Latest

คุยกับหมอฟันเรื่อง body-mind-spirit

สวัสดีค่ะอาจารย์
หนูรับราชการเป็นทันตแพทย์ค่ะ ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลทั่วไปแห่งหนึ่ง ตอนเอนทรานซ์หนูเลือกคณะทันตแพทยศาสตร์ทั้งหมดสี่อันดับ ด้วยความคิดที่ว่าเป็นหมอฟันน่าจะได้ทำประโยชน์ให้ผู้ป่วย ช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก โดยไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องอยู่เวร ไม่ต้องรับผิดชอบชีวิตคนไข้มากดังเช่นแพทย์ หนูสอบติดได้ดังที่ต้องการ ตอนเรียนก็เรียนผ่านไปด้วยดี สุขเศร้าเคล้าน้ำตาตามประสาชีวิตนักศึกษาทันตแพทย์ จบมาได้เกียรตินิยม รับราชการที่โรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดไกลบ้าน ในภาคอีสาน ช่วงชีวิตตอนนั้นรู้สึกภาคภูมิใจ มีแรงบันดาลใจในการทำงาน งานที่ทำมีหลากหลาย ทั้งงานคลินิก งานชุมชน ในฐานะทันตแพทย์น้อย มีแต่คนคอยสอนคอยให้คำแนะนำ  ตอนนั้นรู้สึกพยายามเรียนรู้ทุกอย่างรวมทั้งงานด้านบริหารที่ไม่เคยสัมผัส มีแรงบันดาลใจใฝ่ศึกษา จากนั้นย้ายมาทำงานในโรงพยาบาลชุมชนกึ่งเมือง และโรงพยาบาลทั่วไป จนเรียนต่อเฉพาะทาง เรียนจบกลับมาทำงาน  ปัจจุบันอายุการทำงานครบสิบปีเต็มค่ะ งานคลินิกที่ทำมีความหลากหลายน้อยลง แต่มีความยากและความเสี่ยงมากขึ้น เริ่มมีความระแวดระวังในการทำงานจนบางครั้งเกิดความกลัวและกังวล กลัวติดเชื้อโรคจากการทำงาน ประกอบกับมีปัญหาปวดสะบักด้านขวาเรื้อรัง มีความกังวลต่อการฟ้องร้อง กังวลต่อสถานภาพและความสัมพันธ์ของคนไข้และหมอที่เปลี่ยนไปในยุคปัจจุบัน. ประกอบกับการได้รับข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่างๆเรื่องปัญหาการฟ้องร้อง  การร้องเรียนบุคลากรทางการแพทย์  ร่วมกับมีเพื่อนรุ่นเดียวกันโดนฟ้องร้องให้เห็น เมื่อได้ยินข่าวพวกนี้รู้สึกเศร้าสลดหดหู่เสียใจและเห็นใจเพื่อนร่วมวิชาชีพ นอกจากนั้นหนูยังป่วยเป็นโรคเรื้อรัง  ซึ่งจริงๆเป็นมาตั้งแต่ตอนเรียน. ธรรมชาติของโรคหนูจะรุนแรงขึ้นเมื่อเกิดความกังวล ทุกวันหนูจะกังวลเกี่ยวกับเคสที่ทำไปวันนี้ เคสที่จะทำพรุ่งนี้จนหลับไป มิได้มีหยุดหย่อน
ขอคำแนะนำจากอาจารย์ให้หนูมีกำลังใจปฏิบัติงานในวิชาชีพที่หนูรักต่อไปด้วยค่ะ
(ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยเซนเซอร์ชื่อหนูด้วยค่ะ ขอบพระคุณค่ะ)
………………………………………………….
ตอบครับ
     ไล่จากปัญหาง่ายไปปัญหายากนะ
     ปัญหาที่ 1. ทำงานทันตแพทย์แล้วปวดสะบักขวาเรื้อรัง ส่วนใหญ่เป็นปัญหาท่าร่างในงานอาชีพ (ergonomics) สมัยก่อนที่ความรู้เรื่องท่าร่างในงานอาชีพยังไม่ดีเท่าปัจจุบัน ทันตแพทย์จะต้องวางฟอร์มค่อมๆเหมือนมี “หนอก” กันเกือบทุกคน สไตล์แบบนั้นพวกหมอเรียกว่า “หนอกหมอฟัน (Dentist’s hump) แต่สมัยนี้ไม่มีแล้ว เพราะหมอฟันรุ่นใหม่เรียนรู้เรื่องท่าร่างในการทำงานและออกกำลังกายเล่นกล้ามรักษาท่าร่างกันเป็นส่วนใหญ่ คุณต้องเริ่มออกกำลังกายเล่นกล้ามรักษาท่าร่างอาการปวดสะบักจึงจะหายไป ผมเคยเขียนเรื่องการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหรือการเล่นกล้ามไปหลายครั้งแล้ว คุณหาอ่านเอาจากบล็อกเก่าๆได้

     ปัญหาที่ 2. เมื่อเนื้องานเปลี่ยนไปและซ้ำซาก ความท้าทายลดลง ความจำเจมากขึ้น แล้วเกิดความบ.สระเอีย ไม้เอก เบี่ย..ย นี่เป็นประเด็นการไม่รู้วิธีสนองตอบต่องานอาชีพในทิศทางที่จะทำให้ชีวิตตัวเองมีความเบิกบานบันเทิงอยู่ทุกวัน ทุกคนจะต้องเจอปัญหานี้ แบบว่าถ้าเผลอเป็นเสร็จ หมายความว่าถ้าเผลอทำงานแบบรูตีน (routine) ก็เป็นอันติดหล่มเบื่อทันที คำว่าทำงานแบบรูตีนพูดภาษาบ้านๆก็คือ..ขอโทษ เอาตีนทำ คือทำให้มันพ้นๆไปโดยไม่ต้องใส่ใจดูความละเอียดลึกซึ้งอะไรมาก เพราะดูก็ไม่เห็นอะไรลึกซึ้งอีกแล้ว เพราะคิดว่าตัวเองเห็นมันมาหมดแล้ว

     พูดมาถึงตรงนี้ขอนอกเรื่องหน่อยนะ สมัยที่ผมยังเป็นนักเรียนแพทย์ (ประมาณพ.ศ. 2519) มีอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่งมาสอนวิชายูโร (ทางเดินปัสสาวะ) เวลาสอนท่านเปิดสมุดข่อยของท่านซึ่งเก่าแบบเก๋ากึ๊กหน้ากระดาษเหลืองกรอบ เวลาพลิกท่านต้องพลิกด้วยความระมัดระวังไม่ให้กระดาษหลุดลุ่ย เวลาสอนท่านก็จะว่าทุกอย่างเหมือนสวดมนต์ไปตามสมุดนี้ คะเนอายุสมุดข่อยของท่านไม่น่าจะต่ำกว่าสามสิบปี พวกเราที่เป็นนักเรียนแพทย์แอบเรียกกันว่า “สมุดเหลือง” วันหนึ่งเพื่อนผมคนหนึ่งซึ่งเป็นจอมทะเล้นกระซิบบอกเพื่อนๆว่า

     “เดียวข้าจะขโมยสมุดเหลืองของอาจารย์แล้วหลบหนีไปนะ ให้พวกเอ็งจดจำงิ้วที่อาจารย์เล่นไว้เล่าให้ข้าฟังโดยละเอียดด้วย”

      เขาไม่ได้ขโมยจริงหรอก แต่ความหมายของเขาคือถ้าสมุดเหลืองอันเป็นเครื่องมือหากินเล่มนี้หายไป อาจารย์ต้องโมโหออกงิ้วบทโจโฉแน่เลยเพราะแกทำมาหากินต่อไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การได้เห็นสมุดเหลืองกระตุ้นต่อมอยากรู้อยากเห็นของผมมาก จนวันหนึ่งผมอดไม่ได้จึงรวบรวมความกล้าถามอาจารย์อีกท่านหนึ่งซึ่งผมสังเกตว่าโน้ตประกอบการสอนของท่านเพิ่งทำขึ้นมาใหม่ๆ ผมถามท่านว่า

     “อาจารย์สอนวิชานี้มาตั้งนานแล้ว แต่ทำไมโน้ตของอาจารย์ยังดูใหม่อยู่เลย” ก็ได้รับคำตอบจากอาจารย์ชัดว่า

     กูเผาแม่..ง ทิ้งทุกปี”

     คราวนี้คุณหมอถึงบางอ้อหรือยังละครับ ว่าการทำงานแบบไหนทำให้เกิดความเบื่อ แบบไหนทำให้เกิดความท้าทายสนุกสนานอยู่ตลอดโดยไม่รู้เบื่อหน่าย

    ปัญหาที่ 3. มีความคิดลบ กังวลสาระพัด กลัวติดเชื้อโรคจากการทำงาน กังวลต่อการฟ้องร้อง เมื่อได้ข่าวเพื่อนรุ่นเดียวกันโดนฟ้องร้องให้เห็นก็รู้สึกเศร้าสลดหดหู่เสียใจ ทุกคืนก่อนนอนอย่างเบสิกก็จะกังวลเกี่ยวกับเคสที่ทำไปวันนี้ว่าจะออกหัวหนอ หรือออกก้อยหนอ แถมคิดกังวลเกี่ยวกับเคสที่จะทำพรุ่งนี้เป็นหนังตัวอย่างสำหรับความกังวลในวันใหม่

     อามิตตาภะ..พุทธะ

     ภาวะที่คุณหมอเป็นอยู่นี้พูดภาษาบ้านๆก็คือเป็นบ้า อุ๊บ..ขอโทษ พูดผิด พูดใหม่..เป็นคิดมาก ผมไม่สงสัยหรอกว่าทำไมคุณหมอจึงป่วยเป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่รู้จักหาย

     เนื่องจากคุณหมอเป็นหมอฟันซึ่งพื้นฐานความรู้ก็ใกล้ๆกับหมอแพทย์ ให้ผมพูดกับคุณหมออย่างนี้นะ วิชาแพทย์ทำให้เราเผลอคิดว่าโรคทุกโรคมีสะเป๊คของมันอยู่ บางโรคเป็นแล้วรักษาหาย บางโรคเป็นแล้วรักษาอย่างไรก็ไม่หาย ทุกอย่างต้องเป็นไปตามนั้น นั่นเป็นขอบเขตของวิชาแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ในความเป็นจริงวิชาแพทย์แผนปัจจุบันหรือวิทยาศาสตร์นี้เป็นเพียงระบบความเชื่อระบบหนึ่งเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างจากระบบความเชื่ออื่นใดทั้งหลายที่ต่างครอบคลุมอธิบายปรากฏการณ์ที่ปรากฎจริงๆได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ทั้งหมด บางประเด็นระบบความเชื่ออื่นอธิบายได้ดีกว่า ยกตัวอย่างเช่นระบบความเชื่อการรักษาเชิง “องค์รวม” (holistic) เชื่อว่าโรคทุกโรคมีโอกาสหายได้ตราบใดเท่าที่จิตสำนึกรับรู้ซึ่งเป็นตัวเชื่อมโยงความสมานฉันท์ระหว่างกาย (body) ความคิด (mind) และตัวจิตสำนึกรับรู้ (spirit หรือ cosciousness)เอง ยังดำรงอยู่ คือเมื่อใดที่ body – mind – spirit ซิงค์กันได้ เมื่อนั้นโรคก็หายได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็ตาม เพราะร่างกายของเรานี้ถูกออกแบบมาให้รักษาตัวเองได้ทุกกรณี ขอเพียงแต่ส่วนตื้นกับส่วนลึกซิงค์กันเป็นปี่เป็นขลุ่ยเท่านั้นแหละ ทุกอย่างก็จะฉลุย

     ไหนๆก็พูดถึง body-mind-spirit แล้วขอลงลึกหน่อยเถอะ เพราะแพทย์ที่ทำเวชปฏิบัติในเชิง holistic เองส่วนใหญ่ก็ยังเข้าใจคอนเซ็พท์นี้ไม่เหมือนกัน เอากันจากระดับเบสิกที่สนามหลวงเลยนะ

1. body ก็คือร่างกาย อันนี้ง่าย พูดแค่นี้เข้าใจ

2. mind ก็คือความคิด (thought) หมายความรวมถึงทุกอย่างที่ก่อตัวขึ้นในใจ (mental formation) ไม่ว่าจะเป็นความคิด ความจำ การรับรู้ภาพเสียงกลิ่นรสสัมผัส (perception) อารมณ์ (emotion) และความรู้สึก (feeling) ทั้งหมดนี้ผมขอเรียกรวมๆว่าความคิด ซึ่งเป็นบ่อเกิดของคอนเซ็พท์สมมุติเรื่อง “ตัวกู” และ “ของกู”

3. spirit อันนี้ต้องทำความเข้าใจกันหน่อย ว่าในที่นี้มันไม่ได้หมายถึงน้ำใจนักกีฬา ไม่ได้หมายถึงผี แต่หมายถึงจิตสำนึกรับรู้ (consciousness) ซึ่งบางทีในภาษาฝรั่งก็เรียกว่าความรู้ตัว (awareness) ในภาษาบาลีเรียกว่า “วิญญาณ” ซึ่งเมื่อแปลกลับมาเป็นภาษาอังกฤษก็จะไปตรงกับคำว่า soul เออ..งงมั้ยละ ทั้งหมดนี้ผมเรียกรวมๆว่า “ความรู้ตัว” ซึ่งเป็น “ฉัน” ตัวจริง

     “ฉัน” ตัวจริง หรือ “ความรู้ตัว” นี้ มันไม่มีชื่อ ไม่มีที่อยู่ ไม่มีสถานะที่บ่งบอกได้ด้วยภาษา แต่ผมขออธิบายด้วยภาษานี่แหละนะ แม้ว่าจะไม่ตรงความหมายจริงนัก ความรู้ตัวนี้มันเป็นความว่างเวิ้งว้าง (emptiness) อยู่ที่นู้น..น มิติที่ห้า ชื่อมิติที่ห้านี่ผมก็ตั้งให้เองนะ เอาเป็นว่ามันไม่ได้อยู่ในร่างกาย และไม่ได้อยู่ในความคิดก็แล้วกัน

     ในมิติที่ห้านี้มันต่างจากในความคิดตรงที่มันเป็นมิติที่ไม่มีเวลาอดีตอนาคต มีแต่ “นิรันดร” หรือ “เดี๋ยวนี้” งงไหมเนี่ยว่านิรันดรมันควรจะเป็นเลยอสงไขยเวลาออกไปอีกไม่ใช่หรือแต่ ไหงหมอสันต์บอกว่านิรันดรกลายมาเป็นเดี๋ยวนี้ได้ คืองี้ จะอธิบายนะ คือหมายความว่าเมื่อมีแต่ที่นี่เดี๋ยวนี้ก็คือเค้าอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ของเค้าตลอดมาและจะอยู่ตลอดไป ไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีจุดสิ้นสุด ก็จึงเป็นนิรันดรไง โอไหม เอาเหอะ ไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร ผ่านตรงนี้ไปก่อน

     กลับมาพูดถึง “ฉัน” ตัวจริง หรือ “ความรู้ตัว” ที่ว่าเป็นความว่าง มันไม่ใช่ความว่างแบบบ๋อแบ๋ไม่มีอะไรเลยนะ มันเป็นความว่างแบบมีความตื่น (awake) สามารถรับรู้ (aware) สิ่งที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ได้อย่างแหลมคมและว่องไว ไม่สับปะหงกด้วย

     แล้วในแง่ที่เป็นความว่างนี้ มันไม่ได้ว่างแบบโล่งโจ้ง มันก็มีเนื้อของมันอยู่เหมือนกัน เหมือนความว่างในห้องนี้มีอากาศเป็นเนื้อ ความว่างในความรู้ตัวมันก็มีเนื้อแต่เนื้อมันทำขึ้นจากอะไรผมก็ไม่รู้ รู้แต่ว่ามันบาง เบา นุ่มนวล เบิกบาน แล้วถ้าใจเย็นๆอยู่กับมันๆก็จะนิ่ง…ง นิ่งลงๆ ๆ

    สรุปเป็นนิยามสั้นๆได้ว่าฉันตัวจริงคือ ความ (1) ว่าง (2) ตื่น (3) รู้ (4) เบิกบาน (5) เดี๋ยวนี้

     การหันกลับเข้าสู่ตัวเอง เข้าไปถึง “ความรู้ตัว” เป็นการออกจากความคิดซึ่งเป็น “ตัวกู” กลับไปสู่บ้านเก่าซึ่งเป็น “ฉัน” ตัวจริง เปรียบเสมือนการออกจากวังน้ำวนเล็กๆกลางมหาสมุทร จมลงไปสู่ตัวมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล ผมหมายความว่าวังน้ำวนเปรียบได้กับความคิดคับแคบแบบ “ตัวกู” ส่วนมหาสมุทรเปรียบได้กับความรู้ตัว (awareness) หรือ “ฉัน” ตัวจริง โดยที่ทั้งหมดนี้มันก็เป็นน้ำเดียวกันนั่นแหละ เมื่อออกมาสู่มหาสมุทรอันกว้างใหญ่และลึกสุดประมาณได้แล้ว นอกจากจะได้สัมผัสความเบิกบานซึ่งเป็นธรรมชาติของความรู้ตัวที่จะมีความสงบสุขจากภายในแล้ว มันยังมีพลังมหาศาลที่อะไรๆดีๆก็เกิดขึ้นได้ รวมทั้งการหายจากโรคเรื้อรังด้วย เพราะความรู้ตัวนี้มันมีปัญญาญาณ (intuition) และพลังงานเพียบ ต่างจากความคิดอันเสมือนเป็นวังน้ำวนนั้นมันมีธรรมชาติแยกตัวให้เห็นเป็นตัวตนหลอกซึ่งคับแคบและปิดกั้น

     หากจมอยู่แต่ใน “ความคิด” โดยไม่เคยได้ออกมาอยู่ในมหาสมุทรแห่ง “ความรู้ตัว” ก็จะมีความขัดแย้งระหว่าง mind กับ spirit เกิดขึ้นแบบยืดเยื้อ นั่นแหละปฐมเหตุของการเจ็บป่วยเรื้อรัง

ฝอยมาตั้งนาน  จนผมงงตัวเองซะแล้ว ทำไมเราถึงมานั่งคุยกันถึงตรงนี้ได้นะ อ้อ นึกออกละ กำลังตอบหมอฟันขี้กังวลถึงอนาคตและป่วยเป็นโรคเรื้อรัง

     ถึงเวลาไปทำงานแล้ว สรุปเลยดีกว่า ในเรื่องความกังวล ให้คุณหมอขยันฝึกสติหรือฝึกออกจาก “ความคิด” ไปอยู่กับ “ความรู้ตัว” ให้ทำด้วยตัวเองทุกที่ทุกเวลา ถ้าลองทำแล้วไม่สำเร็จ หรือทำไม่เป็น ให้หาเวลามาเข้าแค้มป์ฝึกสติรักษาโรค (MBT) ที่ผมสอนอยู่ ชั้นถัดไปที่ยังว่างรับได้คือ MBT5 วันที่ 8 เมย. 60 (http://visitdrsant.blogspot.com/2016/11/mbt3-3.html)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์