Latest

เก็บตกจากครูโยคีอินเดีย

 
     ผมเรียนวิชาโยคี (เรียนวิธีฝึกสมาธิวางความคิดสู่อิสรภาพจากความคิด ไม่ใช่เรียนโยคะห้อยโหนบริหารร่างกาย) กับครูที่เป็นโยคีชาวอินเดีย คอนเซ็พท์ที่เรียนมาบางเรื่องมีประโยชน์ จึงนำมาถ่ายทอดต่อไว้ให้แฟนบล็อกได้อ่านเท่าที่คิดขึ้นได้

เรื่องอาหาร

     จะด้วยรู้ว่าผมเป็นหมอจึงสอนอย่างนี้ หรือมันเป็นวิชาดั้งเดิมของโยคีเขาอย่างนี้ก็ไม่ทราบ ครูสอนว่าอย่าเป็นคนบ้าอาหาร (food fanatic) เพราะอาหารไม่ใช่ศาสดา ไม่ใช่ศาสนา เป็นแค่สิ่งให้เลือกกิน ดังนั้นจึงควรกินตามความต้องการของร่างกาย โดยพื้นฐานโยคีกินแต่พืชไม่กินเนื้อสัตว์ แต่แม้จะกินแต่พืชตามหลักของโยคีก็ยังแบ่งอาหารพืชออกเป็นสามแบบ โดยจำแนกตามความสามารถในการเพิ่มพลังชีวิต (ปราณา) หมายความว่าเพิ่มความไวในรับรู้สื่อสารเชื่อมโยงกับสรรพชีวิต (sensitivity to life) เช่นเมื่อเราไปเดินในป่า ถ้าเราไม่สามารถรับรู้ความมีชีวิตของต้นไม้ ก็เท่ากับว่าตัวเราเองยังไม่มีพลังชีวิตมากพอ

     อาหารทั้งสามแบบ ได้แก่ (1) อาหารเพิ่มพลังชีวิต (2) อาหารลดพลังชีวิต (3) อาหารไม่เพิ่มไม่ลดพลังชีวิต

     1. อาหารเพิ่มพลังชีวิต ได้แก่ ใบพืช รากพืช ทุกพืช ทุกราก ทุกใบ ล้วนเป็นยาหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟักแฟงแตงกวา (ash gourd) แตงไทย แตงโม น้ำผึ้ง ผลไม้ ผัก อาหารทุกอย่างที่กินควรจะอยู่ในสภาพที่มีชีวิตหรือสดมากที่สุด แต่ยกเว้นพวก ถั่ว นัท ผลไม้แห้ง ซึ่งโยคีก็ชอบกินแม้จะไม่ใช่ของสด

     2. อาหารลดพลังชีวิต ได้แก่ กระเทียม หัวหอม ซึ่งกระตุ้นระบบประสาทมากเกินไปจนทำให้ระบบอ่อนล้า พริกเขียว ชา กาแฟ (ที่มีกาแฟอีน) กัญชา ยาเสพย์ติดอื่นๆ โยคีถือว่าการจะบรรลุความหลุดพ้น ต้องไม่อาศัยสารกระตุ้นต่อระบบประสาทใดๆทั้งสิ้น ครูเล่าว่ามีโยคีบางสายนิยมใช้สารกระตุ้นแรงๆเช่นพิษงูเห่าเพื่อให้ตัวเองออกอาการปางตายบ่อยๆ แต่ครูบอกว่าการใช้สารกระตุ้นสารออกฤทธิ์ทุกอย่างเป็นการไปผิดทาง เพราะมันได้ผลให้หลุดพ้นจากความคิดได้แค่ไม่กี่ชั่วโมง แล้วก็จะกลับมาตั้งต้นในที่ที่มีความคิดมากกว่าเดิม 

     3. อาหารไม่เพิ่มไม่ลดพลังชีวิต ได้แก่มันเทศ มันฝรั่ง

เรื่องสีและเสียง

     ครูบอกว่าขณะที่สีทั้งปวงเกิดจากแม่สีสามสี ถ้าผสมทุกแม่สีให้สัดส่วนเท่ากันก็จะได้สีขาว เสียงก็เกิดจาก “แม่เสียง” สามเสียง คือ (1) อ้า (2) อู (3) อืม (ไม่ใช่ลิ้น) เมื่อผสมกันให้ทุกเสียงมีสัดส่วนเท่ากันก็จะออกมาเป็นเสียง “โอม” เมื่อเริ่มเปล่งเสียงอ้า ความสั่นสะเทือนจะเริ่มที่ท่อนล่างของร่างกายใต้สะดือลงไป พอใส่เสียงอูความสั่นสะเทือนจะย้ายมาอยู่ที่หน้าอก พอใส่เสียงอืมความสั่นสะเทือนก็ขึ้นมาอยู่ที่คอขึ้นไปถึงศีรษะ คือเมื่อเปล่งแม่เสียงครบสามเสียงทั้งร่างกายก็จะสั่นสะเทือนทั่วร่างกาย จากเสียงโอมนี้ ด้วยมีลิ้นอยู่ ก็สามารถเปลี่ยนแม่เสียงเป็นเสียงทุกเสียงได้

     รากของแม่สีทั้งสามคือไม่เป็นสีอะไรเลย ฉันใดก็ฉันนั้น รากของเสียงโอมซึ่งมาจากแม่เสียงทั้งสามก็คือความเงียบ ความเงียบจึงเป็นพื้นฐานของเสียงทุกเสียง ความเงียบเป็นสภาวะหรือมิติที่มีพลังมากที่สุดของชีวิต ทุกชีวิตต้องได้กลับไปที่นั่นจึงจะมีพลัง การกลับไปสู่ความเงียบ ก็ด้วยการนอนหลับโดยไม่ฝัน และด้วยการเปล่งเสียงโอมแล้วให้เบาลง เบาลง เบาลง จนไม่มีเสียง แต่ความสั่นสะเทือนเล็กๆยังมีอยู่อย่างอัตโนมัติ ความเงียบเป็นเสียงที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง เป็นพื้นฐานของชีวิตทุกชีวิต แต่เป็นเสียงที่ไร้เสียง คือสั่นสะเทือนอยู่แต่หูไม่ได้ยิน 

     ทุกอย่างในจักรวาลนี้เป็นความสั่นสะเทือนเล็กในระดับเสียงที่ไร้เสียง ทุกสิ่งทุกอย่างมีการสั่นสะเทือนและมีเสียงที่เป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง แล้วสัมพันธ์กันขึ้นอย่างสอดประสานจงใจขึ้นมาเป็นจักรวาลนี้ เสมือนเวลาเราไปนั่งในป่าตั้งแต่ตอนค่ำถึงกลางดึก การเล่นออร์เคสตร้าของพวกแมลงซึ่งแต่ละตัวสร้างเสียงอย่างมีเอกลักษณ์ของตนเอง ตรงเวลาของตนเอง และสอดประสานกับเสียงอื่นๆอย่างจงใจ ทำให้ป่าทั้งป่าถูกบริหารโดยเสียงของเหล่าแมลง

     ความสั่นสะเทือนในระดับเสียงที่ไร้เสียงเป็นความจริงแท้ของจักรวาลที่จริงแท้ยิ่งกว่าถ้อยคำที่ถ่ายทอดออกมาเป็นภาษา การจะรับรู้ความสั่นสะเทือนในระดับเสียงที่ไร้เสียงนี้ต้องรับรู้ด้วยประสบการณ์ตรงของตนเองขณะปลอดการรบกวนจากความคิดเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันก็ถ่ายทอดจากคนสู่คนได้ แต่ไม่ใช่การถ่ายทอดผ่านการเขียนหรือการสื่อออกมาเป็นภาษา เพราะภาษาคือความคิด

     ครูบอกว่าการถ่ายทอดที่ดีที่สุดคือการนั่งกันเงียบๆ ไม่ต้องพูดคุยอะไรกัน ด้วยวิธีนี้ศิษย์จะเรียนจากกูรูได้ดีกว่าการพูดคุยกันเป็นร้อยๆเท่า 

 นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์