Latest

ขอโทษครับ จังหวะนี้ผมจำเป็นต้องพูด

     ผมเข้าใจดีว่าท่านผู้อ่านบล็อกนี้ความสนใจหลักอยู่ที่การดูแลสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต อย่างที่ไปไกลหน่อยอย่างมากก็ไปทางการหาทางหลุดพ้นไปจากความคิดซ้ำซากไร้สาระในหัวของตัวเอง ที่นี่ไม่ใช่ที่ของคนที่สนใจเรื่องนอกตัวที่จับสาระได้ยากอย่างเช่นเรื่องการเมือง เขาตั้งรัฐบาลกันอย่างไร ใครจะเอากระทรวงไหน กระทรวงไหนแลกกับกระทรวงไหนแล้วใครจะได้เปรียบจะเสียเปรียบ เพราะฉนั้นการเอาเรื่องการเมืองมาพูดที่นี่เป็นการเล่นลิเกผิดวิก ซึ่งนอกจากจะหาคนดูไม่ค่อยได้แล้วยังจะได้รับก้อนอิฐและขวดเป็นสิ่งตอบแทนอีกด้วย

     แต่ว่าจังหวะที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกำลังพยายามจัดตั้งรัฐบาลกันอยู่นี้ ผมต้องขออภัยต่อท่านผู้อ่านด้วยที่ผมจำเป็นต้องพูดอะไรเกี่ยวกับการเมืองตอนนี้ เพราะถ้าไม่พูดตอนนี้ ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองของมันแล้ว ผ่านช่วงของการก่อร่างสร้างรัฐบาลและช่วงของการตกลงกันในนโยบายว่ารัฐบาลใหม่จะทำอะไรไม่ทำอะไรแล้ว มันก็สายเกินไปที่ผมจะพูดอะไรที่จะนำไปสู่ประโยชน์แก่สาธารณะอย่างจริงจังเสียแล้ว

     ระบบหรือกลไก หรือโครงสร้างของสังคมของเราทุกวันนี้ การจะสร้างสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นกับคนหมู่มากในเวลาอันสั้นได้มีสองวิธีเท่านั้น

     วิธีที่ 1. คือการสร้างกระแส หรือความนิยม หรือความอยากเปลี่ยนแปลงขึ้นในใจผู้คน แล้วผู้คนจะเปลี่ยนแปลงตัวเองตามแบบกึ่งอัตโนมัติ

     วิธีที่ 2. คือการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ระเบียบ หรือนโยบายสาธารณะ

     ถ้าเราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่คนมีอารมณ์ร่วมได้ง่ายเช่นเรื่องแฟชั่นการแต่งกาย การรักชอบดาราสวยๆหล่อๆ วิธีที่ 1. เป็นวิธีที่ดี แต่หากเราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานซึ่งพ้นออกไปจากความสนใจในเรื่องผิวเผินของคนส่วนใหญ่ หรือในเรื่องที่จำเป็นต้องฝืนความเคยชินที่ไม่ดีที่ผู้คนส่วนใหญ่ทำอยู่ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอาศัยวิธีที่ 2. คือการเปลี่ยนแปลงผ่านกฎหมาย ระเบียบและนโยบายสาธารณะ

     จังหวะที่กำลังมีการจัดตั้งรัฐบาล กำลังมีการเขียนนโยบาย จึงเป็นจังหวะที่ผมควรจะพูดในสิ่งที่ผมเห็นว่าจำเป็นต้องพูด ประเด็นที่ผมจะพูดก็เป็นประเด็นซ้ำซากแบบแผ่นเสียงตกร่อง ว่า

     (1) ปัญหาการก่อตัวของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในคนไทยโดยเฉพาะเมื่อเรามีคนแก่มากขึ้นเป็นปัญหาใหญ่มาก ใหญ่กว่าที่คนทั่วไปที่ไม่คุ้นเคยกับข้อมูลสถิติทางการแพทย์และการสาธารณสุขจะมองเห็นได้ หากไม่มองข้อมูลสถิติและผลวิจัยเหล่านั้นอย่างละเอียดลึกซึ้งพินิจพิเคราะห์ ซึ่งผมได้พูดไปอย่างละเอียดแล้วเมื่อผมคุยกับสื่อมวลชนเมื่อสองสามวันก่อนหน้านี้ (https://visitdrsant.blogspot.com/2019/06/blog-post_7.html)

     (2) วิธีที่เราใช้รับมือกับปัญหาซึ่งเราทำตามฝรั่งเรื่อยมาอย่างเป็นอัตโนมัติ คือการมุ่งไปที่การดูแลรักษาในโรงพยาบาลด้วยยา ด้วยการผ่าตัด เป็นวิธีที่นอกจากจะไม่ได้ผลกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในแง่ของการลดอัตราตายแล้ว ยังจะพาชาติและสังคมของเราล่มจมทางการเงินด้วย

     (3) ทางแก้ปัญหาที่จะให้ผลเร็วที่สุดคือการเปลี่ยนนโยบายสาธารณะในเรื่องการแพทย์และการสาธารณสุข ให้บ่ายโฉมหน้าจากการมุ่งไปทางการรักษามาเป็นมุ่งไปทางการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งผมขอถือโอกาสนี้เสนอทางแก้ต่อพรรคการเมืองที่รับผิดชอบเป็นรัฐบาล และพรรคการเมืองที่รับผิดชอบบริหารจัดการดูแลกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอให้ท่านรับไว้พิจารณา 7 เรื่อง ดังนี้

     3.1 การป้องกันพลิกผันโรคเรื้อรังได้ดีที่สุดเกิดขึ้นจากการที่ตัวผู้ป่วยดูแลตัวเองให้ตัวชี้วัดสุขภาพเจ็ดตัวต่อไปนี้อยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ (1) น้ำหนัก (2) ความดัน (3) ไขมันในเลือด (4) น้ำตาลในเลือด (5) จำนวนผักผลไม้ที่กินต่อวัน (6) เวลาที่ใช้ออกกำลังกายต่อสัปดาห์ (7) การไม่สูบบุหรี่ ทั้งเจ็ดตัวนี้เป็นดัชนี้ที่วัดได้อย่างเป็นรูปธรรมสี่ตัวคือน้ำหนัก ความดัน ไขมัน น้ำตาล หากรัฐบาลใหม่ใช้มาตรการจูงใจด้วยส่วนลดการเสียภาษี กล่าวคือให้คนที่ดูแลตัวเองจนดัชนีสุขภาพแต่ละตัวในสี่ตัวนี้เป็นปกติอยู่ได้เมื่อสิ้นปีภาษีก็ให้นำหลักฐานไปลดหย่อนภาษีได้เหมือนนำหลักฐานการบริจาคเงินไปลดภาษี ก็จะสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนใส่ใจที่จะดูแลดัชนีสุขภาพเหล่านี้ของตนเป็นปกติด้วยตัวเองมากขึ้น

     3.2 การแพทย์ทุกวันนี้อะไรที่ “เบิกได้” แพทย์จะทำให้คนไข้ อะไรที่เบิกไม่ได้แพทย์จะไม่ทำ แม้จะเป็นสิ่งที่ดีก็จะไม่ทำ เพราะทำยากและติดขัดทุกทิศทุกทาง ทุกวันนี้สิ่งที่เบิกได้มีแต่การรักษาเมื่อป่วยแล้วเช่นค่าผ่าตัด ค่าทำบอลลูน ค่ายา ค่าตรวจวินิจฉัยเมื่อมีอาการ ส่วนการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเช่น การเข้าโปรแกรมเลิกบุหรี่ การเข้าโปรแกรมเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตเมื่อเป็นโรคเรื้อรัง แม้จะมีหลักฐานว่าให้ผลดีกว่าการรักษา แต่ก็เบิกไม่ได้ โรงพยาบาลทั้งหลายก็ไม่มีโปรแกรมเหล่านี้ แต่ในประเทศเช่นสหรัฐฯที่การไปเข้าโปรแกรมเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตกินนอน 12 วันเป็นสิ่งที่เบิกได้ โรงพยาบาลต่างๆก็ทำโปรแกรมเหล่านี้ให้ผู้ป่วยมากขึ้น หากแก้กฎหมาย ให้กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นสิ่งที่เบิกได้ ก็จะทำให้หน่วยบริการสุขภาพทุกระดับบ่ายโฉมหน้าจากทิศทางมุ่งรักษามามุ่งการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมากขึ้น

     3.3 อาหารไทยมองผิวเผินเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แต่ในความเป็นจริงวิธีปรุงอาหารไทยปัจจุบันนี้แตกต่างจากอดีต ทำให้เมนูเดียวกัน ปัจจุบันนี้กลายเป็นอาหารที่ (1) มีแคลอรี่สูง (2) มีไขมันอิ่มตัวมาก (3) มีเกลือมาก (4) มีน้ำตาลมาก (5) มีพืชผักผลไม้น้อย ซึ่งเป็นทิศทางที่ตรงข้ามกับอาหารสุขภาพ คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าการจะทำอาหารไทยแบบอาหารสุขภาพทำอย่างไร หากรัฐบาลจัดทำคำแนะนำโภชนาการแห่งชาติ Thailand Food Guide ขึ้นเผยแพร่ทุกสี่หรือห้าปีโดยอาศัยข้อมูลวิทยาศาสตร์และผลวิจัยล่าสุดเป็นรากฐาน ก็จะทำให้ผู้คนรู้ทิศทางที่เขาควรจะมุ่งไปในทางโภชนาการเมื่อทำอาหารไทย โดยที่ในคำแนะนำนั้นอย่างน้อยควรจะมีเมนูวิธีทำ Thai Healthy Food และควรจะไฮไลท์การเอาน้ำเปล่าเป็นเครื่องดื่มประจำตัวของคนไทยทุกคนแทนเครื่องดื่มใส่น้ำตาลหรือแอลกอฮอล

     3.4 รัฐบาลควรจะเป็นเจ้าภาพในแง่ของการช่วยเหลือผู้บริโภค ด้วยการตรวจรับรองคุณภาพและออกตรา Thai Healthy Food ให้แก่ร้านอาหารทั่วเมืองไทยและทั่วโลกที่ผลิตอาหารตามเมนูที่แนะนำไว้ใน Thailand Food Guide ฉบับล่าสุด ซึ่งนอกจากจะช่วยผู้บริโภคแล้ว ยังจะช่วยอุตสาหกรรมอาหารไทยสู่ตลาดโลก ซึ่งจะมีผลต่อการเกษตรกรรมในลักษณะปลอดภัยต่อสารพิษด้วย

     3.5 ควรจะอาศัยอำนาจตามกฎหมายสถานพยาบาล ดำเนินการให้รงพยาบาลทุกแห่งมีแต่ Thai Healthy Food ให้คนไข้ และให้ร้านจำหน่ายอาหารในโรงพยาบาลขายแต่เมนูอาหารที่ประกอบหรือปรุงตามที่แนะนำไว้ใน Thai Healthy Food เท่านั้น

     3.6 กระทรวงสาธารณสุขควรจะให้ความสำคัญของการส่งแพทย์ไปประจำที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศ โดยก่อนจะส่งแพทย์เหล่านั้นออกไปจะต้องมีโปรแกรมสอนทักษะให้แพทย์ส่งเสริมสุขภาพของตัวเองให้ได้สำเร็จก่อนโดยใช้ตัวชี้วัดมาตรฐานทั้งเจ็ดตัวเป็นตัววัด เมื่อตัวเองทำได้แล้ว จึงจะส่งแพทย์เหล่านั้นไปนำทีมส่งเสริมสุขภาพที่รพ.สต. โดยให้แพทย์เหล่านั้นได้รับการจูงใจในเชิงค่าจ้างตามสมควรไม่ให้ด้อยกว่าหากพวกเขาอยู่ในภาคการรักษาพยาบาล

    3.7 รัฐบาลควรสปอนเซอร์ให้รัฐบาลท้องถิ่นสร้าง “เมืองสุขภาพ” (Healthy Town) ขึ้นในภาคต่างๆเพื่อเป็นเมืองตัวอย่างสมบูรณ์แบบที่เอื้อผู้คนที่อยู่อาศัยในเมืองนั้นและผู้มาเยือนได้มีสุขภาพดี เช่น (1) หาอาหารที่ดีต่อสุขภาพทานได้ง่าย (2) วิถีชีวิต การเดินทางไปมา การทำงาน และการพักผ่อน ล้วนเอื้อให้ได้เคลื่อนไหวออกกำลังกาย (3) ผู้สูงอายุได้มีโอกาสเป็นสมาชิกที่สร้างสรรค์ของสังคมแทนที่จะฝังตัวเองอยู่แต่ในบ้าน (4) เอื้อต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยไม่สร้างมลภาวะไปปล่อยให้เมืองอื่น

      ทั้งเจ็ดประการนี้ผมขอฝากไว้ต่อท่านสมาชิกพรรคการเมือง สมาชิกสภา และผู้จะมาร่วมเป็นองค์กรบริหารของรัฐบาลชุดใหม่นี้ด้วยครับ ได้พูดกับท่านแล้วผมก็สบายใจว่าผมได้ทำหน้าที่ของผมในจังหวะที่ควรทำแล้ว

     ส่วนข้างท่านผู้อ่านนั้น ขอให้ท่านผู้อ่านสบายใจได้ว่าผมจะกลับไปทำหน้าที่เดิมของผมคือให้ความรู้และสอนทักษะการป้องกันและพลิกผันโรคต่อไปเหมือนเดิม โดยท่านไม่ต้องกังวลว่าผมจะใช้พื้นที่บล็อกนี้ไปกับเรื่องการเมืองซ้ำซากอีก รับประกันว่าบทความนี้จะเป็นบทสุดท้ายเรื่องการเมืองในยุคของรัฐบาลชุดใหม่นี้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

…………………………………………

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 1.
ทำได้จะดีมากค่ะ แต่เหมือนเรากำลังเอื้อมที่จะคว้าแต่คว้าไม่ถึงค่ะอาจารย์

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 2.
 หวังว่าจะมีนักการเมืองดีๆสักคนมาอ่านและนำไปดำเนินการ ขอแชร์นะคะคุณหมอ

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 3.
ควรจะทำ และต้องรีบทำ แต่เชื่อได้ “ไม่ทำ” ผมเอา หรรม เป็นประกันเลย

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 4.
เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ แต่จะทำอย่างไรดีค่ะบทความนี้จะไปถึงรัฐบาลใหม่และเห็นว่าควรจะเริ่มปฏิวัติการดูแลสุขภาพคนไทยในมิติใหม่ได้แล้ว นโยบายยาฟรีแล้วไม่ดูแลสุขภาพ เท่าไรก็ไม่พอ ขออนุญาตแชร์นะคะ

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 5.
แชร์แล้วค่ะ นโยบายเป็นประโยชน์แก่คนไทย อยากให้รัฐบาลพิจารณา

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 6.
นโยบายสาธารณะ จากการตั้งรับที่ปลายเหตุ- curative care ปรับสู่การป้องกันโรคตั้งแต่ต้นทาง- preventive care เป็นทางออกของสังคมสูงวัยของไทย ยากที่สุดคือการปรับ mindset ของ policy maker และ practitioners ค่ะ
คุณหมอสันต์พูดถูกเสมอมา..

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 7.
อยากกินผัก​ ผลไม้อย่างสบายใจ​ แต่ก็กลัวจะเป็นการสะสมสารพิษในร่างกายพร้อมกันไปด้วย​ สธ.ทำไมยังให้ขายสารพิษที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรอยู่อีก​ มีอะไรไปบดบังจิตสำนึกไว้หรือไงครับ
จะรอดูว่ารัฐบาลนี้เก่งทษฤฎี หรือปฏิบัติ​ ในเรื่องของสุขภาพประชาชนมากกว่ากัน

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 8.
สาธารณสุขไทย ยังขาดงบประมาณเยอะ บุคคลากรใน สธ.ทำหนัก เครียด การบริการก็แย่ไปด้วย หมอ กับ คนไข้ ไม่เป็นมิตรกัน พยาบาลบริการแบบเอาจำนวนเข้าไว้ให้ทันเวลาทางรัฐตัดงบจำกัด บุคคลากรไม่มีแรงจูง ในตำแหน่ง หน้าที่ ตัวอย่างยกเลิกบรรจุ พยาบาล ทั้งที่บุคคลากรขาด แต่ราชการอื่นกลับมีบุคคลากรล้นเหลือ มีเวลาไปน้งตีกอฟ ตกปลา ทั้งชีวิต ควรเอาความจริงมาพูดบ้าง ว่าราชการ กระทรวงไหนทำงานไม่คุ้มกับตำแหน่งเงินเดือนก็โยกงบเหล่านั้นมาให้กระทรวง สธ.ดีกว่า ทำงานให้ประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ คำอ้างเพื่อประชน

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 9.
แนวคิดนี้ของลุงหมอ หนูเคยคิดเช่นนี้ไว้เหมือนกันค่ะ แต่ ๆ ๆ รัฐบาลชุดใหม่ (รบ.ประยุทธ์) นี้ที่ลุงหมอจะฝากแนวคิดนี้ให้เขาทำ เขาจะทำให้รึเปล่าหนูไม่รู้นะคะ เพราะช่วง ๕ ปีก่อนยังเห็นรัฐบาลตัดงบสายสาธารณสุขและไม่กระจายความก้าวหน้าการแพทย์ไปยังต่างจังหวัดอยู่เลย

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 10.
ขอร่วมลงชื่อสนับสนุน และขอให้หมอทั้งหลาย เจ้าหน้าที่สาธารณาสุขทุกท่านโปรดพิจารณาและร่วมกันพลักดันแนวคิดนี้ให้เป็นจริงด้วยการร่วมกันส่งข้อความให้ดังไปสู่สังคม(รอสื่อไม่ได้เพราะยังไม่มีเสียงใดๆเลยหลังหมอสันต์ออกอากาศ)

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 11,
เข้าใจคุณหมอที่คิดถึงความสำคัญของสุขภาพว่าเป็นปัจจัยสำคัญเร่งด่วนในระดับมหภาค ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ / ส่วนหนูก็จะดูแลสุขภาพให้ดียิ่งๆขึ้นไปตามที่ได้ความรุ้ตลอดมาจากคุณหมอค่ะ

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 12.
คงดีมาก สุขภาพดี ลดหย่อนภาษีได้….ทุกคนจะได้หันมาดูแลสุขภาพตัวเอง ประหยัดงบของรัฐ ไม่ต้องไปออเต็มรพ.ค่ะ

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 13.
ขอบคุณค่ะอาจารย์ ถ้า รบ.มีที่ปรึกษาดี หรือ รมต.ดีมีวิสัยทัศน์ คงวาดอนาคตที่หวังได้ ที่เห็นอยู่ตอนนี้วังเวงค่ะ

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 14.
เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ การสร้างเสริมสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญมากๆ แม้ทุกวันนี้มีงบ สปสช.และ สสส.สำหรับด้านนี้ ลงกระตุ้นถึงชุมชน แต่ยังจำกัดด้วยปัจจัยหลายอย่างรวมถึงการจะทำอย่างไรจะจูงใจให้คนยอมหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพอย่างเต็มใจด้วย

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 15.
นโยบายนี้ต้องนำเสนอผู้บริหารรัฐบาล กำหนดเป็นวาระแห่งชาติอย่างเร่งด่วน สุขภาพประชาชนต้องมาก่อน ค่ะ

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 16.
เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะคุณหมอ ทุกวันนี้ประชาชนต้องหาความรู้ในการดูแลสุขภาพเอาเองตามมีตามเกิด ข้อมูลข่าวสารเยอะมาก ไม่ทราบว่าข้อมูลไหนจริงข้อมูลไหนเท็จค่ะ ในเรื่องพื้น ๆ เช่นอาหาร จะต้องเลือกกินแบบไหนอย่างไรจึงจะมีประโยชน์และไม่เกิดโรคตามมา การออกกำลังกาย ออกด้วยวิธีใด อย่างไรจึงจะมีประโยชน์ บางครั้งทำไปแบบไม่มีความรู้ก็เป็นอันตราย เจ็บตัวไปอีกค่ะ เวลาเจ็บป่วยไปหาหมอ (ในบางโรค เช่นปวดเข่า)หมอก็ให้ยาไปทาน แต่ไม่ได้บอกวิธีที่จะให้หายปวดเข่าแบบยั่งยืนโดยไม่ใช้ยา เช่นสอนวิธีสร้างกล้ามเนื้อเข่าให้ผู้ป่วยค่ะ

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 17.
ข้อเสนอของคุณหมอ ดีทั้งหมดเลย แต่รัฐจะทำตามได้ไหม นี่สิน่าคิด

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 18.
อนุทินไงคะจะมีสมองทำอะไรแบบที่อาจารย์กล่าว

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 19.
อยากให้ผู้มีอำนาจได้อ่าน จะได้มีโอกาสทำสิ่งต่างๆที่คุณหมอพูดมา ถึงจะทำไม่ทั้งหมด แต่ก็ยังดีค่ะ
มีสิ่งจูงใจให้ประชาชนหันมารักตัวเองให้มากขึ้น โรคต่างๆ ที่คุณหมอเอ่ยมาคงจะเกิดน้อยลง และคนก็คงจะเสียชีวิตน้อยลงด้วย

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 20.
คุณหมอจับประเด็นได้ชัดเจน มีแนวทางเป็นข้อๆ โดยผู้รับผิดชอบเอาไปคิดต่อยอดได้ทันที
จึงขอสนับสนุนอีกเสียงให้รัฐบาลนำไปพิจารณาดำเนินการให้เกิดเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นได้จริง ใน
ระหว่างนี้เราต้องช่วยตัวเองด้วยการปรับพฤติกรรมการทานอาหารของเรา ปัญหาหลักที่พบคือ เราจะคุมได้เมื่ออยู่ในบ้าน พอไปข้างนอกหรือที่ทำงาน การหาอาหารที่ไม่มัน ไม่หวาน ไม่เค็มดูเป็นเรื่องยากมาก และด้วยภาวะเร่งรีบในชีวิต สุดท้ายเราจึงละเลยในเรื่องนี้ไปในที่สุด
ขอขอบคุณคุณหมอที่ยังแน่วแน่เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ให้กับสาธารณชนได้รับรู้ตลอดเวลา สำหรับตัวเองคิดว่าคุ้มกับการลงทุนให้กับตัวเองและครอบครัวด้วยการเข้าแค้มป์สุขภาพของคุณหมอ แม้จะต้องออกเงินเองและไม่ได้รับการลดหย่อนภาษีก็ตามค่ะ หลังตัวเองได้เข้าแค้มป์สุขภาพของคุณหมอเมื่อ 2 ปีแล้ว สุขภาพปัจจุบันดีกว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัดเจน นี่ขนาดปรับพฤติกรรมการโดยรวมได้เพียงแค่ 70 – 80% เท่านั้นนะคะ

(ขอตัดจม.จากผู้อ่านมาแค่ 20 ฉบับนะครับ)

…………………………………………………