Latest

ถามหมอสันต์เรื่องพระเจ้า นิพพาน และการรู้ตัว

กราบเรียนถามคุณหมอสันต์ครับ

ผมติดตาม Blog ของคุณหมอมานาน ขอบพระคุณคุณหมอที่ สอนให้พวกเราสลัดตัวเองออกจากความคิดเสมอๆ ผมมีเรื่องเรียนถามคุณหมดดังนี้ครับ

1. พระเจ้า และ นิพพาน คือสิ่งเดียวกันหรือไม่ – ขออภัยคุณหมอ ผมเอาความคิดมาถามคุณหมออีกแล้ว
2.  พระวิญญาณ (พระจิต) คือ ผู้รู้ ใช่ไหมครับ
3. ความรู้ตัวที่ต่อเนื่อง คือ ชีวิตนิรันดรใช่ไหมครับ – คิดอีกแล้วขอโทษครับ

กราบขอบพระคุณคุณหมอสันต์ล่วงหน้าครับ

……………………………………

     นี่เป็นจดหมายจากปัญญาชน ซึ่งผมนิยามว่าคือผู้ปักใจเชื่อว่าตัวเองมีความฉลาดหลักแหลม แต่ลอยตุ๊บป่องอยู่ในวังน้ำวนของความคิดและคอนเซ็พท์ (concept) อย่างโงหัวไม่ขึ้น เกือบทุกคนจะเสพย์ติดความคิด คำว่าเสพย์ติดก็คือเหมือนติดเฮโรอีนนั่นแหละ จะหยุดคิดไม่ได้แม้แต่วินาทีเดียว เพราะเมื่อถูกบังคับให้หยุดคิดแล้วจะลงแดง หน้าตาเหมือนคนเป็นลมบ้าหมูกำลังจะชัก จนตัวเองทนไม่ได้ต้องดิ้นรนกลับไปสู่การจมอยู่ในความคิดอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช ผมเคยสอนให้คนฝึกสติครั้งหนึ่งแบบตัวต่อตัวด้วยวิธีบี้ให้วางความคิด ผมแอบสังเกตเห็นผู้เรียนเกิดความอึดอัดทนไม่ได้ ในที่สุดเธอก็ขอตัวย่องออกไปจากห้อง ผมจี้ถามว่าคุณจะไปไหน เธอบอกว่าเธอปวดฉี่ทนไม่ไหวแล้ว นี่เป็นตัวอย่างของลูกเล่นของความคิดที่จะเสนอขายทุกวิถีทางเพื่อให้เจ้านายหันเหจากความรู้ตัวเพื่อกลับไปจมอยู่กับความคิดที่คุ้นเคย

     คำถามของคุณไม่ใช่คำถามไร้สาระ ต้องเป็นคนที่ศึกษาคอนเซ็พท์ต่างๆมามากพอควรจึงจะตั้งคำถามแบบนี้ได้ แต่มันเป็นเรื่องใบไม้นอกกำมือ การตอบคำถามของคุณจะเป็นการตกหลุมพรางของความคิดที่ชวนให้ถกคอนเซ็พท์เพื่อที่จะไม่ให้คุณผละหนีจากความคิดไปสู่ความรู้ตัว ดังนั้นผมจึงขอไม่ตอบคำถามของคุณดีกว่า

     แต่ผมจะพูดกับคุณในประเด็นที่จะมีประโยชน์กับคุณมากกว่า ก่อนจะฟังผมพูดให้คุณลืมคอนเซ็พท์ทุกเรื่องที่คุณเรียนมาแล้วเสียก่อน ลืมหลักศาสนาทุกศาสนาที่คุณเรียนมาเสียก่อน คือผมจะพูดกับคุณเรื่องกลยุทธ์วิธีหนีจากการคิด (thinking) ไปสู่การรู้ (knowing) ซึ่งผมจะแบ่งเป็นสองขั้นตอนคือ

     ขั้นที่  1. คือหนีจากการคิด มาอยู่กับการ “รู้” (knowing) ผ่านอายตนะ (sense organs) วิธีหัดที่ง่ายที่สุดก็คือหลับตา วางความคิด แล้วมาอยู่กับสัมผัสที่ผิวหนัง (เช่นความรู้สึกยิบๆ หรือวูบวาบ หรือความรู้สึกจากการเอาพัดลมเป่าผิวหนังให้เย็น) หรือหลับตาแล้วฟังเสียง หรือหลับตา(หรือลืมตา)แล้วอยู่กับการหายใจของตัวเอง ขยันทำไป จนคิดจะหนีจากการคิดมาอยู่กับอายตนะร่างกายเมื่อไหร่ก็ทำได้เมื่อนั้น ทันทีทุกที่ทุกเวลา ทุกครั้งที่ทำความคิดต้องหายหมดนะ เหลือแต่การรู้ภาพเสียงสัมผัสเท่านั้น

     ขั้นที่ 2. คือการขยับจากการ “รู้” ผ่านอายตนะ มารู้โดยไม่ผ่านอายตนะ ตรงนี้เป็นสุดยอดวิชานะ คุณต้องฟังให้ดี คืออายตนะจะช่วยให้เรารู้อะไรได้มันจะต้องมีเป้า (object) เช่นตาจะช่วยเรารู้ได้ต้องมีภาพให้ดู หูจะช่วยเรารู้ได้มันต้องมีเสียงให้ฟัง ผิวหนังจะช่วยเรารู้ได้มันต้องมีความรู้สึกวูบวาบหรือมีลมเป่าให้สัมผัส แต่ว่า “ความรู้ตัว” ซึ่งเราอยากจะไปรู้นั้นมันไม่ใช่เป้าที่อายตนะใดๆจะไปเล็งได้ เพราะความรู้ตัวเป็นเพียงความว่างเปล่าที่ไม่มีสถานะที่อายตนะใดๆจะรับรู้การมีอยู่ของมันได้ เราจึงไม่มีภาษาหรือศัพท์แสงที่จะอธิบายลักษณะของความรู้ตัวไง เพราะภาษาเกิดจากการรู้ผ่านอายตนะและการคิดต่อยอดเท่านั้น

     แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่จะ “รู้” ความรู้ตัวได้ ก็คือตัวความรู้ตัวเองเท่านั้นที่จะรับรู้การมีอยู่ของความรู้ตัวได้ ดังนั้นในขั้นนี้เมื่อคุณวางความคิดมาอยู่กับการรู้ผ่านอยาตนะจนทำได้ชำช่องแล้ว คุณต้องก้าวไปอีกขั้นคือทิ้งการรู้ผ่านอายตนะไป “รู้” ความรู้ตัวโดยไม่ผ่านอะไรเลย (aware of awareness) ไม่ยากนะ เพราะการฝึกปฏิบัติขั้นที่ 1 จนช่ำชองแล้วมันจะพาคุณมาที่ตรงนี้เอง

     เช่นถ้าคุณเฝ้าดูลมหายใจจนความคิดหมดจริงๆแล้วลมหายใจมันจะแผ่วลงๆจนหมดไปด้วย คุณก็จะถูกปล่อยให้เคว้งคว้างอยู่กลางความว่างโดยที่ยังตื่นและมีความสามารถรับรู้อยู่ ตรงนั้นแหละคือความรู้ตัวหละ

     หรือเมื่อคุณนั่งสมาธิแบบลาดตระเวณความรู้สึกไปตามผิวหนังส่วนต่างๆของร่างกาย จนคุณรับรู้ความรู้สีกวูบวาบหรือสั่นสะเทือนไปทั่วร่างกายคุณได้จากสัมผัสของผิวหนัง ถึงจุดหนึ่งคุณจะรับรู้ร่างกายได้ว่าเป็นเหมือนกลุ่มฟองไอน้ำ (ซึ่งก็คือพลังงานร่างกายที่ผิวหนังรับรู้ได้นั่นแหละ) ต่อจากจุดนี้ไปกลุ่มฟองไอน้ำนี้ก็จะพลอยกระจายหายไปจนคุณถูกปล่อยทิ้งไว้กลางที่ว่างที่ไหนไม่รู้ รู้แต่ว่าคุณยังตื่นและรู้ตัวอยู่ เช่นเดียวกันตรงนี้แหละคือความรู้ตัว

     หรือกรณีที่ไม่ได้ช่ำชองในการนั่งสมาธิเป็นสิบๆปีมาก่อน ให้ใช้วิธีมวยวัดของหมอสันต์ก็ได้ คือนั่งหลับตาแล้วถามตัวเองว่า “ฉันรู้ตัวอยู่หรือเปล่า” ถามซ้ำๆจนตอบตัวเองได้อย่างมั่นใจว่า “ฉันรู้ตัวอยู่” นั่นแหละ คุณกำลังอยู่ในความรู้ตัวแล้ว

      เมื่อมาอยู่ในความรู้ตัวแล้ว ให้คุณฝึก “รู้” ตรงนั้นซ้ำๆ ซากๆ ตรงๆ โดยไม่ต้องพึ่งอายตนะใดๆ จะเรียกว่าปล่อยตัวเองให้จมลงไปในความรู้ตัวก็ว่าได้ ถามว่าไม่ใช้อายตนะ ไม่ใช้ความคิด แล้วจะ “รู้” ได้อย่างไร ตอบว่ารู้ได้จากความสามารถชนิดหนึ่งที่เรามีอยู่เป็นธรรมชาติที่เรียกว่าปัญญาญาณ (intuition) นี่เป็นแค่การใช่ศัพท์ที่พอจะมีให้ใช้นะ อย่าไปซีเรียสกับตรรกะเชิงภาษามา ถามว่าปัญญาญาณคืออะไร ตอบว่าหากคุณเรียนหนังสือเก่งคิดเลขเก่งคุณอาศัยความสามารถเฉพาะตัวที่เรียกว่าความฉลาด (intellect) ถูกแมะ ความฉลาดคิดคำนวณจะทำให้คุณเกิดความรู้ (knowledge) ฉันใดก็ฉันเพล หากคุณเข้าถึงความรู้ตัวโดยไม่ต้องผ่านอายตนะได้เก่งคุณอาศัยความสามารถที่เรียกว่าปัญญาญาณ ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะรู้อีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเรียกว่าปัญญา (wisdom) ความจริงจะเรียกปัญญาญาณหรือเรียกว่าอะไรไม่สำคัญหรอก คุณไม่ต้องไปยุ่งกับภาษามากเลยก็ได้ถ้าคุณไม่ชอบเล่นศัพท์แสง มันสำคัญที่คุณมองเห็นความรู้ตัว ไม่ใช่เห็นเป็นภาพอย่างเรามองเห็นภูเขาเห็นต้นไม้นะ แต่เห็นเป็นความว่างที่มีความตื่นและความสามารถรับรู้อยู่ ความสามารถมองเห็นความรู้ตัวนี้มีกันทุกคน เพียงแต่เราไม่ค่อยได้ใช้ความสามารถนี้เท่านั้นเอง สมมุติผมถามคุณว่า ณ ขณะนี้ที่นั่งฟังผมอยู่นี่ คุณรู้ตัวอยู่หรือเปล่า คุณอาจจะอึ้งไปสักพัก แล้วก็จะตอบผมได้อย่างมั่นใจว่าคุณรู้ตัวอยู่ ผมถามคุณว่าคุณเอาอะไรมองละจึงรู้ว่าคุณรู้ตัวอยู่ เพราะความรู้ตัวมันไม่มีอายตนะใดๆจะไปมองเห็นได้ แต่คุณก็ตอบอย่างมั่นใจว่าคุณรู้ตัวอยู่ คุณอาจจะเอามือตบๆบาๆเที่หน้าอกแล้วตอบผมว่าอะไรสักอย่างที่ข้างในเป็นตัวบอก นั่นแหละ คุณได้ใช้ปัญญาญาณของคุณเองมองเห็นความรู้ตัวของตัวเองแล้ว

     เมื่อฝึกซ้ำซากจนช่ำชอง คุณก็จะรู้วิธีเข้าถึงความรู้ตัวได้รวดเร็ว รู้ว่าการใช้ปัญญาญาณมองความรู้ตัวมันทำอย่างนี้นี่เอง ถึงจุดนั้นแล้วให้คุณปล่อยตัวเองให้จมลึกลงไปในความรู้ตัวซ้ำซากๆจนช่ำชอง ลึกลงไปๆ ถึงตอนนั้นคำตอบสำหรับคำถามทั้งหลายที่คุณถามผมมา จะค่อยๆปรากฎแก่คุณเองในรูปของ wisdom โดยที่คุณไม่ต้องไปถามใครที่ไหนอีกเลย เพราะเรื่องทุกเรื่องที่คุณจำเป็นต้องรู้ในการจะมีชีวิตที่สงบสุข สามารถเรียนรู้ได้จากภายในตัวเราเองนี้ทั้งสิ้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์