Latest

คอนเซ็พท์ (concept) กับความเชื่อ (belief)

ดิฉันไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม…… ที่…… ตามที่คุณหมอสันต์เคยเล่าให้ฟัง ได้อยู่ปฏิบัติจนครบ ได้มีโอกาสพูดคุยซักถามอาจารย์ ได้ถามอาจารย์ถึงชาติหน้า อาจารย์พูดเหมือนกับว่าไม่เชื่อเรื่องชาติหน้า ดิฉันจึงรู้สึกไม่สบายใจว่าการไม่เชื่อเรื่องชาติหน้า น่าจะเป็นมิจฉาทิฐิใช่ไหมคะคุณหมอ แล้วหากคนเป็นอาจารย์สอนปฏิบัติธรรมมีมิจฉาทิฐิ จะไม่พาลูกศิษย์หลงทางหรือคะ

…………………………………………….

ตอบครับ

     อามิตตาภะ…พุทธะ

     คุณทะเลาะกับหลวงพ่อแล้วจะเอาหมอสันต์ไปยุ่งด้วยทำมาย..ย ผมไม่เข้าใจ

     แต่วันนี้ผมเพิ่งเสร็จจากการทำแค้มป์สอนแพทย์ต่างชาติติดๆกันมาสามแค้มป์ท่ามกลางไฟฟ้าลักกะปิดลักกะเปิดของการไฟฟ้ามวกเหล็ก จึงสุดแสนจะมะรุมมะตุ้ม พอเสร็จแล้วเลยรู้สึกโล่งสบายตัวเป็นพิเศษ เห็นจดหมายของคุณจึงอดคันปากไม่ได้ จึงขออนุญาตตามใจกิเลสตอบจดหมายไร้สาระของคุณสักเล็กน้อย

     คำว่า “ชาติหน้า” หรือชีวิตหลังการตาย มันเป็น “คอนเซ็พท์ (concept)” นะคุณ คำว่าคอนเซ็พท์หมายความว่าชุดของความคิดที่ผูกโยงกันอย่างมีหลักการระดับหนึ่งจนสามารถอธิบายหรือสาธยายเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้สอดคล้องต้องกันเป็นคุ้งเป็นแคว เช่นคอนเซ็พท์เรื่องเวลา นี่อดีต นั่นอนาคต คอนเซ็พท์เรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของ นั่นของฉัน นี่ของเธอ คอนเซ็พท์เรื่องคณิตศาสตร์ถ้าสองบวกสองก็จะได้สี่ คอนเซ็พท์เรื่องความดีความชั่ว อย่างนี้เรียกว่าดี อย่างนั้นเรียกว่าชั่ว เกิดเป็นคนต้องทำดีอย่าทำชั่วจึงจะดี เป็นต้น

     คอนเซ็พท์นี้ไม่ใช่อะไรที่เลวร้ายนะ นอกจากจะทำให้คนเราอยู่ด้วยกันได้แล้ว มันยังเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งในชีวิต อย่างในวงการแพทย์นี้หากโรคใดที่ไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ยืนยันว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไรและจะรักษามันอย่างไร ก็จะเป็นช่องว่างให้พวกแพทย์แสวงหาความบันเทิงในชีวิตด้วยการสร้างสาระพัดคอนเซ็พท์ขึ้นมาอธิบายโรคนั้นทันที พวกแพทย์ทั่วโลกสามารถนั่งประชุมกันได้ทีละหลายๆวันเพื่อถกเถียงกันเรื่องคอนเซ็พท์ มีอยู่ครั้งหนึ่งผมไปนั่งประชุมด้วย เป็นการประชุมระดับอินเตอร์ที่เมืองดัลลัส ถกเถียงกันอยู่เป็นวันจึงได้ถึงบางอ้อว่าเฮ้ย..ย ที่นั่งเถียงกันอยู่นี่เป็นคนละเรื่องเดียวกันนะเว้ย เพราะศัพท์คำตัวเดียวกันที่ทั้งสองฝ่ายใช้นั้นแต่ละฝ่ายใช้กันในคนละความหมาย ผมยกตัวอย่าง (สมมุติ) เช่นศัพท์คำว่า physical education ฝ่ายหนึ่งเข้าใจว่ามันหมายถึงพลศึกษา หมายถึงครูเป่านกหวีดปิ๊ด ปี้ ปิ๊ด ให้นักเรียนเล่นพละในสนาม แต่อีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจว่ามันหมายถึงกลไกการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกาย แล้วคุณว่าทั้งสองฝ่ายจะเถียงกันให้จบก่อนตกฟากได้ไหมเนี่ย

     ที่แย่กว่าคอนเซ็พท์คือความคิดอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า “ความเชื่อ (belief)” โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่าความคิดแบบคอนเซ็พท์ที่ผมว่าไปข้างต้นเหล่านั้นเป็นของจริงเป็นความจริง เช่นเชื่อว่านี่สมบัติของเขานั่นสมบัติของเราเป็นเรื่องจริงจัง ตรงนี้แหละที่เป็นปัญหา คุณก็กำลังมีปัญหานี้ คือคุณกำลังเชื่อว่าคอนเซ็พท์เรื่องชาติหน้าตามแบบฉบับของคุณว่ามันเป็นความจริง ส่วนคอนเซ็พท์ชาติหน้าตามแบบฉบับหลวงพ่อนั้นเป็นของไม่จริง คราวนี้มันชักจะไม่สนุกแล้วนะคุณ เพราะพวกหมอเขาทะเลาะกันเรื่องคอนเซ็พท์เขาไม่ถึงกับฆ่ากันหรอก เพราะทุกคนรู้ว่าคอนเซ็พท์ก็คือคอนเซ็พท์ ย่อมจะจริงได้เท็จได้จนกว่าจะมีข้อมูลมากกว่านี้ แต่หากคนทะเลาะกันเรื่องความเชื่อหรือ belief นี่ถึงขั้นฆ่ากันได้นะคุณ ดูในประวัติศาสตร์ของมนุษย์เราที่ห้ำหั่นฆ่าแกงกันจนตายเป็นเบือก็เพราะทะเลาะกันเรื่องความเชื่อนี่แหละ ในเมืองไทยเราก่อนที่ลุงตู่จะมาก็เพิ่งมีให้เห็นหลัดๆ..ถ้าคุณไม่ลืมเสียก่อน

     ผมจะขอไม่พูดถึงคอนเซ็พท์เรื่องชาติหน้านะเพราะผมเองก็ไม่รู้เพราะตัวเองก็ยังไม่เคยตาย แต่ประเด็นสำคัญยิ่งกว่านั้นคือคอนเซ็พท์มันเป็นเพียงความคิด ยิ่งพูดไปมันก็จะยิ่งเป็นความคิดที่จะไปต่อยอดบนความคิดเดิมให้กว้างขวางเฟอะฟะออกไปไม่มีวันจบ แต่ความคิดใดๆท้ายที่สุดแล้วมันก็เป็นแค่นิทานกล่อมเด็ก เนื้อหานิทานมันไม่มีสาระอะไร แต่สาระที่แท้จริงคือเขาอยากจะให้เด็กหลับ หมายถึงการที่ตัวเราจะเข้าถึงความจริงด้วยการ “รู้” ด้วยตัวเอง ดังนั้นเราอย่าพลัดหลงเข้าไปอยู่ในความคิดและเผลอคิดต่อยอดบนความคิดเดิมของคนอื่นที่ฟุ้งสร้านกันมามากเกินพอแล้วเลย ผมหมายความว่าบนเส้นทางของการเข้าไปสู่ความสุขสงบที่ภายในนี้ เรามาลดการ “คิด” ให้เหลือน้อยลงๆ มาเพิ่มเวลาอยู่กับการ “รู้” ปัจจุบันให้มากขึ้นดีกว่า เพราะความเบิกบานที่ภายในไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยการ “คิด” แต่จะเข้าถึงได้ด้วยการ “รู้” เท่านั้น

      อีกอย่างหนึ่ง ในการแสวงหาความสุขสงบที่ภายในนี้ ผมไม่เห็นจะต้องไปหาคำตอบให้ได้ว่าหลังการตายจะมีอะไรอยู่ในกอไผ่อีกหรือไม่เลย เพราะความรู้ตัวซึ่งเป็นแหล่งของความสงบสุขที่ภายในนั้นอยู่ที่ “เดี๋ยวนี้” และเดี๋ยวนี้เรายังมีชีวิตอยู่นี่ไง ยังไม่ตาย เราก็เข้าถึงความสงบสุขได้แล้ว จะไปเดือดร้อนอะไรกับชีวิตหลังตายละครับ

     คุณอาจจะบอกว่าก็คนเรามันต้องวางแผนไว้รองรับอนาคต โอเค ผมไม่ได้ปฏิเสธคอนเซ็พท์เรื่องอนาคตและการเตรียมรับมือกับอนาคต ผมก็มีแผนของผมเหมือนกัน คุณจะลองเอาอย่างผมโดยไม่ต้องไปทะเลาะกับหลวงพ่อก็ได้นะ คือผมใช้หลักวิชาบริหารความเสี่ยง คือเวลาเราบริหารธุรกิจ มีบางเรื่องที่มีความเป็นไปได้หลายแบบ (scenario) ทั้งแบบดีแบบร้ายโดยที่เราไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้ว่ามันจะออกมาแบบไหน หลักวิชาบริหารความเสี่ยงก็คือเราต้องมีแผนเผื่อเลือกไว้สำหรับอนาคตทุกแบบ ออกมาแบบนี้เรางัดแผนนี้ออกมาใช้ ออกมาแบบโน้นเรางัดแผนโน้นออกมาใช้ อย่าง scenario เรื่องชาติหน้านี้ผมไม่เคยมีปัญหาเลย เพราะแผนปฏิบัติการของผมรองรับได้ทั้งสอง scenario กล่าวคือผมเน้นการฝึกสติ ถ้าชาติหน้าไม่มี การมีสติก็จะทำให้ผมมีความสุขในวันนี้และเวลาตายก็จะได้ตายดีไม่ทุรนทุราย ถ้าชาติหน้ามี การมีสติก็จะพาผมไปสู่ภพภูมิที่ดี สรุปว่าผมจะได้ดีทั้งขึ้นทั้งล่อง ดังนั้นคุณอย่าไปจมกับความคิดถึงอนาคตข้ามภพข้ามชาติเลย ทิ้งการ ”คิด” มาอยู่กับการ “รู้” ที่นี่เดี๋ยวนี้ ดีกว่า

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์