Latest

หมอสันต์ไปเข้าโรงเรียนวาดภาพสีน้ำครั้งแรกในชีวิต

     สองสามวันก่อน หมอสมวงศ์จัดสอนวาดภาพสีน้ำที่เวลเนสวีแคร์ เชิญอาจารย์ตัวจริงมืออาชีพมาสอน เธอบอกว่าให้ผมเข้าเรียนด้วยนะ เธออ้างว่าเป็นการให้เกียรติอาจารย์ที่เขามาช่วยสอนให้โดยไม่คิดค่าสอน ผมรับปากว่าจะเข้าเรียนเพราะเห็นใจว่าเธอกลัวจะหานักเรียนไม่ได้ งานนี้ใช้เวลาเรียนทั้งหมดหกชั่วโมง บ่ายวันเสาร์ กับเช้าวันอาทิตย์

     พอไปถึงเวลเนสอาจารย์มานั่งกินข้าวอยู่ท่ามกลางนักเรียน ไม่ต้องบอกผมก็รู้ว่าท่านใดเป็นอาจารย์เพราะท่านแต่งกายโดดเด่นแบบศิลปิน โดยเฉพาะผมของท่านนั้น พอท่านหันหลังให้จึงได้เห็นว่าผมที่ท่านมัดรวบไว้ข้างหลังนั้นยาวลงไปถึงระดับขาของท่านเลยทีเดียว ผมได้มีโอกาสนั่งกินข้าวคุยกับท่านจึงถือโอกาสถามคำถามไร้เดียงสา

     “เวลาอาจารย์สอนศิลปะ อาจารย์สอนอะไรเป็นเรื่องสำคัญที่สุด” ท่านตอบว่า

     “สุนทรียะ (aesthetic) เป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ต้องสอนกันก่อน ให้รู้จักสุนทรียะ มุมมองว่าอะไรงาม งามแบบไหนมันมีสรุปไว้เป็นแนวทางเป็นหลักวิชาไว้หมดแล้ว แยกออกเป็นเรื่องศิลปะแขนงต่างๆ การถ่ายภาพ การวาดภาพ ป็นต้น แล้วยังมีแยกออกตามยุค ตามวัฒนธรรม ตามสมัยนิยม ตามประเภทของงานศิลป์ เช่นศิลปะแบบเรียลลิสม์ แบบอิมเพรชชั่นนิสม์ แบบแอ็บสแตรค แบบโมเดิร์น ซึ่งแต่ละแบบก็ยังแยกแยะไปได้อีกหลายมุมมองหลายหมวดย่อย แต่อย่างน้อยศิลปะต้องเริ่มด้วยการรู้จักสุนทรียะก่อน”

     ผมคิดขยายความแบบเดาเอาเองในใจว่าการเข้าถึงสุนทรียะหรือความงามนี้ มันคงหมายถึงการเกิดความรู้สึกอิ่มเอิบเมื่อได้สัมผัสรับรู้สิ่งที่สวยงาม ถูกตา ต้องใจ หรือถูกจริต คงไม่ได้หมายถึงอยู่แค่การรับรู้คอนเซ็พท์หรือท่องจำเอาหลักวิชาเช่นว่ากันตามคอนเซ็พท์แบบโมเดิร์นแบบนี้เรียกว่าสวยแบบนี้เรียกว่าไม่สวย คงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะการเกิดความรู้สึกอิ่มเอิบมันเป็นความรู้สึก (feeling) แต่การรับรู้จากหนังสือว่าถ้าเป็นศิลปะโมเดิร์นแบบนี้เรียกว่าสวยนั้นเป็นความรู้หรือความคิด (thought) ผมเดาเอาว่าปลายทางของการรู้จักสุนทรียะคือการเกิด feeling ดีๆที่ทำให้อยู่กับเดี๋ยวนั้นได้และลืมความคิดไปได้ชั่วคราวอันส่งผลให้เกิดความสงบเย็น คงไม่ใช่การสะสมความรู้หรือความคิดให้เกิดการยึดถือไว้อวดเบ่งทับถมกันมากเรื่องเข้าไปอีก คิดในใจแล้วขยับจะถามครูว่าผมเข้าใจถูกหรือเปล่าแต่ก็ไม่ได้จังหวะถาม คุยกันไปคุยกันมา เลยลืมไปเลย 

บทนำ. ช่วยตัวเอง เพราะไม่มีใครจะช่วยทำให้ท่านได้ 

     นักเรียนเข้ายืนประจำที่ คือมุงรอบโต๊ะครูแล้ว ครูก็สอนให้รู้จักเครื่องมือหากินอันได้แก่พู่กัน สี จานผสมสี กระป๋องน้ำ ฟองน้ำ กระดาษ กระดานไม้อัด เทปกาว และมีดคัทเตอร์ ไม่เห็นครูพูดถึงดินสอสักคำ เข้าใจว่านี่เป็นชั้นเรียนสีน้ำ ดินสอจึงไม่มีบทบาท แล้วครูก็สอนให้รู้จักชนิดกระดาษและวิธีใช้ ด้านที่สากๆคือหน้าที่จะใช้ ประมาณว่ายิ่งสากยิ่งแพง ด้านที่เรียบๆคือหน้าหลังซึ่งไม่ได้ใช้งาน แล้วสอนวิธีแปะกระดาษลงบนไม้กระดาน คว่ำหน้าที่จะใช้งานลง เอาฟองน้ำชุบน้ำให้โชกแล้วลูบไปบนหน้ากระดาษจนเปียกทั่วทั้งแผ่น แล้วพลิกกระดาษหงายหน้าขึ้น เอาฟองน้ำชุบน้ำลูบจนเปียกทั้งแผ่นอีก แล้วฉีกเทปกาวออกมาทีละสองชิ้น จะเอาด้านยาวก่อนก็ยาวทั้งคู่ อย่ากว้างบ้างยาวบ้างเดี๋ยวหยิบผิดหยิบถูกปิดลงไปแล้วลอกออกไม่ได้ วิธีปิดเทปก็คือเอาฟองน้ำชุบน้ำลูบด้านที่เป็นกาวของเทปให้ทั่วก่อน ดึงหัวท้ายเทปด้วยหัวแม่มือซ้ายขวา ทาบเทปกับขอบกระดาษให้ได้ที่เพะ แล้วกดหัวแม่มือทั้งสองข้างลงเพื่อตรึงกระดาษให้ติดกับแผ่นไม้อัด จากนั้นเอานิ้วนางมากดแทนหัวแม่โป้ง คืบหัวแม่โป้งจากสองข้างมาอยู่จุดกึ่งกลางของขอบกระดาษ แล้วคืบนิ้วชี้ทั้งสองข้างตามมากดแทนหัวแม่โป้ง เท่ากับว่าตอนนี้นิ้วชี้สองนิ้วทาบคู่ขนานกันอยู่บนเทปกาวกึ่งกลางของขอบกระดาษ แล้วค่อยๆบรรจงรีดเทปกาวให้แนบติดกับกระดาษและกระดานจากตอนกลางไปหามุมทั้งสองข้าง กระดาษจะได้แนบติดกับกระดานไม้อัดอย่างแนบแน่นไม่มีรอยย่น ทำอย่างนี้จนครบสี่ด้าน เอากระดานไม้อัดนี้ไปผึ่งลมให้กระดาษแห้ง มันก็จะหดตัวเรียบราบพร้อมที่จะใช้ระบายสี

บทเรียนที่ 1. Flat washing ทาสีเรียบเสมอกัน

ฝึกเทคนิคพื้นฐาน ทาเรียบ ทาไล่เงา และเปียกบนเปียก

     ครูสาธิตวิธีทาสีบนกระดาษโดยให้สีเสมอกัน วางกระดาษราบบนพื้นโต๊ะ ผสมสีที่ต้องการเอาพู่กันจุ่มสีให้โชกแล้วป้ายเป็นแถบสีจากซ้ายไปขวา ยกพู่กันขึ้น ทาบพู่กันลงพื้นที่ว่างถัดจากแถบสีแรกที่ทาสีไปแล้ว แล้วก็ทาสีจากซ้ายไปขวาอีก ทำอย่างนี้จนหมดพื้นที่ที่จะทา เอ้า ให้นักเรียนแยกย้ายกันไปทาตามของใครของมัน ผลปรากฎว่าออกมาเป็นรูปฝากระดานบ้านเป็นแผ่นๆ เพราะสีแต่ละแถบเกยกันเป็นรอย ครูบอกว่าใช้ไม่ได้ให้ทาใหม่ ก็ยังมีรอยต่อระหว่างแถบอีก ครูบอกว่าให้จุ่มสีให้โชกพูกัน บรรจงแตะพู่กันลงบนกระดาษแค่เฉียดฉิวจนปลายพู่กันแทบไม่ได้สัมผัสกระดาษเลย แล้วบรรจงลากพู่กันป้ายไปจากซ้ายไปขวาแบบนุ่มนวลไม่ให้ขนพูกันขีดลงไปบนกระดาษให้เห็นรอยแค่อาศัยน้ำสีพาพู่กันไป พอจะทาแถบถัดลงมาก็บรรจงจรดพู่กันต่อจากแถบสีแรก ปล่อยให้สีน้ำจากแถบแรกไหลลงมาปนกับสีในพู่กัน แล้วลากพู่กันไปโดยให้น้ำเป็นตัวพาสีไป ไม่ใช่ให้พูกันเป็นตัวพาสีไป ในที่สุดนักเรียนก็สามารถทาสีแบบ flat washing ได้สำเร็จ บทเรียนนี้ทำให้เริ่มรู้จักการ “แผ่วเบา” กับการจรดปลายพู่กันลงบนผิวกระดาษ หนุกดีเหมือนกัน

บทเรียนที่ 2. Graded washing ทาสีแบบไล่เงาเข้มไปจาง

ฝึกวาดกระป๋องและลูกกลม แบบไล่เงา

   ครูสาธิตวิธีทาสีแบบไล่เงา (shade) จากเข้มไปจาง คราวนี้ต้องหนุนกระดานกระดาษขึ้นสักยี่สิบองศา เอาพู่กันจุ่มสีให้โชกแล้วป้ายจากซ้ายไปขวา  พอสีทำท่าจะไหลย้อยลงมาตามความลาดเอียงก็รีบเอาพู่กันจุ่มสีที่เจือจางน้ำมากกว่าเดิมไปตั้งรับแล้วป้ายจากซ้ายไปขวาอีก ทำเช่นนี้ไปทีละแถวสีที่ป้ายแต่ละครั้งก็จะค่อยๆจางลงๆ ใหม่ๆก็ยังไม่วายได้ภาพไม้ฝากระดานเป็นแผ่นๆ แต่พอละเมียดละไมมากขึ้นก็จะได้สีที่คอยๆจางลงทั้งแผ่นโดยหารอยต่อพู่กันไม่เจอ

     คราวนี้ครูให้เอาหลักการทาไล่เงามาวาดรูปกระป๋องและรูปกลมอย่างง่าย โดยให้ทำความเข้าใจว่าแสงมาทางไหน เงาตกทางไหน แล้ววาดรูปกระป๋องและลูกกลมตามครู บ้างก็งงว่าแสงมาทางขวาแล้วทำไมฝากระป๋องไปมืดทางซ้าย ครูบอกว่าไม่ใช่ นี่เป็นข้างในกระป๋อง แสงมาทางขวา ข้างในกระป๋องจะมืดทางขวาเพราะผนังกระป๋องมันทึบแสง

บทเรียนที่ 3. Wet Into Wet เปียกบนเปียก

     เมื่อตะกี้วาดกระป๋องและลูกกลมยังต้องใช้ความละเมียดบ้าง แต่เทคนิคใหม่นี่ถูกใจโก๋มากเพราะไม่ต้องใช้ฝีมือเลย เล่นหนุกๆอย่างเดียว

จุ่มสีชมพู จิ้มสีม่วง จิ้มปลาย แล้วกดโคนพู่กัน

 วิธีการคือครูให้เอาน้ำละเลงลงไปบนกระดาษเป็นรูปหัวใจหรือวงกลม แล้วเอาพู่กันจุ่มสีอะไรก็ได้ สีนั้นที สีนี้ที หยดแหมะลงไปตรงโน้นทีภายในพื้นที่ที่ละเลงน้ำไว้ สีมันก็จะเยิ้มเข้าไปหากันเอง ถ้าอยากสนุกกว่านั้นก็เอียงกระดาษไปมา สีก็จะวิ่งไปปนกันเป็นลวดลายอะไรก็สุดจะคาดเดา

     แล้วครูให้วาดรูปดอกไม้โดยใช้เทคนิคเปียกบนเปียก เอาพู่กันจุ่มสีชมพูให้โชก แล้วเอาปลายแหลมของพู่กันแตะสีม่วงนิดเดียว เอาปลายพู่กันแตะกระดาษให้สีม่วงลงไปก่อนเป็นก้านดอก ทำเส้นโค้งนิดหนึ่งแล้วกดตัวพู่กันลงไปให้สีชมพูลงไปเป็นส่วนใบของดอก สีม่วงกับสีชมพูจะเจือกันเองโดยเราไม่ต้องใช้ฝีมืออะไร เขียนใบเขียนก้านใส่เสียหน่อย ครูทำตัวอย่างให้ดูเป็นกล้วยไม้ช่อบะเริ่ม ผมทำได้ดอกกล้วยไม้สองดอกก็พอใจแล้ว

เว้นกระดาษขาวไว้เป็นแก้ว แล้วใส่สีฉากหลัง

บทเรียนที่ 4. White sparing เว้นกระดาษขาวไว้ 

     คราวนี้ครูให้เอาเทคนิคเปียกบนเปียกสร้างฉากหลังโดยให้ฉากหลังนั้นเว้นกระดาษขาวไว้เป็นรูปแก้วไวน์ วิธีทำคือเอาน้ำละเลงบนกระดาษก่อนแต่เว้นกระดาษขาวไว้เป็นรูปแก้วไวน์โดยจินตนาการเอาเพราะไม่มีดินสอร่าง ไม่ให้ส่วนแก้วไวน์นี้โดนน้ำ แล้วเอาสีลงหยดบนฉากหลัง ก็จะได้รูปแก้วไวน์สีขาวโดดเด่นขึ้นมาตรงหน้าฉากหลังหลากสีนั้น เป็นการอาศัยกระดาษขาวๆสร้างส่วนหนึ่งของภาพขึ้นมาโดยไม่ต้องไปทำอะไรเลย แค่เว้นไว้เฉยๆ

     คราวนี้ครูให้เอาเทคนิกเปียกบนเปียกกับเทคนิคเว้นกระดาษขาวไว้ให้นักเรียนไปใช้วาดรูปปลาคาร์พ ครูทำตัวอย่างให้ดู โดยการเอาน้ำเปล่าวาดเป็นรูปปลาคาร์พแต่เว้นส่วนหัวไว้ รอให้น้ำหมาดๆ แล้วเอาสีจ๊าบๆเช่นสีชมพู สีม่วง หยดลงไปในตัวปลาที่เปียกน้ำหมาดๆอยู่นั้น หยดน้ำก็จะกระจายเป็นสีบนตัวปลาแบบอะเมซซิ่ง แล้วก็ให้นักเรียนไปวาดปลาของใครของมัน บ้างก็ได้ปลาคาร์พ บ้างก็ได้ปลาดุก บ้างได้ตัวพยูนแทนปลา สนุกสนานดี จากนั้นก็มาแต้มสีใส่ครีบ ใส่หาง และไฮไลท์ที่ใส่ตาและจมูกซึ่งหลายคนไม่รู้ว่าจะใส่ตรงไหนดีเพราะตรงหัวมันเป็นแค่กระดาษว่างๆสีขาว

ปลาคาร์พตัวแรกในชีวิตของหมอสันต์ ด้วยเทคนิคเปียกบนเปียก

     ครูบอกว่าให้ใช้จินตนาการ บางคนจินตนาการก็ช่วยไม่ได้ จึงเอาจมูกกับตาไปไว้ด้วยกันได้หน้าตาปลาเหมือนคิงคอง     


บทเรียนที่ 5. ทาสีเปียกทับสีแห้ง (Glazing)

หัดทาสีเปียกทับบนสีแห้งแบบเคลือบกัน

     คราวนี้เรามาเรียนเทคนิคใหม่อีกอันหนึ่ง คือการทำสีหลายสีซ้อนกันโดยไม่ให้มันเยิ้มไปหากัน ทำรูปอะไรก็ได้ด้วยสีหนึ่ง รอให้แห้ง แล้วเอาอีกสีหนึ่งทำอีกรูปหนึ่งทับลงไป ทำอย่างนี้กับหลายๆสี หลายๆรูป บางครั้งครูก็ให้ลองทาทับเป็นปื้นเลย ซึ่งเป็นเทคนิคย้อมสีภาพเก่าทั้งภาพให้เกิดสีใหม่ที่มอๆหรือดูเก่ากว่าเดิม

ต้นไผ่ เปียกบนแห้ง (glazing)

     พอมีความเข้าใจเรื่อง glazing ดีแล้ว ครูก็ให้หัดวาดต้นไผ่และใบไผ่โดยใช้หลัก glazing หรือเปียกบนแห้ง วิธีการก็คือทาสีฉากหลังตามต้องการก่อน ปล่อยให้แห้ง แล้วเริ่มวาดใบไผ่ทับลงไป วิธีวาดใบไผ่ก็ไม่ยาก เอาพู่กันจุ่มสีให้โชก แตะปลายแหลมๆของพู่กันบนกระดาษ ขยับขึ้นนิดหนึ่งให้เกิดโคนของใบ แล้วกดส่วนที่อ้วนๆของพู่กันลงให้แถบสีใหญ่ขึ้น พร้อมกับลากพู่กันยาวไปบนกระดาษ แล้วยกพู่กันขึ้นตอนท้าย ก็จะได้ใบไผ่ง่ายๆแบบอะเมซซิ่ง ครูให้วาดใบไผ่ซ้อนกันหลายชั้นแบบสร้างภาพให้มีความลึก ผมวาดซ้อนกันแค่สองชั้นพอให้ได้ไอเดีย แล้วก็วาดต้นไผ่เลย แต่ต้นไผ่ของผมเส็งเคร็งกว่าของเพื่อนๆ เข้าใจว่าผมเลือกสีทึบเกินไปและสีของผมมีน้ำน้อยเกินไปต้นไผ่ของผมจึงกลายเป็นไผ่ถูกมอดกิน

แค่ใช้สีเข้มตัดเส้นหรือเขียนอักษรบนพื้นแห้ง

บทเรียนที่ 6. Dry on dry แห้งบนแห้ง

     บทนี้เป็นอะไรที่เข้าใจง่ายที่สุด คือเป็นการใช้สีเข้มตัดขอบภาพหรือเขียนตัวอักษรแค่นั้นเอง พื้นภาพต้องแห้ง สีที่ใช้ตัดขอบซึ่งปกติเป็นสีทึบก็ควรออกไปทางแห้งด้วย เทคนิคก็คืออย่าใช่สีดำ เอาแค่ให้ทึบกว่าภาพที่จะตัดหน่อยก็พอ

     เป็นอันว่าจบหกชั่วโมง อันเป็นคอร์สที่สั้นกระชับได้ใจความดีมาก นักเรียนส่วนใหญ่ล้วนเป็นมือใหม่หัดขับ ต่างก็ได้หลักพื้นฐานหกอย่างไปวาดรูปเอง โดยครูพูดดักคอไว้ล่วงหน้าว่าแค่มีหลักทั้งหกอย่างนี้ก็วาดรูปสีน้ำได้ไม่สิ้นสุดแล้วด้วยความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของตัวเอง อย่าคอยแต่จะวาดรูปตามครู ทีละสะเต็พๆไม่รู้จักโตสักที และว่าถ้านักเรียนเอะอะก็..แล้วไงต่อละคะคุณครู ครูก็เก็กซิมเพราะแสดงว่าสอนไปแล้วนักเรียนไม่เก็ท พอโดนครูพูดดักคอนักเรียนก็ทำท่าเก็ทกันถ้วนหน้า ไม่กล้าถามอะไรครูอีกเลย แล้วมันก็เลยเวลามาครึ่งชั่วโมงแล้วด้วย หลายคนอุทานว่า “หา..เที่ยงแล้วหรือ” ทำไมเวลามันผ่านไปเร็วจัง นี่เป็นข้อดีของการวาดภาพสีน้ำ คือมันทำให้จดจ่อและลืมความคิดลืมเวลาได้ดีนัก

     ก่อนจะถูกหมอสมวงศ์บังคับให้มาเรียนวาดรูปสีน้ำ ผมไม่คิดว่าเรียนแล้วชีวิตผมจะเปลี่ยนแปลงอะไรหรอก เพราะชีวิตทุกวันนี้มันแน่นจนไม่มีเวลาจะทำอะไรใหม่ๆแล้ว แต่พอเรียนไปแล้วก็รู้สึกว่าเออ..เขียนภาพสีน้ำนี่ก็ใช้เวลาไม่มากนะ ถ้าไม่โลภมากจะเอาภาพใหญ่ๆอย่างชาวบ้านเขา ถ้าผมเขียนแค่ภาพโปสการ์ดก็ใช้เวลาแค่สิบห้านาที หรือยี่สิบนาที ก็ได้ภาพหนึ่งแล้ว ผมจึงบอกหมอสมวงศ์ให้หาซื้อสมุดกระดาษวาดเขียนเล่มเล็กๆกว้างสักหนึ่งคืบทิ้งไว้ให้ผมหน่อย เอาไว้เผื่อมีเวลาว่างๆหรือเวลาพบเห็นอะไรที่เป็นมุมมองที่ “สุนทรียะ” ผมจะได้สื่อมันออกมาเป็นภาพเล็กๆได้ อย่างน้อยมันก็ช่วยให้เกิดสมาธิและความผ่อนคลายในขณะทำ เพราะงานแบบนี้มันไม่ใช่งานหวังผลอยู่แล้ว ไม่แน่นะสมาธิแบบชั่วคราว สั้นๆ สบายๆ ไม่มีพิธีอะไรมากอย่างนี้ อาจเป็นช่องทางให้ปัญญาญาณจ๊าบๆที่ผมกำลังต้องการโผล่ขึ้นมานำทางชีวิตได้พอดิบพอดีก็ได้

     ก่อนจบ ขอขอบพระคุณอาจารย์ผู้สอนที่ได้กรุณาอาสามาสอนให้โดยไม่คิดค่าเหนื่อย ความสุขใดๆที่ผมในฐานะนักเรียนจะได้เพิ่มขึ้นมาในชีวิตจากการรู้วิธีวาดภาพสีน้ำนี้ ยกให้อาจารย์หมด..หิ หิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์