Latest

กลัวว่าตายไปแล้วไม่่มีชาติหน้า จึงอยากหาให้พบในชาตินี้

สวัสดีค่ะ คุณหมอ

ขอถามปัญหาชีวิตหน่อยค่ะ
อายุ 28 ปีแต่เกิดวิกฤติวัยกลางคนค่ะ
คือ ไม่รู้ว่าชีวิตนี้ต้องการอะไรกันแน่..เหมือนอยู่ไปวันๆ

ทำงานเพียงเพื่อให้มีปัจจัยในการดำรงชีวิต แต่ก็ไม่ได้พิศวาทในงานเท่าไหร่นัก  ทำงานแค่ให้สังคมไม่ตราหน้าว่าเราขี้เกียจ
คนที่คบหาก็พยายามคบเป็นแค่เพื่อน  ไม่กล้าแต่งงาน ไม่กล้ามีลูก ไม่กล้าสร้างหนี้บ้านหนี้รถ

พยายามปลอบใจตัวเองว่า ไม่ได้ต้องการของพวกนี้ อยู่แบบนี้ก็สบายดีอยู่แล้ว สันโดษดี แต่พอมองลงไปในใจตัวเองจริงๆก็ไม่แน่ใจว่า ตัวเองสันโดษจริงมั้ย เพราะ
ยังคงมองเพื่อนๆแล้วอิจฉา คนที่เค้ามีชีวิตที่ดี มีอาชีพที่สร้างรายได้ดีมีรถบ้านสามี  หรือบางทีก็อิจฉาน้องในมหาวิทยาลัยที่เค้ามีอาชีพในฝันที่อยากทำ

ปล.งานที่ทำอยู่ไม่ได้มีปัญหานะคะ เพราะดันเป็นคนที่ทำได้ทุกอย่างแต่ไม่เป็นexpert เป็นแบบนี้ตั้งแต่ตอนเรียนแล้วค่ะ คือ เอ็นทรานซ์ตามคณะฮิตๆมหาวิทยาลัยดังๆ เเต่ก็เรียนจบจนโดยไม่รู้ว่าใช่คณะที่ชอบมั้ย

สรุปคือ กลัวว่าตายไปแล้วไม่มีชาติหน้า
..ชาตินี้จึงอยากรู้”วิธีค้นหา” ว่า ตัวเองต้องการอะไรในชีวิตกันแน่ “วิธีค้นหา”ว่า อะไรคือเป้าหมายในชีวิตที่ตัวเองต้องการค่ะ
ขอความกรุณาคุณหมอค่ะ

…………………………………………..

ตอบครับ

     นานๆก็หยิบจดหมายน้ำเน่าไร้สาระของเด็กๆขึ้นมาตอบซะที แฟนประจำที่เป็นคนสูงอายุไม่ว่ากันนะครับ

     คุณเป็นคนวัยหนุ่มสาวที่มีการศึกษาสูง มีงานมีการที่ดีและมั่นคงทำ และทำงานได้ดี แต่ทำไปสักพักก็รู้สึกว่าชีวิตนี้มันช่างอ้างว้างโหวงเหวง ไม่คุ้มค่าที่เกิดมา เหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง นี่เป็นประสบการณ์ชีวิตปกติที่คนส่วนใหญ่ประสบ

    บางคนปักใจเชื่อว่าสิ่งที่ขาดไปคือการได้แต่งงาน มีเซ็กซ์ ก็จึงดิ้นรนขวานขวายไปแต่งงาน ไปมีเซ็กซ์ เพื่อการนี้บางคนไปทำศัลยกรรมตกแต่ง เสริมหรือลดริมฝีปาก เหลาจมูก ตัดกราม ฯลฯ เพื่อให้ได้มีโอกาสแต่งงาน ได้มีเซ็กซ์ แต่เมื่อไปถึงตรงนั้นแล้ว สถิติคนรุ่นคุณปัจจุบันนี้พบว่าประมาณ 50% ไปแล้วก็ถอยกลับเพราะว่านั่นก็..ไม่ใช่

     บางคนปักใจเชื่อว่าสิ่งที่ขาดไปคือการมีลูก ก็ดิ้นรนขวานขวายที่จะมีลูก ไปทำเด็กหลอดแก้วไปทำกิฟท์ทำอิ๊กซี่ พอมีลูกแล้วส่วนหนึ่งก็พบว่าไม่ใช่ ในจำนวนนี้ ส่วนหนึ่งตัดสินใจถอยกลับโดยเอาลูกไปแหมะไว้ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง ส่วนตัวเองนั้นปร๋อไปค้นหาสิ่งใหม่ต่อไป ซึ่งก็มักจะตกลงไปในร่องเดิมซ้ำซากอย่างกับหนังเรื่องชีวิตบัดซบของนางสาวกิ่งกาญจน์ ภูวดล (ชื่อนางเอกหนังเมื่อราว 50 ปีก่อน) อีกส่วนหนึ่งมีมานะไม่ยอมถอยกลับ แม้จะพบว่าไม่ใช่ก็ต้องหวานอมขมกลืนเลี้ยงลูกไปเพราะยังมีสำนึกผิดชอบชั่วดีว่าตัวเองทำให้เขาเกิดมาแล้วก็ต้องเลี้ยง กลุ่มหลังนี้ที่เป็นแฟนบล็อกหมอสันต์อยู่ก็มีไม่น้อย สังเกตจากจดหมายที่ถามปัญหาเรื่องลูกเข้ามาไม่ขาดสาย

     บางคนปักใจเชื่อว่าการทำงานหาเงินให้ได้มากแล้วเกษียณอายุเร็วๆจะได้มีชีวิตที่สบายในบั้นปลาย พวกนี้จะเป็นกลุ่มผู้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเช่นความดัน ไขมัน เบาหวาน อ้วน อัมพาต ส่วนหนึ่งได้เกษียณโดยมีเงินสมใจ แต่ก็ไม่พบกับความรู้สึกที่คาดหมายว่าจะพบ เพราะเงินที่เก็บไว้ไม่ว่าจะเก็บได้กี่แสนกี่ล้านก็ตาม ก็พบว่ามันไม่พออยู่ดี แล้วการเกษียณที่คาดหมายว่าจะเป็นช่วงที่ดีของชีวิตนั้น พอเดินทางมาถึงจริงๆกลับพบว่ามันช่างว่างเปล่า บางคนไปเที่ยวแล้วก็ไปเป็นทุกข์เพราะการท่องเที่ยว ไปเที่ยวแสวงบุญที่อินเดียก็ไปเป็นทุกข์เพราะเห็นพระไทยที่อินเดียทำตัวรุ่มร่าม เป็นต้น บางคนดิ้นรนขอต่ออายุในที่ทำงานเดิม หรือไม่ก็ดิ้นรนไปหางานอะไรทำใหม่ ซึ่งก็คือกลับเข้าสู่วงจรความเครียดจากการทำงานและการเกิดโรคเรื้อรังใหม่

     ทั้งหลายทั้งปวงนี้บ่งชี้ว่าใจของคนเรานี้มันเสาะแสวงหาอะไรที่มากกว่า ใหญ่กว่า กว้างกว่า ไกลกว่า ดีกว่า สิ่งที่มีที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างไม่รู้จบไม่รู้สิ้น

     พูดถึงวิธีการขุดค้นหาสิ่งที่ตัวเองรักชอบจากก้นบึ้งของหัวใจอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า passion นั้น วิธีการของฝรั่งก็คือย้อนกลับไปขุดค้นหาความประทับใจในวัยเด็กให้พบว่าตัวเองมีความสุขกับเรื่องอะไร แล้วนำมาเป็นแรงผลักดันให้มีความสุขกับการทำอะไรคล้ายๆกันนั้นในวัยผู้ใหญ่ นี่เป็นสูตรสำเร็จที่เขียนไว้ในหนังสือหรือสอนกันในหลักสูตร motivation ต่างๆของฝรั่ง สูตรนี้มันมีรากฐานมาจากความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยาที่ว่าคนเรานี้สนองตอบต่อสิ่งเร้าด้วยกลไกการสนองตอบเฉียบพลัน (reflex) ซึ่งกลไกนี้ได้เอาประสบการณ์ในอดีตมาเป็นส่วนหนึ่งของวงจรการสนองตอบด้วย เรียกว่า conditioned reflex ยกตัวอย่างเช่นเมื่อสั่นกระดิ่งก่อนให้หมากินอาหาร นานไปหมาได้ยินเสียงกระดิ่งก็น้ำลายไหลแล้ว แม้จะยังไม่เห็นอาหารหรือได้กลิ่นอาหาร เพราะการที่น้ำลายไหลนั้นเป็นการสนองตอบไปตาม conditioned reflex ที่มีความจำเรื่องเสียงกระดิ่งกับการกินอาหารเป็นส่วนหนึ่งของวงจรด้วย เพื่อให้คุณเข้าใจง่ายยิ่งขึ้้น ยกตัวอย่างเด็กเล่นขายของ เด็กคนหนึ่งเล่นขายของแล้วมีความสนุกสนาน สมองก็จะจำไว้ เล่นอีกก็มีแนวโน้มจะสนุกอีก ซ้ำซากๆ โตขึ้นเมื่อได้ไปทำอะไรที่คล้ายๆกันเช่นการทำมาค้าขายก็จะมีความสุขกับการได้ทำอย่างนั้น เปรียบเทียบกับเด็กอีกคนหนึ่งเล่นขายของแล้วถูกเพื่อนโกงหรือโดนเพื่อนเอาเปรียบหรือตัวเองแอบโกงเพื่อนแล้วเกิดความรู้สึกผิด ก็จะไม่ชอบเล่นขายของ เล่นอีกก็ไม่สนุกอีก เลยเลิกเล่น โตขึ้นหากต้องไปมีอาชีพที่คล้ายๆการเล่นขายของเช่นต้องมีเป้าหมายมียอดขายมีการทำกำไรก็จะไม่สนุกกับการต้องทำเช่นนั้น เพราะ conditioned reflex คอยกำกับให้ไปทางที่จะไม่มีความสุขกับมัน

    หลักการแสวงหา passion ของฝรั่งมีหลักเท่านี้เอง คือมองย้อนไปในอดีต มีโมเมนต์ไหนบ้างที่ทำให้เรามีความสุขอย่างโดดเด่น หรือสุขซ้ำๆซากๆ นั่นแหละเป็น passion ของเรา ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าต้องทำให้เหมือนเดิมเด๊ะ แต่อะไรที่คล้ายกัน เช่นคนชอบเล่นกอล์ฟอาจทำงานขายหรือซ่อมไม้กอลฟ์ก็ได้เป็นต้น

     ยกตัวอย่างในชีวิตจริงอีกตัวอย่างหนึ่งผมมีเพื่อนคนหนึ่งเรียนจบแล้วก็เกกมะเหรกเกเร เอาดีอะไรไม่ได้จนพ่อแม่เป็นทุกข์พาลจะตายตาไม่หลับ ตัวเขาเองก็รักพ่อแม่และไม่อยากให้พ่อแม่เป็นทุกข์ แต่ก็ไม่รู้จะทำอะไรกับชีวิตของตัวเองดี เขามานั่งนึกย้อนว่าในอดีตมีโมเม้นท์ไหนบ้างที่มีความสุขจริงจัง เขาคิดได้ถึงโมเม้นท์เดียวคือสมัยที่พวกเราอายุราว 18 ปี ได้พากันเดินป่าไปตามดอยในเชียงใหม่ ไปที่ดอยแม้ว เห็นยายแก่แม้วคนหนึ่งอาศัยในกระต๊อบขนาดห้องส้วมซึ่งเอียงกระเท่เราใกล้พังและหลังคารั่ว พวกเราซึ่งมีสี่คนได้หยุดเดินป่าหนึ่งวันเพื่อช่วยกันซ่อมบ้านให้ยายแก่แม้วคนนั้นจนเสร็จ เพื่อนคนนี้เขาจำความรู้สึกได้ว่าเขาทำกระต๊อบนี้เพื่อยายแก่ที่ลำบากจะได้มีบ้านอยู่ เขาเอาความรู้สึกนั้นพาตัวเองไปเริ่มชีวิตการทำงานด้วยการไปรับจ้างรายวันเป็นคนงานก่อสร้างบ้าน ทุกวันที่ทำงานก็บ่มเพาะความรู้สึกเดิมที่ว่าทำไปเจ้าของบ้านเขาจะได้อยู่อาศัยอย่างมีความสุข จนเขาพัฒนาตัวเองกลายเป็นผู้รับเหมามีฐานะดีมีความสุข นี่เป็นตัวอย่างการเสาะหา passion ให้พบและอยู่กับมัน ตามแบบฉบับที่ฝรั่งเขาว่าไว้

     แต่ถ้าคุณจะเอาคำแนะนำจากหมอสันต์ ผมจะไม่แนะนำอย่างนั้นนะ เพราะไม่ว่าคุณจะจับเอาความประทับใจจากช่วงไหนของวัยเด็กมาเสาะหาสิ่งที่รักชอบและที่จะทำมันได้อย่างมีความสุขตลอดวัยผู้ใหญ่อย่างไร ท้ายที่สุดสิ่งนั้นหรืออาชีพนั้นมันก็เป็นเพียงบทละครเรื่องยาวบทหนึ่งที่คุณเลือกเล่น ตอนท้ายของละครคุณก็จะ “คิดได้” อยู่ดีว่านี่มันเป็นเพียงการเล่นละคร เป็นเพียงการเล่นขายของ แล้วก็เกิดความรู้สึกว่า เบื่อละ กลับบ้านหาแม่ดีกว่า ดังนั้นคำตอบเรื่องเป้าหมายในชีวิตที่คุณอยากได้หากคุณจะเอาในเวอร์ชั่นของหมอสันต์มันไม่เหมือนของฝรั่งและไม่เหมือนในตำราหรือในคอร์ส motivation ทั้งหลายนะ ต้องทำใจไว้ก่อน

      คือผมมองว่าสำหรับคนที่เรียนหนังสือจบแล้ว มีงานมีการดีๆทำแล้วอยู่ตัวแล้วอย่างคุณนี้ สิ่งที่เหลืออยู่ที่ควรค่าแก่การเสาะแสวงหามากที่สุดมีอยู่อย่างเดียว คือการเรียนรู้เกี่ยวกับตัวคุณเอง ใช่แล้ว ตัวคุณที่ประกอบด้วย (1) ร่างกาย (2) ความคิด และ (3) ความจำจากอดีตนี่แหละ คุณแสวงหาในนี้พอ ไม่ต้องไปเสาะหาอะไรที่ไหนอื่นอีกแล้ว..เชื่อผม

     เพราะปลายทางของการแสวงหาของทุกคนรวมทั้งคุณและผมด้วยก็คือ “ความสุข” ตัวผมเองนี้แก่ได้ที่พอจะเข้าใจแล้วว่าความสุขจากการเล่นละครไม่ว่าจะเป็นบทที่เราชอบมากแค่ไหน มันก็จะสุขเฉพาะตอนเล่นอยู่บนเวที แต่พอละครจบแล้ว มันก็จบ บ๋อแบ๋ ไม่มีอะไรเหลือ ยิ่งไปกว่านั้นขณะที่คุณเล่นละคร อินอยู่กับบท บางครั้งมันเกิดความเปลี่ยนแปลงแบบไม่คาดฝันในชีวิตขึ้นแบบนอกบท ความเจนจัดในบทบาทที่คุณฝึกซ้อมมาดีและเล่นได้ดีช่วยอะไรคุณไม่ได้เลย แต่การเสาะแสวงหาคำตอบจากการเรียนให้รู้จักตัวคุณเอง จะช่วยคุณได้

     ที่ผมพูดว่าให้รู้จักตัวเองผมหมายถึงรู้จักร่างกาย ความคิด และความจำของคุณเอง จิตสำนึกรับรู้ (consciousness) ของคุณเอง รู้ว่ามันมีกลไกการทำงานอย่างไร มันก่อความสุขความทุกข์ให้คุณได้อย่างไร ทำอย่างไรคุณจึงจะอยู่กับมันและใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างมีความสุขและไม่ทุกข์

      ถ้าจะพูดให้ practical ยิ่งขึ้นก็หมายถึงการแยกให้ออกว่าความคิดก็เป็นส่วนหนึ่ง ร่างกายก็เป็นส่วนหนึ่ง ตัวคุณอันหมายถึงจิตสำนึกรับรู้ (consciousness) ของคุณก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง คุณจะต้องเรียนรู้ที่จะถอยออกมามองความคิดอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองให้เป็น เรียนรู้ที่จะมองดูสถานะของจิต (state of mind) ตัวเอง เรียนรู้ที่จะมองสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัวตามที่มันเป็นโดยไม่พิพากษาหรือใส่สีตีไข่ใส่อารมณ์ และคุณจะต้องเรียนรู้ที่จะเข้าถึง “ความสุขสงบจากภายใน (inner peace)” ผ่านการรับรู้พลังงานในร่างกายของคุณด้วยวิธีรับรู้ความรู้สึกบนผิวกายทั่วทั้งตัว และผ่านการมองสิ่งนอกตัวให้เห็นความนิ่ง ความว่าง และความเงียบ ของสรรพสิ่งต่างๆ รายละเอียดเรื่องพวกนี้มันแยะ ผมเคยพูดไปบ้างหลายครั้งแล้ว ผมขออนุญาตไม่พูดถึงอีกในที่นี้

     ทั้งหมดนี้คือทักษะ ซึ่งเปรียบเสมือนการว่ายน้ำ คุณไม่อาจว่ายน้ำเป็นหากคุณอ่านคู่มือว่ายน้ำแต่ไม่ยอมลงน้ำ

     วิธีเริ่มต้นที่ practical อีกวิธีหนึ่งคือให้คุณมาเข้าคอร์สฝึกสติรักษาโรคในชั้นเรียนถัดไปที่กำลังเปิดรับ (MBT3) คือ 18 กพ.60 (http://visitdrsant.blogspot.com/2016/11/mbt3-3.html) ผมขยายจำนวนรับเป็น 30 คน ยังมีที่ว่างเหลืออยู่สองสามที่ คุณน่าจะยังสมัครทัน แต่หากไม่ทัน คุณก็ลองไปหัดว่ายน้ำเองก่อน หากไม่สำเร็จ ก็ลองสมัครมาเรียนชั้นเรียนถัดไปเมื่อเขาเปิด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์