Latest

หัวใจหยุดเต้นไปแล้ว..เรียนรู้จากคุณแม่สมร

     ผมได้รับอนุญาตจากคุณแม่สมรให้เผยแพร่เรื่องของท่านได้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่เพื่อนผู้สูงอายุอีกจำนวนมากที่อาจจะได้เรียนรู้จากคุณสมรแล้วนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งผมขอขอบพระคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย การคุยกับคุณสมร มีคุณท็อป (ลูกชาย) นั่งฟังอยู่ด้วยและช่วยเสริมเป็นบางตอน

     คุณสมร หรือที่พยาบาลและสต๊าฟในแค้มป์พลิกผันโรคด้วยตัวเอง (RD camp) เรียกว่าคุณแม่สมร มีชื่อจริงว่า สมร มณีรอด อายุ 71 ปี เรื่องราวการผจญภัยครั้งสำคัญของเธอเริ่มต้นเมื่อต้นปี 2558 เธอเล่าว่า

   
     “ตอนนั้นไปเพชรบูรณ์ กำลังฟังพระสวดมนต์อยู่ แล้วมือข้างหนึ่งที่พนมอยู่ก็ตกลงไป พูดไม่ได้เลย ลูกเห็นเข้าก็รีบเข้ามาพยุง พอดีมีพยาบาลคนหนึ่งมาฟังธรรมอยู่ด้วยก็เข้ามาบอกว่ายกไปทั้งเก้าอี้ อย่าพยุง ก็เลยได้ไปโรงพยาบาลทั้งเก้าอี้ เป็นโรงพยาบาลเล็กๆ เขาบอกว่าตรวจไม่ได้ โรงพยาบาลเล็กไป ก็ส่งไปโรงบาลวิเชียรบุรี เขาก็ตรวจสมองด้วยคอมพิวเตอร์ แล้วให้ยาละลายลิ่มเลือดและยาอมใต้ลิ้น ก็ไม่ค่อยดีขึ้น มันแน่นหน้าอก แต่ยังรู้สึกตัว ลูกๆเขาก็เรียกรถโรงบาล…. (รพ.เอกชนในกทม.) ไปรับ แล้วหมอ… บอกว่าเป็นทั้งอัมพาตและกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โอกาสมีอยู่แต่ไม่มาก ลูกๆถามว่าแม่สู้ไหม ฉันก็บอกสู้ พอฉีดสีสวนหัวใจไปก็พบลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดหัวใจทั้งเส้น จึงทำบอลลูนเลย อยู่โรงบาลนานครึ่งเดือน

     ได้กลับบ้านแล้วรักษาไปรักษามา วันหนึ่งกำลังรดน้ำต้นไม้ก็ล้มลงไปไม่รู้สึกตัวไปนอนอยู่ข้างรถ ลูกเขาอุ้มขึ้นมา ก็บอกเขาว่าแม่ไม่เป็นไร ไปนอนที่เตียง ลูกดูอยู่แล้วบอกว่าแม่ชัก จึงเรียกรถพยาบาลมารับตัวไปที่โรงพยาบาลที่ปากน้ำ ไม่รู้ตัวเลย ลูกคนโตเขาเล่าให้ฟัง ว่าหัวใจหยุดเต้นซ้ำซาก ปั๊มหัวใจกันจนลูกๆสรุปกับหมอว่าพอแล้ว..พอแล้ว ให้แม่ไปสบายเถอะ”

     คุณท็อปเสริมว่า

     “หมอบอกว่าโอกาสเหลือแค่เปอร์เซ็นต์เดียว แต่พอดึกๆ พวกเราก็อยู่กับแม่ในไอซียู. พยาบาลเขาไม่ได้ไล่ให้เราออกไป คือให้โอกาสอยู่กับท่านเป็นครั้งสุดท้าย แต่ตอนดึกพยาบาลเอาไฟฉายส่องตา มันกลับรับรู้ถึงแสงได้”

     คุณแม่สมรเล่าต่อ

     “หมอคนที่ดูอยู่นี้เขาเป็นหมอไต เขาส่งต่อไปโรงพยาบาล… (เอกชน) ที่นั่นเขาใส่ท่อช่วยหายใจเข้าไปในปาก ฮู้ย..ย เจ็บมาก..เจ็บ เขาสวนหัวใจอีก แล้วคราวนี้ใส่เครื่องช็อกไฟฟ้าแบบฝังในไว้ด้วย”

คุณท็อปเสริมว่า

     “หลังออกจากโรงพยาบาลน้องสาวผมเขาก็ค้นหาอ่านเรื่องโรคหัวใจ ก็มาเจอบล็อกคุณหมอสันต์เข้า แล้วรู้ว่าคุณหมอสันต์เปิดแค้มป์ RD รับคนเป็นโรคหัวใจมาเรียน ก็เลยสมัครมา”

     คุณสมรพูดต่อ

     “ได้เข้าเป็นคนสุดท้าย เพราะเขาเต็มจำนวนพอดี พอมาเรียนแล้ว พอกลับจากแค้มป์ก็ทำตัวตามที่เรียนมา ทานแต่ผัก ใส่น้ำ ใส่ผักหลายๆอย่าง มีเต้าหู้ มีเห็ดสามอย่าง ลดการกินเนื้อสัตว์ลงไปมาก แม้แต่ไข่แดงก็ไม่กิน บางวันก็เอาไข่ขาวใส่เป็นกับข้าวด้วย เป็นแกงใส่ไข่ขาว

     เรื่องการออกกำลังกาย ที่หมอย้ำให้ขยันเคลื่อนไหวมากๆ พอกลับไปอยู่บ้านก็รดน้ำต้นไม้ ถอนหญ้า ปลูกต้นไม้ กินข้าว สวดมนต์ ดูทีวี ทำกับข้าว ทำให้ตัวเอง แล้วก็ออกเดินทุกวัน เดินเช้า เดินเย็น เดินได้วันละ 8,000 ก้าว เพราะมีเครื่องนับก้าวด้วย”

     คุณท็อปเล่าเพิ่มเติมว่า

     “คือเราเห็นเพื่อนใช้นาฬิกาออกกำลังกาย ก็เห็นว่าเอ๊ะมันปรับใช้กับแม่เราได้ เพราะตอนอยู่ในแค้มป์ RD หมอสันต์สอนว่าความเครียดเฉียบพลันเนี่ย..ไม่ดี นาฬิกานี้มันบอกได้ว่าแม่นอนไม่หลับหรือเปล่า หัวใจเต้นช้าหรือเร็ว ผมใช้ต่อกับโน้ตบุ้คไว้ แล้วเอาไปต่อกับอีเมลอีกทีหนึ่ง เพื่อให้ลูกทุกคนเปิดเข้ามาดูการเต้นของหัวใจแม่ได้ตลอดเวลาทางอีเมลแบบ real time แล้วพวกเราก็ตั้งกลุ่มไลน์ขึ้นมาคุยกัน วันนี้แม่เป็นอย่างนี้นะ หัวใจเต้นเร็ว มีอะไรหรือเปล่า”

     แล้วตอนหลังออกจากแค้มป์ คุณหมอสันต์เป็นหมอประจำตัวให้ผู้เข้าแค้มป์ทุกคน บางคร้้งเราต้องถามคุณหมอสันต์ทางโทรศัพท์เมื่อมีปัญหา การมีคลื่นการเต้นหัวใจส่งเป็นภาพไปให้คุณหมอดูมันก็ทำให้คุณหมอวินิจฉัยได้ง่าย อย่างครั้งหลังนี้คุณหมอก็ให้หยุดยาไดลาเทรน เพราะเห็นว่าหัวใจเต้นช้าเกินไป โดยที่ไม่ได้ต้องไปถึงโรงพยาบาลเลย”

     คุณแม่สมรเล่าแบบติดตลกว่า

     “บางครั้งลูกเขาก็โทรมาถามว่าตอนนี้แม่ทำอะไรอยู่ ทำไมหัวใจเต้นเร็ว

     ทุกวันนี้ชีวิตก็สุขสบายขึ้น คุณหมอสันต์ให้ฝึกสติ ก็นั่งสมาธิที่บ้าน ทุกวันนี้ทำอะไรเองหมด อย่างทำกับข้าวลูกเขาจ้างเด็กมาช่วยก็จริง แต่เราไม่ให้เขาทำ เราทำเอง อย่างเขาจะเปิดประตูให้ก็บอกว่าไม่ต้องเปิด เราเปิดเอง คือให้เขาเดินตามเราเฉยๆ” 

     ผมจำคุณแม่สมรวันที่มาเข้าแค้มป์รอบแรกได้แม่นยำ การมีผู้ป่วยหนักระดับนี้ทำให้ผมต้องสแตนบายทีมแพทย์ฉุกเฉินไว้ในแค้มป์เลย เพราะลูกชายหิ้วปีกซ้าย ลูกสาวหิ้วปีกขวา เดินได้สักพักต้องหยุดเพราะหอบ พอนั่งแล้วไม่มีลุก เวลาถึงตาที่ตัวเองจะต้องพูดอะไรกับเพื่อนร่วมกลุ่มก็พูดไม่ออก เพราะไม่มีแรงพูด ถึงพยายามพูดก็มีเสียงออกมาน้อยมาก ต้องให้ลูกชายหรือลูกสาวพูดแทน แต่ผ่านมาอีกหกเดือน ถึงวันนี้เธอกลายเป็นคนละคน พูดจาฉะฉาน เล่าเรื่องได้เป็นฉากๆ เป็นผู้สูงอายุที่มีความสุขในชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพราะใคร เพราะตัวเธอนั่นเอง โดยมีลูกๆคอยช่วยจัดหาจังหวะและโอกาสให้ดูแลตัวเองได้ดียิ่งขึ้น

     เรื่องราวของคุณแม่สมรให้บทเรียนที่สำคัญที่สุดหนึ่งข้อแก่คนเป็นโรคหัวใจขาดเลือดทุกคน คือ.. โรคหัวใจขาดเลือด ไม่ว่าจะหนักหนาสาหัสแค่ไหน ก็ฟื้นฟูหัวใจกลับมามีชีวิตที่ดีใหม่ได้ ถ้าเอาจริงและลงมือทำด้วยตนเอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

…………………………………………………………..

จดหมายจากท่านผู้อ่าน1

ขอบคุณค่ะแต่ขอถามนิดนึงนะคะจะถามว่าการรักษาต่างกันหรือคะเอกชนกับรัฐบาลถึงต่องให้เข้าเอกชนน่ะค่ะอยากทราบค่ะคือถ้าเป็นรัฐบาลจะไม่ทำแบบนี้ให้หรือ

ตอบ1

วิธีการรักษาไม่ต่างกันหรอกครับ แต่รพ.เอกชนญาติและคนไข้จะจู้จี้จุกจิกเอากับหมอได้มากหน่อย 

อนึ่ง ทุกครั้งที่ผมเขียนชื่อรพ.รัฐบาลมักเขียนชื่อรพ.จริงไปเลย แต่ถ้าผมเขียนถึงรพ.เอกชนจะใช้คำว่า รพ….(เอกชน) แทน ไม่มีอะไรในก่อไผ่หรอก เป็นเพียงระวังไม่ให้ผิดมารยาทในการประกอบอาชีพเท่านั้น

สันต์

………………………………………………………………

จดหมายจากท่านผู้อ่าน2

อยากทราบคะว่านาฬิกาอะไร ราคาเท่าไรคะ

ตอบ2

คุณท็อปบอกในที่ประชุมกลุ่มเพื่อนช่่วยเพื่อนใน RD camp ว่านาฬิกาใช้ได้หลายยี่ห้อ แต่ละยี่ห้อทำได้พอๆกัน ยี่ห้อที่คุณท็อปใช้ชื่อ Fitbit ราคาในเมืองไทยประมาณ 5,300 บาท

สันต์