Latest

รากเหง้าของผู้สูงอายุไทย

     (เมื่อวันที่ 4 กค. 63 หมอสันต์ได้มีโอกาสพูดกับคณะผู้แทนและคณะที่ปรึกษาจากกระทรวงพานิชย์ที่มาเยี่ยมชมกิจการของเวลเนสวีแคร์และรับฟังข้อเสนอแนะของหมอสันต์เรื่องการส่งเสริมธุรกิจใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นเมื่อสังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงวัย เนื้อหาสาระอาจจะมีประโยชน์สำหรับท่านผู้อ่าน)

คณะผู้เยี่ยม

     มองย้อนไปห้าปีที่ผ่านมา ในแง่ธุรกิจเพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัยไทย ในระดับมหภาค มีอะไรที่อาจารย์มองเห็นและแนะนำสำหรับอนาคตบ้าง

หมอสันต์

     ก่อนตอบคำถามของคุณ ผมขอจูนมุมมองความต้องการที่แท้จริงหรือ need ของผู้สูงวัยเพื่อเป็นกรอบความคิดเดียวกันให้เราพูดเรื่องเดียวกันก่อนนะ

     ในมุมมองของระยะ หรือ stage ของการเป็นผู้สูงวัย ในทางการแพทย์แบ่งชีวิตของผู้สูงวัยออกเป็น 3 ระยะ คือ
     1. Independent Living ระยะที่ดูแลตัวเองได้ อยู่เองได้ไปไหนมาไหนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งใคร

    2. Assisted Living คือพอทำอะไรเองได้ เป็นส่วนใหญ่ แต่บางเรื่องต้องอาศัยผู้ดูแล เช่นบางคนต้องมีคนพาอาบน้ำ หรือพาเข้านอน หรือเอาอาหารมาส่ง หรือมาทำบ้านซักผ้าให้ หรือพาไปจ่ายตลาด พาเที่ยว เป็นต้น

     3. Dependent Living ระยะพึ่งตัวเองไม่ได้ หรือติดเตียง บางทีก็เรียก Hospice Care คือนอนแบ็บหยอดข้าวหยอดน้ำ ไม่หือไม่อือแล้ว ต้องมีผู้ดูแลเฝ้าดูอยู่ประจำ 100% มิฉะนั้นก็จะนอนแช่ฉี่แช่อึของตัวเอง หรือพอเป็นอะไรไปก็ไม่มีใครรู้

   
     ในมุมมองของคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย ในทางการแพทย์ได้แบ่งกิจกรรมที่บ่งชี้ถึงคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยออกเป็นสองระดับ คือ

     ระดับ กิจวัตรสำคัญในชีวิตประจำวัน –IADL (Instrumental Activity Daily Living ) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะทำให้ผู้สูงวัยที่ยังอยู่ในระยะดูแลตัวเองได้มีชีวิตที่มีคุณภาพ มีเจ็ดเรื่องคือ

     (1) ทนเหงา (Companionship and mental support) อยู่คนเดียวได้อย่างมีความสุข สามารถสื่อสารกับคนอื่น (communication skill) เช่นพูดโทรศัพท์ได้ ใช้มือถือเป็น ส่งอีเมลได้ เป็นต้น

     (2) ขนส่งตัวเอง (Transportation) เดินทางในรูปแบบต่างๆด้วยตนเองได้ตามความเหมาะสม เช่นขับรถเอง ปั่นจักรยานเอง เดินไปตลาดเอง ไปขึ้นรถสองแถวเองได้

     (3) ทำอาหารเอง (Preparing meals) เริ่มตั้งแต่การวางแผน จะกินอะไรบ้าง จะซื้ออะไร ขนของเข้าตู้เย็น หั่นหอม ซอยกระเทียม หุง ต้ม

     (4) ช้อปปิ้งเอง (shopping) จะซื้อของกินของใช้อะไรเข้าบ้านบ้าง ไปซื้อเองตัดสินใจเองได้

     (5) จัดการที่อยู่ของตัวเอง (housework) ซักผ้า กวาดพื้น ถูพื้น ดูดฝุ่น เอาขยะไปเท เอาสัมภารกไปทิ้ง

     (6) บริหารยาตัวเอง (Managing medications) กินยาอะไรบ้าง แต่ละตัวกินเพื่ออะไร ขนาดที่ต้องกินเท่าไหร่ กินวันละกี่ครั้ง กินเมื่อใด มันมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง เมื่อไหร่ควรจะลดหรือหยุดยา

     (7) บริหารเงินของตัวเอง (Managing personal finances) ใช้จ่ายไม่เกินเงินที่ตัวเองมี จ่ายบิลต่างๆเช่นประปา ไฟฟ้า อินเตอร์เน็ท รับเงิน (ถ้ายังมีรายรับ) โอนเงิน ฝากเงิน

        ระดับ กิจวัตรจำเป็นในชีวิตประจำวัน  – ADL (Activity of Daily Living) คือกิจกรรมที่หากทำเองไม่ได้แม้แต่อย่างเดียวก็ต้องมีคนอื่นคอยดูแล ได้แก่

     (1) ทำสุขศาสตร์ส่วนบุคคลเอง (personal hygiene) เช่น อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ตัดเล็บ หวีผม

     (2) แต่งตัวเอง (dressing) เลือกเสื้อผ้าเองได้อย่างเหมาะสม

     (3) กินอาหารได้เอง (feeding)

     (4) ขับถ่ายเอง (continence management) หมายถึงการอั้นเมื่อควรอั้น ปล่อยเมื่อควรปล่อย เมื่อไรควรไปห้องน้ำ และไปห้องน้ำเอง

     (5) เคลื่อนไหวเดินเหินได้เอง (ambulating) การยันกายจากท่านอนลุกขึ้นนั่ง การลงจากเตียงเอง การลุกจากท่านั่งขึ้นยืน การเดินไปเดินมาได้เอง

คณะผู้เยี่ยม

     ในแง่ของการเอาระยะของชีวิตมาทำธุรกิจที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ อาจารย์มองว่าอย่างไร

หมอสันต์

     การทำธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในระดับติดเตียงหรือ independent care ในรูปของเนอร์สซิ่งโฮมหรือศูนย์บริบาลผู้สูงวัยเป็นธุรกิจที่ทำกันมานานและทำอยู่มากพอควร อาจจะโอเวอร์ซัพพลายด้วยซ้ำ ผมคิดว่าเรามีเนอร์สซิ่งโฮมอยู่ประมาณ 500 แห่ง และมีเตียงว่างอยู่มากเกินความต้องการ บางแห่งที่รัฐทำขึ้นก็ได้ใช้ประโยชน์น้อยกว่าที่ลงทุนไป เพราะคนเข้าอยู่ไม่มี ธุรกิจในส่วนนี้เรียกว่าค่อนข้างอยู่ตัวแล้ว

     ส่วนการสร้างชุมชนผู้สูงวัย เพื่อให้ผู้สูงวัยในระยะดูแลตัวเอง (independent) ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยใช้ชีวิตในบั้นปลายนั้น ในแง่ของการทำเป็นธุรกิจก็ได้มีผู้พยายามทำหลายรายแล้วแต่เท่าที่ผมเห็นก็ล้วนเจ๊งไปกันหมดแล้ว ส่วนใหญ่เจ๊งไปตั้งแต่ยังไม่ทันได้ขาย

คณะผู้เยี่ยม

     ทำไมธุรกิจในส่วนชุมชนผู้สูงวัยจึงไม่สำเร็จ

หมอสันต์

     เพราะเกือบทั้งหมดเราไปใช้โมเดลของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ คือสร้างที่อยู่อาศัยขายให้คนสูงอายุ ซึ่งมีบ้างอาจจะประสบความสำเร็จในการขาย คืออาจมีคนซื้อมากถึง 30-50% ซึ่งก็ถือว่าสำเร็จแล้ว แต่ชุมชนไม่เกิดขึ้น เพราะคนซื้อไม่ได้มาอยู่ เพราะมันไม่ได้สนอง need ของเขาในฐานะผู้สูงอายุอย่างแท้จริง เขาจึงไม่มาอยู่ เมื่อชุมชนไม่เกิด ในระยะยาวธุรกิจนั้นก็เจ๊ง 

คณะผู้เยี่ยม

     อาจารย์เองเคยทำชุมชนที่อยู่อาศัยผู้สูงวัยในรูปแบบของ co-housing ในแง่ข้อดี หนูว่ามันดีมากที่ได้แชร์ค่าใช้จ่ายกัน แล้วมันมีอุปสรรคอย่างไรบ้าง

หมอสันต์

     อุปสรรคแรก ก็คือระบบกฎหมายที่ดินของเราไม่เอื้อ คอนเซ็พท์ของ co-housing คือคนสูงอายุสิบคนยี่สิบคนมาซื้อที่ดินปลูกบ้านอยู่ใกล้กันเป็นชุมชนแล้วช่วยเหลือกันและกัน แต่กฎหมายที่ดินของเราไม่เปิดโอกาสให้ทำชุมชนอย่างนี้ แค่เริ่มต้นก็ทำไม่แล้วเพราะต้องไปทำภายใต้กฎหมายจัดสรรที่ดินซึ่งเป็นเรื่องของการสร้างชุมชนขนาดใหญ่ที่ต้องมีผู้ประกอบการไม่ใช่เรื่องของชุมชนแบบช่วยตัวเอง ถึงในรายละเอียดปลีกย่อยเช่นจะให้มีทางเดินภายในชุมชนหรือครัวกลางที่พบปะกันกินข้าวกันก็ทำไม่ได้เพราะแบ่งโฉนดกันไม่ได้ ในแง่ของกฎหมายที่ดิน รูปแบบของ co-housing มันไม่ใช่การจัดสรรที่ดิน แต่เป็นการจัดรูปที่ดิน ซึ่งเรายังไม่มีกฎหมายรองรับ

     อุปสรรคที่สอง คือรากของผู้สูงอายุไทยมีความเป็นมาที่แตกต่างจากฝรั่ง กล่าวคือ

     (1) พันธุกรรมของคนไทยไม่ชอบทิ้งถิ่นฐานหรือเปลี่ยนที่อยู่ เราโตมาจากชุมชนกสิกรรม ไม่ใช่พวกเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ย้ายเต้นท์ไปเรื่อย และเชื้อสายของเราก็ไม่ใช่นักเดินทางผจญภัยอย่างพวกไวกิ้งส์ คนสูงอายุไทยเป็นคนติดที่ หลายชั่วอายุคนที่ผ่านมาเราคุ้นเคยกับการอยู่กันแบบตั้งแต่เกิดจนตายอยู่ในบ้านหลังเดิมในชุมชนเดิม แล้วผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อทั้งหลายทั้งหมด 100% เขาก็ล้วนมีบ้านของตัวเองแล้วทั้งนั้น เขาอาจจะมาซื้อบ้านที่สองทิ้งไว้ แต่เขาไม่ย้ายออกจากบ้านเก่าของเขาดอก เพราะเขาติดที่

     (2) รากเหง้าผู้สูงอายุไทยมีเอกลักษณ์ที่ทำให้ปรับตัวอยู่ในชุมชนผู้สูงอายุได้ยาก กล่าวคือสังคมไทยมีวัฒนธรรมเคารพนับถือผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุไทยจึงเป็นดาวเด่นอยู่กลางลูกหลาน เป็นคนมีความเชื่อมั่นในความคิดของตัวเองสูง บางครั้งก็กลายเป็นความยึดมั่นถือมั่น และผู้สูงอายุไทยถนัดที่จะเป็นผู้สั่งสอนแนะนำหรือออกคำสั่ง หรืออย่างเบาที่สุดก็เป็นคนขี้อ้อน ไม่ถนัดในการที่จะถ่อมตัวไปลงมือทำหรือเอื้ออาทรคนอื่นด้วยตัวเอง เอกลักษณ์อย่างนี้มันลงตัวดีเมื่ออยู่กับลูกหลาน แต่เมื่อมาอยู่กับผู้สูงอายุด้วยกันเป็นชุมชนมันต้องปรับตัวมากและจำนวนหนึ่งก็ปรับตัวไม่ได้ ต้องจบด้วยการทะเลาะเบาะแว้งกันแทนที่จะเป็นการมาเอื้ออาทรกัน จบลงด้วยการกลับไปสู่รูปแบบของบ้านจัดสรรตามชานเมืองซึ่งมีความลงตัวแบบไทยๆ คือ “ต่างคนต่างอยู่นิเวศน์”

     แต่ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะสมองของคนเรานี้งอกใหม่ได้แม้ว่าจะอายุมากแล้ว การเรียนรู้ที่จะวางความคิดยึดมั่นถือมั่นและบ่มเพาะพฤติกรรมเอื้ออาทรเป็นสิ่งที่ทำได้หากมีความมุ่งมั่นและใจเย็นอดทนให้เวลามากพอ เพราะคนไทยมีเมตตาธรรมเป็นพื้นฐานสำคัญอยู่ในใจที่เอื้อให้เปลี่ยนแปลงไปทางนี้ได้อยู่แล้ว

คณะผู้เยี่ยม

     ถ้าอย่างนั้นรูปแบบของธุรกิจชุมชนผู้สูงวัยควรเป็นอย่างไร

หมอสันต์

     มันก็ยังมีทางไปในสองรูปแบบนะ

     (1) คือการทำธุรกิจแบบไป upgrade หรือปรับปรุงบ้านหรือชุมชนที่ผู้สูงอายุเขาอยู่ของเขาอยู่แล้ว ให้ชีวิตมีคุณภาพมากขึ้น แนวนี้จะทำได้ทั้งในระดับปรับปรุงเฉพาะยูนิตหรือระดับชุมชน เมื่อหลายเดือนก่อนมีคนมาจากหมู่บ้านจัดสรรชื่อ … ในกรุงเทพ มาหารือผมว่าหมู่บ้านนี้ซื้ออยู่กันมาสี่สิบห้าสิบปีแล้ว ตอนนี้ทุกบ้านเป็นผู้สูงวัยหมด พวกเขาจะปรับปรุงชุมชนของเขาอย่างไร ในอนาคตนี่อาจเป็นช่องทางหนึ่งในการทำธุรกิจนี้

     (2) คือการสร้างชุมชนผู้สูงวัยในลักษณะที่เจ้าของและผู้ดำเนินการเป็นผู้ประกอบการหรือองค์กรธุรกิจ 100% โดยผู้สูงอายุเป็นแค่ผู้อาศัย ซึ่งก็คงต้องเป็นรูปแบบเช่าตลอดชีพ ไม่ใช่รูปแบบขายอสังหาริมทรัพย์ที่ให้ผู้สูงอายุเป็นเจ้าของ จะได้ตัดปัญหาความยึดมั่นถือมั่นเกินไปจนนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งแล้วไม่มีกรรมการตัดสิน วิธีนี้จะมีโอกาสสร้างชุมชนผู้สูงวัยได้สำเร็จได้ง่ายกว่า เพราะหัวใจของเรื่องนี้คือทำอย่างไรให้เกิดชุมชน ไม่ใช่การสร้างบ้านขาย การเกิดชุมชนใหม่ๆอาจจะถึงขั้นต้องจ้างผู้อยู่อาศัยรุ่นแรกเข้ามาอยู่เพื่อให้ชุมชนเกิดขึ้นให้ได้ก่อนด้วยซ้ำไป เมื่อเกิดชุมชนแล้ว ต่อไปธุรกิจมันก็จะโตไปเอง

คณะผู้เยี่ยม

     คราวนี้มามองไปข้างหน้า ธุรกิจที่จะอิงอาศัยสังคมผู้สูงวัยควรจะไปทางไหน

หมอสันต์

     สิ่งแรก ที่แน่นอนมาก ก็คืออุตสาหกรรมการแพทย์ในรูปแบบปัจจุบันเช่นโรงพยาบาลที่เน้นการรักษาด้วยเทคโนโลยีทำบอลลูนทำผ่าตัด การขายยา อาหารเสริม วิตามิน กายอุปกรณ์ อย่างที่กำลังโตระเบิดระเบ้ออยู่ตอนนี้จะโตต่อไปอีกอย่างแน่นอน เพราะมันมีความลงตัวดีมาก ดีแบบที่เรียกว่าลงตัวแบบผีกับโลงเลยละ คือด้านหนึ่งผู้ขายได้เงิน อีกด้านหนึ่งผู้ซื้อซึ่งก็คือคนไข้ก็ขี้เกียจดูแลตัวเอง ใครว่าอะไรจะทำให้สุขภาพตัวเองดีขึ้นโดยไม่ต้องลงแรงเปลี่ยนแปลงตัวเองก็จะซื้อหมด ดังนั้นการลงทุนทางนี้เป็นทางที่ยังดีอยู่แน่ อย่างน้อยเท่าที่มองเห็นก็ในอีกสิบปีข้างหน้า

     แต่นั่นไม่ใช่ need ที่แท้จริงนะ การทำธุรกิจที่ไม่ได้สนอง need ที่แท้จริงของลูกค้าผมเชื่อว่าวันหนึ่งไม่ช้าก็เร็วมันจะต้องฝ่อไป หากคิดจะทำอะไรที่จะเป็นการสนอง need ที่แท้จริงในระยะยาว ผมมีข้อแนะนำสองเรื่อง

     เรื่องที่ 1. Healthy Town หรือ Healthy Village 

     คือคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุถูกกำหนดโดยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เราเรียกว่า NCDs เช่นโรคห้วใจ อัมพาต ความดันเลือด โรคไต โรคมะเร็ง โรคเหล่านี้อุตสาหกรรมการแพทย์ไม่มีวิธีรักษาให้หาย โมเดลที่อุตสาหกรรมการแพทย์มุ่งหน้าไปคือผลิตยาใหม่ๆมาขายให้หรือคิดวิธีผ่าตัดใหม่ๆนั้นมันไม่เวอร์ค เพราะโรคเหล่านี้เกิดจากการใช้ชีวิตที่ผิดวิธี ไม่ใช่เกิดจากร่างกายขาดยา ทุกวันนี้บางคนกินยาวันละสิบกว่าอย่างก็ยังไม่หายจากโรค การจะมีคุณภาพชีวิตได้จะต้องเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต ซึ่งผมเองใช้เวลาสิบปีที่ผ่านมาทุ่มเทแนะนำคนไข้ในเรื่องนี้ สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ก็คือการจะเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตของคนคนหนึ่งอย่างเป็นอิสระต่อสิ่งรอบตัวเขานั้นมันทำได้ยาก โอกาสได้ผลมีน้อย เพราะชีวิตคนเราถูกกำหนดด้วยสังคมและวัฒนธรรม ในรูปแบบการใช้ชีวิตปัจจุบันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้สูงวัยจะเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตของเขาด้วยตัวเขาเองสำเร็จ ยกตัวอย่างเช่นหากเขาอยากจะกินอาหารที่ไม่ใช้น้ำมันปรุง เขาจะไปหากินได้ที่ไหน ออกไปปากซอยก็เจอร้านที่ขายทุกอย่างที่เต็มไปด้วยน้ำมัน อยากจะออกกำลังกายสักหน่อย วิถีชีวิตของเขาก็ไม่เอื้อ เพราะชีวิตต้องนั่งรถและนั่งโซฟาตลอด ขยับจะออกไปเดินนอกบ้านก็ถูกหมาไล่จึงนั่งเล่นไลน์ดีกว่า การจะจัดการโรคเรื้อรังให้สำเร็จมันต้องสร้างชุมชนใหม่ที่กำหนดวิถีชีวิตว่าจะต้องเป็นแบบให้มีสุขภาพดีเท่านั้น เช่นเราสร้างชุมชนที่ไม่มีถนนให้รถยนต์วิ่ง จะไปไหนเขาก็จะต้องเดินหรือขี่จักรยานไป นี่วิถีชีวิตบังคับให้เขาต้องออกกำลังกายแล้วเห็นไหม จะกินอาหารที่เป็นพิษเป็นภัยต่อสุขภาพ แต่ทั้งชุมชนไม่มีอาหารแบบนั้นขาย เขาต้องกินแต่อาหารที่หาได้ง่ายๆในนั้นซึ่งล้วนเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ นี่เขาก็ถูกบังคับให้กินเพื่อมีสุขภาพดีเห็นไหม ดังนั้นผมมองว่าคอนเซ็พท์เมืองสุขภาพหรือหมู่บ้านสุขภาพนี่เป็นการสนอง need ที่ตรงเป้าที่สุด แล้วมันจะเป็นความสำเร็จที่ยั่งยืน

     เรื่องที่ 2. Healthy Thai Food 

     คือในบรรดาองค์ประกอบที่จะทำให้คนหายจากโรคเรื้อรังสี่อย่างคือ (1) อาหาร (2) การออกกำลังกาย (3) การจัดการความเครียด (4) การได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน ในทั้งสี่องค์ประกอบนี้ อาหารเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด ผมให้ความสำคัญถืง 70 – 80% เพราะหลายงานวิจัยเจาะแต่อาหารเรื่องเดียวแล้วสุขภาพของผู้คนก็ดีขึ้นได้ ดังนั้นหากจะเปลี่ยนชีวิตของผู้สูงวัย ต้องเปลี่ยนอาหาร คือต้องเปลี่ยนอาหาร Thai Food เป็น Healthy Thai Food โดยเปลี่ยนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเลย ต้นน้ำก็คือการผลิตพืชอาหารที่ปลอดภัยจากสารพิษ เรื่อยไปจนถึงผู้บริโภค เรียกว่า from farm to table ปลายน้ำก็รวมไปถึงร้านอาหารไทยในต่างประเทศเลยนะ เพราะแบรนด์ Thai Food นี้เป็นแบรนด์ที่ติดตลาดทั่วโลกแล้ว แต่ Thai Food สมัยนี้ไม่ใช่ Healthy Food นะ อย่างผัดสิ้นคิดโปะไข่ดาวเนี่ย 650 แคลอรี่ มากกว่าอาหารฝรั่งจานใหญ่เสียอีก เพราะน้ำมันที่ใช้ผัดทอด

     การสร้าง supply chain เพื่อให้เกิด Healthy Thai Food นี้มันจะเป็นการแก้ปัญหาอนาคตของชาติด้วยนะ เพราะในสามปีห้าปีข้างหน้านี้คนจำนวนมาก อาจจะถึงสิบล้านคน จะถูกบีบให้กลับไปอยู่ในชนบทเพราะในเมืองไม่มีงานให้ทำ หากสร้างซัพพลายเชนเรื่องอาหารไทยสุขภาพขึ้นได้ ความฝันที่จะให้คนอยู่ชนบทโดยมีความสุขแบบพอเพียงก็จะเป็นจริงขึ้นมา

คณะผู้เยี่ยม

     ในส่วนของคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย กิจวัตรสำคัญ กิจวัตรจำเป็น หากเป็นอยู่ในเนอร์สซิ่งโฮมก็มีผู้ดูแลหรือ care giver ก็ลงตัวแล้ว แต่หากผู้สูงอายุอยู่ในบ้านของตัวเองอย่างที่อาจารย์ว่า เรื่องนี้จะมีช่องทางหรือธุรกิจเข้าไปช่วยตรงนี้ได้อย่างไร

หมอสันต์

     มันมีวิธีทำอยู่อย่างหนึ่งนะ เรียกว่า case manager หมายความว่าคนที่เรียนหนังสือจบสาขาไหนมาก็ตามที่ชอบทางการดูแลผู้สูงอายุ มาตั้งตัวทำธุรกิจ case management คนหนึ่งอาจจะรับดูแลผู้สูงอายุห้าคนสิบคน คอยช่วยเหลือดูแลทุกด้าน เช่นพาขึ้นเตียงนอนหากเข้านอนเองไม่ได้ พาอาบน้ำหากอาบน้ำเองไม่ได้ พาไปตลาด หรือแม้กระทั่งเป็นเอสคอร์ทไกด์พาไปเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ช่วยดูแลเรื่องการเงินการทอง เช่นใบเสร็จนี้เบิกประกันได้ โรคนี้ต้องใช้สามสิบบาท ต้องไปโรงพยาบาลนี้ คอยดูแลเรื่องหยูกยา นัดหมอ พาไปหาหมอ เป็นต้น

คณะผู้เยี่ยม

     มีประเทศไหนมีธุรกิจแบบนี้บ้างคะ

หมอสันต์

     อเมริกาก็มี อย่างพวกพยาบาลอเมริกันที่เกษียณหรือใกล้เกษียณแล้วแต่ยังมีเรี่ยวแรงและยังรักงานดูแลผู้ป่วยอยู่ก็มักจะออกไปตั้งตัวเป็นเคสแมแนเจอร์ เป็นรูปแบบของการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนที่มีความลงตัวแน่นอนแล้วระดับหนึ่ง

คณะผู้เยี่ยม

     รูปแบบของ Healthy Town ที่อาจารย์พูดถึง มันเหมาะสำหรับการอยู่อาศัยจริงสำหรับเฉพาะคนไทย หรือเหมาะกับการท่องเที่ยวด้วยไหม

หมอสันต์

     มันทำได้ทั้งสองอย่างครับ ชุมชนเดียวทำทั้งสองอย่างก็ได้ ในแง่ของการท่องเที่ยวมันก็ต้องเป็น long stay คืออยู่นานเป็นเดือนขึ้นไป ปักหลักอยู่ในเมืองสุขภาพ เพื่อท่องเที่ยวไปรอบๆ หรือเพื่อมาปักหลักรักษาโรคเรื้อรัง ฟื้นฟูหลังผ่าตัด หรือเพื่อมากักกันโรค มันก็ทำได้ทั้งนั้น

คณะผู้เยี่ยม

     ที่เราคุยกันนี้เป็นเรื่องของผู้สูงวัยที่มีกำลังซื้อ แล้วผู้สูงวัยในชนบทที่ไม่มีกำลังซื้อ อาจารย์มีคำแนะนำอย่างไร

หมอสันต์

     โครงสร้างระบบการจัดการของชนบทไทยรองรับการดูแลผู้สูงวัยได้ดีมากอย่างแล้ว คือทำผ่านรัฐบาลท้องถิ่น ผมหมายถึงอบต. และระบบดูแลสุขภาพของสาธารณสุขรวมทั้ง รพ.สต. และ อสม.

คณะผู้เยี่ยม

     อาจารย์คิดว่าอบต.ทำได้

หมอสันต์

     ทำได้สิ ทำไมจะไม่ได้ สบายมาก ถ้าสนับสนุนเขา เขามีความพร้อมมาก อย่างถ้าผู้สูงวัยติดเตียงในตำบลมีมาก อบต.เขาเปลี่ยนศาลาวัดเป็นเนอร์สซิ่งโฮมและเปลี่ยนครัววัดเป็นโรงอาหารได้ทันที เพราะอาหารก็ผลิตในชนบทนั่นแหละ การกระจายอำนาจให้รัฐบาลท้องถิ่นแก้ปัญหาสุขภาพนี้เป็นสิ่งจำเป็น แต่เราพูดกันมายี่สิบปีแล้วไม่ยอมทำ อ้างว่าอบต.โกงกันเละ ซึ่งเป็นเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เรื่องโกงระดับไหนถ้าจะโกงก็เละทั้งนั้น แต่การจะแก้ปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุในชนบทต้องทำผ่านรัฐบาลท้องถิ่นเท่านั้น ผมยังมองไม่เห็นวิธีอื่น

คณะผู้เยี่ยม

     ถ้าเราสนับสนุนให้นักลงทุนสร้าง Healthy Town หรือ Healthy Village เพื่อการท่องเที่ยว หมายความว่าเอาคนต่างชาติมาอยู่ แล้วคนในท้องถิ่นจะได้ประโยชน์อะไร

หมอสันต์

     คนในท้องถิ่นจะมีแต่ได้กับได้นะ ไม่มีเสีย เช่นอาหารและบริการต่างๆที่จะขายให้นักท่องเที่ยวที่มาอยู่ long stay นี่ชุมชนก็ได้แล้ว เขามาอยู่แล้วก็ต้องไปเที่ยวโน่นเที่ยวนี่ด้วย เราก็ได้อีก แล้วคนที่มาอยู่ โดยธรรมชาติหากเป็นการมาอยู่ในระดับ independent living เขาไม่ได้มามือเปล่า เขาเอาความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านติดตัวเขามาด้วย บางคนอาจสอนภาษาได้ บางคนอาจสอนวิชาการผลิตอะไรที่แปลกๆยากๆได้ ชุมชนก็จะได้อีก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์