Latest

แล้วใครกันละ ที่มองเห็นความว่างนั้นอยู่

 

   เช้าวันนี้ว่างงาน หมอสมวงศ์ทำสลัดจากสิ่งที่พอหยิบฉวยได้ในมวกเหล็ก รวมทั้งอะโวกาโด้ที่ปลูกที่ปากช่องกก.ละ 70 บาทเอง เอามานั่งกินกันที่มุมใหม่หน้าบ้าน แก้ขัดไปได้อีกหนึ่งมือเบาๆสบายท้อง โอกาสนี้ผมขอเล่าถึงไม่กี่วันก่อนผมได้มีโอกาสพบกับสมาชิกเก่าของ Spiritual Retreat ท่านหนึ่ง เธอเล่าสิ่งต่างๆยืดยาว และตบท้ายว่า

     “ดิฉันไม่ได้ยึดถืออะไรแล้ว เหลืออยู่แต่ความว่าง” ผมถามว่า

     “แล้วใครกันละที่มองเห็นความว่างนั้นอยู่” เธอตอบว่า

     “อืม..ม มันก็เป็นตัวฉันตัวที่อยู่ข้างในสุด ที่ไม่ใช่ฉันที่เป็นอัตตาหรือบุคคลนี้ไงคะ”

     “แล้วฉันตัวที่อยู่ข้างในสุดของคุณนี้มันเป็นของผม หรือเป็นของนาย ก. หรือนาง ข. หรือนาย ค. ด้วยไหม”

     “ทำไมคุณหมอถามแปลกยังงั้นละคะ ไม่ใช่สิคะ ฉันตัวในซึ่งเป็นผู้สังเกต ก็เป็นของดิฉันนี่แหละ ไม่เกี่ยวกับคนอื่นหรอก” 

     “การที่มีผู้มองเห็นความว่างนั้น แสดงว่าความว่างนั้นเป็นความคิดที่สำนึกว่าเป็นบุคคลนี้สร้างมันขึ้นมา เพื่อให้ความเป็นบุคคลนี้ยังมีที่อยู่ ยังมีตัวตนอยู่ในฐานะเป็นผู้เฝ้ามองความว่าง เพราะความคิดมันมีธรรมชาติว่าย่อมดิ้นรนที่จะดำรงตัวมันเองอยู่ให้ได้ การที่ยังเหลือ “ฉัน” จะเป็นฉันตัวในหรือฉันตัวไหนก็ตามเป็นผู้สังเกตนั่งดูความว่างอยู่นั่นแสดงว่าความว่างนั้นเป็นความว่างปลอมที่ความคิดสร้างขึ้นมา เพื่อให้อีกความคิดหนึ่งเฝ้าสังเกต แบบว่าความคิดเล่นเกมตบตาให้อีกความคิดหนึ่งพอใจ เพราะลึกๆแล้วใจเราไม่อยากวางสำนึกว่าเป็นบุคคลนี้ลงไปจริงๆ มันยังมีความอาลัย กลัวว่าวางลงไปจริงๆแล้วมันจะไม่เหลืออะไร

     ประเด็นสำคัญคือเมื่อหมดความคิด หมายความว่าเมื่อวางสำนึกว่าเป็นบุคคลนี้ลงไปได้จริงแล้ว มันจะต้องไม่เหลือความคิดใดๆที่บ่งบอกสถานะว่าจะเป็นเจ้าของอะไรได้เลย ไม่เหลือ “ฉัน” ไม่ว่าจะตัวในหรือตัวนอก คือมันต้องไม่เหลืออะไรเลยนะนอกจากความตื่นหรือความสามารถรับรู้ ที่ผมเรียกว่า “ความรู้ตัว” และความรู้ตัวนี้ก็ไม่ใช่ความรู้ตัวของฉัน เพราะตรงนั้นฉันไม่มีแล้ว ไม่มี “ใคร” ที่จะเป็นเจ้าของ “อะไร” อีกแล้ว

     “ถ้าอย่างนั้นเราจะลำบากลำบนหลุดพ้นไปทำไมกันละคะ ในเมื่อหลุดพ้นไปเราก็ไม่ได้ดิบได้ดีอะไรด้วย ถึงนิพพานจะสงบเย็น แต่เราก็ไม่ได้ไปสงบเย็นด้วย แล้วจะไปนิพพานกันทำไม”

     “นั่นแน่ ถูกเส้นเข้าพอดีเลย ใจเย็นๆ ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งหันหลังกลับเสียก่อน มันเหลืออีกนิดเดียว มันเหลืออยู่แค่ความอาลัยเส้นสุดท้ายในความเป็นบุคคลนี้ ที่พร่ำบอกเราว่าถ้าเราไม่ได้ไปด้วย แล้วจะไปที่นั่นทำไม ให้คุณวางความอาลัยนี้ไปก่อน จากจุดนี้ไปมันไม่ยากและไม่ไกลแล้ว เพราะความไม่เหลืออะไรเลยนี้มันไม่ได้อยู่ที่ไหนไกล มันก็อยู่ตรงนี้แหละ ตรงที่ความคิดเกิดขึ้นแล้วหายไปนี่แหละ

     ที่ผมเรียกว่าความรู้ตัวนี้หากจะเปรียบเป็นการรับรู้เสียง มันก็คือความเงียบ คุณลองหลับตาลงซิ ตอนนี้เลย ตั้งใจฟังนะว่าหูได้ยินเสียงอะไรบ้าง เสียงไก่ขัน เสียงนก เสียงมอไซค์ เสียงหมาเห่า ใกล้บ้าง ไกลบ้าง ใช่ไหม คราวนี้คุณมองภาพรวมให้ออกนะ ในความรับรู้ทางการได้ยินอันกว้างใหญ่นี้ เกือบทั้งหมดมันเป็นความเงียบนะ แล้วมีเสียงเกิดขึ้นตรงนี้นิด ตรงนั้นหน่อย แล้วคุณสังเกตให้ดีนะ แต่ละเสียงมันเกิดมาจากไหน มันเกิดมาจากความเงียบนั่นแหละ แล้วเมื่อเสียงนั้นหมดลงแล้ว อย่างคุณฟังเสียงนก ป๊ก ป๊ก นั่นนะ พอเสียงป๊กจบลงแล้ว มันหายไปไหน มันหายไปในความเงียบนั่นแหละ

     หากมองในมุมการรับรู้ความคิดแทนการรับรู้เสียง มันก็เหมือนกัน ความรู้ตัวมันก็คือความตื่นในภาวะที่ไม่มีความคิด แล้วความคิดมันเกิดมาจากไหน เอ้าคุณหลับตานะ คือความคิดมันเป็นภาษา มันเกิดขึ้นในใจได้ในสามรูปแบบ คือ (1) เป็นภาพ (2) เป็นเสียง และ (3) เป็นเสียงที่ไร้เสียง เรามาดูการเกิดความคิดในแง่ที่มันเป็นภาพ คุณตั้งใจดูนะ คุณหลับตาตอนนี้เห็นอะไร ก็เห็นแต่พื้นดำๆใช่ไหม ผมจะพูด แล้วคุณหลับตาตั้งใจดู เอ้า

     …ในหลวงร.9

     คุณทันเห็นไหม แว้บหนึ่ง ภาพของในหลวงร.9 เกิดขึ้นแล้วหายไป มันเกิดขึ้นมาจากไหน มันก็เกิดจากพื้นดำๆที่ไม่มีภาพนั่นแหละ แล้วมันหายไปไหน ก็หายไปในพื้นดำๆนั่นแหละ พื้นดำๆที่รองรับการเกิดของภาพในใจก็ดี ความเงียบที่รองรับการเกิดของเสียงก็ดี นั่นแหละคือความรู้ตัว ความรู้ตัวมันอยู่ในคุณอยู่แล้วไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย”

     “แล้วจะให้ดิฉันวางเส้นสุดท้ายนี้ลงได้อย่างนิ่มๆได้อย่างไรละคะ”

     “คอนเซ็พท์ที่ว่า “ฉัน” หรือ “มันเป็นของฉัน” ถ้านิพพานฉันตามไปเสวยสุขไม่ได้  แล้วฉันจะดิ้นรนไปนิพพานทำไม ทั้งหมดนี้มันเป็นความคิดนะ ความคิดมันเกิดขึ้นได้แต่ในภาษาเท่านั้น ให้คุณออกไปจากโลกของภาษาเสีย คุณก็พ้นจากความคิดแล้ว นอกโลกของภาษาทุกอย่างปรากฎเป็นคลื่นความสั่นสะเทือน (vibration wave) ไม่ว่าจะเป็นภาพเสียงสัมผัสหรือแม้กระทั่งความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบที่ภาษาบาลีเรียกว่าเวทนา (feeling) ทั้งหมดนี้ปรากฎเป็นคลื่นความสั่นสะเทือนที่อยู่นอกโลกของความคิดทั้งสิ้น คุณก็ไปทางนี้สิ ออกจากความคิดไปเสีย รับรู้อย่างมากก็แค่เวทนาโดยไม่ก่อความคิดต่อยอด แค่นี้คุณก็พ้นแล้ว

     ผมยกตัวอย่างนะ คุณมาที่เวลเนสวีแคร์นี้ ในแง่ของการมานอนโรงแรมหรือรีสอร์ทคุณเห็นอะไรไม่ชอบใจหลายอย่าง เพราะมันไม่ใช่รีสอร์ทหรู รอยแตกที่ผนังนั่นน่าจะซ่อมเสียให้เรียบร้อย ราวเกาะขึ้นเนินที่โยกเยกนี่ก็น่าจะทำเสียให้แน่น แต่คุณก็แค่ไม่ชอบใจเฉยๆ คุณไม่ถึงกับไปว่าจ้างช่างมาซ่อมรอยแตกหรือมาเทปูนราวเกาะเสียเองใช่ไหม เพราะคุณรู้หรือยอมรับว่าเวลเนสวีแคร์นี้ไม่ใช่ของคุณ คุณไม่ได้เป็นเจ้าของเวลเนสวีแคร์ ทำให้คุณยอมรับที่จะนอนพักที่เวลเนสวีแคร์นี้ได้โดยไม่ทุกข์ใจแม้จะไม่ชอบบางอย่าง ตรงการยอมรับว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของนี่แหละสำคัญ ผมเรียกมันว่า acceptance นะ ตรงนี้แหละที่สำคัญ การจะเรียนรู้ acceptance ว่าตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของแต่อยู่กับมันได้นี้ก็คือการรู้จักความตื่นที่สามารถรับรู้โดยไม่มี “ฉัน” ตามไปด้วย ซึ่งมันเรียนรู้ไม่ได้ด้วยวิธีคิด (think) เอาอย่างที่คุณพยายามคิด เพราะความคิดมันต้องมี “ฉัน” ไม่งั้นมันก็ไม่ใช่ความคิด เพราะความคิดทั้งหลายมันขยายมาจาก “ฉัน” ทั้งสิ้น มันจะต้องเรียนรู้เอาจากการรู้สึก (feel) หรือการเป็น (be) โดยไม่มีความคิด 

    วิธีปฏิบัติ เอ้า คุณหลับตาอีกทีนะ ตั้งใจฟังว่าหูได้ยินเสียงอะไรบ้าง เสียงไก่ขัน เสียงนก เสียงมอไซค์ เสียงหมาเห่า คราวนี้ให้คุณสนใจส่วนที่เป็นความเงียบนะ ก่อนเกิดเสียงมีความเงียบ เสียงหายไปในความเงียบ ให้คุณจุ่มหรือแช่ความสนใจอยู่ในความเงียบที่มีสาระพัดเสียเกิดขึ้นแล้วดับไปในนั้น นี่แหละคุณกำลังเป็น (be) ความรู้ตัว

     เอ้า คราวนี้มาลองกับความคิด อย่างที่ผมบอกแล้วนะว่าความคิดมันเป็นภาษา มันเกิดขึ้นในใจได้ในสามรูปแบบ คือ (1) เป็นภาพ (2) เป็นเสียง และ (3) เป็นเสียงที่ไร้เสียง ไม่ว่าจะเกิดในรูปแบบไหน มันเกิดขึ้นในความมืดหรือความว่างที่มีอยู่ก่อนที่จะมีความคิด แล้วมันก็ดับไปในความมืดหรือความว่างนั้น คุณเอาความสนใจไปจุ่มหรือแช่อยู่ตรงที่มันมืดๆว่างๆก่อนที่จะมีความคิดหรือหลังจากที่ความคิดดับไปแล้วนั้น โดยคุณไม่ได้ท่องว่าความว่างนะอยู่ตรงนี้นะฉันกำลังเฝ้าดูความว่างอยู่ ไม่ใช่อย่างนั้น คุณแค่ถอยความสนใจจากความคิด ไป “เป็น” ความตื่นที่สามารถรับรู้ โดยไม่มีเอี่ยวหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับฉันตัวไหนๆทั้งสิ้น คือไม่มี self interest มาเกี่ยวข้อง แค่ตื่นอยู่และรับรู้อย่างยอมรับว่ามันไม่ใช่ของฉัน นี่แหละ คุณเรียนรู้ acceptance แบบนี้ ไม่ใช่แบบเอาฉันไปจดจ้องควบคุมความว่างไม่ให้หายไปไหนเดี๋ยวฉันจะไม่ได้ไปนิพพาน ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะตราบใดที่คุณยังไปไหนก็จะหนีบเอา “ฉัน” ไปด้วย คุณจะหลุดพ้นไปไหนหรือจะไปนิพพานไม่ได้เด็ดขาด แทนที่จะหนีบเอาฉันไปด้วย ให้คุณแค่ย้ายความเป็น (identity) จากเป็น “ฉัน” ไปเป็น “ความรู้ตัว” ซึ่งเป็นแค่ความตื่นที่มีแต่ความสามารถรับรู้ได้ คุณลองทำแบบนี้ดูก่อน เมื่อได้ลองทำแล้วให้คุณค่อยๆรู้สึก (feel) เอาเองว่าในที่ที่ฉันไม่ได้ไปอยู่ด้วยนั้น มันเป็นอย่างไร มันเลวร้ายมากอย่างที่ความคิดมันพร่ำบอกคุณไหม มันยังคุ้มค่าที่จะไปอยู่หรือเปล่า อย่าเพิ่งตัดสินใจหันหลังกลับตอนนี้เพียงเพราะเชื่อในคำแจงสี่เบี้ยของความคิดว่ามันไม่คุ้มค่าที่จะไป

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์