Latest

อยากให้หมอสันต์แนะนำสถานที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัด ที่ไปอยู่แล้วมีสุขภาพดี

(ภาพวันนี้ / ต้นปีบผ่าหิน)

เรียน คุณหมอสันต์

ผมเกษียณแล้วกำลังชั่งใจว่าจะย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดเพื่อการมีสุขภาพดี อย่างน้อยจะได้ออกกำลังกายปลูกต้นหมากรากไม้มากขึ้น เพราะอยู่ในกรุงเทพฯก็เอาแต่นั่งจิ้มจอทุกวัน อยากให้หมอสันต์แนะนำสถานที่ในต่างจังหวัดที่ไปอยู่แล้วจะมีสุขภาพดีครับ

ขอบคุณครับ

………………………………………………..

ตอบครับ

ถามว่าการจะมีอายุยืนมีสุขภาพดีต้องหนีความแออัดของกรุงเทพฯไปอยู่ต่างจังหวัดใช่หรือไม่ ตอบว่าไม่ใช่ครับ ไม่เกี่ยวกันเลย การอยู่ในเมืองใหญ่หรือการอยู่ในชนบทไม่ใช่ประเด็น แต่สไตล์การใช้ชีวิตคือการกินการเคลื่อนไหวออกกำลังกายต่างหากที่เป็นประเด็น

ผมยกตัวอย่างประเทศสิงค์โปร์ เกาะเล็กนิดเดียวพื้นที่ 728 ตร.กม. (ประมาณครึ่งหนึ่งของเกาะภูเก็ต) มีคน 5.8 ล้านคน คือแทบจะทุกตารางนิ้วกลายเป็นเมืองใหญ่ไปหมดแล้ว เมื่อปีค.ศ. 1960 ทารกแรกเกิดในสิงค์โปร์มีอายุคาดเฉลี่ย 65 ปี แต่ทุกวันนี้อายุคาดเฉลี่ยเด็กแรกเกิดที่สิงค์โปร์คือ 84.9 ปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดในโลก และถ้าจะวัดอายุคาดเฉลี่ยเฉพาะช่วงที่มีสุขภาพดี (healthy life expectancy) สิงค์โปร์ก็เป็นที่หนึ่งของโลกอยู่ดี ที่ผมสนใจมากเป็นพิเศษในฐานะหมอหัวใจก็คือสิงค์โปร์เป็นประเทศที่มีอัตราตายด้วยโรคหัวใจหลอดเลือดต่ำที่สุดในโลก พูดง่ายๆว่าไม่ว่าจะมองมุมไหน หากถือตามตัวชี้วัดทางการแพทย์สากลตอนนี้คนสิงค์โปร์เป็นคนสุขภาพดีที่สุดในโลกและมีคุณภาพชีวิตบั้นปลายดีที่สุดในโลก ทั้งๆที่เขาอยู่กันอย่างแออัดในเกาะเล็กนิดเดียว

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ถึงเขาจะอยู่ในเมือง แต่ผู้สูงอายุสิงค์โปร์มีอัตราการเดินมาก แดน บิวน์เนอร์ขณะสำรวจสิงค์โปร์เพื่อจัดลำดับเมืองสุขภาพ เขาสัมภาษณ์และขอดูเครื่องนับก้าวของเหล่าผู้สูงอายุที่มาเดินในปาร์คของสิงค์โปร์ พบว่าผู้สูงอายุเหล่านั้นเดินกันเฉลี่ยวันละ 8000 – 14000 ก้าวซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศตะวันตกที่นิยมการเดินอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาซึ่งมีอัตราการเดินเฉลี่ย 4000 ก้าวต่อวันเท่านั้น จะอ้างว่ากรุงเทพฯบ้านเรามันร้อนเดินยากก็ไม่ได้ เพราะสิงค์โปร์ร้อนกว่าบ้านเราเสียอีก อีกอย่างหนึ่ง ผมมีคนไข้ฝรั่งคนหนึ่งอยู่ในกรุงเทพเขาเดินเท้าตลอดไม่ขับรถยนต์เลย จากสีลมมาหาผมที่รพ.พญาไท2 ที่อนุสาวรีย์ชัย ประมาณ 9 กม. กลางวันแสกๆ เขาเดินมา ดังนั้นที่เราไม่เดินกันนั้นมันเป็นแค่เหตุอ้างกันไปเท่านั้นเอง

กลับมาพูดถึงเมืองสิงค์โปร์ เขาอาจจะดีกว่าเราตรงที่เขาสร้างให้มันเป็นเมืองที่เอื้อคนเดินเท้ามากกว่าเอื้อคนขับรถยนต์ ทางเดินเท้าของเขาส่วนใหญ่มีหลังคาคลุมกันแดดกันฝน และเชื่อมโยงกับปาร์ค 350 แห่งทั่วทั้งเกาะแบบที่เดินถึงได้กันหมด การออกแบบตึกสูง โดยเฉพาะกรณีที่อยู่ของผู้สูงอายุเขาก็เน้นให้ผู้สูงอายุในตึกได้มีโอกาสออกมาเดินสัมผัสธรรมชาติ ไม่มีที่ว่างบนดินก็ปลูกต้นไม้สร้างธรรมชาติไว้ชั้นบนของตึก รัฐบาลเองก็ส่งเสริมการเดินจริงจังโดยทำเป็นโครงการระดับชาติเปิดบริการแอ็พ National Steps Challenge ในโทรศัพท์มือถือ ใครก็ตามที่เดินได้ถึงวันละ 10000 ก้าวก็กดเอา Healthpoints จากแอ็พวันนั้นได้เลย เอาไปจับจ่ายซื้อข้าวของได้เหมือนเงินจริงๆ

ในแง่ของอาหารการกิน เพื่อนคนหนึ่งที่เพิ่งเดินทางแวะเที่ยวสิงค์โปร์เล่าว่าเวลาสั่งเมนู Chilli crab (คล้ายปูผัดเผ็ด) คำถามแรกที่พนักงานถามกลับก็คือจะเอาแบบ vegetarian หรือแบบดั้งเดิม คือคนสิงค์โปร์เขาใส่ใจเรื่องอาหารสุขภาพมากเหมือนกัน มันซึมลึกเข้าไปถึงในโรงพยาบาล ที่โรงพยาบาล Khoo Teck Puat (KTPH) ใช้พื้นที่ดาดฟ้าราว 5 ไร่ของตึกโรงพยาบาลปลูกผักให้คนไข้กิน มีจิตอาสามาทำงานในแปลงผักทั้งวันทุกวัน

กล่าวโดยสรุป คุณจะอยู่ในกรุงเทพ หรือจะย้ายออกไปต่างจังหวัด จังหวัดไหนก็ได้ เอาแบบที่คุณชอบ แต่การจะมีสุขภาพดีคุณต้องเปลี่ยนสไตล์การกินและการเคลื่อนไหวออกกำลังกาย ไม่ว่าคุณจะอยู่ในเมืองหรืออยู่บ้านนอก เพราะที่ไหนไม่สำคัญ สำคัญที่กินอะไรและเคลื่อนไหวมากไหม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์