Latest

นิ่วอุดตันท่อน้ำดีจนเป็นดีซ่านและหายแล้ว แต่นิ่วลงมานิ่งอยู่ในถุงน้ำดี ควรผ่าตัดเอาออกไหม

(ภาพวันนี้ / ไม่ใช่ซากุระ แต่เป็นเสลาดอกสีขาว)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)

เรียนคุณหมอที่เคารพ

ต.ค 63 ผมปวดท้อง ปวดตรงชายโครงด้านขวามีอาเจียนและปวดเป็นพักๆเหมือนผีบิดไส้ หมอวินิจฉัยว่าเศษก้อนนิ่วมันหลุดลงมาอุดตันท่อน้ำดีครับ หลังจากนั้นก็อาการตาเหลืองตัวเหลืองหมอโรงพยาบาล … ให้การรักษา 3-4 วันอาการเหล่านั้นก็ดีขึ้นตามลำดับ ดีขึ้นจนถึงทุกวันนี้ครับ นอนโรงพยาบาล 3-4 วันหมอให้น้ำเกลือและให้ยา ตรวจอุลตร้าซาวด์พบมีนิ่วในถุงน้ำดี 1.8 ซม. แล้วให้กลับบ้านได้ หมอนัดผ่าและเลื่อนมา 3-4 ครั้งแล้วครับ หลังจากนั้นมาก็ไม่มีอาการปวดท้องอีกเลยตอนนี้ 2 กุมภาพันธ์ 67 แล้วครับอยากทราบว่าไม่มีอาการปวดท้องเลยสมควรต้องผ่าตัดไหมครับ รบกวนอาจารย์หมอให้คำแนะนำด้วยครับ..

ขอบพระคุณครับ

………………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ประเด็นการวินิจฉัยโรค เรื่องราวทั้งหมดคือปกติร่างกายจะผลิตน้ำดีที่ตับ ในบางคนหากมีเหตุเช่นการกินอาหารเช่นไขมันมากร่วมกับภาวะร่างกายขาดน้ำจะทำให้น้ำดีนั้นก่อตัวเป็นนิ่ว ทั้งน้ำดีและทั้งนิ่วจะเดินทางจากตับลงมาตามท่อน้ำดีเพื่อมายังถุงน้ำดี รอเวลาที่จะถูกบีบไล่ลงไปย่อยอาหารในลำไส้เมื่อใดก็ตามที่กินอาหารมีไขมันเข้าไป ในกรณีของคุณ ขณะที่เดินทางมา นิ่วนั้นอุดตันท่อน้ำดี (bile duct obstruction) แต่ตอนนี้นิ่วได้เดินทางมาถึงถุงน้ำดีเรียบร้อยแล้ว การอุดตันจบลงไปแล้ว ทุกอย่างกลับเป็นปกติแล้วยกเว้นมีนิ่วอยู่ในถุงน้ำดีหนึ่งก้อน

2.. ถามว่ามาถึงวันนี้แล้วควรผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกไหม ตอบว่า ก่อนอื่น ขอให้เข้าใจการดำเนินของโรคต่อจากนี้ หากเราไม่ไปยุ่งอะไร นิ่วก้อนนั้นมันจะมีทางไปได้สี่ทางคือ

ทางที่ (1) นิ่วในถุงน้ำดีสลายตัวไปเอง ไปเป็นขึ้โคลน หรือเป็นน้ำดี ซึ่งไหลต่อไปได้ไม่ติดขัด

ทางที่ (2) นิ่วมันจะอยู่ในถุงน้ำดีอย่างนั้นแหละไปชั่วชีวิต โดยไม่มีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้น

ทางที่ (3) นิ่วจะถูกบีบออกจากถุงน้ำดีแล้วเดินทางต่อไปถึงลำไส้แล้วออกไปทางทวารหนักได้เองโดยฉลุย ไม่มีอาการผิดปกติอะไร

ทางที่ (4) นิ่วจะถูกบีบออกมาจากถุงน้ำดีแล้วไปอุดตันท่อน้ำดีร่วมหรืออุดตันปากทางลงไปในลำไส้ (ampulla of Vater) เกิดรายการผีบิดไส้และดีซ่านรอบที่สอง

ทั้งสี่ทางนี้ มีพระเจ้าคนเดียวที่จะรู้ว่ามันจะเป็นไปแบบไหนกี่เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการจะผ่าตัดเพื่อป้องกันไม่ให้นิ่วที่อยู่อย่างสงบในถุงน้ำดีออกมาอุดตันท่อน้ำดีร่วม (common bile duct) จึงยังไม่มีใครรู้ว่าจะมีประโยชน์คุ้มความเสี่ยงของการผ่าตัดหรือเปล่า

ในเรื่องนี้ที่เรารู้แล้วแน่ๆมีสองอย่าง คือ อย่างที่ 1 วิชาแพทย์รู้แล้วว่าการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีและนิ่วในถุงน้ำดีออกทิ้งแบบยกยวง จะไม่ช่วยป้องกันปัญหาการอุดตันท่อน้ำดีแบบที่เคยเกิดขึ้นกับคุณ เพราะปัญหานั้นเกิดจากนิ่วที่ก่อตัวขึ้นที่ในตับ ไม่ใช่เกิดจากนิ่วในถุงน้ำดี อย่างที่ 2 วิชาแพทย์รู้แล้วว่าโอกาสพบมะเร็งถุงน้ำดีร่วมกับนิ่วในถุงน้ำดีมีน้อยมากเพราะมะเร็งถุงน้ำดีมีอุบัติการณ์เกิดต่ำมาก (ระดับต่ำกว่า 0.5%) จนไม่คุ้มกับความเสี่ยงกับภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิด (2.4%) หากคิดทำการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกเพื่อป้องกันมะเร็ง

ณ จุดนี้การจะผ่าตัดหรือไม่ผ่าตัดจึงเป็นทางสองแพร่งที่ข้อมูลที่จะช่วยคุณตัดสินว่าจะไปทางไหนดียังมีไม่พอ ผมแนะนำให้คุณตัดสินใจเอาเองจากความรู้สึกหรือสังหรณ์ในใจของคุณเองก็แล้วกัน เพราะหลักฐานที่จะช่วยไม่มี

อนึ่ง การตัดถุงน้ำดีออกมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เรียกว่ากลุ่มอาการหลังตัดถุงน้ำดี (post cholecystectomy syndrome) ขึ้นประมาณ 10-25% มีอาการคลื่นไส้อาเจียนท้องเสียง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังกินอาหารไขมัน หากเลือกทางผ่าตัด คุณต้องยอมรับภาวะแทรกซ้อนอันนี้ก่อน มิฉะนั้นจะไปผิดใจกับหมอเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นแล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Zackria R, Lopez RA. Postcholecystectomy Syndrome. 2023 Aug 28. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2024 Jan–. PMID: 30969724.
  2. Portincasa P, MOschetta A, Palasciano G. Cholesterol gallstone disease. Lancet 2006 : 368(9531); 230-9.
  3. Redwan AA. Multidisciplinary approaches for management of postcholecystectomy problems (surgery, endoscopy, and percutaneous approaches). Surg Laparosc Endosc Percutan Tech. Dec 2009;19(6):459-69.