Latest

หัวใจห้องบนเต้นรัวแบบ AF ความเสี่ยงของการจี้ไฟฟ้า (ablation) มีมากไหม

คุณหมอสันต์ครับ
ผมเป็นหัวใจห้องบนเต้นรัวแบบ AF ทุกวันนี้กินยากันเลือดแข็ง (Pradaxa) หมอที่รพ. …. แนะนำให้ไปทำการจี้ไฟฟ้าแบบ ablation ที่รพ. …. แต่คุณหมอเองก็บอกผมไม่ได้ว่ามันมีโอกาสสำเร็จกี่เปอร์เซ็นต์ มีโอกาสเสี่ยงตายกี่เปอร์เซ็นต์ ผมรบกวนปรึกษาคุณหมอส้นต์ด้วยครับ ว่าผมควรทำหรือเปล่า
ขอบพระคุณครับ

……………………………………….

ตอบครับ

     1. ถามว่าการรักษาหัวใจห้องบนเต้นรัวแบบ atrial fibrillation – AF ด้วยการจี้ไฟฟ้า (ablation) มีอัตราสำเร็จกี่เปอร์เซ็นต์ ตอบว่าหากตามไปดูกันที่ 3 ปี พบว่ามีอัตรารักษาได้หายประมาณ 50-70% ครับ

     2. ถามว่าการจี้ด้วยไฟฟ้ามีความปลอดภัยแค่ไหน ตอบว่าหากดูตัวเลขงานวิจัยชุดแรกที่ทำกันเฉพาะในศูนย์หัวใจขนาดใหญ่ในสหรัฐพบว่าการทำ ablation มีอัตราตายในสามสิบวันแค่ 1 ใน 2,000 (0.05%) ซึ่งต้องถือว่ามีความปลอดภัยค่อนข้างโอเค.

     แต่เมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง ได้มีการตีพิมพ์ผลการทำ ablation รักษาหัวใจห้องบนเต้นรัวแบบ AF ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาในวารสาร JACC ซึ่งมีผู้ป่วยเข้าทำการรักษา 60,203 คน พบว่าอัตราตายในสามสิบวันหลังทำสูงถึง 0.46% หรือประมาณ 1 ใน 200 นั่นเทียว ดังนั้นสถิติอันใหม่นี้ซึ่งเป็นสถิติในสนามชีวิตจริง คือในทุกรพ.ทั่วประเทศ อัตราตายของการรักษา AF ด้วยวิธี Ablation ก็ถือว่าสูงไม่เบานะ เล่นเอาผู้ป่วยที่จะเข้าทำการรักษาแบบนี้ต้องคิดหลายตลบ

     3. ถามว่าอายุ 70 ปี เป็น AF ชนิดเป็นๆหายๆ ทุกวันนี้ก็สุขสบายดีโดยกินยากันเลือดแข็ง ควรจะเข้ารับการรักษาด้วยวิธี ablation ไหม ตอบว่า หิ หิ ผมให้ข้อมูลทั้งความเสี่ยง (ตาย 1 ใน 200) และประโยชน์ (หายนานถึงสามปี 50-70%) แล้วก็ถือว่าหมดหน้าที่ผมแล้วครับ ที่เหลือคุณต้องเอาข้อมูลที่ผมให้ไปตัดสินใจเอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
 
1. Takigawa Masateru, Takahashi Atsushi, Kuwahara Taishi, Okubo Kenji, Takahashi Yoshihide, Watari Yuji, Takagi Katsumasa, Fujino Tadashi, Kimura Shigeki, Hikita Hiroyuki, Tomita Makoto, Hirao Kenzo, Isobe Mitsuaki. Long-term follow-up after catheter ablation of paroxysmal atrial fibrillation: the incidence of recurrence and progression of atrial fibrillation. Circ Arrhythm Electrophysiol. 2014 Apr;7 (2):267–73.
2. Miyazaki Shinsuke, Kuwahara Taishi, Kobori Atsushi, Takahashi Yoshihide, Takei Asumi, Sato Akira, Isobe Mitsuaki, Takahashi Atsushi. Long-term clinical outcome of extensive pulmonary vein isolation-based catheter ablation therapy in patients with paroxysmal and persistent atrial fibrillation. Heart. 2011 Apr;97 (8):668–73.
3. Brooks Anthony G, Stiles Martin K, Laborderie Julien, Lau Dennis H, Kuklik Pawel, Shipp Nicholas J, Hsu Li-Fern, Sanders Prashanthan. Outcomes of long-standing persistent atrial fibrillation ablation: a systematic review. Heart Rhythm. 2010 Jun;7 (6):835–46.
4. Edward P. Cheng, Christopher F. Liu, Ilhwan Yeo, Steven M. Markowitz, George Thomas, James E. Ip, Luke K. Kim, Bruce B. Lerman and Jim W. Cheung. Risk of Mortality Following Catheter Ablation of Atrial Fibrillation. Journal of the American College of Cardiology Volume 74, Issue 18, November 2019 DOI: 10.1016/j.jacc.2019.08.1036