Latest

มีสมาธิ แล้วไงต่อ

สวัสดีค่ะอ.สันต์
ดิฉันเลื่อมใสวิธีการสอนของอาจารย์ผ่านตัวอักษรในบล็อคและการนำเสนอในวิดีโอต่างๆ ขอสมัครตัวเป็นศิษย์หน้าจอละกันนะคะ
คือดิฉันอายุ50กว่า ได้ฝึกชิวิตด้านจิตวิญญาณมาได้ปีกว่า อาศัยสื่อทางเนตนี่แหละค่ะ ไม่เคยไปเข้าคอร์สหรือนั่งสมาธิสำนักใดๆ ก่อนหน้านั้นก็ฟังธรรมะที่เข้าใจง่ายจากปรมาจารย์ที่เป็นฆราวาสเพราะคิดว่าเข้าถึงได้ดีกว่าพระสอนศาสนา ก็ประสบความสำเร็จในการลดกิเลสได้ระดับหนึ่งและลดอัตตาลงได้เยอะ ประกอบกับศึกษาจากบทความของอาจารย์ก็คิดไปเองว่าขึ้นมาอีกขั้นในการสัมผัสgraceหรือเปล่า
คือเรื่องมีอยู่ว่า ดิฉันได้มีโอกาสพบปะเพื่อนฝูงสมัยประถมที่ไม่ได้เจอกันนานมาก ทุกคนต่างอยากรู้ว่าดิฉันทำหน้าที่การงานอะไร ด้วยคาดหวังว่าไม่หมอก็วิศวะล่ะ เพราะตอนเรียนประถมดิฉันได้ที่หนึ่งมาตลอด แต่พอรู้ว่าดิฉันเป็นชาวเกาะ(เกาะสามีกิน)เท่านั้นแหละ ความกระหายใคร่รู้ในตัวดิฉันหมดไปเลย ดิฉันเลยต้องเสนอความน่าสนใจในการได้ผจญชีวิตในต่างแดน เพราะหน้าที่การงานของสามีให้พวกเขาฟังแทน แต่ก็ทำให้เสีย self ไปเหมือนกัน เลยมานั่งทบทวนว่าดิฉันทำอะไรอยู่ และสมกับศักยภาพที่ได้เกิดมาหรือไม่ ดิฉันจบป.โททางด้าน … แต่ไม่เคยได้ใช้คุณวุฒิในการประกอบอาชีพเลย พอแต่งงานมีลูก ก็ไม่ได้ทำงานที่มีรายได้อีกเลย สิ่งที่ช่วยสามีได้คือการ” ลดรายจ่าย ” ประหยัดใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น เสื้อผ้าหน้าผมไม่ต้องพูดถึงปล่อยไปตามธรรมชาติ ไม่มีเครื่องสำอางค์แม้แต่กระปุกเดียว คิดหาวิธีที่จะไม่ให้ป่วย ก็สามารถทำให้คนในครอบครัวไม่ต้องไปหาหมอ หรือกินยาแม้แต่เม็ดเดียว ปลูกผักทานเอง เก็บผักผลไม้ และเห็ดป่าแล้วแต่โอกาสจะอำนวย เป็นที่มาของการปีนป่ายเขา เดินป่า ทำให้สุขภาพแข็งแรง ไม่ดูทีวี อ่านข่าวแต่พอรู้ความเป็นไปของโลก ปลูกผักกินเอง ยามว่างก็ทำการฝึมือ เย็บปักถักร้อย ฝึกเล่นเปียโน กีตาร์ แต่ก็ยังคิดว่าเราน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ แทนที่จะมาเสิร์ฟแค่คนในครอบครัว และบางครั้งก็ผิดหวังกับสิ่งดีๆที่เรายื่นให้ด้วยความรักและหวังดี เพียงเพราะยังไม่มี”งานวิจัย”รองรับหรือคนส่วนใหญ่ไม่ทำกัน การดิวกับคนมีการศึกษาในครอบครัวนี่ช่างยากเย็นเสียนี่กระไรไม่เฉพาะกับสามีและลูกเท่านั้น ยังรวมถึงญาติพี่น้องด้วย แม้จะทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เช่นการเลิกเนื้อสัตว์ กินผักเยอะๆ แต่เขากลัวการขาดโปรตีนตามตำรา และยังคงติดในรสชาดเนิ้อสัคว์กันอยู่ อดคิดไม่ได้ว่า…เมื่อรู้ก็อาจจะสายไป..ซึงไม่อยากให้เกิดกับคนในครอบครัว แต่คงต้องแล้วแต่เวรกรรมล่ะค่ะ ดิฉันได้มาถึงระดับที่”รู้ตัว”นิดๆกับเขาหรือยังคะ สมาธิของดิฉันคือการได้จดจ่อกับการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเช่นการเล่นเปียโน สามารถเล่นได้ทั้งวัน แต่ถ้าจะให้นั่งเฉยๆ รับรู้ความเป็นไปของร่างกายยังยากอยู่ แต่ก็ยังพยายามฝึกอยู่ค่ะ แล้วก็ยังอยากไปช่วยเหลือผู้คนแต่ก็ยังไม่มีโอกาสด้วยพันธะในครอบครัว อาจารย์คิดว่าสิ่งที่ดิฉันทำ..ดีอยู่แล้ว หรือควรฝึกฝนอะไรเพิ่มเติม ให้สมกับศักยภาพที่มีบ้าง
อะไรและอย่างไรดีคะ

…………………………………………………..

ตอบครับ

     1. ไปงานเลี้ยงรุ่นแล้วรู้สึกเสียหน้าที่ไม่มีเรื่องเท่ๆไปเล่าให้เพื่อนๆฟัง นั่นแหละคือ “ตัวตน” หรือ “สำนึกว่าเป็นบุคคล” ซึ่งเป็นตัวบอกใบ้ว่าตราบใดที่มันยังมีอยู่ในหัวของคุณตราบนั้นคุณก็ยังไม่รู้ตัว ยังไม่หลุดพ้น เพราะความรู้ตัวหมายความว่าการตื่นอยู่ ณ ขณะนี้โดยไม่ได้ไปอยู่ในความคิด แต่การที่เรายังมีตัวตน แสดงว่าเรากำลังอยู่ในความคิด

     2. การมีสมาธิขณะเล่นเปียโนเป็นการเริ่มต้นที่ดี อย่างน้อยก็ทำให้อยู่นอกอิทธิพลของความคิดได้ชั่วขณะ เว้นเสียแต่ถ้าคุณจะเล่นเปียโนไปหงุดหงิดที่เล่นไม่ได้ตามสะเป๊คที่ตัวเองคาดหวังไป อย่างนั้นเป็นการเล่นเปียโนแบบอยู่ในความคิด ซึ่งผมมั่นใจว่าคุณไม่ได้เล่นแบบนั้น

     3. การเล่นเปียโนแล้วปลอดความคิด เป็นการวางความคิดด้วยวิธี “จดจ่อ” กับสิ่งอื่น หรือพูดง่ายๆว่าวางความคิดด้วยการทำสมาธิ เพราะสมาธิก็คือการจดจ่อ (จดจ่อนะ ไม่ใช่เพ่ง ผมมั่นใจว่าคุณไม่สับสน) คุณมาถึงจุดที่ไม่ต้องเพ่ง สมาธิก็เกิดขึ้น แต่สมาธิเป็นเพียงกลางทางที่จะไปสู่ขั้นต่อไป ขั้นต่อไปคือการหลุดพ้นจากอิทธิพลความคิดอย่างแท้จริงและสิ้นเชิงโดยไม่ต้องไปจดจ่อกับอะไร ซึ่งคุณจะต้องเริ่มด้วยการปล่อยจิตไปไม่ควบคุม พูดง่ายๆว่าเลิกจดจ่อ แบบที่ทางพุทธเถรวาทเรียกว่า “วิโมจย์” นั่นแหละ คำนี้ตรงกับภาษาอังกฤษว่า liberating the mind แปลว่าปล่อยจิตไปไม่ควบคุม

     “ไม่ควบคุมก็มีความคิดเข้ามาสิ”

      ใช่แล้ว จะมีความคิดเข้ามา แต่มาตอนนี้เราได้เด้งเชือกออกมาเป็นผู้สังเกตอยู่ข้างนอกความคิดเรียบร้อยแล้ว การสังเกตความคิด ปล่อยให้มันผ่านเข้ามา แล้วปล่อยให้มันผ่านออกไป โดยไม่ไปคิดต่อยอด เป็นขั้นตอน “จำเป็น” ที่คุณจะต้องฝึกทำให้ได้ หลังจากการฝึกมีสมาธิที่คุณทำมาได้ดีระดับหนึ่งแล้ว 

      “แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าความคิดจะไม่พาเราเตลิดไปอย่างที่มันเคยทำกับเรามาแล้ว”

     มีสองเทคนิค

     เทคนิคที่หนึ่ง ก็คืออาศัยความจริงที่ว่าความคิดนี้มีสองหัว หัวหนึ่งปรากฎเป็นเนื้อหาสาระของความคิด อีกหัวหนึ่งปรากฎเป็นอาการทางร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อของร่างกาย ดังนั้นถ้าคุณคอยสังเกตการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อและคอยผ่อนคลายกล้ามเนื้อร่างกาย คุณก็จะ “ทอน” กำลังของความคิดไม่ให้แข็งแรงจนพาคุณเตลิดได้

     เทคนิคที่สอง คือใช้แขนอันทรงพลังที่สุดของคุณ คุณในฐานะที่เป็นความรู้ตัวนะ แขนนั้นก็คือความสนใจ (attention) ของคุณเอง เรียกอีกอย่างว่าสตินั่นแหละ ความคิดจะมีพลังพาคุณเตลิดได้ก็ต่อเมื่อมันเอาความสนใจของคุณไปกกกอดไว้ได้สำเร็จ เทคนิคที่สองนี้คุณต้องดึงความสนใจของคุณออกมาจากความคิด แล้วหาที่จอดให้ความสนใจนี้เสีย อู่ของมันจริงๆคือความรู้ตัว แต่มันไม่ยอมเข้าอู่ง่ายๆหรอก คุณควรหาที่จอดหรือที่ทอดสมอให้มัน ซึ่งที่จอดที่ผมแนะนำก็คือให้คุณเอาความสนใจมาไว้ที่ความรู้สึกบนผิวกาย ที่เรียกว่าทำ body scan นั่นแหละ ความรู้สึกบนผิวกายแบบว่าวูบๆวาบๆซู่ๆซ่าๆยุบๆยิบๆบนผิวหนังนั้นมันเกิดขึ้นจากพลังชีวิต (life energy) ภาษาแขกเรียกว่า “ปราณา” ภาษาจีนเรียกว่า “ชี่” เมื่อคุณสนใจความรู้สึกบนผิวกาย เท่ากับคุณเอาความสนใจไปจอดไว้ที่พลังชีวิตของคุณซึ่งเป็นตัวกระตุ้นอายตนะทำให้เกิดความรู้สึกบนผิวกาย มันเป็นที่จอดที่ใกล้กับความรู้ตัวมาก คุณดึงความสนใจคุณไว้กับพลังชีวิตของคุณเป็นพักๆ ซ้ำๆซากๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า ความคิดก็จะไม่มีกำลังที่จะพาคุณเตลิดไปไหนไกล เพราะเมื่อมันเอาความสนใจไปกกไว้ไม่ได้ มันก็ไม่มีตัวให้พลัง ความคิดก็หมดอำนาจดึงดูดคุณ

      ทั้งสองเทคนิคนี้ต้องใช้ควบคู่กันไปในการปล่อยจิตไปไม่ควบคุม คือสังเกตความคิด แล้วก็กลับมาเช็คดูการผ่อนคลายของร่างกาย และดูความรู้สึกบนผิวกาย แล้วก็กลับไปแอบสังเกตว่ามีความคิดมาหรือไม่ สลับไปสลับมาอย่างนี้ทั้งวัน ให้ความคิดมันถูกทอนให้น้อยลงๆๆ จนคุณอยู่กับเดี๋ยวนี้ได้โดยไม่ต้องจดจ่อสมาธิกับอะไร แต่ก็ไม่มีความคิด 

      ควบคู่กับสองเทคนิคนั้น ผมแนะนำให้คุณเพิ่มความเข้มข้นของการฝึกสมาธิขึ้นไปอีกจากสมาธิที่คุณมีอยู่บ้างแล้วในปัจจุบัน ด้วยการนั่งสมาธิหรือทำ meditation คนอื่นอาจแนะนำคุณว่าสมาธิระดับลึกเป็นสิ่งไม่จำเป็น แต่ผมแนะนำว่าสำหร้บคนอื่นที่ตัวตนบอบบางยอมรับยอมแพ้อะไรได้ง่ายๆทุกอย่างโดยไม่ต้องมีเหตุผลหรือข้อแม้ สมาธิอาจจะไม่จำเป็น แค่ยอมรับ ยอมแพ้ ยอมหมด ไม่เอาอะไรเลย ก็หลุดพ้นได้ แต่สำหรับคนที่ตัวตนหนาปึกอย่างคุณสมาธิเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวด คุณควรฝึกสมาธิระดับลึกขึ้นไปจนถึงระดับที่ลึกละเอียดและนิ่งพอ นิ่งจนไม่มีอะไรอย่างอื่นเหลืออยู่ในความรับรู้เลยนอกจากความรู้ตัว สมาธิระดับนี้จะเปิดช่องให้เกิดปัญญาญาณ (intuition) ซึ่งเป็นสิ่งที่จะไม่เกิดในขณะที่คุณมีความคิด ปัญญาญาณนี้จะเป็นผู้ช่วยสาธิตสอนแสดงให้คุณเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามที่มันเป็น (see it as it is) จนถึงจุดที่คุณเกิดความจางคลาย (fading away) จากความยึดมั่นในสำนึกว่าเป็นบุคคลของคุณได้เอง แล้วคุณก็จะถึงบางอ้อกับทุกเรื่องของชีวิต โดยไม่ต้องถามอะไรใครอีกต่อไป

     4. ถามว่าอยากทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น และต่อโลก จะต้องทำอย่างไร ตอบว่าเมื่อคุณหมดคำถามกับชีวิตแล้ว รู้ตัวแล้ว หลุดพ้นจากสำนึกว่าเป็นบุคคลแล้ว ทิศทางของชีวิตคุณมันจะเป็นชีวิตที่สร้างสรรค์ได้เต็มศักยภาพที่คุณมี และจะมีประโยชน์ต่อโลกต่อชีวิตอื่นโดยอัตโนมัตินับตั้งแต่คนที่อยู่ใกล้ชิดติดตัวคุณเป็นต้นไป โดยที่คุณไม่ต้องไปพยายามหางานจิตอาสาอะไรอย่างอื่นทำเลยด้วยซ้ำ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์