Latest

คุณหมอยังไม่ทันทำงาน แต่มองข้ามช็อตไปถึงวัยเกษียณแล้ว

เรียน  อาจารย์ นพ.สันต์
        อาจารย์คะขออนุญาตเรียนปรึกษา ดังนี้
1. ขณะนี้อาจารย์คณะแพทย์ … มีสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย เบิกค่ารักษาพยาบาลแบบจ่ายตรงไม่ได้  ต้องใช้สิทธิ์ประกันสังคมเท่านั้น  และไม่ได้รับบำนาญ  มีเฉพาะเงินกองทุนเลี้ยงชีพ  แต่มีเงินเดือนสูงกว่า
2. อาจารย์โรงพยาบาลศูนย์ เป็นข้าราชการ ได้รับบำนาญ และเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตลอดชีวิต
          ขณะนี้จบแพทย์เฉพาะทางแล้วค่ะ กำลังตัดสินใจว่าจะสมัครเข้าทำงานที่ใดดี จึงขอความกรุณาจากท่านอาจารย์ช่วยแนะนำจุดเด่น จุดด้อยของทั้งสองแบบนี้
           และหากตัดสินใจเลือก มศว. ควรบริหารการเงินอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงในชีวิต ที่หลังเกษียณอายุแล้วไม่มีบำนาญ และไม่ได้รับสิทธิค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนประกันสังคม
ด้วยความเคารพค่ะ

…………………………………………………..

ตอบครับ

     แม่เฮย.. ยังไม่ทันเริ่มทำงาน มองข้ามช็อตไปถึงวัยเกษียณโน่นแล้วหรือนี่ นี่ใจคอจะเกิดมาเพื่อใช้ชีวิตให้ตรงตามร่องที่คนอื่นเขาเคยใช้กันมาตั้งแต่เกิดจนตายอย่างไม่ให้บิดผันจากร่องเดิมเลยหรืออย่างไร..แม่คุณ

     1. ข้อดีของการอยู่เป็นอาจารย์ในมหาลัยซึ่งเป็นพนักงานของรัฐ กับการไปอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นข้าราชการ ตอบว่าดีพอๆกันทั้งสองทางนั่นแหละ ขึ้นอยู่กับความชอบในใจ (passion) ของแต่ละคนว่าชีวิตนี้ชอบที่จะทำอะไร กล่าวคือ

     1.1 การได้สอน ถือเป็นข้อดี เพราะการสอนทำให้ได้เรียนรู้ การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆเป็นความสุขของการเกิดมามีชีวิต การเป็นอาจารย์มหาลัยได้สอนเต็มๆ แต่การเป็นหมอรพ.ศูนย์ของกระทรวงสธ.ก็มีโอกาสได้สอนเหมือนกัน เพราะเขาเอานักเรียนแพทย์ไปแหมะไว้ให้ทุกหนทุกแห่ง ถ้าอยากสอนรับประกันได้สอนแน่นอนไม่ว่าจะเลือกทำงานที่ไหน แต่ส่วนใหญ่เห็นแต่วิ่งหนีงานสอนไปหาลำไพ่กันเสียมากกว่า ไม่เว้นแม้แต่อาจารย์มหาลัย

     1.2 การได้เรียนรู้เพิ่มเติม ก็ถือเป็นข้อดี หมายถึงได้ประชุมวิชาการ นั่งประชุมคอนเฟอเร้นซ์ ได้ไปเรียนเพิ่มเติมเมืองนอกเมืองนา อยู่มหาลัยกับอยู่กับสธ.ก็มีโอกาสไม่ต่างกัน ขอให้เป็นคนชอบเรียน อยู่มหาลัยอาจได้เรียนเต็มไม้เต็มมือหน่อยเพราะเป็นอาชีพโดยตรง แต่อยู่กับสธ.ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีโอกาส หากกระเสือกกระสนจะเรียน ก็ต้องได้เรียน ตัวผมเองก่อนที่จะไปฝึกอบรมเมืองนอกตอนนั้นก็เป็นหมออยู่ตจว. คืออยู่ที่รพ.ศูนย์สระบุรี

     1.3 การได้ร้ักษาผู้ป่วย ซึ่งก็ถือเป็นข้อดี อยู่ตรงไหนก็ได้รักษาผู้ป่วย แต่อยู่รพ.ของสธ.อาจจะได้รักษาผู้ป่วยเต็มไม้เต็มมือกว่าเพราะเป็นงานหลัก ขณะที่อยู่มหาลัยมีงานสอนเป็นงานหลัก งานรักษาผู้ป่วยเป็นแค่งานประกอบงานสอน

     1.4 การได้ทำวิจัย ซึ่งก็เป็นความบันเทิงอีกอย่างหนึ่งของอาชีพนี้ อยู่ทางไหนก็ทำวิจัยได้เหมือนกันทั้งมหาลัยและสธ. ขอให้ทำจริงเหอะ งบประมาณวิจัยมีแยะมาก ผ่านองค์กลางเช่นสภาวิจัย สมาคมวิชาชีพ เป็นต้น แต่ละหน่วยงานเองก็มีการสนับสนุนทำวิจัยบนงานที่ทำ (routine to research) ซึ่งหากเอ็นจอยงานวิจัยก็ทำได้ไม่รู้จบ แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครเอ็นจอยงานวิจัย ได้แต่สักแต่ว่าทำ พอให้เขียนขอตำแหน่งวิชาการได้ ไม่ได้เอ็นจอยที่จะทำ บางกรณีก็ขอโทษ.. เอาตีนทำ หรือแอบลอกงานของคนอื่นมาเขียนใหม่แบบขโมยดื้อๆ คือไม่เอ็นจอยที่จะทำแต่อยากได้ผลงาน เหมือนคนลักเล็กขโมยน้อยไม่สนุกกับการทำงานหาเงินแต่อยากได้เงิน บ้างเอาเงินทุนวิจัยก้อนแรกไปแล้ว ไม่มีเวลาเขียนรายงานเพื่อขอรับเงินก้อนสอง เปรียบเหมือนผู้รับเหมาก่อสร้างงวดแรกไม่เสร็จก็เบิกเงินงวดสองไม่ได้ งานวิจัยก็มักค้างเติ่งอยู่ที่หลังจากรับเงินงวดแรกมาแล้ว จนเบื่อระอากันไปทั้งฝ่ายผู้ให้เงินและฝ่ายผู้รับเงินเขามาทำวิจัย

     1.5 การมีรายได้ประจำมากๆ ไม่ว่าอยู่ทางไหนก็มีรายได้ประจำดีพอๆกันทั้งคู่ อยู่มหาลัยอาจเงินเดือนมากกว่าแต่ไม่มีบำนาญ อยู่สธ.เงินเดือนน้อยกว่าแต่มีบำนาญ โหลงโจ้งแล้วก็พอๆกัน ในแง่ของผู้จ่ายเงิน ระบบบำเหน็จ (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) ดีกับผู้จ่ายเงินในแง่ที่ยอมจ่ายเงินเดือนแพงขึ้นหน่อย แต่พอเกษียณแล้วก็ตัดหางปล่อยไม่ต้องตามไปเลี้ยงดู ส่วนระบบบำนาญก็ดีกับผู้จ่ายเงินอีกเหมือนกันในแง่ที่วันนี้ประหยัดเงินเดือนไม่ต้องจ่ายมาก แล้วค่อยไปลุ่นเอาวันหน้า ถ้ารัฐยากจนมากนักก็ถือโอกาสเลิกระบบบำนาญ..ซะงั้น (ผมเคยเห็นสมัยที่ผมอยู่ที่นิวซีแลนด์  ประมาณปีค.ศ. 1989 รัฐประกาศเลิกระบบบำนาญกลางอากาศ ผู้คนร้องชักดิ้นชักงอระเบ็งเซ็งแซ่ปานประหนึ่งว่าจะขาดใจตาย แต่อีกสองสามวันต่อมาทุกคนก็ดำเนินชีวิตต่อไปได้เป็นปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น) ดังนั้นเงินเดือนน้อยมีบำนาญ หรือเงินเดือนมากไม่มีบำนาญ จะเอาแบบไหนก็ได้ แล้วแต่ชอบ

    1.6 การมีโอกาสหาลำไพ่ ก็ทำได้โดยสะดวกทั้งสองแห่ง อยู่กับสธ.ก็ทำได้ทั้งไปรพ.เอกชนและทั้งเปิดคลินิกส่วนตัว ทนเหนื่อยเอาหน่อย เพราะถึงเวลาเปิดคลินิกก็ต้องไป ชอบไม่ชอบก็ต้องไป สมัยหมอสันต์อยู่บ้านนอกเปิดคลินิกส่วนตัววันละสามเวลาหลังอาหาร ถึงเวลาไปคลินิกแล้วคันคะเยอ เพราะแพ้ นับเป็นวิบากกรรมสำหรับคนที่ไม่ชอบหาเงินแต่อยากได้เงิน ส่วนคนที่อยู่มหาลัยในกรุงเทพฯก็ออกไปวิ่งรอกตระเวณรพ.เอกชนเพื่อหาเงินได้เหมือนกัน รายได้ก็เป็นกอบเป็นกำไม่แพ้กัน จะเหนื่อยหน่อยก็ตรงที่รถติด สมัยหมอสันต์ยังบ้าหากินอยู่ นอกจากจะรับราชการและสอนนักเรียนแพทย์แล้ว ยังออกไปวิ่งรอกรพ.เอกชนอีกสามรพ.ห้ารพ. ชีวิตเป็นอย่างไรพูดไม่ออก บอกไม่ถูก ได้แต่ร้องเพลงสมปองน้องสมชายอีกทีให้ฟังว่า

     “..เหนื่อยจนแทบขาดใจ”

    มีอยู่ครั้งหนึ่งผมไปบรรยายสอนสมาคมแพทย์ที่ญี่ปุ่น พอพักการบรรยายเจ้าภาพก็ตั้งโต๊ะเลี้ยงวิทยากรอย่างเอิกเกริก มีผู้บรรยายมาจากหลายประเทศ มีอยู่ตอนหนึ่งวงสนทนาคุยกันถึงการห้ามแพทย์ในภาครัฐบาลไม่ให้ออกไปวิ่งรอกทำงานรพ.เอกชน ทั้งอเมริกา อังกฤษ อิตาลี ไต้หวัน ต่างก็เล่าสอดคล้องต้องกันว่าประเทศของเขาจะทำอย่างนั้นไม่ได้ หมอใหญ่ญี่ปุ่นเจ้าภาพบอกที่ประชุมว่าที่ญี่ปุ่นการทำอย่างนั้นถือเป็นอาชญากรรมเลยทีเดียว ผมก็ได้แต่ฟังอมยิ้มอยู่คนเดียว คุยกันไปได้พักใหญ่ ต่างฝ่ายต่างผลัดกันเล่างานของตัวเองให้เพื่อนๆฟัง เจ้าภาพเห็นผมเงียบจึงถามผมว่า

     “ดร.แซ้นท์ เล่าพวกเราฟังบ้างสิ งานของคุณ คุณทำอะไรบ้าง” ผมตอบว่า

     “ผมก็..ประกอบอาชญากรรมอยู่ในกรุงเทพ” ทั้งโต๊ะหัวเราะกันครืน

     2. ข้อเสียของการทำงานในมหาลัยเมื่อเปรียบเทียบกับทำงานในรพ.ของสธ.ในต่างจังหวัด ก็มีข้อเสียพอๆกัน กล่าวคือ

     2.1 ระบบการทำงานน้ำเน่าเละเทะ ก็มีพอๆกันทั้งในการทำงานกับสธ.และทำกับมหาลัย เพียงแต่ว่าเป็นน้ำเน่าคนละแบบ กล่าวคือกับสธ.เป็นน้ำเน่าแบบเจ้าขุนมูลนายย้อนยุคแย่งกันจิ้มก้องผู้ใหญ่ โดยไม่ต้องไปถามหาระบบพี่ดูแลน้องอย่างในอดีต..เพราะไม่มีแล้วเนื่องจากทุกคนต่างสาละวนกับกิเลสของตัวเองที่ยังไม่ได้รับการสนอง น้องหมอผู้หญิงท่านหนึ่งซึ่งเป็นผอ.รพ.เล็กในต่างจังหวัด เคยเขียนมาเล่าให้ผมฟังว่า

     “หนูเป็นแค่น้ำล้างตีนของพวกพี่ๆในกระทรวง”

     ฟังแล้วเก็ทเลยไม่ต้องอธิบายมาก ส่วนการทำงานในมหาลัยนั้นก็เจอน้ำเน่าอีกแบบหนึ่ง คือการแก่งแย่งอิจฉากลัวกันได้ดีในทางวิชาการ รวมไปถึงการหลอกใช้หรือการปล้นผลงานวิชาการของรุ่นน้อง บางคนบอกว่าเน่าแบบหลังนี้เน่าเบากว่า ซึ่งก็แล้วแต่จะมอง

     2.2 เจ้านายห่วย อันนี้ไม่ต้องอธิบายมาก เพราะเจ้านายก็คือคน ขึ้นชื่อว่าคนห่วย ย่อมจะมีเหมือนกันไปทุกวงการทุกหน่วยงาน

     2.3 คนไข้ซกมก ตรงนี้การทำงานในมหาลัยดีกว่าหน่อยตรงที่โอกาสเจอกับคนไข้เจ้าปัญหาหรือพูดภาษาคนไม่รู้เรื่องมีน้อยกว่า แต่การทำงานรพ.ต่างจังหวัดต้องเจอบ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอยู่ต่างจังหวัดนั้นต้องผลัดเวรกันอยู่ประจำห้องฉุกเฉินนอกเวลากลางคืนดึกดื่น ซึ่งเป็นแหล่งรวมคนถ่อยสถุลเมามายไร้สติทุกรูปแบบ ยังไม่นับผู้ป่วย “รู้ดี” ที่มากลางวันแสกๆแล้วมาสั่งให้หมอจ่ายยานั้นยานี้ให้เพราะฉันเบิกได้ ไม่จ่ายให้ก็จะเอาเรื่อง อันนี้ผมยอมรับว่าเป็นสิ่งที่แพทย์ตจว.เจอมากกว่าแพทย์กทม. แต่ผมปลอบใจคุณได้บ้างว่าสมัยนี้อย่างดีคนไข้ก็แค่ชกหรือเตะหมอ แต่สมัยผมเป็นหมอประจำอีอาร์.ที่รพศ. นครศรีธรรมราชเมื่อปีพ.ศ. 2523 นู้น คนไข้มาอีอาร์.พร้อมกับควงปืนเอ็ม. 16 มาด้วย ฮ่าย..ย นึกย้อนอดีตแล้วเสียวสันหลังแว้บ..บ

     2.4 การขาดระบบสังคมที่เป็นกันเองและอบอุ่น สมัยก่อนการทำงานตจว.ได้เปรียบที่สังคมในรพ.เป็นสังคมที่ดี เพราะเลิกงานแล้วไม่มีที่ไปไหน ทุกคนรู้จักกันและมีกิจกรรมเชิงสังคมกันเป็นประจำทำให้ชีวิตของแพทย์นอกเวลาทำงานมีคุณภาพดี ซึ่งแพทย์ที่ทำงานในกทม.ไม่มีโอกาสอย่างนี้ แต่สมัยนี้แปะเอี้ยแล้ว เพราะรพ.ตจว.ไม่ว่าจะไกล้หรือไกลคุณไปดูเถอะ พอถึงวันเสาร์อาทิตย์บ้านพักแพทย์ก็กลายเป็นหมู่บ้านร้าง แม้แต่ประตูเข้าบ้านแพทย์หญ้าคายังสูงเทียมอก จะราบหน่อยก็ตรงที่บานประตูจะเปิดเข้าออกเท่านั้น เพราะหมู่บ้านพักแพทย์เป็นแค่ที่ซุกหัวนอนวันทำงาน พอวันหยุด แพทย์ที่หนุ่มสาวก็ขับรถหรือนั่งเรือบินเข้ามานั่งสตาร์บัคหรือเดินช็อปในเมืองใหญ่หรือในกทม. แพทย์ที่มีลูกก็เผ่นเข้ากทม.เหมือนกันแบบเผ่นก่อนด้วยซ้ำ คือไปนอนรอที่คอนโดที่ซื้อทิ้งไว้ตั้งแต่เย็นวันศุกร์เพื่อจะพาลูกไปกวดวิชาแต่เช้าตรู่ตอนเช้าวันเสาร์ อามิตตาภะ..พุทธะ

     3. ถามว่าหากเลือกข้างไม่มีบำนาญ ควรบริหารการเงินอย่างไรไม่ให้เกิดความเสี่ยงในชีวิต ฮ้า..า ขำ มาถามเรื่องการบริหารการเงินกับหมอสันต์ มาผิดที่เสียแล้วคุณหมอขา เพราะหมอสันต์นี้ถนัดแต่ใช้เงิน คนไข้ของผมที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์พอมาเห็นวิธีบริหารเงินของหมอสันต์แล้วตาโต เพราะผมมีหลักการว่ามีเท่าไหร่ใช้ให้หมด มีอีกก็ใช้อีก โดยวิธีนี้เงินมันจึงจะหมุนเวียนไม่บูดเน่า หิ หิ สรุปว่าคำถามข้อนี้ เพื่ออนาคตที่ดีของคุณเอง ผมขอเคาะไม่ตอบละกันนะ

     4. ข้อนี้คุณไม่ได้ถาม แต่ผม ส. ใส่เกือก ตอบให้ คุณยังไม่ได้เริ่มทำงาน แต่มองอนาคตยาวไปไกลถึงความมั่นคงในวัยเกษียณ ผมเข้าใจนะ สมัยก่อนผมก็มีมุมมองต่อชีวิตเช่นเดียวกับคุณ มันเป็นมุมมองตามสัญชาติญาณของฝูง เหมือนวัวที่วิ่งกรูตามๆกันไปในทุ่งโดยไม่มีตัวไหนวิ่งแตกฝูง ทั้งๆที่ไม่มีตัวไหนรู้เลยว่ามันจะวิ่งไปไหนกัน ตัวที่วิ่งนำก็ไม่รู้ แต่พอผมแก่แล้วผมมั่นใจว่าผมค้นพบอะไรบางอย่างที่อยากจะเอามาบอกให้คุณนะ คุณจะเชื่อผมหรือไม่เชื่อผมไม่ว่า แต่ผมขอบอก ว่าคุณอย่าไปถวิลหาความมั่นคงในชีิวิตเลย อย่าไปตั้งความหวังอะไรกับชีวิตเลย ปกติคนเป็นคริสเตียนนอกจากความรักแล้วเขาจะให้ความสำคัญกับความหวังนะ แต่คริสเตียนอย่างหมอสันต์นี้ขอประกาศโต้งๆเลยว่า “ความหวัง” เนี่ยมันเป็นตัวร้าย มันเป็นตัวร้ายพอๆกับ “ความกลัว” นั่นเลยเทีียว เพราะทั้งความหวังและความกลัวมันทำให้เราลืมใช้ชีวิตในปัจจุบัน คือชีวิตที่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ มันลากเราไปอยู่ในอนาคต หากคุณเชื่อมัน คุณจะไม่ได้ใช้ชีวิตและเสียชาติเกิดเปล่าๆนะ เพราะแท้จริงแล้วอนาคตไม่มี ชีวิตมีแต่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เท่านั้น หากคุณเกิดมาแล้วอยากจะใช้ชีวิต คุณต้องใช้ชีวิตอยู่ที่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ การที่จะใช้ชีวิตอยู่ที่ที่นี่เดี๋ยวนี้ได้ คุณจะต้องยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่เป็นอยู่ที่ที่นี่เดี๋ยวนี้แล้วให้ได้อย่างศิโรราบโดยไม่มีเงื่อนไขก่อน ขอยืมคำพูดอดีตนายกคนดังท่านหนึ่งว่า “เซ็ทซีโร่” ให้ได้ก่อน มองไปรอบๆตัวเองที่ที่นี่เดี๋ยวนี้ ยอมรับยอมแพ้ทุกอย่างว่ามันเกิดขึ้นแล้ว มันโอหมดแล้ว ไม่ต้องหนีอะไร ไม่ต้องวิ่งหาอะไร แล้วดำเนินชีวิตไปในลักษณะสนองตอบต่อสิ่งเร้าใหม่ๆที่เข้ามาอย่างมีสติทีละช็อต ทีละช็อต ไม่ต้องไปมองอะไรข้ามช็อต โดยวิธีนี้คุณจึงจะได้ใช้ชีวิต แล้วทุกอย่างมันจะลงตัวเอง ชีวิตคุณมันจะคลี่คลายออกไปอย่างสวยงามอย่างไม่คาดฝันด้วยตัวมันเอง เชื่อผม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์