค่อยๆดีขึ้น แต่หายหรือเปล่าไม่รู้นะ

     Dramatic แปลว่าดีขึ้นแบบรวดเร็วเห็นผลทันตา แบบไส้ติ่งอักเสบตัดไส้ติ่งทิ้งแล้วดีขึ้นปึ๊ดเลย

     Imuran เป็นชื่อของยากดภูมิคุ้มกันตัวหนึ่ง ชื่อจริงคือ azathioprine

     Prednisolone เป็นชื่อจริงของยากดภูมิคุ้มกันในกลุ่มสะเตียรอยด์

     Mestinon เป็นชื่อของยารักษาโรคไมแอสทีเนียกราวิส ชื่อจริงคือ pyridostigmine มีฤทธิ์เหมือนยาฆ่าแมลงบางชนิด กล่าวคือมีฤทธิ์ระงับเอ็นไซม์ที่ทำลายอะเซติลโคลีน กินยานี้แล้วจะมีอะเซติลโคลีนเหลืออยู่ที่กระเปาะปลายประสาทมากขึ้น ทำให้กระแสประสาทสั่งงานกล้ามเนื้อได้ดีขึ้น

     Dose แปลว่าขนาดของยา โด้สสูงก็แปลว่าขนาดมาก

     Infection แปลว่าการติดเชื้อ

     Remission แปลว่าการที่โรคแผ่วลงไป มักหมายถึงโรคเรื้อรังที่ยุบหนอพองหนอ ไม่รู้จักหายสักที

     Improvement แปลว่าอาการของโรคดีขึ้น

     Med ย่อมาจากคำว่า Medicine ในที่นี้ไม่ได้แปลว่ายานะ แต่แปลว่าสาขาอายุรกรรมทั่วไป ซึ่งเป็นการแพทย์สาขาที่รักษาผู้ป่วยโดยไม่ทำอะไรรุกล้ำ หมายความว่ารักษาด้วยการให้ยาฉีดยากินเป็นหลัก

     Flare แปลว่าโรคกำเริบขึ้นมาอีก

     Off training แปลว่าหยุดการฝึกอบรมเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกลางคัน

     Fast tract แปลว่าทางด่วน ในที่นี้หมายถึงโปรแกรมที่แพทยสภาคิดขึ้นมาเพื่อสงวนพันธ์แพทย์ในสาขาที่กำลังจะสูญพันธ์ไม่ให้สูญพันธ์ หมายถึงว่าสาขาที่มีความจำเป็นต้องใช้งานแต่ไม่มีใครยอมไปเรียน จะด้วยเหตุว่ามันเรียนยาก หรือเรียนจบแล้วมันหาเงินยาก หรือเรียนจบแล้วมันไม่เท่ ก็แล้วแต่ สาขา fast tract นี้แพทย์จบใหม่สามารถเข้าเรียนได้เลยโดยไม่ต้องไปใช้ทุนรับใช้ชาติในชนบทจนครบก็ได้

     Neuro med แปลว่าสาขาอายุรกรรมประสาท

เอาละ ได้นิยามศัพท์กันพอให้คนทั่วไปอ่านรู้เรื่องแล้ว คราวนี้มาตอบจดหมายของคุณหมอ

     ประเด็นที่ 1. ตัวโรค MG มันไม่ได้เป็นโรคร้ายนะ มีการพยากรณ์โรคที่ดีมาก อายุคาดเฉลี่ยใกล้เคียงกับคนปกติ อัตราตายตลอดชีพจากโรคนี้มีเพียง 3% เท่านั้นเอง แล้วในคนไข้จำนวนหนึ่งโรคนี้หายไปได้เอง ดังนั้นคุณไม่ต้องถึงกับฟูมฟายถึงเรื่องร้ายๆในวันพรุ่งนี้แบบร้องไห้เป็นเผาเต่าอย่างนางเอกลิเกก็ได้

     วงการแพทย์ของเรามีแพทย์รุ่นพี่ที่ได้สร้างสรรค์สิ่งดีๆไว้มาก บ้างก็ได้สอนแพทย์รุ่นหลังๆทั้งด้วยคำพูดและการกระทำที่ดีๆ คุณหมออาจเกิดไม่ทันได้ยินเรื่องราวของคุณหมอวิลเลียม ออสเลอร์ ซึ่งผมถือว่าเป็นครูคนหนึ่งของผมแม้จะไม่ได้เคยเห็นตัวกัน เขาพร่ำสอนนักเรียนแพทย์ถึงการมีชีวิตอยู่ในโลกของวันนี้ เขาบอกนักเรียนแพทย์ว่าวันนี้เป็นห้องซึ่งมีฉากเหล็กทึบกั้นเมื่อวานนี้ไว้ด้านหนึ่ง และกั้นพรุ่งนี้ไว้อีกด้านหนึ่งโดยที่เราไม่อาจฝ่าข้ามฉากเหล็กนี้ไปมาได้ เขาบอกนักเรียนแพทย์ที่เอาแต่กังวลถึงอนาคตว่า

     “..The best preparation for tomorrow is to do today’s work superbly well.”

     “..การเตรียมการที่ดีที่สุดสำหรับวันพรุ่งนี้ คือการทำวันนี้เสียให้ดีที่สุด”

     คุณหมอตีความคำพูดของครูวิลเลียม ออสเลอร์ให้แตกก่อนนะ แล้วทุกอย่างมันจะดีเอง

     ประเด็นที่ 2. การรักษา MG ตามหลักวิชาแพทย์แผนปัจจุบันนั้นมีหลักตายตัวอยู่แล้วและคุณหมอก็รู้ดีหมดแล้ว ผมไม่มีคำแนะนำอะไรเพิ่มเติม แม้ในส่วนการแพทย์ทางเลือกเองก็ไม่มีคำแนะนำ จริงอยู่ถ้าคุณไปดูตำรับพวกแพทย์แผนโบราณของทั้งจีนและยุโรปมีการเอาพืชมารักษา MG หลายอย่างมาก ไล่ตั้งแต่เห็ดหลินจือแดง, หมาหวง (ephedra), แอสตราลากัส,  ไปจนถึงยาเบือแม่สามี..ที่ชื่อสตริ๊กนิน แต่ผมก็ไม่กล้าแนะนำให้คุณลองของพวกนี้เพราะไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ใดๆเกี่ยวกับ safety ของการใช้พืชพวกนี้รักษา MG ตีพิมพ์ไว้เลย

งานวิจัยเกี่ยวกับอาหารในโรค MG ก็ไม่มีเลย แต่มีงานวิจัยอาหารในโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองอย่างอื่นเช่นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ การวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบให้คนป่วยกินอาหารปกติ (ซึ่งมีเนื้อสัตว์อยู่ด้วย) กับอีกกลุ่มหนึ่งให้กินอาหารที่มีแต่พืชแบบไม่สกัดไม่ขัดสี (plant based whole food) พบว่ากลุ่มที่กินแบบหลังมีอาการรบกวนจากโรคน้อยกว่ากลุ่มที่กินอาหารแบบปกติ เนื่องจากการทดลองกินแบบนี้ไม่ได้มีความเสี่ยงอะไร และมันก็เมคเซ้นส์พอสมควรเพราะพืชผักผลไม้มันมีพวกสารต้านอนุมูลอิสระมากมันก็น่าจะลดกระบวนการอักเสบในร่างกายได้มาก ผมว่าคุณลองดูก็ไม่เสียหายอะไรนะครับ คือกินแต่ธัญพืชแบบโฮลเกรน (เช่นข้าวกล้องแทนข้าวขาว) กินพืชผักผลไม้หลากสีให้มากๆ กินเนื้อสัตว์ให้น้อยลง

     อีกอย่างหนึ่งที่ผมจะชวนให้คุณลอง ซึ่งผมเคยแนะนำให้คนไข้ของผมลองแล้วได้ผลดีพอควร นั่นคือการหัดทำอะไรที่มีการเคลื่อนไหวซ้ำซากแบบสโลวโมชั่น ยกตัวอย่างเช่นแปรงฟัน ตื่นนอนเช้าตอนแรงดีๆและอารมณ์รีบๆมันอดไม่ได้ที่จะแปรงฟันฉับๆๆๆ แต่ผมแนะนำให้คุณลองแปลงฟันแบบสโลวโมชั่น เคลื่อนไหวช้าๆ ใช้สติกำกับ ขยับเฉพาะมูฟเม้นท์ที่จำเป็น หรืออย่างเช่นการกินข้าว ผมแนะนำให้คุณกินแบบนักปฏิบัติธรรมไปเลย อย่าเคี้ยวรีบๆจั๊บๆๆๆ เคี้ยวเอื้องช้าๆและมีสติ ตั้งสติก่อนกลืน แล้วกลืนอย่างมีสติ การเคลื่อนไหวแบบนี้จะทำให้คุณมีแรงไปถึงบ่ายถึงเย็น พวกการออกกำลังกายที่มันต้องมีการเคลื่อนไหวซ้ำซากมากๆให้คุณเลื่อนไปทำตอนเย็นหลังเลิกงานแล้ว เพราะถ้าคุณออกกำลังกายตอนเช้าอะเซติลโคลีนของคุณอาจจะใช้หมดเร็วและคุณก็จะเดี้ยงเสียก่อนที่จะทันเลิกงาน

     ประเด็นที่ 3. จะเทรน Med ต่อดีหรือลาออกไปเทรนอายุรกรรมประสาทดี คำตอบนั้นชัดเจนอยู่แล้วครับ คืออยู่เทรน Med ต่อไปนั่นแหละ เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและแก้ปัญหาของคุณได้ทุกอย่าง เพราะเป็นสาขาที่คุณชอบอยู่แล้ว การคิดเปลี่ยนไปเรียนสาขาที่ตนเองป่วยเป็นโรคนั้นเป็นความคิดไม่เข้าท่า เวลาเราป่วยถ้าเป็นโรคที่ซีเรียสเราไม่รักษาตัวเองดอกนะ เราให้เพื่อนหมอคนอื่นรักษา นี่เป็นหลักปฏิบัติที่ทำกันอยู่ทั่วไป ทั่วโลกก็ว่าได้ ความคิดแบบว่าเออ..ตัวเราบ้าๆบอๆท่าจะเพี้ยนเราไปเรียนจิตเวชดีกว่า คิดแบบนั้นไม่ดีหรอก เพราะพลาดท่าเสียทีไปก็จะบ้ากันทั้งหมอทั้งคนไข้ อีกอย่างหนึ่งหากคุณหมอลาออกไป ไหนจะต้องไปวุ่นวายกับการออกจากราชการ ต้องไปเสี่ยงกับการหาที่ฝึกอบรมไม่ได้ ถึงหาได้ก็ต้องไปเสี่ยงกับความไม่เข้าใจของพี่เพื่อนน้องและอาจารย์ในที่ใหม่ เพราะถ้าเราทำงานหนักไม่ไหว คนอื่นที่ไม่รู้จักเรามาก่อนก็จะมองว่าเราเอาเปรียบเขา ขณะที่ที่เดิมเขารู้จักเราดีแล้ว ประเด็นที่ว่างานอายุรกรรมประสาทเบากว่างานอายุรกรรมทั่วไปนั้นก็เป็นการตั้งข้อสังเกตที่ไร้สาระ หมออายุรกรรมประสาทได้ยินเข้าโกรธตาย ความเห็นของผมซึ่งเป็นคนกลาง ทั้งสองอาชีพนี้ต้องการการเคลื่อนไหวร่างกายพอๆกันและคนป่วยเป็น MG ทำได้ทั้งสองอาชีพแหละครับ

     ประเด็นที่ 4. ที่กังวลว่าถ้าทู่ซี้ฝึกอบรมอายุรกรรมทั่วไปแล้วไปไม่รอดถูกเขาถีบออกกลางคันแล้วจะไปอยู่ที่ไหน นั่นมันเป็นการคิดแบบสติแตกมองโลกในแง่ร้ายล่วงหน้ามากเกินไปแล้วนะ เป็นแค่ MG ที่จะมีอันเป็นไปถึงเรียนไม่จบนั้นมีโอกาสน้อยมากจนไม่ต้องเอามากังวลล่วงหน้าดอก ถึงติ๊งต่างว่าคุณเรียนไม่จบจริงก็ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีที่ไปอยู่ดี เรียนไม่จบก็กลับต้นสังกัดเดิมนะสิครับ เขาต้องรับคุณกลับ มันเป็นกฎหมาย ไม่ต้องกลัวจะหลุดจากราชการ ถ้าคุณเทรนไม่จบ โรงเรียนแพทย์เขาก็จะโละให้กลับไปอยู่ต้นสังกัดเดิมโดยอัตโนมัติ ฝ่ายต้นสังกัดเดิมแม้ไม่อยากได้อย่างไรก็ตามแต่เขาก็ต้องรับคุณกลับ เพราะเลขอัตราของคุณอยู่ที่นั่น จะไม่รับกลับนั้นไม่ได้ และไม่มีใครห้ามคุณไม่ให้กลับไปทำงานที่นั่นได้ ไม่มีใครที่ไหนมาไล่คุณออกจากราชการด้วยโรค MG ได้หรอก ผมเคยทำราชการอยู่ยี่สิบกว่าปีผมรู้ดี การจะเอาคนออกจากราชการด้วยเหตุการเจ็บป่วยนั้นหากเจ้าตัวไม่ยอมออกละก็มันเป็นหนังเรื่องยาวจนเกษียณอายุเลยละคุณ เมื่อสิบกว่าปีมาแล้วมีอยู่รายหนึ่งขนาดเป็นบ้าซึ่งเป็นโรคต้องห้ามตามตัวบทจะๆเหน่งๆมีใบรับรองจิตแพทย์ยืนยันเจ้านายเซ็นไล่ออกไปแล้วแต่เจ้าตัวไม่ยอมออกยังดื้อตาใสมาทำงานทุกวันแม้จะทำแบบคนบ้า ที่ทำงานต้องเสียคนดีอีกคนหนึ่งเพื่อคอยเดินประกบ แต่ก็ยังได้รับเงินเดือนทุกเดือน เพราะระบบราชการจ่ายเงินเดือนกันตามเลขอัตราไม่ได้จ่ายตามการเป็นคนบ้าหรือคนดี และในที่สุดคนบ้าคนนี้ก็ยังไม่ต้องออกจากราชการจนแล้วจนรอด จนหายบ้าไปแล้วและยังได้อยู่ในราชการต่อมาจนทุกวันนี้

     โรคที่คุณป่วยอยู่นี้เรียกว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งไม่ใช่โรคต้องห้ามตามตัวบท ถ้าจะโละหมอที่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทิ้งหมด หมอจำนวนถึงหนึ่งในสามของหมอทั้งหมดต้องถูกโละทิ้ง เพราะหากใช้ตัวชี้วัดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ใช้กันทั่วไป เช่นความดันเลือด น้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด น้ำหนัก เป็นต้น จะพบว่าหมอจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ดังนั้นอย่ากังวลว่าโรคของคุณจะทำให้คุณทำราชการไม่ได้

     เขียนมาถึงตอนนี้นึกขึ้นได้ขอนอกเรื่องหน่อยนะ แต่ยังอยู่ในประเด็นระบบราชการมันเป็นระบบที่เอาคนออกยากออกเย็นนี่แหละ ครูของผมเคยเล่าว่าผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งหนึ่งได้ไล่คนขับรถที่สุดยอดจะไม่เอาไหนงานการไม่ทำได้แต่ดื่มเหล้าเมาและเอาของหลวงไปขายกิน ให้ออกจากราชการ แต่ไล่ตั้งสามรอบแต่ก็เอาออกไม่ได้

     รอบแรก ตั้งกรรมการสอบสวนซึ่งมีหมอใจดีคนหนึ่งร่วมเป็นกรรมการด้วย คนขับรถคนนี้ไปร้องไห้กอดแข้งกอดขาหมอใจดีคนนั้นในห้องสอบสวนจนกรรมการพากันใจอ่อนจึงขอลดโทษเหลือแค่ตัดเงินเดือน

     รอบที่สอง ผู้อำนวยการเปลี่ยนกรรมการใหม่ คราวนี้คนขับรถขี้เมาคนนั้นอาบน้ำตัดผมทาแป้งแต่งตัวเรี่ยมพาลูกเมียมาร้องไห้ระงมในห้องสอบสวนและตัวเขาเองก็ทำท่าก้มหน้าต่ำสำนึกผิดสบถสาบานกับกรรมการสอบสวนขึงขัง ว่าต่อไปจะเลิกกินเหล้าเป็นคนดี..ไม่ได้ออกอีก

     รอบที่สาม ผู้อำนวยการเปลี่ยนกรรมการใหม่อีก คราวนี้นายขี้เมาไปบวชเป็นพระ โกนหัวเหม่งนุ่งเหลืองห่มเหลืองสะพายย่ามมารับการไต่สวน และให้การกับกรรมการสอบสวนว่า

     “ไม่เห็นแก่อาตมา ก็ขอบิณฑบาตรให้โยมเห็นแก่ผ้าเหลืองเถิด”

     สรุปว่า ไม่ได้ออกอีก

     ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     ประเด็นที่ 5. ที่กังวลว่าเป็นโรค MG กินยากดภูมิคุ้มกันแล้วไม่กล้ากลับไปทำงานในโรงพยาบาลจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ อันนี้ขอแยกประเด็นหน่อยนะ เรื่องนี้มีอยู่สามประเด็นย่อย

(1) ความเสี่ยงติดเชื้อเพิ่มขึ้นชัดเจนแน่นอนจากการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน นั่นอันหนึ่ง อันนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะต้องใช้ และไม่ว่าอยู่ที่ไหน ก็มีความเสี่ยงนี้เหมือนกัน

(2) ความเสี่ยงเกิดเชื้อหัวแข็ง (superbug) ดื้อยาจนรักษาไม่ได้ขึ้นในตัว นั่นเป็นอีกอันหนึ่ง แต่ว่าเกิดจากเจ้าตัวคนไข้ใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ จะด้วยใช้เองหรือหมอสั่งใช้ในโรงพยาบาลก็ตาม จนเป็นการเพาะพันธ์เชื้อหัวแข็งขึ้นๆๆจนถึงระดับดื้อยาทุกชนิดขึ้นในตัวคนไข้ อันนี้เป็นเรื่องของใครของมันนะ ส่วนใหญ่การเกิดเชื้อ superbug เกิดขณะใช้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดในโรงพยาบาลก็จริง แต่กลไกการเกิดเป็นเรื่องในตัวคนไข้ ไม่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาล ไม่ได้หมายความว่าคนอยู่ใกล้ๆจะป่วยด้วยเชื้อ superbug ไปด้วย

(3) ติดเชื้อจากสภาพแวดล้อม พูดง่ายๆว่ามีคนเอาเชื้อมาปล่อยให้ เช่นเชื้อติดมากับมือหมอมาสู่ตัวคนไข้ มองเผินๆเหมือนกับว่าโอกาสเกิดเรื่องแบบนี้ในโรงพยาบาลน่าจะมีมากกว่าข้างนอก แต่สถิติพบว่าคนทำงานในโรงพยาบาลไม่ได้ป่วยเพราะการติดเชื้อจากสภาพแวดล้อมมากไปกว่าคนไม่ได้ทำงานในโรงพยาบาลเลยนะ โรคติดต่อที่มักเป็นกับคนภูมิคุ้มกันต่ำเช่น วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ จะแพร่กระจายด้วยฝอยละออง (droplets) ซึ่งคนจะได้รับจากที่ชุมชนเช่น ตลาด ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ คือป่วยจากข้างนอกแล้วจึงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หลักฐานวิจัยพบว่าการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาลเกิดได้ชัดทางเดียวคือทางหมอไม่ล้างมือ ส่วนการแพร่กระจายทางฝอยละอองในโรงพยาบาลนั้นมีหลักฐานยืนยันว่าเกิดขึ้นจริงน้อย

     ดังนั้นเมื่อคุณกินยากดภูมิคุ้มกัน การทำงานในโรงพยาบาลโดยปฏิบัติมาตรการป้องกันการติดเชื้ออย่างถูกหลักวิชา ไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากสิ่งแวดล้อมมากไปกว่าการใช้ชีวิตปกติเช่นไปตลาดไปศูนย์การค้ามากมายหรอกครับ

     ประเด็นที่ 6. คุณบอกว่าความสุขในชีวิตที่คุณฝันถึงคือ

1.มีสุขภาพดี
2.ได้ทำงานในสิ่งที่ตนเองรัก
3.มีความมั่นคงในชีวิต โดยที่เงินไม่ใช่ประเด็นหลักในชีวิต

     ทั้งสามข้อนี้ฟังดูแล้ว การได้เป็นหมอ Med อยู่ในรพ.ของราชการที่ไหนสักแห่งไปจนเกษียณก็ตอบความฝันนี้ได้หมดแล้วนะ แต่ผมสงสัยนิดเดียว..แล้วสามีหนุ่มๆหล่อๆดีๆสักคน ไม่เอามั่งเหรอ (หิ หิ ขอโทษ พูดเล่น)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Chelsea M. Clinton, Shanley O’Brien, Junwen Law, Colleen M. Renier, and Mary R. Wendt * Whole-Foods, Plant-Based Diet Alleviates the Symptoms of Osteoarthritis. Arthritis. 2015; 2015: 708152. Published online 2015 Feb 28. doi:  10.1155/2015/708152
2. CDC. Infection Control in Health Care Facilities. Accessed on January 15, 2016 at  http://www.cdc.gov/flu/professionals/infectioncontrol/