Latest

คุณเป็นแขกทางเจ้าบ่าวหรือทางเจ้าสาว

     วันก่อนผมพูดใน spiritual retreat เรื่องเทคนิคการตื่นรู้ด้วยการตั้งคำถามว่าฉันคือใคร แล้วรู้สึกว่าหลายท่านยังไม่เข้าใจ จึงขอใช้เนื้อที่บล็อกของวันนี้ขยายความสักหน่อยนะ

     เรารู้อยู่ว่าแต่ละครั้งของการมองออกไปยังภายนอกนี้หากบรรยายด้วยภาษา มองอะไรหนึ่งครั้ง มันก็คือภาษาหนึ่งประโยค ซึ่งประกอบด้วยประธาน (subject) กริยา (verb) กรรมหรือเป้า (object)

     “ฉันเห็นต้นไม้”

     ฉันเป็นประธาน (subject) ต้นไม้เป็นกรรมหรือเป้า (object)

     “ฉันรู้สึกโกรธ”

     ฉันเป็นประธาน (subject) ความโกรธเป็นกรรมหรือเป้า (object)

     ตลอดชีวิต เราสนใจแต่สิ่งภายนอกที่เรามองออกไปเห็น ซึ่งเป็นกรรมหรือเป้า (object) ซึ่งต่อไปเพื่อความง่ายผมจะเรียกว่าเป้าเฉยๆก็แล้วกัน เราไม่เคยสนใจประธาน (subject) หรือผู้มองซึ่งก็คือ “ฉัน” โดยเราก็เหมาเอาง่ายๆว่า “ฉัน” ก็คือตัวเราเอง ความเป็นฉันมันอยู่ในร่างกายนี้เอง เมื่อมันมองออกไปข้างนอกมันก็เห็น ก็ได้ยิน ก็รู้สึก

     แต่ความเป็นจริงคือ “ฉัน” เป็นเพียงความคิดหนึ่งที่เป็นคอนเซ็พท์หรือความเชื่อว่าเราเป็นบุคคลที่มีร่างกายนี้และมีใจที่ฝังอยู่ข้างในร่างกายนี้ ความคิด “ฉัน” นี้เป็นแม่ของความคิดทั้งหลาย เหมือนสายสร้อยลูกปัดที่ร้อยลูกปัดเป็นร้อยๆไว้ หากไม่มีสายสร้อยก็ไม่มีลูกปัด หากไม่มีความคิด “ฉัน” ก็ไม่มีความคิดอื่นๆ แต่ว่า “ฉัน” ตัวจริงในโลกนี้ไม่มี เพราะมันเป็นแค่ความคิด แต่มันมีลูกเล่นที่ทำให้เราสำคัญผิดว่ามันเป็นเรา

     อุปมาเหมือนพ่อแม่เจ้าบ่าวเจ้าสาวจัดงานแต่งงานช้างที่โรงแรมหรูเชิญแขกจำนวนมาก งานระดับนี้มักจะมีคนที่ชอบหาของดีๆกินฟรีตามงานเลี้ยงโดยวิธีแต่งตัวดีใส่สูทแล้วทำทีเป็นแขกเข้าไปกินอาหารดื่มไวน์ดีๆของเขาฟรี โดยไม่ใครสนใจถามไถ่ เพราะฝ่ายเจ้าสาวก็คิดว่าเป็นแขกฝ่ายเจ้าบ่าว ขณะที่ฝ่ายเจ้าบ่าวก็คิดว่าเป็นแขกฝ่ายเจ้าสาว จนกระทั่งเจ้าคนนั้นเมามายก่อเรื่องป่วนเละเทะจึงมีการถามไถ่เรื่องจึงแดงขึ้นว่าเจ้าหมอนี่แท้ที่จริงแล้วเป็นแขกดอย ไม่มีใครเชิญมาดอก จึงถูกจับตัวได้ในที่สุด

    อุปไมฉันนั้น “ฉัน” ที่ทำตัวเป็นใจ (mind) ของเราและเป็นรากหรือต้นตอผู้ปล่อยสาระพัดความคิดที่ทำให้เรามีความทุกข์นี้ แท้จริงแล้วมันเป็นเพียงลมที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง สิ่งที่เป็นองค์ประกอบหลักของใจ (mind) เรานี้แท้จริงแล้วมีอยู่สองอย่างเท่านั้นคือ (1) ความตื่นหรือความรู้ตัว (consciousness) และ (2) ความสนใจ (attention) ซึ่งเป็นเหมือนกับแขนของความตื่น โดยที่ความคิด “ฉัน” มันไม่ได้เป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของทั้งสององค์ประกอบนี้เลย แต่มันลอยนวลอยู่ได้เพราะความตื่นก็นึกว่าความคิด “ฉัน” เป็นส่วนของความสนใจ ความสนใจก็นึกว่าความคิดตัวฉันเป็นส่วนหนึ่งของความตื่น ทำให้ความคิด “ฉัน” มีที่อยู่ในใจอยู่ตลอดเวลาแถมรับสมอ้างว่าเป็น “ใจ (mind)” ของเราเสียด้วย โดยไม่มีใครระแคะระคายเลยว่ามันเป็นแค่แขกดอยที่ใส่สูทปลอมตัวเข้ามาป่วนงานเลี้ยงเท่านั้น

     เส้นทางหลุดพ้นผ่านการตั้งคำถามว่าฉันคือใครมีหลักอยู่ว่าในแต่ละครั้งที่เรามองออกไปภายนอกหรือมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งเร้าใดๆ แทนที่จะสนใจที่เป้า ให้เราหันมาสนใจประธานหรือ “ฉัน” ซึ่งเป็นผู้มอง ซึ่งเป็นผู้สังเกต ซึ่งเป็นผู้เห็น ซึ่งเป็นผู้ได้ยิน ซึ่งเป็นผู้รู้สึก ซึ่งเป็นผู้คิด

     เป็นธรรมชาติว่าเมื่อเรามีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งภายนอกหนึ่งครั้ง บรรยายเป็นภาษาได้หนึ่งประโยค ภาษานั้นเมื่ออยู่ในใจก็คือความคิด ดังนั้นหนึ่งปฏิสัมพันธ์กับสิ่งเร้าก็เกิดหนึ่งความคิด

     เมื่อมีความคิดเกิดขึ้น อย่าไปสนใจเนื้อหาความคิด แต่ให้สนใจว่า

     “ใครกันนะที่กุความคิดนี้ขึ้นมา”

     “ความคิดนี้มีขึ้นเพื่อนำเสนอใคร”

     “อ้อ ฉันเป็นผู้คิดขึ้นมาใช่ไหม”

     “เดี๋ยวก่อนนะอย่างเพิ่งไป ขอทำความรู้จักก้บฉันหน่อยซิ”

     “อ้าว หายไปแล้ว ผลุบกลับเข้าบ้านไปแล้ว”

     คือให้มองที่ผู้คิด อย่าไปมองที่เนื้อหาความคิด ให้มองที่ประธานคือ “ฉัน” อย่าไปมองที่เป้าคือความคิด เครื่องมือที่ใช้มองนี้ก็คือความสนใจ (attention) หรือสตินั่นเแหละ

     เมื่อถูกมอง “ฉัน” จะมีความเหนียม มันจะค่อยๆถอยกลับที่ตั้งของมัน ซึ่งผมสมมุติง่ายๆว่าที่ตั้งของมันอยู่ในอกเรานี่แหละ กลไกที่ “ฉัน” ฝ่อหายไปนี้เป็นเพราะปกติ “ฉัน” ดำรงอยู่ได้เพราะมีเนื้อหาของความคิดเป็นเชื้อป้อนให้มันอยู่ได้ ถ้าไม่มีเนื้อหาของความคิด “ฉัน” ก็ไม่มี หากย้ายโฟกัสจากเนื้อหาของความคิดมาโฟกัสเฝ้ามองดูที่ “ฉัน”  ทั้งฉันและความคิดที่ถูก “ฉัน” กุขึ้นก็จะฝ่อหายไปด้วยกัน ดังนั้นถ้าคุณตั้งคำถามอะไรไม่เป็น แค่คุณเฝ้ามองความคิด “ฉัน” นี้เฉยๆก็ใช้การได้แล้ว เพราะเมื่อความสนใจทิ้งเนื้อหาของความคิดมาเฝ้ามองที่ “ฉัน” มันก็จะฝ่อหายไปได้เหมือนกันเพราะไม่มีความคิดคอยป้อนมันอยู่ไม่ได้ เมื่อ “ฉัน” ฝ่อหายไป แม้เพียงแว้บเดียว สิ่งที่ยังอยู่คือความตื่นซึ่งเป็นของที่อยู่ที่นั่นตลอดอยู่แล้ว พอไม่มีฉันบดบังความตื่นก็จะฉายแววให้เห็น ความตื่นนี้มีความสงบเย็นสบายๆเป็นรางวัล อย่างน้อยก็ชั่วคราวที่ฉันกลับเข้าที่ตั้ง

     อุปมาที่หนึ่ง เปรียบเหมือนการล่อวัวที่แหกคอกออกไปกินหญ้าข้างนอก ด้วยการเอาหญ้าสดๆหนึ่งกำมือไปให้มันดมแล้วให้มันเดินตามกลับเข้าคอกแล้วจึงจะให้กินหญ้าสดนั้น แน่นอนว่าพอหมดหญ้ากำมือนั้นวัวมันก็จะแร่ดออกไปข้างนอกอีก แต่นี่เป็นการเริ่มต้น ขอให้เริ่มให้ได้ก่อน หญ้าในที่นี้ก็คือความสนใจ (attention) วัวในที่นี้ก็คือความคิด “ฉัน” คอกในที่นี้ก็คือที่ตั้งของใจซึ่งผมสมมุติว่าอยู่ในหน้าอกเรานี้

     อุปมาที่สอง เปรียบเหมือนการที่หมาพลัดหลงกันกับเจ้านาย เมื่อเอาเสื้อผ้าเก่าของเจ้านายให้ดมกลิ่น แล้วหมาก็ดมโน่นดมนี่ฟิตๆ แล้วเดินไปดมไปฟิตๆ ในที่สุดก็ไปถึงตัวเจ้านายได้ หมายถึงว่าหมากลับเข้าที่ตั้งได้ กลิ่นของเสื้อผ้าเก่าในที่นี้ก็คือความสนใจ (attention) หมาในที่นี้ก็คือความคิด “ฉัน” เจ้านายในที่นี้ก็คือที่ตั้งของใจซึ่งผมสมมุติว่าอยู่ในหน้าอกเรานี้

     กิจกรรมทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในแว่บเดียว แล้วความคิดใหม่ก็จะเกิดขึ้นอีก ก็ใช้เทคนิคถามหา “ฉัน” อีก แต่เมื่อทำแบบนี้บ่อยๆเข้า ทุกครั้งที่มีหนึ่งความคิด ก็ตั้งคำถามหรือมองไปที่ “ฉัน” หนึ่งครั้ง ให้มันถอยกลับที่ตั้งหนึ่งครั้ง ขยันทำอย่างนี้ไปทุกโมเมนต์ในชีวิตที่ตื่นอยู่และว่างจากการจดจ่อทำการงาน จนมันรู้สึกว่ามันอยู่ในที่ตั้งนี่ดีแล้ว เลิกออกไปข้างนอกดีกว่า เพราะออกไปก็ต้องกลับเข้ามาอยู่ดี ณ จุดนั้นคือ “ฉัน” เลิกออกฤทธิ์ออกเดชอย่างถาวร ความตื่นจึงจะฉายแสงขึ้นให้เห็นในใจอย่างถาวร หรือที่เรียกว่า “ตื่นรู้ (awakening) นั่นแหละ ถึงตอนนั้นไม่ต้องไปห่วง “ฉัน” อีกต่อไปแล้ว เพราะความตื่นจะฆ่ามันตายไปอย่างถาวรเสียแล้วเรียบร้อย

     ถามว่า “การตั้งคำถาม มีเป้าหมายปลายทางอยู่ที่การมีความเบิกบานใช่ไหม” 

     ตอบว่า “ไม่ใช่ครับ การตั้งคำถามมีเป้าหมายปลายทางอยู่ที่การดับไม่เหลือของ “ฉัน” ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์กับความเบิกบานนั้น ความเบิกบานเป็นเพียงเหยื่อล่อ”  

     ถามว่า “การจะคอยตั้งคำถามกับใจตัวเองอย่างนี้ ในชีวิตประจำวันที่วุ่นวายจะทำได้หรือ ต้องปลีกวิเวกออกไปจากสังคมจึงจะทำได้ใช่ไหม”

    ตอบว่า “สิ่งที่เราค้นหา มันอยู่ในใจ ไม่อาจถึงได้ด้วยการเปลี่ยนสถานะภายนอกหรือถิ่นที่อยู่ สมมุติว่าคุณไปบวชชี การออกบวชด้านหนึ่งคุณสงบจากสิ่งแวดล้อมเก่า แต่อีกด้านหนึ่งคุณได้สถานะใหม่ ที่อยู่ใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดความคิดมากขึ้น คุณอาจจะบอกว่าอ้าว ถ้างั้นอยู่บ้านก็ดีสิ ตอบว่าอยู่บ้านหรือไม่อยู่บ้านมันไม่สำคัญ แต่มันสำคัญที่ “คุณอยู่ในบ้าน” หรือ “บ้านอยู่ในคุณ” 

     “คุณอยู่ในบ้าน” หมายความว่าคุณมองออกไปเห็นสิ่งต่างๆในบ้านด้วยสายตาของ “ฉัน”

     ขณะที่ “บ้านอยู่ในคุณ” หมายความว่าคุณเป็นความตื่นที่ทั้งหลายทั้งปวงที่คุณเห็นรอบตัวนี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ชั่วคราวในความตื่นของคุณ โดยที่ไม่มี “ฉัน” เกี่ยวข้อง..”

     ถามว่า “เมื่อไม่มี “ฉัน” แล้วสามีและลูกละเขาจะมีอนาคตอย่างไร”

     ตอบว่า “คุณจะไปเดือดร้อนกับอนาคตทำไม คุณยังไม่รู้จักเดี๋ยวนี้เลย ทำความรู้จักกับเดี๋ยวนี้เสียก่อน อนาคตมันจะดูแลตัวของมันเอง การไม่มี “ฉัน” นั่นแหละคือการอยู่ในเดี๋ยวนี้”

     ถามว่า “การเลิกคิดเรื่องข้างนอกมาหมกมุ่นแต่เรื่องของตัวเองอย่างนี้ จะไม่เป็นการทิ้งความรับผิดชอบในชีวิตไปหรือ”

     ตอบว่า “แหม..ตรงนี้ขอตอบยาวหน่อยนะ คุณเคยไปวัดอรุณไหม เห็นพวกครุฑที่นั่งยองๆเรียงรายรอบฐานพระปรางค์ทุกตัวต่างเอาสองมือยกพระปรางค์ขึ้นไหม ถ้าผมบอกคุณว่าครุฑพวกนี้เป็นผู้แบกรับน้ำหนักทั้งหมดของพระปรางค์อันใหญ่โตของวัดอรุณไว้ คุณจะเชื่อผมไหม คุณไม่เชื่อ เพราะคุณรู้ว่าฐานรากของพระปรางค์ที่ใต้ดินต่างหากที่รับน้ำหนักของพระปรางค์ไว้ ฉันใดก็ฉันนั้น การที่คุณคิดว่าคุณเป็นคนรับผิดชอบโลกรอบตัวคุณนั้นคุณคิดผิดแล้ว จักรวาลนี้เป็นผู้ทำให้ชีวิตดำเนินไป กลไกที่ทำให้เกิดโลกนี้ขึ้นมาจะเป็นกลไกที่ดูแลโลกนี้เอง ไม่ใช่คุณ คุณจะไปมีอำนาจควบคุมบังคับอะไรกับสิ่งนอกตัวได้  แค่ไม่มีอากาศหายใจไม่กี่นาทีคุณก็ตายแล้ว คุณดำรงอยู่ได้เพราะจักรวาลนี้มีกลไกที่ทำให้ชีวิตดำเนินไป ไม่ใช่คุณเป็นคนแบกจักรวาลนี้ไว้ นี่ที่พูดอย่างนี้พูดกับคนระดับที่เป็นแฟนบล็อกหมอสันต์เท่านั้นนะ ไม่ได้พูดกับคนทั่วไปที่ยังใช้ประโยชน์จากวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรมไม่เป็น

     การจะช่วยโลกคุณจะทำได้อย่างดีเมื่อคุณหลุดจากการจมอยู่กับ “ฉัน” หรือความเป็นบุคคลของคุณแล้ว สมมุติว่าคุณฝันไปว่าในฝันนั้นผู้คนต่างก็อดอยากหิวโหย คุณเองก็หิวโหย พอคุณหาอาหารมาได้คุณซึเรียสมากกับการต้องอดทนอดกลั้นกินเพียงนิดเดียวยังไม่หายหิวเพื่อกันอาหารนั้นไปแบ่งให้คนอื่นกินบ้าง แล้วคุณก็ตื่นขึ้นมาพบว่าเอ๊ะ คุณไม่ได้หิวนี่ คุณยังอิ่มจากอาหารมื้อเย็นอยู่เลย ถ้าในฝันนั้นคุณรู้ว่าคุณฝันไปคุณก็คงช่วยคนอื่นได้อย่างเดิมแต่คุณคงไม่ซีเรียสมากขนาดนั้นเพราะมันเป็นแค่ความฝัน การทำอะไรเพื่อโลกในชีวิตนี้ก็เช่นเดียวกัน หากคุณย้ายจากการอยู่ในความคิดไปอยู่ในความตื่นรู้ได้ ชีวิตนี้ก็เป็นเพียงแค่ความฝันเรื่องยาวเรื่องหนึ่งเท่านั้น เมื่อรู้อย่างนั้นแล้วคุณก็จะเล่นบทบาทช่วยโลกได้เป็นอย่างดีโดยไม่ซีเรียสเกินไป เพราะคุณรู้ว่ามันเป็นแค่ความฝันเรื่องยาวเรื่องหนึ่งเท่านั้น

     แล้วในการทำอะไรให้คนอื่นนี้ไม่ใช่ว่า “ฉัน” ทำเพราะฉันเก่งฉันสามารถฉันจึงไปช่วยเขา นั่นเป็นการทำงานแบบมองออกไปจากความเป็นบุคคลซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับความหลุดพ้นที่ยิ่งทำก็ยิ่งทุกข์เพราะความเป็นบุคคลของคุณมันจะใหญ่ขึ้นทำให้คุณหลุดพ้นยากขึ้น การช่วยคนอื่นอย่างมีความสุขนั้น ตัวคุณเองจะต้องออกจากความเป็นบุคคลมาอยู่ในความตื่นให้ได้ก่อน คุณรู้อยู่แล้วว่าความตื่นนี้มันเป็นสิ่งหนึ่งเดียวไม่มีใครเป็นเจ้าของ เมื่อเรามองคนอื่นให้ลึกเข้าไปจนพ้นไปจากความเป็นบุคคลของเขา เขาก็อยู่ในความตื่นอันเดียวกับเรา พูดง่ายๆว่าเรากับเขานั้นแท้จริงแล้วก็คือสิ่งเดียวกัน เราช่วยเขาด้วยความรู้สึกว่าเราทำอะไรเพื่อตัวเราเอง หรือเพื่อสิ่งที่อยู่ลึกที่สุดในใจซึ่งเป็นหนึ่งเดียวที่เรากับเขาต่างก็เป็นส่วนของมัน ต้องเป็นการช่วยแบบนี้มันจึงจะเป็นการทำงานที่ยิ่งทำก็ยิ่งเป็นสุข..”

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์