Latest

คนเป็นโรคไตเรื้อรัง (CKD) ควรหันมาดื่มกาแฟจริงหรือไม่

(ภาพวันนี้ / งิ้วดอกแดงที่หน้าบ้านนกฮูก)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกที่ภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)

คุณหมอสันต์คะ

มีหมอท่านหนึ่งมาออกวิดิโอคลิปว่าคนเป็นโรคไตเรื้อรังควรดื่มกาแฟเพราะกาแฟช่วยรักษาโรคไตเรื้อรัง เป็นความจริงเพียงใดคะ สามีเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่สาม (eGFR 52) ปกติเขาไม่ดื่มกาแฟหรือแอลกอฮอล์ เขาควรจะหันมาดื่มกาแฟไหม

ตอบครับ

งานวิจัยกาแฟต่อสุขภาพมีมาแบบต่อเนื่องแยะมาก ผมกะว่ามีไม่น้อยกว่าสามพันเปเปอร์ แต่ความที่การวิจัยทางโภชนาการไม่สามารถสุ่มตัวอย่างผู้ป่วยออกเป็นสองกลุ่มแล้วให้ดื่มกับไม่ดื่มกาแฟเป็นระยะเวลายาวหลายปีได้ ข้อมูลที่วิจัยได้ทุกวันนี้จึงเป็นแค่ข้อมูลการตามดูกลุ่มคนสองกลุ่ม (cohort study) ที่มีนิสัยดื่มหรือไม่ดื่มกาแฟของเขาเองอยู่แล้ว แล้วเอาข้อมูลมาเปรียบเทียบกันโดยไม่มีการสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่ม ซึ่งข้อมูลแบบนี้บอกได้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างของสองอย่าง โดยที่ไม่อาจทราบได้ว่าของสองอย่างนั้นมีความเป็นเหตุเป็นผลต่อกันจริงหรือเป็นเพียงแค่พบร่วมกันเฉยๆโดยไม่เกี่ยวอะไรกันเลย เรื่องกาแฟกับการเป็นโรคไตเรื้อรังนี้ก็เช่นเดียวกัน

เมื่อสองปีก่อน ได้มีการวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสเรื่องนี้ โดยเอาข้อมูลจากงานวิจัยแบบ cohort ที่ทำมาก่อนหน้านี้ 12 งาน มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 505,841 คนมาวิเคราะห์ พบว่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่างการดื่มกาแฟมาก (วันละสองแก้วขึ้นไป) กับการดื่มกาแฟน้อย (วันละไม่เกินหนึ่งแก้ว) การดื่มกาแฟมากมีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคไตเรื้อรังน้อยลง ยิ่งดื่มมากยิ่งสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรังลง และสัมพันธ์กับการเกิดโปรตีนรั่วในปัสสาวะ (albuminuria) น้อยลง และสัมพันธ์กับการจบด้วยการล้างไตน้อยลงด้วย

ถามว่าจากข้อมูลงานวิจัยนี้ คนเป็นโรคไตเรื้อรังที่ยังไม่เคยดื่มกาแฟควรหันมาดื่มกาแฟไหม ตอบว่าเอาแบบที่ชอบก็แล้วกันครับ เพราะข้อมูลแค่นี้ยังไม่หนักแน่นถึงกับว่าเป็นโรคไตเรื้อรังแล้วต้องดื่มกาแฟรักษากัน คุณชอบแบบไหนก็เอาแบบนั้นไปก่อนก็แล้วกัน

ข้อดีอย่างอื่นของกาแฟ

นอกจากเรื่องโรคไตเรื้อรังแล้ว กาแฟ (ที่ไม่นับน้ำตาลและครีม) ยังสัมพันธ์กับด้านดีของสุขภาพอีกหลายด้าน เช่น

1.. ดื่มกาแฟมาก สัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งในปาก หลอดอาหาร ลำคอ เต้านม เยื่อบุโพรงมดลูก ตับ และต่อมลูกหมาก

2.. ดื่มกาแฟ สัมพันธ์กับการที่สมองจะทำงานในระยะสั้นดีขึ้น ทั้งความเร็วในการสนองตอบ ความเร็วในการตัดสินใจเลือก การย้อนระลึกความจำชั่วคราวด้วยวาจา การใช้จินตนาการวิเคราะห์แก้ปัญหาเชิงสามมิติ (visuospatial reasoning)

3.. กาแฟสัมพันธ์กับการเป็นสมองเสื่อมน้อยลง

4.. กาแฟสัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานน้อยลง

5.. กาแฟสัมพันธ์กับการเป็นโรคพาร์คินสันน้อยลง

6.. คนดื่มกาแฟมีอายุยืนมากกว่าคนไม่ดื่ม

7.. กาแฟสัมพันธ์กับการเป็นนิ่วในถุงน้ำดีทั้งในผู้ชายและผู้หญิงลดลง

8.. กาแฟสัมพันธ์กับการเป็นโรคเก้าท์น้อยลง

ข้อเสียของกาแฟ

1.      กาแฟเป็นสารเสพย์ติด

2.      กาแฟสัมพันธ์กับการนอนไม่หลับในบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ

4.      กาแฟทำให้กระวนกระวาย โกรธง่าย ในบางคน

5.      กาแฟทำให้หญิงมีครรภ์เพิ่มความเสี่ยงทารกตายระหว่างคลอด

6.      การดื่มกาแฟร่วมกับกินยาแก้ปวดพาราเซ็ตตามอลเพิ่มความเสียหายต่อตับมากขึ้น

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกาแฟ

1.. เข้าใจผิดว่ากาแฟเพิ่มการเกิดกระดูกหัก

2. เข้าใจผิดว่ากาแฟทำให้เป็นโรคความดันสูง (แต่กาแฟเพิ่มความดันได้จริงช่วง 30 นาทีหลังการดื่ม)

3. เข้าใจผิดว่ากาแฟทำให้เป็นโรคที่สัมพันธ์กับการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารสี่โรค คือ (1) โรคกรดไหลย้อนแบบไม่มีหลอดอาหารอักเสบ (NERD) (2) โรคแผลในกระเพาะอาหาร(GU) (3) โรคแผลในลำไส้ส่วนต้น(DU) และ (4) โรคหลอดอาหารอักเสบจากกรดไหลย้อน (RE) แต่งานวิจัยไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างกาแฟกับทั้งสี่โรคนี้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Kanbay M, Siriopol D, Copur S, Tapoi L, Benchea L, Kuwabara M, Rossignol P, Ortiz A, Covic A, Afsar B. Effect of Coffee Consumption on Renal Outcome: A Systematic Review and Meta-Analysis of Clinical Studies. J Ren Nutr. 2021 Jan;31(1):5-20. doi: 10.1053/j.jrn.2020.08.004. Epub 2020 Sep 18. PMID: 32958376.
  2. Shimamoto, T., et al., No association of coffee consumption with gastric ulcer, duodenal ulcer, reflux esophagitis, and non–erosive reflux disease: a cross–sectional study of 8,013 healthy subjects in Japan. PLoS One, 2013. 8(6): p. e65996.