Latest

กินอาหารแบบ Plant-based จะทำให้คะแนนแคลเซียมสกอร์ (CAC) 1100 ลดลงได้ไหม

(ภาพวันนี้ / update โปรไฟล์ ณ 71 ขวบปี)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ

ผมเป็นคนแข็งแรงทานผักสดเป็นมื้อเช้า เคย ทำ Keto ลด น้ำหนักไป ประมาณ 10 กิโลกรัม ออกกำลังการวิ่ง 5-10 กม.อาทิตย์ละประมาณ 4 วัน..แต่ 2 ปีสุดท้ายใช้วิธีเดินเร็ว pacing ประมาณ 10 ครั้งละ 5-10  กม. ไม่มีอาการหัวใจใดๆ แต่มีเพื่อนแนะให้ไปตรวจ Calcium Score ผมไปตรวจที่ … ปรกฎว่า สูงถึง 1100 หมอนัดฉีดสี ทำบอลลูน ผมควรทำไหมครับ และถ้าผมกิน plant base เข้มงวด Calcium Score จะลดลงไหม

……………………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าไม่มีอาการแต่ตรวจแคลเซียมสกอร์ (CAC) พบได้คะแนนสูงถึง 1100 แพทย์นัดฉีดสีทำบอลลูนควรทำไหม ตอบว่า.. ไม่ควรทำครับ

การตรวจพบแคลเซียมสกอร์ในคนที่ไม่มีอาการหัวใจขาดเลือด ไม่ว่าจะได้คะแนนสูงเท่าไหร่ ไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ให้ทำการรักษาโรคหัวใจด้วยวิธีรุกล้ำ (บอลลูนหรือบายพาส) เพราะการรักษาด้วยวิธีรุกล้ำมีจุดประสงค์สองอย่างเท่านั้น คือ (1) เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต (2) เพื่อเพิ่มความยืนยาวของชีวิต ดังนั้นสำหรับคนที่คะแนนแคลเซียมสกอร์แม้จะสูงมากแต่ไม่มีอาการอะไร การรักษาโรคหัวใจด้วยวิธีรุกล้ำไม่มีประโยชน์อะไรเลยเพราะ

ในแง่ของคุณภาพชีวิต อย่างไรเสียก็ไปเพิ่มคุณภาพชีวิตให้เขาไม่ได้ เพราะคุณภาพชีวิตเขาเต็ม 100 อยู่แล้วคือไม่มีอาการเลย (asymptomatic) จะไปเพิ่มให้สูงขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร

ในแง่ความยืนยาวของชีวิต แม้จะมีหลักฐานว่าคนคะแนนแคลเซี่ยมสกอร์สูงมีความเสี่ยงเกิดจุดจบที่เลวร้ายจากโรคมากกว่าคนแคลเซี่ยมสกอร์ต่ำ แต่นั่นเป็นคนละเรื่องกันประโยชน์ที่จะได้จากการจับเขาไปทำการรักษาแบบรุกล้ำเพื่อ “ป้องกัน” จุดจบที่เลวร้ายดังกล่าว เพราะไม่เคยมีงานวิจัยแม้แต่ชิ้นเดียวที่จะบ่งชี้ว่าการจับคนคะแนนแคลเซียมสกอร์สูงไปทำการรักษาแบบรุกล้ำจะทำให้ความยืนยาวของชีวิตเขาเพิ่มขึ้น หรือทำให้อัตราตายจากโรคนี้ของเขาลดลง แต่อย่างใด

สรุปว่าการจับคนได้คะแนนแคลเซียมสกอร์สูงไปทำการรักษาหัวแบบรุกล้ำจะไม่ได้ประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งล่อง เมื่อใดก็ตามที่ท่านไม่มีอาการเจ็บหน้าอกเวลาออกแรงหรืออาการหัวใจล้มเหลวใดๆเลย แต่เข้าไปตรวจเช็คอัพตามรอบปกติ แล้วแพทย์บอกว่าตรวจพบโน่นนี่นั่นแล้วแพทย์ชวนให้ตรวจสวนหัวใจเพื่อหาข้อบ่งชี้ทำบอลลูนหรือบายพาส ไม่ว่าจะอ้างว่าคลื่นหัวใจผิดปกติ หรืออ้างผลการตรวจวิ่งสายพานว่ากำกวมไม่ชัด หรืออ้างว่าคะแนนแคลเซียมสกอร์สูงกี่ร้อยหรือเป็นพันก็ตาม คำแนะนำอย่างเป็นทางการของหมอสันต์ก็คือให้อยู่ห่างๆหมอที่แนะนำแบบนั้นไว้จะได้ไม่เจ็บตัวโดยได้ประโยชน์ไม่คุ้มความเสี่ยงตายและปัญหาที่จะตามมาในระยะยาวจากการต้องใช้ยามากเกินไปครับ

กรณีที่สมควรตรวจสวนหัวใจมีสองกรณีเท่านั้น คือ (1) เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันแบบเจ็บหน้าอกต่อเนื่องจนถูกหามเข้ารพ.(2) ออกกำลังกายแล้วเจ็บแน่นหน้าอกรุนแรงบ่อยมากจนรบกวนคุณภาพชีวิต โดยที่ได้พยายามจัดการปัจจัยเสี่ยงต่างๆด้วยตัวเองแล้วคุณภาพชีวิตก็ยังไม่ดีขึ้น

นอกจากสองกรณีนี้แล้ว “อย่า” ตรวจสวนหัวใจโดยไม่จำเป็น เพราะนอกจากการตรวจสวนหัวใจมีความเสี่ยงถึงระดับเสียชีวิต (0.01%) แล้วยังเป็นโอกาสให้แพทย์ชักนำให้รับการรักษาโดยการใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดทั้งๆท่านอาจจะไม่จำเป็นต้องรับการรักษาเช่นนั้น คำแนะนำให้รับการรักษาแบบรุกล้ำมักจะมาขณะที่ท่านตั้งหลักไม่ทันเพราะส่วนใหญ่จะถูกบีบให้ตัดสินใจขณะตัวเองนอนอยู่บนเขียงเรียบร้อยแล้ว

2.. ถามว่าคะแนนแคลเซียมสกอร์สูงหากกินอาหารแบบ plant based จะทำให้คะแนนแคลเซียมสกอร์ลดลงได้ไหม ตอบว่าไม่เกี่ยวกันเลยครับ

มองในแง่ของข้อมูลหลักฐานในคนจริงๆ ยังไม่เคยมีงานวิจัยแสดงการเปลี่ยนแปลงของแคลเซียมสกอร์ในผู้ป่วยกินอาหารแบบกินแต่พืชเป็นหลักมาตอบคำถามนี้ได้

มองในแง่ของกลไกการเกิดแคลเซียมพอกผนังหลอดเลือด แม้จะสามารถลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้สำเร็จแต่คะแนนแคลเซียมสกอร์ก็ไม่ควรจะลดอย่างน้อยในระยะสั้น เพราะการเกิดแคลเซียมแทรกเข้า้ไปในผนังหลอดเลือดเกิดขึ้นในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ “การหาย (healing)” ของแผลอักเสบที่หลอดเลือด (คือยิ่งแผลหายยิ่งมีแคลเซียมแทรกมาก) ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของ “การเกิด” แผลอักเสบ พูดง่ายๆว่าเมื่อเกิดแคลเซียมแสดงว่ากำลังเกิดการหายของแผลเก่า การยุติปัจจัยเสี่ยงของการเกิดแผลใหม่ได้สำเร็จไม่น่าจะมีผลอะไรต่อการหายของแผลเก่า แต่เป็นไปได้ว่าในระยะยาวคะแนนแคลเซียมสกอร์ไม่ควรจะเพิ่มสูงขึ้นแบบเพิ่มไม่หยุด เพราะไม่มีแผลใหม่ให้แคลเซียมไปแทรกอีกแล้ว

ดังนั้นอย่าใช้แคลเซียมสกอร์เป็นดัชนีวัดความสำเร็จของการจัดการโรค มันไม่เกี่ยวกัน ให้ใช้ดัชนีอื่นที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการก่อโรคโดยตรง เช่น อ้วน ไขมันสูง ความดันสูง สูบบุหรี่ เป็นเบาหวาน มีโฮโมซีสเตอีนคั่ง เป็นต้น

3,, ถามว่า ก็ในเมื่อจะใช้บอกว่าเมื่อไหร่ควรรักษาแบบรุกล้ำก็ไม่ได้ จะใช้ทำนายการหายของโรคก็ไม่ได้ แล้วจะตรวจแคลเซียมสะกอร์ไปทำไม ตอบว่าประโยชน์อย่างเดียวของการตรวจแคลเซียมสกอร์คือใช้เป็นตัวยืนยันการวินิจฉัยว่าได้เกิดโรคที่หลอดเลือดหัวใจแล้ว พูดง่ายๆว่าเอาไว้ขู่คนที่ลำพองว่าตัวเองไม่ป่วยไม่ไข้ไม่มีโรคอะไรจะได้หายลำพองหันมาใส่ใจปรับเปลี่ยนวิธีการกินการใช้ชีวิตเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของโรคเสียทันที อันที่จริงการวินิจฉัยว่าตัวเองเป็นโรคแล้วนี้ไม่ต้องลำบากถึงขั้นไปตรวจแคลเซียมสกอร์ที่โรงพยาบาลหรอก แค่พบว่าตัวเองมีปัจจัยเสี่ยงหลักตัวใดตัวหนึ่งเช่น ความดันสูง ไขมันสูง เป็นเบาหวาน อ้วน สูบบุหรี่ ก็วินิจฉัยตัวเองได้เลยว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดแล้วและลงมือจัดการโรคด้วยตัวเองด้วยการจัดการปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นได้เลยทันที เพราะหัวใจของการลดอัตราตายจากโรคหัวใจขาดเลือดคือการเดินหน้าลดปัจจัยเสี่ยงด้วยตัวเองทันที ไม่ใช่การพยายามไปหาหมอเพื่อวินิจฉัยด้วยวิธีโน่นนี่นั่นอย่างไม่รู้จบรู้สิ้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์