Latest

พิธีกรรมส่วนตัว วันละหนึ่งชั่วโมง

หมอสันต์พูดกับสมาชิกในรีทรีตฟื้นฟูผู้ป่วยมะเร็ง (CR)

     นี่เป็นเช้าวันแรกที่พวกเราตื่นเช้ามารวมกันที่นี่เพื่อทำสิ่งที่ผมเรียกว่า “พิธีกรรมส่วนตัว” หรือ private ritual ชื่อว่าส่วนตัว แต่ผมบังคับให้ทุกท่านมาทำด้วยกันที่นี่ ไอเดียก็คือผมต้องการให้ทุกท่านจัดเวลาวันละหนึ่งชั่วโมงเพื่อตัวเอง เรามีชีวิตอยู่เพื่อคนอื่นมาตลอดชีวิต แต่จากนี้ไปผมขอว่าให้ทุกท่านจัดเวลาเพื่อตัวเองวันละหนึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมงนี้เราจะหยุดมีชีวิตอยู่เพื่อคนอื่นไว้ก่อน เพื่อให้เวลานี้แก่ตัวเราเอง เพื่อใช้เวลานี้ไปกับการหันความสนใจจากนอกเข้าสู่ข้างใน ทุกเช้าเราจะมารวมกันที่นี่เพื่อทำกิจกรรมหนึ่งชั่วโมงนี้ด้วยกันเพื่อให้ท่านคุ้นเคยกับชีวิตที่กันหนึ่งชั่วโมงให้ตัวเองจนเอาไปทำต่อที่บ้านเองให้กลายเป็นนิสัยให้ได้

     สาเหตุของการเป็นมะเร็งนั้นเป็นการประชุมแห่งเหตุ หมายความว่ามีหลายสาเหตุมาบรรจบกันแล้วเกิดผลคือการเป็นมะเร็งขึ้น เหตุหนึ่งคือการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราทำงานไม่ได้เต็มที่ หรือถูกบล็อกไม่ให้ทำงาน ระบบที่จะบล็อกระบบภูมิคุ้มกันได้คือระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งมีหน้าที่นำพาชีวิตให้รอดพ้นภัยคุกคามจากภายนอก เมื่อใดก็ตามที่มีภัยคุกคามจากภายนอก เมื่อนั้นระบบประสาทอัตโนมัติก็จะเปิดหวอสัญญาณอันตราย เมื่อเสียงหวอดัง ระบบการทำงานของอวัยวะทั้งร่างกายก็จะเปลี่ยนไปตามแผนปฏิบัติการฉุกเฉินที่ถูกกำหนดไว้อย่างตายตัวแล้ว นั่นคือระบบที่ไม่จำเป็นต่อการอยู่รอดฉุกเฉินเช่นระบบสืบพันธ์ ระบบย่อยอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน จะถูกลดหรือปิดการทำงานลงชั่วคราว เมื่อระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ไม่เต็มแม็ก เม็ดเลือดขาวก็เก็บกินเซลที่กลายพันธุ์ได้ไม่หมด เซลพวกนั้นจึงพากันออกลูกหลานก่อตัวเป็นมะเร็งได้ ในโลกยุคปัจจุบันนี้ภัยคุกคามที่จะกระตุ้นให้เสียงหวอดังไม่ใช่เสือสิงห์ในป่าอย่างสมัยก่อนแล้ว แต่เป็น “ความคิด” ของเราเอง แล้วความคิดเนี่ยมันก็ไม่ได้มาแบบเสือสิงห์ที่นานๆโผล่มาทีนะ มันมาทุกวันซ้ำซาก ร่างกายจึงตกอยู่ในภาวะเครียดซ้ำซาก จนระบบภูมิคุ้มกันเสียการทำงาน พูดง่ายๆว่าความคิดของเรานี่แหละ ที่เป็นเหตุผสมโรงทำให้เราเป็นมะเร็ง ดังนั้นในชั่วโมงพิธีกรรมส่วนตัวในเช้าวันแรกนี้ เราจะให้เวลาก้บการฝึกวางความคิด

     เมื่อวานนี้ผมพูดถึงว่าชีวิตคนเราหากแยกส่วนง่ายๆก็จะได้สามส่วนคือ (1) ร่างกาย (2) ความคิด (3) ความรู้ตัว

     ผมจะเริ่มด้วยการทำความรู้จักความคิดให้มากขึ้นสักหน่อยก่อน ความคิดที่เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์นั้นหากจะแบ่งง่ายๆก็น่าจะได้สี่เข่ง คือ
     (1) ความอยาก ทั้งอยากได้ ซึ่งมีชื่อเพราะๆว่า “ความหวัง” อยากหนี ซึ่งมีอีกชื่อว่า “ความกลัว” แต่ทั้งความหวังและความกลัวก็ล้วนแต่เป็นความอยากทั้งคู่
     (2) ความหงุดหงิด หรือโกรธ ในเข่งนี้รวมทั้งความเสียดาย เสียใจ น้อยใจ ด้วย คือเป็นความไม่ได้อย่างใจ หรืออะไรๆที่เกิดขึ้นแล้วไม่เป็นไปตามที่เราอยากจะให้เป็น
     (3) ความฟุ้งสร้าน มีชื่อเพราะๆอีกชื่อหนึ่งว่าจินตนาการ คือเป็นความคิดล่องลอยเฟอะฟะไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยที่มาที่ไป
    (4) ความสงสัย ไม่แน่ใจ จะเป็นยังไงนะ จะถูกหรือผิด จะดีหรือชั่ว จะยังงั้นหรือเปล่า จะยังงี้หรือเปล่า

     แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นความคิด ไม่ว่าจะถูกจับยัดมาในเข่งไหน สืบโคตรเหง้าศักราชไปแล้วก็ล้วนมีรากมาจากที่เดียวกัน หรือชงมาจากแหล่งเดียวกัน คือมาจาก “สำนึกว่าเป็นบุคคล” หมายถึงความปักใจเชื่อว่าความเป็นบุคคลของเรานี้เป็นของจริง เรียกอีกอย่างว่ามาจาก “อัตตา” ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วความเป็นบุคคลนี้มันไม่มีอยู่จริง มันเป็นแค่ชุดของความคิดที่แต่งเรื่องเป็นตุเป็นตะขี้นโดยอุปโลกน์เอาร่างกายนี้เป็นพระเอกนางเอกถาวร ทั้งๆที่ รู้ทั้งรู้ ว่าร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ของถาวรอะไร

     คราวนี้เรามารู้จักกับความรู้ตัวบ้าง ว่ามันคืออะไร เราไม่เคยรู้จักความรู้ตัว เพราะเรามองชีวิตเมื่อไหรก็เห็นว่ามีแต่กายและใจ แลเราก็เหมาเอาง่ายๆว่าใจก็คือความคิด เพราะมองเข้าไปในใจทีไรก็เห็นแต่ความคิดทุกครั้ง ไม่เคยเห็นความรู้ตัว

     ความรู้ตัวนี้คือส่วนของชีวิตที่ไม่ใช่ทั้งร่างกาย ไม่ใช่ทั้งความคิด ไม่ใช่ดินน้ำลมไฟที่จะจับต้องสัมผัสได้ แต่เป็นความตื่นที่มีความสามารถรับรู้ โดยไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวดองกับสำนึกว่าเป็นบุคคลหรือกับอะไรทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นสมบัติของใครด้วย แค่เป็นความตื่นและรับรู้ได้เฉยๆ แม้ร่างกายนี้จะเป็นอะไรไป หรือความคิดจะดิ้นเร่าๆอย่างไร ความรู้ตัวก็ได้แต่รู้เฉยๆ ไม่เดือดร้อนด้วย ความรู้ตัวจึงเป็นส่วนของชีวิตที่นิ่งที่สุด เย็นที่สุด ถาวรที่สุด สังเกตให้ดีเถอะ เรานั่งมองร่างกายของเรามาหลายสิบปี ร่างกายนี้เปลี่ยนจากเป็นเด็ก เป็นหนุ่มสาว มาจนเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ ร่างกายเปลี่ยนมาตลอด แต่เราผู้นั่งมองไม่เคยเปลี่ยน เพราะเราก็ยังเป็นเราคนเดิม เราคนที่นั่งมองนั่นแหละคือความรู้ตัว ถ้าเราอยากจะพ้นไปจากความทุกข์ เราต้องถอยความสนใจของเราออกไปจากความคิด ไปเป็นความรู้ตัวนี้ เราจึงจะพ้นทุกข์อย่างถาวร เพราะแม้ความคิดหรือร่างกายจะเปลี่ยนแปลงผุพังไปอย่างไร แต่ความรู้ตัวไม่เคยเปลี่ยน ความรู้ตัวนี้มีชื่อเรียกหลายอย่างสุดแล้วแต่ใครอยากจะเรียกว่าอะไร บ้างเรียกว่า เต๋า พระเจ้า ปรมาตมัน วิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ธรรมธาตุ นิพพานธาตุ ฯลฯ

     เช้าวันนี้เราจะมาเริ่มฝึกหัดระดับ ปฐม ก. กา เรื่องการถอยความสนใจออกมาจากความคิด เพื่อไปเป็นความรู้ตัว โอเค้. เริ่มกันเลยนะ ทุกคนนั่งอย่างไรก็ได้ ให้ตัวเองสบายก็แล้วกัน ถ้าไม่ชอบขัดสมาธิก็ขึ้นไปนั่งห้อยขาบนเก้าอี้ได้ แต่ขอให้หลังตรง อย่าทำหลังงอ

     เริ่ม ขั้นที่หนึ่ง ด้วยการผ่อนคลายกล้ามเนื้อร่างกายก่อน เพราะการผ่อนคลายกล้ามเนื้อร่างกายเป็นกลวิธีหนึ่งในการวางความคิด เพราะความคิดของคนเรานี้มันมีสองขา ขาหนึ่งเป็นเนื้อหาสาระของความคิดในใจ หมายถึงว่าเป็นภาษา เป็นเรื่องราว อีกขาหนึ่งเป็นอาการบนร่างกายอย่างเช่นอาการหดเกร็งกล้ามเนื้อนี้เป็นต้น กลไกที่ความคิดทำให้เกิดอาการบนร่างกายนี้มีนักปราชญ์อธิบายไว้แยะรวมทั้งพระพุทธเจ้าด้วย แต่ว่าในเวลาจำกัดนี้เราอย่าไปพูดถึงเลย เอาเป็นว่าผ่อนคลายร่างกายแล้ว ความคิดก็จะถูกวางลงไปโดยอัตโนมัติ

     การผ่อนคลายร่างกาย ให้เริ่มด้วยการหายใจเข้าลึกๆเต็มปอด อั้นไว้สักพัก แล้วค่อยๆผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆ พร้อมกับสั่งให้กล้ามเนื้อร่างกายผ่อนคลาย เพราะกล้ามเนื้อของร่างกายนี้เราสั่งมันได้ เน้นที่ใบหน้าคิ้ว แก้ม คาง ก่อน ผ่อนคลาย..ย Relax..x จะรู้ว่าเราผ่อนคลายใบหน้าได้สำเร็จหรือไม่ก็ลองยิ้มที่มุมปากดู ยิ้มแบบพระพุทธรูปนั่นแหละ ถ้ายิ้มไม่ออก หรือต้องฝืนแสยะ ก็แสดงว่ายังผ่อนคลายไม่ลง ยังมีความคิดอยู่ ให้หายใจเข้าลึกๆใหม่ ค่อยผ่อนออก แล้วผ่อนคลายใหม่ ซ้ำๆหลายๆครั้ง จนผ่อนคลายได้

     นอกจากใบหน้าแล้ว คอ บ่า ไหล่ หลัง ก็มักจะเป็นจุดที่มักเกร็งเสมอ ให้ลาดตระเวณความสนใจ สำรวจไปว่าตรงไหนเกร็งก็สั่งให้ผ่อนคลาย..ย Relax..x สั่งให้ผ่อนคลายแล้วก็ตามไปรับรู้ ตามไป feel ว่ามันผ่อนคลายได้แล้วจริงๆ รับรู้เอานะ ไม่ใช่คิดเอา feel ไม่ใช่ think

     ขั้นที่สอง  เราลองเช็คดูสักนิดว่ายังมีความคิดหลงเหลืออยู่หรือเปล่า วิธีเช็คก็คือการชำเลืองมองย้อนกลับไปว่าหนึ่งวินาทีที่ผ่านไปนี้เราคิดอะไรอยู่เอ่ย ชำเลืองย้อนไปดูแว้บเดียวแล้วรีบกลับออกมา เพราะถ้าดูนานความสนใจของเราอาจจะถูกดูดเข้าไปอยู่ในความคิด กลายเป็นไปผสมโรงคิดต่อยอดเสียฉิบ แทนที่จะเป็นแค่การสังเกตความคิดจากข้างนอก ดูแว้บเดียว เอาแต่หัวเรื่อง ไม่เอาเนื้อหา แล้วรีบกลับออกมา สักพักก็แอบชำเลืองกลับไปดูอีกแว้บหนึ่ง ความคิดนั้นยังอยู่หรือเปล่า ถ้ายังอยู่ก็หลบกลับอีก อีกสักพักก็ชำเลืองกลับไปดูอีกแว้บหนึ่ง ทำอย่างนี้จนความคิดฝ่อหายไป มันเป็นธรรมชาติของความคิดที่เมื่อถูกความสนใจแอบดูแล้วมันจะฝ่อหายไปเสมอ ไม่เชื่อลองดูเอง

     ขั้นที่สาม มาถึงตอนนี้ ความคิดไม่มีแล้ว ผ่อนคลาย ตื่นอยู่ รู้ตัวอยู่ ลองเงี่ยหูฟังซิ ได้ยินเสียงอะไรไหม ได้ยินเสียงอะไรบ้าง ได้ยินเสียงนกอะไรก็ไม่รู้เสียงดังมาก ได้ยินเสียงนกเขาขันจากทางโน้น ไก่ขันอยู่ไกลๆ หมาเห่าอยู่ไกลมาก เสียงรถยนต์แผ่วๆ ถ้าเราได้ยิน เรารับรู้เสียงนั้นแบบรับรู้คลื่นความสั่นสะเทือน โดยไม่เอาภาษาเข้าไปตีความหรือคิดต่อยอด ไม่พิพากษาตัดสินว่าที่ร้องเสียงดังนี่มันน่าจะเป็นนกอะไร แค่รับรู้เป็นเสียงนกเฉยๆ หรือเมื่อมีลมพัดมาถูกผิวหนังเรารู้ว่าขนลุก แต่ไม่ไปคิดต่อยอดว่าเย็นขนาดนี้มันจะกี่องศากันเนี่ย นี่เรียกว่า “รู้” ตามที่มันเป็น ไม่มีความคิดนะ ไม่มีภาษามาเกี่ยวข้องนะ มีแต่ภาพเสียงสัมผัส การที่เรารับรู้สิ่งเร้าที่เข้ามาหาเราในรูปของภาพ เสียง สัมผัส ทีละขณะ ทีละขณะ โดยรู้ตามที่มันเป็น ไม่มีความคิด ไม่มีภาษามาเกี่ยวข้อง อย่างนี้แหละที่เขาเรียกว่าอยู่กับปัจจุบัน ดังนั้นการอยู่กับปัจจุบัน  กับความรู้ตัว ก็คืออันเดียวกัน

     ที่ตรงนี้ให้คุณสังเกตนะ การอยู่กับปัจจุบัน รับภาพเสียงสัมผัสจากสิ่งเร้าภายนอกที่เข้ามาถึงตัวที่ละช็อต ทีละช็อต รับรู้ตามที่มันเป็น โดยไม่ไปคิดอะไรต่อยอด ไม่พิพากษาตัดสิน สนใจแต่เท่าที่มันเป็น What is? ไม่สนใจว่ามันควรจะเป็นอย่างไร คือไม่สนใจ What should be? แบบนั้นเป็นความคิดไปเสียแล้ว ไม่ใช่ความรู้ตัว ต้องเปลี่ยนจาก “คิด” มาเป็น “รู้” หรือเปลี่ยนจาก think เป็น feel ให้รู้ตัว ตื่นตัว จดจ่อไปทีละขณะ ทีละช็อต ว่าช็อตต่อไปอะไรจะเข้ามา ต่อจากเสียงหมา เสียงไก่ขัน แล้วจะเป็นเสียงอะไรไม่รู้ ต้องจดจ่ออย่างตื่นตัว การใช้ชีวิตแบบนี้มันเป็นการใช้ชีวิตแบบตื่นตัว เร้าใจ เป็นมหัศจรรย์ของชีวิต เพราะช็อตต่อไปใครจะรู้ว่าอะไรจะเข้ามาในชีวิต นี่แหละคือการใช้ชีวิตอย่างแท้จริง แบบใหม่ๆ สดๆ ซิงๆ ความตื่นตัวแบบไม่มีความคิดต่อยอดนี้เสริมสร้างพลังชีวิตให้คุโชน ทำให้อวัยวะร่างกายเกิดพลังขับเคลื่อน คุณต้องใช้ชีวิตแบบนี้ อย่าใช้ชีวิตแบบเอาความสนใจไปจมอยู่ในความคิด แบบนั้นเป็นการใช้ชีวิตแบบหมักเม่า เพราะความคิดก็คือการรีไซเคิลความจำอันบูดๆเก่าๆอับๆจากอดีตของเรา หามีอะไรใหม่ไม่ มีแต่จะทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติเปิดหวอ หว้อ หว้อ หว้อ ว่าสิ่งคุกคามมาอีกแล้ว ซึ่งก็จะตามมาด้วยวงจรความเครียดซ้ำซาก
     
     ขั้นที่สี่ คราวนี้มารู้จักความรู้ตัวให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ให้ทุกคนหลับตา โฟกัสที่เสียงก่อนนะ เพื่อจะเรียนรู้ว่าเราจะอยู่แบบเป็นความรู้ตัวได้อย่างไร หายใจเข้าลึกๆ ผ่อนออกช้าๆ ผ่อนคลายร่างกาย วางความคิด วางหมายความว่าแอบดูพอรู้ว่ามันคิดอยู่ก็ถอยกลับไม่ไปคิดต่อยอด หันหลังให้ความคิดนั้นซะ ไม่ต้องไปขับไล่ แค่หันหลังให้ พอความคิดหมดแล้วให้สนใจเสียง ตั้งใจฟังว่ามีเสียงอะไรบ้าง คราวนี้ให้สังเกตเพิ่มเติมนะว่า เสียงนกดังๆเกิดจากทางนี้ เสียงนกเขาขันเกิดจากทางโน้น เสียงไก่ขัน เสียงหมาเห่านานๆครั้งอยู่ไกลออกไป ตอนแรกดูเหมือนว่ามีเสียงเต็มไปหมด แต่สังเกตให้ดีนะ เสียงนั้นเกิดทางนี้นิดหนึ่ง เสียงนี้เกิดทางนั้นหน่อยหนึ่ง แต่พื้นที่ที่เหลืออันกว้างใหญ่นั้นไม่มีเสียงนะ พื้นที่อันกว้างใหญ่ที่เหลือนั้นเป็นความเงียบนะ ให้คุณเอาความสนใจไปจดจ่ออยู่ที่ความเงียบอันกว้างใหญ่นั้น แล้วสังเกตนะ ปักหลักอยู่ที่ความเงียบแล้วสังเกต สังเกตเสียงนกเขาที่ขันๆหยุดๆ จุ๊กกรู จุ๊กกรู ตัวนั้นก็แล้วกัน เสียงมันเกิดมาจากไหน มันเกิดมาจากความเงียบนะ แล้วเสียงมันดับหายไปไหน มันดับหายไปในความเงียบนะ ดังนั้นในมุมมองของเสียง ความเงียบคือความรู้ตัว เสียงหรือสิ่งเร้านั้นเกิดขึ้นในความเงียบคือเกิดขึ้นในความรู้ตัว ในมุมมองของภาพก็คล้ายกัน เมื่อคุณหลับตา ความว่างดำๆใหญ่ๆตรงหน้านี้คือความรู้ตัว แล้วภาพทั้งหลายเกิดขึ้นในความว่างนี้ คุณลองนึกหน้าคนที่คุณรักขึ้นมาสักคนสิ ภาพหน้าของเขาหรือเธอจะโผล่เข้ามาแว้บหนึ่ง มันโผล่มาในความว่างนี้นะ และดับหายไปในความว่างนี้ ดังนั้นความรู้ตัวก็คือความเงียบหรือความว่างอันกว้างใหญ่หาขอบไม่ได้ ที่สิ่งเร้าทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นภาพเสียงสัมผัสหรือความคิด ก็ล้วนเกิดขึ้นในความว่างหรือความเงียบนี้

     ขั้นที่ห้า ทีนี้หากเราจะถอยความสนใจออกจากความคิดมาอยู่กับความรู้ตัว เราจะเอาความสนใจไปจ่อไว้ที่ไหนละ เพราะทั้งความเงียบหรือความว่างมันล้วนกว้างใหญ่เหลือประมาณ คุณอย่าไปสนใจความกว้างใหญ่ของมันเลย แม้มันจะไม่มีขอบ แต่คุณก็สามารถเลือกสนใจแค่ส่วนที่อยู่ตรงหน้าคุณก็พอ

     อนึ่ง ในการจะเป็นความรู้ตัว ให้คุณถามตัวเองบ่อยๆว่า

     “ฉันรู้ตัวอยู่หรือเปล่า”

     แล้วพยายามตอบคำถามนี้อย่างจริงจัง ในการจะตอบคำถามนี้ได้ คุณจะต้องไปควานหาว่าความสนใจของคุณกำลังไปเพลิดเพลินอยู่ที่ไหน ไปขลุกอยู่ในความคิดหรือเปล่า หรือว่ากำลังจดจ่ออยู่กับความเงียบหรือความว่างที่ตรงหน้าคุณนี้ ถ้ามันกำลังจดจ่ออยู่ที่ความว่างหรือความเงียบที่ตรงหน้านี้อยู่ คุณก็กำลังรู้ตัวอยู่

     เอาละ เช้านี้เราจบบทที่หนึ่งแค่นี้ก่อน ย้ำอีกที มีห้าขั้นนะ

(1) ผ่อนคลายร่างกายและยิ้ม
(2) ย้อนสังเกตดูความคิด
(3) รับรู้สิ่งเร้าที่นี่เดี๋ยวนี้ตามที่มันเป็น
(4) ปักความสนใจไว้ที่ความเงียบหรือความว่าง
(5) ถามบ่อยๆว่าฉันรู้ตัวอยู่หรือเปล่า

     มาถึงตอนนี้ คุณรู้จักความรู้ตัวแล้วนะ การบ้านก็คือเมื่อลืมตาขึ้นใช้ชีวิตปกติแล้ว ให้คุณจุ่มหรือแช่ความสนใจของคุณอยู่ที่ความรู้ตัวอยู่เนืองๆ พำนักอาศัยอยู่ในความรู้ตัว อยู่กับปัจจุบัน อยู่กับสิ่งเร้าที่เข้ามาทีละช็อต ทีละช็อต รับรู้สิ่งเร้าเหล่านั้นตามที่มันเป็นโดยไม่ไปคิดต่อยอด นี่คือการบ้านที่คุณจะต้องเอาไปทำต่อ ให้ทำเสมอเมื่อคุณว่างจากภาระกิจการงาน เวลาคุณต้องคิดต้องอ่านทำการทำงานก็ทำไป ผมไม่ไปแย่งเวลานั้นของคุณ คุณจะได้ไม่อ้างได้ว่าคุณต้องทำงาน แต่เวลาว่างงาน เช่นเวลาเดิน เวลาอาบน้ำ แปรงฟัน ขับรถ กินข้าว ออกกำลังกาย นั่งเล่น ให้คุณฝึกถอยความความสนใจออกมาจากความคิด ไปจุ่มแช่หรือพักอาศัยอยู่ในความรู้ตัว อย่างน้อยที่สุดเวลาหนึ่งชั่วโมงที่มีไว้เพื่อพิธีกรรมส่วนตัวของคุณในแต่ละวัน คุณต้องฝึกเรื่องนี้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์