Latest

สิ่งที่คุณขาดคือทักษะชีวิต (Life Skill)

กราบเรียนคุณหมอ
หนูอายุ 23 ปี มีลูกหนึ่งคน คือมีแฟนคนแรกอายุ 17 ปี พอคลอดลูกก็ทะเลาะกันเลิกกัน เขาบอกว่าถ้าหนูไม่เอาลูกเขาจะเอาไปให้พ่อแม่เขาเลี้ยง หนูเอาลูกไว้ หนูอยู่กับพ่อแม่แต่ออกไปทำงานที่… เป็นพนักงานเสริฟ แล้วก็มีความรักอีกครั้งหนึ่ง แล้วตัดสินใจอยู่กินกัน เขาไม่รังเกียจลูกของหนู และเขาอยากจะมีลูกอีกคนหนึ่ง หนูก็โอเค แต่ยังไม่ทันมีลูกจริงๆเขาก็ไปมีอะไรกับเมียของคนอื่น ทะเลาะกันอีก แล้วหนูก็ตัดสินใจย้ายงาน เอาลูกไปฝากแม่ หนีมา มาหางานใหม่ มีคนสงสารให้งานหนูทำ หนูใช้ชีวิตคนเดียว แต่ความเหงาก็ทำให้ได้รู้จักกับแฟนคนที่สาม คือคนนี้ ก็อยู่กินด้วยกัน ตกลงมีลูกด้วยกัน แล้วหนูตั้งท้อง ยังไม่ทันคลอดแฟนก็รุนแรงกับหนู ชก ต่อย เตะ จนหนูทนไม่ได้ และคิดว่าจะต้องไปจากเขา แต่คุณหมอคะ หนูกำลังรู้สึกว่าชีวิตหนูจะหมุนเวียนอย่างนี้อีกกี่รอบ มีผัว มีลูก แล้วก็มีผัว มีลูก วูบหนึ่งหนูเบื่อหน่าย คิดจะตาย แต่ก็สงสารลูกทั้งตัวพี่ที่ติดหนูมาก และตัวน้องที่เพิ่งมาเกิดในท้อง หนูควรจะทำอย่างไรดี

……………………………………….

ตอบครับ

     อามิตตาภะ พุทธะ

     จดหมายยาวเหยียด ผมตัดลงเหลือสั้นๆเพื่อไม่ให้ท่านผู้อ่านเพลินไปกับนิยายน้ำเน่าเกินเหตุ

     ปัญหาของคุณนี้ รากของมันไม่จำกัดอยู่เฉพาะกับวัยรุ่น แต่รากของมันมีอยู่ในคนทุกวัย คือมันเกิดขึ้นจากการขาดสิ่งที่เรียกว่า “ทักษะชีวิต” หรือ Life Skill ทักษะแปลว่าความสามารถลงมือทำ ทักษะชีวิตมันเป็นคนละเรื่องกับทักษะวิชาชีพที่ใช้ทำมาหาเงินเช่นวิธีทำขนมครก วิธีทำบัญชี วิธีเป็นหมอ แต่ทักษะชีวิต หมายถึงคุณลักษณะหรือความสามารถที่จะเผชิญสถานการณ์ในชีวิตประจําวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ตั้งเป็นธงชัยไว้ว่ามนุษย์เรานี้หากจะเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์แบบควรมีทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิตอยู่สิบอย่าง ดังนี้

     1. ทักษะการรับมือกับอารมณ์ของตัวเอง (Coping with Emotion) ไม่ว่าจะเป็นยามโกรธ ยามเศร้า ยามดีใจ ยามเกิดความอยากทางเพศ ก็รู้วิธีรับมือได้ทั้งนั้น

     2. ทักษะการรับมือกับความเครียด (Coping with Stress) คือเมื่อเครียด หรือมีความคิดลบแล้วรู้ เมื่อรู้แล้วก็สามารถพาตัวเองให้หลุดพ้นจากความเครียดได้ด้วย

     3. ทักษะการสื่อสาร (Effective Communication) คือความสามารถในการใช้ภาษา ท่าทาง ลูกล่อลูกชน ให้คนอื่นเข้าใจ เห็นด้วย คล้อยตามตัวเองด้วยดี

     4. ทักษะการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น (Interpersonal Relationship) คือพูดง่ายๆว่าคบคนเป็น คบกับคนอื่นแล้วมีการแลกเปลี่ยนสิ่งดีๆต่อกัน ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์

     5. ทักษะการคิดวินิจฉัย (Critical Thinking) คือคิดวิเคราะห์ข้อมูล เปรียบเทียบ ประเมิน ได้เสีย ดีไม่ดี ถูกไม่ถูก เป็นทักษะที่ใช้ประกอบกับทักษะการตัดสินใจ

     6. ทักษะการตัดสินใจ (Decision Making) ไม่ว่าจะในเรื่องการเอาตัวรอดจากสิ่งคุกคามยั่วยุหน้าสิ่วหน้าขวาน เช่นการติดเชื้อเอดส์ การจะเผลอมีลูกโดยไม่ตั้งใจ การติดยาเสพย์ติด โจรภัย ไปจนถึงการตัดสินใจในเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองเช่นแต่ละวันจะกินอะไร จะมีกิจกรรมออกกำลังกายอย่างไรด้วย

     7. ทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving) ซึ่งหมายความว่านอกจากจะตัดสินใจได้แล้ว ยังสามารถลงมือแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง ลงมือแก้ แล้วประเมิน แล้วตัดสินใจ แล้วลงมือแก้ แล้วประเมิน

     8. ทักษะการคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เกิดจากประสบการณ์ แต่เกิดจากจินตนาการ (imagination) และความบันดาลใจ (inspiration) ซึ่งถูกดาวน์โหลดจากภายนอกเข้ามาสู่ใจตัวเองผ่านกลไกตัวช่วยหลักที่เรียกว่าปัญญาญาณ (intuition) ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องฝึกฝนเรียนรู้ทดลองปฏิบัติ ถ้าได้รับการสอนให้รู้วิธีฝึกฝนมาตั้งแต่เป็นเด็กอายุ 1-7 ขวบก็ยิ่งดี

     9. ทักษะการเข้าใจเห็นใจผู้อื่น (Empathy) พูดง่ายๆว่าการรู้จักยอมรับคนรอบตัวเรา ยอมรับ ขอบคุณ ให้อภัย ขอโทษ แผ่เมตตา

     10. ทักษะการตื่นรู้ (Self Awareness) รู้ว่าตัวเองทำอะไรแล้วจึงจะมีความสุขแท้จริง อะไรเป็นจุดยืนในชีวิต ไม่เอาแต่วิ่งตามคนอื่นเหมือนวัวควายวิ่งตามฝูง เขาจะเอากันแต่เงินก็จะเอาแต่เงินกับเขาบ้าง รู้ว่าตัวเองนั้นเมื่อแกะเปลือกนอกออกไปทีละชั้นๆเหมือนแกะเปลือกหอมเปลือกกระเทียมแล้วชั้นในสุดจะเหลืออะไรเป็นแก่นแท้ที่บอกความเป็นคุณค่าแท้ๆของตัวเองบ้าง คนญี่ปุ่นเรียกว่า “ของจริง” หรือ “ฮอนโมโนะ (本物)” คนส่วนใหญ่คิดว่าเมื่อทิ้งทรัพย์ศฤงคารและความผูกพันกับคนอื่นไปหมดแล้วก็จะเหลือเกียรติยศศักดิ์ศรีและความเชื่อ (ego) เป็นแก่นแท้ของตัวเอง แต่ในความเป็นจริงนั้นแม้กระทั่งเกียรติ ศักดิ์ศรี ความเชื่อ ก็ยังเป็นแค่ความคิดที่ยังเปลี่ยนได้แกะทิ้งได้ สิ่งที่จะเหลืออยู่เป็นสารัตถะสุดท้ายจริงๆก็คือความตื่นหรือความรู้ตัว (awareness) ที่มีแต่เมตตาโดยไม่มีความเป็นบุคคลของตัวเองเกี่ยวข้องด้วยเท่านั้น

       ในสิบทักษะที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ประเมินเอาจากเนื้อความที่เล่ามาในจดหมาย คุณไม่มีทักษะไหนที่เพียงพอแก่การจะมีชีวิตอยู่ให้มีความสุขเลยสักอย่างเดียว เรื่องจะฆ่าตัวตายนั้นผมโนคอมเม้นท์นะ เพราะนั่นไม่ใช่เรื่องที่ผมควรจะพูดถึง ผมจะพูดถึงแต่การจะมีชีวิตอยู่ต่อไปให้มีความสุข คุณต้องถอยกลับไปตั้งต้นสนามหลวงเทียบเท่ากับเด็กอายุหนึ่งขวบ แล้วค่อยๆพัฒนาทักษะชีวิตทั้งสิบประการข้างต้นนั้นขึ้นมาใหม่ ตั้งใจฝึกฝนไปทุกวัน วันละเล็กวันละน้อย ที่ผมบอกว่าต้องถอยไปไกลถึงอายุหนึ่งขวบก็เพราะทักษะบางอย่างเช่นทักษะการคิดสร้างสรรค์ มันต้องฝึกกันตั้งแต่อายุ 1-7 ขวบ แก่เกินนั้นมันฝึกได้อยู่ก็จริง แต่มันยาก เพราะการฝึกความคิดสร้างสรรค์มันต้องอาศัยจินตนาการ ความบันดาลใจ และปัญญาญาณ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เด็กเอียดจะเก็ทได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่มากนัก

     แต่เอาเถอะ แม้ตอนนี้คุณ 23 ขวบแล้ว มันก็ยังไม่มีคำว่าสายสำหรับการเริ่มต้นฝึกฝนทักษะชีวิต เพราะถ้าไม่มีทักษะชีวิต คุณจะเดินหน้าต่อไปกับชีวิตไม่ได้ ยิ่งเดินก็จะยิ่งถลำลึก เพียงแต่ว่าปูนนี้แล้วคุณต้องฝึกด้วยตัวเองเพราะคุณเป็นผู้ใหญ่แล้ว ผมคงไม่มีเวลาจาระไนเจาะลึกลงไปสอนคุณได้ทีละอย่างทีละสะเต็พ เพราะบล็อกนี้มันเป็นบล็อกของคนแก่ จะให้มาพูดเรื่องการสอนเด็กอายุ 1-7 ขวบให้รู้วิธีใช้ชีวิตมันก็กระไร คุณอ่านหัวข้อทั้งสิบ เอาไปคิดไตร่ตรอง แล้วลองปฏิบัติเอาเองก็แล้วกันนะ

     ไหนๆก็เขียนมาถึงหมอสันต์แล้ว อย่างช่วยอะไรคุณไม่ได้ ผมก็..ขอให้คุณมีชีวิตข้างหน้าที่ดีนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์