Latest

หัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะเป็นพักๆแบบไฟฟ้าปล่อยออกมาจากห้องบน (PAC)

เรียนคุณหมอที่เคารพ
ดิฉันอายุ52สูง148หนัก48 เป็นแฟนคุณหมอมานานแล้วค่ะ เพราะกำลังสู้กับเบาหวานน่ะ ไม่มีอาการใดๆนะคะ เช้าวิ่ง 6 km 6 วัน สบายๆ ไม่เหนือยค่ะ หัวใจบางครั้งเต้นเร็ว ร้อยนิดๆค่ะ เป็นมาเกิน10ปีค่ะ
พึ่งไปหาหมอหัวใจค่ะ หมอให้ติด Holter และ abp 24 hrs พบว่า หัวใจเต้นผิดจังหวะตอนออกกำลังกาย
และ bp สูง คือเกิน140/80 นิดๆ หมอให้กินยา bisoprolol 1 เม็ดหลังอาหารเช้าค่ะ กินแล้ว หัวใจเต้นช้าลง  แต่เหนื่อยมาก วิ่ง2โลก็เหนื่อยสุดๆ ขึ้นบันไดก็เวียนหัวค่ะ
ขอเรียนถามคุณหมอค่ะ
1ที่กินยาเพราะเชือว่าหัวใจเต้นช้าลง คงได้พักมากขึ้นน่าจะมีอายุการใช้งานดีขึ้น  เป็นความเชื่อที่ถูกมั้ยคะ
2ทำไมต้องให้หัวใจเต้นต่ำกว่า100คะ จำเป็นรึเปล่า
3 เลิกกินยาดีมั้ยคะ รึทนๆไป ก็พอทนได้นะคะ ถ้ากินแล้วมันดีจริงก็จะอดทนค่ะ
ขอบพระคุณมากค่ะ
ส่งจาก iPad ของฉัน

………………………………………………….

ตอบครับ

ภาพคลื่นหัวใจที่ส่งมาเป็น paroxysmal atrial tachycardia (PAC) สลับการมีไฟฟ้าผิดปกติปล่อยแทรกออกมาจากผนังหัวใจห้องล่าง (PVC) นานๆครั้ง คำว่า PAC นี้แปลว่า
   
     “ภาวะที่หัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะแบบเร็วกว่าปกติเป็นพักๆโดยที่ไฟฟ้าถูกปล่อยออกมาจากหัวใจห้องบน

     นี่เป็นคำแปลของหมอสันต์เองนะ คำแปลของราชบัญฑิตไม่มีหรอก คำว่าไฟฟ้าปล่อยมาจากหัวใจห้องบน หมายถึงเป็นการปล่อยใกล้กับจุดปล่อยปกติ ไฟฟ้าจะให้จังหวะการเต้นกับหัวใจทุกห้องให้เต้นตามกันไปแบบมีจังหวะจะโคน นอกจากจะกำหนดให้เต้นเร็วหรือช้าแล้วเมื่อไฟฟ้าออกไปจากตรงนี้การเต้นของแต่ละห้องก็จะเข้าขากันเป็นอันดีมีก่อนมีหลังตามลำดับไม่ลัดคิว ทำให้หัวใจส่งเลือดออกไปเลี้ยงร่างกายได้เป็นปกติ ดังนั้น PAC นี้จึงเป็นภาวะที่ไม่มีอันตรายอะไร ไม่ทำให้อายุสั้น ไม่ทำให้เกิดลิ่มเลือดง่าย สามารถออกกำลังกายได้เหมือนคนปกติ ไม่ต้องกินยากันเลือดแข็ง ต่างจากกรณีที่ไฟฟ้าถูกปล่อยรัวออกมาจากที่อื่นซึ่งไม่ได้มีหน้าที่ในการปล่อยไฟฟ้าโดยตรง เช่นสมมุติว่าปล่อยรัวออกมาจากผนังของห้องล่าง (VF) หัวใจจะเต้นรัวแบบเต้นแร้งเต้นกาผิดจังหวะจะโคนบางทีก็เต้นขย่มกันเองจนหัวใจไม่สามารถส่งเลือดออกไปเลี้ยงร่างกายทำเอาตายได้ง่ายๆ แพทย์จึงต้องรีบทำโน่นนี่นั่นสาระพัด หรืออย่างเบาะๆกรณีไฟฟ้าปล่อยรัวออกมาจากผนังของห้องบน (AF) หัวใจห้องบนก็จะเต้นรัวไม่เป็นส่ำยุบยิบยับแบบถุงที่เอาหนอนเป็นพันใส่ไว้ข้างใน เลือดจึงไม่ไปไหนได้แต่ไหลวนไปวนมาอยู่นั่นแล้วจนเกิดเป็นลิ่มเลือดขึ้น เมื่อลิ่มเลือดหลุดพลั้วะไปก็ไปอุดตันหลอดเลือดต่างๆทำให้เกิดเรื่องร้ายขึ้นได้ จนต้องกินยากันเลือดแข็งเพื่อป้องกันการก่อตัวของลิ่มเลือด แต่กรณี PAC หรือกรณีมี PVC แทรกนานๆครั้งนี้ไม่มีเรื่องร้ายๆเหล่านั้นใดๆทั้งสิ้นเลย

     เอาละ คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

     1. ถามว่าที่หมอให้กินยานี้คุณยอมกินเพราะเชื่อว่าหัวใจเต้นช้าลง คงได้พักมากขึ้น น่าจะมีอายุการใช้งานดีขึ้น  เป็นความเชื่อที่ถูกมั้ยคะ ตอบว่าเป็นความเชื่อที่ผิดครับ ความเป็นจริงคือการที่หัวใจเต้นเร็วบ้างช้าบ้างในภาวะ PAC ไม่ว่าจะมีหรือไม่มี PVC แทรกบ้างก็ตาม ไม่มีผลทอนอายุการใช้งานของกล้ามเนื้อหัวใจแต่อย่างใด และการกินยาก็ไม่มีผลยืดอายุการใช้งานของกล้ามเนื้อหัวใจแต่อย่างใด

     2. ถามว่าทำไมหมอต้องให้หัวใจเต้นต่ำกว่า 100 คะ ตอบว่าก็เพราะหมอชอบตัวเลขกลมๆ นะสิครับ ไม่ใช่แต่หมอหรอกที่ชอบตัวเลขกลมๆ นักบัญชีก็ชอบ (ขอโทษ นอกเรื่อง กลับมาที่เรื่องของเราดีกว่า) คือสิ่งที่หมอเขาสนใจมากในกรณี PAC และหรือ PVC นานครั้งคืออาการที่รบกวนคุณภาพชีวิตของคนไข้ เพราะหมอเขาถือว่าตัวเองจะได้ทำความดีหากได้ทำอะไรที่ได้ยืดอายุคนไข้หรือได้เพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนไข้ ในกรณีของ PAC และ PVC นี้คนไข้ไม่ได้อายุสั้นจึงไม่ต้องไปยืดอายุให้เขา แต่คนไข้เป็นทุกข์เพราะอาการใจสั่น การลดอาการนี้แหละที่เป็นเป้าหมายของหมอในการรักษาโรคนี้ และความที่อัตราการเต้นของหัวใจก็มักไปกับอาการใจสั่นของคนไข้ คือยิ่งหัวใจเต้นเร็วยิ่งมีอาการใจสั่นมาก หมอจึงวางแนวทางการรักษาว่าถ้าอัตราเต้นเร็วกว่าจุดสมมุติ ณ จุดหนึ่งก็สมควรใช้ยาเบรกไว้เสียหน่อย จุดสมมุตินั้นก็เหมาเอาว่าเอากันตรงตัวเลขกลมๆ 100 ครั้งต่อนาทีนี่ก็แล้วกัน แต่บางหมอก็ไม่เอา 100 นะ แล้วแต่ใครชอบเลขอะไร หมอบางคนชอบเลขเก้าก็เอา 90 บางหมอที่เกิดมาเพื่อจ่ายยาหากหัวใจเต้น 80 ครั้งเขาก็จ่ายยาให้แล้ว เป็นต้น

     3. ถามว่าจำเป็นหรือเปล่าในภาวะ PAC และ PVC ที่ต้องกินยากดให้หัวใจเต้นช้ากว่า 100 ครั้งต่อนาที ตอบว่าไม่จำเป็นหรอกครับ แต่หากคนไข้เป็นทุกข์กับอาการใจสั่นหมอเขาก็อยากทำอะไรสักอย่างมากกว่าจะเอามือซุกหีบอยู่เฉยๆ คนไข้อุตสาห์มาหาแล้วจะยืนเอามือซุกหีบเฉยอยู่ได้ไง อีกอย่างหนึ่งมันขึ้นกับว่าคุณไปหาหมอคนไหนด้วย คุณไปหาหมอท่านหนึ่งท่านอาจช่วยคุณด้วยการให้ยากดการเต้นของหัวใจให้ช้าลง แต่ถ้าคุณมาหาหมอสันต์แล้วคุยโขมงโฉงเฉงว่าหนูเนี่ยวิ่ง6 กม.สัปดาห์ละ 6 วันนะคะ ผมก็จะถามคุณว่าแล้วคุณเดือดร้อนอะไรไหมกับอาการใจสั่น หากคุณตอบว่าคุณไม่เดือดร้อน ผมก็จะไม่ยุ่งอะไรกับคุณ ผมหมายความว่าจะไม่ให้คุณกินยาอะไร ก็ในเมื่อคุณไม่เดือดร้อนก็แสดงว่าคุณภาพชีวิตคุณยังดีอยู่ แล้วยาจะไปเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คุณได้ตรงไหนละครับ ถูกแมะ

     4. ถามว่าเลิกกินยาดีไหม หรือจะให้ทนๆไป ตอบว่าตรงนี้คุณตัดสินใจเองได้แล้ว คุณก็ตัดสินใจเองสิ คือผมให้ข้อมูลคุณแล้วว่า PAC และ PVC ไม่ทำให้อายุคุณสั้นลง ยาก็ไม่ทำให้อายุคุณยาวขึ้น แต่กรณีที่คุณทุกข์กับอาการใจสั่น ยาช่วยลดอาการใจสั่นได้ ก็เท่ากับว่ายาช่วยให้คุณภาพชีวิตของคุณดีขึ้นได้ แต่หากยากินแล้วทำให้คุณหมดเรี่ยวหมดแรงแสดงว่ายาไปลดคุณภาพชีวิตในอีกด้านหนึ่งคือทำให้คุณวิ่งไม่ได้เท่าเดิม คุณก็ต้องชั่งน้ำหนัก ว่าด้านหนึ่งใจสั่น ด้านหนึ่งหมดแรง คุณจะเลือกข้างไหน แล้วตัดสินใจเอง คือให้เอาความทุกข์จากอาการเป็นหลัก อย่าเอาโรคเป็นหลักในการตัดสินใจใช้ยา เพราะ PAC และ PVC เป็นโรคที่เป็นเองหายเอง ไม่มียาตัวไหนไปทำให้มันหายหรอก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์