Latest

มันไม่ใช่ปัญหาพ่อกับลูก แต่เป็นปัญหา identity

คุณหมอสันต์ที่เคารพครับ
ผมพยายามที่จะหาอิสระให้ตัวเอง เมื่อผมปลีกตัวเดินทางหรือไปอยู่ในที่สงบ ผมมีโอกาสได้เป็นตัวของตัวเอง ไม่มีความคิดอะไรกวนใจ แต่เมื่อผมกลับมาเผชิญหน้ากับพ่อ เรื่องพ่อๆลูกๆก็กลับมารบกวนผมอีก ความโกรธก็ครอบงำผมอีก ผมทะเลาะกับพ่อ ทะเลาะกับจิตแพทย์ ผมควรจะลงมือทำอะไรสักอย่างไหม หรือว่าควรหลบลี้ปลีกวิเวกต่อไป ผมไม่ได้พูดกับพ่อเรื่องที่ผมพยายามปลีกวิเวก คุณหมอเห็นความทุกข์ยากของผมไหมครับ

…………………………

ตอบครับ

     ผมตัดเนื้อหาจดหมายของคุณออกไปพอควรเพราะไม่อยากให้เนื้อหาของจดหมายกลายเป็นตัวอย่างของความรุนแรงในการทะเลาะกันระหว่างพ่อลูก แต่เพื่อให้ท่านผู้อ่านทั่วไปที่ใช้ประโยชน์จากบล้อกนี้เห็นภาพใหญ่ เอาเป็นว่าความสัมพันธ์พ่อลูกมันออกมาในลักษณะที่ว่าต่างคนต่างก็ถือว่าตัวเองมีสิทธิ์ พ่อถือสิทธิ์ของการเป็นพ่อจี้จิกให้ลูกออกไปทำงานหาเงินรับผิดชอบตัวเองและสังคม ลูกก็ถือสิทธิ์ในความเป็นลูก เมื่อให้ผมเกิดมาแล้วผมก็มีสิทธิได้รับความรักความเอาใจใส่ ต้องมีสิทธิ์ใช้เงินใช้บ้านของพ่อ เพราะมันเป็นของครอบครัว เหมือนที่คุณพ่อก็ใช้เงินของคุณปู่คุณย่า และการที่ผมจะเลือกทำอะไรไม่เลือกทำอะไรนั้นมันเป็นสิทธิของผม ไม่ใช่เรื่องของพ่อ ประมาณนี้

     สิ่งที่ผมจะพูดกับคุณวันนี้มันมีความหมายมากนะ แต่มันอาจจะเป็นอะไรที่เข้าใจยาก แต่หากคุณเข้าใจและทำตาม มันจะมีประโยชน์กับคุณมาก ขอให้คุณค่อยๆพยายามทำความเข้าใจมันไปก่อน จะทำตามได้หรือไม่ได้นั้นอย่าเพิ่งไปคิดถึงตอนนี้

     การที่พอคุณออกไปห่างๆคุณพ่อแล้วคุณสงบใจได้ พอมาอยู่ใกล้คุณพ่อแล้วปัญหาก็ปะทุขึ้นมาอีก นั่นหมายความว่าคุณยังไม่บรรลุอิสระภาพทางใจ ไม่อย่างแน่นอน  คุณได้แต่แก้ปัญหาโดยบ่น เรียกร้อง โต้กลับ สลับกับการการหนีไป หรือดื้อดึงเอาชนะในบางครั้ง ทั้งหมดนี้ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีในความเห็นของผม การหนีไปก็ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดี การแก้ปัญหาที่ดีควรใช้สถานะการณ์ครั้งนี้นั่นแหละเป็นเครื่องมือแก้ปัญหา

     รากของปัญหามันไม่ได้เป็นปัญหาตื้นๆแค่ว่าความสัมพันธ์พ่อๆลูกๆมันลุ่มๆดอนๆแค่นั้น แต่รากของปัญหาที่แท้จริงมันเป็นเรื่องของ identity คือการที่คุณสำคัญมั่นหมายว่าตัวคุณเป็นใคร เราจะคุยกันแต่่เรื่องของคุณนะ ไม่ต้องพูดถึงส่วนที่เป็นเรื่องของคุณพ่อ คุณพ่อเป็นเรื่องข้างนอกตัวคุณ การแก้ปัญหาความทุกข์ใจของคนเรานี้เราแก้ที่ใจของเรา ไม่ใช่ไปแก้ที่ข้างนอกตัวเรา

     Identity หรือความสำคัญมั่นหมายว่าเราเป็นใครนี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ผมจะท้าวความให้ฟังนะ

กำเนิดของความคิด
 
     แรกเกิดมาเรามีแต่ความรู้ตัวและร่างกาย ยังไม่มีความคิด เราค่อยๆเรียนรู้ว่าร่างกายนี้เป็นส่วนที่ตัวเราเองควบคุมได้ สิ่งแวดล้อมอื่นๆตัวเองควบคุมไม่ได้ คือเราเรียนรู้ว่านี่เป็น “ฉัน” โน่นไม่ใช่ฉัน ดังนั้น “ฉัน” เป็นความคิดแรกของมนุษย์เรา

กำเนิดของคอนเซ็พท์ (concept)

     จากความคิดเดี่ยวๆโดดๆจากนั้นเราก็ค่อยๆเรียนรู้เอาหลายๆความคิดที่คล้ายหรือเกี่ยวเนื่องกันมาผูกกันเป็นชุดของความคิดหรือคอนเซ็พท์ (concept) เช่นเมื่อรู้จัก ”ฉัน” แล้วเราก็เรียนรู้คอนเซ็พท์ “ของฉัน” ของเล่นของฉัน แม่ของฉัน พ่อของฉัน ดังนั้นคอนเซ็พท์เป็นความคิดในรูปแบบที่สองถัดมาจากความคิดโดดๆ  การที่แต่ละคนมีชื่อนามสกุลของตัวเอง ชื่อและนามสกุลนี่ก็เป็นคอนเซ็พท์ การที่เราถูกสอนให้ทำแต่ความดีอย่าทำชั่ว ดีและชั่วนี่ก็เป็นคอนเซ็พท์

กำเนิดของความเชื่อ (belief)

     เมื่อเราโตขึ้น คอนเซ็พท์หลายๆอย่างเราถูกพร่ำสอนและย้ำเตือนจนเราจำได้ขึ้นใจและส่วนหนึ่งมันจะค่อยๆกลายเป็นความเชื่อ (belief) ดังนั้นความเชื่อก็คือความคิดในรูปแบบที่สามถัดมาจากความคิดโดดๆและคอนเซ็พท์ เมื่อเราเชื่อในคอนเซ็พท์ใด เราจะปักใจว่าคอนเซ็พท์นั้นเป็นเรื่องจริง ทั้งๆที่ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นแค่ความคิด ขึ้นชื่อว่าความคิดก็เป็นเพียงแต่สิ่งที่เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ ไม่มีความคิดอันไหนจะเป็นของจริงแท้ไปได้หรอก

กำเนิดของตัวตน (identity)

     เมื่อปักใจเชื่อในคอนเซ็พท์ต่างๆมากระดับหนึ่ง เราจะเกิดความรู้สึกว่าเราเป็นบุคคลคนหนึ่งขึ้นมา ก่อนหน้านั้นเราไม่เคยมีความรู้สึกอย่างนี้ แม้พ่อแม่จะตั้งชื่อให้เราแล้วเราก็ไม่มีความรู้สึกว่าเราเป็นบุคคลคนหนึ่ง แต่นานไปใครต่อใครเรียกชื่อเราซ้ำๆซากๆและทุกครั้งที่เรียกก็จะตามมาด้วยการเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับตัวเรา ทำให้เราเริ่มเชื่อว่าเราเป็นบุคคลคนหนึ่งที่ชื่อนั้นชื่อนี้ มีความเชื่อในคอนเซ็พท์เรื่องนั้นเรื่องนี้ เช่นเชื่อว่าเราเป็นชายหนุ่มที่รักความยุติธรรม เป็นลูกที่กตัญญู เป็นลูกที่ได้รับความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ หรือเป็นลูกที่ไม่ได้รับความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ เป็นต้น ดังนั้นความรู้สึกว่าเราเป็นบุคคลๆคนหนึ่งนี้จริงๆแล้วก็เป็นเพียงความคิดในรูปแบบที่สี่ถัดจากความคิดโดดๆ คอนเซ็พท์ และความเชื่อ แต่ว่ายิ่งมีความเชื่อในคอนเซ็พท์หนักแน่น ความสำคัญมั่นหมายว่าเราเป็นบุคคลนี้ยิ่งรุนแรง บรรทัดฐานของสังคมก็ยิ่งทำให้เราเชื่อในความเป็นบุคคลชองเรามากขึ้น เราไปติดต่องานคนก็จะถามหาบัตรประชาชน เพศ อายุ วันเกิด การศึกษา ทั้งหมดนี้คือคอนเซ็พท์ที่ตอกย้ำความเป็นบุคคลของเรา จนเราแทบคิดไม่ออกเลยว่าความเป็นบุคคลคนหนึ่งของเรานี้มันจะเป็นเพียงแค่ความคิดไปได้อย่างไร

     ตอนนี้คุณก็มี identity หรือความสำคัญมั่นหมายว่าตัวเองเป็นชายหนุ่มอายุสามสิบเรียนหนังสือจบมามีความรู้สูงมีความเฉลียวฉลาดรู้คิดรู้อ่านอะไรของตัวเองมีความชอบอะไรไม่ชอบอะไรของตัวเอง มีความคิดอยากทำอะไรไม่อยากทำอะไรของตัวเอง คุณเชื่อในตัวตนของคุณนี้หนักแน่นว่ามันเป็นความจริง และเมื่อคุณพ่อเข้ามาแทรกแซงชี้นำหรือกดดันให้คุณทำในสิ่งที่คุณไม่ชอบ ใจของคุณก็เกิดความคิดปกป้องตัวตนของคุณนี้ขึ้นมา คุณปกป้องตัวเองว่าคุณคิดด้วยหลักการของเหตุและผล แต่คุณลืมไปว่านั่นเป็นเพียงความคิดนะ ที่คุณเป็นทุกข์อยู่ทุกวันนี้ คุณเป็นทุกข์เพราะความคิดแค่นั้นเองนะ

     ผมผ่านโลกมาพอควรทำให้พอจะรู้ว่าการจะแนะนำอะไรใครบางครั้งตอนแนะนำผมก็คิดว่าผมให้คำแนะนำถูกแล้วแต่เมื่อเวลาผ่านไปผมก็ไปค้นพบภายหลังว่าคำแนะนำของผมผิด อย่างนี้ก็มีบ่อย แต่คำแนะนำต่อไปนี้ผมมั่นใจว่าเป็นคำแนะนำที่ถูกต้อง คือผมจะแนะนำคุณว่าความคิดไม่ใช่สิ่งที่ประเสริฐที่สุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ และบ่อยครั้งที่หากคุณเอาความคิดเป็นตัวชี้นำทางชีวิต คุณจะไปผิดทาง ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่จะไม่นำพาคุณไปผิดทางเลยคือความรู้สึกรักและเมตตา ความรู้สึก (feeling) นะ ไม่ใช่ความคิด คุณลองหาเวลานั่งเงียบๆสักวันหนึ่ง แล้ววางความคิดความเชื่อทั้งหลายของคุณลงชั่วคราว แม้แต่ความคิดที่ว่าคุณเป็นบุคคลคนหนึ่งก็วางลงด้วย ให้เหลือแต่ความรู้ตัว คราวนี้ลองใช้ความรู้ตัวนั้นรับรู้ความรู้สึกที่คุณมีต่อคุณพ่อของคุณดูหน่อยสิ เอาแต่ความรู้สึกนะ ไม่เอาความคิดหลักการเหตุผลใดๆทั้งสิ้น ความรู้สึกนั้นมีสารัตถะเชื่อถือได้มากกว่าความคิด นั่นเป็นตัวตนของคุณจริงๆมากกว่า คุณเลิกความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นบุคคลคนหนึ่งนี้ซึ่งเป็นแค่ความคิด แล้วตามความรู้สึกนั้นไปเถอะ ผมรับประกันว่าโอกาสที่คุณจะดำเนินชีวิตไปผิดทางมีน้อยมาก

     ผมย้ำว่าปัญหาของคุณนี้มันแก้ไขได้นะ เพราะตั้งต้นเมื่อแรกเริ่มเกิดและเติบโตมาในวัยต้น ตัวตนที่คุณสำคัญมั่นหมายว่าคุณเป็นบุคคลที่เป็นจริงเป็นจังนี้มันยังไม่มี มันเพิ่งมาเกิดขึ้น เมื่อมันเกิดขึ้นได้ มันก็ดับไปได้

วิธีปฏิบัติเพื่อออกจากปัญหาตรงนี้

     โอเค. ชัดแล้วนะว่าแนวทางแก้ปัญหาคือวางความคิดลง ถอยมาอยู่กับความรู้ตัว แล้วดำเนินชีวิตไปตามความรู้สึกรักและเมตตาที่มีอยู่ในใจ ทีนี้ก็เหลืออยู่แต่ว่าในขั้นตอนปฏิบัตินั้น การจะวางความยึดมั่นถือมั่นในความคิด หรือการจะสลายความสำคัญมั่นหมายว่าความเป็นบุคคลคนหนึ่งของเราเป็นเรื่องจริงจังนั้นจะต้องทำอย่างไร

     ผมแนะนำให้คุณแสวงหากัลยาณมิตร แม้คุณจะทะเลาะกับจิตแพทย์ไปแล้ว แต่ผมยังยืนยันกับคุณว่าในสังคมที่ไม่รู้ใครเป็นใครอย่างทุกวันนี้ จิดแพทย์ยังเป็นกัลยาณมิตรที่ดีของคุณ เพราะเขาตั้งใจพาตัวเองมามีอาชีพนี้เพราะอยากช่วยเหลือคนอย่างคุณโดยเฉพาะ นอกจากจิตแพทย์แล้ว กลุ่มคนที่ตั้งหน้าตั้งตาเสาะแสวงหาความหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในความคิดของตัวเองทั้งหลาย ผมหมายถึงพวกนักปฏิบัติธรรม ซึ่งมีอยู่เยอะแยะหลายกลุ่ม หลายสมาคม หลายสำนัก หลายศาสนา คนเหล่านี้ก็ล้วนจะเป็นกัลยาณมิตรที่ดีสำหรับคุณ

     ผมฟังน้ำเสียงสำบัดสำนวนของคุณแล้วเป็นคนมีการศึกษาสูงมีเงินมีทอง หากคุณไม่สะดวกที่จะไปเข้ากลุ่มนักปฏิบัติธรรมในบ้านเรา ในต่างประเทศหลายๆประเทศก็มีกลุ่มก๊วนสมาคมของคนแบบนี้อยู่ ส่วนใหญ่จะจัดกลุ่มกันอยู่รอบๆครูผู้สอนที่ตัวเองชื่นชอบ ซึ่งครูแบบนี้ในโลกใบนี้มีอยู่หลายร้อยคน ลองเริ่มต้นด้วยการกูเกิ้ลหาจากคำว่า spiritual teachers ก็ได้ พวกผู้แสวงหาจากทั่วโลกมักจะมีวัตรปฏิบัติที่ไปรวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมสู่ความหลุดพ้นที่เรียกว่า satsang ที่โน่นบ้าง ที่นี่บ้าง ประเทศโน้น ประเทศนี้ ทั้งในยุโรป อเมริกา เอเซีย คุณลองไปร่วมกับเขาดูก็ไม่เลวนะ

     ในแง่ของการเรียนรู้เทคนิคการวางความคิด ผมเองก็เปิดสอน MBT อยู่แทบจะทุกเดือน คุณสนใจจะมาเรียนก็มาได้ แต่บอกก่อนนะว่า MBT สอนแต่เทคนิคพื้นฐาน ไม่ได้ช่วยเจาะลึกเข้าไปจูงมือนำทางการแก้ปัญหาชีวิตให้แต่ละคน เพราะเวลาแค่วันเดียวกับผู้เรียนเป็นสิบๆมันไม่พอที่จะทำอย่างนั้นได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์