Latest

ยิงเลเซอร์เจาะรูม่านตา (PLI) เพื่อป้องกันต้อหินแล้วมองเห็นแสงประหลาด

เรียน คุณหมอที่เคารพรัก
เรื่อง ผลจากการเลเซอร์ มุมตาแคบ

ดิฉันได้ตรวจสุขภาพตา คุณหมอแจ้งว่าคุณมุมตาแคบ อาจเกิดต้อหินเฉียบพลันได้ หลังจากนั้นคุณหมอก็นัดยิงเลเซอร์ค่ะ
แต่หลังจากยิงเลเซอร์มา เวลาเจอแสงพระอาทิตย์แม้แต่เป็นแสงยามเช้า ดวงตาจะเห็นเงาเส้นๆสีขาวขวางลูกตาทั้งสองข้างค่ะ เกิดความกังวล เวลาเข้าในอาคารก็หายค่ะ ใส่แว่นดำก็ไม่เป็นค่ะ รอจนครบวันที่คุณหมอนัดดูผลเลเซอร์ ซึ่งใช้เวลา 1 เดือน ก่อนถึงวันนัด ตลอด 1 เดือน อาการเวลาเจอแสงพระอาทิตย์เป็นเส้นขาวๆขวางลูกตาตลอดทุกวันค่ะ ได้แจ้งคุณหมอผู้ทำเลเซอร์ คุณหมอแจ้งว่าไม่เกี่ยวกับการทำเลเซอร์ ซึ่งดิฉันรู้ตัวดีว่าหลังจากเลเซอร์ถึงเป็น การนัดตรวจครั้งนั้นก็จบที่ผลการเลเซอร์มุมตาแคบเรียบร้อยดี แล้วอาการดังกล่าวที่เกิดขึ้นมันคืออะไรค่ะคุณหมอ ในเมื่อคุณหมอท่านนั้นแจ้งแค่นั้น

……………………………………………….

ตอบครับ

ถามว่าไปทำผ่าตัดด้วยเลเซอร์เพื่อป้องกันต้อหินเฉียบพลัน หลังทำมีอาการเห็นเส้นสีขาวขวางลูกตาเมื่อเจอแสงอาทิตย์ เกิดจากอะไร ตอบว่าแสงจรจัดทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นหลังยิงเลเซอร์เจาะรูม่านตา มันเป็นผลข้างเคียงของการทำเลเซอร์นั่นแหละครับ มันมีโอกาสเกิดโดยรวมประมาณ 4% ประเด็นสำคัญจึงไม่ใช่อยู่ที่มันเกิดจากอะไร แต่อยู่ที่มันเกิดขึ้นมาแล้วจะทำอย่างไรต่อไปดี

การยิงเลเซอร์ที่คุณเล่านั้นทางการแพทย์เรียกว่า peripheral laser iridotomy (PLI) แปลว่าการใช้เลเซอร์เจาะรูม่านตาตรงใกล้ๆขอบนอกของม่านตา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้น้ำในช่องหน้าเลนส์ของคนที่ช่องหน้าเลนส์แคบมีทางไหลออกเพื่อป้องกันการไหลติดขัดแล้วเกิดความดันลูกตาสูงขึ้นอย่างเฉียบพลัน วันนี้เราจะไม่พูดถึงในประเด็นที่ว่าการยิงเลเซอร์แบบนี้มันต้องทำในกรณีไหนบ้าง ทำแล้วมันจะป้องกันการเกิดต้อหินเฉียบพลันได้ไหม ถ้าได้จะป้องกันได้กี่เปอร์เซ็นต์ เพราะผมเคยพูดไปแล้ว วันนี้เราจะคุยกันในประเด็นเดียวคือเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนคือเห็นแสงจ้า (glare) หรือแสงประหลาด (ghost images) หรือเห็นเป็นเงา (shadow) หรือเห็นเป็นเส้น (lines) หรือเห็นแสงทรงกลด (halos) ขึ้นมาหลังการทำ PLI แล้วมันไม่หายไปสักที เราจะแก้ปัญหาอย่างไร

ในแง่ของกลไกการเกิด ก่อนอื่นให้นึกภาพเปรียบเทียบลูกตาเราเหมือนกล้องถ่ายรูป แสงสะท้อนจากภาพจากภายนอกจะเข้าไปในลูกตาไม่ได้เพราะมีม่านตา (iris) ปิดกั้นไว้เหมือนม่านหน้าต่างปิดแสงดวงอาทิตย์ไม่ให้เข้าบ้าน แสงจะมีทางเข้าที่เดียวคือที่รูม่านตา (pupil) ซึ่งเปรียบเหมือนรูหน้ากล้อง (aperture) ของกล้องถ่ายรูป แสงที่เข้าไปในลูกตาทางรูม่านตาจะไปตกกระทบที่จอประสาทตา (retina) ซึ่งเปรียบเหมือนฟิลม์ถ่ายรูปหรือแผงรับแสงซึ่งจะส่งสัญญาณให้สมองสร้างภาพขึ้นมาได้ เมื่อเราไปยิงเลเซอร์เจาะรูม่านตาให้เป็นรูเหมือนภาพที่ผมแสดงไว้ข้างบนด้วยเจตนาให้น้ำในช่องหน้าลูกตาไหลสะดวก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดรูให้แสงเข้าไปในลูกตาได้อีกหนึ่งรู มันจึงมีโอกาสที่แสงจรจัดจากข้างนอกที่เราไม่ได้ตั้งใจมองจะเล็ดลอดเข้ามาถึงจอประสาทตาได้ โอกาสแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่เมื่อเกิดแล้วจะทำให้เราเห็นแสงจ้า หรือเห็นภาพแปลกๆได้

ในแง่ของการจัดการปัญหา เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว การที่จะไปคาดคั้นเอาอะไรกับหมอไม่ใช่สิ่งที่คุณพึงทำ เพราะการผ่าตัดหรือทำหัตถการทุกชนิดที่แม้จะทำไปตามวิธีการมาตรฐานปกติมันก็ยังมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนได้ทั้งนั้น ทั่วโลกจึงถือกฎกติกาเดียวกันว่าหากแพทย์ตั้งใจทำไปตามวิธีการมาตรฐานปกติแล้วเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นทุกฝ่ายอยู่ในสภาพจำต้องยอมรับมันโดยดุษฎี ศาลทุกแห่งก็ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันนี้ในการยุติข้อพิพาทระหว่างหมอกับคนไข้ เพราะทุกฝ่ายได้ชั่งน้ำหนักก่อนหน้านั้นแล้วว่าความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าประโยชน์ที่จะได้จากการผ่าตัดหรือการทำหัตถการจึงได้ตัดสินใจทำ เรื่องที่คุณพึงทำจากนี้ไปจึงเหลือเรื่องเดียวคือจะทำอย่างไรเมื่อเกิดแสงจ้าหรือภาพประหลาดหลังทำ PLI ขึ้นแล้ว ซึ่งผมแนะนำว่าสิ่งที่พึงทำคือ

  1. ยอมรับมันก่อน ใจเย็นๆก่อน ทอดเวลาไปนานๆก่อน ไม่ต้องไปสนใจมันมาก นานไปสมองจะค่อยๆปรับตัวเพิกเฉยต่อสัญญาณที่เกิดจากแสงจรจัดได้เอง แม้จะยังมีแสงอยู่ แต่มันจะค่อยๆรบกวนเราน้อยลงไป น้อยลงไปจนเราไม่รู้สึกอะไรเลยหากไม่ตั้งใจดูมัน
  2. เมื่อต้องออกไปในที่มีแสงมาก เช่นกลางแดด ให้ใช้แว่นกันแดด
  3. เมื่อเวลาฉุกเฉินเช่นขณะขับรถ หากเกิดแสงจรจัดเข้ามามากให้หรี่ตา เพราะงานวิจัยพบว่าแสงจรจัดจะก่อปัญหามากก็เฉพาะเมื่อตำแหน่งรูเจาะทำ PLI ไม่ได้ซ่อนอยู่ใต้หนังตาหรือไม่ได้ถูกปิดบังไว้โดยหนังตาเท่านั้น แสงจรจัดจึงจะเข้ามาได้ การหรี่ตาทำให้หนังตาคลุมป้องก้นหรือตัดแสงจรจัดที่จะเข้ามาทางรูที่เจาะโดย PLI ได้มากขึ้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Spaeth GL, Idowu O, Seligsohn A, Henderer J, Fonatanarosa J, Modi A, Nallamshetty HS, Chieh J, Haim L, Steinmann WC, Moster M. The effects of iridotomy size and position on symptoms following laser peripheral iridotomy. J Glaucoma. 2005 Oct;14(5):364-7. doi: 10.1097/01.ijg.0000177213.31620.02.