Latest

คำสอนเป็นแค่คู่มือการใช้งาน (user’s manual)

     ช่วงนี้หลานสาวซึ่งเป็นฝรั่งมาอยู่ด้วย มารอเข้า spiritual retreat ด้วย เด็กฝรั่งสมัยนี้มีจำนวนหนึ่งที่สนใจทางด้านจิตวิญญาณแบบไม่เกี่ยวกับศาสนาใดๆอย่างจริงจัง เจ้าหลานคนนี้ก็เหมือนกัน ลองมาฟังบทสนทนาที่ผมคุยกับเธอในคืนวันแรกที่เธอมาถึงที่บ้าน

ราเชล

     ฉันเข้าใจถูกหรือเปล่า ว่าศาสนาพุทธไม่ได้เป็นศาสนา แต่เป็นวิธีใช้ชีวิต

นพ.สันต์

     ถูกแล้ว ศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือในการใช้ชีวิต หรือถ้าจะพูดให้ชัดกว่านั้นก็คือเครื่องมือในการใช้ชีวิตที่แท้จริงเป็นสิ่งที่ทุกคนมีอยู่แล้วคือ “กาย”นี้ และ “ใจ”นี้ ศาสนาพุทธเป็นคู่มือการใช้งาน (user’s manual) ในการใช้งานกายนี้และใจนี้มากกว่า

ราเชล

     ที่คุณพูดถึงว่ากายนี้และใจนี้เป็นเครื่องมือ ฉันไม่เข้าใจ

นพ.สันต์

     พระพุทธเจ้าสอนว่าชีวิตซึ่งเรามองเผินๆว่าประกอบด้วย “กาย” นี้ (body) และ “ใจ”นี้ (mind) ในความเป็นจริงมันประกอบขึ้นจากการมารวมกันชั่วคราวขององค์ประกอบย่อยห้าอย่าง คือ

1. รูป หรือร่างกายที่เป็นเนื้อหนัง (physical body)
2. เวทนา หรือความรู้สึก (feeling) บนร่างกาย ซึ่งสะท้อนถึงการมีอยู่ของพลังงานในร่างกาย (energy body)
3. ความจำ (memory)
4. ความคิด (thought)
5. ความรู้ตัว (consciousness)

     โดยย้ำว่าทั้งหมดนี้ล้วนเป็นของชั่วคราว แต่เมื่อรวมกันแล้วก็กลายเป็นตัวก่อให้เกิด “สำนึกว่าเป็นบุคคล (identity)” ขึ้นมาได้ โดยที่เมื่อแยกย่อยลงไปก็จะเหลือแต่ห้าอย่างข้างต้น หามีความเป็นบุคคลที่แท้จริงๆไม่

     ส่วนการเอาองค์ประกอบทั้งห้าอย่างข้างต้นมาพลิกแพลงเป็นเครื่องมือในการพ้นทุกข์ ท่านสอนไว้ในหัวข้อเครื่องมือเจ็ดอย่างที่ใช้มุ่งสู่การตรัสรู้ ได้แก่

1. การรับรู้ความรู้สึกบนร่างกาย (body feeling)
2. การผ่อนคลายร่างกาย (relaxation)
3. สติ (attention)
4. การกระตุ้นตัวเอง (motivation)
5. จิตที่เป็นสมาธิ (concentration)
6. การเห็นตามที่มันเป็น (seeing it as it is) ซึ่งต้องอาศัยปัญญาญาณ (intuition) เป็นผู้ชี้ให้เห็น ซึ่งปัญญาญาณนี้จะเกิดขึ้นหลังจากจิตเป็นสมาธิแล้ว
7. การรู้จักเลือกหยิบใช้เครื่องมือให้เหมาะกับจังหวะเวลา (tool choosing)

     จะเห็นว่าในส่วนของ feeling และ relaxation นั้นเป็นการใช้ “กาย”นี้ เป็นเครื่องมือ ส่วนที่เหลืออีกห้าอย่างนั้นเป็นรายละเอียดของการใช้ “ใจ”นี้ เป็นเครื่องมือ

ราเชล

     แล้วในการใช้เครื่องมือทั้งเจ็ดอย่างนี้มีขั้นตอนวิธีการอะไรในเชิงการปฏิบัติไหม

นพ.สันต์

     ส่วนหนึ่ง พระพุทธเจ้าสอนการนำเครื่องมือทั้งเจ็ดนี้ลงใช้ทีละชิ้นทีละขั้นในบทสอนการทำสมาธิตามดูลมหายใจหรืออานาปานสติ 16 ขั้นตอน อีกส่วนหนึ่งเป็นการสอนให้สอดแทรกการใช้งานเครื่องมือแต่ละชิ้นในชีวิตประจำวันตามเวลาและโอกาส

ราเชล

     ดังนั้นฉันควรเรียนอานาปานะสติ

นพ.สันต์

     ใช่..อย่างน้อย ผมแนะนำว่าคุณเรียนเทคนิคปฏิบัติอานาปานสติแบบคลาสสิกคือนั่งสมาธิด้วย ขณะเดียวกันก็เอาจี้กงที่คุณฝึกมาบ้างแล้วมาเชื่อมต่อให้มันเป็นเรื่องเดียวกัน คือจี้กงก็คือการรับรู้ “ชี่” ซึ่งก็คือพลังงานของร่างกายหรือ energy body ซึ่งการรับรู้พลังงานนี้เรารับรู้ในรูปของความรู้สึกบนผิวกาย (เวทนา) เช่นความรู้สึกวูบๆวาบๆจิ๊ดๆจ๊าดๆเหน็บๆชาๆ ดังนั้นจี้กงก็คือ body feeling หรือ body scan นั่นแหละ ผมแนะนำให้คุณเอาจี้กงผสมอานาปานสติ แล้วเอาลูกผสมของทั้งสองอันนี้ลงไปใช้ในชีวิตประจำวันตลอดเวลาที่ตื่นอยู่

     ปลายทางของทั้งหมดนี้ก็คือการสามารถถอยความสนใจออกมาจากความคิดเพื่อมาเป็นความรู้ตัว เพื่อให้สามารถปล่อยวาง “สำนึกว่าเป็นบุคคล” หรือ identity นี้ลง เมื่อใดที่คุณสามารถย้าย identity จาก “สำนึกว่าเป็นบุคคล” ไปเป็น “ความรู้ตัว” (consciousness) ที่ไม่มีเอี่ยวเกี่ยวข้องกับบุคคลใดหรือใครแล้ว เมื่อนั้นคุณก็บรรลุความหลุดพ้น

ราเชล

     นอกจากเรื่องเครื่องมือเจ็ดอย่างนี้แล้ว มีอะไรในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ฉันควรรู้อีกไหม

นพ.สันต์

     ในแง่การปฏิบัติ แค่การนำเครื่องมือทั้งเจ็ดลงฝึกใช้อย่างจริงจังก็เหลือเฟือที่จะให้คุณบรรลุความหลุดพ้นได้แล้ว แต่ในแง่ของความเข้าใจ มันอาจมีประโยชน์หากคุณจะรู้จักคำสอนอีกบทหนึ่งที่เรียกว่าความเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน (conditionality) ซึ่งท่านสอนว่าเมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น อีกสิ่งนี้จึงเกิดขึ้นตามมา เป็นทอดๆ แล้วเมื่อสิ่งนี้ดับสิ้นไป อีกสิ่งนี้ก็อีกดับสิ้นไปเป็นทอดๆ หลักการนี้พระพุทธเจ้าเอามาอธิบายแจกแจงว่าการเกิดและการดับของความทุกข์ในใจมันเป็นทอดๆ ดังนี้

1. เริ่มต้นด้วยการที่คนเราเพิกเฉย (ignorance) ต่อความจริงที่ว่าความเป็นบุคคลหรืออัตตาของเรานี้เป็นเพียง “ความคิด” ที่ไม่ใช่ “ตัวเรา” และไม่ใช่สิ่งถาวรอะไร

2. การเพิกเฉยดังกล่าวทำให้เกิดการหลงไปคิดยึดติดอะไรขึ้นมาสารพัด

3. แต่ละความคิดเหล่านั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะตกกระทบลงบนร่างกาย เกิดเป็นความรู้สึก (feeling) บนร่างกายแล้วเป็นความรู้สึก (ชอบหรือไม่ชอบ) ในใจ

4. ความรู้สึกในใจจะเหนี่ยวนำให้เกิดความคิดใหม่ในรูปของความอยาก (ขอบก็อยากได้ หรือไม่ชอบก็อยากหนี) ต่อยอดขึ้นมา

5. ความคิดใหม่จะพัฒนาต่อไปเป็นความยึดติด (attachment) ในสิ่งซึ่งไม่ถาวรชิ้นใหม่ครั้งใหม่

6. เมื่อสิ่งซึ่งไม่ถาวรที่ยึดติดนั้นเปลี่ยนไปก็ทำให้เกิดความทุกข์ใจ

     มองจากกลไกนี้ พฤติกรรมที่คนเราทำ จึงล้วนถูกกำหนดมาจากความคิดเก่าๆซ้ำๆซากๆ เป็น compulsive behavior ไม่มีวันหลุดออกไปจากวงจรเดิมๆนี้ได้

     วิธีที่จะหลุดออกไปจากวงจรนี้ ท่านสอนว่าจะต้องใช้ความสนใจ (attention) จดจ่อรับรู้เสียตั้งแต่ขั้นตอนเกิดความรู้สึก (feeling) ขึ้นบนร่างกายซึ่งจะต่อยอดไปเป็นความรู้สึกในใจ เมื่อสนใจจดจ่อที่ขั้นตอนเกิด feeling นี้ โดยธรรมชาติความรู้สึกเมื่อถูกความสนใจจดจ่อเฝ้าสังเกตอยู่ มันจะฝ่อหายไปเอง ก่อนที่ความคิดต่อยอด (thought formation) ใดๆจะมีโอกาสได้เกิดขึ้น ทำอย่างนี้แล้วก็หมายความว่ากลไกการเกิดพฤติกรรมใหม่ๆในชีวิตจะถูกเปลี่ยนจากแบบถูกบังคับอย่างเป็นอัตโนมัติด้วยความคิดเก่าในอดีต (compulsive behavior) มาเป็นพฤติกรรมที่เกิดแบบแบบมีสติกำกับ (conscious behavior) ความทุกข์ซึ่งปกติเกิดจากความคิดยึดติดก็จะไม่มีโอกาสได้เกิดขึ้น ภาพใหญ่ก็มีแค่นี้แหละ

ราเชล

     ฟังดูง่ายเหลือเชื่อ แล้วทำไมไม่เห็นมีใครบรรลุความหลุดพ้นกันมากมายเลย

นพ.สันต์

     พระพุทธเจ้าสอนว่าตัวเครื่องมือคือ “กาย”นี้ และ “ใจ”นี้ ทุกคนมีอยู่แล้วไม่ต้องเดินทางไปหาเอาจากที่ไหน ท่านเป็นเพียงผู้บอกวิธีใช้เครื่องมือเท่านั้น พูดง่ายๆว่าท่านให้ได้แต่คู่มือการใช้งานหรือ user’s manual ส่วนคนจะเอาคู่มือใช้งานนี้ไปปฏิบัติหรือไม่มันไม่ใช่อะไรที่ท่านจะดลบันดาลได้ ท่านบอกว่า

     “ฉันจะทำอย่างไรได้เล่า เพราะฉันเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น”

     ผมเดาเอาว่าการที่มีคนหลุดพ้นน้อย ก็คงเป็นเพราะว่าคนส่วนใหญ่ยังพอใจที่จะเพิกเฉย (ignore) ต่อความจริงที่ว่าสำนึกว่าเป็นบุคคลนี้เป็นแค่ความคิด เพราะคนส่วนใหญ่ยังอาลัยยึดติดกับคอนเซ็พท์ที่ว่าเราเป็นบุคคลคนนี้หรือ identity นี้อยู่ ดังนั้นแม้ user’s manual จะง่ายๆตรงไปตรงมาเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าคนยังสมัครใจจะใช้เครื่องมือที่ตัวเองมีอย่างสะเปะสะปะตามใจชอบโดยไม่สนใจจะอ่าน user’s manual อุปมาเหมือนคนที่ไม่ได้เป็นช่างแล้วฟลุ้คๆได้ไขควงอย่างดีมาอันหนึ่งแต่ไม่รู้ว่ามันใช้ประโยชน์ได้อย่างไร จึงเอามันแยงหูตัวเองบ้าง เอาแหย่เข้าไปในปากในลำคอในรูจมูกบ้าง ในที่สุดก็ถูกไขควงซึ่งเป็นเครื่องมือหากินที่มีประโยชน์ทิ่มแทงเอาบาดเจ็บ ฉันใดก็ฉันนั้น เครื่องมือที่เขามี คือ “กาย” นี้ กับ “ใจ” นี้ แทนที่จะเป็นเครื่องมือทำให้เขาพ้นทุกข์ ก็จึงกลายเป็นเครื่องมือให้เขาเป็นทุกข์ไปเสีย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์