Latest

ปราสาทของผู้หญิง และนอกเส้นทางท่องเที่ยวในกัมพูชา

     เรายังอยู่กันที่เสียมเรียบ วันนี้เราให้โรงแรมจัดรถ แต่ไม่ต้องจัดไกด์ เพราะผมอยากเที่ยวแบบตามใจฉันและเที่ยวแบบนอกตำราไกด์ เนื่องจากที่กัมพูชานี้ไกด์เป็นวิชาชีพที่ต้องเรียนกันจนจบมหาลัยและต้องแต่งเครื่องแบบและพูดตามตำราเป๊ะ ผมจึงคิดว่าเอาคนขับรถเป็นไกด์นั่นแหละดี เพราะคนขับรถไม่รู้วิชาไกด์ จึงย่อมจะจัดนำเที่ยวฉบับนอกตำราให้เราได้

     เราจะนั่งรถไปตั้งต้นกันที่ปราสาทบันทายศรี ซึ่งแปลว่าปราสาทของผู้หญิง อยู่ห่างจากตัวเมืองเสียมเรียบออกไปราวสามสิบห้ากิโลเมตร

ภาพถ่ายปี 1934 โปรดสังเกตทรัสเหล็ก ลวดสลิงและรอกทุ่นแรง

     มาถึงปราสาทบันทายศรีเอาเมื่อยังเช้าอยู่ นักท่องเที่ยวยังไม่มาก ซื้อตั๋วแล้วเรายังไม่ไปดูปราสาท แต่เลี้ยวซ้ายไปดูพิพิธภัณฑ์เล็กๆซึ่งเล่าเรื่องการบูรณะปราสาทแห่งนี้ชนิดที่เรียกว่าแทบจะขุดทั้งปราสาทขึ้นมาจากโคลนตม มีอยู่ภาพหนึ่งผมเห็นแล้วถึงกับอึ้ง และต้องขอถอนคำพูดที่พูดไว้กับไกด์เมื่อวานว่าคนฝรั่งเศสท่าจะเป็นผู้รับเหมาที่ไม่ได้เรื่อง ภาพนั้นเป็นภาพที่ถ่ายไว้เมื่อปีค.ศ. 1934 คือก่อนที่ผมจะเกิดราวยี่สิบปี เป็นภาพหลังจากเทฐานคอนกรีตแผ่ให้กับพื้นปราสาทเสียใหม่เรียบร้อยแล้วและกำลังอยู่ในระยะเอาหินระเกะระกะก้อนบะเล่งบะเท่งขึ้นวางประจำที่ทีละชิ้น แม้จะไม่ใช่ยุคสมัยที่มีปั้นจั่นอย่างทุกวันนี้ แต่ในภาพก็แสดงแผนการทำงานที่เยี่ยมวรยุทธ์สำหรับสมัยนั้น มีการตั้งนั่งร้านไม้ไผ่แบบปิรามิดสี่ขาขึ้นหลายจุด แล้วเอาบีมเหล็กคู่มาประกอบกันเป็นรูปทรัสที่ยาวมากโดยมีรอกติดอยู่ที่ปลายทรัส ฐานของทรัสค้ำอยู่กับแง่งหินที่มั่นคงในลักษณะที่ปลายทรัสสามารถแกว่งไปมาได้ แล้วเอาลวดสลิงร้อยรอกปลายทรัสและร้อย “รอกวิ่ง” หรือรอกแบบทุ่นแรง 50% อีกต่อหนึ่ง ก่อนที่จะใช้แรงคนโยกคานหมุนกว๊านเอาลวดสลิงที่ผูกก้อนหินที่จะเอาขึ้นไปวางให้ค่อยๆห้อยต่องแต่งขึ้นไป คอนเซ็พท์ทางวิศวกรรมเหมือนกับการทำงานด้วยปั้นจั่นในยุคปัจจุบันนี้เพียงแต่ว่าเครื่องไม้เครื่องมือนั้นง่ายกว่ากันมาก ปลายทรัสนั้นสามารถโยกและแกว่งหาตำแหน่งวางหินได้โดยอาศัยการดึงและหย่อนเชือกมนิลาที่โยงปลายทรัสเข้ากับยอดนั่งร้านรูปปิรามิดที่ตั้งไว้สามทิศทางรอบหน้างาน ในภาพเห็นนายช่างฝรั่งเศสกับผู้ช่วยของเขากำลังกางแบบแปลนเพื่อตัดสินใจว่าหินก้อนไหนจะขึ้นไปวางตรงไหน ผมเดาเอาว่าเขาจะต้องทิ้งบ้านทิ้งเมืองมากินมานอนกับชาวพื้นเมืองในป่านี้หลายปีมากกว่าจะทำงานนี้สำเร็จ บรรทัดนี้ผมขอสดุดีเขาไว้ ณ ที่นี้ด้วย

บันทายศรี..นิยามของคำว่า “อารยะธรรมขอมโบราณ”

     เมื่อเราเดินไปถึงตัวปราสาทของจริง ผมพูดได้คำเดียวว่าบันทายศรีนี่แหละ คือนิยามของคำว่าอารยธรรมขอมโบราณ ฝีมือทางศิลปกรรมนั้นละเอียดลึกซึ้งซึ่งหากเทียบกับที่นครวัดแล้วก็ต่างกันราวประถมกับมหาลัย และเป็นเครื่องหมายบอกถึงความอารยะ ของขอมโบราณได้ดีกว่าคำพูดหรือศิลาจารึกใดๆ

      บันทายศรีนี้แม้จะเป็นปราสาทเล็กๆ แต่พอตกสายหน่อยก็มีนักท่องเที่ยวแห่กันมาไม่น้อย นักท่องเที่ยวฝรั่งนั้นมาแบบกางเกงขาสั้นกับเสื้อยืดปล่อยไหล่โผล่ข้างหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่เข้ากับแคแรคเตอร์ของบันทายศรีเท่าไหร่ แต่นักท่องเที่ยวเอเซียแบบญี่ปุ่นเกาหลีนี่ต้องยอมรับว่าเธอมีรสนิยมในการแต่งตัวให้เข้ากับบรรยายกาศของสถานที่ดีเยี่ยม มีอยู่นางหนึ่งกำลังโพสท่าให้เพื่อนถ่ายรูป ผมเห็นว่าเธอเก๋ไก๋ดีจึงออกปากขออนุญาตเธอกดไว้หนึ่งแชะ ผมตั้งชื่อให้ภาพนี้ว่า “ผู้หญิง..ที่ปราสาทผู้หญิง” และต้องขอบอกก่อนนะครับว่าเฉพาะภาพนี้เป็นภาพลิขสิทธิ์สำหรับบล็อกหมอสันต์เท่านั้น โปรดอย่าเอาภาพของเธอไปทำมาค้าขายที่อื่น เดี๋ยวเธอเอาเรื่องผมไม่รู้ด้วยนะ

ผู้หญิง ที่ปราสาทผู้หญิง

    ออกจากบันทายศรี เราเดินทางต่อไป ยังไม่ทันไปไหนได้ไกลก็เห็นป้ายเล็กๆข้างทางแวบๆว่า “กับระเบิด” ผมบอกให้ซัวถอยรถไปดู มันเป็นพิพิธภัณฑ์กับระเบิด (Landmine Museum) หน้าตาท่าทางเป็นกระต๊อบสัปปะรังเคไม่น่าจะมีอะไรน่าสนใจมากนัก ไม่เห็นนักท่องเที่ยวแวะสักคน แต่ไหนๆเราก็มาถึงที่นี่แล้ว จะผ่านป้ายของเขาไปเฉยๆก็จะไม่ใจจืดใจดำไปหน่อยหรือ เราจึงตกลงแวะลงไปดู

     เราซื้อตั๋วเข้าไปดูคนละห้าเหรียญ นับว่าแพงเอาเรื่องสำหรับการเข้าไปดูอะไรก็ตามในกระต๊อบเล็กๆหลังหนึ่ง เข้าไปตระเวณดูจึงรู้ว่าที่นี่เป็นความพยายามของฮีโร่กู้ระเบิดของชาวเขมรคนหนึ่งชื่อ อาคิ รา (Aki Ra) ตัวเขาเองเคยเป็นทหารสมัยสงครามล้างเผ่าพันธ์กันเองเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน เขาเล่าว่าวันหนึ่งเขาออกลาดตระเวณก็ไปจ๊ะกับลุงของเขาเองซึ่งเป็นทหารสังกัดอีกฝ่ายหนึ่ง เขารัวปืนแบบปะทะแต่แกล้งยิงไม่ถูก ลุงของเขาก็รัวปืนมาทางเขาแบบยิงนกยิงไม้เหมือนกัน เมื่อต่างรอดชีวิตมาพบกันอีกครั้งสองลุงหลานก็ชวนกันหัวเราะให้กับความไร้สาระของสงคราม แต่อาคิ รา บอกว่ากับระเบิดที่ยังฝังอยู่ทั่วไปในพื้นดินกัมพูชานั้นไม่ใช่อะไรที่ไร้สาระ เพราะหลังสงครามจะต้องมีข่าวชาวนาบ้าง คนหาของป่าบ้าง เหยียบกับระเบิดแขนขาดขาขาด เขาบอกว่าต้นทุนทำระเบิดฝังดินที่ฝรั่งทำมาให้ใช้กันในสงครามประชาชนในเอเซียนั้น พวกเอ็นจีโอเขาประเมินว่ามีต้นทุนลูกละ 3 เหรียญแค่นั้นเอง แต่เมื่อฝังลงดินไปแล้วมันจะยังระเบิดได้อยู่นานถึง 100 -150 ปี และต้นทุกการกู้ระเบิดแต่ละลูกนั้นสูงถึง 500 – 1,000 เหรียญ

กับดักรูปฝาชี กับตัวระเบิด

      อาคิ รา กู้ระเบิดขึ้นมาได้ด้วยตัวเขาเองจำนวนมาก สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น.เคยเผยแพร่ผลงานของเขาและยกย่องให้เขาเป็นฮีโร่คนหนึ่งเลยทีเดียว เขาได้เข้าร่วมกับองค์การกู้ระเบิดสากลและรัฐบาลนานาชาติเพื่อทำกัมพูชาให้เป็นผืนดินปลอดระเบิดซึ่งก็ทำสำเร็จไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว เหลือแต่บางพื้นที่เช่นชายแดนไทยเขมรบางจุด เพราะต่างคนก็ต่างช่วยกันวาง แถมวางแบบไม่มีแผนแม่บทตามหลักวิชาวางระเบิดเสียด้วย คือเอ็งวางที ข้าวางที วางไปวางมาจนต่างฝ่ายต่างก็จำไม่ได้ว่าของตัวเองวางไว้ตรงไหนบ้าง บางทีก็เผลอไปเหยียบของตัวเองก็มี ก็เลยต้องค่อยๆคลำค่อยๆกู้กันอีกต่อไป

     ออกจากพิพิธภัณฑ์กับระเบิดแล้ว เราเดินทางมุ่งไปทางตะวันออก ไปได้ไม่ไกลก็หมดเขตที่มีไฟฟ้าใช้แล้ว แต่ยังจัดว่าเป็นย่านที่คนเขาอยู่ดีกินดีกันพอสมควรเพราะผลดีจากการท่องเที่ยว หมู่บ้านสองข้างทางแม้จะไม่มีไฟฟ้าใช้และออกแนวแห้งแล้ง แต่ก็มีความสะอาด มีขยะพลาสติกน้อยกว่าชนบทไทยเสียอีก บ้านคนฐานะระดับกลางดั้งเดิมจะเป็นบ้านไม้มุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา หลังเล็กราว 50 ตารางเมตร ยกใต้ถุนขึ้นสูงพอมีลุ้นไม่ให้หัวชนตงไม้ ทุกบ้านมีตั่งไม้ไผ่อยู่ที่ใต้ถุน และที่ขาดไม่ได้คือเปลยวน ทุกบ้านต้องมีเปลยวนที่ใต้ถุนหนึ่งหรือสองเปล และต้องมีคนนอนเขลงประจำตำแหน่งอยู่ในเปลยวนอย่างน้อยหนึ่งคน ไม่ว่าจะเป็นเวลาไหนของวัน

ปั๊มน้ำมันข้างถนน ไม่ต้องมีมิเตอร์

     ตามข้างถนนในชนบท มีปั๊มน้ำมันแบบน่ารัก คือเอาน้ำมันใส่ขวดพลาสติกตั้งเรียงไว้ น้ำมันเครื่องก็ขายแบบใส่ขวดเหมือนกันแต่ขวดเล็กกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นมอเตอร์ไซค์ ไม่ต้องมีมิเตอร์ ไม่ต้องมีหัวจ่าย จะซื้อขายกันแบบเหมาเป็นขวดหรือแบ่งเอาด้วยสายตา( ของผู้ขายนะ) ก็ได้เหมือนกัน
  
     ตลอดทางที่ผ่านไปเห็นเด็กนักเรียนเดินกลับบ้านเพื่อไปกินกลางวัน บ้างก็ปั่นจักรยานกลับ ที่เดินนั้นบ้างก็มีรองเท้า บ้างก็แบร์ฟู้ตทั้งๆที่แดดร้อนเปรี้ยงออกอย่างนี้ ในหนึ่งหมู่บ้านจะมีอยู่สองหรือสามหลังที่พยายามสาวเอาน้ำจากน้ำบ่อตื้นขึ้นมารดแปลงผักที่ปลูกไว้ ทำให้มองเห็นสีเขียวของร่องผักเล็กๆเป็นหย่อมๆอยู่บนผืนดินแผ่นใหญ่ที่เป็นสีน้ำตาลของหญ้าแห้งและสีแดงของฝุ่น

หมู่บ้านกำปงแคร็ง สพานไม้ เสาเรือนสูง และเต็มไปด้วยเด็ก

     เราแวะออกทางหลวงหรือไฮเวย์ หมายถึงถนนราดยางสองเลนที่ไม่มีเส้นแบ่งกลาง ทานอาหารที่ร้านอาหารระดับดี ร้านนี้ทานเสร็จแล้วมีเปลญานแขวนเรียงแถวไว้บนเรือนโปร่งยาวเหยียด ให้ลูกค้านอนหลับเพื่อการย่อยอาหารด้วย แต่เราไม่นอน เพราะขืนนอนมีหวังไปตื่นเอาเย็นและอดเที่ยว จึงเดินทางต่อไปอีกร่วมร้อยกิโลเมตร แวะออกถนนชนบทอีกครั้ง แวะโน่น แวะนี่ แล้วก็มาถึงหมู่บ้านสุดปลายถนนขี้ฝุ่นอยู่ริมคลองหรือริมทะเลสาปแห้งชื่อหมู่บ้านกำปงแคร็ง เป็นหมู่บ้านใหญ่ บ้านเรือนตั้งอยู่บนเสาสูงเพื่อหนีน้ำในฤดูน้ำหลาก บ้านทุกหลังแม้จะเก่าและสร้างแบบง่ายๆแต่ก็เป็นบ้านไม้ทาสีเก๋ไก๋ บางบ้านถึงกับปลูกไม้ดอกประดับระเบียงหน้าบ้านด้วยเลยทีเดียว เพิ่มสีสันบางมุมให้หมู่บ้านให้ดูดีขึ้นไปอีก มีสะพานไม้กึงกังกึงกังข้ามคลองสำหรับคนเดินและจักรยาน แต่รถยนต์ข้ามไม่ได้

ผู้มีมนต์สะกดกล้องถ่ายรูปให้ชัตเตอร์ด้าน

     ผมลงจากรถลงไปเพื่อถ่ายรูปเสาบ้านสูงๆซึ่งเป็นภาพที่สวยงาม เดินผ่านกลุ่มแม่บ้านที่กำลังนั่งชำแหละปลาไว้ทำปลาแห้ง ซัวเล่าว่าทุกหมู่บ้านชนบทของกัมพูชา ผู้ชายต้องไปทำงานไกลๆเช่นเมืองไทย หรือไกลกว่านั้นเช่นเกาหลี เพื่อส่งเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวของเขา ขณะที่ผมได้โลเคชั่นและนั่งยองๆลงเพื่อถ่ายรูป ก็มีเด็กน้อยคนหนึ่งมายืนขวางที่หน้ากล้อง ผมจึงหันมาโฟกัสที่เขา เขามีดวงตาดำ แววตาจริงจัง น้ำมูกใส และผิวสีแทนแบบที่น่าจะถ่ายรูปขึ้น ผมกดชัตเตอร์ แต่ปรากฏว่าผมกดชัตเตอร์ไม่ลง เอ๊ะทำไมชัตเตอร์ของผมด้าน เปลี่ยนมาใช้โหมดแมนน่วลแล้วกดอีกที ก็ด้านอีก หรือว่าเด็กน้อยคนนี้มีมนต์สะกด ลองอีกหลายทีก็ไม่ได้ผล ผมลดกล้องลงแล้วจ้องมองหน้าเขา อ้อ เขาเข้ามาใกล้กล้องถ่ายรูปเกินไปนี่เอง ผมไม่ได้ใส่เลนส์มาโคร พอระยะภาพสั้นเกินไปจึงกดชัตเตอร์ไม่ได้ เมื่อถอยนิดหนึ่งก็ แชะ.. ถ่ายรูปหนูน้อยผู้มีเวทย์มนต์ไว้ได้แล้ว

     ผมแอบดูในวงแม่บ้านที่นั่งทำปลาแห้งกันอยู่เห็นว่ามีเด็กนั่งตักบ้าง ยืนข้่างๆบ้างเป็นสิบคน จึงให้แบงค์ดอลล่าซัวไปและกระซิบบอกว่าคุณไปหาที่แลกเงินรีลมาให้ผมเป็นธนบัตรใบละ 2,000 รีลมาสักห้าสิบใบนะ ในระหว่างนั้นผมก็เดินเล่นถ่ายรูป เขาขับรถุหายไปนานแล้วก็กลับมาพร้อมกับแบงค์ใบละสองพันรีลเป็นฟ่อน ผมบอกให้เขาพูดเบาๆเพื่อขออนุญาตพวกแม่เด็กอย่างสุภาพว่าผมจะแจกเงินให้เด็กๆ แต่ซัวกลับตบมือประกาศเป็นภาษาเขมรเสียงดังลั่น ยังไม่ทันสิ้นเสียงประกาศก็มีเด็กกรูกันมาจากทุกสาระทิศ บ้างมาเอง บ้างแม่อุ้มมา ผมกับลูกชายแจกเงินกันไม่ทัน ไม่ถึงหนึ่งนาทีก็แจกได้ครบห้าสิบคน เงินหมดเกลี้ยง แถมยังมีเด็กบางคนชูมือว่าตัวเองยังไม่ได้ก็มี ผมอมยิ้มเพราะผมนับด้วยวิธีตำรวจไทยนับม็อบแล้วว่าอย่างไรเสียจำนวนเด็กที่จับกลุ่มกันอยู่กลางลานมีไม่ถึงห้าสิบคนแน่ๆ ผมพยักหน้าให้ซัวว่าเราต้องออกเดินทางไปจากที่นี่แล้ว ในใจนึกขอโทษรัฐบาลกัมพูชาที่ผมเป็นนักท่องเที่ยวชนิดที่จะมาทำให้พลเมืองของเขาเสียนิสัย ผมไม่ทราบว่าเงิน 2,000 รีลซื้ออะไรได้บ้าง แต่อย่างน้อยก็คงซื้อไข่ได้คนละสองสามฟองละน่า

     ขณะนั่งรถกลับโรงแรม ผมคิดถึงที่เมื่อก่อนมาบรรดาผู้หวังดีต่างรุมเตือนให้ผมระวังโน่นระวังนี่ และว่าคนกัมพูชาเขาไม่ชอบขี้หน้าคนไทยนะ ถ้าไม่นับว่าผมท้องเสียเพราะกินแตงโมซึ่งแม้จะเป้นแตงโมที่เมืองไทยผมกินเมื่อใดก็มักจะท้องเสียเมื่อนั้นอยู่แล้ว คำเตือนอย่างอื่นไม่มีคำเตือนไหนเป็นจริงเลยสักอย่างเดียว หลายวันมานี้ผมสัมผัสพูดคุยกับคนกัมพูชาทุกระดับราวสิบยี่สิบคน บางคนก็ไม่ได้มีหน้าที่อะไรที่จะต้องมาดูแลเอาใจผม แต่ผมกลับได้พบเห็นแต่คนที่มีน้ำใจไมตรี เรื่องความขี้งกนั้นแต่ละชาติแต่ละภาษาก็ย่อมจะต้องมีกันบ้างพองามรวมทั้งชาติไทยเราด้วย อย่าไปว่าคนอื่นเขาเลย และเมื่อพูดถึงคนไทยและเมืองไทย ดวงตาของพวกเขาเป็นประกาย ทุกคนที่ผมได้คุยด้วยล้วนชอบคนไทย ขอบเมืองไทย ชอบของไทย และมักเหน็บประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ทิศตรงข้ามกับไทยด้วยเสมอ ซึ่งผมไม่ยอมผสมโรงนินทาเพื่อนบ้านไปกับเขาดอก ได้แต่ฟังแล้วยิ้ม สำหรับตัวผมเองนั้น มาเที่ยวได้ไม่กี่วัน ผมรักคนกัมพูชาและรักประเทศกัมพูชาขึ้นมาสนิทใจ ต่อไปใครจะว่าอย่างไรผมก็ไม่เชื่อแล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์