COVID-19

The Great Barrington Declaration เมื่อจนมุม ก็ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์

(ภาพประจำวัน: เมื่อวานนี้ ผมขับรถจากมวกเหล็กกลับกรุงเทพโดยขับอ้อมไปทางตอนเหนือของเขาใหญ่ แวะดูโบสถ์ที่สวยงาม สะอาด และเงียบสงบแห่งนี้ ชื่อ โบสถ์ บุญราศรี นิโคลัส บุญเกิด กฤษบำรุง ขอบคุณท่านผู้ที่สร้างสิ่งสวยงามเช่นนี้ไว้  ทำให้ผมได้มีโอกาสมาเยี่ยมชม)     

……………………………………

     เมื่อประมาณสองสัปดาห์ก่อน ได้มีการปล่อยของออกมาโดยกลุ่มนักวิชาการอังกฤษและอเมริกัน ในรูปของ “คำประกาศเกรทแบริงตัน” (The Great Barrington Declaration) ซึ่งมีสาระสำคัญว่าการล็อคดาวน์โควิด (ในอเมริกา) มีผลเสียมากกว่าผลดี ควรจะเลิกเสีย แค่ปกป้องคนที่เสี่ยงติดเชื้อเช่นคนแก่ไว้ก็พอแล้ว ส่วนคนอื่นควรปล่อยให้ใช้ชีวิตกันอิสระเสรีตามปกติไม่ต้องควบคุม พูดง่ายๆว่าปล่อยให้เกิดภูมิคุ้มกันระดับฝูงชน (herd immunity) แล้วให้โรคมันหายไปเอง แน่นอนแนวคิดนี้ไม่ใช่แนวคิดใหม่ มันเป็นยุทธศาสตร์บรรเทาโรค (mitigation) ที่ถูกนำเสนอต่อรัฐบาลอังกฤษเมื่อเดือนกุมภาพันธ์นั่นแหละ 

     แต่คราวนี้ประเด็นมันอยู่ที่สื่อหลายฉบับได้ให้ข่าวตรงกันว่าเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวที่ไม่ยอมเปิดเผยชื่อสองคนให้ข่าวว่าได้มีการนำคำประกาศเกรทแบริงตันเข้าประชุมและทำเนียบขาวได้หนุนทิศทางนี้ นี่เป็นข่าวจากผู้ไม่ประสงค์จะออกนามแต่ประสงค์จะออกข่าวนะ  

     อย่างไรก็ตาม มีอีกข่าวหนึ่งที่เป็นข่าวบนดินเลย จริงๆเลย รู้ตัวคนพูดเลย คือการให้สัมภาษณ์ของนาย Mark Meadows ซึ่งมีตำแหน่งเป็น Chief of Staff ของทำเนียบขาว ในรายการ State of the Union ของ CNN เมื่อวันที่ 24 ตค. 63 (ถ้าผมจำวันไม่ผิด ขอโทษที่ทวนสอบไม่ได้เพราะเทปจริงได้ถูกลบออกจากยูทูปไปหมดเกลี้ยงแล้ว) เมโดวส์พูดชัดๆจะๆว่ารัฐบาลของทรัมพ์ได้เลิกความพยายามที่จะกดโรคโควิดไปเรียบร้อยแล้ว เขาว่า

     “We’re not going to control the pandemic,” และว่า 

     “We are going to control the fact that we get vaccines, therapeutics and other mitigation areas.”

     “เราไม่คุมโรคแล้ว” เมโดวส์พูด

     “เรามาคุมปัจจัยเช่นการผลิตวัคซีน การสร้างมาตรการรักษา และยุทธศาสตร์บรรเทาโรคอื่นๆ”

     คำพูดของเมโดวส์ช่างชัดแจ้งแจ่มแจ๋วแน่เสียยิ่งกว่าแช่แป้งอีกว่าทำเนียบขาวได้เริ่มใช้นโยบายถอยไปบรรเทาโรคแบบหวังพึ่งภูมิคุ้มกันฝูงชนหรือ herd immunity เรียบร้อยแล้ว มิใยว่าจะมีเสียงคัดค้านก่นด่าว่าถึงขั้นใช้คำแรงว่ามันเป็นนโยบายฆาตรกรรมหมู่ก็ตาม วันรุ่งขึ้นหมอทีโดรสซึ่งเป็นผอ.ขององค์การอนามัยโลกก็ออกข่าวสนองตอบต่อคำพูดของเมโดวส์ว่า

     “การเลิกกดโรคนั้นมีอันตราย การกดโรคมันยากลำบากและน่าเบื่อแน่นอน แต่เราก็จำเป็นต้องทำ”

      ผมติดตามข่าวเหล่านี้แล้วมองเห็นว่าการที่รัฐบาลสหรัฐแอบถอยไปใช้นโยบายบรรเทาโรค (mitigation) นั้น มันเป็นเส้นทางที่รัฐบาลถูกบังคับให้เลือกเดิน ไม่ใช่อยากจะเดิน เพราะในอเมริกาโรคได้แพร่กระจายไปเกินจุดที่จะใช้ยุทธศาสตร์กดโรค (suppression) เสียแล้ว ทั่วโลกขณะนี้มีหลายประเทศมากที่ถูกโรคโควิด19 กึ่งต้อนกึ่งบังคับให้ถอยไปใช้นโยบายบรรเทาโรค ไม่เฉพาะแต่สหรัฐฯ ประเทศอื่นเช่นสเปญ อินเดีย ฝรั่งเศส ผมมองว่าล้วนกำลังเข้าตาจนแบบเดียวกัน

     เมื่อการกดโรคในยุโรปและอเมริกาล้มเหลวอย่างนี้ ก็จำต้องถอยไปพึ่งการบรรเทาโรค คือปล่อยให้โรคแพร่กระจายแบบยั้งเท่าที่จะยั้งได้ การป่วย การตาย ที่จะตามมาย่อมจะมาก เอาแค่ในสหรัฐฯก่อน งานวิจัยของมหาล้ยสแตนฟอร์ดบ่งชี้ว่านับถึงวันนี้คนที่ติดเชื้อแล้วมีแค่ 9 ล้านคนแค่นั้นเอง การจะเกิดภูมิคุ้มกันฝูงชน ต้องมีคนติดเชื้อถึง 50% เป็นอย่างต่ำคือต้องติดเชื้อเพิ่มอีกราว 156 ล้านคน สำหรับโรคที่มีอัตราตาย (ในสหรัฐ) 2.7% ถ้าไม่มีวัคซีนก็จะตายกันระดับหลายล้าน ถึงวัคซีนออกมาช่วยทันตามกำหนดคือต้องมาก่อนขึ้นปี 2022 แต่ว่าในภาวะที่โรคไปไกลแล้วอย่างนี้ก็ยังจะต้องตายกันหลายแสน ที่จะเป็นคนป่วยเข้านอนโรงพยาบาลอีกไม่รู้เท่าไหร่ จะต้องใช้ทรัพยากรในการดำรงชีพเช่นอาหารและใช้วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์เช่นหน้ากากและเสื้อกาวน์อีกจำนวนมาก นี่คือภาพใหญ่ของโลกนอกประเทศไทยจากนี้ไปในอีกสามปีข้างหน้า ทั้งนี้ถ้าวัคซีนออกมาได้ทันก่อนขึ้นปี 2022 นะ

     ผมเล่าการคาดเดาบรรยากาศนอกบ้านจากนี้ไปอีก 2-3 ปีข้างหน้าให้ฟัง เพื่อให้คนไทยเราฉุกคิดว่าตอนนี้มันเป็นโอกาสนะ ขณะที่ไทยเรากดโรคได้สำเร็จจนอยู่หมัด และกำลังกบดานนิ่งๆรอวัคซีน เราจะทำมาหากินกับในบรรยากาศของโลกตอนนี้ได้อย่างไร ให้ได้ประโยชน์ทั้งต่อเราและต่อเขา นอกเหนือจากการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวค้าขายภายในประเทศไทยเองอย่างที่กำลังทำกันอยู่แล้ว คำถามของผมหมายถึงกิจกรรม เช่น

     – เราจะยกเลิกการควบคุมสินค้าวัสดุอุปกรณ์จำเป็นทางการแพทย์เช่นหน้ากากเพื่อกระตุ้นให้มีการผลิตเพื่อการส่งออกในราคาตามธรรมชาติ..ได้ไหม 

     – เราจะใช้โอกาสที่เราเป็นประเทศปลอดโควิด19 คิดออกแบบสินค้าตัวใหม่ออกมาขายโดยที่ประเทศที่เขากำลังติดโควิดเขาทำแข่งไม่ได้..ได้ไหม 

     – เราจะเปิดบ้านที่ปลอดโควิด19 ของเรารับเอาคนที่หนีโควิดมากินมานอนและท่องเที่ยวในบ้านเรา..ได้ไหม 

     ทำได้หรือไม่ได้ไม่รู้นะ แต่ผมแค่ดูสถานะการณ์นอกบ้านตอนนี้แล้วพอจะใช้มุมมองทางการแพทย์คาดเดาบรรยากาศข้างนอกบ้านใน 2-3 ปีข้างหน้าได้ จึงเล่าการคาดเดานี้ให้ฟังเผื่อจะมีประโยชน์

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์