Latest

อะไรคืออิสระภาพที่แท้จริง

คุณหมอสันต์ครับ
ผมเพิ่งเรียนจบไปทำงานที่ … อยู่มาได้หนึ่งปีแล้ว ได้รับการปฏิบัติจากเพื่อนร่วมงานและรุ่นพี่แบบที่แย่มาก จึงตัดสินใจลาออก แต่ทุกคนโดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ทัดทานว่าอย่าเพิ่งออก เพราะที่ทำงานแห่งนี้เป็นที่ที่ดีมากแล้ว ใครๆก็อยากเข้ามาทำงานที่นี่ เราเข้ามาได้แล้วจะมาออกง่ายๆจะมาเสียดายและเสียใจภายหลัง คุณแม่ชวนผมไปหาจิตแพทย์ ผมไม่ไปหรอกครับเพราะผมรู้ว่าผมยังไม่ได้บ้า แค่ผมเซ็งคนงี่เง่าในที่ทำงาน ผมต้องการความเป็นอิสรภาพในชีวิต จิตแพทย์จะช่วยอะไรผมได้ คุณแม่ขอร้องให้ผมเขียนอีเมลมาหาคุณหมอ ซึ่งผมก็ยอม ผมเขียนมานี่ไม่ใช่เพราะจำใจเขียน เพราะพอได้อ่านบล็อกของคุณหมอมาสองสามวันแล้วผมเริ่มรู้สึกว่าคุณหมออาจมีคำแนะนำที่ดีให้ผม

……………………………………………

ตอบครับ

     คุณเอ่ยถึงคำว่า “อิสรภาพ” วันนี้เราพูดถึงคำนี้สักหน่อยก็ดีนะ

    อะไรคืออิสรภาพที่แท้จริง

     สมมุติว่าตื่นเช้ามา คุณอยากดื่มกาแฟหวานมัน แต่ไม่มีให้ดื่ม คุณหงุดหงิดว่าอยู่ที่นี่คุณไม่มีอิสรภาพ อยากจะดื่มกาแฟหวานมันก็ไม่ได้ดื่ม ถ้าหากคุณมีอิสรภาพ มีสิทธิ มีเสรีภาพ คุณอยากดื่มกาแฟหวานมันคุณต้องได้ดื่มดังใจหมาย แต่ผมให้คุณมองอีกจากมุมหนึ่งว่าการได้สนองความอยากที่ขับดันคุณไปโดยความยึดติดเกี่ยวพัน (compulsively bondage) นั้นไม่ใช่อิสรภาพนะ คุณกำลังเป็นทาสของความคิดของคุณโดยไม่รู้ตัว อิสรภาพที่แท้จริงก็คือไม่ว่าสิ่งแวดล้อมหรือสิ่งเร้าจากข้างนอกจะเป็นอย่างไร การที่คุณยังสามารถทำอะไรก็หรือเป็นอะไรก็ตามอย่างที่คุณกำลังทำอยู่หรือกำลังเป็นอยู่ที่ตรงนี้ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ได้อย่างเบิกบาน (่joyfully) นั่นแหละอิสรภาพที่แท้จริง

     คุยมาถึงตอนนี้ขอนอกเรื่องหน่อยนะ ขอคุยถึงงานเขียนของกามูส์ชิ้นหนึ่งชื่อ “ตำนานแห่งซิสซิฟัสว่าด้วยการฆ่าตัวตายและความไร้สาระของชีวิต” มีต้นฉบับภาษาอังกฤษอยู่ในอินเตอร์เน็ททั่วไป เจ้านี้เป็นนักเขียนในค่ายเอ็กซิสตองเชียลลิสม์ งานเขียนนี้จับเอาเรื่องปรัมปราในตำนานกรีกที่ว่าซิสซิฟัสถูกเทพเจ้าลงโทษด้วยการสาปให้กลิ้งหินขึ้นภูเขา เมื่อใดก็ตามที่หินนั้นขึ้นไปถึงยอดเขา คำสาปจะทำให้มันกลิ้งกลับมาอยู่ที่ตีนเขาใหม่โดยอัตโนมัติ เพื่อให้ซิสซิฟัสต้องกลิ้งมันขึ้นไปใหม่ เป็นเช่นนี้ชั่วนิรันดร ถือว่าเป็นการลงโทษที่แสบยิ่งกว่าการฆ่าให้ตาย กามูส์ยกประเด็นตอนที่ซิสซิฟัสมองหินที่กลิ้งกลับลงจากเขา ว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร ความพยายามสู้ทนความยากลำบากทั้งหลายสูญเปล่า คงจะรู้สึกเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากรู้สึกว่าชีวิตมันช่างไร้สาระสิ้นดี กามูส์บอกว่าคนเราฆ่าตัวตายไม่ใช่เพราะความยากลำบากของชีวิต แต่เพราะทนความไร้แก่นสารของโลกนี้ไม่ได้ต่างหาก ตะเกียกตะกายแค่ไหน สุดท้ายก็คือความว่างเปล่า นั่นคือซิสซิฟัสตอนที่ยังไม่บรรลุความหลุดพ้น

     แต่กลิ้งหินไปครั้งแล้วครั้งเล่า ซิสซิฟัสก็เริ่มเรียนรู้ว่าคำสาปจะมีผลก็ต่อเมื่อเขาให้ค่ามัน แต่เมื่อใดที่ใจเขาเฝ้าสังเกตอยู่ที่การกลิ้งหินนี้ เขาก็เบิกบาน คำสาปนั้นก็ไม่มีความหมายอะไรกับเขา นั่นคือซิสซิฟัสตอนที่บรรลุความหลุดพ้นแล้ว คือจะให้กลิ้งหินก็เบิกบาน จะไม่ให้กลิ้งหินก็เบิกบาน เบิกบานทั้งขึ้นทั้งล่อง คำสาปซึ่งเปรียบเสมือนสิ่งเร้าภายนอกไม่มีผลอะไร

     มีอีกคนหนึ่งพูดถึงอะไรที่คล้ายๆกัน คนนี้เป็นหมอชาวยิวชื่อ วิคเตอร์ แฟรงเคิล (Frankl) เคยถูกนาซีจับขังคุกแล้วถูกทรมานต่างๆรวมทั้งถูกผ่าตัดท้องสดๆเพื่อการทดลองของพวกหมอนาซี ชีวิตในคุกทำให้เขามีประสบการณ์อย่างหนึ่งว่าเมื่อมีสิ่งเร้า (stimulus) มากระทบเรา ก่อนที่เราจะสนองตอบ (response) ออกไปนั้น มีช่องว่างอยู่นิดหนึ่ง ซึ่ง ณ ช่องว่างนั้นเรามีอิสระที่จะเลือกสนองตอบอย่างไรก็ได้ เรากำหนดของเราได้อย่างอิสระ ถ้าเราเลือกสนองตอบแบบหนึ่ง เราก็จะเป็นทุกข์ เลือกสนองตอบอีกแบบหนึ่ง เราก็ไม่ทุกข์ เขาเรียกอิสระที่เรากำหนดการสนองตอบนี้ว่า the last freedom of human คือเป็นอิสรภาพที่อยู่กับตัวเรานี่เอง ใครมาแย่งไปไม่ได้ เขาใช้คอนเซ็พท์นี้เขียนหนังสือชื่อ Man search for meaning ซึ่งเป็นหนังสือคลาสสิกมาจนทุกวันนี้

     ทำอย่างไรจึงจะมีอิสระภาพที่แท้จริง

     ก่อนอื่นตอบคำถามผมก่อนว่าคุณเกิดมาที่นี่ทำไม ถ้าเกิดมาเพื่อ (1) กิน (2) ขับถ่าย (3) สืบพันธ์ (4) นอน แล้วแก่ตายไปอย่างหมาอย่างแมว คุณไม่ต้องมีสมองหรือเชาว์ปัญญาล้ำลึกขนาดที่คุณมีอยู่ตอนนี้ก็ได้ การมีสมองฉลาดล้ำลึกของมนุษย์ทำให้คุณบรรลุพันธ์กิจทั้งสี่อย่างนั้นยากกว่าและสนุกน้อยกว่ามีสมองเท่าหมาเท่าแมวเสียอีก คุณมาที่นี่เพื่อมามีประสบการณ์กับชีวิตให้ได้มากที่สุด การจะมีประสบการณ์กับมัน คุณต้องยอมรับมันตามที่มันเป็น (acceptance) คุณจะรับรู้ชีวิตได้เฉพาะเมื่อคุณตื่นตัวยอมรับและรับรู้มันเท่านั้น แต่ถ้าคุณไปติดอยู่ในกรงความคิดคุณจำกัดอยู่แต่สิ่งที่คุณยอมรับอย่างอื่นคุณไม่เอา คุณก็หมดโอกาสรับรู้โลกและชีวิตนอกเหนือจากส่วนที่คุณจมอยู่กับมันซ้ำซากอยู่แล้ว ความจริงไม่มีอะไรซ้ำซากในชีวิตนี้ยกเว้นความคิด โลกนี้มีความพิศดารน่าทึ่ง การให้ความสนใจโลกจะน่าเบื่อได้อย่างไร ที่เราเบื่อเพราะเราติดกับอยู่ในความคิด โลกไม่มีอะไรซ้ำซากน่าเบื่อ เมื่อเราตื่นขึ้นมา ว้าว เรามีชีวิตอยู่อีกวันแล้ว ทุกๆเช้าในโลกนี้คนราวสองแสนคนไม่ตื่น คือตายไปเสียแล้วเมื่อวาน การที่เรามีชีวิตอยู่นี่เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว วันนี้เราตื่น เรามาเล่นเกมส์ชีวิตกัน ขึ้นชื่อว่าเกมส์อะไรก็ตามก็ล้วนเล่นได้ง่ายๆเพียงแค่คุณเข้าใจกฏกติกาของเกมส์ ไม่ว่าคุณไปไหน ดูกฎเกณฑ์ของสถานที่นั้นแล้วเปิดรับให้มันเข้ามาเป็นกฎประจำใจคุณทันทีคุณก็พร้อมจะเล่นเกมส์แล้ว โลกนี้คือการเล่นเกมส์ เกมส์มีอยู่เฉพาะเมื่อผู้เล่นยอมรับกฎกติกา ถ้าไม่ยอมรับกฎกติกาก็หมดโอกาสได้เล่นเกมส์ เพราะหากมัวยึดกฎของตัวเองก็จะถูกเคี้ยะออกไป (exclude) จากเกมส์ชีวิตโดยอัตโนมัติ

     การจะรู้ชีวิตต้องเข้าไปคลุก ต้อง involve จึงจะรู้ สมัยผมหนุ่มๆเรียนมัธยมผมชอบไปเดินป่า ไปเดินป่าก็ต้องเดินอย่างเสือ ย่องๆ เบาๆ ระแวด ระวัง สังเกต สังกา นี่เป็นกฏกติกาของการเดินป่า เพื่อนบางคนพอไปเดินป่าก็ร่ำร้องหาส้วม ไม่มีส้วมแล้วจะทำอย่างไร กลางคืนก็ร่ำร้องหามุ้ง เลยไม่ได้รับรู้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับป่าเพราะใจมัวแต่คิดร่ำร้องหาส้วมหามุ้งและนับนิ้วนับวันว่าเมื่อไหร่จะได้กลับบ้าน เลยไม่ได้รับรู้ชีวิตป่า อย่างเช่นแมลงในป่าซึ่งร้องเพลงออร์เคสตร้าอย่างเข้าขากันและตรงเวลาเป๊ะ คนไม่เคยเดินป่าอย่างลึกซึ้งจริงจังจะไม่สังเกตเห็น

     เช่นเดียวกันเมื่อเรียนหนังสือจบใหม่ๆไปเริ่มทำงาน หรือเมื่อย้ายไปทำงานที่ใหม่ ให้เรียนรู้กติกาของที่ใหม่ แล้วลงไปเล่นตามกติกาใหม่ เราจะเป็นส่วนหนึ่งของที่ใหม่ทันที ชีวิตก็จะสนุก เพราะเราได้เข้าไปอยู่ในเกมส์แล้ว ได้เข้าไปอยู่กลางสนามแล้ว อย่าหลีกเลี่ยงการมีชีวิต ยอมรับทุกอย่างอย่างที่มันเป็น มีความรักให้ทุกคน มีความรักให้ทุกสิ่งทุกอย่าง อะไรๆก็จะดูสวยงามไปหมดเพราะเรารักมัน ทำได้อย่างนี้แล้วคุณไม่ต้องอ่านคัมภีร์ที่ไหนอีกแล้ว คุณบรรลุความหลุดพ้นแล้วทันที คุณได้เป็นคนแบบ full-time human being แล้ว ทุกโมเมนต์ในชีวิตจะกลายเป็นการตกหลุมรัก สิ่งนอกตัวเราทั้งหมดคือความเป็นเราด้วย เรามีชีวิตแบบ inclusive ไม่ใช่ exclusive คำว่า exclusive ผมหมายถึงการมองว่านี่คือเรา นั่นไม่ใช่เรา พอมองแบบนี้การปฏิเสธสิ่งรอบตัวก็ตามมา กรงของความคิดก็เกิดขึ้น แล้วอิสรภาพและความเบิกบานจะเกิดได้อย่างไร

     นอกจากโลกทัศน์วิสัยทัศน์แล้ว การเข้าใจและรู้วิธีสัมผัสเชื่อมโยงกับส่วนของชีวิตในมิติที่อยู่นอกเหนือจากสมมุติบัญญัติที่อายตนะรับรู้จำแนกได้ก็สำคัญนะ คือชีวิตนี้ประกอบด้วยสองส่วน ส่วนหนึ่งคือ names and forms หรือ “สมมุติสัจจะ” ต่างๆที่เรารู้จักและตั้งชื่อให้ได้ อีกส่วนหนึ่งเป็นพลังงาน (energy) ที่ไม่มีภาษาหรือวิธีใดที่จะสื่อถึงได้เว้นเสียแต่การ “เป็น” พลังงานนี้ด้วยตัวเราเองเท่านั้น บางคนเรียกส่วนนี้ว่า “ปรมัตถ์สัจจะ” ซึ่งฟังแล้วก็ยังยากที่จะเก็ทอยู่ดี ความจริงสัจจะทั้งสองส่วนนี้มันใกล้กันมาก เพราะพลังงานนั้นปรากฎในรูปของคลื่นของการสั่นสะเทือน (vibrations) ทุกชีวิตมีคลื่นการสั่นสะเทือนเป็นเอกลักษณ์ มีความถี่ของตนเอง ซึ่งนั่นก็คือเสียง (sounds) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ (names) ซึ่งชื่อนี้ก็คือเสียงที่เปล่งเรียกขานกันนั่นเอง ประเด็นคือคนที่จะเบิกบานกับชีวิตได้ก็คือคนที่สัมผัสและอยู่กับพลังงานชีวิตนี้ได้เป็นอาจิณเท่านั้น กิจกรรมฝึกความรู้ตัวทั่วพร้อม (สัมปชัญญะ) เช่นการลาดตระเวณร่างกาย (body scan) การรำมวยจีนเพื่อรับรู้ “ชี่” การนั่งสมาธิโดยติดตามการสั่นสะเทือนของการเปล่งเสียงหรือการสั่นสะเทือนที่เกิดจากการหายใจ ล้วนเป็นเทคนิคปฏิบัติที่จะทำให้สัมผ้สและ “เป็น” พลังงานชีวิตนี้ได้ คำว่า “ชี่” ในการรำมวยจีน หรือ “ปราณา” ในการทำโยคะ หรือ “เมตตา” ในพุทธนิกายมหายาน ก็คือพลังงานนี้ ความเบิกบานในชีวิตแผ่ออกไปจากพลังงานนี้โดยไม่มีอะไรเกี่ยงข้องกับความคิด จะเกี่ยวอยู่ก็นิดหน่อยก็ในมุมที่ว่าความคิดเป็นกรงขังเราไว้ในโลกของสมมุติสัจจะไม่ให้เราเปิดรับสัมผัสปรมัตถ์สัจจะหรือพลังงานชีวิตนี้ จึงจำเป็นที่เราจะต้องวางความคิดลงให้ได้ก่อนจึงจะเข้าถึงพลังงานชีวิตนี้ได้
 
     เมื่อเข้าใจแล้วก็มาถึงขั้นตอนปฏิบัติ ในขั้นตอนปฏิบัติเพื่อมีชีวิตที่เบิกบานนั้น มีหลายร้อยวิธีสุดแต่ว่าใครจะเป็นคนแนะนำไว้ วิธีการของพระพุทธเจ้าเป็นวิธีที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด ท่านได้สอนเครื่องมือเจ็ดประการเพื่อการนี้ไว้ในสูตรที่เรียกว่า “โภชฌงค์” ซึ่งแปลง่ายๆประมาณว่าองค์คุณหรือเครื่องมือที่นำไปสู่การตรัสรู้ เครื่องมือทั้งเจ็ดประการนั้นได้แก่

1. สติ
2. ธรรมะวิจะยะ (การเฟ้นเลือกหัวข้อธรรมมาปฏิบัติให้เหมาะแก่กาล)
3. วิริยะ (การกระตุ้นพลังในตัวเอง)
4. ปิติ (การรับรู้พลังงานชีวิตผ่านร่างกาย เช่นภาวะวูบวาบเย็นสบายขนลุกซู่ซ่า)
5. ปัสสัทธิ (การผ่อนคลายร่างกาย)
6. สมาธิ (การตั้งมั่นอยู่กับความรู้ตัวโดยปลอดความคิด)
7. อุเบกขา (การยอมรับและรับรู้ทุกอย่างตามที่มันเป็น)

     ทั้งนี้ท่านได้นำเครื่องมือทั้งเจ็ดนี้ สอนเป็นขั้นตอนปฏิบัติที่เรียกว่า “อานาปานสติ” ดังนั้นสำหรับคุณและแฟนบล็อกทุกท่านไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธหรือไม่ ผมแนะนำให้นำเครื่องมือในโภชฌงค์เจ็ดมาใช้ผ่านการปฏิบัติตามขั้นตอนของอานาปานสติ วิธีนี้แม้จะมิใช่วิธีที่สั้นที่สุด แต่ก็เป็นวิธีปฏิบััติที่ผมเห็นว่าชัวร์ที่สุดว่าคุณจะไม่หลงทางแม้ว่าจะไม่มีใครเป็นครูคอยชี้้นำก็ตาม อานาปานสติมีขั้นตอนจากง่ายไปหายากรวม 16 ขั้นตอน ซึ่งเป็นภาคขยายออกมาจาก 4 หมวดของวิธีฝึกสติปัฏฐาน (กาย, เวทนา, จิต, ธรรม) การนำอานาปนสติไปใช้ในชีวิตประจำวันก็คือวิธีใช้ชีวิตแบบที่ท่านเรียกอีิกอย่างหนึ่งว่า “มรรค 8” (เชื่อ, คิด, พูด, ทำ, เลี้ยงชีพ, เพีียร, สติ, สมาธิ ให้พอเหมาะพอดี) นั่นเอง รายละเอียดของทั้งหมดนี้ผมขอไม่พูดถึงนะเพราะคุณสามารถหาอ่านได้จากพระไตรปิฎก

     จำไว้ว่าเพื่อนร่วมงานใหม่ ที่ทำงานใหม่ เป็นเพียงแค่สิ่งเร้าจากภายนอก ล้วนเป็นเรื่องขี้หมาและไม่ใช่ประเด็น การหันเหความสนใจจากภายนอกเข้าสู่ภายใน เรียนรู้วิธีเฝ้าสังเกตกลไกที่สิ่งเร้าเข้ามากระทบใจแล้วสะท้อนกลับออกไปเป็นปฏิกริยาสนองตอบแบบอัตโนมัติ เฝ้าดูจนจับได้ไล่ทัน นั่นแหละเป็นประเด็น ให้คุณแยกสองประเด็นการใช้ชีวิตนี้ให้ออกก่อน แล้วเดี๋ยวทุกอย่างจะคลี่คลายตัวมันให้คุณเห็นเอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์