Latest

งานวิจัยระดับสูงชิ้นแรกเรื่องผลของการเปลี่ยนวิถีชีวิตต่อโรคอัลไซเมอร์ออกมาแล้ว

ภาพวันนี้ / มื้อเช้าง่ายๆ กาแฟกับผลไม้ ในสวนดอกกระเจียว

กรณีอ่านจากเฟซบุ้คกรุณาคลิกที่ภาพ

ในที่สุด งานวิจัยระดับสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบเพื่อดูผลของการเปลี่ยนวิถีชีวิตต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ชิ้นแรกก็ออกมาแล้ว งานวิจัยนี้เป็นผลงานร่วมของหลายสถาบันรวมทั้งฮาร์วาร์ด, มหาลัยแคลิฟอร์เนียที่ซานดิเอโก้, มหาลัยดุ้ค และสถาบันวิจัยอิสระเช่นคาโรลินสกี้และ PMRI ผลวิจัยเพิ่งลงตีพิมพ์ในวารสาร Alz Res Therapy ฉบับล่าสุด ซึ่งผมขอย่อมาให้ท่านผู้อ่านดังนี้

งานวิจัยนี้ทำโดยสุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ระดับต้น (MCI) แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มควบคุมให้รักษาโดยใช้ยารักษาอัลไซเมอร์ตามปกติและใช้ชีวิตปกติ อีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มทดลองให้เปลี่ยนวิถีชีวิตแบบเข้มข้นโดยไม่มีการใช้ยาเลย แต่ให้ทำสี่อย่างต่อไปนี้ คือ

(1) กินอาหารแบบพืชเป็นหลักแบบใกล้สภาพธรรมชาติ (whole food plant based) ชนิดไขมันต่ำ โดยงดอัลกอฮอล์และน้ำตาลหรือสารทดแทนความหวานใดๆ อาหารที่กินได้มีแต่ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว นัท และวิตามินแร่ธาตุเสริมบางตัว ทั้งนี้ทีมวิจัยทำและส่งอาหารให้ถึงบ้านทุกมื้อ

(2) ให้ออกกำลังกายถึงระดับหนักปานกลาง ควบกับการเล่นกล้ามวันละอย่างน้อย 30 นาที

(3) ให้จัดการความเครียดทุกวันด้วยวิธีเช่นนั่งสมาธิ หรือยืดเหยียด หรือตามดูลมหายใจ วันละอย่างน้อย 1 ชั่วโมง

(4) บังคับให้เข้ากลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน (รวมทั้งคู่สมรสด้วย) ครั้งละ 1 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 3 ครั้ง

ทำการวิจัยอยู่นาน 20 สัปดาห์ แล้วประเมินผลโรคอัลไซเมอร์ด้วยตัวชี้วัดมาตรฐานที่ FDA อนุมัติให้ใช้ ซึ่งมีทั้งการประเมินด้วย CGIC, CDR-SB และ CDR-G พบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างสองกลุ่มในทั้งสามการประเมิน กล่าวคือกลุ่มทดลองมีอาการสมองเสื่อมดีขึ้นขณะที่กลุ่มควบคุมมีอาการเหมือนเดิมหรือแย่ลง เช่นในการประเมินด้วย CGIC พบว่ากลุ่มทดลองมีอาการของโรคดีขึ้น 71% ขณะที่กลุ่มควบคุมไม่มีอาการของโรคดีขึ้นเลย ในทางตรงกันข้ามในกลุ่มควบคุมพบว่ามีอาการแย่ลง 68%

ผู้ป่วยหลายรายในกลุ่มทดลองที่ผลประเมินว่าอาการดีขึ้น บางคนรายงานว่าเริ่มกลับมาอ่านหนังสือได้หลังจากที่อ่านหนังสือไม่ได้มานาน บางคนรายงานว่ากลับมาดูภาพยนต์ได้อีกครั้งหลังจากที่ดูไม่ได้มานานเพราะลืมว่าใครเป็นใครและเรื่องราวเป็นอย่างไร ผู้ป่วยที่เป็นผู้บริหารธุรกิจคนหนึ่งในกลุ่มทดลองเล่าว่าเขากลับมาจัดการบัญชีการเงินและการลงทุนของตัวเองได้อีกครั้งหลังจากที่สูญเสียความสามารถนี้ไปนาน เขาว่า

“มันเป็นอะไรที่มากเหลือเกินสำหรับชีวิตผม ผมเป็นใคร ผมเคยเป็นใคร ยากที่จะยอมรับว่าส่วนที่เคยเป็นผมหายไปแล้ว นี่ผมได้กลับมาตรวจสอบการเงินการบัญชีและตามดูการลงทุนของบริษัทเราได้ใหม่ทุกเดือน มันเป็นการกลับมาครั้งใหญ่ของสำนึกว่าชีวิตนี้มันยังมีอะไรควรค่าที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป”

งานวิจัยนี้ยังพบความสัมพันธ์เชิงเส้นระหว่างความเข้มของการเปลี่ยนวิถีชีวิตกับอัตราการกลับฟื้นคืนมาของภาวะสมองเสื่อม กล่าวคือ ยิ่งผู้ป่วยเปลี่ยนวิถีชีวิตตนเองไปมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้การกลับมาทำงานดีขึ้นของสมองเกิดมากขึ้นเท่านั้น

นอกจากจะทำให้อาการของโรคอัลไซเมอร์ดีขึ้นแล้ว ยังพบว่าตัวชี้วัดต่างๆที่ทางการแพทย์ใช้วัดโรคอัลไซเมอร์ก็ดีขึ้นด้วย เช่น Aβ42/40 ratio ซึ่งเป็นตัวชี้วัดแป้งอะไมลอยด์ที่สะสมในสมองของคนเป็นโรคอัลไซเมอร์ก็ดีขึ้นด้วย ขณะที่ของกลุ่มควบคุมนั้นเดินหน้าแย่ลงและแตกต่างกันกับกลุ่มทดลองอย่างมีนัยสำคัญ และเช่นกัน ความเปลี่ยนแปลงในทิศทางลดแป้งอะไมลอยด์ในสมองนี้สัมพันธ์กับความเข้มข้นของการเปลี่ยนวิถีชีวิตเช่นเดียวกับผลการตรวจประเมินอาการของโรคอัลไซเมอร์

ในแง่ของการประเมินจุลินทรีย์ในลำไส้ (gut microbiome) ก็พบว่ากลุ่มทดลองมีจุลินทรีย์ที่มักพบในคนเป็นโรคอัลไซเมอร์น้อยลง ขณะเดียวกันก็มีจุลินทรีย์ที่สัมพันธ์กับการไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์มากขึ้น

ก่อนหน้านี้งานวิจัย FINGER study ซึ่งทำที่ประเทศฟินแลนด์ก็ให้ผลคล้ายกันแต่เป็นงานวิจัยที่ระบบการสุ่มตัวอย่างและควบคุมอาหารและพฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่ได้คุมเข้มเท่างานวิจัยนี้และไม่มีการควบคุมยาในทั้งสองกลุ่มเลย งานวิจัยนี้จึงเป็นหลักฐานระดับสูงที่เชื่อถือได้ชิ้นแรกที่ยืนยันว่าสี่กิจกรรมคือ (1) อาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ (2)การออกกำลังกายหนักพอควรควบเล่นกล้าม (3) การฝึกคลายเครียดทุกวัน (4) การเข้ากลุ่มเชิงสังคมสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ และทำท่าว่าจะใช้ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย โดยทั้งหมดนี้ไม่มีการใช้ยารักษาอัลไซเมอร์เลย

งานวิจัยนี้ทำให้หมอสันต์เริ่มมั่นใจในหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่จะใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ขึ้นมาแล้ว และเกิดความกำเริบเสิบสานคิดอ่านจะทำแค้มป์รักษาโรคอัลไซเมอร์ขึ้นมาตะหงิดตะหงิด ขอเวลาศึกษาเพิ่มเติมและทดลองกับตัวเองจริงจังสักพักก่อนนะ เพราะตัวหมอสันต์ก็ทำท่าจะเป็นอัลไซเมอร์กับเขาเหมือนกัน อย่างน้อยขอทดลองกับตัวเองสัก 20 สัปดาห์คือนานเท่างานวิจัยนี้ก่อน หากหมอสันต์ทดลองกับตัวเองแล้วพบว่าได้ผลดีจริงก็คงจะได้พบกันแน่นอนสำหรับท่านที่ขี้หลงขี้ลืมทั้งหลายที่..“แค้มป์รักษาโรคอัลไซเมอร์ของหมอสันต์” หิ..หิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Ornish D, Madison C, Kivipelto M et al. Effects of intensive lifestyle changes on the progression of mild cognitive impairment or early dementia due to Alzheimer’s disease: a randomized, controlled clinical trial. Alz Res Therapy. 2024:16(122). doi:10.1186/s13195-024-01482-z