Latest

หมอสันต์บรรยายนำเรื่อง Health Town ในงานสัมนาของกระทรวงท่องเที่ยว

(8 กย. 63 ที่โรงแรม Prince Palace Hotel) 

สวัสดีครับ

     ผมจะคุยกันให้จบในครึ่งชั่วโมงพอดีทันเวลาอาหาร 

    ผมเป็นคนนอก หมายถึงว่านอกราชการ นอกธุรกิจการท่องเที่ยว หน้าที่ของผมที่ตอบรับมาที่นี่ในวันนี้คือมาเล่าคอนเซ็พท์ Health Town หรือเมืองสุขภาพ ในแง่ที่ว่ามันคืออะไร มันมีที่มาอย่างไร ส่วนที่ว่าคอนเซ็พท์นี้มันจะนำมาแก้ปัญหาการท่องเที่ยวให้ยั่งยืนได้หรือไม่ นั่นเป็นเรื่องที่ท่านจะต้องพูดคุยกันต่อในบ่ายวันนี้ ซึ่งเผอิญผมคงจะไม่ได้อยู่ด้วย ดังนั้นผมจะกันเวลาตอนท้ายของเซสชั่นนี้ไว้ให้ได้คุยกันระดับหนึ่งก่อน

     บลูโซนคอนเซ็พท์

     ผู้ชายคนที่อยู่ทางขวามือในรูปนี้คือแดนบิวท์เนอร์ สมัยโน้นเขาทำงานอยู่กับ National Geography ซึ่งจ้างให้เขาเดินทางไปสำรวจทั่วโลก เพื่อค้นหาชุมชนที่คนมีอายุยืนที่สุด คือมีจำนวนคนอายุเกินร้อยเป็นอัตรามากที่สุด แดนได้ทำงานนี้ในรูปแบบของการวิจัยเชิงระบาดวิทยา โดยตัวเองเดินทางไปขลุกอยู่ตามชุมชนต่างๆทั่วโลก ในที่สุดเขาก็คัดชุมชนคนอายุยืนที่สุดในโลกมาได้ 5 ชุมชนคือ 

     1. แถบบาร์บาเจีย ในแคว้นซาร์ดิเนีย ประเทศอิตาลี 

     2. แคว้นอิคาเรีย ประเทศกรีซ

     3. แหลมนิโคยา ประเทศคอสตาริกา

     4. ชุมชนเซเวนเดย์แอดเวนทิส ที่เมืองโลมาลินดา แคลิฟอร์เนียประเทศสหรัฐ

    5. เกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น

แดนและทีมงานของเขาได้ทำวิจัยหาปัจจัยร่วมที่ทำให้คนในชุมชนเหล่านี้มีสุขภาพดีมีอายุยืนกว่าคนที่อื่นของโลก ในที่สุดก็ได้ปัจจัยร่วมมาเก้าตัว คือ

     1. กินพืชเป็นอาหารหลัก กินเนื้อสัตว์น้อยมาก บางแห่งไม่กินเนื้อสัตว์เลย

     2. กินไม่ถึงอิ่ม คือกินแค่ 80%ของความอิ่ม 

     3. เคลื่อนไหวแบบธรรมชาติ ไม่มีโรงยิมหรือสถานออกกำลังกาย แต่เดินทำงานทั้งวัน

     4. ใช้ชีวิตแบบมีเป้าหมาย ทุกคนรู้ว่าวันนี้จะตื่นมา คำญี่ปุ่นใช้คำว่า ikigai 

     5. ทุกชุมชนมีสถานที่ มีวิธีคลายเครียด ส่วนใหญ่กับธรรมชาติ

     6. ส่วนใหญ่ดื่มแอลกอฮอล์ 

     7. ทุกชุมชนมีสังกัดของตัวเอง หมายความว่ามีศาสนา เอาพระเอาเจ้า 

     8. มีวัฒนธรรมรักตัวเอง รักครอบครัว 

     9. ทุกชุมชนมีวัฒนธรรมเอื้ออาทรต่อกัน มีเพื่อนซี้ ญี่ปุ่นมีคำเรียกกลุ่มเพื่อนซี้ว่า moai

    ทั้งเก้าข้อนี้เรียกว่าบลูโซนคอนเซ็พท์ แดนเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “บลูโซน” เพื่อเล่าเรื่องเหล่านี้ ซึ่งกลายเป็นหนังสือเบสท์เซลเล่อร์จนทำให้เขาร่ำรวย 

     บลูโซน โปรเจ็ค

     ต่อมาก็มีพวกผู้นำรัฐบาลท้องถิ่นในอเมริกาที่ได้รับทราบเรื่องราวของบลูโซนจากแดน จึงเกินไอเดียขึ้นมาว่า..เออแล้วทำไมเราไม่เอาคอนเซ็พท์นี้ไปทำให้อำเภอหรือตำบลของเรากลายเป็นเมืองสุขภาพที่คนอายุยืนขึ้นมา จึงเป็นที่มาของบลูโซนโปรเจ็ค คือโครงการเปลี่ยนเมืองระดับตำบลอำเภอให้เป็นเมืองสุขภาพโดยมีเป้าหมายให้ประชาชนของเมืองนั้นมีสุขภาพดีมีอายุยืนขึ้น โดยมีม็อตโตว่า

“ทำให้ทางเลือกเพื่อสุขภาพ

ให้เป็นทางเลือกที่ง่าย”

“Making the healthy choice

the easy choice” 

     เพราะในความเป็นจริง 90% ของเวลาในชีวิตของคนในเมืองๆหนึ่งจะใช้ชีวิตอยู่ในละแวกรัศมีห่างจากบ้านตัวเองไม่เกิน 30 กม. เท่านั้น หากทำให้พื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ที่หากคิดจะทำอะไรเพื่อสุขภาพของตัวเองก็ทำได้ง่ายๆ จะไปเดินออกกำลังกายก็มีที่ปลอดภัยให้เลือกเดินหลากหลายจะหาอาหารสุขภาพกินก็มีอยู่ทุกหัวระแหง คนก็จะมีสุขภาพดีขึ้นด้วยการแค่เข้าไปอยู่ในเมืองอย่างนั้น โดยไม่ต้องไปเข้าฝึกอบรมบ่มนิสัยหรือเรียนรู้วิธีดูแลสุขภาพตัวเองเป็นพิเศษมากมายอะไรเลย

     Health Town Concepts

     ตามคอนเซ็พท์ของบลูโซนโปรเจ็ค เมืองที่จะเป็นเมืองสุขภาพต้องมี

     1. ทางเดินเท้าที่ปลอดภัยหลากหลาย ทั้งในเมือง นอกเมือง ในป่าในเขา ไม่ใช่แค่โผล่ออกไปเดินนอกบ้านก็ถูกหมาไล่งับแล้ว

     2. แหล่งอาหารสุขภาพ ทั้งอาหารสดที่จะซื้อมาทำครัวกินเอง และร้านอาหารที่สั่งซื้อกินได้ง่ายๆ

     3. พื้นที่ธรรมชาติเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ

     4. ระบบส่งเสริมสุขภาพ ที่มีคลินิกส่งเสริมสุขภาพเป็นศูนย์กลาง เชื่อมโยงผ่านมือถือ 

     5. โบสถ์หรือสถานที่ทางศาสนา

     6. แหล่งกิจกรรมเพื่อให้ผู้อาศัยเลือกมีกิจกรรมการใช้ชีวิตได้หลากหลาย

     7. ที่พักอาศัยของบุคคล (housing) ที่ได้มาตรฐานทั้งสุขอนามัย ความปลอดภัย และการมีเพื่อนบ้านเกื้อกูลกันและกัน

     จะเอาคอนเซ็พท์เมืองสุขภาพมาใช้เพื่อการท่องเที่ยวอย่างไร
     คอนเซ็พท์เรื่องเมืองสุขภาพ กำเนิดมาเพื่อให้ผู้คนที่อยู่อาศัยในเมืองนั้นมีสุขภาพดี ไม่เกี่ยวอะไรกับการท่องเที่ยว แต่หากเรามองว่านักท่องเที่ยวระดับยัปปี้ คือพวกเบบี้บูมเมอร์ทั่วโลกทุกวันนี้ เขารู้เห็นโลกนี้หมดแล้ว จะไม่ไปเที่ยวดูอะไรอีกต่อไปแล้ว แต่เขาต้องการใช้ชีวิตที่ดีมีคุณภาพ การเอาคอนเซ็พท์เมืองสุขภาพมาสร้างแหล่งท่องเที่ยวแบบลองสะเตย์เพื่อให้คนมากินมาอยู่มาใช้ชีวิตคราวละนานๆก็เป็นไปได้ 
    การจะทำอย่างนี้มันมีสองส่วน ส่วนแรกคือส่วนที่รัฐต้องเป็นผู้ทำ จะเป็นรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น หรือทั้งสองอย่างรวมกันก็ตาม ในส่วนนี้ก็คือการกำหนดเป็นนโยบายว่าจะทำให้ตรงไหนเป็นเมืองสุขภาพ ซึ่งก็มีสองวิธี คือ
     1. สร้างเมืองใหม่ขึ้นมาเลยแบบสร้างนิคมอุตสาหกรรม กับอีกวิธีหนึ่งคือ
     2. เลือกเมือง หรืออำเภอ หรือตำบลที่มีอยู่แล้วขึ้นมาเป็นเมืองสุขภาพ แล้วลงทุนสร้างเสริมเติมแต่ง
     เมื่อกำหนดว่าที่ไหนจะเป็นเมืองสุขภาพแล้ว จากนั้นก็สร้างกลไกสนับสนุนให้เกิดเป็นเมืองสุขภาพจริงๆ คือ
     1. ในส่วนของรัฐ ต้องลงทุนพัฒนาทางเดินเท้า walking trail ที่หลายหลาย ปรับปรุงโครงสร้างสาธารณูปโภค สุขอนามัย และความปลอดภัยพื้นฐานของเมือง
     2. แล้วก็สร้างกลไกสนับสนุนเอกชนให้เข้ามาทำธุรกิจในประเด็นต่างๆของสุขภาพ เช่น
     2.1 ฟาร์มผลิตพืชผักที่เป็นแหล่งวัตถุดิบอาหารสุขภาพ
     2.2 ร้านจำหน่ายอาหารสุขภาพ
     2.3 กลุ่มบ้าน (housing estate) เพื่อคนที่จะเข้ามาอยู่อาศัยแบบลองสะเตย์ โดยรัฐเป็นผู้กำหนดมาตรฐาน
     2.4 ระบบส่งเสริมสุขภาพที่มีคลินิกส่งเสริมสุขภาพเป็นศูนย์กลาง 
     
     3. จากนั้นก็ลงมือสร้างชุมชนลองสะเตย์ในเมืองสุขภาพแห่งนั้นให้เกิดขึ้นจริงสักหนึ่งชุมชนก่อน แล้วทำการตลาดในต่างประเทศโดยใช้แบรนด์เดียวกันมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศไทย เอาเรื่องราวของชุมชนลองสะเตย์ที่เกิดขึ้นจริงแล้วไปเล่าให้ฟัง เป้าหมายคือให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักว่าเป็น destination ของการใช้ชีวิตแบบลองสะเตย์
     ผมขอจบส่วนของผมเพียงเท่านี้ก่อน เหลือเวลาสิบกว่านาทีไว้ถามตอบพูดคุยกัน
ผู้ถาม 1. 
ตามความเห็นของคุณหมอ เมืองสุขภาพนี้เราจะไปสร้างที่เมืองรองซึ่งไม่ใช่เมืองหลักของการท่องเที่ยว อย่างเช่น เพชรบูรณ์ อย่างนี้จะได้ไหมครับ
นพ.สันต์
เมืองสุขภาพกับเมืองท่องเที่ยวเป็นคนละอันกันนะครับ ไม่เกี่ยวกันเลย เมืองท่องเที่ยวนั้นเขาก็แน่นและมีอินฟราสตรักเจอร์ของการท่องเที่ยวอย่างโรงแรมของเขาอยู่แล้ว แต่มันไม่ใช่สะเป๊คของ housing ที่จะเป็นที่อยู่แบบลองสะเตย์ ซึ่งแต่ละ housing estate จะต้องมีพื้นที่ร่วมเพื่อการอยู่ร่วมกันทำกิจกรรมร่วมกัน แต่หน่วยที่พักอาศัยเองก็ต้องมีพื้นที่มากประมาณหนึ่ง คือมากพอที่จะทำให้อยู่ยาวแบบทำครัวกินเองและใช้ชีวิตประจำวันซ้ำซากได้ไม่อึดอัด ดังนั้นเมืองสุขภาพ ตามความเห็นของผมหากจะเลือกเมืองที่มีอยู่แล้วมาทำ ก็คงต้องเลือกเมืองที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว 
ผู้ถาม 2.
คุณหมอคิดว่าเมืองไทยนี้มีเมืองไหนที่จะทำให้เป็นแบบนี้ได้
นพ.สันต์
เมืองไทยมีสี่ภาค แต่ละภาคก็มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของตัวเองไปคนละแบบ มันเป็นไปได้ที่เรามีครบทุกภาค อย่าลืมว่าเมืองสุขภาพนี้ปลายทางคือทำเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในเมืองนั้นมีสุขภาพดีมีอายุยืน ต่อไปเมืองทุกเมืองจะต้องเป็นแบบนี้หมดนะครับ เพียงแต่ว่าเราจะเริ่มที่ไหนก่อนเท่านั้น การเลือกลำดับก่อนหลังก็คงต้องดูความพร้อมของภูมิประเทศและความพร้อมของรัฐบาลท้องถิ่น

ผู้ถาม 3. 

ขอแชร์ไอเดียนะคะ ความท้าทายมันอยู่การทำเมืองสุขภาพมันต้องใช้หลายภาคส่วนมาก อย่างการจะทำ walking trail มันก็เกี่ยวข้องกับตั้งหลายกระทรวงเข้าไปแล้ว ไหนจะความร่วมมือของเทศบาลหรืออบต.ท้องถิ่นอีก ความท้าทายมันอยู่ตรงการประสานงานหลายภาคส่วนนี่แหละ

นพ.สันต์

ผมเห็นด้วยครับ

ผู้ถาม 4. 

ตามความเห็นของคุณหมอ อะไรเป็นส่วนที่ยากที่สุดที่จะบล็อกไม่ให้งานสำเร็จ

นพ.สันต์

ผมมองไม่เหมือนคนอื่นนะครับ คนอื่นอาจจะมองกฎระเบียบของรัฐเช่นเรื่องวีซ่าเรื่องการเข้าเมืองว่าเป็นอุปสรรค แต่ผมไม่มองอย่างนั้น ปัญหาทางเทคนิคทุกอย่างแก้ได้ง่ายๆ แต่ส่วนที่ยากที่สุดคือการสร้างชุมชนแรกให้เกิดขึ้นเป็นชุมชนที่มีชีวิตจริงๆก่อน สมัยก่อนที่ซันซิตี้เริ่มสร้างชุมชนที่นอกเมืองลาสเวกัส ประมาณสิบครอบครัวแรกที่เข้ามาอยู่นั้นจ้างมานะครับ พูดง่ายๆว่าจ้างมาเป็นหน้าม้า ให้มาอยู่ตลอดชีพ แลกกับการที่ดีเวลอปเปอร์จะได้อาศัยเรื่องราวของชุมชนที่เกิดขึ้นจริงๆแล้วไปทำการตลาด ดังนั้นผมมองว่าการทำชุมชนแรกให้เกิดขึ้นและมีชีวิตจริงๆเป็นส่วนสำคัญที่สุด

ผู้ถาม 5. 

เวลเนสวีแคร์ที่คุณหมอทำอยู่ จะเป็น Health Town ได้ไหม

นพ.สันต์

คือเวลเนสวีแคร์ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นที่ให้ความรู้ ให้ผู้คนรู้จักดูแลตัวเองเพื่อป้องกันตัวเองจากการเป็นโรคเรื้อรังหรือหากป่วยแล้วก็ให้พลิกผันโรคจากป่วยเป็นหายป่วยได้ คือมันเป็นศูนย์ฝึกอบรม ไม่ใช่ชุมชนที่พักอาศัย ผมกับเพื่อนเคยมีความคิดที่จะสร้าง housing estate ที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี แต่ก็คิดไปไม่ตลอด เพราะ housing estate แบบนี้มันต้องไปตั้งอยู่ในเมืองสุขภาพ ซึ่งเรายังไม่มีเมืองอย่างนั้น หากแค่เดินออกจากรั้วไปก็ต้องผจญกับฝูงหมาจรจัดแล้ว มันไม่เวอร์คแน่นอน

ผู้ถาม 6. 

เรามีหมู่บ้านที่ฝรั่งมีเมียไทยอยู่กันเป็นจำนวนมากอยู่ เราไปพัฒนาที่แบบนั้นให้เป็นเมืองสุขภาพได้ไหมครับ

นพ.สันต์

ผมเข้าใจว่าฝรั่งเมียไทยไม่ใช่เป้าหมายของการท่องเที่ยวแบบลองสะเตย์กระมังครับ เพราะฝรั่งพอมีเมียเป็นไทยเขาก็กลายเป็นคนกินน้อยใช้น้อย คือกลายเป็นใช้ชีวิตแบบพอเพียง แต่เป้าหมายการท่องเที่ยวแบบลองสะเตย์เราคงอยากได้คนที่จะเข้ามาจับจ่ายใช้สอยประมาณหนึ่งมังครับ

ผอ. (กล่าวปิด)

ขอบคุณคุณหมอสันต์ ที่ช่วยเข้ามาเปิดวิสัยทัศน์ให้เห็นนอกเหนือไปจากสิ่งที่เราเคยเห็น เรื่องการท่องเที่ยวนี้เราจะคิดแต่แบบเดิมๆมันคงไม่ได้แล้ว เมื่อเช้าวันนี้ท่านทูตจีนก็เพิ่งให้สัมภาษณ์ไปว่ายังจะไม่อนุญาตให้คนจีนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศในอนาคตอันใกล้เท่าที่มองเห็นนี้ การเอาแต่รอคอยนับหัวนักท่องเที่ยวว่าเป็นความสำเร็จของการท่องเที่ยวคงไม่เวอร์คแล้ว ในระยะยาวเราคงต้องมองหาอะไรที่มันยั่งยืนและที่มันมี value แท้จริงมาแทนที่การท่องเที่ยวแบบนับเอาจำนวนหัวนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์