Latest

กับดักความเพลิน (Pleasure Trap)

เรียนคุณหมอสันต์

ผมอายุ 66 ปี ติดตามอ่านคุณหมอจากไลน์ที่เพื่อนส่งให้ แล้วย้อนอ่านบทความเก่าๆของคุณหมอไปเยอะ ผมเชื่อว่าคนเกษียณอ่านของคุณหมอเยอะมาก ผมซื้อหนังสือที่คุณหมอพูดถึงมาอ่านด้วยหลายเล่ม ทั้งเอสเซลสตีน ดีน ออร์นิช นีล บาร์นาร์ด ผมรู้และตระหนักว่าต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองตามแนวทางที่คุณหมอแนะนำให้ได้ เพราะทุกวันนี้ชีวิตเกษียณกำลังมุ่งไปสู่การเป็นภาระคนอื่น ทั้งหัวใจ เบาหวาน ความดัน ไขมัน อ้วน แต่ก็แค่รู้ว่าจะต้องไปทางไหน แต่มันทำไม่ได้ เมื่อเริ่มเปลี่ยนอาหารแล้วก็รู้สึกว่าชีวิตแย่ลง มันโหยหาของชอบที่เคยกิน ถามตัวเองว่าทำไมต้องมาลำบากด้วยในเมื่อเราจะอยู่สบายแบบเดิมๆก็ได้ กินยาก็กินสิไม่เห็นเป็นไร ตายก็ตาย ไม่เห็นจะเป็นไร ความพยายามที่จะออกกำลังกายก็ล้มเหลวในลักษณะเดียวกัน
ขอคำแนะนำจากคุณหมอครับ

……………………………………………………..

ตอบครับ

     มีอยู่ช่วงหนึ่งในชีวิตที่ผ่านมา ผมได้ไปเยี่ยมและแหมะตัวเองอยู่ที่รีสอร์ทสุขภาพแห่งหนึ่งชื่อ True North Health Center ที่เมืองซานตาโรซา แคลิฟอร์เนีย ได้ผูกมิตรกับเพื่อนหลายคนที่นั่น บ้างก็เป็นหมอ บ้างก็ไม่ใช่ หนึ่งในจำนวนนั้นคือดักลาส ไลซ์ ( Douglas Lisle) ซึ่งคุยกันถูกคอเพราะเขาเป็นคนมีศิลปะในหัวใจ โดยอาชีพเขาเป็นนักจิต(วิทยา) ทำงานด้านช่วยให้คนไข้เอาชนะนิสัยไม่ดี

     ดักลาสมีแนวคิดของตัวเองซึ่งเขาเขียนความคิดนี้ออกมาเป็นหนังสือ ชื่อว่า “กับดักความเพลิน (Pleasure Trap)”

     โดยตั้งสมมุติฐานว่าสัญชาติญาณของมนุษย์และสัตว์ที่ถ่ายทอดมาทางพันธุกรรมนั้นคือมุ่งเสาะหาอาหารเพื่อยังชีพ และเซ็กซ์เพื่อการดำรงเผ่าพันธ์ โดยพันธุกรรมได้ผูกโยงความเพลิน (pleasure) เป็นสิ่งตอบแทน โดยที่การเสาะแสวงหาความเพลินนี้จะเลือกใช้วิธีที่เปลืองแรงหรือเปลืองพลังงานเสาะหาให้น้อยที่สุด

     เขาเล่าถึงงานวิจัยที่ขังนกไว้ แล้วมีปุ่มให้จิกสองปุ่ม ปุ่มน้ำเงินจิกแล้วประตูกรงจะเปิดออกให้นกบินออกไปเป็นอิสระ ไปบินหาตัวหนอนเพื่อได้กินและหาตัวเมียเพื่อมีเซ็กซ์เอาเองได้ ส่วนปุ่มแดงนั้นจิกแล้วแล้วประตูอีกด้านหนึ่งของกรงจะเปิดออกพาไปหาอีกกรงหนึ่งซึ่งมีตัวเมียรออยู่ที่นั่นแล้วและมีหนอนให้กินด้วย พบว่าหลังจากเรียนรู้แล้วครั้งเดียวนกก็เจาะจงจิกแต่ปุ่มแดงไม่สนปุ่มน้ำเงินอีกเลย

     อีกการทดลองหนึ่งได้เปลี่ยนปุ่มน้ำเงินเป็นเมื่อจิกแล้วจะได้ไปกรงอีกกรงหนึ่งที่มีโคเคนให้กิน ปุ่มแดงไปสู่กรงที่มีนกตัวเมียและตัวหนอน ก็พบว่าเมื่อเรียนรู้สองปุ่มแล้วนกเลือกจิกปุ่มน้ำเงินซ้ำซากด้วยความพอใจที่ได้เสพย์โคเคน ไม่สนตัวเมียแล้ว ไม่สนแม้กระทั้งอาหาร โดยมันตั้งใจจิกปุ่มน้ำเงินซ้ำซากเพื่อจะได้ไปกินโคเคนจนตัวมันเองต้องตายไปเพราะขาดอาหาร

     ดักลาสเล่าว่างานวิจัยนี้เขาไปเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมของนก แต่นกยังใช้หลักชีวิตเดิม คือมุ่งหาความเพลินโดยออกแรงน้อยที่สุด โดยไม่รู้ว่าสิ่งแวดล้อมได้ถูกเปลี่ยนไปในลักษณะที่ถ้ามันยังใช้หลักชีวิตเดิม สัญชาติญาณเดิมของมันจะฆ่าตัวมันเอง

     เขาพูดถึงว่ามันเป็นเช่นเดียวกับที่แมลงบินเข้าชนหลอดไฟ เพราะสัญชาติญาณของแมลงที่ต้องบินเข้าหาแหล่งกำเนิดแสงเพื่อพามันไปตั้งชีวิตใหม่ในที่ที่ไกลจากที่เดิม ซึ่งในธรรมชาติแหล่งกำเนิดแสงก็มักจะเป็นดวงจันทร์ แต่เมื่อเห็นหลอดไฟ สัญชาติญาณเดิมก็ยังจะพามันบินเข้าชนอยู่นั่นแหละ แม้ว่าจะชนหลอดไฟแล้ว ชนหลอดไฟอีก จนตัวมันตาย

     งานวิจัยทางการแพทย์เรื่องการหลั่งโดปามีนในพื้นที่ต่างๆของสมองพบว่าความเพลินเกิดขึ้นพร้อมกับเมื่อบริเวณเบซอลแกงเกลียและพอนส์ (pons) ในสมองมีสารโดปามีนหลั่งออกมามาก บริเวณนั้นในทางการแพทย์เรียกว่าศูนย์ความเพลินหรือ  pleasure center ในการใช้ชีวิตแบบธรรมดาๆของมนุษย์ ทำให้เกิดความเพลินบ้างไม่เพลินบ้าง โดยที่ความเพลินหลักคือก็คือได้กินอาหารและการได้มีเซ็กซ์นั่นแหละ ถือเป็นความเพลินในระดับที่ธรรมดาๆ ไม่หวือหวา แต่สารเสพย์ติดเช่นโคเคน หรือเฮโรอีน ทำให้เกิดความเพลินในระดับเอ็กซตร้า เพราะกระตุ้นการหลั่งโดปามีนในสมองได้แบบพรวดพราดโดยไม่ต้องออกแรงเสาะหามากมาย มีอีกสองกิจกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดการหลั่งโดปามีนมากแบบนั้นได้ คือการออกกำลังกายให้ถึงระดับหนักและการได้นั่งสมาธิให้ถึงระดับลึกซึ่งต้องเหนื่อยยากและฝึกฝนกันนานกว่าจะทำได้ คนได้เสพย์โคเคนหรือเฮโรอีนจึงไม่สนความเพลินอย่างอื่นแล้ว แม้แต่เซ็กซ์ก็ไม่สน เพราะมันต้องเสียเวลาออกแรงกว่าจะได้ความเพลิน แต่ยาเสพย์ติดนี่มันเป็นความเพลินแบบเอ็กซตร้าที่ได้มาแบบไม่ต้องออกแรง

     งานวิจัยพบว่าอาหารที่สกัดหรือขัดสีเอากากออกไปจนได้แคลอรี่สูงเข้มข้น เช่น น้ำมันปรุงอาหาร และน้ำตาล สามารถกระตุ้นสมองให้หลั่งโดปามีนที่ pleasure center ทำให้เกิดความพอใจและอยากได้รับอาหารนั้นมากขึ้นเช่นเดียวกับโคเคนหรือเฮโรอีน พูดง่ายๆว่าอาหารมันๆและหวานๆเป็นความเพลินแบบเอ็กซตร้าที่เราเสพย์ติด และเมื่อเสพย์ติดตรงนี้แล้วก็ไม่อยากเสาะหาอะไรอย่างอื่นแล้วเพราะเปลืองแรงและไม่สะใจเท่า จะเอาแต่ตรงนี้เท่านั้น เราไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะเราแค่ทำตามสัญชาติญาณดั้งเดิมที่ถ่ายทอดมายังเราผ่านหลายชั่วอายุคน แต่เราไม่รู้ว่าสิ่งแวดล้อมด้านอาหารของเราได้เปลี่ยนไปแล้ว ในชั่วอายุคนก่อนๆเมื่อสัญชาติญาณนี้ค่อยๆพัฒนามาในยีน อาหารที่สกัดเอามาแต่แคลอรี่เข้มข้นอย่างน้ำมันกับน้ำตาลยังไม่มี แต่ตอนนี้มันกลายเป็นอาหารรอบๆตัวเราไปเสียแล้ว แต่เราก็ยังไปตามสัญชาติญาณเดิมของเราที่เอาความเพลินแบบไม่ต้องออกแรงมากเป็นที่หมาย แม้ว่าความเพลินอันนี้จะทำให้ตัวเราเองตายเราก็จะยอมตาย เหมือนอย่างที่คนไข้เบาหวานของผมคนหนึ่งท่านเล่ามอตโต้ของท่านสมัยที่ก่อนจะมาเข้าแค้มป์สุขภาพของผมว่า

     “..กินก่อน ตายทีหลัง”

     เมื่อการกินของมันๆหวานๆมันคือการเสพย์ติด พอจะหันมาทำตัวดีกินอาหารธรรมชาติอันได้แก่การกินผักหญ้า ถั่ว ข้าวกล้อง ซึ่งเต็มไปด้วยกาก สมองซึ่งติดอาหารไร้กากและมีแคลอรี่สูงระดับเอ็กซตร้าก็แสดงอาการลงแดง มันเป็นการลงแดงในระดับสัญชาติญาณซึ่งมีพลังมาก ไม่ใช่ในระดับสำนึกผิดชอบชั่วดีซึ่งมีพลังน้อยกว่า ผู้เปลี่ยนมากินอาหารเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพจึงพบว่าแนวทางชีวิตใหม่เป็นแนวทางที่สูญเสียความเพลิดเพลินที่เคยมีในระดับที่ยากจะรับได้ ต้องยื้อยุดกับสัญชาติญาณที่คอยฟ้องตัวเองว่าความเพลินในชีวิตกำลังจะหายไปแบบตลอดกาลเสียแล้ว มันเป็นอะไรที่รับไม่ได้นะ แรงดึงที่จะพาถอยกลับไปสู่อาหารเดิมตลอดเวลาในระยะลงแดงนี้จะรุนแรงอยู่นานประมาณ 1-2 เดือน คนที่สู้แรงนี้ไม่ไหวก็จะเปลี่ยนอาหารไม่สำเร็จ ต้องล้มลุกคลุกคลานครั้งแล้วครั้งเล่าเหมือนคนที่ติดยาเสพย์ติดแล้วเลิกไม่ได้สักที ท้ายที่สุดก็ต้องเสพย์มันต่อไปแม้มันจะทำให้ตัวเองตายก็ยอม ตายก็ตาย ไม่เห็นจะเป็นไร

     น่าเสียดายที่วงการแพทย์ไม่มีความรู้ที่จะมาสร้างกลยุทธ์เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยฝ่าช่วงลงแดงนี้ให้สำเร็จ นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมอัตราความสำเร็จในการรักษาผู้ติดยาและการรักษาโรคอ้วนของแพทย์แผนปัจจุบันจึงต่ำมาก เมื่อแพทย์แผนปัจจุบันไม่มี know-how ผมเองซึ่งเป็นศิษย์ในสำนักนี้ก็เลยบ้อลัดไปด้วย สิ่งที่ผมพอจะมี ก็เป็นเพียงแค่ประสบการณ์ส่วนตัวของผมเอง ซึ่งผมใช้เปลี่ยนแปลงตัวเองตอนที่ผมป่วย ผมจะแชร์ให้คุณและท่านผู้อ่านทุกท่าน ส่วนท่านจะเอาไปประยุกต์ใช้กับตัวเองแล้วได้ผลมากน้อยแค่ไหนนั้นก็สุดแล้วแต่ สิ่งผมจะแชร์กับท่านก็คือ

     1..ผมเรียนรู้จากการที่ต้องถอยกลับไปตั้งหลักที่สนามหลวงครั้งแล้วครั้งเล่าว่า คำถามที่โดนที่สุดที่ผมถามตัวเองแล้วได้ผลทุกครั้งคือ ท้ายที่สุดแล้วในชีวิตนี้ผมต้องการอะไร อะไรที่ผมคิดว่าคนที่มีความรู้ความสามารถเท่าที่ผมมีควรจะได้บรรลุก่อนที่จะตาย What is the life you deserve? เมื่อถามคำถามนี้บ่อยๆ ในที่สุดคำตอบมันจะชัดขึ้นๆจนเป็นคำตอบเดิมๆทุกครั้งที่ถาม คราวนี้ก็สวยเลย เพราะผมสามารถปักเสาธงเป้าหมายปลายทางไว้บนเนินที่เด่นชัดแล้ว ทุกครั้งที่ผมล้มลงไป ผมก็จะลุกขึ้นมา เงยหน้ามองไปยังเนินเสาธงนั้น ปัดฝุ่นออกจากเสื้อผ้าแล้วเดินหน้าต่อไปได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาวกวน หรือคร่ำครวญกับตัวเองเหมือนแต่ก่อน ผมเรียกเทคนิคนี้ว่า “re-focus” คือพอล้มลงหรือเสียศูนย์ก็ลุกขึ้น แล้วปรับโฟกัสใหม่ แล้วออกเดินหน้าต่อไป

     2.. ในช่วงกลางๆของการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ผมศึกษาความสำเร็จของคนอื่นที่เน้นการหลีกเลี่ยงตัวเหนี่ยวไกชักลากตัวเองให้กลับไปสู่วิถีชีวิตเดิม ไม่ว่าจะเป็น คน สถานที่ หรือสิ่งของ บางคนก็ตั้งเป็นทฤษฎีเรียกว่าทฤษฎีความยืนหยัดกับสิ่งเย้ายวน (temptation theory) ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับแนวทางนั้น คือหมายความว่าต้องหนีจากคน สถานที่ สิ่งของ ที่จะพาเราจมปลักอยู่กับความเดิมๆ ผมปักใจกับแนวทางนี้จนตั้งปณิธานว่าถ้ามันจำเป็น หากผมจะต้องปลีกตัวออกไปอยู่ที่ไหนสักแห่งคนเดียวไม่ยุ่งเกี่ยวกับใครเลยตลอดชีวิตที่เหลือ ผมก็จะทำ เพราะว่าแก่ปูนนี้แล้วผมไม่ต้องแคร์ใครแล้ว และก็ไม่มีใครมาอะไรกับผมมากแล้วด้วย แต่พอเอาแนวทางนี้ลงมาปฏิบัติ ผมกลับพบความจริงว่าตัวเหนี่ยวไกที่จะลากผมกลับไปจมปลักกับความเดิมๆนั้นไม่ใช่ใครที่ไหนหรอก มันก็ก็คือตัวผมเองนั่นแหละ จะพูดให้ชัดกว่านั้นมันก็คืออดีตหรือความคุ้นเคยในหัวของผมเองนั่นแหละ ไม่ว่าผมจะปลีกตัวไปอยู่ที่ไหนเจ้าความคิดในหัวนี้มันก็จะตามผมไป ดังนั้นในระยะท้ายๆของการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตัวเองผมจึงหันมาให้ความสำคัญกับการฝึกสติ การฝึกถอยเอาใจมาตั้งหลักอยู่กับลมหายใจ การตามความคิดของตัวเองให้ทัน เพื่อจะได้ไม่ถูกความจำในอดีตของตัวเองฉุดตัวเองไว้กับวิถีชีวิตแบบเดิมๆที่คุ้นเคย

     3.. ในการออกเดินทางพาตัวเองไปสู่เป้าหมาย เท่าที่ผ่านมา ผมมาตรึกดูแล้ว โดยสรุปผมใช้เครื่องมือ 7 อย่างเท่านั้นเอง

     อย่างที่หนึ่ง ก็คือใช้สติเสริมสร้างอำนาจให้ consciousness ของเรา ผมหมายถึงการฝึกความสามารถที่จะย้อนกลับไปดูความคิดของตัวเองที่เพิ่งผ่านไป แล้วเฝ้ามองมันจนมันฝ่อหายไปได้ คำว่า consciousness นี้คำแปลในภาษาบาลีคือคำว่า “วิญญาณ” นะ ซึ่งเป็นคำแปลที่สะใจผมมาก เรื่องสตินี้ในระยะยาวมันหมายถึงการ position วิญญาณของตัวเองให้เป็นผู้เฝ้าดูร่างกายและความคิดของตัวเองจากภายนอกตลอดเวลา ดูเฉยๆโดยไม่เข้าไปพิพากษาหรือตัดสินอะไร คือต้องเข้าใจก่อนว่าวิญญาณหรือ consciousness ของเราเนี่ยมันเป็นของใหญ่และเป็นตัวตนที่แท้จริงของเราตลอดมาตั้งแต่เริ่่มจำความได้จนกระทั่งเราตายนะ ส่วนร่างกายและความคิดของเรานั้นมันเป็นเพียงของเล็กๆชั่วคราวที่อยู่ในนั้นและเป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงเรื่อยมาจนไม่เคยบอกความเป็นตัวเราได้เลย ดังนั้นเราต้องใช้สติเสริมสร้างอำนาจให้วิญญาณของเราซึ่งเป็นตัวตนที่แท้จริงของเราเข้าควบคุมชีวิตของเราให้ได้ อย่าปล่อยให้ความคิดหรือความจำในอดีตหรือสัญชาติญาณมาควบคุมเรา

     อย่างที่สอง ก็คือ ความรู้จักสังเกตสังกาเล็กๆน้อยๆ ไม่ใช่คิดวิเคราะห์มากมายนะ เอาแค่สังเกตแล้วสรุปก็พอแล้ว เพราะความล้มเหลวหรือผิดพลาดในการเดินไปข้างหน้ากับชีวิตของเรานี้มันเป็นเรื่องเดิมๆซ้ำๆซากๆ แค่สังเกตนิดเดียวเราก็อ๋อแล้ว แต่ถ้าไม่สังเกตเลย เราก็บอดซ้ำซากอยู่นั่นแหละ

     อย่างที่สาม ก็คือ อันนี้สำคัญ ผมจะเรียกมันว่าอย่างไรดีละคุณจึงจะเข้าใจ ขอใช้ศัพท์หลายคำนะ อาจจะเรียกว่าความกล้าลุย (courage) หรือความบันดาลใจ (motivation) หรือความสุดจิตสุดใจ (dedication) หรือความอุตสาหะพยายาม (drive) หรือพลัง (energy) หรือความขยัน (diligence) แล้วยังรวมความสนุกสนาน (enjoyment) อยู่ในนั้นด้วย คำทั้งหมดนี้ผมตั้งใจจะใช้อธิบายถึงเครื่องมือชิ้นเดียวกัน ผมเรียกรวมๆว่าความกล้าลุยก็แล้วกันนะ เมื่อเราล้มลงและหมดแรง เจ้าตัวนี้มันจะฉุดเราขึ้นมาว่า เฮ้ย ลุกขึ้น อะไรกันวะ แค่นี้จอดแล้วเหรอ เมื่อเราเบื่อและท้อถอย เจ้าตัวนี้จะเอานิ้วจี้สีข้างเราและว่า มาน่า มันสนุกนะโว้ยเอ็ง มันเป็นของชอบของเราไม่ใช่หรือ นี่แหละ ตัวตนของเรานะ ประมาณนี้  ความกล้าลุยนี้แต่ก่อนผมไม่เคยให้ราคา แต่ในการปรับวิถีชีวิตของตัวเองเพื่อออกจากวิถีชีวิตเดิมๆนี้ เดี๋ยวนี้ผมพบว่าผมขาดมันไม่ได้เลย ความกล้าลุยนี้มันจะแรงดีมากถ้าได้ออกกำลังกายให้หนักจนเหนื่อยทุกวัน ช่วงไหนไม่ได้ออกกำลังกาย ความกล้าลุยกับชีวิตก็จะฝ่อลงไป

     อย่างที่สี่ ก็คือ การมีชีวิตอยู่กับที่นี่เดี๋ยวนี้ อยู่กับ sensation ของเราเอง ณ ขณะนี้ อยู่กับภาพที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ลมที่เพิ่งพัดมากระทบผิวกาย ความคิดที่เพิ่งผ่านแว่บไป แค่เนี้ยะ เป็นปลื้มกับปัจจุบัน ขอบคุณฟ้าดินที่ทำให้มีวันนี้ มองสิ่งรอบตัว ณ ขณะนี้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของมัน มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ไม่ถอยไปในอดีต ไม่ล่วงหน้าไปในอนาคต เพราะเมื่อเราพูดถึงการปรับวิถีชีวิต หรือการมีชีวิต หรือแม้กระทั่งตัวชีวิตเอง เราหมายถึงเดี๋ยวนี้เท่านั้นนะ

     อย่างที่ห้า ก็คือ การผ่อนคลาย เพราะผมเพิ่งมารู้ตัวเอาตอนแก่นี่เองว่าตัวผมเนี่ยเคร่งเครียดมากเกินไปจนหัวคิ้วผูกโบว์แบบถาวรไปแล้ว ความเคร่งเครียดทำให้สูญเสียพลัง ในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ผมหัดผ่อนคลาย หัดยิ้ม ผมว่ามันสำคัญนะ มันทำให้ผมไม่หมดแรงง่ายๆ

   อย่างที่หก ก็คือ การมีสมาธิ ผมหมายถึงความสามารถที่จะจดจ่ออยู่กับอะไรสักอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ทีละอย่าง อันนี้มันเป็นเบสิกที่เข้าใจง่ายๆ ถ้าเราจดจ่อไม่ได้ เราจะเดินมุ่งไปยังเนินเสาธงลิบๆข้างหน้าโน้นให้ตรงทางได้อย่างไร ถูกแมะ

    อย่างที่เจ็ด ก็คือ ทัศนคติ “ช่างมันเถอะ” คือในการเดินหน้าไปกับชีวิตนี้มันมีอะไรที่ไม่สมบูรณ์แยะมาก มีความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นไปอย่างใจเราคาดแยะมาก แล้วผมเนี่ยยิ่งแก่ยิ่งรับรู้อะไรมามาก ถ้าผมไปใส่ใจตั้งคำถามว่าทำไม ทำไม ทำไม ผมก็ไม่ต้องไปไหนกันพอดี ถ้าเป็นเรื่องนอกตัวที่ผมไม่มีอำนาจไปดลบันดาลอะไรได้ เดี๋ยวนี้ง่ายมาก..ช่างมันเถอะ ผมรับรู้ แล้วก็เฉยเสีย ไม่ออกแอคชั่น แต่ถ้าเป็นเรื่องในตัวผมเองเช่นผมพ่ายแพ้แก่ความขี้เกียจหรือแก่ความคิดฟุ้งสร้านหรือความคิดลบเดิมๆที่กลับมาครอบหัวผม ผมไม่ช่างมันนะ ผมจะหันไปหยิบเครื่องมือตัวอื่นเช่นสติ สมาธิ หรือความกล้าลุย มารับมือแทน

      เครื่องมือทั้งเจ็ดอย่างนี้ผมใช้มาระยะหนึ่งแล้ว พบว่ายิ่งใช้ยิ่งชำนาญ และทำให้ผมก้าวหน้ากับชีวิตดีมาก ไม่ได้หมายถึงก้าวหน้ากับตำแหน่งหน้าที่การงานนะเพราะผมเกษียณแล้วไม่มีสิ่งเหล่านั้นแล้ว แต่หมายถึงว่าก้าวหน้าตรงไปหาเสาธงที่ผมปักไว้บนเนิน คุณจะเอาไปลองดูก็ได้นะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์