Latest

ไปปลีกวิเวกแล้ว แต่ทำอย่างไรก็ผ่อนคลายไม่ได้

(ภาพวันนี้ / ดอกอะไรน้า..า อยู่ข้างทางเดิน คนเขาบอกชื่อตั้งหลายหนแล้วแต่ลืมทุกที)

อาจารย์คะ

หนูมาอยู่บนเขาได้ 1 อาทิตย์แล้ว ฝึกสมาธิทั้งวัน ทุกเช้าหนูจะทำตามที่อาจารย์สอนคือดูเป้าหมายของตนเองในแต่ละวัน มาวันแรกก็ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะอยู่กับตนเอง อยู่กับธรรมชาติ และจัดการกับความคิด แต่ผ่านมา 5 วันถึงคิดทบทวนว่าอันแรกที่ควรจะทำและยังทำไม่ได้เลยคือการผ่อนคลาย เลยเพิ่มการผ่อนคลายเป็นอันดับแรกของทุกเช้าที่นั่งทบทวนคะ เขียนมาเล่าเพราะนึกถึงที่อาจารย์สอนตลอดเลยคะ (ความคิดล่องลอย แต่ก็พอกำหนดทันนะคะ ไม่ถึงกับเป็นซีรี่ย์) และอยากถามอาจารย์คะว่า จะทำอย่างไรถึงจะผ่อนคลายได้คะ เคยคิดว่าไม่ยากแต่พอมาอยู่ที่นี่ ลองอยู่กับตัวเองจริงๆเลยรู้ว่าไม่ผ่อนคลายเลย พยายามทำตามที่อาจารย์แนะนำในเรื่องการมีสติ การจัดการกับความคิด แต่ก็รู้สึกว่าไม่ผ่อนคลายเลย เมื่อก่อนก็คงประมาณนี้แหละคะ แต่ไม่รู้ตัวว่ามันไม่ผ่อนคลาย ยิ่งคอยดูความคิด เหมือนกับว่าความคิดเยอะแยะไปหมด เรียนอาจารย์ว่ามาอยู่ที่นี่หนูแทบไม่ contact กับใครเลยนะคะ ก็ขำดีคะ เพราะความคิดพอไม่มีเรื่องอื่นมันก็เลยมีแต่ความคิดขี้หมาไร้สาระอย่างที่อาจารย์เคยเรียก ซึ่งความคิดก็ไม่ได้น้อยลงเลยคะ กำหนดได้บ้างไม่ได้บ้าง เข้าใจคะว่ายังเป็น ฟุตบอล league อนุบาลอยู่คะ

………………………………………………

ตอบครับ

ก่อนตอบคำถามของคุณ นึกขึ้นได้ว่าวันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา ที่นึกได้เพราะตอนเช้าจะแวะไปเอาหนังสือที่เวลเนสวีแคร์ปรากฎว่าเขาปิดเพราะเป็นวันหยุดพิเศษ ไหนๆก็นึกขึ้นได้แล้ว ขอถือโอกาสพูดถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนในวันนี้ ซึ่งเป็นคำพูดไม่กี่ประโยค แต่ว่ามีความหมาย เอาไปใช้ได้ตลอดชีวิต ทั้งนี้ต้องทำใจก่อนนะว่าการตีความคำพูดของคนรุ่นหลังต่างก็ตีความไปตามความชอบของตน เวอร์ชั่นนี้เป็นการตีความของหมอสันต์ซึ่งมีนิสัยชอบแหกคอกดังนั้นมันต้องผิดจากที่ชาวบ้านเขาตีความแหงๆท่านจึงอย่าไปสนใจประเด็นถูกผิดเลย แต่ขอให้สนใจคอนเซ็พท์ที่ท่านอาจจะหยิบไปใช้ได้ ซึ่งผมแกะออกมาได้ว่าท่านสอนอยู่สามท่อนสั้นๆดังนี้

ท่อนที่1. พูดถึงความสำคัญของการเอาใจไว้นิ่งๆ อยู่ตรงกลางๆ ไม่แกว่งไปกอดรัดยื้อยุดสิ่งที่ “อยากได้” ไม่แกว่งผละถอยหลบสิ่งที่ “อยากหนี” ซึ่งผมขอเอาคำภาษาอังกฤษคำว่า Acceptance หรือการยอมรับ มาเป็นคีย์เวอร์ดสื่อถืงใจความของท่อนนี้ คืออะไรโผล่เข้ามาหา จะชอบไม่ชอบก็ให้ยอมรับหมด นี่คือสาระสำคัญของท่อนนี้

ท่อนที่ 2. สอนถึงกลไกการเกิดความทุกข์ว่ามันเกิดจาก “ความคิดอยาก” ไม่ว่า “อยากได้” หรือ “อยากหนี” เมื่อความคิดนี้หมดไปซะ ทุกข์ก็หมด ง่ายๆอย่างนั้นเลย ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าคำสอนของท่อนที่สองนี้สอดรับกับคำสอนท่อนที่ 1 ตรงที่ว่าการ “แกว่งหนี” หรือ “แกว่งเข้าหา” นั่นแหละคือกลไกที่จะก่อ “ความคิดอยาก” อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ขึ้น

ท่อนที่ 3. สอนว่าการจะดำเนินชีวิตไม่ว่าจะคิด จะพูด จะทำ จะประกอบอาชีพอะไร ก็ให้ดำเนินไปแบบ “ชอบ” คือทำแบบนิ่งๆอยู่ตรงกลาง ไม่แกว่งหา ไม่แกว่งหนี จะเห็นว่าท่อนนี้เป็นการขยายความจากท่อนหนึ่งและท่อนสองว่าคอนเซ็พท์ทั้งสองท่อนข้างต้นจะนำมาสู่ชีวิตจริงได้อย่างไร

สาระของทั้งสามท่อนนี้ช่างสอดรับกันเป็นปี่เป็นขลุ่ย เป็นการแกะเอาของที่ดูเหมือนขมวดรวมกันเป็นกระจุกไม่รู้ตรงไหนหัวตรงไหนหาง คลี่ออกมาให้เห็นทีละชิ้นๆเพื่อให้เอาไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย

จบเรื่องวันอาสาฬหะ มาตอบคำถามของคุณดีกว่า

1.. ถามว่าอุตส่าห์หนีไปอยู่บนเขาแล้วก็ยังผ่อนคลายไม่ได้ ทำอย่างไรจึงจะผ่อนคลายได้ ตอบว่าการผ่อนคลายหรือ relaxation เป็นเทคนิคที่ไม่ได้ยุ่งอะไรกับความคิดเลยนะ แค่ “สั่งการ” ให้กล้ามเนื้อคลายตัว แค่นั้นเอง คำตอบก็คือผ่อนคลายไม่ได้ก็สั่งเอาสิ สั่งให้มันผ่อนคลาย สั่งให้กล้ามเนื้อใบหน้าผ่อนคลาย ให้หัวคิ้วหายย่น สั่งแล้วต้องตามไปเช็คนะ ว่ามันผ่อนคลายได้จริงไหม ลองยิ้มที่มุมปากดูซิ ยิ้มได้ไหม ยิ้มยังไม่ได้ก็ยังไม่ผ่อนคลาย สั่งใหม่ เอาจนมันผ่อนคลายได้ แล้วก็ไปสั่งกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ ให้มันเลิกเกร็ง ให้มันผ่อนคลาย ลองขยับคอ บ่า ไหล่ เช็คซ้ำดูซิ มันผ่อนคลายได้จริงไหม ถ้ายังไม่ผ่อนคลายก็สั่งอีกๆๆๆ คือทั้งหมดเป็น voluntary muscle relaxation ล้วนๆ คำว่า voluntary แปลว่าต้องสั่งเอาจึงจะได้

เผอิญว่าถ้าผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ ความคิดมันจะฝ่อหายไปแบบอัตโนมัติ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อจึงถูกนำมาเป็นเครื่องมือวางความคิดที่สำคัญ ทั้งฝั่งตะวันออกฝั่งตะวันตกของโลกเน้นความสำคัญของการผ่อนคลายกล้ามเนื้อเหมือนกันหมด

พวกโยคีจะมีเทคนิคเสริม คือเอาการหายใจลึกๆ กลั้นหายใจไว้นานๆ แล้วเน้นผ่อนคลายในช่วงหายใจออก ผ่อนคลายมากที่สุดมาเป็นตัวช่วย นอกจากนั้นโยคียังใช้เทคนิคอาสนะ คือขยับตัวสั่งกล้ามเนื้อเป็นส่วนๆให้ยืดก่อน แล้วสั่งกล้ามเนื้อที่ยืดเต็มที่อยู่ให้ผ่อนคลาย เมื่อเอาทั้งการหายใจทั้งการยืดกล้ามเนื้อมาช่วยพร้อมกัน ก็กลายเป็นโยคะอาสนะท่าต่างๆ แบบว่าหายใจเข้ายืด หายใจออกผ่อนคลาย

2.. ถามว่าปลีกวิเวกมาอยู่บนเขาไม่ยุ่งกับใครแล้วทำไมความคิดกลับมากขึ้น ตอบว่าอ้าว ก็เมื่อคุณเริ่มสังเกตดูความคิด คุณก็เห็นความคิดมากขึ้นสิ ก็ถูกแล้วไง ถ้าคุณสังเกตความคิดแล้วไม่เห็นความคิดเลยแบบว่านั่งใจลอยไปจนปวดหัวแล้วยังไม่รู้ตัว แบบนั้นสิถึงจะเรียกว่ามีปัญหา ถ้าเป็นแบบนั้นให้ถอยจากการปลีกวิเวกกลับมาหาอะไรทำแบบกวาดพื้นถูบ้าน ถ้าไม่รู้จะทำอะไรจริงๆก็ให้ออกไปเก็บขยะข้างถนนจะดีกว่าไปนั่งปลีกวิเวกอยู่บนเขา เพราะในบรรดา “เป้า” ที่จะใช้ไล่ที่ความคิดที่คนเรามีอยู่นี้ การทำงานที่อีโก้ของเราไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องด้วยเป็นเป้าชั้นหยาบที่สุดซึ่งเวอร์คดีที่สุดในคนที่ความคิดแยะเหลือขนาดจนวิธีไหนๆก็เอาไม่อยู่แล้ว ผมถึงพูดบ่อยๆว่าคนที่ “บ้า” ได้ที่ให้เริ่มที่กิจกรรมบำบัดหรือหางานอดิเรกทำก่อน อย่ารีบไปเข้าวัด เดี๋ยววัดจะแตก

สรุปในประเด็นนี้ว่าเมื่อเริ่มสังเกตความคิดเป็น ความคิดจะมากขึ้น นี่เป็นธรรมดา และผมพูดดักไว้ล่วงหน้าเลย ว่าเมื่อความคิดสงัดลง ก็จะเข้าสู่ภาวะง่วงสลึมสลือไม่แจ่มใสอยู่พักใหญ่ นี่ก็เป็นธรรมดาอีก ต้องผ่านขั้นตอนเหล่านี้ไป จึงจะไปถึงความตื่นอยู่อย่างเบิกบานโดยที่มีความคิดน้อย ณ จุดนั้นอะไรๆจะง่ายขึ้นเหมือนมันจะไหลไปของมันเอง

3.. คุณพูดถึง “ความคิดขี้หมา” ว่ามันแยะ วิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งก็คือการลงทะเบียนมันไว้แล้วดีดทิ้งทันทีที่มันกลับมาอีกๆๆ รามานา มหารชี เรียกว่าวิธีนี้ว่า “ฆ่าความคิดทันทีที่มันเกิดขึ้น” ไม่ต้องเสียเวลาไปไตร่ตรองความคิดนั้นอีก เพราะเรารู้กำพืดมันแล้วจากการพบกันครั้งแรกและลงทะเบียนมันไว้แล้วว่ามันเป็นความคิดขี้หมา และตามสูตรของรามานา มหารชี “เมื่อใดที่ฆ่าความคิดที่เกิดขึ้นได้หมดซ้ำๆซากๆจนไม่มีความคิดไหนกลับมาอีก เมื่อนั้นก็บรรลุความหลุดพ้น” ผมเคยแปลหนังสือชื่อ Who am I? ของรามานา มหารชี ไว้ในบล็อกของผม ถ้าคุณสนใจก็หาอ่านเอาเองได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์