Latest

ตรวจพบธาตุเหล็กในร่างกายสูง แล้วจะให้ทำอย่างไร

 เรียน คุณหมอสันต์ที่นับถือ

เนื่องจากสามีดิฉันเป็น Hypothyroid และมีค่า Hemoglobin 12 gm/dl , ค่า RDW 11% และ WBC 3500 cell/mm3 คุณหมอต่อมไร้ท่อให้ทานฮอร์โมนเสริม ร่วมกับ Ferrous fumarate 200 mg, Folid 5 mg, Vitamin B รวม, Multivitamin, Zinc, Calcium ทุกวัน และ Vitamin D 20000 iu สัปดาห์ละเม็ด ทานประมาณ  1ปี จากนั้นคุณหมอให้หยุดเฉพาะธาตุเหล็กไปเป็นเวลา 6 เดือน เมื่อพบคุณหมอสัปดาห์ ที่ผ่านมาตรวจได้ค่าผลเลือด Hemoglobin 13.2, RDW 12% และ WBC 3670 แต่ได้เจาะค่า ferritin เพิ่มเติมเป็นครั้งแรก พบว่า ค่า ferritin สูงถึง 627 ng/ml คุณหมอจึงให้หยุดเฉพาะยาธาตุเหล็กต่อไป และนัดครั้งหน้าอีกประมาณ 4 เดือน
(เมื่อเดือน สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการตรวจร่างกายประจำปี ค่าตับ ไต หัวใจ ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติค่ะ)           ดิฉันอยากเรียนถามคุณหมอว่า การที่ค่า ferritin สูงระดับนี้และมี WBC ที่ต่ำมาตลอด เราควรต้องปฏิบัติตัวอย่างไรหรืต้องทำอย่างไรเพิ่มเติมไหมคะ ขอบพระคุณคุณหมอมากนะคะ
ขอแสดงความนับถือ

…………………………………………………

ตอบครับ
     ขอแยกสองเรื่องออกจากกันนะเพราะไม่เกี่ยวกัน คือเรื่องเม็ดเลือดขาวต่ำ กับเรื่องเหล็กในร่างกายสูง วันนี้จะตอบแต่เรื่องเหล็กในร่างกายสูงเรื่องเดียวเพื่อให้พอดีกับเวลาที่มี
     ก่อนอื่นมาเข้าใจความหมายของค่า ferritin กันก่อน มันเป็นชื่อโปรตีนที่จับกับธาตุเหล็กในร่างกาย ถือเป็นค่าที่เชื่อถือได้ในการบอกว่าเรามีเหล็กในร่างกายมากหรือน้อย ค่าปกติคือ 12-300 ng/ml

     ต่อมาก็มาเข้าใจระบบการใช้งานธาตุเหล็กในร่างกายของเรา คือร่างกายของเรานี้เป็นระบบรีไซเคิ้ลเหล็กแบบเกือบ 100% หมายความว่าเหล็กที่เข้ามาสู่ร่างกายแล้วร่างกายจะไม่ปล่อยให้หายไปไหน จะมีการรีไซเคิลใช้งานซ้ำซาก ยกเว้นในคุณผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือนซึ่งเหล็กจะหายไปพร้อมกับประจำเดือนในแต่ละเดือนเพราะเหล็กเป็นส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดง
     เหล็กที่เข้ามาสู่ร่างกายนี้มาได้หลายทาง เช่น 
     (1) มาจากอาหารที่กิน เพราะธาตุเหล็กเป็นธาตุที่มีอยู่ในอาหารแทบทุกชนิด อาหารเนื้อสัตว์จะมีมากเพราะมันเป็นส่วนประกอบของโมเลกุลฮีม (heme) ซึ่งมีอยู่ในเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นหมู วัว แพะ แกะ กินเนื้อของสัตว์พวกนี้เหล็กจะเข้าสู่ร่างกายได้โดยตรงแบบง่ายๆฉลุยๆ ส่วนเหล็กในพืชนั้นเป็นเหล็กอิสระ จะเข้าสู่ร่างกายตรงๆไม่ได้ ต้องอาศัยวิตามินซีเป็นตัวพาเข้าไป 
     (2) มาจากการกินเหล็กเข้าไปตรงๆ ผมไม่ได้หมายถึงการกินหินกินเหล็กในงานรับเหมาก่อสร้าง หุ หุ แต่หมายถึงการกินเหล็กที่อยู่กับกะทะหรือหม้อเหล็กที่ใช้ทำอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำอาหารที่มีความเป็นกรด จะละลายเอาเหล็กจากผิวกะทะหรือหม้อเข้าสู่ร่างกายได้อย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง ถึงขั้นสมัยหนึ่งวงการแพทย์เคยส่งเสริมกะทะเหล็กเพื่อรักษาโรคโลหิตจางก็เคยมาแล้ว 
    (3) มาจากการกินยาบำรุงเลือดทั้งยาฝรั่งเช่นกินธาตุเหล็กโต้งๆหรือยาแผนโบราณบำรุงเลือดต่างๆ วิธีนี้จะทำให้ได้เหล็กเข้าสู่ร่างกายแบบเป็นเนื้อเป็นหนังมากที่สุด ชนิดที่จากเดิมที่ร่างกายขาดธาตุเหล็กแทบไม่มีใช้ กินอยู่หกเดือนจะได้ธาตุเหล็กเต็มจนปริถังเก็บเลยทีเดียว
    (4) มาจากเม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นหรือแตกง่าย แตกครั้งหนึ่งก็มีเหล็กเหลือให้ร่างกายตุนไว้ใช้เพียบ คนที่เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นหรือแตกง่ายก็ได้แก่คนที่มีพันธุกรรมเป็นโรคทาลาสซีเมียหรือโรคเลือดอื่นๆ ดังนั้นต้องระวังเมื่อมีโลหิตจางอย่าเอะอะก็กินธาตุเหล็กหรือกินยาบำรุงเลือด เพราะหากเป็นโลหิตจางจากโรคทาลาสซีเมียหรือจากเม็ดเลือดแดงแตกง่าย จะเกิดอาการเหล็กล้นกุดังทำให้มีปัญหาใหญ่ตามมาได้ 

     พูดถึงระบบเก็บเหล็กไว้ใช้ในร่างกาย หากมีเหล็กเหลือใช้มาก ร่างกายจะเอาไปเก็บไว้ที่ตับ หากยังมีเหลืออีกก็จะเอาไปยัดไว้ที่ข้อต่างๆ ที่หัวใจ ที่ใต้ผิวหนัง และที่ลูกอัณฑะ ทำไมต้องเอาเหล็กไปเก็บที่ลูกอัณฑะด้วยผมก็ไม่เข้าใจคนออกแบบร่างกายนี้เหมือนกัน หิ หิ

     เมื่อเหล็กมากจนล้นกุดัง อวัยวะที่เก็บเหล็กไว้ก็จะออกอาการถูกเหล็กเสริมจนเกินขนาด เช่นตับกลายเป็นตับแข็ง ข้อก็ปวด หัวใจก็ล้มเหลว อัณฑะก็เดี้ยง หมายความว่าเสื่อมสมรรถนะทางเพศ ผิวหนังก็จะออกสีเหล็กๆ คือจะดำก็ไม่ดำ จะเทาก็ไม่เทา แต่เป็นสีเหล็กๆ แล้วตามมาด้วยอาการเปลี้ย เพลีย น้ำหนักลด เป็นเบาหวาน อาการเหล่านี้มักพบในคนที่มีพันธุกรรมชอบตุนเหล็ก ซึ่งถือว่าเป็นโรคหนึ่งชื่อ hemochromatosis กล่าวคือคนปกติจะมีเหล็กในร่างกายอย่างมาก 3-4 กรัม แต่คนเป็นโรคนี้ตุนไว้มากถึง 20 กรัมได้เลยทีเดียว

     ถามว่าแล้วกรณีของสามีคุณ จะทำยังไงต่อไปดี ตอบว่าในกรณีของสามีคุณ เขามีระดับเหล็กในร่างกายสูงเพราะกินยาบำรุงเลือด วิธีรักษาก็ไม่ยาก แค่หยุดยาบำรุงเลือดเสีย แล้วอีกสัก 6 เดือน หรือเอาไว้ตอนตรวจสุขภาพประจำปีครั้งหน้าค่อยไปตรวจดู ferritin ใหม่ ผมมั่นใจว่ามันจะกลับมาปกติ ในระหว่างนี้ก็หยุดการขนเหล็กเข้าสู่ร่างกาย เช่น อย่าใช้กะทะหรือหม้อเหล็กทำอาหาร ลดอาหารเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพื่อลดโมเลกุลฮีมอันเป็นแหล่งหลักของเหล็กในอาหาร เป็นต้น 

     หากอีกหกเดือนตรวจเลือดซ้ำแล้วเหล็กยังสูงล้นปรี่ คุณค่อยเขียนมาอีกที ถึงเวลานั้นจะต้องทำการสืบค้นหาสาเหตุอื่นที่ทำให้เหล็กคั่ง และอาจจะต้องวางแผนระบายเหล็กออกจากร่างกายด้วยวิธีไขเอาเลือดทิ้ง (phlebotomy) หรือหาอะไรมาจับเอาเหล็กออกไปทิ้ง (chelation) รายละเอียดมันแยะ หากจำเป็นหรือมีข้อบ่งชี้จะต้องทำจริงๆค่อยมาว่ากัน ซึ่งควรต้องทำโดยหมอทางด้านโลหิตวิทยา อย่าเที่ยวไปทำ chelation ที่เขาทำกันเป็นแฟชั่นตามคลินิกหรือสถานที่รับจ้างขจัดพิษเพื่อชลอความชรา นั่นเขาอาจจะหลอกเอาเงินนะ อย่าไปเสียรู้เขาเข้า

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์