Latest

ความมืดนั้น มันจะกลายเป็นมืดแบบเจิดจ้า ขณะที่ความเงียบนั้นจะยิ่งเงียบ

(ระยะหลังมานี้ ชอบมี “แขก” ที่แสวงหาความเงียบสงบมาเช่าที่เวลเนสวีแคร์นอนปลีกวิเวก บ้างก็มาเป็นกลุ่มเพื่อมาปฏิบัติธรรมด้วยกัน บ้างก็มาสองสามคนเพื่อมาอยู่เงียบๆนิ่งๆเฉยๆ บางครั้งผมแวะลงไปทำธุระที่นั่นก็มีโอกาสได้พูดคุยด้วยบ้าง บางเรื่องที่คุยกันอาจจะมีประโยชน์กับท่านผู้อ่านบล็อก)

แขก

     คุณหมอสันต์นับถือพุทธหรือเปล่าครับ เพราะในบทความที่เขียนบ่อยครั้งมากที่ไม่เป็นไปตามแนวคำสอนของพระพุทธเจ้า

นพ.สันต์

     ถ้าการนับถือหมายถึงการเลือกหยิบเอาบางส่วนมาใช้ ผมนับถือหลายศาสนาครับ อย่างน้อยก็ ฮินดู คริสต์ พุทธ และอิสลามนิกายซูฟี่ สรุปว่าผมหยิบเอาหลายศาสนามาใช้ คนสอนผมหลายคนอยู่นอกวงศาสนา คือเป็นชาวบ้านธรรมดาบ้าง เป็นคนทรงบ้าง เป็นหมอผี (shaman) บ้าง คือใครว่าอะไรดีผมเอามาลองหมด อะไรที่ตัวเองลองแล้วเวอร์คก็เก็บไว้ใช้ อะไรที่ไม่เวอร์คก็ทิ้งไป

     แต่ถ้าการนับถือหมายถึงการเข้าร่วมพิธีกรรมหรือการระบุไว้ในทะเบียนบ้าน ช่วงหนึ่งของชีวิตผมเติบโตมาในวัดพุทธ คือเป็นเด็กวัดอยู่หลายปี คือเป็นพุทธ 100% สวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็นทุกวัน อีกช่วงหนึ่งในโบสถ์คริสต์และเข้ารีตลงทะเบียนจุ่มน้ำรับศีลมหาสนิท คือเป็นคริสต์ 100% พอเป็นผู้ใหญ่ก็หันไปนับถือสายโยคี รับมันตราส่วนตัวมาจากกูรูซึ่งถ่ายทอดต่อๆกันมาเป็นสาย ต่อมาก็มีครูหลายคน ทั้งที่เป็นโยคีที่สอนคำสอนในภควัทคีตา และทั้งโยคีอิสระที่ปฏิเสธภควัทคีตา ดังนั้นแม้จะนับเอาแต่ส่วนที่เป็นพิธีกรรม ผมก็ยังเป็นคนหลายศาสนาอยู่ดี ดังนั้นนับผมว่าเป็นคนไม่มีศาสนาจะง่ายกว่า และข้อสำคัญคำพูดของผมจะอ้างว่าเอามาจากศาสนาใดๆนั้นไม่ได้เลย เพราะมันมั่วซั่วไปหมดเดี๋ยวจะไปทำให้ของจริงเขาเสีย

แขก

     คำว่าหลุดพ้นในที่นี้หมอสันต์หมายถึง

นพ.สันต์

     หลุดพ้นจากกรงจองจำที่ก่อขึ้นมาจาก “ความคิด” ของตัวเอง ความคิดที่ชงขึ้นมาเพื่อปกปักษ์รักษาสำนึกว่าเป็นบุคคลนี้ ด้วยเข้าใจผิดว่าสำนึกว่าเป็นบุคคลนี้เป็นของจริงที่จีรังยั่งยืน

แขก

     หมอสันต์พูดถึงความรู้ตัวบ่อยมาก จนเหมือนกับมันเป็นเป้าหมายของชีวิต ความรู้ตัวนี้มันเป็นอันเดียวกับนิพพานหรือเปล่า

หมอสันต์

     ต้องขอโทษด้วยนะ โดยความสัตย์จริง ผมไม่รู้จักคำว่านิพพานว่าแท้จริงแล้วเขานิยามกันว่าอย่างไร ผมจึงตอบคำถามนี้ให้คุณไม่ได้ แต่ถ้าถามผมว่าความรู้ตัวคืออะไร ผมตอบได้ เพราะผมรู้จักมันดี คือหากแบ่งง่ายๆชีวิตประกอบด้วยสองส่วนคือ

(1) ร่างกาย และ
(2) จิตใจ

     หากเอาจิตใจมาแบ่งต่อไปอีกอย่างหยาบๆก็แบ่งได้เป็นอีกสองส่วน คือ

     (2.1) ความคิด กับ

     (2.2) ความรู้ตัว

     พูดง่ายๆว่าความรู้ตัวก็คือใจของเราขณะที่ตื่นอยู่โดยไม่มีความคิด นี่เป็นการนิยามกันตามภาษาพูดนะ ความรู้ตัวของจริงไม่มีภาษาใดอธิบายได้ เพราะมันเป็นแค่คลื่นพลังงานจับต้องมองเห็นไม่ได้

แขก

     แล้วการเสาะหาแค่ความรู้ตัวนี้พอไหม ผมหมายถึงว่าชาติหน้าเราจะต้องกลับมาเกิดอีกไหม

นพ.สันต์

     ชาติหน้าหมายถึงอนาคตนะ อนาคตเป็นคอนเซ็พท์เรื่องเวลา ผมหมายถึงว่าอนาคตเป็นแค่ความคิด ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง ในการใช้ชีวิต สิ่งที่มีอยู่จริงคือเดี๋ยวนี้ ดังนั้นผมไม่สนใจชาติหน้า เพราะมันไม่ใช่เดี๋ยวนี้ซึ่งเป็นมิติที่เราใช้ชีวิตอยู่

แขก

     หมายความว่าหมอสันต์ไม่เชื่อเรื่องชาติหน้า

นพ.สันต์

     ไม่ “เชื่อ” และไม่ “ไม่เชื่อ”

     สังเกตให้ดีนะ คำหลังนี้มีคำว่าไม่อยู่สองที คืออะไรที่ผมไม่ได้มีประสบการณ์กับมันผมจัดเป็นสิ่งที่ผม “ไม่รู้” สิ่งที่ผมไม่รู้ ผมจะไม่รีบทึกทักว่าจะเชื่อ หรือจะไม่เชื่อมันดี ผมก็แค่จัดเป็นสิ่งที่ผมยังไม่รู้ คือเปิดกว้างไว้ว่าวันหนึ่งผมอาจจะมีประสบการณ์จริงกับมันแล้วผมก็จะได้ “รู้” มัน ซึ่งถึงตอนนั้นเชื่อหรือไม่เชื่อก็คงไม่มีความหมายแล้ว เพราะคุณรู้แล้ว อย่างเช่นคุณรู้แล้วว่าไฟมันร้อน คุณไม่ถามดอกว่าคุณเชื่อไหมว่าไฟมันร้อน เพราะคุณรู้แล้วจะไปถามว่าเชื่อหรือไม่เชื่ออีกทำไมถูกไหม

แขก

     ไม่พูดถึงชาติหน้า แล้วจัดการกับความกลัวตายอย่างไร

นพ.สันต์

     ความกลัวเป็นความคิดที่ยอมรับคอนเซ็พท์เรื่องเวลานะ ความกลัวก็คือการคิดคาดการณ์หรือจินตนาการว่าประสบการณ์ไม่ดีที่เราได้เคยรับรู้มาในอดีต (จากคำบอกเล่าหรืออะไรก็ตาม) จะเกิดขึ้นกับเราในอนาคต แต่ผมรู้ว่าคอนเซ็พท์เรื่องเวลาไม่ใช่ของจริง มันเป็นเพียงความคิด สำหรับผมอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง แต่ความกลัวเป็นความคิดที่มีอยู่จริงเพราะมันเกิดที่เดี๋ยวนี้ เท่ากับว่าคนกลัวต้องทุกข์กับความกลัวแบบทุกข์ฟรี

แขก

     แล้วถ้าเกิดตาย หรือกำลังจะตายขึ้นมาละ

นพ.สันต์

     ความตายถ้ามันจะมาถึง มันจะมาถึงที่เดี๋ยวนี้ ถ้าผมปักหลักพร้อมอยู่ที่เดี๋ยวนี้ ผมก็รับมือกับสิ่งที่มาถึง ณ เดี๋ยวนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นอะไร รับมือไปทีละช็อต ทีละช็อต ในลักษณะยอมรับทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาตามที่มันเป็น โดยไม่เอาความคิดไปใส่สีตีไข่ ตอนนี้ความตายยังไม่มา ผมยังหายใจอุ่นๆอยู่เลย สิ่งที่ผมพึงทำก็คือผมจะใช้ชีวิตที่ยังตัวเป็นๆอุ่นๆอยู่ในวันนี้อย่างไร ไม่ใช่ไปนั่งเทียนคิดถึงความตายในอนาคตซึ่งไม่มีอยู่จริง ย้ำอีกทีนะ ความตายในอนาคตไม่มี ถ้าคนเราจะตายเราจะตายที่เดี๋ยวนี้ ถ้าเดี๋ยวนี้คุณยังไม่ตาย ความตายก็ไม่มี ถ้าคุณวางความคิดจินตนาการถึงสิ่งที่ยังไม่มีไปเสียให้เกลี้ยง ความกลัวก็ไม่มีที่อยู่

แขก

     แต่คนเราต้องเตรียมพร้อมตั้งอยู่ในความไม่ประมาทไม่ใช่หรือ

นพ.สันต์

     แหม..พูดถูกเส้น ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทแปลว่าอย่าไปอยู่ในความคิดไม่ใช่หรือ ให้อยู่กับสติหรือความรู้ตัวที่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่หรือ ถ้าคุณจะไม่ประมาทกับความตาย คุณก็อยู่กับความรู้ตัวที่เดี๋ยวนี้สิ อย่าไปอยู่ในความคิดกลัวตายในอนาคต อยู่กับความรู้ตัวที่เดี๋ยวนี้เพราะความตายอาจจะมาในวินาทีถัดไปข้างหน้านี้ก็ได้ คุณมีสติอยู่กับเดี๋ยวนี้เมื่อมันมาคุณจะได้เลือกสนองตอบได้แบบเท่ๆ สุขุมๆ ไม่ใช่มัวแต่หลงไปอยู่ในความคิด พอมีอะไรโผล่มาที่เดี๋ยวนี้ก็เผลอตัวสะดุ้งโหยงกระต๊ากสติแตกปล่อยให้วงจรย้ำคิดดึงเอาความสนใจกระเจิดกระเจิงไปในความคิดลบๆงี่ๆเง่าๆเดิมๆโดยตัวเองไม่ทันได้ตั้งหลักเลือกเลยว่าจะสนองตอบต่อสถานะการณ์สำคัญนี้อย่างไร

แขก

     ถึงอย่างไรการเข้าถึงความรู้ตัวตามแบบของหมอสันต์ก็ไม่ได้พาให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

นพ.สันต์

     ชาติหน้ามาอีกละ ชอบจังนะความคิดเรื่องอดีตอนาคตเนี่ย เอาเป็นว่าถ้าจะคุยกับหมอสันต์คุยได้แต่เรื่องเดี๋ยวนี้ ไม่รับคุยเรื่องอดีตและอนาคต

แขก

     ความรู้ตัวของคุณหมอสันต์นี่มันเป็นอันเดียวกับ “สติ” หรือเปล่า

นพ.สันต์

     คำว่า “สติ” นี้ผมไม่ค่อยถนัด ผมขอใช้คำว่า “ความสนใจ” หรือ attention แทนนะ

     ส่วนคำว่า “ความรู้ตัว” ผมใช้ตรงกับคำอังกฤษว่า awareness  ทั้งสองคำคือสติกับความรู้ตัวนี้เป็นของสิ่งเดียวกันแต่มองจากคนละมุม เปรียบเสมือนว่าความสนใจเป็นแขนของความรู้ตัว คือบ่อใหญ่ของพลังงานที่แท้จริงคือความรู้ตัว แต่ความสนใจจะดูดเอาพลังงานจากบ่อใหญ่นี้ไปหล่อเลี้ยงอะไรก็ตามที่มันไปสนใจอยู่ เช่นหากความสนใจไปอยู่ในความคิด ความคิดนั้นก็จะใหญ่ขึ้นมา ใหญ่เสียจนเราคิดว่าในใจเรามีแต่ความคิดไม่มีความรู้ตัวอยู่เลย แต่แท้จริงแล้วความรู้ตัวเป็นพลังงานเบื้องหลังที่หล่อเลี้ยงความคิดทุกความคิดอยู่ หากถอยความสนใจออกมาจากความคิดนั้นเสีย ความคิดนั้นก็จะฝ่อหายไปทันที หรือเปรียบอีกอย่างหนึ่ง ความรู้ตัวเป็นเหมือนช่องว่างอันกว้างใหญ่ที่เป็นพื้นที่ให้ความคิดต่างๆเกิดขึ้นได้ในช่องว่างนั้น เปรียบเหมือนห้องนี้เป็นที่ว่างให้โต๊ะตั่งม้านั่งตั้งอยู่ในนี้ได้

แขก

     การฝึกอยู่กับความรู้ตัว ก็คือการคอยดึงสติออกมาจากความคิดมาอยู่กับความรู้ตัวในชีวิตประจำวันตลอดเวลา มีอะไรที่ซับซ้อนกว่านี้อีกไหม

นพ.สันต์

     ไม่มีแล้ว ถ้าทำได้ แค่นั่นก็พอแล้ว เรียกว่าบรรลุความหลุดพ้นแล้ว 100% คือความคิดหมดโอกาสที่จะเกิดได้โดยปราศจากการรับรู้ของความสนใจหรือสติ นั่นแหละคุณหลุดพ้นแล้ว แค่นั้นพอแล้ว

     แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็คงต้องมาตั้งต้นด้วยการฝึกสมาธิแบบนั่งหลับตา หรือ meditation ฝึกเข้าถึงความรู้ตัวขณะทำ meditation จนช่ำชองแล้วค่อยๆผ่องถ่ายไปใช้ในชีวิตจริง

     ที่ผมเรียกว่าเข้าถึงความรู้ตัวนี่มันมีอะไรที่ลึกซึ้งอยู่เหมือนกันนะ คือเมื่อนั่งหลับตา วางความคิด อยู่กับความรู้ตัว  เห็นแต่อะไรมืดๆ เงียบๆ นิ่งๆ อยู่ แต่หากสนใจจดจ่อลึกลงไปในความมืดนั้น มันจะกลายเป็นมืดแบบเจิดจ้า คือมืดแบบมีชีวิตชีวาขึ้นมา ขณะที่ความเงียบนั้นจะยิ่งเงียบ และความนิ่งนั้นจะยิ่งนิ่ง ใหม่ๆมันก็จะแยกเป็นสองข้าง คือคุณในฐานะเป็นผู้สังเกต กำลังนั่งดูความมืดเงียบนิ่งนั้น นี่คุณเป็นผู้ดู นั่นความมืดเป็นผู้ถูกดู แยกกันชัดเจน แต่ต่อไปมันจะกลายเป็นว่าคุณเองค่อยๆ “จุ่ม” ลงไปอยู่ในความมืดเงียบนิ่งนั้น คุณค่อยๆกลายเป็นความมืดเงียบนิ่งนั้นไปทีละน้อยๆอย่างไม่รู้ตัว จนถึงจุดหนึ่ง คุณกลายเป็นความมืดเงียบนิ่งนั้นไปเสียแล้ว 100% ทุกอย่างหยุดนิ่ง เหลือแต่ความตื่นและความสามารถรับรู้โด่เด่อยู่เป็นหนึ่งเดียวกับความมืดเงียบนิ่ง ลึกยิ่งไปกว่านี้ก็จะเป็นประสบการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นขณะรู้ตัวและส่วนใหญ่เป็นประสบการณ์ที่มีประโยชน์ แต่อย่างน้อยตรงนี้มันสบายๆสงบเย็นไม่เคร่งเครียด เพราะไม่มีความคิดเข้ามารบกวน ไม่มีอะไรนอกจากนี้ คือมีแต่ความตื่น สามารถรับรู้ สงบเย็น มีแค่นี้แหละ ตอนเรานั่งสมาธิมันก็อยู่ตรงนี้ได้นานหน่อย พอออกมาใช้ชีวิตประจำวันมันก็ผลุบๆโผล่ๆ คือในชีวิตประจำวันเราฝึกปักหลักอยู่ที่ความรู้ตัว (เป็นฉันตัวใน) แล้วก็โผล่ออกมาใช้ความคิดเป็นบุคคลคนหนึ่ง (เป็นฉันตัวนอก) เมื่อจำเป็น ผลุบๆโผล่ๆ ฝึกอยู่อย่างนี้จนเราอยู่เป็นฉันตัวในได้เสียสัก 90% เป็นฉันตัวนอกแค่ 10% แค่นี้ชีวิตก็จะสงบเย็นแล้ว และนานไปมันก็จะขยับไปเป็นฉันตัวใน 100% เอง

แขก

     แล้วเราต้องทำงานอย่างไรจึงจะมีความสุข

นพ.สันต์

     เราต้องทำชีวิตเราให้สงบเย็นก่อน จึงจะออกไปใช้ชีวิตออกไปทำการงาน อย่าไปใช้ชีวิตทำการงานเพื่อเสาะแสวงหาความสุขสงบเย็น เพราะนั่นเป็นการหาผิดที่ ความสุขสงบเย็นมันเป็นคุณสมบัติตามธรรมชาติของความรู้ตัวซึ่งมันอยู่ข้างใน ไม่ใช่ข้างนอก เมื่อเราสุขสงบเย็นแล้ว เราค่อยออกไปทำงานออกไปใช้ชีวิต การทำงานจึงจะเป็นการทำเพื่อโลกหรือเพื่อคนอื่น เพราะไม่มีความจำเป็นต้องทำเพื่อฉันตัวนอกอีกต่อไปแล้ว เพราะตอนนี้ฉันย้ายมาเป็นฉันตัวในแล้ว สงบเย็นดีแล้ว สุขดีแล้ว เลิกอาลัยอาวรณ์กับฉันตัวนอกแล้ว ไม่ต้องไปหาอะไรมาเพิ่มให้กับฉันตัวนอกอีกแล้ว

แขก

     หมอสันต์ให้ความสำคัญกับ meditation แต่คนจำนวนมากทำ meditation แล้วก็พบว่ามันเครียดที่ต้องคอยบังคับวิ่งไล่จับความคิดตัวเอง จนต้องเลิกราไป มีคำแนะนำอะไรตรงนี้ไหม

หมอสันต์

     meditation ก็คือการโต๋เต๋คนเดียวในธรรมชาติที่เงียบสงบ เริ่มต้นด้วยการนั่งลงในท่ามกลางธรรมชาติแล้วก็ปล่อยทุกอย่างไปตามสบาย เริ่มด้วยการเอาความสนใจไปจดจ่อที่ร่างกายส่วนไหนก็ได้ที่ไม่ใช่ศรีษะหรือหัว เพราะถ้าอยู่ที่หัวมันมีแนวโน้มจะคิด เอาความสนใจไปจ่อไว้ที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ท้อง หน้าอก หรือทุกรูขุมขนก็ได้ เอาที่คุณถนัด แล้ว “รู้สึก” ถึงความรู้สึกบนร่างกาย ซึ่งร่างกายนี้มันมีธรรมชาติสามารถรับรู้ (sense) พลังงานของชีวิตที่ขับเคลื่อนให้อวัยวะร่างกายทำงาน จะเป็นความรู้สึกซู่ๆซ่าๆ วูบๆวาบๆ จิ๊ดๆจ๊าดๆ เหน็บๆ ชาๆ เจ็บๆ คันๆ หรือปวดๆ เกร็งๆ หรือผ่อนๆ คลายๆ ก็ได้ทั้งนั้น ทั้งหมดนี้สื่อถือพลังงานชีวิต พลังงานชีวิตนี้คอยขับเคลื่อนร่างกาย มันเปิดรับแลกเปลี่ยนกับพลังงานที่เป็นพื้นฐานของทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเราตลอดเวลา ให้อยู่กับพลังชีวิตนี้ทั้งวันมันก็จะเป็นการอยู่กับธรรมชาติรอบตัวไปโดยปริยาย มันจะค่อยๆทำให้คุณรู้สึกว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติรอบตัว ไม่ได้เป็น “กูแน่” ที่แยกตัวออกมาจากธรรมชาติมาสถาปนาตัวเป็นผู้ยิ่งใหญ่อยู่คนเดียว ให้คุณอยู่กับธรรมชาติอย่างนี้ทุกเมื่อที่คิดขึ้นได้ อยู่แบบรู้สึก (feel) เอานะ ไม่ใช่อยู่แบบคิด (think) เอา หมายความว่าคุณเอาฝ่ามือรู้สึกเอาว่าฝ่ามือตอนนี้มีความรู้สึกอะไรบ้าง ไม่ใช่เอาสมองไปคิดเอาว่าฝ่ามือมีความรู้สึกอะไรบ้าง มันไม่เหมือนกัน ทำอย่างนี้จนเริ่มรู้สึกว่าความรู้ตัว ร่างกาย และธรรมชาติรอบตัว เป็นสิ่งเดียวกัน แล้วจึงค่อยเริ่มนั่งหลับตาทำสมาธิ การฝึกสมาธิก็จะมีความก้าวหน้าได้ง่ายขึ้น

     ทั้งหมดนี้ให้ทดลองทำเอง ประเมินผลเอง สิ่งไหนดีก็เก็บไว้ทำต่อ สิ่งไหนไม่ดีก็ทิ้งไป เน้นที่การทดลองทำ ไม่ต้องไปเสียเวลาอ่านหนังสือเล่มแล้วเล่มเล่า ดูวิดิโอม้วนแล้วม้วนเล่า เหล่านั้นคือการเร่ร่อนตระเวนไปในความคิด ซึ่งไม่มีประโยชน์สร้างสรรค์อะไร มีแต่จะก่อความคิดใหม่ในรูปของความสงสัยเฟะฟะไม่รู้จบ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์