Latest

ก้าวใหญ่ที่สุดของนักศึกษาแพทย์

สวัสดีค่ะ
หนูขออนุญาตเรียกว่าอาจารย์นะคะ พอดีหนูเป็นนศพพี่งขั้นมาเรียนในระบบคลินิกค่ะ ได้เจอ blog เรื่องแปลค่า CBC ของอาจารย์จากการที่หนูต้องแปรผลค่า CBC ทำรายงานผู้ป่วย หนูเลยมาสืบค้นเพิ่มเติมและได้นำความรู้จากใน blog ไปใช้ค่ะ ขอบคุณนะคะ
เรื่องที่หนูอยากจะรบกวนถามคือหนูอยากทราบมุมมองของการที่เราผิดหวังค่ะ ในระบบการเรียนมันมีเรื่องที่ทำให้เราผิดหวังหลายเรื่องมากค่ะ ที่ประสบอยู่ตอนนี้คืออ่านหนังสือไปแล้ว หวังว่าจะทำข้อสอบได้ แต่ก็ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร แล้วก็เก็บความรู้สึกเสียดาย มาคิดต่อในวันถัดไป ทำให้เป็นทุกข์ นอกจากนี้ มีการสอบที่หนูยังสอบไม่ผ่านก็ต้องอ่านหนังสือใหม่เพื่อไปสอบให้ผ่าน ทำให้มีพะวง กลัวการสอบไม่ผ่านอยู่ตลอดเวลา หนูรู้สึกได้ว่าตัวเองเป็นคนที่คิดถึงอนาคตมากเกินไปทำให้ปัจจุบันเป็นทุกข์ หนูเลยอยากทราบมุมมองความคิดของอาจารย์ ว่าเรื่องพวกนี้หนูควรมองภาพปัญหาเหล่านี้ยังไง กำจัดมันยังไง แล้วทำให้จิตใจดีขึ้นได้ยังไงค่ะ

คำตอบในความคิดของหนูคือปล่อยวางและทำทุกๆวันให้ดีที่สุด แต่เป็นความคิดที่ทำตามได้ยากมากค่ะ ในเมื่อเรามีความหวังแล้วเราผิดหวัง แล้วจะให้เราปล่อยวางทันทีเลย เป็นเรื่องที่ยากมาก หนูเลยอยากได้มุมมองความคิดที่แตกต่างมากขึ้นค่ะ

ขอขอบพระคุณอาจารย์ล่วงหน้าค่ะ

………………………………………

ตอบครับ

       1. ท่านผู้อ่านท่านอื่นฟังคุณหมอเธอให้ดีนะเธอบอกว่า รู้แล้ว..ว ว่าต้องปล่อยวางและทำวันนี้ให้ดีที่สุด แต่มันทำตามนั้นไม่ได้ นี่ ฮี่..ฮี่ เรื่องมันเป็นอย่างนี้เสียด้วยซิคะท่านสาระวัตร จะทำอย่างไรดี วันนี้ผมจะจับเข่าคุยกับคุณหมอน้อยท่านนี้ในเรื่องที่แทบจะเป็นมารร้ายอันเดียวของการเรียนแพทย์ คือความกังวล…ว่า (1) จะสอบตก (2) จะเรียนไม่จบ (3) จะเอาดีในอาชีพนี้ไม่ได้ (4) จะถูกเบียดไปเป็นหมอในสาขาที่ไม่เท่และถูกเพื่อนๆรุมดูถูกดูแคลน (5) จะเป็นโรคหมออ้วนที่คนไข้ไม่ยอมมาหา (6) จะติดเชื้อโรคจนผอมกระแด๋งแล้วตายอย่างทุเรศ (7) (8) (9) (10) (11) (12) จะ..ฯลฯ ฟังดูเป็นเรื่องใหญ่มากจะพูดกันรู้เรื่องไหมนี่ แต่ผมมันใจว่าจะพูดกันรู้เรื่อง ทั้งนี้การพูดให้คนรู้เรื่องนี้มันขึ้นอยู่กับพูดเรื่องอะไรและพูดกับใครด้วย

     พูดถึงตรงเรื่องพูดอะไรและพูดกับใครนี้ ขอนอกเรื่องหน่อยนะ สมัยผมยังรับราชการอยู่ ผมต้องสอนผู้เรียนหลายระดับมาก ตั้งแต่สอนแพทย์ประจำบ้าน สอนนักเรียนแพทย์ในโรงเรียนแพทย์ สอนนักศึกษาพยาบาลในวิทยาลัยพยาบาล และสอนผู้ช่วยพยาบาล (PN) ในวอร์ด สอนพนักงานผู้ช่วยเหลือคนไข้ (aid) เวลาที่ผมใช้เตรียมการสอนก็ขึ้นอยู่กับว่าวันนี้ผมจะไปสอนใคร ถ้าจะไปสอนพนักงานผู้ช่วยเหลือคนไข้ผมต้องเตรียมการสอนเจ็ดวันเป็นอย่างน้อย สอน PN ผมเตรียมการสอนสามวัน สอนนักศึกษาพยาบาลผมเตรียมการสอนหนึ่งวัน สอนนักเรียนแพทย์ผมเตรียมการสอนชั่วโมงเดียว สอนแพทย์ประจำบ้านผมไม่ต้องเตรียมอะไรเลยเพราะวิธีสอนมาตรฐานคือด่าลูกเดียว (หิ หิ พูดเล่น) ในทางกลับกัน ปัจจุบันนี้ผมทำ Spiritual Retreat ผมพบว่าเวลาที่ผมต้องเตรียมตัวทำรีทรีตก็ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มที่จะมาเข้ารีทรีตกลุ่มนี้เป็นใคร ถ้าเป็นกลุ่มผู้แก่ธรรมะ ปฏิบัติธรรมกันมาคนละสิบยี่สิบสามสิบปีขึ้นไป ผ่านมาแล้วสิบยี่สิบสำนัก บ้างเป็นพระสงฆ์องค์เจ้าที่มีอาชีพสอนคนอื่นอยู่แล้ว ผมต้องเตรียมตัวเจ็ดวัน ถ้าเป็นพวกนักอ่านตำรามาหมดแล้วหลายตู้ ดูวิดิโอมาหมดเป็นร้อยม้วน นักปรัชญาสาขาไหนในโลกนี้รู้จักหมด ผมเตรียมตัวสามวัน แต่ถ้าเป็นพวกคนที่ไม่เคยรู้อิโหน่อิเหน่อะไรมาก่อนเลย ผมเตรียมตัวแค่วันเดียว

     โอเค.หยุดนอกเรื่องมาตอบจดหมายคุณหมอน้อยดีกว่า

     ความคิดไม่ใช่เรา

     กฏข้อที่หนึ่งของการเป็นหุ่นยนต์ เอ๊ย ไม่ใช่ ของการเป็นคน คือต้องรู้ก่อนว่าไผเป็นไผ ต้องแยกให้ออกระหว่าง “ความคิด” กับ “เรา” สองอันนี้ไม่เหมือนกันนะ เมื่อมีความคิดขึ้น คนเผลอก็มักจะสรุปเอาดื้อๆว่าเราคือความคิดนั้น แบบนี้เรียกว่า thinking a thought แต่คนช่างสังเกตหรือคนไม่เผลอจะรู้ว่านั่นเป็นความคิด จะเป็นความคิดของเราหรือเป็นขี้ปากเก่าของคนอื่นแล้วเราเก็บเอามาคิดใหม่ก็เถอะ มันล้วนเป็นความคิด แต่นี่เป็นเรา เราอยู่ตรงนี้สังเกตเห็นความคิดได้ อย่างนี้เรียกว่า aware of a thought ประเด็นคือความคิดไม่ใช่เรา เราคือความรู้ตัว (consciousness) ที่ตื่นอยู่ สามารถรับรู้และสังเกตเห็นความคิดได้

     การเปลี่ยนแว่นสีเป็นแว่นใส

    ความคิดทั้งหลายทั้งแหล่ที่โผล่ขึ้นมาในหัว มันมาจากสามทาง ทางที่หนึ่งมาจากความจำ (memory) ทางที่สองมาจากความคิดอ่าน (intellect) ซึ่งอาจเป็นการคิดอ่านต่อยอดความจำหรือต่อยอดสิ่งที่เห็นหรือได้ยินที่ตรงหน้า ณ เดี๋ยวนี้ก็ถือว่าเป็นความคิดอ่านทั้งนั้น ทางที่สามเป็นการดาวน์โหลดมาจากท้องฟ้า เรียกว่าปัญญาญาณ (intuition) ซึ่งทางที่สามนี้เอาไว้ก่อน อย่าไปพูดถึงมันตอนนี้ เดี๋ยวจะบ้าไปเสียก่อนที่จะได้รู้เรื่อง

    อันว่าความคิดนี้ สืบโคตรเหง้าศักราชไปเถอะ ความคิดไม่ว่าจะมาจากทางไหน ล้วนถูกบิดเบือนใส่สีตีไข่โดยคอนเซ็พท์หลักที่มีอยู่ก่อนแล้วในหัวของเราที่ผมเรียกรวมๆว่า “สำนึกว่าเป็นบุคคล” หรือ identity ซึ่งคือคอนเซ็พท์ว่าเราเป็นคนชื่อนี้ เพศนี้ บ้านอยู่ตำบลนี้ เรียนมหาลัยนี้ สวยอย่างนี้ มีชื่อเสียงอย่างนี้ มีความดีอย่างนี้ ทั้งหมดนี้แหละที่ผมเรียกว่าสำนึกว่าเป็นบุคคล มันเป็นเหมือนแว่นสีที่คอยกรองภาพเจ็ดสีที่เข้ามาหาลูกตาเราให้เป็นภาพสีเดียวหมด เรามองเห็นและรับรู้ทุกอย่างผ่านแว่นสีนี้ สูงสุดของวิธีใช้ชีวิตก็คือการถอดแว่นสีนี้ออกเสีย เปลี่ยนใส่แว่นใสแทน ใสแบบ clarity คือมองผ่านออกไปแล้วเห็นทุกอย่างตามที่มันเป็นโดยไม่มีสำนึกว่าเป็นบุคคลเข้าไปเกี่ยวข้อง

     คนแบบไหนที่ใส่แว่นสี ก็คือคนที่เอาเหตุการณ์เล็กๆเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งในชีวิตเป็นเป้าหมายของชีวิต เช่นมองว่าเป้าหมายชีวิตก็คือการผ่านวอร์ดศัลยกรรมให้ได้ การเรียนจบแพทย์ การมีเงินซื้อบ้านซื้อรถยนต์ คนจำพวกนี้มีแนวโน้มที่จะต้องอยู่กับความกลัวล้มเหลวไปตลอดชีวิต เพราะเหตุการณ์ใดๆก็ตามในชีวิตของคนเราที่ถูกหยิบเอาขึ้นมาเป็นเป้าหมายชีวิตนั้น มันล้วนเป็นเรื่องนอกตัว เราควบคุมมันได้ซะที่ไหน

     คนแบบไหนที่ใส่แว่นใส ก็คือคนที่เอาเหตุการณ์ในชีวิตเป็นเพียงบันไดทีละขัันที่ใช้เหยียบขึ้นไปสู่เป้าหมายใหญ่ของชีวิตว่าจะได้เป็นอิสระเสรีจากกรงความคิดของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลุดพ้นจากความกลัวไปสู่ความมีศักยภาพอันไม่จำกัดของชีวิต คนจำพวกนี้ไม่กลัวอะไร อะไรจะเกิดก็ปล่อยให้มันเกิด เพราะอะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นในแต่ละโมเมนต์ของชีวิตล้วนเป็นอีกแง่งหินหนึ่งที่จะใช้เหยียบขึ้นไปสู่ความหลุดพ้นทั้งสิ้น

     พูดง่ายๆว่าคนจำพวกแรกมองชีวิตว่ามีแต่ความเสี่ยงที่จะสูญเสียสิ่งที่ตัวเองกำลังปกป้อง แต่คนจำพวกหลังมองชีวิตนี้ว่ามีแต่เรื่องที่จะทำให้ได้เรียนรู้ฝึกฝนเข้าไปไกล้เป้าหมายของตนยิ่งขึ้นทุกทีๆ คนจำพวกหลังจะยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่เป็นอยู่ในชีวิตได้โดยไม่ต้องกลัวหรือวิ่งหนี ไม่อยากได้หรือวิ่งหา ไม่มีคำว่าล้มเหลว มีแต่สิ่งที่อาจเกินความคาดหมาย ซึ่งก็จะกลายเป็นความตื่นเต้นท้าทายอันใหม่ มีอะไรมาก็ยอมรับได้หมดว่านี่ก็เป็นอีกสะเต็พหนึ่งที่จะใช้เหยียบก้าวขึ้นไปสู่ความหลุดพ้นทั้งนั้น

     ดังนั้น ก่อนที่จะเรียนรู้การนำเทคนิคปฏิบัติมาใช้ ผมแนะนำให้คุณเลือกเป้าหมายชีวิตของคุณเสียใหม่ เอาการมุ่งสู่ความหลุดพ้นจากกรงความคิดของตัวเองเป็นเป้าหมายหลักของชีวิต ส่วนเหตุการณ์เล็กๆในชีวิตเช่นการจะสอบผ่านวอร์ดศัลยกรรมหรือการจะเรียนจบแพทย์ได้ปริญญา การจะได้เป็นหมอใหญ่ เป็นหมอรวย เป็นเป้าหมายรองๆลงไป ให้คุณใช้ชีวิตโดยโฟกัสที่เป้าหมายหลัก ส่วนการเรียนการทำงานนั้นให้มันเป็นเพียงเครื่องมือที่จะทำให้คุณบรรลุเป้าหมายหลักเท่านั้น อย่าไปโฟกัสตรงนั้น เป้าหมายรองจะได้บ้างไม่ได้บ้าง หรือได้ช้าไปบ้างเร็วบ้าง ก็ไม่เป็นไร เพราะมันไม่ใช่โฟกัสของเรา

     การวางความคิดต้องใช้เครื่องมือ

     ดังได้กล่าวมาแล้วว่าสำนึกว่าเป็นบุคคลซึ่งเป็นแว่นสีที่เราใส่อยู่นี้แท้จริงแล้วเป็นแค่คอนเซ็พท์หรือเป็นแค่ความคิด ดังนั้นการจะถอดแว่นสีก็ต้องวางความคิด หรือที่คุณใช้คำว่า “ปล่อยวาง” นั่นแหละ แต่คุณก็บอกแล้วว่าคุณรู้ว่าคุณต้องปล่อยวางแต่คุณทำไม่ได้ นั่นเป็นเพราะคุณทำไม่เป็น แม้จะมีเครื่องมือให้แต่ก็ทำไม่ได้เพราะใช้เครื่องมือไม่เป็น เปรียบเหมือนคุณขึ้นเวรที่วอร์ดวันแรกในชีวิตของการเรียนคลินิก พวกหมอรุ่นพี่ไปเข้าห้องน้ำหมด แล้วมีคนไข้หัวใจหยุดเต้น เครื่องช็อกไฟฟ้าก็อยู่ตรงนั้น ญาติคนไข้ก็บอกว่าหมอ ช็อกไฟฟ้าให้เขาสิ แต่คุณทำไม่ได้เพราะคุณใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าไม่เป็น ฉันใดก็ฉันเพล คุณรู้ว่าต้องปล่อยวาง ปล่อยวาง ปล่อยวาง แต่คุณทำไม่ได้ เพราะคุณวางความคิดไม่เป็น ทั้งๆที่คุณเกิดมาธรรมชาติก็ให้เครื่องมือวางความคิดแก่คุณมาหมดแล้ว ดังนั้นวันนี้ผมจะสอนให้คุณใช้เครื่องมือในการวางความคิดที่คุณมีอยู่แล้วทีละชิ้นนะ คุณฟังแล้วหยิบเครื่องมือมาลองใช้ดู

 เครื่องมือที่ 1. ความสนใจ (attention)    

     ดังได้กล่าวมาแล้วว่าเรานี้ไม่ใช่ความคิด แต่เป็นความรู้ตัว เรามีแขนขวาที่ทำให้เราใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพนั่นก็คือเรามีความสนใจ หรือ attention เมื่อเราสนใจอะไร สิ่งนั้นจะมีความสำคัญขึ้นมาทันที ถ้าเราไม่สนใจอะไร สิ่งนั้นก็ไม่มีอยู่ในชีวิตของเรา เพราะชีวิตของเรานี้นิยามด้วยความสนใจของเราเท่านั้น ความสนใจของเรานี้มันมีธรรมชาติเหมือนลูกธนูคือชอบวิ่งปรู๊ดออกไปจดจ่อคลุกคลีอยู่กับเป้าที่ข้างนอก อู่จอดที่แท้จริงของมันคือเราหรือความรู้ตัวนี่เอง แต่มันไม่เคยจอดอยู่ในอู่ มีแต่จะไปเพลินคลอเคลียอยู่กับเป้าที่ข้างนอก เป้าที่มันไปคลุกอยู่ประจำก็คือความคิด มันไปคลุกอยู่ที่นั่นเสียจนเราเผลอเหมารวมเอาว่าความคิดคือเรา

      เทคนิคการใช้เครื่องมือชิ้นนี้ก็คือการฝึกถอยความสนใจออกมาเสียจากความคิด ถ้าจะให้ง่ายก็เอามันไปจ่อที่อะไรก็ตามที่ไม่ใช่ความคิด เช่นจ่ออยู่กับการหายใจเข้าหายใจออก เป็นต้น ในอนาคตถ้าใช้เครื่องมือนี้เก่งก็ถอยมันกลับเข้าอู่ซะเลย คือถอยไปจอดอยู่ในความรู้ตัว

     เอ้า ทฤษฏีแรกจบแล้ว คราวนี้ให้คุณลงมือปฏิบัติ เดี๋ยวนี้เลย หยุดอ่านก่อน ไม่ต้องหลับตาก็ได้ แต่ให้หันไปสนใจการหายใจของคุณ คุณกำลังหายใจเข้า กำลังหายใจออก เข้า ออก เข้า ออก คราวนี้ผมตบพื้นพลั้วะ แล้วถามคุณว่าตอนที่มีเสียงดังพลั้วะคุณกำลังหายใจเข้าหรือกำลังหายใจออก ตอบไม่ได้ใช่ไหม แสดงว่าคุณไม่ได้สนใจการหายใจของคุณจริง ความสนใจของคุณยังอยู่ที่ความคิด เอาใหม่ สนใจการหายใจของคุณ คุณกำลังหายใจเข้า กำลังหายใจออก เข้า ออก เข้า ออก โอเค. ดีมาก

เครื่องมือที่ 2. การผ่อนคลายร่างกาย (relaxation)   
   
     ความคิดนี่มันมีธรรมชาติว่ามีสองขานะ ขาหนึ่งปรากฎเป็นเนื้อหาสาระของความคิดในหัว อีกขาหนึ่งปรากฎเป็นอาการบนร่างกาย เพื่อให้คุณเข้าใจง่าย สมมุติว่าคุณถูกแย่งแฟนไปซึ่งๆหน้า คุณโกรธ ความโกรธก็เป็นความคิดอย่างหนึ่งนะ เนื้อหาสาระของความโกรธมีอยู่ว่าฉันจะยอมให้นังนั่นซึ่งมีศักดิ์ชั้นและความสวยต่ำกว่าฉันชนิดเทียบไม่ได้มาแย่งแฟนฉันไปได้ไง แต่ขณะการปรากฎตัวอีกขาหนึ่งของมันปรากฎขึ้นที่ร่างกาย หัวใจคุณเต้นเร็วขึ้น คุณหายใจเร็วฟืดฟาด รู้สึกว่ามีลมร้อนผ่าว ผ่าว ผ่าว วิ่งขึ้นไปบนใบหน้า นี่เป็นตัวอย่าง ความคิดทุกความคิดปรากฎเป็นอาการบนร่างกายมากน้อยต่างกัน ความคิดลบ หมายความว่าความคิดที่ข่มขู่คุกคามสำนึกว่าเป็นบุคคลของคุณ จะปรากฎเป็นอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ

     แล้วสองขาของความคิดนี้ คุณกำราบที่ขาหนึ่ง อีกขาหนึ่งก็สงบลงด้วย สมมุติกรณีที่ 1. เรื่องปรากฎภายหลังว่านังนั่นแท้จริงแล้วเป็นน้องสาวแท้ๆของแฟนของคุณเอา เธอไม่ได้มาแย่งแฟนคุณหรอก เธอแวะมารับพี่ของเธอเฉยๆ ขาที่เป็นเนื้อหาสาระของความคิดเปลี่ยนไปละ เป็น อ้อ..อ แล้วความโกรธก็สงบลง หรือในอีกด้านหนี่ง

     สมมุติกรณีที่ 2. นังนั่นมาแย่งแฟนคุณจริงๆ และคุณกำลังโกรธ กล้ามหดเนื้อเกร็งไปทั่วตัว ถ้ากล้ามเนื้อหลอดเลือดหดตัวมากคุณก็หน้าเขียวเชียว แล้วคุณตัดสินใจใช้เทคนิคผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกช้าๆ ผ่อนคลายทั่วร่างกาย ตั้งแต่หัวจรดเท้า ทำซ้ำๆหลายครั้ง จนกล้ามเนื้อทั่วตัวผ่อนคลาย ความโกรธก็จะหายไปด้วยโดยอัตโนมัติ

     ทฤษฎีนี้จบละ เอ้า คราวนี้ปฏิบัติ คุณลงมือทำ ทำเดี๋ยวนี้เลย หยุดอ่านต่อก่อน คุณหายใจเข้าลึกๆ เต็มปอด กลั้นไว้นานๆ ยิ่งนานยิ่งดี แล้วค่อยๆผ่อนลมหายใจออกโดยเป่าออกทางปากเบาๆช้าๆ ขณะเดียวกันก็สนใจสั่งให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายไล่ไปตั้งแต่หน้าผาก หน้า คอ บ่า ไหล่ ลำตัว แขน ขา ผ่อนคลายหมด หายใจเข้าลึกๆอีก ทำซ้ำสักสามครั้ง เห็นแมะ ขณะที่คุณผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ไม่มีความคิด

เครื่องมือที่ 3. การลาดตระเวณร่างกาย (body scan)

     เมื่อตะกี้ตอนสั่งให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย คุณไล่ไปทีละส่วนของร่างกาย ตั้งแต่หน้าผาก ใบหน้า คอ บ่า ไหล่ ลำตัว แขนขา อาการที่คุณไล่ความสนใจไปบนร่างกายทีละส่วนนั้นเรียกว่าลาดตระเวณร่างกายหรือ body scan คราวนี้ผมจะให้คุณทำแบบเดิมอีก แต่ไม่โฟกัสในประเด็นผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ให้โฟกัสในประเด็นรับรู้ความรู้สึกบนผิวกาย ความรู้สึกบนผิวกายหมายความว่าอย่างไร เอางี้ คุณลุกไปเปิดพัดลมซิ อ้าว ไม่มีพัดลมหรือ (โธ่ ลุง หอพักนักศึกษาแพทย์เดี๋ยวนี้ติดแอร์หมดแล้ว) เองงี้ก็ได้ คุณลุกไปยืนจ่ออยู่ที่ลมแอร์ หลับตา สนใจผิวหนังของคุณ คุณรับรู้ลมแอร์เย็นๆมาปะทะหรือเขย่าขนบนผิวหนังของคุณไหม นั่นแหละ เป็นตัวอย่างของความรู้สึกบนผิวกาย มันมีหลายชนิดเช่น จิ๊ดๆ จ๊าดๆ วูบๆ วาบๆ เจ็บๆ คันๆ ร้อนๆ เย็นๆ ให้คุณรับรู้ให้หมด

     ถามว่าทำงี้ทำไมเนี่ย ทำแล้วจะเกิดมรรคผลอะไรขึ้นม้า..า ตอบว่านี่เป็นลูกเล่นที่จะทำให้ความสนใจของคุณรู้จักคุ้นเคยกับพลังงานของร่างกาย หรือพลังชีวิต ที่เรียกว่าปราณา หรือชี่ ในวิชาแพทย์ไม่มีหรอก พลังชีวิตเนี่ย แต่ให้คุณทดลองฝึกปฏิบัติให้เห็นจริงด้วยตัวเองก่อน แล้วค่อยสรุปว่ามันมีหรือไม่มีเอาจากประสบการณ์จริงของคุณเอง อย่าเพิ่งด่วนสรุปเป็นตุเป็นตะเชื่อหรือไม่เชื่อเพียงแค่ได้ยินขี้ปากคนอื่น เมื่อความสนใจคุ้นเคยกับพลังชีวิต จากจุดนั้นมันจะง่ายมากที่จะพาความสนใจกลับเข้าอู่ที่เรียกว่าความรู้ตัว เพราะมันอยู่ห่างออกไปแค่นิดเดียว

เครื่องมือที่ 4. สมาธิ (meditation)

     คราวนี้ผมขอเวลาคุณนาทีหนึ่ง นาทีเดียว วันละนาทีเดียว พร้อมนะ เอ้า นั่งให้หลังตรง นั่งท่าไหนก็ได้แต่ขอให้หลังตรงอย่าพิงพนัก ถ้านั่งขัดสมาธิเป็นก็ยิ่งจะเป็นสาวที่เท่ดี หลังตรง นั่นแหละ เงยหน้าขึ้นนิดหนึ่ง สักสิบองศา หรี่หรือหลับตาลง คุณหลับตาเงยหน้าอย่างนี้ มองผ่านหนังตาคุณออกไปคุณก็กะประมาณได้ว่าศูนย์กลางของท้องฟ้าเบื้องหน้าน่าจะอยู่กลางระหว่างหัวคิ้วของคุณพอดี ให้คุณสนใจที่ศูนย์กลางของท้องฟ้าข้างหน้านี้นะ สนใจเฉยๆ อย่าไปเพ่ง ขณะเดียวกันคุณก็รับรู้การหายใจเข้าออก เข้าออก สนใจความว่างที่ข้างหน้า รับรู้การหายใจเข้าออก ทำไป 12 รอบการหายใจ ก็คือหนึ่งนาทีถูกแมะ เพราะในวิชาสรีรวิทยาคนผู้ใหญ่ปกติหายใจนาทีละ 8-18 ครั้ง ดังนั้นนับไปทีละรอบ 1, 2, 3… ต้องสนใจความว่างตรงหน้าและรับรู้การหายใจเท่านั้นนะ ไม่สนใจความคิด ถ้าคุณเผลอไปสนใจความคิดต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ เอาให้ได้ 12 ลมหายใจต่อกัน โดยไม่เผลอไปสนใจความคิด ที่แหละคือการทำสมาธิ คุณทำอย่างนี้ทุกวัน วันละ 1 นาที

เครื่องมือที่ 5. การกระตุ้นตัวเอง (self motivation)

     คนเราที่จิตตกนั่นก็คือไปจมอยู่ในความคิดลบ แค่วางความคิดจิตก็หายตกแล้ว แต่นั่นแหละบางคนเผลอจนสิ้นชาติคือไม่มีโอกาสได้วางความคิดเลย จมอยู่ในความคิดตลอด คนอย่างนั้นต้องการเครื่องมือตัวนี้ เทคนิคนี้เป็นการปฏิบัติการในสนามความคิดสำหรับคนที่ยังวางความคิดไม่เป็น คือความคิดไล่ความคิด หรือคิดบวกไล่คิดลบ วิธีใช้เครื่องมือนี้มีสองส่วน ส่วนที่ 1. คุณต้องบอกตัวเองตอนตื่นนอนเช้าทุกวันว่าวันนี้ตื่นมาทำไม จะทำอะไรบ้าง ส่วนที่ 2. คุณต้องหัดกระตุ้นตัวเองให้มีพลังมุ่งมั่น ด้วยการหายใจเข้าลึกๆ เชิดหน้าขึ้น สะดุ้งตัวเองเล็กน้อย จริงจังเหมือนทหารเวลานายมาตรวจแถว แล้วผ่อนลมหายใจออกพร้อมทั้งผ่อนคลายร่างกาย รับรู้ความรู้สึกบนผิวกาย ซึ่งสื่อถึงพลังชีวิต รับรู้สถานะพลังชีวิตที่พร้อมลุยสำหรับเดี๋ยวนี้ วันนี้

     เอ้า คุณลงมือปฏิบัติ เดี๋ยวนี้เลย นั่งก็ได้ ยืดหน้าอกขึ้น ตัวตรง เชิดหน้าขึ้น หายใจเข้าลึกเต็มปอด กลั้นนิ่งไว้ สะดุ้งตัวเองแบบชักกระตุกนิดๆ ขึงขัง จริงจัง แต่ไม่เคร่งเครียด ค่อยๆผ่อนลมออก ผ่อนคลาย รับรู้พลังชีวิต ทำซ้ำสักสามครั้งพร้อมกับคิดทบทวนพันธกิจว่าวันนี้ตื่นมาทำไม เดี๋ยวนี้จะทำอะไร เอาแค่เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องคิดไปไกลกว่านั้น แล้วลงมือทำสิ่งนั้้นเลย

     ผมยังไม่ได้ตอบคำถามของคุณว่ากังวลแล้วจะทำไง กลัวแล้วจะทำไง แต่ให้คุณฝึกทักษะวางความคิดทั้งห้าอย่างนี้ก่อน ฝึกให้ได้หนึ่งเดือนถ้าคุณยังมีปัญหากับชีวิตให้เขียนมาหาผมอีกที ผมจะตอบให้ ผมรับเอาคุณเป็นเพื่อนและรับปากว่าจะช่วยเปิดให้คุณเห็นศักยภาพสูงสุดในตัวคุณแล้วนำมันออกมาใช้ให้ได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์