Latest

การอยู่นิ่งๆ (immobilization) คือวิธีรักษากระดูกหักที่วงการแพทย์ใช้อยู่

(ภาพวันนี้: คืนพระจันทร์วันเพ็ญลานหน้าบ้าน ของจริงบรรยากาศดีมาก แต่ถ่ายรูปออกมาได้แค่เนี้ยะ)

เรียน คุณหมอสันต์ ที่เคารพ

รบกวนปรึกษาปัญหากระดูกเท้าร้าวจากการเท้าพลิก
เหตุการเกิดขึ้นคือเท้าพลิกบริเวณพื้นต่างระดับไม่ถึง 5 cm ไม่ได้ล้ม การดูแลเบื้องต้นไม่ดีไม่ได้ประคบเย็น เท้าบวมไปพบคุณหมอกระดูกให้ทานยา อะค๊อกเซียหยุดยาเองเมื่อครบ 1 สัปดาห์   27 พย. ไป Xray พบกระดูกร้าวที่บริเวณโคนนิ้วก้อย 27 ธ.ค.Xray อีกครั้ง พบกระดูกสมานกันดีขึ้นแต่คุณหมอบอกยังไม่สนิท ต้องระมัดระวังการเดินไม่ให้เท้าพลิกซ้ำ ต้นเดือนมกราคมเรื่มกลับมาเดินออกกำลังกายตอนเช้าระยะสั้นๆประมาณหนึ่งกิโล แล้วค่อยๆเพิ่มระยะทางขึ้นเรื่อยๆเป็น 3 กิโลช่วงปลายเดือน มกราคม ต้นเดือน กพ  พยายามเดินให้ได้ระยะทางมากขึ้นแต่พบว่ามีอาการปวดแปล๊บๆมากขึ้น ถี่ขึ้นบางครั้งยืนเฉยๆก็ปวดแปล๊บๆขึ้นมาให้คุณหมอกระดูกท่านเดิมดู ก็โดนดุว่าไปเดินมากขึ้นในพื้นที่ไม่เรียบทำให้อักเสบซ้ำสั่งหยุดพักการเดินออกกำลังตอนเช้าและ ต้องทานอะค๊อกเซีย กับมิราซิด อีก ตอนนี้ทานมา 4 วันแล้ว ยังมีอาการปวดแปล๊บๆอยู่ โดยเฉพาะหลังทานยาแก้อักเสบประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง แล้วก็จะค่อยๆปวดลดลง แต่ก็ยังมีปวดบ้าง
ตอนนี้เริ่มมีอาการเครียดเพราะความสุขของดิฉันหลังจากได้เข้าคอร์สต่างๆ( SR9, RD15, SQ1) ของคุณหมอคือการได้เดินออกกำลังกายตอนเช้ารอบหมู่บ้านประมาณ 4-5 กิโล คำถามดิฉันควรทานยาแก้อับเสบต่อไปอีกหรือหยุดยาดีค่ะ ถ้าหยุดยาแล้วยังปวดอยู่ควรทำอย่างไรดีค่ะ ดิฉันควรปฏิบัติตัวอย่างไรในการกลับไปเดินให้ได้อย่างเดิมคะ รบกวนคุณหมอแนะนำการปฏิบัติตัวในการออกกำลังเพื่อรักษากระดูกเท้าด้วยค่ะ
(ดิฉันได้รับการผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ออกตั้งแต่อายุ 46 ปัจจุบัน 64 ไม่ได้ทานฮอร์โมนทดแทนค่ะ)

ด้วยความเคารพและนับถือ

ปล. ขอบพระคุณคุณหมอมากค่ะ ที่กรุณาให้คำแนะนำให้ลดอัตตาตัวเองและใช้สติระงับความไม่พอใจให้มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาทุกข์ใจจากพฤติกรรม ไม่พึงประสงค์ของคนใกล้ตัว ใช้ได้ดีทีเดียวค่ะ ปล่อยวางและใจใสมากขึ้นค่ะ

…………………………………………………………

ตอบครับ

1.. กลไกการหายของกระดูกหัก กระดูกร้าว (ซึ่งก็คือหักแต่ไม่ขยับออกจากที่ตั้ง) ก็คือการทอดเวลาให้กระดูกสองท่อนที่หักได้จ่อกันอยู่แบบนิ่งๆ (immobilization) นานๆ 6 สัปดาห์ถึง 3 เดือนหรือนานกว่านั้นในคนแก่ นี่เป็นวิธีเดียวในการรักษากระดูกหัก ซึ่งแพทย์อาจทำผ่านการเอาผ้ายืดพันเพื่อลดการเคลื่อนไหวบ้าง เข้าเฝือกบ้าง ผ่าตัดเสียบเหล็กเข้าไปเพื่อดามให้ปลายหักมันนิ่งบ้าง ส่วนยาแก้อักเสบเช่นยาอาร์คอกเซีย ไม่ได้มีผลอะไรต่อการหายของกระดูกหัก เพียงแค่ลดอาการปวดจากการอักเสบที่เกิดจากกลไกการหายปกติของร่างกายเท่านั้น

2.. อาการปวดเป็นกลไกธรรมชาติที่บังคับให้ลดการเคลื่อนไหวส่วนที่หักหรือร้าวเพื่อให้เวลาร่างกายซ่อมส่วนที่หัก ดังนั้นการใช้ยาแก้ปวดเป็นการลดประสิทธิภาพของกลไกธรรมชาติอันนี้ กรณีของคุณเป็นตัวอย่างที่ดี ถ้าไม่ใช่ยาแก้ปวดแก้อักเสบ คุณก็จะปวดมากไม่สามารถไปเดินเหินได้พักใหญ่ เปิดโอกาสให้ร่างกายซ่อมแซมรอยหักได้ แต่พอคุณได้ยาแก้ปวดแก้อักเสบ พอคุณปวดน้อยลงคุณก็ได้ปลื้มว่าสุขภาพกลับมาดีแล้วจึงไปเดินไปออกกำลังกาย ทำให้กลไกการรักษากระดูกหักของร่างกายทำไม่สำเร็จเพราะปลายหักมันขยับจะไปเชื่อมมันได้อย่างไร ดังนั้นวิธีรักษากระดูกหักกระดูกร้าวหรือข้อพลิกก็คือหากยังปวดให้ลดการใช้งานลง ไปใช้งานร่างกายส่วนอื่นออกกำลังกายแทน

ถึงตรงนี้ผมนอกเรื่องหน่อยนะ ตอนผมร่วงลงมาจากหลังแคและกระดูกหักทั่วตัวรวมทั้งกระดูกสันหลังหักด้วย ผมพยายามจะลุกขึ้นเดินให้เร็วขึ้น ผู้หวังดีท่านหนึ่งส่งวิดิโอคลิปชิ้นหนึ่งมาให้ดูเป็นการขู่ไม่ให้ผมเร่งรัดการฟื้นตัวเร็วเกินไป คลิปนั้นเป็นเรื่องของหมอหนุ่มๆคนดังคนหนึ่งที่อังกฤษซึ่งออกไปจ๊อกกิ้งแล้วถูกรถชนสะโพกหักเหมือนผม ความที่เป็นหมอนักกีฬา เขาประกาศว่าจะลุกขึ้นมาเดินทางไกล 100 ไมล์เพื่อหาเงินบริจาคให้มูลนิธิผู้ป่วยเด็กภายในเวลา 2 เดือน แล้วเขาก็ถ่ายคลิปให้แฟนๆดูทุกวันว่าเขาทำงานหนักในการฟื้นฟูตัวเองอย่างไร แค่ไม่ถึงเดือนเขาก็ลุกขึ้นมาเริ่มจ๊อกกิ้ง ต่อมาปรากฎว่าเขาปวดสะโพกมากจนยาแก้ปวดอย่างแรงก็เอาไม่อยู่ (เขาเป็นหมอประสาทวิทยา) เอ็กซเรย์แล้วพบว่าปลายกระดูกเกิดเคลื่อนออกจากกัน เขาต้องกลับเข้านอนโรงพยาบาล ผ่าตัดตรึงกระดูกใหม่ คราวนี้อยู่โรงพยาบาลนานอีกหลายเดือน นี่เป็นตัวอย่างที่ดีของการรักษากระดูกหักที่เพิกเฉยต่อความสำคัญของการอยู่นิ่งๆ และการเพิกเฉยต่ออาการปวดที่เป็นสัญญาณให้อยู่นิ่งๆให้นานพอที่ร่างกายจะมีเวลาซ่อมรอยต่อได้สำเร็จ

ตอนที่ผมกระดูกหักทั่วตัวผมจึงระมัดระวังมาก ผมไม่กินยาแก้ปวดแก้อักเสบเลยสักเม็ดเพราะไม่อยากให้ยามาบดบังอาการปวดซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่ากลไกการหายของผมไปถึงไหนแล้ว ผมปฏิบัติตามนัดหมายการตรวจสอบตำแหน่งปลายกระดูกทุกชิ้นที่หัก (ของผมหักถึง 7 จุด) อย่างเคร่งครัด คือเมื่อหมอนัดไปติดตาม ผมไม่อยากไปก็ต้องไป และผมเงี่ยหูฟังอาการของร่างกายของผมตลอดเวลาขณะตั้งใจเคลื่อนไหวตัวเองให้มากที่สุดในขอบเขตที่ร่างกายของผมไม่ได้ฟ้องร้องว่ามีอาการปวดตรงไหนมากเป็นพิเศษ ด้วยวิธีนี้ผมก็สามารถกลับบ้านและทำกิจประจำวันได้ในเวลาเพียงสองเดือนทั้งๆที่หมอจะให้ผมนอนโรงพยาบาลนานถึงหกเดือน นี่เป็นตัวอย่างที่ดีว่าการไม่รีบเกินไปและใช้ยาแก้ปวดแต่น้อย กลับทำให้หายได้เร็วกว่าการเร่งรีบและใช้ยาแก้ปวดมากๆ

ถามว่าอายุหกสิบกว่าแล้ว กระดูกบางกระดูกพรุนด้วย ควรปฏิบัติตัวเพื่อรักษากระดูกเท้าอย่างไร ตอบว่าขอเปลี่ยนเป้าหมายไม่ใช่แค่รักษากระดูกเท้าแค่นั้นได้ไหม แต่ขอตั้งเป้าหมายคือการสามารถเคลื่อนไหวทรงตัวได้คล่องแคล่วจนไม่ลื่นตกหกล้ม เพราะการลื่นตกหกล้มกระดูกหักเป้าหมายที่เราต้องการลดอย่างแท้จริง วิธีการจะบรรลุเป้าหมายนี้คือ

(1) ดูแลโภชนาการตัวเองให้ดี ไม่ให้ดัชนีมวลกายต่ำเกินไป พูดง่ายๆว่าไม่ให้ผอมเกินไป ถ้าผอมให้กินอาหารให้แคลอรี่ให้มากเกินพอ คือกินให้อิ่ม กินอาหารให้แคลอรี่แยะๆ อย่ารังเกียจอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี มันเทศ เป็นต้น และอย่ารังเกียจอาหารไขมันสูงซึ่งให้พลังงานได้มาก เช่น ถั่ว งา นัท อะโวกาโด้ เป็นต้น

(2) ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (เล่นกล้าม) อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง สามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องไปเคลื่อนไหวท่อนกระดูกที่หักหากมันยังเจ็บอยู่ ผมเขียนเรื่องการเล่นกล้ามไปบ่อย คุณหาอ่านเอาเองและฝึกทำเอง

(3) ฝึกการทรงตัว ซึ่งเป็นการประสานงานของตา หูชั้นใน สติ กล้ามเนื้อ และข้อ ผมเคยเขียนเรื่องการฝึกการทรงตัวไปบ่อยแล้วเช่นกัน คุณหาอ่านของเก่าเอาเอง

(4) ขยันออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้ง ได้แดด ได้ลม แสงแดดให้ทั้งวิตามินดี ทั้งฮอร์โมนช่วยการนอนหลับ ฮอร์โมนต้านซึมเศร้าและกระตุ้นเซลภูมิคัุ้มและกลไกการหายของร่างกายให้ทำงานดี การเกิดมาเป็นมนุษย์อยู่ในโลกใบนี้ ไม่มีอะไรทดแทนแสงแดดได้

(5) เพิ่มพลังชีวิตให้ตัวเอง ด้วยกิจกรรมเช่น สมาธิ รำมวยจีน โยคะแบบปราณายามา และด้วยการเข้าหาธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ สายลม แสงแดด การเคลื่อนไหวอย่างกระฉับกระเฉงคล่องแคล่วลื่นตกหกล้มยากจะเป็นไปไม่ได้เลยหากขาดพลังชีวิตที่คึกคักกระดี๊กระด๊าอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้คนเป็นโรคซึมเศร้าจึงมีอัตราการลื่นตกหกล้มกระดูกหักสูง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์